Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ครอบครัวของสุนิสา ลี หนีภัยสงครามจากประเทศลาว มาอยู่ในศูนย์อพยพบ้านวินัย จังหวัดเลย ก่อนจะอพยพไปอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมกับชาวม้งอีกราว 150,000 คน แม้จะเป็นผู้อพยพ แต่พวกเขาก็ถูกยอมรับในฐานะที่เป็นพลเมืองอเมริกัน หมายความว่าพวกเขาถูกยอมรับให้มีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกันคนอเมริกันทั่วไป โดยเฉพาะถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกเขา ไม่มีกฎหมายห้าม ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ในทางปฏิบัติได้จริง เมื่อย้อนกลับมาดูสถานะของม้งและกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงในประเทศไทย พวกเรายังคงถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม 

แม้ว่าในทาง “รูปแบบ “แล้ว ระบบกฎหมายกำหนดให้พลเมืองในประเทศทุกคนมีสถานะที่เท่าเทียมกัน และห้ามไม่มีการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางชาติพันธุ์ แต่ในทาง “ปฏิบัติ” แล้ว สังคมไทยยังเป็นสังคมที่ไม่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยที่ระบบกฎหมายและระบบราชการ ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับโครงสร้างสังคมที่คนไม่เท่าเทียมกันดังกล่าว 

ในทางปฏิบัตินั้นระบบและระเบียบราชการ ได้ออกแบบการเข้าถึงสิทธิเสรีภาพ หรือประโยชน์จากงบประมาณของรัฐ สำหรับชนชั้นกลางขึ้นไปที่มีสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะทางสังคมที่ดีกว่า ในขณะที่ประโยชน์ของคนชายขอบนั้น จะมีระเบียบ ข้อห้ามมากมายที่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการได้รับสิทธิอันพึงมีพึงได้ นี่ยังไม่รวมถึงธรรมเนียมฮั้ว ตัดเปอร์เซ็นต์ สมรู้ร่วมคิด ของผู้มีอำนาจ เช่น ไฟฟ้าในเขตเมืองสว่างไสวทั่วทุกพื้นที่ แต่ชุมชนบนพื้นที่สูงบางแห่งไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงหมู่บ้านบ้านเลย หรือที่ดินในเมืองมีเอกสารสิทธิและคนสามารถใช้ที่ดินได้โดยเสรี แต่ที่ดินบนพื้นที่สูงยังมีสถานะเป็นเขตป่า ทำให้ไม่มีสิทธิตามกฎหมาย เสี่ยงต่อการถูกจับกุมดำเนินคดีตลอดเวลา แม้จะอยู่มาก่อนก็ตาม

เพียงการได้รับเงินเยียวยา การมีโรงงเรียน การอนุโลมให้ทำกิน การมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ไม่ใช่สิ่งบ่งชี้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงในสังคมไทย ได้สิทธิและเสรีภาพอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกับชนชั้นกลาง และได้ในสิ่งที่สมควรแล้ว หากแต่ได้รับมาแบบกะปริบกะปรอย และต้องถูกทวงบุญคุณตลอดเวลา

ผู้เขียนจะชวนมาพิจารณาว่า ในสายตาของอำนาจรัฐ (หมายถึงระบบราชการและการเมือง) กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงมีสถานะอย่างไร และที่สำคัญคือ ส่งผลอย่างไรต่อชีวิตประจำวันของคนเหล่านั้น
 
1. สถานะของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง
 นับตั้งแต่แรกเริ่มสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ (รัชกาลที่ 5) รัฐและชนชั้นนำได้รู้จักกับกลุ่มกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงแล้ว แต่กลับให้ความหมายเพียงแค่เป็นคนป่าเถื่อน ที่ไม่สามารถทำให้ศิวิไลซ์ได้ ทั้งยังเห็นว่าไม่มีเหตุสมควรที่รัฐจะให้ความคุ้มครองดูแล แต่ควรปล่อยทิ้งไว้ตามลำพัง  ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. 2475 รัฐยังมีทัศนะว่าเป็นพวกที่ยังโง่เขลา แม้ปกครองง่ายแต่ก็เป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่หลัง พ.ศ. 2500 ถูกมองว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ เกี่ยวข้องกับยาวเสพติด และทำลายป่าไม้อันเป็นทรัพยากรของชาติ ซึ่งมีผลอย่างสำคัญที่ทำให้ถูกขับออกจากพื้นที่ที่รัฐจะให้ความคุ้มครอง  
 
2. ถูกกีดกันสิทธิและโอกาสในส่วนแบ่งผลประโยชน์ของชาติ
 ผู้มีอำนาจรัฐล้วนเป็นตัวแทนของคนบางกลุ่ม เข้าไปแย่งชิงทรัพยากรและงบประมาณของแผ่นดิน ผ่านบทบาทการใช้อำนาจของระบบราชการและการเมือง ในการออกกฎหมายและโยบายเพื่อดึงเอาทรัพยากรและงบประมาณส่วนใหญ่ไป ซึ่งปกติแล้วพวกเขาจะฟังแต่เสียงของชนชั้นกลางขึ้นไปเท่านั้น ความไม่เป็นธรรมจึงปรากฏแก่คนชายขอบเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย การลงทุนในโครงการพัฒนา การจัดสรรงบประมาณ การจัดการพื้นที่ป่า ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงไม่ได้รับส่วนแบ่งของผลประโยชน์ของชาติ หรืองบประมาณของแผ่นดิน อีกทั้งยังทำให้ไม่สามารถเข้าไป “หยิบยืมอำนาจของรัฐ” มาผลักดันให้แก้ไขปัญหาของตนได้เหมือนกับคนกลุ่มอื่นๆ  โดยเฉพาะเมื่อการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ถูกมองว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อนโยบายเศรษฐกิจของรัฐ ย่อมส่งผลต่อการถูกปฏิเสธให้ไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน  นอกจากนี้การมีอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ก็ยังส่งผลต่ออำนาจต่อรองทางการเมืองด้วย เช่น ภาพลักษณ์ชาวเขาที่ถูกสร้างว่าเป็นพวกทำลายป่า “อำนาจในการต่อรองทางการเมืองของชาวเขาในการที่จะใช้ทรัพยากรบนเขาก็ลดลงไปทันที” 
 
3. ถูกจำกัดสิทธิในฐานะที่เป็น “คนอื่น” 
 นับตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2500 การใช้ที่ดินทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ถูกมองว่าทำลายเศรษฐกิจ และทำลายทรัพยากรป่าไม้ของชาติ เป็นวาทะกรรมที่ถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยิ่งกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงดำรงอัตลักษณ์ของตนเข้มแข็งมากเท่าใด ก็ยิ่งถูกทำให้มีความเป็นไทยน้อยลง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนกระแสชาตินิยมที่ก่อให้เกิด “วัฒนธรรมข้ามคน” ซึ่งหมายถึง “การยึดติดกับมายาคติและใช้อคติของตนไปลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ... ทำให้เห็นคนอื่นไม่ใช่พวกเรา” รวมทั้งมองว่าวัฒนธรรมของคนอื่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือแม้กระทั่งกำหนดให้เป็นการผิดกฎหมาย เช่น การทำไร่หมุนเวียน นอกจากนี้การลดทอนความเป็นคนของคนอื่น ทำให้มองไม่เห็นคุณค่าในวัฒนธรรมของคนอื่นในลักษณะที่เป็นความจริง ความดี ความงาม แต่ตีค่าให้เป็นเพียงสินค้าที่ขายเป็นกำไรได้เท่านั้น 

ถ้าเรามองคนอื่นว่าเป็นอย่างไร เราก็จะปฏิบัติต่อเขาอย่างนั้น กล่าวคือ “ถ้าเรามองคนอื่นว่าเป็นญาติ เราก็จะปฏิบัติต่อเขาเหมือนเป็นญาติ แต่ถ้าเรามองเขาว่าเป็นอื่น เราก็จะปฏิบัติต่อเขาอีกแบบหนึ่ง”  ดังนั้น การที่รัฐไทยหรือคนในสังคมไทยจะมองกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงว่าเป็นคนไทยหรือคนอื่น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนเหล่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net