Skip to main content
sharethis

มานะ หงษ์ทอง ชายวัย 64 ปี ผู้ถูกลูกหลงกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ยิงเข้าที่ศีรษะระหว่างสลายการชุมนุมแยกดินแดง เมื่อ 15 ส.ค. 64 จนได้รับบาดเจ็บสาหัส และเป็นผู้ป่วยทุพพลภาพนานกว่าครึ่งปี โดยไร้หน่วยงานรัฐช่วยเหลือและรับผิดชอบ บัดนี้เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 65 ญาติติดใจ แพทย์ชันสูตรติดเชื้อโควิด-19 

สืบเนื่องจากกรณี นายมานะ หงษ์ทอง ชายอายุ 64 ปี ชาวกรุงเทพฯ ผู้ได้รับลูกหลงถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่บริเวณศีรษะ จากปฏิบัติการควบคุมฝูงชนของเจ้าหน้าที่ที่แยกดินแดง เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 64 เหตุดังกล่าวส่งผลให้ มานะ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ป่วยทุพพลภาพ ไม่สามารถขยับตัวหรือช่วยเหลือตัวเองได้ โดยญาติต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานานกว่า 6 เดือน

กระทั่งเมื่อ 5 มี.ค. 65 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งยืนยันว่า มานะ หงษ์ทอง เสียชีวิตแล้ว เบื้องต้น แพทย์ชันสูตรว่าจากไปด้วยอาการติดเชื้อโควิด-19 อย่างไรก็ตาม นายเอกรินทร์ หงษ์ทอง อายุ 43 ปี อาชีพอิสระ และเป็นหลานของผู้เสียหายให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าวว่า ญาติยังติดใจสาเหตุการเสียชีวิต 

“เรื่องโควิด-19 ผมยังไม่แน่ใจ เพราะว่าแก (ผู้สื่อข่าว - มานะ หงษ์ทอง) ไม่ได้ไปไหน และคนในบ้านไม่มีใครติดด้วย แต่แพทย์ชันสูตรเขาใช้ที่ตรวจจิ้มที่จมูก และขึ้นสองขีด (ผู้สื่อข่าว - positive) พอหลังจากนั้น คนในบ้านพอตรวจก็ไม่มีใครเป็น” เอกรินทร์ กล่าว  

ญาติของผู้เสียหายกล่าวต่อว่า ก่อนหน้าที่มานะจะเสียชีวิต เขามีพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไป ไม่ยอมทานข้าวและยา ทานไปแล้วก็จะบ้วนออกมา และจะทานแต่ขนมขบเคี้ยวกับน้ำ นอกจากนี้ เขาไม่มีอาการอื่นๆ ที่ผิดสังเกตุร่วมด้วย เนื่องจากญาติมองว่าในช่วงเช้าวันเดียวกับที่มานะเสียชีวิต อาการของมานะยังดูปกติดี จนกระทั่งประมาณเที่ยงวันของวันที่ 5 มี.ค. 65 จะไปป้อนข้าว พบว่า นายมานะไม่มีการตอบสนองแล้ว

ญาติของมานะ ระบุต่อว่า อาการป่วยทุพพลภาพที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อย่างแน่นอน เนื่องจากก่อนหน้านี้ มานะ สามารถใช้ชีวิตอย่างคนทั่วไปจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว 

แม้ว่าผู้เสียหายได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ แต่นับตั้งแต่ 15 ส.ค. 64 จนถึงปัจจุบัน กลับยังไร้หน่วยงานรัฐเข้ามารับผิดชอบ ช่วยเหลือ และเยียวยาผู้เสียหายคนดังกล่าว 

“ไม่มีเจ้าหน้าที่จากรัฐเข้ามาดูแลเลย” เอกรินทร์ ญาติผู้เสียหาย และเป็นช่างภาพอิสระ กล่าว และระบุต่อว่า “หลังเกิดเหตุ ผมโทรไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงยุติธรรม ถูกปัด ศูนย์ดำรงธรรมก็ปัด ต้องไปดำเนินคดี เราก็ไม่ทราบว่าต้องทำกันยังไง”

หลานชายของผู้เสียหาย ระบุว่า สำหรับการดูแลรักษานายมานะ สมาชิกครอบครัวพยายามดูแลให้ดีที่สุดตามศักยภาพเท่าที่ทำได้ แม้ว่าหลายคนจะได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อปีที่ผ่านมา 

“แกป่วยติดเตียง พวกผมก็ดูแลกันตามความสามารถเท่าที่มี ก็ไม่ได้สบาย และไม่ได้ดูแลได้ดีมากนัก แต่ตามสรรพกำลังที่พอจะทำได้ มีบ้างที่เหนื่อยขึ้น ด้วยสถานการณ์ที่เราเจอ และอาชีพที่เราทำ ขณะที่แม่ผม หรือน้องสาวน้า เขาก็แก่เป็นโรคประจำตัว เวลาผมไปทำงาน แม่ผมที่เขาเดินไม่สะดวกก็ต้องประคองดูแลกันไป อันนี้มันค่อนข้างลำบาก มันส่งผลต่อวิถีชีวิตครอบครัวเราค่อนข้างมากเหมือนกัน”

“น้าผม (ผู้สื่อข่าว - มานะ หงษ์ทอง) ใช้ชีวิตปกติอย่างประชาชนทั่วไป ถึงแม้จะเจอสถานการณ์โควิด พอออกไปหารายได้ได้บ้างแถวราชวัตร และกลับบ้านดึกทุกวัน แต่แกได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ที่ควบคุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ผมไม่ได้บอกว่าเป็นกระสุนหรืออะไร แต่สิ่งที่ทำให้ชีวิตแกไม่ปกติมาจากการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่ง (ผู้สื่อข่าว - รัฐ) ควรจะมีการช่วยเหลือ หาความยุติธรรมให้กับเหตุการณ์นี้” เอกรินทร์ ทิ้งท้าย

กสม. เร่งประสานช่วยเหลือ

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 25 ก.พ. 65 คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และตัวแทนมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ยื่นหนังสือถึง วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อตรวจสอบเหตุละเมิดสิทธิฯ จากการใช้กำลังสลายการชุมนุม จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส อย่างกรณีของนายมานะ หงษ์ทอง ซึ่งต้องทุพพลภาพมานานกว่า 6 เดือน และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

วสันต์ ภัยหลีกลี้ สมาชิก กสม. ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เมื่อ 6 มี.ค. 65 เผยว่า เบื้องต้น ตนขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของ ‘มานะ หงษ์ทอง’ ผู้เสียชีวิต  

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้เสียหายจะจากไปแล้ว แต่วสันต์ สำทับว่า การดำเนินงานของ กสม. จะดำเนินงานต่อไป โดยเฉพาะการตรวจสอบผู้ละเมิดสิทธิฯ และเป็นเหตุให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา นอกจากนี้ ทาง กสม.จะเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วย ซึ่งทาง กสม.จะดูว่าจะสามารถประสานเพื่อให้มีการเยียวยาอะไรและอย่างไรได้บ้างต่อไป  

“เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่เกิดการบาดเจ็บ เสียชีวิตจากกรณีการชุมนุมและการสลายการชุมนุมที่ผ่านมา ทาง กสม. ก็มีความกังวลมาโดยตลอด และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามหลักสากล และเรียกร้องให้ผู้ชุมนุม ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายลดเงื่อนไขที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงและก็ความสูญเสีย ความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ และเราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้น อยากให้เป็นบทเรียนของทุกฝ่าย และไม่อยากให้เกิดความสูญเสียอย่างนี้เกิดขึ้น” วสันต์ ทิ้งท้าย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักกฎหมายสิทธิฯ ร้อง กสม. เร่งสอบเหตุ ปชช.ถูกกระสุนยาง หลังทุพพลภาพมาครึ่งปี

สำหรับประชาชนที่ต้องการร่วมสมทบทุนการจัดงานฌาปนกิจศพ นายมานะ หงษ์ทอง เหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากกระสุนยางของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะจัดในวันที่ 7 มี.ค. 65 ที่วัดกุนนทีรุทธาราม ห้วยขวาง จ.กรุงเทพ 

สามารถช่วยเหลือได้ที่ บัญชี นางสิริพรรณ หงษ์ทอง (พี่สาวของมานะ หงษ์ทอง) ธนาคารกรุงไทย เลขที่บัญชี 383-0-00044-8

หมายเหตุ - มีการอัปเดตเนื้อหาข่าวเป็นปัจจุบัน เมื่อ 8 มี.ค. 65 เวลา 18.11 น. 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net