Skip to main content
sharethis

21 ธ.ค. 2564 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 2,476 คน เสียชีวิต 32 คน ด้าน ครม. อนุมัติเงินกู้ฯ 35,967 ล้านบาท แบ่งเป็น 35,060 ล้านบาท จัดหาวัคซีนไฟเซอร์ 30 ล้านโดส และแอสตราเซเนกา 60 ล้านโดส อีก 607.15 ล้านบาท เยียวยาผู้ประกันตนที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับสถานบันเทิง และกระตุ้นการท่องเที่ยวอีก 300 ล้านบาท

ติดเชื้อวันนี้ 2,476 คน เสียชีวิต 32 คน

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 21 ธ.ค. 2564 ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,476 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 2,399 คน ติดเชื้อจากต่างประเทศ 30 คน ติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 47 คน ผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 2,196,529 คน ด้านกรมควบคุมโรครายงานจำนวนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายจากการตรวจด้วยแอนติเจนเทสต์คิต (antigen test kit: ATK) เป็นบวก 264 คน ซึ่งจำนวนนี้ไม่ถูกนับรวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน

เสียชีวิตเพิ่ม 32 คน ผู้เสียชีวิตทั้งหมดมีอายุมากกว่า 60 ปี หรือมีโรคเรื้อรัง เสียชีวิตสะสม 21,440 คน อัตราการเสียชีวิต 0.98%

ผู้ป่วยรักษาหาย 3,649 คน ยังรักษาตัวอยู่ 38,892 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 880 คน ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 237 คน ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว 44,487,133 คน คิดเป็น 61.76% ของประชากร

นอกจากนี้ ศบค. ยังรายงานผลการดำเนินงานการรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร พบว่า ตั้งแต่ 1 พ.ย.-20 ธ.ค. 2564 มีผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร 171,780 คน พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 377 คน แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางแบบเทสต์แอนด์โก (Test & Go) 227 คน อัตราการติดเชื้อ 0.15% ผู้ติดเชื้อที่เดินทางแบบแซนด์บ็อกซ์ (sandbox) 50 คน อัตราการติดเชื้อ 0.24% และผู้ติดเชื้อที่พบระหว่างกักตัว 100 คน อัตราการติดเชื้อ 2.51%

อนุมัติเงินกู้ 3.5 หมื่นล้าน ซื้อไฟเซอร์ 30 ล้านโดส แอสตราเซเนก้า 60 ล้านโดส

ด้านเว็บไซต์รัฐบาลไทยรายงานว่า รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 ธ.ค. 2564 ว่า ครม. เห็นชอบการใช้เงินกู้ ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 กรอบวงเงินรวม 35,967 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 โครงการหลัก ดังนี้

1. โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ประจำปี 2565 รวม 90 ล้านโดส กรอบวงเงิน 35,060 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) จำนวน 30 ล้านโดส และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) จำนวน 60 ล้านโดส

2. โครงการเยียวยาผู้ประกันตน ในกิจการสถานบันเทิงและผู้ประกอบการอาชีพอิสระที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ กรอบวงเงิน 607.15 ล้านบาท ดำเนินการโดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยสำนักงานประกันสังคม จะเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตนในอัตรารายละ 5,000 บาท ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายโครงการทั้งสิ้น 121,431 คน แบ่งเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 จำนวน 10,762 คน  และผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 จำนวน 110,669 คน รวมวงเงิน 607 ล้านบาท

3. โครงการ Thailand Festival Experience กรอบวงเงิน 300 ล้านบาท ดำเนินการโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติไม่น้อยกว่า 200,000 คนต่อครั้ง และสร้างรายได้สู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการไม่น้อยกว่า 2,347 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย 3 โครงการย่อย ได้แก่

3.1 โครงการ Amazing Sports & Extreme Month กรอบวงเงิน 100 ล้านบาท โครงการนี้เป็นการจัดแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ รวม 10 ครั้ง อาทิ การแข่งขันจักรยานทางไกล การแข่งขัน Surf Skate Surf Kite Surfboard and Extreme Sports  การแข่งขันไตรกีฬา การแข่งขันวิ่ง City Run และเทศกาลว่าวนานาชาติ โดยจะจัดกิจกรรมในพื้นที่ 10 จังหวัดท่องเที่ยว ได้แก่เชียงใหม่ เชียงราย ประจวบคีรีขันธ์ พังงา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา อุดรธานี ชลบุรีสงขลา และเพชรบุรี ซึ่งโครงการนี้จะก่อให้เกิดการจ้างงานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไม่น้อยกว่า 6.2 แสนอัตรา และเกิดกระจายรายได้แก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาคบริการกว่า 550 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 5.65 หมื่นคน (ชาวต่างชาติ 6,500 คน และชาวไทย 50,000 คน)

3.2 โครงการ Dazzling of the Andaman กรอบวงเงิน 100 ล้านบาท มีกลุ่มเป้าหมายเป็นแรงงานในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง 10,000 ราย และผู้ประกอบการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน โดยมีรูปแบบกิจกรรม คือ 1) จัดกิจกรรมถ่ายทอดวัฒนธรรมเมืองภูเก็ตผ่านแสงสีและสื่อผสม 2) จัดเทศกาลประดับไฟ ณ แหลมพรหมเทพ 3) จัดกิจกรรมแสดงผลงานทางศิลปะของศิลปินที่มีชื่อเสียงของจังหวัดกระบี่และพังงา และ 4) การจัดแสดงพลุ ณ แหลมพรหมเทพ ซึ่งโครงการนี้จะก่อให้เกิดการกระจายรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและภาคบริการกว่า 1,300 ล้านบาท

3.3 โครงการ Music Festival & Rhythm in Memory  กรอบวงเงิน 100 ล้านบาท มีกลุ่มเป้าหมายเป็นแรงงานในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง 10,000 คน ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต มีรูปแบบกิจกรรมคือ 1) จัดมหกรรมดนตรีที่รับชมบนเรือสำราญ 2) จัดแสดงดนตรี Beach Music Festival ภูเก็ต บนหาดป่าตอง หาดกะตะ หาดกะรน และเกาะนาคา 3) การออกร้านของผู้ประกอบการ Start Up SME และวิสาหกิจชุมชน ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้ คือ 1) เกิดการกระจายรายได้แก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการกว่า 497 ล้านบาท  คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 8,500 คน และมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 30,000 คนต่อครั้ง

เว็บไซต์รัฐบาลไทยยังรายงานด้วยว่า ก่อนการประชุม ครม. เวลา 08.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำกลุ่มคนบันเทิงกลางคืน นักดนตรี ศิลปิน ประกอบไปด้วย ช. อ้น ณ บางช้าง อาจารย์ไข่ (มาลี ฮวนน่า) เกียรติคุณ วีระพงษ์ประดิษฐ์  สุดา ชื่นบาน และบ่าววี พร้อมด้วย ตัวแทนผู้จัดงานคอนเสิร์ต อีเว้นท์ ธเนศ สุขวัฒน์ และวรพจน์ นิ่มวิจิตร เข้าพบเพื่อขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้การช่วยเหลือเยียวยาคณะคนบันเทิง โดยมีดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม

ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทุกฝ่ายต่างต้องขอบคุณซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะศิลปินอิสระ กลุ่มคนบันเทิง ที่เข้าใจการทำงานของรัฐบาล ซึ่งต้องบริหารสถานการณ์ที่ไม่ปกติ บางส่วนอาจมีความล่าช้าไปบ้างเนื่องจากกฎระเบียบต่างๆ และรัฐบาลให้ความสำคัญในการใช้เงินกู้ ให้มีประสิทธิภาพตามกฏหมาย ซึ่งปัญหาที่ผ่านมา คือ ศิลปินอิสระไม่ได้ขึ้นทะเบียนในระบบประกันสังคม จึงเร่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จัดทำข้อมูลแบบ Big Data โดยขอให้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้งสถาบันหรืออกลุ่มที่ชัดเจนตามกฏหมาย เพื่อให้เข้าถึงการช่วยเหลือของภาครัฐ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรียืนยันว่าที่ผ่านมาได้พิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนกลางคืนอยู่เสมอ ซึ่งขณะนี้ก็มีการเปิดให้แสดงดนตรีสดได้แล้วในสถานที่หรือร้านอาหารที่มีลักษณะเปิดโล่ง จึงต้องขอความร่วมมือให้ทุกคนร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดในช่วงสิ้นปี เพราะอยากให้ประชาชนได้ใช้เวลาในช่วงปีใหม่อย่างมีความสุข ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะบริหารสถานการณ์ในภาพรวม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังระบาดในหลายประเทศตอนนี้ด้วย

โอกาสนี้ ผู้แทนกลุ่มคนบันเทิง กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่คิดถึงกลุ่มศิลปินอิสระที่ทำงานกลางคืน หรือนักร้อง นักแสดงตลก ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งได้ติดตามการทำงานของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล เข้าใจว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้ละเลยและเร่งให้ความช่วยเหลือพี่น้องศิลปินคนบันเทิง วันนี้ จึงขอมามอบช่อดอกไม้แด่นายกรัฐมนตรีเพื่อเป็นการขอบคุณ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net