Skip to main content
sharethis

สรุปเสวนาออนไลน์ มองอนาคตเศรษฐกิจการเมือง “ไทย-ซาอุดีอาระเบีย” ผ่านความสัมพันธ์ในอดีตสู่ปัจจุบัน พร้อมวิเคราะห์บทบาทและข้อควรระวังที่ไทยต้องให้ความสำคัญหลังกลับมากระชับมิตรกับซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง ร่วมเสวนาโดย ผศ.อาทิตย์ ทองอินทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และรุสตั้ม หวันสู อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

3 ก.พ. 2565 โครงการวิทยาลัยการเมือง สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชิ (มสธ.) จัดเสวนาวิชาการออนไลน์ หัวข้อ “ฟื้นความสัมพันธ์ซาอุฯ-ไทย: นัยยะทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ” เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยมี ผศ.อาทิตย์ ทองอินทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และรุสตั้ม หวันสู อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นผู้เสวนาในประเด็นทิศทางความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบียจากอดีตสู่ปัจจุบัน นโยบาย Vision 2030 และบทบาทด้านการเมืองและเศรษฐกิจของ 2 ประเทศในอนาคต

ย้อนรอยความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ

อาทิตย์เริ่มต้นการเสวนาด้วยประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยและซาอุดีอาระเบียในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ ไทยและซาอุดีอาระเบียถูกมองว่าเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของสหรัฐอเมริกา และมีความสัมพันธ์อันดีกันมาตลอด โดยมีแรงงานไทยไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบียบจำนวนมากถึงขั้นที่ศิลปินหลายคนนำเรื่องราวของแรงงานไทยในซาอุดีอาระเบียมาแต่งเป็นเพลง จนกระทั่งช่วง พ.ศ.2532-2533 ที่เกิดเหตุการณ์ ‘คดีเพชรซาอุฯ’ ขึ้น ตามมาด้วยเหตุการณ์สังหารนักการทูตชาวซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทำให้เกิดทฤษฎีมากมาย ทั้งเรื่องความขัดแย้งในระหว่างซาอุดีอาระเบียกับประเทศตะวันออกกลางแต่กลับเลือกใช้ไทยเป็นสถานที่ลงมือก่อเหตุ หรือบางคนก็เชื่อว่าเป็นเหตุสืบเนื่องจากคดีเพชรซาอุฯ ที่มีคนบงการอยู่เบื้องหลัง แต่เหตุการณ์ที่เป็นเหมือนจุดพลิกผันที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียต้องสะบั้นลงในท้ายที่สุดคือเหตุการณ์สังหารณ์นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย โดยทั้ง 3 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน และทำให้ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบียต้องยุติลงมาเป็นเวลากว่า 30 ปี อาทิตย์บอกว่าแม้ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างรัฐต่อรัฐจะสิ้นสุดลง แต่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลระหว่างชาวไทยกับชาวซาอุดีอาระเบียยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะชาวไทยมุสลิมที่มักจะเดินทางไปแสวงบุญหรือศึกษาต่อที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย

ภาพการเสวนาออนไลน์ โดยอาทิตย์ ทองอินทร์ (ซ้าย) และรุสตั้ม หวันสู (ขวา)
 

มองความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ผ่านกรอบการเมืองระดับโลก ภูมิภาค และในประเทศ

รุสตั้มวิเคราะห์จุดเปลี่ยนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยและซาอุดีอาระเบียไว้ 3 ระดับ คือ การเมืองระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เห็นพลวัตและทิศทางการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รุสตั้มกล่าวว่าการเมืองโลกหลังยุคสงครามเย็นไม่ได้เป็นการเมืองขั้วเดียวที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เพราะนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2000 เป็นต้นมา หลายประเทศเริ่มมีความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจ เช่น จีน ทำให้อำนาจในการต่อรองกระจายตัวไปอยู่ที่อื่น ไม่ใช่แค่ที่สหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้ ทั้งไทยและซาอุดีอาระเบียจึงต้องปรับตัวตามทิศทางการเมืองโลก คือหันไปพึ่งพิงโอกาสทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ มากขึ้น และหนึ่งในนั้นก็คือจีน ซึ่งซาอุดีอาระเบียมองเห็นจีนเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญจากโครงการข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ที่ซาอุดีอาระเบียเองก็ถูกนับรวมเป็นหนึ่งในเส้นทางการค้าหลัก เช่นเดียวกับไทย

ต่อมาคือการเมืองในระดับภูมิภาคตะวันออกกลาง รุสตั้มบอกว่าการปกครองส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้เป็นระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นประธานาธิบดีหรือราชวงศ์มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการบริหารปกครอง ซึ่งเป็นลักษณะที่ตกทอดมาจากการปกครองแบบชนเผ่าที่มีมาอย่างยาวนานในภูมิภาคนี้ แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ชนชั้นปกครองในภูมิภาคตะวันออกกลางเกิดความกังวล โดยเฉพาะกลุ่มราชวงศ์ คือเหตุการณ์อาหรับสปริง (Arab Spring) ที่ประชาชนลุกฮือขึ้นมาโค่นล้มอำนาจของผู้นำเผด็จการ เพราะไม่พอใจการบริหารบ้านเมืองที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องเศรษฐกิจปากท้องเป็นหลัก จนทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา รุสตั้มบอกว่าจุดนี้คือสิ่งที่ราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียกลัว เพราะถึงแม้จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่หากขาดความชอบธรรมหรือขาดการยอมรับจากประชาชนแล้ว ระบอบอำนาจนิยมของพวกเขาก็อาจสั่นคลอนได้เหมือนหลายประเทศในภูมิภาค ชนชั้นนำของซาอุดีอาระเบียจึงต้องปรับตัวตามคำเรียกร้องของประชาชนเพื่อประคองให้อำนาจยังอยู่ในมือ ไม่ให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านเหมือนในประเทศอื่นๆ ดังที่เห็นข่าวว่ารัฐบาลซาอุดีอาระเบียเริ่มให้สิทธิเสรีภาพต่างๆ แก่ประชาชน รวมถึงต้องพยุงเศรษฐกิจให้ประชาชนอยู่ดีกินดี

การประท้วงในประเทศตูนีเซียเมื่อ พ.ศ.2554 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการภายใต้การนำของประธานาธิบดีซีน อัลอาบิดีน บิน อะลี (Zine El Abidine Ben Ali) ที่ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศมาอย่างยาวนานตั้งแต่ พ.ศ.2530 โดยการประท้วงในตูนีเซียที่เรียกว่า 'การปฏิวัติดอกมะลิ' เป็นจุดกำเนิดของการประท้วงต่อต้านอำนาจรัฐบาลเผด็จการในหลายประเทศแถบตะวันออกกลางและตอนเหนือของทวีปแอฟริกา (ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

ประเด็นสุดท้าย คือการเมืองภายในประเทศของซาอุดีอาระเบียที่เข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน ในปี 2558 ซาอุดีอาระเบียมีกษัตริย์องค์ใหม่ คือ สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด ซึ่งเป็นพระราชบิดาของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารองค์ปัจจุบันที่เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยเข้าพบเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รุสตั้มบอกว่าหลังจากที่สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานขึ้นครองราชย์ สิ่งแรกๆ ที่พระองค์ทรงทำคือการล้มล้างกลุ่มอำนาจเก่าภายในการเมืองซาอุดีอาระเบีย ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์หลายๆ อย่าง เช่น การเปลี่ยนมกุฎราชกุมารจากเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ มาเป็นเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ซึ่งเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงมีบทบาทอย่างมากในการวางนโยบายปรับปรุงประเทศให้มีความทันสมัย ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศรอบๆ อ่าวเปอร์เซีย เช่น กาตาร์ สร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ กับประเทศฝั่งตะวันออก เช่น จีน รวมถึงไทย ซึ่งรุสตั้มมองว่าสาเหตุที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน วางนโยบายเช่นนี้เพราะต้องการแสดวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เนื่องจากถูกบีบคั้นมาจากสภาพการเมืองโลกที่ต้องมีพันธมิตรใหม่ในการลงทุน หากยึดติดกับความสัมพันธ์บาดหมางกับประเทศอื่นๆ ที่มีมาตั้งแต่กลุ่มอำนาจเก่าก็ไม่อาจทำให้ซาอุดีอาระเบียก้าวต่อไปข้างหน้าได้

อาทิตย์และรุสตั้มเห็นตรงกันว่าความพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียมีมาอย่างยาวนานต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ในรัฐบาลนี้ แต่มาสำเร็จในรัฐบาลนี้เพราะช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะ นั่นคือการเปลี่ยนขั้วอำนาจจากการเมืองภายในของซาอุดีอาระเบีย และถึงแม้ทางซาอุดีอาระเบียจะส่งสัญญาณ ‘ก้าวข้าม’ ความบาดหมางเก่า แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไทยจะต้อง ‘แกล้งลืม’ และปล่อยให้ปัญหาในอดีตยังคงคลุมเครือต่อไป ทั้ง 2 คนมองว่าการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีของไทยในการสะสางและชำระเรื่องบาดหมางเก่าๆ ให้มีความชัดเจน เพื่อสานต่อความสัมพันธ์ในอนาคต

ปัญหาปากท้องบีบคั้นให้ชนชั้นนำซาอุฯ ต้องสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อประชาชน

อาทิตย์กล่าวเสริมเรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เป็นสาเหตุหลักให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียต้องปรับตัว เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเริ่มลดการพึ่งพาน้ำมัน ทำให้ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกต้องมองหาที่พึ่งใหม่ทางเศรษฐกิจที่เข้ากับกระแสของเศรษฐกิจโลก อาทิตย์เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายว่าซาอุดีอาระเบียมี ‘เงินเย็น’ หรือ Passive income จากการขายน้ำมันจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลซาอุดีอาระเบียต้องนำ ‘เงินเย็น’ จากการขายน้ำมันไปจุนเจือประชาชนเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยดีเพราะราคาน้ำมันโลกผันผวน แต่หากนำเงินเย็นออกมาใช้เรื่อยๆ โดยที่ไม่แสวงหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ ก็อาจทำให้สภาพเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียแย่ลงยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลซาอุดีอาระเบียที่มีเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป็นผู้นำโดยพฤตินัยจึงจำเป็นต้องขยายขอบเขตความมั่งคั่งด้วยการนำเงินเย็นออกไปลงทุนให้ผลิดอกออกผล เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง

อาทิตย์วิเคราะห์เพิ่มเติมว่าสาเหตุที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียต้องพยายามอย่างหนักเพื่อเลี้ยงปากท้องประชาชนเป็นเพราะบทเรียนจากชาติอื่นๆ ในเหตุการณ์อาหรับสปริง ชนชั้นนำของซาอุดีอาระเบียจึงต้องการรักษาเสถียรภาพและความชอบธรรมในการปกครอง เพราะยิ่งประชาชนซาอุดีอาระเบียรู้สึกว่าพวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีก็จะยิ่งเสริมให้การปกครองแบบอำนาจนิยมของราชวงศ์ซะอูดแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

รุสตั้มกล่าวเสริมว่าเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียพึ่งพิงกับน้ำมันกว่า 75% หากราคาน้ำมันโลกตก ดังเช่นช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียแย่ตาม รัฐบาลจึงต้องกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ขณะเดียวกัน ประชากรซาอุดีอาระเบียในปัจจุบันกว่า 50% เป็นคนวัยทำงาน อายุประมาณ 30-40 ปี การนำเงินเย็นมาช่วยเหลือประชาชนอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ ต้องทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นวัยทำงานมีงานทำ ถ้าประชาชนมีงานทำก็จะช่วยลดการพึ่งพาจากรัฐลงได้อีกมาก แต่การขยายเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียในยุคเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานจะมุ่งเน้นไปทางตะวันตกอย่างเดียวคงเป็นเรื่องยาก เพราะปัญหาเรื่องการละมิดสิทธิมนุษยชนหลายอย่างที่ชาติตะวันตกตั้งข้อกังขาในตัวพระองค์ ทำให้พระองค์ต้องหันมาทางตะวันออกมากขึ้น เพราะมีแรงกดดันในประเด็นนี้น้อยกว่า

บุคลิกเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน

รุสตั้มบอกว่าในอนาคตข้างหน้า เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานจะต้องขึ้นเป็นกษัตริย์ของซาอุดีอาระเบียอย่างแน่นอนหากการเมืองภายในไม่มีการเปลี่ยนแปลง และบุคลิกของพระองค์ในฐานะผู้นำเป็นได้ทั้งผู้นำแบบ ‘อ่อน’ และ ‘แข็ง’ ซึ่งในด้านที่แข็งนั้นก็อาจจะไม่เป็นที่พึงพอใจในสายตาของชาติตะวันตกมากนัก

ด้านอาทิตย์บอกว่าเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มีบุคลิกเป็นผู้นำเผด็จการอำนาจนิยมเหมือนกษัตริย์หรือผู้นำในภูมิภาคตะวันออกกลางคนอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความคิดที่ก้าวหน้าและเปิดกว้างในด้านเศรษฐกิจ โดยรวมแล้ว อาทิตย์มองว่าเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับกาเมล อับเดล นัสเซอร์ (Gamel Abdel Nasser) อดีตประธานาธิบดีอียิปต์ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และมูอัมมาร์ กัดดาฟี (Muammar Al-Qadhdhafi) อดีตผู้นำลิเบีย

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน
 

Vision 2030 โอกาสในการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ

อาทิตย์และรุสตั้มมองว่านโยบาย Vision 2030 ของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียมีขึ้นเพื่อรุกเศรษฐกิจในตะวันออกมากขึ้น เพราะสอดรับกับนโยบาย BRI และ Made in China 2025 ของจีนอย่างมาก อีกทั้งนโยบายนี้ยังเป็นการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ให้เข้ามาในซาอุดีอาระเบีย นอกจากความต้องการแรงงานไทยแล้ว ซาอุดีอาระเบียยังมุ่งหวังให้ทุนใหญ่จากไทยเข้าไปลงทุนทำธุรกิจที่นั่น

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจอาหารก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทยที่จะได้ขยายตลาดอาหารฮาลาล รวมถึงเรื่องการท่องเที่ยว ซาอุดีอาระเบียมุ่งหวังผลักดันการท่อเงที่ยวในประเทศให้เติบโต 30% ผ่านการท่องเที่ยวแสวงบุญ เช่น การเดินทางเข้าไปประกอบพิธีอุมเราะห์ ซึ่งเป็นพิธีที่สามารถกระทำได้ตลอดทั้งปี ต่างจากพิธีฮัจญ์ที่มีขึ้นเพียงปีละครั้ง โดยรุสตั้มมองว่าเรื่องการท่องเที่ยวน่าจะเป็นโอกาสดีที่ธุรกิจและแรงงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการของไทยจะได้เข้าไปเติบโตในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งการเข้าไปทำธุรกิจที่นั่นจะช่วยให้เข้าใจการบริการแบบฮาลาลและสร้างองค์ความรู้ใหม่ เช่นเดียวกับซาอุดีอาระเบียที่จะได้องค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวและการบริการจากไทย เพราะธุรกิจประเภทนี้ของไทยมีชื่อเสียงในระดับต้นๆ ของโลก

ข้อควรระวังหลังฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ

หลังจากที่รัฐบาลไทยและซาอุดีอาระเบียประกาศฟื้นฟูอย่างสัมพันธ์อย่างเป็นทางการแล้ว รุสตั้มบอกว่าไทยมีประเด็นอ่อนไหวที่ต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ซ้ำอีก นั่นคือเรื่องศาสนาและปัญหาในชายแดนใต้ ซึ่งต้องระวังทั้งในระดับรัฐและระดับบุคคล ขณะที่อาทิตย์ระบุว่าไทยควรระวังเรื่องการวางตัวในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะไทยมีความสัมพันธ์กับหลายประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งบางประเทศเป็นคู่ขัดแย้งกับซาอุดีอาระเบีย เช่น อิหร่าน การวางตัวเป็นกลางกับทุกๆ ฝ่ายจึงสำคัญ นอกจากนี้ อาทิตย์ยังเสนอว่าไทยอาจสวมบทบาทเป็นสื่อกลาง (mediator) ในการสานสัมพันธ์ระหว่างคู่ขัดแย้ง ดังที่มาเลเซีย กาตาร์ แคนาดา หรือบาห์เรน พยายามทำ ซึ่งการแสดงออกในลักษณะนี้น่าจะช่วยเสริมบทบาทของไทยให้โดดเด่นขึ้นในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net