Skip to main content
sharethis

'หมอวรงค์' หัวหน้าพรรคไทยภักดี เผยถูก 'กัลฟ์' ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน - 'ประชาธิปัตย์' ตั้งทีมเฝ้าระวัง มอนิเตอร์ข่าวเท็จเอาผิดพวกใส่ร้ายโจมตีพรรค

20 พ.ย. 2564 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก เล่าว่าได้รับหมายเรียกคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท ระบุว่า

“ฟ้องผมร้อยล้าน ก่อนหน้านี้ การต่อสู้เพื่อปกป้องสถาบัน ผมถูกนายธนาธรและพรรคก้าวไกลฟ้อง คดีละ 24,062,475 บาท สองคดีก็เกือบ 50 ล้านบาท ล่าสุดมาต่อสู้เรื่องทวงคืนดาวเทียมไทยคม เพิ่งได้รับหมายศาลจากบริษัทกัลฟ์ ฟ้องผม 100 ล้านบาท ต้องขอบคุณโจทก์ทุกท่านครับ ที่ช่วยเติมพลังให้ผม ในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ”

ทั้งนี้ หมายดังกล่าวกำหนดให้ นพ.วรงค์ ทำคำให้การแก้คดียื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่รับหมาย นัดกำหนดแนวทางการดำเนินคดีหรือสืบพยานโจทก์อีกทีวันที่ 27 ธ.ค. 2564 เวลา 09.00 น.

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ว่า คณะรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้ถูกร้องที่ 2 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ผู้ถูกร้องที่ 3 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ผู้ถูกร้องที่ 4 และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกร้องที่ 5 กระทำการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 และมาตรา 305(1) และรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 60 มาตรา 274 โดยศาลเห็นว่า กรณีผู้ถูกร้องที่ 2 และผู้ถูกร้องที่ 1 มีมติมอบให้ผู้ถูกร้องที่ 5 นำเอกสารข่ายงานดาวเทียม (filing) ที่ตำแหน่ง 120 องศาตะวันออกไปทำสัญญาร่วมกับ บริษัท Asia Satellite Telecommunications Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 หรือไม่ เห็นว่าการยื่นคำร้องในปัญหาการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศรัฐธรรมนูญมาตรา 178 ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิแก่ประชาชนทั่วไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

ส่วนกรณีผู้ถูกร้องที่ 3 และผู้ถูกร้องที่ 4 ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม เลขที่ 3ก/55/002 ลงวันที่ 26 มิ.ย. 55 เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 305(1) และบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 305(1) เป็นบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรเพื่อทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ฯ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 3 และผู้ถูกร้องที่ 4 และกรณี พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 60 มาตรา 274 หรือไม่เห็นว่า การยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติให้สิทธิไว้เป็นการเฉพาะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 และมาตรา 231(1) ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ได้

'ประชาธิปัตย์' ตั้งทีมเฝ้าระวัง มอนิเตอร์ข่าวเท็จเอาผิดพวกใส่ร้ายโจมตีพรรค

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการนำข้อมูลเท็จให้ร้ายพรรคและบุคลากรของพรรค ว่า ฝ่ายกฎหมาย ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อเฝ้าระวังติดตามและชี้แจง สื่อสาร ความจริงสู้ข่าวเท็จ หรือ DP Fake News Monitoring Center เพื่อได้ติดตามข้อมูลจากกลุ่มบุคคลที่ได้นำข้อมูลเท็จ ใส่ร้าย โจมตีพรรคประชาธิปัตย์ ผ่านสังคมโซเชียล มีการบิดเบือนข้อมูลเพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิด โดยใช้เครือข่ายของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม เพื่อหวังผลในทางการเมือง เช่น บิดเบือนข้อมูลให้ร้ายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคปชป. บิดเบือนด้วยข้อความเท็จโครงการประกันรายได้ โครงการต่างๆของพรรคเมื่อครั้งที่เป็นรัฐบาลสมัยที่ผ่านมา และที่สำคัญการบิดเบือนถ้อยคำพูดของบุคคลสำคัญในพรรค เช่น นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา นายจุรินทร์ และบุคคลอื่นไปดัดแปลงคำพูดสื่อสารเพื่อให้เกิดความเสียหายและสังคมเข้าใจผิด มีผลกระทบทั้งต่อพรรคและบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระทบต่อประชาชนโดยทั่วไปด้วย

“คณะทำงานจะมุ่งเน้นการชี้แจงทำความเข้าใจเป็นรายบุคคลและต่อสาธารณะหากเป็นประเด็นที่ข้อมูลเท็จกระจายในวงกว้าง ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินคดีทั้งหมด แต่คณะทำงานจะมีการรวบรวมข้อมูลส่งให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาเป็นเรื่องๆไป หากเป็นเรื่องที่เข้าข่ายร้ายแรงผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง ก็มีความจำเป็นต้องดำเนินคดี” นายราเมศ กล่าว

นายราเมศ กล่าวด้วยว่า พรรคสนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารในยุคสังคมปัจจุบันอย่างเต็มที่ ที่มีการพัฒนาการสื่อสารและรับข้อมูลสื่อสารด้วยเทคโนโลยีที่รวดเร็ว แต่การมีเสรีภาพในการสื่อสาร จะต้องไม่ทำร้ายบุคคลอื่น ข้อมูลที่สื่อสารออกไปจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความถูกต้องแม่นยำ ไม่ใช่ข้อมูลเท็จ ที่นำมาใส่ร้ายกัน หลักการที่กล่าวมาไม่ใช่เฉพาะการสื่อสารที่เป็นก่อให้เกิดความเสียหายกับพรรค แต่การใช้กระบวนการสื่อสารที่เป็นเท็จก็ไม่ควรเกิดกับประชาชนทั่วไป ใครไม่โดนกับตนเองจะไม่มีวันที่จะเข้าใจได้ว่าความเสียหายทั้งชื่อเสียงและทางจิตใจทั้งคนที่ถูกกระทำและครอบครัวมีมากมายขนาดไหน ขณะนี้เข้าสู่ช่วงปลายที่จะหมดสมัยสภาชุดนี้ และเข้าสู่ช่วงเวลาเข้าสู่กระบวนการการเลือกตั้งในสมัยหน้า ข้อมูลเท็จจากกลุ่มที่ไม่หวังดีมีเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเพียงเพื่อหวังผลในทางการเมือง

“ขอเตือนว่าให้ระมัดระวังในการสื่อสาร หากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายก็มีความจำเป็นต้องดำเนินคดี ที่ผ่านมามีการให้ร้ายนายชวน นายจุรินทร์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค มีการไปแจ้งความดำเนินคดีไว้แล้วหลายคดี เกือบทั้งหมดที่ทำผิดกฎหมายพยายามขอเจรจา ซึ่งย้ำว่าทั้งหมดให้เป็นไปตามกระบวนการและขอย้ำว่าไม่ได้ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นโดยสุจริต ขอแค่เอาความจริงมาพูดกันเท่านั้นพอ” นายราเมศ กล่าว

ที่มาเรียบเรียงจากมติชนออนไลน์ [1] [2]
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net