Skip to main content
sharethis

'เลาฟั้ง' สส.ชาติพันธุ์ ก้าวไกล ยกกรณี 'บางกลอย-อุทยานฯ ถ้ำผาไท' ย้ำชาติพันธุ์ถูกละเมิดสิทธิที่ดินและทรัพยากรต่อเนื่อง มอง ครม. 'เศรษฐา' เดินหน้านโยบายที่ดิน 'ประยุทธ์' ผลัก ปชช. เป็นภัยต่อป่า ยกป่าให้นายทุน

 

วานนี้ (11 ก.ย. 2566) ที่รัฐสภา เกียกกาย มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 เป็นวันแรก โดยมีวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนชาติพันธุ์ อภิปรายแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาในประเด็นสิทธิในที่ดินและทรัพยากรของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยชี้ว่าปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ไม่สามารถแยกออกจากปัญหาที่ดินได้ เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์วิถีชีวิตผูกพันอยู่กับที่ดินและทรัพยากร เพียงมีสิทธิในที่ดินและทรัพยากร ก็เพียงพอที่จะทำให้พวกเขามีความมั่นคงในชีวิต แต่สาเหตุที่กลุ่มชาติพันธุ์กลายเป็นกลุ่มเปราะบางอยู่ในสังคม ก็เพราะพวกเขาไร้ซึ่งสิทธิ ทำให้ที่ดินทำกินถูกแย่งยึดโดยรัฐ ถูกกีดกันการใช้ทรัพยกร แม้กระทั่งถูกจับกุมดำเนินคดีจากการใช้ที่ดินและผืนป่า นอกจากนี้ก็ยังมีอีกจำนวนมากที่ยังไม่มีสัญชาติไทย

เลาฟั้ง กล่าวว่า แทบจะทันทีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวก ทำรัฐประหาร เมื่อปี 2557 มีการออกคำสั่ง คสช. ที่เรียกว่า "ทวงคืนผืนป่า" ในช่วงระเวลา 5 ปีที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ มีชาวบ้านถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับที่ดินมากถึง 29,190 คดี มีคนถูกตัดสินให้ติดคุกอย่างไม่เป็นธรรมจำนวนมาก ที่ดินของคนจน ถูกตรวจยึดรวมกันประมาณ 750,000 ไร่ ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

แม้ต่อมาคำสั่งทวงคืนผืนป่านี้จะถูกยกเลิกไป แต่รัฐบาล ณ ขณะนั้นก็ยังเดินหน้าแย่งยึดที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ต่อ ผ่านนโยบาย "คทช." (คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ) และการ “จัดทำโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ” ซึ่งมีเนื้อในเป็นการบังคับให้ชาวบ้านต้องยอมยกสิทธิในที่ดินให้แก่กรมป่าไม้หรือกรมอุทยานฯ ก่อน แล้วค่อยไปขออนุญาตใช้แบบมีเงื่อนไข 

นอกจากนี้ ยังมีการอ้างข้อตกลงของนานาชาติ ในเรื่องการลดปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยกระทรวงทรัพย์ฯ ได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชนรายใหญ่ ปลูกป่าชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งตอนแรกก็ฟังเหมือนจะดูดีนะครับ จนมารู้ในภายหลังว่าพื้นที่เป้าหมายปลูกป่าดังกล่าวนี้ ส่วนหนึ่งเป็นที่ดินทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์ 

โดยที่ตนได้เท้าความถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปนั้น เพื่อชี้ให้เห็นว่า นโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตป่าของรัฐบาลชุดนี้ มีส่วนเกี่ยวข้องและสืบเนื่องกับรัฐบาลชุดที่แล้วอย่างมีนัยยะสำคัญ 2 ประการ และเป็นปัญหาที่มีสำคัญมาก กล่าวคือ 

หนึ่ง เนื้อหาของนโยบายนี้ เขียนด้วยถ้อยคำสั้นๆ และกำกวม อ่านแล้วก็เกิดคำถามเต็มไปหมด แต่สิ่งหนึ่งที่เข้าใจได้อย่างชัดเจน คือ นโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินของ ครม. เศรษฐา ทวีสิน กำลังจะไปต่อยอดนโยบายของ ครม. ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไร้รอยต่อ โดยเฉพาะการจัดให้ประชาชนเป็นภัยต่อผืนป่า แต่พร้อมที่ยกให้นายทุนใช้ได้

ประการที่สอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นคนที่มาจากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นที่น่าเชื่อได้ว่ารัฐมนตรีคนใหม่นี้ อาจจะเดินหน้ายึดสิทธิในที่ดินตามแนวทางของรัฐบาลชุดที่แล้ว เพราะเหนือสิ่งอื่นใด ท่านเป็นน้องชายแท้ๆ ของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ คนที่มีส่วนในการสั่งให้ยึดที่ดินของชาวบ้านตามคำสั่งทวงคืนผืนป่า และนั่งหัวโต๊ะคุมนโยบายที่ดินของรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งรัฐมนตรีคนใหม่ ท่านคงไม่มีทางยอมรับว่าสิ่งที่พี่ชายของตนเองทำตลอด 9 ปีมานั้นผิด แล้วหันมาทำสิ่งแตกต่างออกไป

ถาม 'เพื่อไทย' จะเดินหน้ายึดที่ชาวบ้านต่อไปหรือไม่

เลาฟั้ง กล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายเรื่องที่ดิน อ่านแล้วถอดความได้ว่ามี 3 ประเด็นหลักๆ คือ ออกเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม, แปลง สปก. ให้เป็นโฉนด, และปลูกป่าในที่ดินทำกินบนพื้นที่สูง

"โดยเฉพาะประเด็นปลูกป่าในที่ดินทำกินบนพื้นที่สูง ผมมีคำถาม ซึ่งอยากจะถามผ่านท่านประธานไปยัง นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ตกลงแล้ว ที่ดินทำกินของชาวบ้านที่ถูกยึดไปตามนโยบายทวงคืนผืนป่ากว่า 750,000 ไร่ จะถูกยึดโดยถาวรไหม  และโครงการยึดที่ดินของชาวบ้านมาปลูกป่า ร่วมกับบริษัทเอกชนรายใหญ่ เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอน จะยังคงเดินหน้าต่อใช่หรือไม่ นโยบาย คทช. ที่จะยึดสิทธิในที่ดินของชาวบ้านไปปลูกป่า จะยังคงดำเนินต่อใช่หรือไม่" เลาฟั้ง กล่าว

นอกจากนั้น สส.ชาติพันธุ์ ก้าวไกล ยังพูดถึงประเด็นท้าทายอย่างกรณีชาวบางกลอย ที่ถูกเผาบ้านและไล่ที่ ขณะนี้พวกเขากำลังเรียกร้องขอกลับคืนถิ่น ท่านจะทำอย่างไร รวมถึงนโยบายพรรคเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายที่ใช้หาเสียงก่อนเลือกตั้งว่า จะยุติความขัดแย้งเรื่องที่ดินกับราษฎรรายเล็กรายน้อย แต่เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมานี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อำนาจบริหารประเทศนี้อยู่ในมือของ ครม. เศรษฐาแล้ว กรมอุทยานฯ เพิ่งได้เร่งรัดจัดเวทีรับฟังความเห็น เพื่อประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ที่จังหวัดลำปาง ท่ามกลางข้อสงสัยว่าจะทับสิทธิของชาวปกาเกอะญอ จนชาวบ้านต้องออกมาเดินขบวนคัดค้าน แล้วความขัดแย้งจะยุติลงได้อย่างไร ในเมื่อปัญหาเดิมท่านไม่มีโยบายแก้ แต่เปิดหัวด้วยการเดินหน้าแย่งยึดที่ดินชาวบ้านต่อ หรือว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่เทคนิคที่ใช้หาเสียงเท่านั้น

ย้ำรัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ปัญหาที่ดินชาติพันธุ์

ในช่วงสุดท้าย สส.ก้าวไกล ย้ำว่า การให้สิทธิในที่ดินแก่กลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากทำให้พวกเขามีความมั่นคงในชีวิตแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวมอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ที่ดินบนพื้นที่สูงของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ผลิตอาหารสำคัญๆ หลายอย่างป้อนตลาดทั้งในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย หากรัฐบาลเพียงยอมรับข้อเท็จจริงว่าพวกเขาได้อยู่ที่นั่นมานานแล้ว และออกเอกสารรับรองสิทธิให้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะสามารถส่งเสริมพวกเขาใช้ที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหน่วยงานรัฐก็จะสามารถรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อให้ต่างประเทศเชื่อถือ เราก็จะสามารถขยายการส่งออกเพื่อนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นได้ โดยเพื่อผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม อย่างน้อย 3 ประการ

ประการที่ 1 ต้องเร่งแก้ไขกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับป่าไม้และที่ดิน ที่เป็นต้นตอของปัญหา ให้สอดคล้องกับหลักการสากล  ที่ประเทศที่มีความก้าวหน้าเขาใช้กัน คือ การยึดระบบนิเวศน์เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา หรือ "Eco-centric" ที่มุ่งเน้นจัดการทรัพยากรให้มนุษย์และป่าสามารถอยู่ได้อย่างอย่างอย่างยืน คนในท้องถิ่นสามารถใช้ที่ดินและทรัพยากรเพื่อให้มีชีวิตที่ดีได้ แต่ต้องรักษาความสมดุลของระบบนิเวศน์ให้คงอยู่ต่อไปในอนาคตด้วย

ประการที่ 2 พิสูจน์สิทธิในที่ดินอย่างเป็นธรรมและเปิดโอกาสอย่างถ้วนหน้า ต้องยกเลิกข้อจำกัดเรื่องความลาดชันและชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ เพื่อให้ที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ สามารถเข้าสู่การบวนการพิสูจน์สิทธิ์ได้ และออกเอกกสารรับรองสิทธิอย่างเป็นธรรมให้

ประการที่ 3 ส่งเสริมบทบาทของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าอยู่แล้ว ให้เขามีสิทธิในการจัดการ ดูแลรักษา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สามารถทำได้เลย คือ ผลักดันกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีทั้งฉบับของพรรคก้าวไกล และฉบับของภาคประชาสังคมที่ได้ร่วมกันเข้าชื่อยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว

"การใช้ที่ดินของพลเมืองบนพื้นที่สูง ถูกตีตราว่าเป็นการบุกรุกป่ามาโดยตลอด ผมหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่นี้ จะยอมรับสิทธิและความชอบธรรมในที่ดินของพวกเขา และทำให้ความหวังที่จะได้รับเอกสารสิทธิของพวกเขาเป็นจริงขึ้นมา" เลาฟั้ง ย้ำ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net