Skip to main content
sharethis

เทียบมติ ครม.รักษาความลับการประชุม ครม. ยุคเศรษฐา กับ ยุคชวน แทบไม่ต่าง เรื่องลับยังลับเท่าเดิม คนเปิดเผยความลับยังถูกดำเนินคดี แต่ยกเลิกทำเอกสารส่วนที่เป็นความลับเป็นกระดาษแล้วส่งผ่านแท็บเล็ตแทนและให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องชงให้เลขาฯ ครม.พิจารณาว่าเป็นวาระลับได้

21 ก.ย.2566 สื่อหลายสำนักลงข่าวถึงเรื่องคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อการประชุมวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า เห็นชอบแนวทางปฏิบัติในการรักษาความลับของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรี และการให้ข่าวสารแก่สื่อมวลชน ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ ซึ่งมติดังกล่าวไม่ปรากฏอยู่บนหน้าสรุปประชุมคณะรัฐมนตรีบนเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล แต่มีการลงเนื้อหามติดังกล่าวอยู่ในเว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

เนื้อหาของมติดังกล่าวเป็นการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี 3 มติ คือ มติเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2542  เรื่อง การปรับปรุงแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการรักษาความลับของทางราชการ และการให้สัมภาษณ์หรือให้ข่าวสารแก่สื่อมวลชน, มติที่ของวันที่ 11 พ.ค. 2547 เรื่อง การรักษาความลับของทางราชการ และมติของวันที่ 22 พ.ย. 2554 เรื่อง การรักษาความลับในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ไม่ปรากฏมติที่ประชุม ครม.เรื่องนี้ในเว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

ในมติ ครม.ล่าสุดนี้แม้ว่าจะมีรายละเอียดส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับฉบับปี 2542 แต่มีส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาคือการแบ่งชั้นความลับตามกฎหมายใหม่ และการระบุรายละเอียดโทษตามกฎหมายผู้ที่เปิดเผยข้อมูลการประชุมคณะรัฐมนตรีและการให้ข่าวสารแก่สื่อมวลชน โดยกำหนดให้รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรีถือปฏิบัติ 7 ข้อดังนี้

  1. ให้รักษาความลับหรือเอกสารของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ ลับที่สุด ลับมาก และลับ ตามชั้นความลับที่ได้กำหนดไว้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ซึ่งหากความลับดังกล่าวทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนรั่วไหลไปถึงบุคคลผู้ไม่มีหน้าที่ได้ทราบ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงและประโยชน์แห่งรัฐ ทั้งนี้ กรณีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรีหรือรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจสั่งให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวตามเงื่อนไขที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกำหนดตามนัยมาตรา 20 (1) แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

ข้อแรกนี้มีการแก้ไขเปลี่ยนไปจากมติ ครม.ปี 2542 มีการกำหนดให้การรักษาความลับที่เกี่ยวข้องกับการประชุม ครม.เป็นตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2517 ซึ่งมีเนื้อหาการแบ่งชั้นความลับใกล้เคียงกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ที่มติ ครม.ใหม่นี้อ้างถึงโดยมีการระบุรายละเอียดแต่ละชั้นไว้ดังนี้

  • ลับที่สุด (Top Secret) หมายความว่า ความลับที่มีความสำคัญที่สุดเกี่ยวกับบุคคลข้อมูลข่าวสาร วัตถุ สถานที่ และทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ซึ่งหากความลับดังกล่าวทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนรั่วไหลไปถึงบุคคลผู้ไม่มีหน้าที่ได้ทราบ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งรัฐอย่างร้ายแรงที่สุด
  • ลับมาก(Secret) หมายความว่า ความลับที่มีความสำคัญมากเกี่ยวกับบุคคลข้อมูลข่าวสาร วัตถุ สถานที่ และทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ซึ่งหากความลับดังกล่าวทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนรั่วไหลไปถึงบุคคลผู้ไม่มีหน้าที่ได้ทราบ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งรัฐอย่างร้ายแรง
  • ลับ (Confidential) หมายความว่า ความลับที่มีความสำคัญเกี่ยวกับบุคคลข้อมูลข่าวสาร วัตถุสถานที่ และทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ซึ่งหากความลับดังกล่าวทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนรั่วไหลไปถึงบุคคลผู้ไม่มีหน้าที่ได้ทราบ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งรัฐ

แต่ส่วนที่แตกต่างกันระหว่างระเบียบฉบับปี 2517 กับระเบียบฉบับปี 2552 คือฉบับใหม่กว่ามีการตัดชั้น “ปกปิด” ที่เป็นข้อมูลความลับซึ่งไม่พึงเปิดเผยให้ผู้ไม่มีหน้าที่ได้รับทราบโดยสงวนไว้ให้ทราบเฉพาะบุคคลที่มีหน้าที่ต้องทราบเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการเท่านั้นซึ่งเป็นชั้นความลับที่มีอยู่ในฉบับปี 2517 ออกไป และไม่มีการระบุรายละเอียดประเภทข้อมูลที่เข้าข่ายเป็นความลับในแต่ละชั้นเหมือนในฉบับปี 2517

ส่วนการเปิดเผยมติที่ประชุมยังเป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการเหมือนมติ ครม.ปี 2542

  1. การพิจารณาหารือหรืออภิปรายของคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีไปถือเป็นความลับของทางราชการ ดังนั้น รัฐมนตรี ผู้เข้าร่วมการประชุม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรี พึงระมัดระวังและไม่เปิดเผยข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องที่พิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ตัวหนาเป็นส่วนที่มติ ครม.ใหม่มีการเพิ่มเติมจากมติปี 2542)
     
  2. ในการจัดทำระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี หากหน่วยงานเจ้าของเรื่องเห็นว่าเรื่องที่เสนอคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่มีชั้นความลับ มีความอ่อนไหว และมีผลกระทบสูงเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ ความมั่นคง ประโยชน์สาธารณะ หรือประโยชน์ของประเทศชาติ หากถูกนำไปเปิดเผยต่อสาธารณชนแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ของชาติอย่างร้ายแรง ให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องระบุไว้ในหนังสือนำส่งเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีให้ชัดเจนว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีชั้นความลับ มีความอ่อนไหว และมีผลกระทบสูงอย่างไร หรือหากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องที่เข้าลักษณะดังกล่าว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะจัดทำระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยจะแจกเอกสารระหว่างการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในระบบเรียกดูระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยเครื่องแท็บเล็ต (M-VARA) และหลังจากคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเสร็จจะถอนเรื่องออกจากระบบ M-VARA ทันที

มติใหม่ในข้อนี้นอกจากประเด็นทางเทคนิคที่ให้แจกเอกสารประชุมส่วนที่เป็นความลับผ่านแท็บเล็ตแล้ว ยังมีการเพิ่มเนื้อหาส่วนที่กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องที่เสนอเรื่องต่อที่ประชุม ครม.ชงเรื่องว่าเรื่องที่เสนอนั้นเป็นความลับหรือไม่ ซึ่งเดิมทีเรื่องนี้ในมติปี 2542 มีการกำหนดให้เลขาธิการ ครม.เป็นผู้พิจารณาและเสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ให้ความเห็นชอบในการจัดทำระเบียบวาระเฉพาะเรื่องโดยไม่ต้องจัดส่งเอกสารไปพร้อมระเบียบวาระการประชุม

  1. ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐดูแล และระมัดระวังมิให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเอกสารการประชุมคณะรัฐมนตรีเปิดเผยเอกสารดังกล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี

ในประเด็นนี้มีการย้ายเนื้อหามติ ครม.ปี 42 ไปบางส่วนที่เกี่ยวกับการให้เปิดเผยเรื่องที่ประชุม ครม.มีมติแล้วให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการไปไว้ในข้อ 1 และมีการตัดทิ้งเนื้อหาส่วนที่ให้กำหนดให้สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติรับผิดชอบ ดูแล และติดตามพฤติการณ์ของบุคคลที่น่าสงสัยในทางที่เกี่ยวข้องกับความลับหรือเอกสารลับของราชการนั้นออก

  1. กรณีมีผู้นำเอกสารหรือข้อความซึ่งเป็นความลับของทางราชการไปเผยแพร่จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องที่ได้รับความเสียหายพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย เช่น กรณีข้าราชการพลเรือนฝ่าฝืนข้อปฏิบัติตามมาตรา 82 (6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งบัญญัติให้ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องรักษาความลับของทางราชการ โดยหากฝ่าฝืน ข้าราชการพลเรือนผู้นั้นถือเป็นผู้กระทำผิดวินัยตามมาตรา 84 และหากการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงกรณีจะถือว่าข้าราชการพลเรือนผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 85 (7) ทั้งนี้ จะต้องถูกดำเนินการทางวินัยตามมาตรา 97 กล่าวคือ ให้ลงโทษปลดออกหรือไล่ออกตามความร้ายแรงแห่งกรณี อนึ่ง ตามประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2564 ได้วางหลักเกณฑ์ในการประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมในเรื่องการรักษาความลับของทางราชการไว้เช่นเดียวกันตามข้อ 7 (3) กล่าวคือ ข้าราชการการเมืองต้องยึดถือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ โดยอย่างน้อยต้องไม่นำข้อมูลข่าวสารอันเป็นความลับของทางราชการซึ่งตนได้มาในระหว่างอยู่ในตำแหน่งไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เอกชนทั้งในระหว่างการดำรงตำแหน่งและเมื่อพ้นจากตำแหน่ง และข้อ 8 (5) กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องรักษาความลับของทางราชการ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย

ในส่วนนี้เป็นส่วนที่มีเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการลงโทษทางกฎหมายไว้ชัดเจนกว่ามติ ครม.เมื่อปี 2542 ที่ระบุไว้เพียงสั้นๆ ว่าให้ส่วนราชการเจ้าของเรื่องที่รับความเสียหายดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้นำเอกสารหรือข้อความที่เป็นความลับไปเผยแพร่จนก่อความเสียหายหรือกระทบความมั่นคงโดยไม่ได้มีการระบุว่ามีกฎหมายใดบ้างในเวลานั้นที่จะถูกนำมาใช้ในการดำเนินคดีต่อผู้เปิดเผยข้อมูลการประชุม

  1. เรื่องใดที่มีผลกระทบต่อประชาชนหรือประเทศชาติโดยส่วนรวม เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติแล้ว ให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องที่รับผิดชอบเป็นหน่วยงานหลักชี้แจงต่อสาธารณชนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงเพิ่มเติมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน กรณีเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหรืออนุมัติตามมติของคณะกรรมการต่าง ๆ แล้ว ให้ประธานกรรมการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการชี้แจงในทำนองเดียวกันด้วย
     
  2. ให้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่และอำนาจให้ข่าวสารเกี่ยวกับการประชุมคณะรัฐมนตรี มติคณะรัฐมนตรี การดำเนินงานของคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือกระทรวง กรม ตลอดจนชี้แจงต่อสาธารณชนเมื่อปรากฏว่ามีการเสนอข่าวคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงหรือไม่ถูกต้องครบถ้วนอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคลากรหรือรัฐบาล หรือการปฏิบัติผิดพลาดได้ ทั้งนี้ อาจขอให้โฆษกกระทรวงเป็นผู้แถลงข่าว หรือออกคำชี้แจงเอง หรือร่วมกันแถลงข่าว หรือชี้แจงด้วยก็ได้

ส่วนเนื้อหาในข้อ 6 และข้อ 7 ของมติ ครม.ล่าสุดนี้นั้นเป็นไปตามมติ ครม.เดิมในปี 2542 แต่มีการตัดข้อที่ให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบเผยแพร่ข่าวการประชุมออกไปจากเดิมที่มีการกำหนดไว้ในข้อ 6 ของมติ ครม.ปี 2542

โฆษกรัฐบาลแจงทำต่อเนื่องมา 20 ปีแล้ว

21 ก.ย.2566 ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมตรี ชี้แจง กรณีเว็บไซต์ข่าวประชาชาติ พาดหัวข่าว“ครม.เศรษฐา ออกกฎเหล็ก ปิดปากรัฐมนตรี-ข้าราชการ ห้ามให้ข่าวสื่อมวลชน ฝ่าฝืน ฟันวินัยร้ายแรง ปลดออก-ไล่ออก เพื่อรักษาความลับที่สุด-ลับมาก-ลับ อ้าง ความมั่นคง-ประโยชน์แห่งรัฐ” เป็นการใช้ข้อความรุนแรง อาจทำให้ผู้รับสารเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
 
ชัยชี้แจงดังนี้เรื่องดังกล่าว เป็น ‘มติ ครม. รับทราบแนวทางปฏิบัติ’ ในการรักษาความลับของราชการที่เกี่ยวข้องกับการประชุม ครม. และการให้ข่าวสารแก่สื่อมวลชน ซึ่งกระทำต่อเนื่องกันมา ย้อนหลังกว่า 20 ปี
 
โฆษกรัฐบาลกล่าวต่อว่าเรื่องดังกล่าว เป็นปกติ ในการแจ้งผู้เข้าร่วมประชุม ครม. ถึงแนวทางปฏิบัติ โดยมีสาระสำคัญคือ ไม่เผยแพร่ข้อมูลใด ๆ ในที่ประชุม ครม. โดยเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณา อาจมีความอ่อนไหว และมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และ/หรือผลประโยชน์แห่งชาติ แต่หากเรื่องที่เป็นมติเห็นชอบ/อนุมัติแล้ว สามารถเผยแพร่สื่อสารได้ตามเหมาะสม
 
ชัยระบุว่า เรื่องใดมีผลกระทบอ่อนไหว ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตรง เป็นผู้ชี้แจงหลัก และให้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่และอำนาจให้ข่าวสารการประชุม-มติ-การดำเนินงาน ครม. และชี้แจงต่อสาธารณชนหากมีการเสนอข่าวคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net