Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บ้านน้ำจวง ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก หมู่บ้านต้นแบบนาขั้นบันไดในประเทศไทย ชาวบ้านที่นี่ทำนาบนเขาสูงและสามารถสูบน้ำจากที่ต่ำขึ้นไปทำนาได้ ความจริงวิธีการก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน แค่ว่าจะทำหรือไม่เท่านั้นเอง

โล่สิงห์ วงศ์วิริยพาณิชย์ ส.อบต. บ้านน้ำจวง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “อบต.ลู” เป็นหมอดินประจำหมู่บ้าน เป็นผู้ประสานงานการพัฒนานาขั้นบันได พาผมและเพื่อนๆ ในเครือข่ายชาติพันธุ์พรรคก้าวไกลไปตระเวณดูนาขั้นบันไดรอบๆ หมู่บ้าน พร้อมกับบอกเล่าความเป็นมาให้ฟังว่า เดิมทีชาวบ้านก็ทำไร่ทั่วไป แต่มีปัญหาความขัดแย้งกับป่าไม้ ถึงขั้นที่ฝ่ายป่าไม้ติดป้ายด่าและขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นเต็มไปหมด โดยกล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกป่า ต่อมาช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2550 – 2552 หลายหน่วยงานจึงพยามเข้าไปช่วยหาทางออกให้ จนนำมาสู่แนวคิดทำนาขั้นบันได 

 

อบต.ลู เล่าว่า ตัวเองเป็นอาสาสมัครหมอดิน เมื่อมีการเสนอแนวคิดเรื่องทำนาขั้นบันได ก็เห็นว่าเป็นแนวทางที่ดี เพราะชาวบ้านมีที่ดินทำกินจำกัดแล้ว หากยังทำไร่ที่ดินเดิมจะไม่พอทำกิน แต่หากทำเป็นนาก็จะสามารถใช้ได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งได้ผลิตข้าวดีกว่าทำไร่แบบเดิม นอกจากนี้การเปลี่ยนที่ไร่ให้เป็นที่นา ยังจะทำให้เป็นที่ดินทำทำกินแบบถาวร และแยกแยะได้ชัดเจนระหว่างที่ทำกินกับที่ป่า เพื่อลดข้อครหาว่าชาวบ้านบุกรุกป่า อบต.ลู ยังเล่าอีกว่า เมื่อเรามีที่นา ก็จะสามารถของบประมาณทำโครงการอื่นๆ ได้ เช่น ระบบชลประทานโซลาร์เซลสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำขึ้นไปปล่อยในนาป่าเขา ทำถนนเข้าหมู่บ้านและในที่ทำกิน รวมทั้งซื้อรถไถพรวนได้

ผมมีข้อสงสัย คือ ที่นาอยู่บนดอยสูง เป็นดินแห้ง มีน้ำน้อย แล้วจะทำนาแบบน้ำขังได้หรือ อบต.ลู บอกว่าปีแรกๆ ก็ไม่สามารถเก็บน้ำได้ แต่หากทำต่อเนื่องสักสองสามปี โดยนำหญ้าและฟางมาโปรยแล้วไถพรวน เมื่อหญ้าและฟางเน่าเปื่อยลงไปในดินมากขึ้น ก็จะทำให้ดินแน่นและน้ำขังได้แบบนาทั่วไป สำหรับเรื่องน้ำ จะมีแท็งค์น้ำใหญ่อยู่บนเขา แล้วใช้เครื่องสูบน้ำสูบจากอ่างเก็บน้ำขึ้นไปพักบนแท็งค์ แล้วปล่อยกระจายตามท่อลงนา

ผมเห็นล็อกนาที่เป็นขั้นๆ กว้างตั้งแต่ประมาณ 2 เมตรถึง 5 เมตรหรืออาจมากกว่านั้นได้ และมีพื้นที่โดยรวมราวหนึ่งพันไร่ ดูแล้วอลังการพอสมควร ซึ่ง อบต. ลู เล่าว่าใช้รถไถทำ ผมก็เลยสงสัยว่าแล้วอย่างนี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่มาจับหรือ อบต.ลู ก็เล่าว่า ชาวบ้านใช้วิธีทำโครงการเสนอไปที่กรมพัฒนาที่ดิน โดยมีโครงการพระราชดำริสนับสนุน นอกจากนี้ผู้หลักผู้ใหญ่ก็ช่วยประสานมาที่ผู้ว่าฯ ดังนั้น ป่าไม้จึงไม่เข้ามายุ่งกับชาวบ้าน นาขั้นบันไดที่เห็นทั้งหมดนี้ก็จัดทำผ่านโครงการทั้งหมด โดยมีตนเองเป็นคนจัดการให้ ในแต่ละปีก็จะบอกชาวบ้านว่าหากใครอยากทำก็ให้มาแจ้ง แล้วตนก็จะทำโครงการเสนอขึ้นไป เมื่อได้งบประมาณ ก็จะตั้งคณะกรรมการดูแลและติดต่อรถไถให้มาทำ พร้อมทั้งชี้ไปยังที่โล่งกลางดอยที่ห่างออกไปแล้วพูดว่า ที่นั่นมีโครงการจะขุดปีนี้แหละ

ผมถามว่าค่าจ้างตกไร่ละเท่าไหร่ อบต. ลู เล่าว่าเฉลี่ยไร่ละ 5,000 บาทเอง โดยจ้างรถไถเป็นรายชั่วโมง ตกชั่วโมงละ 600 บาท เนื่องจากชาวบ้านและคนขับรถไถมีประสบการณ์ จึงสามารถทำได้เร็ว แค่ชี้ที่ให้คนขับรถไถก็จะออกแบบและวัดแนวระดับเองได้หมด

หลังจากได้เห็นและฟัง อบต.ลู เล่าให้ฟังหมดแล้ว ผมก็คิดว่านาขั้นบันได้บ้านน้ำจวงเป็นกรณีตัวอย่างการพัฒนาที่ดินที่ดีมาก ชาวบ้านเพียงได้รับงบประมาณเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถทำได้เลย  หากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอย่างจริงจัง จะเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเป็นอย่างมาก

ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยไร่ละ 5,000 บาท ถ้ามีนโยบายทำ 1 ล้านไร่ ก็จะใช้งบเพียง 5,000 ล้านบาท การเปลี่ยนที่ไร่สูงชันให้เป็นนาขั้นบันได้ นอกกจากจะเพิ่มมูลค่าให้ที่ดิน เพิ่มผลผลิต ลดการใช้ที่ดินแล้ว ยังลดปัญหาการรุกพื้นที่ป่าอีกด้วย      

ประเทศไทยมีที่ดินทำกินอยู่ในลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 ประมาณ 7 ล้านไร่ หากสามารถเปลี่ยนเป็นนาขั้นบันไดได้สัก 30% นั่นก็จะเท่ากับ 2.1 ล้านไร่ ใช้งบประมาณ 1 หมื่นล้าน ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่น้อย รัฐบาลจะสามารถออกนโยบายได้ทั้งแบบการอุดหนุนงบประมาณให้เลย หรือจะเป็นแบบให้สินเชื่อระยะยาวก็ย่อมได้ 

 

ที่มาภาพ: https://thailandtourismdirectory.go.th/th/attraction/82923?fbclid=IwAR2NLwVm8kwzEWt2I1VetP_FQGOOTTPQl84krXgKW9Lzx2C1sgD3Z3bilPI

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net