Skip to main content
sharethis

พรุ่งนี้ (14 ต.ค. 2564) สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของ 'ต้า วันเฉลิม' เตรียมรับทราบข้อกล่าวหา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ สน.ทองหล่อ เหตุร่วม #ม็อบ5กันยา ที่แยกอโศก พร้อมตั้งคำถามถึงรัฐ 'การทวงความยุติธรรมให้ครอบครัว มันเป็นภัยต่อความมั่นคงมากหรือ?'

13 ต.ค. 2564 มูลนิธิผสานวัฒธรรม รายงานว่า วันพรุ่งนี้ (14 ต.ค. 2564) เวลา 13.30 น. สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ถูกบังคับสูญหายเมื่อปี 2563 จากที่พักในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา จะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ทองหล่อ จากกรณีที่สิตานันไปร่วมชุมนุม #ม็อบ5กันยา ที่ แยกอโศก เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อถ่ายทอดความอยุติธรรมที่ตนเองได้รับจากเจ้าหน้าที่รัฐและเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่น้องชายและเหยื่อการบังคับสูญหาย ซึ่งการชุมนุมในวันนั้นเป็นไปด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธ อันเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

ก่อนหน้านี้ ตำรวจ สน.ทองหล่อ ได้ออกหมายเรียกลงวันที่ 28 ก.ย. 2564 ให้สิตานันไปรับทราบข้อกล่าวหา โดยตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน กับผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่แยกอโศก ในวันที่ 5 ก.ย. 2564 ซึ่งผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นๆ ได้รับหมายเรียกไปก่อนหน้านี้ และเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ทองหล่อ ไปแล้ว เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา รวมทั้งหมด 11 ราย โดยทุกคนปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมยืนยันว่าจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองและแสดงความคิดเห็นของตนต่อไป

ขณะที่ สิตานัน ไม่ได้รับหมายเรียกทั้ง 2 ครั้ง ภายหลังได้ติดต่อกับตำรวจ สน.ทองหล่อ เพื่อขอทราบความชัดเจนจึงทราบว่า หมายเรียกทั้ง 2 ฉบับส่งไปไม่ถึงที่อยู่ตามภูมิลำเนาของตน และอาจถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับหากไม่มารายงานตัว จึงให้ทนายความติดต่อขอเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีนี้

สิตานัน ได้สะท้อนความรู้สึกต่อการออกหมายเรียกของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ว่า เธอรู้สึกเสียใจและสิ้นหวังในกระบวนการยุติธรรมไทย ที่รัฐนอกจากจะไม่สนใจติดตามคดี ไม่ช่วยเหลือในการตามหาน้องชายของเธอ รวมทั้งนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษเพื่อคืนความยุติธรรมให้แก่ครอบครัวของเธอและสังคม กรณีที่น้องชายของเธอที่หายสาบสูญไปตั้งแต่เมื่อ 1 ปีก่อนแล้ว แต่กลับเลือกใช้กฎหมายมาดำเนินคดีฟ้องปิดปากตน ซึ่งต่อสู้เรียกร้องสิทธิความเป็นมนุษย์ให้กับน้องชายและเหยื่อการบังคับสูญหายคนอื่นๆ มาโดยตลอด ทำให้ผู้เสียหายอย่างเธอต้องกลับกลายมาเป็นผู้ต้องหา

“เราไม่มีหนทางอื่นนอกจากการเรียกร้องโดยผ่านการแสดงความเห็นและเสนอความจริงต่อประชาชน (เกี่ยวกับ) กระบวนการยุติธรรมซึ่งล้มเหลวในการสืบสวน การที่มาผลักดันเรื่อง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … มันเป็นภัยต่อความมั่นคงมากหรือ ถึงกับต้องแจ้งข้อกล่าวหา ปิดปากผู้เสียหาย ทั้งๆ ที่เรามาทวงความยุติธรรมให้กับคนในครอบครัว แต่รัฐกลับมองเราเป็นศัตรู” สิตานันกล่าว

ทั้งนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะองค์กรสิทธิมนุษยชนขอยืนยันว่า สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกผ่านการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งรัฐไทยได้ลงนามเป็นภาคี การฟ้องปิดปาก
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้ชุมนุมที่ออกมาใช้สิทธิที่ตนพึงมีในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือเรียกร้องความเป็นธรรม เป็นการกระทำที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และเป็นเรื่องที่ไม่สมควรเกิดขึ้นในรัฐที่มีระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย

สำหรับการชุมนุม #ม็อบ5กันยา ในวันที่ 5 ก.ย. 2564 ที่แยกอโศกนั้น จัดโดยณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ข้อมูลจาก MobDataThailand ระบุว่าสืบเนื่องจากวันที่ 4 ก.ย. 2564 หลังจบการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต่อมา เวลา 12.58 น. ของวันดังกล่าว ณัฐวุฒิ ได้โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊กของตนเองสองโพสต์เพื่อนัดหมายรวมตัว โดยโพสต์แรกมีข้อความว่า “ผ่านอภิปรายแล้วไง คุณซื้อได้แต่ส.ส. อย่าหมายได้หัวใจประชาชน เราไม่ยอมรับ และไม่ยอมแพ้ 4 โมงเย็น แยกอโศก” และโพสต์ที่สองเวลา 20.03 น. มีข้อความว่า “5 กันยา แยกอโศก 4 โมงเย็น ล้วงคองูเห่า เอาให้อ้วกเป็นกล้วย #ไล่ประยุทธ์”

การชุมนุมวันที่ 5 ก.ย. 2564 เริ่มต้นตั้งแต่เวลาประมาณ 16.00-20.00 น. มีนักกิจกรรมหลายกลุ่มผลัดเปลี่ยนกันขึ้นเวทีปราศรัย รวมถึงมีการแสดงดนตรีและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์จากกลุ่มนักเรียนเลว ที่เรียกร้องให้มีการจุดเหยีดออนไลน์ ในส่วนของสิตานันได้ขึ้นเวทีปราศรัยในเวลา 18.08 น. และกล่าวบนเวทีปราศรัยว่าเหตุใดทำไมผู้ที่เห็นต่างกับรัฐจึงต้องถูกกลั่นแกล้ง แม้กระทั่งอยู่ในประเทศไทยยังกระทำไม่ได้ ทั้งที่พวกเขามีสิทธิที่จะอยู่ที่นี่ แต่ต้องลี้ภัยไปต่างแดน เธอกล่าวว่า วันเฉลิมเป็นหนึ่งในบุคคลที่ต้องเฝ้าระวังตามเอกสาร "Watch List" มาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเรื่องนี้เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อประมาณสองสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากมีการเผยแพร่เอกสารรายชื่อนักกิจกรรม นักการมืองและภาคประชาสังคมรวม 183 รายชื่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งคนเหล่านั้นเป็นบุคคลที่เห็นต่างกับรัฐไทย

"เราก็ไม่ทราบว่า คนเห็นต่าง ทำไมต้องเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ พวกเขาเป็นชาติหรอคะ เท่าที่เรารู้เขาคือทหารที่กินภาษีประชาชน เราเห็นต่างกับเขาไม่ได้หรอ...แล้วหลังจากที่ทหารจับคนเข้าไปราบ 11 เมื่อปี 57 หลายคนต้องลี้ภัย หลายคนต้องถูกทรมานในราบ 11"

การทรมานไม่ใช่เพิ่งเกิดในช่วงรัฐประหาร แต่มันเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในพื้นที่ชายแดนใต้ รัฐบอกว่า คนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่อยากแบ่งแยกดินแดน สิตานันกล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิมและผู้ลี้ภัยอีก 8 รายที่ถูกอุ้มหายระหว่างการลี้ภัย ทำให้เรารับรู้ได้ว่า ประเทศไทยมันปกครองโดยใครและเราต่อสู้อยู่กับใคร ในทุกวันนี้ที่เธอลุกขึ้นมาต่อสู้เพราะไม่อยากให้ใครสูญเสียแบบครอบครัวของเรา อยากจะให้เป็นรายสุดท้ายที่เกิดขึ้นประเทศไทยและนอกราชอาณาจักร คดีของวันเฉลิมไม่มีความคืบหน้า ผ่านมาแล้วกว่า 1 ปี แต่หน่วยงานรัฐยังไม่สรุปว่า หน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบคดีการอุ้มหายของวันเฉลิม เธอเทียบเคียงการมองข้ามคดีวันเฉลิมกับการต่อสู้ของประชาชนที่ออกมาขับไล่รัฐบาลว่า เป็นไปในลักษณะเดียวกัน ประชาชนออกมาประท้วงแต่รัฐบาลก็ยังไม่ได้มีท่าทีรับฟังหรือกลัวการเคลื่อนไหวของประชาชน เมื่อผู้แทนฝ่ายค้านถามรัฐบาลก็ได้คำตอบกลับมาในแบบที่เรียกว่า "ถามวัว ตอบควาย" ทุกคนสามารถเป็นวันเฉลิมได้ ทุกคนมีความเสี่ยงถ้าเรายังเพิกเฉยต่อการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ถ้าเราตั้งใจและเราออกมาต่อสู้ด้วยกัน นอกจากนี้ สิตานันยังเรียกร้องให้ทุกคนร่วมกันผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย อีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net