Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภายหลังจากคำวินิจฉัยในกรณีคุณธรรมนัส ก็มีการแสดงความเห็นและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือหลักกฎหมายแต่อย่างใด ข้อวิจารณ์เกิดขึ้นในหลากหลายแง่มุม

แม้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วผมก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับความเห็นที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ผมใคร่ขอเสนอว่านอกจากการวิพากษ์วิจารณ์ถึงคำวินิจฉัยในคดีนี้แล้ว ก็มีความจำเป็นที่จะต้องพูดถึงศาลรัฐธรรมนูญของไทยในเชิงภาพรวม เพราะว่าคำวินิจฉัยซึ่งดูจะทำให้เกิดคำถามอย่างกว้างขวางไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในคดีนี้เป็นครั้งแรกแต่อย่างใด อาจกล่าวได้ว่านับจากรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นต้นมา คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่สัมพันธ์กับประเด็นปัญหาทางการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความคาใจของผู้คนไม่น้อย โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงให้เสียเวลาแม้แต่น้อย กรณีของคุณธรรมนัส จึงเป็นผลมาจากการออกแบบศาลรัฐธรรมนูญที่จำเป็นต้องได้รับการปรับแก้อย่างมาก

ผมใคร่ขอเสนอว่ามีประเด็นที่จะต้องขบคิดอย่างสำคัญในสามประเด็นซึ่งสัมพันธ์กันอย่างยิ่งต่อการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้

หนึ่ง กระบวนการคัดเลือก/องค์ประกอบ จะทำอย่างไรให้ได้ผู้มีความรู้ซึ่งไม่ใช่มาจากผู้พิพากษาอาชีพเป็นส่วนใหญ่ และในการคัดเลือกควรต้องสัมพันธ์กับสถาบันที่มาจากประชาชน เช่น ผ่านการให้ความเห็นชอบจาก ส.ส. หรือ ส.ว. (แต่ต้องไม่ใช่ ส.ว. ปรสิต)

สอง อำนาจหน้าที่ ควรจำกัดอำนาจให้ทำหน้าที่ชี้ขาดในการตรวจสอบความชอบในประเด็นทางกฎหมาย คืนประเด็นปัญหาทางการเมืองกับสู่กระบวนการทางการเมือง เช่น ตรวจสอบกฎหมายที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีอำนาจควบคุมนโยบายของรัฐบาล และควรถูกจำกัดในกรณีการสร้างอำนาจตนเองขึ้น

สาม การควบคุมตรวจสอบ ต้องมีการควบคุมตรวจสอบทั้งโดยกระบวนการที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ต้องมีการลงโทษกรณีการตัดสินโดยบิดเบือนกฎหมาย ประชาชนสามารถเข้าชื่อถอดถอนได้ ยกเลิกความผิด “ละเมิดศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ศาลได้อย่างเสรี เป็นต้น

แน่นอนว่าการแสดงความเห็นต่อการปฏิบัติหน้าที่และคำวินิจฉัย/คำพิพากษาของศาลเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น เพราะในด้านหนึ่งจะเป็นการถกเถียงด้วยหลักการและเหตุผล และอีกด้านหนึ่งก็คือร่วมกันสร้าง “วัฒนธรรมการวิจารณ์ศาล” ให้กลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม หากจังหวะเวลาที่เหมาะสมมาถึง การปรับแก้ในเชิงโครงสร้างก็เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง www.facebook.com/lawlawcmcm/posts/2682935088622713

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net