Skip to main content
sharethis

ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว 'เบนจา อะปัญ' นักกิจกรรมการเมืองจากแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ซึ่งถูกฝากขังจากคดี ม.112 หลังธนาธรและทนายยื่นคำร้องขอประกันเมื่อเช้า

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และวีรนันท์ ฮวดศรี ทนายความ ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ (ภาพโดย Chana La)

21 ต.ค. 64 ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานว่าวันนี้ (21 ต.ค.64) ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และนายวีระนันท์ ฮวดศรี ทนายความ เดินทางมายื่นประกันตัว เบนจา อะปัญ นักกิจกรรมการเมืองจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งถูกฝากขังชั้นสอบสวนจากการถูกดำเนินคดี ม.112 ในกิจกรรมคาร์ม็อบ 10 ส.ค. 64 พร้อมหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงินสด 2 แสนบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อุ้มเบนจา อะปัญ ส่งดำเนินคดีที่ สน.ทองหล่อ กรณีคาร์ม็อบ10สิงหา-ไม่ได้ประกันตัวชั้นสอบสวน 

ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่ให้ ‘เบนจา’ ประกันอ้างโทษสูง-มีคดีม.112 อีกคดีอยู่ที่ศาล

ก่อนขึ้นยื่นเอกสารประกันตัว นายธนาธรได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนระบุว่า การตัดสินใจมาเป็นนายประกันให้เบนจาวันนี้ เนื่องจากเห็นถึงความไม่ยุติธรรมในกระบวนการ และต้องการแสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากในสังคมที่ต้องการความยุติธรรม

นายธนาธร ระบุว่า การที่เบนจาไม่ได้สิทธิการประกันตัว โดยศาลอ้างว่าเป็นคดีร้ายแรง อาจหลบหนีได้ เป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะคดี 112 ในอดีตเคยมีการให้ประกันตัวมาแล้วหลายคดี การบอกว่าเป็นคดีร้ายแรงจึงไม่ให้ประกันตัวทำให้เป็นที่กังขาว่าการตัดสินของศาลมีหลายมาตรฐานเกินไปหรือไม่

ส่วนการอ้างว่าเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนีนั้น นายธนาธร ระบุว่า เบนจาเป็นนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีผลการเรียนดี เป็นอนาคตของชาติ มีสอบปลายภาคที่จะถึงในเดือนธันวาคมนี้ และเป็นผู้เดินทางมาขึ้นศาลเอง เห็นได้ชัดว่าไม่มีพฤติกรรมหลบหนีแต่อย่างใด จึงควรได้รับสิทธิประกันตัว เพื่อไปเตรียมสอบและทำกิจกรรมกับเพื่อนตามสิทธิที่พึงได้รับต่อไป

นายธนาธร ยังกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าเป็นยุคมืดในการใช้กฎหมายกดขี่ปราบปรามผู้เห็นต่าง มีคดีการเมือง 800 กว่าคดี มีผู้ต้องหากว่า 1,500 คนที่ถูกดำเนินคดี ไม่ว่าจะมาตรา 112, 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ คดีการเมืองต่างๆ หลายกรณีถูกกระทำด้วยกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม หลายกรณีมีการข่มขู่คุกคามผู้ต้องหา มีการรวบรัดขั้นตอน ทำให้คนที่ต้องการแสดงความเห็นต่างหวาดกลัว และเป็นที่ชัดเจนว่านี่คือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือริดรอนสิทธิเสรีภาพ

ตนมาวันนี้เพื่อยืนยันว่าเราจะต่อสู้ร่วมกันในเวลาที่ยากลำบากมืดมิดเช่นนี้ และขอเรียกร้องทุกคนให้มีมโนสำนึกพื้นฐานว่า ความอยุติธรรมต่อใครคนใดคนหนึ่งก็คือความอยุติธรรมต่อสังคมทั้งสังคมนี้ อย่าปล่อยให้รัฐใช้อำนาจบาตรใหญ่ตามอำเภอใจริดรอนสิทธิเสรีภาพของเราเรื่อยไป

“เราอยากจะเห็นคนที่มีบทบาทในสังคมออกมายืนหยัดเคียงข้างนักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่ออกมาต่อสู้มากกว่านี้ อยากทำให้ทุกคนเห็นว่าไม่ได้มีอะไรต้องหวาดกลัว และประชาชนยังยืนหยัดอยู่ร่วมกัน วันนี้ผมมาเป็นนายประกันด้วยตัวเองเพื่อยืนหยัดว่านี่คือหนึ่งในสิ่งที่พวกเราทำได้” นายธนาธรกล่าว

นายธนาธรยังกล่าวต่อไป ว่าตนหวังว่าวันนี้ศาลจะเห็นถึงความบริสุทธิ์ใจของเบนจาที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องในเรื่องที่สำคัญต่ออนาคตของประเทศ และหากเบนจายังไม่ได้ประกันในวันนี้ เราก็จะต้องใช้ช่องทางเท่าที่เรามีต่อสู้เพื่อสิทธินี้ต่อไป

นายธนาธร ยังกล่าวว่า ตนก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรา 112 ตอนนี้มี 2 คดีด้วยกัน กฎหมายมาตรานี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองปิดปากผู้เห็นต่างจากรัฐ ไม่ให้ประชาชนพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งตนต้องย้ำอีกครั้งว่า การพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่การล้มล้าง แต่เป็นการทำให้สถาบันกษัตริย์มั่นคง เข้ากับยุคสมัย สอดรับกับหลักการประชาธิปไตย

ขอเรียกร้องไปถึงสังคมอีกครั้งว่า อย่าปล่อยให้เบนจา และอนาคตของประเทศต้องต่อสู้อย่างลำพัง ที่เรามาในวันนี้คือสิ่งเล็กๆ ที่เราทำได้ แม้ไม่มาก แต่อยากแสดงให้เห็นว่า เรายังยืนอยู่กับพวกเขาในเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้

เบนจา อะปัญ วันปราศรัยหน้าอาคารชิโน-ไทย ทาวเวอร์ เมื่อ 10 ส.ค. 64 (ภาพโดย iLaw)

เมื่อเวลา 12.43 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานผ่าน ‘ทวิตเตอร์’ ระบุว่า การยื่นคำร้องขอประกันตัว เบนจา อะปัญ ให้ศาลอาญากรุงเทพใต้นั้นแบ่งเป็น 2 คดี ประกอบด้วย  1.คดีปราศรัยหน้าตึกซิโน-ไทย มีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายประกัน และนำเงินสดของตนเอง วางประกันอีก 200,000 บาท และ 2.คดีหน้าสถานทูตเยอรมัน ถ.สาทร เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 วางเงินประกัน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเบนจา อะปัญ ทั้ง 2 คดี โดยคดีที่ 1 ปราศรัยหน้าตึกซิโน-ไทย เห็นว่าเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเดิม จึงให้ยกคำร้อง ลงชื่อมนัส ศักดิ์ภูวดล รองอธิบดีผู้พิพากษาฯ

คดีที่ 2 ปราศรัยหน้าสถานทูตเยอรมัน ศาลเห็นว่า เบนจา อะปัญ ทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวที่จะไม่ทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และเงื่อนไขอื่นๆ ที่ศาลให้เบนจาปฏิบัติโดยเคร่งครัด เบนจาจึงถูกดำเนินคดีอื่นในศาลนี้อีก ในการกระทำในทำนองเดียวกัน และหลังจากการกระทำในคดีหน้าสถานทูตฯ ยังปรากฏว่าเบนจาทำผิดเงื่อนไขในลักษณะเดียวกันซ้ำอีกเป็นคดีอื่นจนไม่ได้รับการประกันตัวในศาลนี้ จึงมีเหตุเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยแล้ว เบนจาอาจจะไปก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นได้ จึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาตปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง

 

 

ยื่นประกันครั้งที่ 3

ไอลอว์ รายงานบนสื่อโซเชียล 'เฟซบุ๊ก' วันนี้ว่า สำหรับการขอยื่นประกันตัวให้ ‘เบนจา’ ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 โดยครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564 ศาลอาญากรุงเทพใต้ระบุว่า เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงประกอบกับพฤติการณ์ตามคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน ผู้ต้องหาได้ก่อเหตุเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ผู้ต้องหาเคยถูกฟ้องที่ศาลนี้มาแล้ว อีกทั้งพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา ศาลจึงเห็นควรไม่อนุญาตให้ประกันตัว

ต่อมา ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล โดยระบุว่า ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาปี 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ (SIIT) โดยผู้ต้องหายังต้องเข้าเรียน จัดทำรายงานต่างๆ และสอบไล่ตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัย หากไม่ได้ประกันย่อมส่งผลกระทบต่อโอกาสทางการศึกษา และคดีของผู้ต้องหายังอยู่ระหว่างการสอบสวน และยังไม่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดแต่อย่างใด ผู้ต้องหาจึงขอให้ศาลอุทธรณ์ปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อได้มีโอกาสต่อสู้คดีได้เต็มที่ 

ต่อมา วันที่ 9 ตุลาคม 2564 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อหาที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหานั้นมีอัตราโทษสูง อีกทั้งผู้ต้องหาได้กระทำความผิดในลักษณะคล้ายเดิมโดยการปราศรัยอันมีถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งผู้ต้องหาได้เคยรับการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในข้อหาดังกล่าว และมีเงื่อนไขว่าห้ามมิให้กระทำการใดที่ให้เป็นการเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเข้ากิจกรรมใดที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย แต่ผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ซึ่งหากอนุญาตปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาอาจก่อให้เกิดอันตรายประการอื่น และก่อให้เกิดความเสียหาย และเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี คำสั่งของศาลชั้นต้นชอบแล้ว ยกคำร้อง

เบนจา อะปัญ ให้สัมภาษณ์จากเรือนจำเกี่ยวกับต่อกระบวนการฝากขังและไม่ให้สิทธิประกันตัวกับเธอว่า “มันไม่แฟร์เลย เหตุผลแค่ว่าตำรวจจะสอบพยานเพิ่มแล้วมันเกี่ยวอะไรกับหนู ยังสอบไม่เสร็จ ก็สอบไปสิ เกี่ยวอะไรกับหนู เหตุไม่สมเหตุสมผล”

“กระบวนการคือตั้งใจขัง ไม่ให้ออก” เบนจา กล่าว

ทั้งนี้ เบนจา อะปัญ นักศึกษารั้วแม่โดม ถูกฝากขังชั้นสอบสวนตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค. 64 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ตอนนี้เธอถูกฝากขังเป็นระยะเวลาแล้วทั้งสิ้น 13 วัน 

ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 64 ศาลอาญากรุงเทพใต้ อนุญาตตามคำขอของพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ให้ฝากขังเบนจาต่อได้อีก 12 วัน จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net