Skip to main content
sharethis

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศล่าสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่อนุมัติฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ให้เด็กอายุ 5-11 ปี ตามหลังประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม G7 และประเทศอื่นๆ ในยุโรป ตะวันออกกลาง รวมถึงอาเซียนอย่างไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ที่อนุมัติไปแล้วก่อนหน้านี้ ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมารับรองอย่างเป็นทางการแล้วเช่นกันว่าวัคซีนไฟเซอร์ปลอดภัยสำหรับเด็กในช่วงวัยดังกล่าวตามผลการศึกษาในหลายประเทศ ขณะที่ไทยเริ่มต้นฉีดวัคซีนให้เด็ก 31 ม.ค. นี้ เริ่มที่กลุ่มเสี่ยงและกระจายต่อไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ โดยเด็กที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง

ข้อควรรู้ก่อนฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก 5-11 ปี

  • องค์การอาหารและยา (FDA) และกรมควบคุมโรค (CDC) ของสหรัฐฯ รวมถึง WHO อนุมัติและรับรองความปลอดภัยวัคซีนไฟเซอร์เด็กแล้ว
  • หลายประเทศในทวีปยุโรป ทวีปอเมริกา รวมถึงภูมิภาคตะวันออกกลาง และเอเชีย-แปซิฟิก อนุมัติการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก 5-11 ปี และทยอยฉีดให้เด็กตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว
  • สหรัฐอเมริกา แคดานา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสมาชิกสหภาพยุโรป ฉีดวัคซีนทั้งหมดเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครอง
  • ไทยเริ่มฉีดให้เด็ก 5-11 ปีที่เป็นกลุ่มเสี่ยงวันที่ 31 ม.ค. 65 ที่โรงพยาบาล ฉีดโดยกุมารแพทย์ หลังจากนั้นเน้นกระจายตามโรงเรียนทั่วประเทศ และเด็กต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อนฉีด
  • ไทยเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียนที่อนุมัติฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก 5-11 ปี ตามหลังสิงคโปร์ และตอนนี้มีฟิลิปปินส์กับมาเลเซียร่วมด้วย
  • ผลการทดลองเฟส 3 จากเด็ก 2,268 คนในสหรัฐฯ สเปน ฟินแลนด์ และโปแลนด์ ชี้ไฟเซอร์เด็กป้องกันการติดเชื้อรุนแรงได้ 90.7%
  • ผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนอาจเกิดขึ้นได้ แต่ไม่รุนแรง และพบในอัตราที่ต่ำมาก สามารถรักษาหายได้
  • วัคซีนไฟเซอร์เด็ก 5-11 ปี (ฝาส้ม) มีความเข้มข้นของ mRNA 10 ไมโครกรัม/โดส หนึ่งขวดแบ่งฉีดได้ 10 โดส เปิดแล้วเก็บได้นาน 6-12 ชม.
  • วัคซีนไฟเซอร์สำหรับคนอายุ 12 ปีขึ้นไป (ฝาม่วง) มีความเข้มข้นของ mRNA 30 ไมโครกรัม/โดส หนึ่งขวดแบ่งฉีดได้ 6 โดส เปิดแล้วเก็บได้ไม่เกิน 6 ชม. 

28 ม.ค. 2564 กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมาว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ (Pfizer) ได้รับการรับรองจากกระทรวงว่าปลอดภัยสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี และจะเริ่มแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับเด็กในเดือน มี.ค. ที่จะถึงนี้ เพื่อรับมือกับการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังระบาดหนักทั่วโลก และทางการญี่ปุ่นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเด็กด้วยเช่นกัน

ประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญประจำกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นมีมติเห็นพ้องต้องกันว่าจะลดเกณฑ์อายุของผู้เข้ารับวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ จากเดิมที่กำหนดไว้ที่อายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งทำให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนยี่ห้อแรกที่ได้รับอนุญาตจากทางการญี่ปุ่นให้ฉีดแก่เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีได้ โดยฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวเน้นย้ำว่าเขาจะเร่งดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อให้เด็กญี่ปุ่นวัย 5-11 ปี ได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง ซึ่งเด็กในช่วงวัยดังกล่าวมีจำนวนกว่า 7,200,000 คน หรือคิดเป็น 6% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและหัวหน้าพรรค LPD ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2564 ต่อจากโยชิฮิเดะ ซูกะ ที่ประกาศลาออกและไม่ลงเลือกตั้งหัวหน้าพรรค LPD คนใหม่ (ภาพจากเฟซบุ๊ก 岸田文雄)
 

ขณะที่วัคซีนโควิด-19 ยี่ห้ออื่นๆ ที่ได้รับการบรรจุในแผนการฉีดวัคซีนแห่งชาติของญี่ปุ่นอย่างโมเดอร์นา (Moderna) ได้รับอนุมัติให้ฉีดได้ในคนที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ส่วนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) อนุญาตให้ฉีดได้เฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปเท่านั้น โดยทางการญี่ปุ่นจัดให้ฉีดวัคซีนแยกตามชนิดและยี่ห้อ ไม่มีการฉีดสูตรไขว้หรือสูตรผสมแต่อย่างใด

กฎหมายญี่ปุ่นกำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีที่ประสงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ปกครองตามกฎหมาย ซึ่งผู้ปกครองบางส่วนต่างรู้สึกกังวลเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนในเด็ก

ผลสำรวจในเดือน ก.ย. 2564 ของศูนย์สุขภาพและพัฒนาการเด็กแห่งชาติของญี่ปุ่นระบุว่า 70% ของผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาและเด็กเล็กต้องการหรือมีแนวโน้มต้องการให้เด็กในปกครองเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ส่วนอีก 20% บอกว่าไม่ต้องการให้เด็กฉีดวัคซีน ขณะที่เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาจำนวน 50-60% ตอบแบบสอบถามดังกล่าวว่าพวกเขาต้องการหรือมีแนวโน้มต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่อีก 30-40% บอกว่าพวกเขาไม่ต้องการฉีดวัคซีน

เทตสึโอะ นาคายามะ ศาสตราจารย์ประจำสถาบันวิทยาศาสตร์ชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยคิตะซะโตะ แนะนำว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่เพียงแค่ช่วยป้องกันการเกิดอาการรุนแรงในเด็กที่มีโรคประจำตัวหรือมีความเสี่ยง แต่ยังช่วยป้องกันลักษณะเดียวกันในเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงได้อีกด้วย เพราะหากคนที่ติดเชื้อโควิด-19 นั้นยังไม่ได้รับวัคซีนก็อาจเกิดอาการรุนแรงกว่าทั้งทางกายและจิตใจ อย่างไรก็ตาม เด็กและผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจอย่างเต็มที่เรื่องข้อดีและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีน

ด้านสมาคมกุมารแพทย์แห่งญี่ปุ่นได้ออกมากล่าวเช่นกันว่าการฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 5-11 ปีที่มีสุขภาพแข็งแรงนั้นมีความหมายเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนให้เด็กแข็งแรงที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ใหญ่ที่ไม่มีโรคประจำตัวคนอื่นๆ และนอกจากเด็กแล้ว ผู้ใหญ่ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กก็จำเป็นต้องได้รับวัคซีนเช่นเดียวกัน

4 ประเทศอาเซียนไฟเขียวฉีดไฟเซอร์ให้เด็ก 5-11 ปี

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2564 นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า อย. อนุมัติการขยายขอบเขตข้อบ่งใช้ของวัคซีนโคเมอร์เนตี (COMIRNATY VACCINE) ของบริษัท ไฟเซอร์จำกัด สำหรับกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้ใช้วัคซีนสำหรับกระตุ้นภูมิในผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป และมาขออนุญาตขยายอายุสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี โดยมีขนาดการใช้วัคซีนลดลงเหลือ 10 ไมโครกรัม หรือ 1 ใน 3 ของผู้มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ด้วยการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 21 วัน ทั้งนี้ วัคซีนโคเมอร์เนตี เป็นวัคซีนโควิด-19 ตัวแรกที่ อย. อนุมัติให้ใช้ในกลุ่มเด็กอายุดังกล่าว

นอกจากไทยแล้ว อีก 3 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ก็อนุญาตให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์แก่เด็กอายุ 5-11 ปีแล้วเช่นกัน กระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ประกาศอนุมัติเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2564 ถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่อนุญาตให้เด็กอายุ 5-11 ปีสามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ โดยเริ่มต้นฉีดให้เด็กสัญชาติสิงคโปร์แล้วตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. ที่ผ่านมา หลังรัฐบาลสิงคโปร์ได้รับวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์สำหรับเด็กเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2564 ส่วนฟิลิปปินส์อนุมัติการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ปีเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2564 และคาดว่าจะเริ่มฉีดได้ช่วงต้นเดือน ก.พ. นี้ จากเดิมที่กำหนดไว้ช่วงกลางเดือน ม.ค. โดยเมื่อช่วงต้นปีนี้ ผู้ช่วยเลขาธิการกระทรวงสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ให้สัมภาษณ์กับ CNN Philippines ถึงสาเหตุที่จำเป็นต้องเลื่อนแผนการฉีดวัคซีนในเด็กออกไปก่อนเพราะบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากติดโควิด-19 แต่คาดว่าสถานการณ์การระบาดในช่วงต้นเดือน ก.พ. จะดีขึ้น และวัคซีนไฟเซอร์ที่จะนำมาฉีดให้เด็กนี้ ส่วนหนึ่งคือวัคซีนที่ได้รับการบริจาคจากโครงการ COVAX ขององค์การสหประชาชาติ (UN)

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซีย ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมาว่าองค์การอาหารและยาแห่งมาเลเซีย (DCA) อนุมัติการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ปีแล้ว และจะเริ่มฉีดให้เด็กในช่วงสิ้นเดือน ม.ค. นี้ ข้อมูลจาก CovidNow ฐานข้อมูลสถิติการติดเชื้อโควิด-19 ในมาเลเซียระบุว่าในช่วง 2-3 สัปดาห์หลังปีใหม่ เด็กอายุ 5-11 ปีติดเชื้อโควิด-19 คิดเป็น 10% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่เด็กในช่วงอายุอื่นๆ มีอัตราการติดเชื้อเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5-6%

นอกจาก 4 ประเทศที่อนุมัติการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กอายุ 5-11 ปีแล้ว ยังมีอีก 2 ประเทศ คือ กัมพูชา และอินโดนีเซีย ที่อนุมัติการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีโดยใช้วัคซีนยี่ห้ออื่น สำหรับอินโดนีเซีย ทางการอนุญาตให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยี่ห้อซิโนแวคแก่เด็กอายุ 6-11 ปี ตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป ส่วนกัมพูชานั้นประกาศตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.ย. ปีที่แล้วว่าจะฉีดวัคซีนยี่ห้อซิโนแวคให้เด็กอายุ 6-12 ปีทั่วประเทศ

ไทยเริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็ก 31 ม.ค. นี้ นำร่องเด็ก 7 กลุ่มเสี่ยงใน กทม.

วานนี้ (26 ม.ค. 2565) สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แถลงข่าวการจัดบริการวัคซีนโควิด-19 ในเด็กอายุ 5-11 ปี ที่กระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.โอภาส กล่าวว่า วัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี ล็อตแรก 3 แสนโดส มาถึงไทยเมื่อเช้าวันที่ 26 ม.ค. 2565 และได้ส่งวัคซีนและเอกสารให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพ จากนั้นจะส่งไปยังจุดฉีดวัคซีนทั่วประเทศ

สำหรับวัคซีนที่เหลือจะทยอยส่งทุกสัปดาห์จนครบ 3.5 ล้านโดส ภายในไตรมาสแรก โดยวัคซีนไฟเซอร์สูตรเด็กอายุ 5-11 ปี จะฉีดคนละ 0.2 มิลลิลิตร (10 ไมโครกรัม) 1 ขวดฉีดได้ 10 คน มีข้อดีคือเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส อยู่ได้นานขึ้นเป็น 10 สัปดาห์ แต่หลังเปิดใช้แล้วต้องฉีดให้หมดภายใน 2-6 ชั่วโมง

การฉีดเด็กทั่วไปที่โรงเรียนจะใช้ระบบเดียวกับการฉีดในเด็กมัธยมศึกษา กำหนดฉีด 2 เข็มห่างกัน 8 สัปดาห์ ส่วนเด็กที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.โรคอ้วน 2.โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง 3.หัวใจและหลอดเลือด 4.ไตวายเรื้อรัง 5.มะเร็งและภูมิคุ้มกันต่ำ 6.เบาหวาน 7.โรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการช้า จะฉีดที่โรงพยาบาล ระยะห่างสามารถนานได้ถึง 12 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกุมารแพทย์ที่เป็นผู้รักษา ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนให้กับเด็กยังเป็นไปตามความประสงค์ของผู้ปกครอง และไม่มีการบังคับแต่อย่างใด

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 พบว่า 98% มักไม่มีอาการหรืออาการน้อย แต่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีน โดยเฉพาะเด็กมีโรคประจำตัว เพื่อป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต และลดกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบ (MIS-C) ส่วนผลข้างเคียงหลังการฉีดในเด็กอายุ 5-11 ปี จากข้อมูลของสหรัฐอเมริกาที่ฉีดแล้ว 9 ล้านคน อาจพบอาการปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด อาการไข้น้อยกว่าเด็กโต แต่อาการทั้งหมดหายได้ใน 2 วัน อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบพบ 11 คน แต่ไม่รุนแรงและรักษาหายทั้งหมด ทั้งนี้ ในอังกฤษและออสเตรเลียให้ฉีดห่างกัน 8 สัปดาห์ เนื่องจากภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ผลข้างเคียงน้อยลง อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบยิ่งน้อยลงจนแทบไม่มีเลย การฉีดในโรงเรียนจึงแนะนำห่างกัน 8 สัปดาห์ ส่วนเด็กที่มีโรคประจำตัวและกลัวว่าจะติดเชื้อก่อน แนะนำประมาณ 4 สัปดาห์ แต่ไม่ควรเร็วกว่านั้น

ด้าน นพ.อดิศัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีเด็กอายุ 5-11 ปี ประมาณ 5 ล้านคน ในจำนวนนี้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคประมาณ 9 แสนคน ซึ่งการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กที่มีโรคประจำตัวเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครอง โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและ กทม. จะบริหารวัคซีนตามจำนวนเด็กอายุ 5-11 ปีที่มีโรคประจำตัวและผู้ปกครองยินยอม จำนวนวัคซีนที่ได้รับการจัดสรร และความพร้อมของบุคลากร รวมถึงกุมารแพทย์ที่ให้การดูแลแต่ละจังหวัด

สำหรับขั้นตอนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็ก ประกอบด้วย

  1. การคัดกรอง โดยกุมารแพทย์จะเป็นผู้ประเมิน หากกำลังมีไข้ ร่างกายอ่อนเพลีย หรือโรคประจำตัวอาการรุนแรงขึ้น อาการไม่คงที่ จะให้ชะลอการฉีดออกไปก่อน
  2. การลงทะเบียน โดยมีการเซ็นใบยินยอมของผู้ปกครอง
  3. การฉีดวัคซีน ควรจัดสถานที่มิดชิด มีม่านหรือฉากกั้น หรือฉีดในห้อง เพื่อลดผลกระทบด้านจิตใจ เนื่องจากเด็กเล็กเมื่อเห็นเด็กถูกฉีดแล้วร้อง อาจเกิดอุปาทานหมู่ ยอมรับการฉีดยากขึ้น
  4. หลังฉีดรอดูอาการ 30 นาที เมื่อกลับบ้านแล้วไม่ควรออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้แรง 1 สัปดาห์                                                                                                          

ทั้งนี้ หลังฉีดวัคซีนแล้วเด็กมีอาการผิดปกติที่ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อประเมินอาการ คือ 1.กลุ่มโรคหัวใจในช่วง 2-7 วัน ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย ใจสั่น และ 2.กลุ่มอาการอื่น คือ ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน กินไม่ได้ ซึมหรือไม่รู้สึกตัว ซึ่งทั่วประเทศมีกุมารแพทย์กว่า 2 พันคน สามารถประเมินอาการ ให้การรักษาและส่งต่อไปโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป รวมถึงสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย

สำหรับการฉีดวัคซีนเด็กอายุ 5-11 ปีที่มีโรคประจำตัว จะเริ่มต้นในวันที่ 31 ม.ค. นี้ ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นการฉีดเพื่อทดสอบระบบ โดยก่อนมาฉีดจะมีการโทรศัพท์ให้ข้อมูลผู้ปกครองและสอบถามความสมัครใจ หลังฉีดจะมี QR Code ให้ประเมินผลข้างเคียงและให้ความรู้การดูแลหลังฉีด หากมีผลข้างเคียงสามารถเข้าโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือติดต่อมายังสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีผ่านทางไลน์และสายด่วน 1415 ซึ่งมีการจัดระบบทางด่วนในรายที่สงสัยรุนแรงเพื่อเข้ารับการดูแลต่อไป

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา ประชาชาติธุรกิจ รายงานแผนการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็ก (ฝาสีส้ม) ในประเทศไทยตามแผนงานของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ในช่วงเดือน ก.พ. 2565 โดยวัคซีนล็อตแรกจะจัดสรรให้สถานพยาบาลสำหรับกลุ่มอายุ 5-11 ปีที่โรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ที่ไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนผ่านระบบสถานศึกษา โดยให้กุมารแพทย์เป็นผู้พิจารณาฉีด ซึ่งตรงกับที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าวไปเมื่อวานนี้ (26 ม.ค. 2565) หลังจากนั้น วัคซีนล็อตถัดไปจะดำเนินการผ่านระบบสถานศึกษา จัดสรรให้เด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในทุกจังหวัดเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นจัดสรรให้นักเรียนชั้นปีอื่นถัดไปตามลำดับ ทั้งนี้ การจัดสรรวัคซีนเป็นไปตามสัดส่วนของนักเรียนในแต่ละจังหวัด และมีการสำรองวัคซีนในส่วนกลางไว้ใช้กรณีฉุกเฉินหรือมีการระบาดในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรวัคซีนสำหรับการฉีดในสถานพยาบาลให้ใช้สำหรับเด็กป่วย หรือเด็กที่เรียนผ่านระบบ Homeschool เท่านั้น

ประเทศไหนอนุมัติฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กแล้วอายุต่ำกว่า 12 ปีแล้วบ้าง

นอกจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ 4 ประเทศอาเซียนที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์สระบุว่าแล้วประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ประกาศอนุมัติการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ปีอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค. 2564 ยกเว้นบางประเทศ เช่น อิตาลีและฝรั่งเศส ที่ประกาศอนุญาตไปก่อนหน้านั้น โดยการฉีดวัคซีนทั้งหมดเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครอง ขณะที่ประเทศในยุโรปซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิก EU อย่างสหราชอาณาจักรอนุมัติการฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 5-11 ปีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2564 นอกจากนี้ยังมีสวิตเซอร์แลนด์ที่อนุมัติอย่างเป็นทางเมื่อเมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา และจะเริ่มฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 5-11 ปีในเดือน ม.ค. นี้

นอกจากนี้ บางประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลางอย่างอิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ก็อนุมัติการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ปีแล้วเช่นกัน ทวีปอเมริกาก็มีอีกหลายประเทศที่อนุมัติการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กกลุ่มนี้ ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก คอสตาริกา และบราซิล รวมถึงประเทศที่อยู่อีกซีกโลกอย่างออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ก็อนุมัติแล้วเช่นกัน

Photostock (ภาพโดย Marco Verch Professional Photographer)
 

อย่างไรก็ตาม มีอีกหลายประเทศที่อนุมัติการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีและใช้วัคซีนยี่ห้ออื่นแทนยี่ห้อไฟเซอร์ เช่น จีนและฮ่องกงใช้ซิโนแวค 1 เข็มสำหรับเด็กอายุ 3-11 ปี อาร์เจนตินาให้เด็กอายุ 3-11 ปีสามารถรับวัคซีนซิโนฟาร์มได้ ส่วนคิวบาและเวเนซุเอลาใช้วัคซีนโซเบรานา 02 (Soberana 02) ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดซับยูนิตที่วิจัยและผลิตโดยประเทศคิวบา โดยฉีดให้เด็กอายุ 2-10 ปี เป็นต้น

เด็กเล็กติดโควิด-19 ก็ถึงขั้นเสียชีวิตได้

สำนักข่าว The New York Times รายงานว่าในช่วงเดือน ส.ค. ปีที่แล้วซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 สายพันธุ์เดลตาระบาดหนักในสหรัฐฯ มีเด็กที่ติดเชื้อและป่วยถึงขั้นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลเกือบ 30,000 คน ด้าน The Washington Post รายงานเพิ่มเติมโดยอ้างอิงข้อมูลจากสถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน (American Academy of Pediatrics) ระบุว่านับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีจำนวนเกือบ 8.9 ล้านคนติดเชื้อโควิด-19 และมีเด็กอายุต่ำกว่า 18 เสียชีวิตจำนวนกว่า 700 คน โดย 125 คนจากจำนวนนี้ที่เสียชีวิต เป็นเด็กอายุระหว่าง 5-11 ปี

ผลวิจัยจาก 4 ประเทศชี้วัคซีนไฟเซอร์เด็กป้องกันอาการป่วยรุนแรงได้ 90.7%

เมื่อช่วงกลางเดือน ก.ย. 2564 บริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอนเทค (Pfizer-BioNTech) ผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ ซึ่งมีชื่อทางการค้าอย่างเป็นทางการว่าโคเมอร์เนตี (Comirnaty) เปิดเผยผลการศึกษาการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ของบริษัท ระยะที่ 2 ให้แก่กลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี โดยระบุว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีหลังฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ในปริมาณ 10 ไมโครกรัม ห่างกัน 21 วัน ปริมาณวัคซีนที่ทดลองฉีดให้เด็กอายุ 5-11 ปีนั้นน้อยกว่าปริมาณวัคซีนที่ฉีดให้เด็กอายุ 12-15 ปี และกลุ่มคนอายุ 16-25 ปี ซึ่งอยู่ที่ 30 ไมโครกรัม

ผลวิจัยการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปีของไฟเซอร์ทั้ง 3 เฟส ดำเนินการศึกษาโดยคณะนักวิจัยซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์และอาจารย์แพทย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกา นำโดยเอ็มมานูเอล บี. วอลเตอร์ กุมารแพทย์และศาสตราจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยดุค (Duke University) ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา งานวิจัยชิ้นนี้ผ่านการตรวจสอบจากคณะผู้เชี่ยวชาญ (Peer Review) และได้รับการเผยแพร่ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (The New England Journal of Medicine) เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2564 โดยวารสารวิชาการฉบับนี้ได้รับการยอมรับและมีอันดับความน่าเชื่อถือติด 10 อันดับแรกของโลก

ผลวิจัยการฉีดวัคซีนเฟส 1 ในเด็กอายุ 5-11 ปี เริ่มต้นที่เด็กในสหรัฐฯ จำนวน 50 คน จากทุกเชื้อชาติ เป็นเพศกำเนิดชายมากกว่าหญิง ในจำนวนนี้มีเด็ก 48 คนที่ได้รับวัคซีนจริง โดยถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 16 คน ได้รับวัคซีนในปริมาณที่แตกต่างกันต่อโดส คือ 10 ไมโครกรัม 20 ไมโครกรัม และ 30 ไมโครกรัม หลังฉีดวัคซีนครบโดสและประเมินประสิทธิภาพและระดับภูมิคุ้มกันแล้ว คณะนักวิจัยเลือกให้วัคซีนปริมาณ 10 ไมโครกรัม/โดสเป็นปริมาณที่เหมาะสมที่สุดในการทดลองเฟสที่ 2-3

ในเฟสที่ 2-3 กลุ่มทดลองเป็นเด็กอายุ 5-11 ปี มีอาสาสมัครเด็กทั้งสิ้น 2,316 คนจากประเทศสหรัฐฯ สเปน ฟินแลนด์ และโปแลนด์ แต่เมื่อคณะนักวิจัยประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพแล้วจึงตัดเด็กที่มีความเสี่ยงสูงออกก่อนเริ่มการทดลองในระยะที่ 2-3 ทำให้เหลือจำนวนเด็กผู้เข้ารับวัคซีนทั้งสิ้น 2,268 คน โดย 1,517 คนจากจำนวนนี้ได้รับวัคซีนจริง ส่วนอีก 751 คนได้รับวัคซีนหลอก ผลการทดลองในเฟสที่ 2-3 ระบุว่าวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ปีที่ฉีดในปริมาณ 10 ไมโครกรัม/โดส สามารถกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันได้สูงถึง 95% และมีประสิทธิภาพป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงได้ 90.7% ทั้งนี้ เด็กทุกคนที่เข้าร่วมการศึกษาวิจัยจะต้องมาประเมินสุขภาพหลังฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว 1-2 เดือน

ภาพจาก Oxford Human Rights Hub
 

ระหว่างรวบรวมข้อมูลผลการวิจัยในเฟส 3 ในช่วงต้นเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว บริษัทไฟเซอร์ได้ยื่นขออนุญาตใช้วัคซีนฉุกเฉินในเด็กอายุ 5-11 ปีต่อองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) โดย FDA อนุมัติคำขอดังกล่าวในวันที่ 29 ต.ค. 2564 หลังจากนั้น ในวันที่ 3 พ.ย. 2564 กรมควบคุมโรคของสหรัฐฯ (CDC) จึงประกาศเริ่มต้นการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 5-11 ปีทั่วสหรัฐฯ ซึ่งมีจำนวนกว่า 28 ล้านคน อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว U.S. News รายงานผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองในสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย. 2564 โดยระบุว่าผู้ปกครองประมาณ 30% บอกว่าพวกเขาจะไม่ให้ลูกของตนรับวัคซีนอย่างแน่นอน

แม้ว่าสหรัฐฯ จะเริ่มต้นฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 5-11 ปีมาตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว แต่ข้อมูลสถิติการฉีดวัคซีนให้เด็กในช่วงวัยดังกล่าวจากมูลนิธิเพื่อครอบครัวของโรงพยาบาลไคเซอร์ (Kaiser Family Foundation) เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2565 พบว่าขณะนี้มีเด็กอายุ 5-11 ปีในสหรัฐฯ ฉีดวัคซีนไฟเซอร์อย่างน้อย 1 โดสจำนวน 8,082,264 คน คิดเป็น 28.1% จากจำนวนเด็กทั้งหมด 28 ล้านคน ส่วนเด็กที่รับวัคซีนครบ 2 โดสมี 5,399,946 คน คิดเป็น 18.8% โดยทั้งหมดนี้ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตหลังการฉีดวัคซีน

วัคซีนไฟเซอร์มีผลข้างเคียงจริง แต่พบน้อยมากและรักษาทัน

ข้อมูลจากระบบรายงานผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน (VEARS) ของกรมควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย.-19 ธ.ค. 2564 มีรายงานผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ปีจำนวน 4,249 ครั้งจากจำนวนเด็กที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วกว่า 6 ล้านคน โดย 97.6% ของการรายงานทั้งหมดเป็นผลข้างเคียงที่ “ไม่รุนแรง” และเกิดขึ้นได้เป็นปกติ เช่น ปวดแขนบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อตามร่างกายหรือปวดหัวชั่วคราว

แอนน์ ฮอส หนึ่งในทีมดูแลระบบรับรายงานของ CDC กล่าวว่าผลข้างเคียงที่รุนแรงหลังฉีดวัคซีนพบน้อยมาก จากจำนวนการฉีดวัคซีนกว่า 8.7 ล้านครั้งให้เด็กกว่า 6 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าว พบรายงานเด็กที่มีอาการข้างเคียงเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) เพียง 15 ครั้ง ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงรุนแรงที่บริษัทผู้ผลิต FDA และ CDC ได้แจ้งเตือนไว้ และพบได้มากกว่าในบุคคลเพศกำเนิดชาย แต่อาการนี้ถือว่าพบน้อยมาก และไม่มีรายงานว่าเด็กที่มีอาการเหล่านั้นเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน

อย่างไรก็ตาม ฮอสยอมรับว่าในช่วงเวลาดังกล่าวมีเด็กหญิง 2 คนวัย 5 และ 6 ขวบที่เสียชีวิตหลังรับวัคซีนไฟเซอร์ แต่ฮอสและทีม VEARS บอกว่าเมื่อวิเคราะห์ประวัติการรักษาทางการแพทย์ของเด็กทั้ง 2 คนแล้วพบว่า “สุขภาพของเด็กมีความซับซ้อนและเปราะบางก่อนเข้ารับวัคซีน” อีกทั้งไม่มีข้อมูลที่เชื่อมโยงได้ว่าสาเหตุการตายของเด็กนั้นเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน ส่วนอาการข้างเคียงรุนแรงหลังฉีดวัคซีนในกลุ่มอายุอื่นๆ ก็มีสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนคนที่รับวัคซีนทั้งหมด

ด้าน นพ.เฮนรี เบิร์นสตีน กุมารแพทย์ประจำศูนย์การแพทย์เด็กโคเฮนในนครนิวยอร์กบอกว่าเขาสนับสนุนให้พ่อแม่พาเด็กไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่ในขณะเดียวกัน พ่อแม่เด็กก็ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าอาการข้างเคียงต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น มีไข้ เมื่อยล้า ปวดเมื่อยตามตัว หรือปวดหัว เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ และไม่ใช่อาการรุนแรง

“อาการข้างเคียงรุนแรงอย่างกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดขึ้นได้ แต่โอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก และอาการที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่อาการเจ็บป่วยรุนแรง หากเด็กเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ [เมื่อได้รับการรักษา]อาการจะดีขึ้นเองในไม่ช้า” เบิร์นสตีนกล่าว

องค์การอนามัยโลกรับรองวัคซีนไฟเซอร์ปลอดภัยสำหรับเด็ก

นอกจาก FDA และ CDC ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของรัฐบาลสหรัฐฯ จะรับรองและยืนยันผลความปลอดภัยการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กอายุ 5-11 ปีแล้ว เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมารับร้องว่าวัคซีนไฟเซอร์ปลอดภัยและสามารถฉีดให้คนอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปได้

ข้อมูลล่าสุดในเว็บไซต์องค์การอนามัยโลกระบุว่า “ผลการทดลองวัคซีนเฟส 3 ในเด็กอายุ 12-15 ปีแสดงให้เห็นว่าวัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพสูงและปลอดภัยดีสำหรับคนในกลุ่มอายุนี้ นำมาสู่การขยายอายุผู้ที่สามารถฉีดวัคซีนดังกล่าวจาก 16 ปีขึ้นไปมาเป็น 12 ปีขึ้นไป และการทดลองวัคซีนเฟส 3 ในเด็กช่วงอายุระหว่าง 5-11 ปีก็แสดงผลลัพธ์ด้านภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยที่ใกล้เคียงกัน[กับผลการทดลองในช่วงอายุก่อนหน้า]”

“องค์การอนามัยโลกแนะนำให้แต่ละประเทศควรพิจารณาการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กอายุ 5-17 ปี เฉพาะเมื่อการฉีดวัคซีนของประเทศนั้นๆ มีอัตราการรับวัคซีนครบโดสสูงพอและครอบคลุมประชากรส่วนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนเป็นอันดับแรกๆ ตามแผนโร้ดแมปขององค์การอนามัยโลก”

“เด็กและวัยรุ่นอายุ 5-17 ปีที่มีโรคประจำตัวซึ่งทำให้พวกเขากลายเป็นผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการรุนแรง สมควรเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันก่อนเป็นอันดับแรก เช่นเดียวกับบุคคลอื่นๆ ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง”

ทั้งนี้ องค์การ์อนามัยโลกยังไม่มีข้อแนะนำสำหรับวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี

วัคซีนไฟเซอร์เด็กต่างจากผู้ใหญ่อย่างไร

ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมควบคุมโรค (CDC) และองค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ ซึ่งอ้างอิงจากเอกสารกำกับยาของบริษัทไฟเซอร์ ระบุว่าวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี (ฝาสีส้ม) 1 ขวด มีความเข้มข้นของ mRNA 10 ไมโครกรัม สามารถแบ่งฉีดได้ 10 โดส (10 เข็ม) ก่อนนำมาฉีดให้เด็กจะต้องทำละลายวัคซีนด้วยน้ำเกลือปราศจากเชื้อที่มีความเข้มข้น 0.9% ปริมาตร 1.3 มิลลิลิตร เมื่อทำละลายวัคซีนแล้วให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อด้วยปริมาตร 0.2 มิลลิลิตร จึงจะถือว่าได้วัคซีนครบ 1 โดส

วัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปีถูกบรรจุในกล่องสีส้ม หน้ากล่องเขียนระบุไว้ว่าความเข้มข้นของวัคซีนอยู่ที่ 10 ไมโครกรัม (ภาพจากรัฐบาลท้องถิ่นฮิวกรังจีดูซูว ประเทศบราซิล)
 

หลังได้รับวัคซีนเข็มแรก ต้องเว้นระยะ 21 วันจึงจะสามารถรับวัคซีนเข็มที่ 2 ได้ โดย CDC และ FDA แนะนำว่าหากได้รับวัคซีนเข็มแรกเป็นไฟเซอร์ จะต้องรับวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นไฟเซอร์เช่นเดียวกัน วัคซีนไฟเซอร์ฝาส้มสำหรับเด็ก เมื่อละลายจากการแช่แข็งแล้ว สามารถเก็บได้นาน 10 สัปดาห์ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียส แต่เมื่อเปิดใช้งานแล้วไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 12 ชม. และต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิระหว่าง 8-25 องศาเซลเซียส

ส่วนวัคซีนไฟเซอร์สำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปมี 2 สูตร คือ สูตรฝาสีม่วงและสูตรฝาสีเทา โดยฝาสีม่วงเป็นวัคซีนรุ่นใหม่ที่มีการปรับปรุงส่วนผสม ส่วนสูตรฝาสีเทาเป็นวัคซีนรุ่นแรกที่มีการผลิต ทั้ง 2 สูตรสามารถแบ่งฉีดได้ 6 โดส (6 เข็ม) ใน 1 ขวด โดยจะได้รับวัคซีนในปริมาณ 30 ไมโครกรัม ซึ่งมากกว่าวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี

วัคซีนไฟเซอร์สำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปสูตรฝาสีม่วง ซึ่งเป็นสูตรที่บริษัทปรับปรุงส่วนผสมบางอย่าง และประกาศใช้ต่อจากสูตรเดิมคือสูตรฝาสีเทา (ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

ข้อแตกต่างระหว่างวัคซีน 2 สูตรนี้ คือ ไฟเซอร์ คือ การเตรียมวัคซีนก่อนฉีดและการเก็บรักษา โดยวัคซีนฝาสีม่วงต้องผสมน้ำเกลือปราศจากเชื้อ ความเข้มข้น 0.9% ปริมาตร 1.8 มิลลิลิตรก่อนนำมาฉีด หลังเปิดใช้งานแล้วสามารถเก็บรักษาในอุณหภูมิ 2-25 องศาเซลเซียสเป็นเวลานาน 6 ชม. หากนำออกจากช่องแช่แข็งแต่ยังไม่เปิดใช้งาน สามารถเก็บได้ในตู้เย็นอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสเป็นเวลานาน 31 วัน ส่วนวัคซีนสูตรฝาสีเทาสามารถนำมาฉีดได้โดยไม่ต้องทำละลายก่อนใช้ หลังเปิดใช้งานสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิ 2-25 องศาเซลเซียส นาน 12 ชม. แต่หากนำออกจากช่องแช่แข็งและยังไม่เปิดใช้งาน สามารถเก็บได้ที่อุณหภูมิ 8-25 องศาเซลเซียส นาน 10 สัปดาห์

ทั้งนี้ วัคซีนไฟเซอร์สำหรับบุคคลอายุ 12 ปีขึ้นไปมีช่วงเว้นระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 อยู่ที่ 21 วันเช่นเดียวกับวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี

แปลและเรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net