Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วันที่ 5 มีนาคม 1947 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงได้สองปี และภายหลังการตัดสินอาชญากรสงครามที่เป็นนักการเมืองและผู้นำทางการทหารของพรรคนาซี หนึ่งปี ศาลทหารสหรัฐในเมืองนูเรมเบิรก์ ได้จัดให้มีการไต่สวนอาชญากรสงครามที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมของเยอรมันในระหว่างสงคราม ประกอบไปด้วย อดีตผู้พิพากษา อัยการ และข้าราชการระดับสูงในกระทรวงยุติธรรมเยอรมัน รวมทั้งหมด 16 คน ทั้งหมดถูกกล่าวหาในความผิด ร่วมมือในการก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ  ก่ออาชญกรรมสงครามต่อประชาชนและทหารในดินแดนที่ยึดครอง ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติกับประชาชนของตนเองและประชาชนของประเทศคู่สงคราม

ในปี 1934 ก่อนหน้าสงครามห้าปี ฮิตเลอร์ได้จัดตั้งศาลประชาชน คู่ขนานไปกับศาลยุติธรรมของเยอรมัน โดยมีจุดประสงค์ในการกวาดล้างผู้เห็นต่างทางการเมือง ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง จะถูกไต่สวนในศาลประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับโทษที่รุนแรง คือ การประหารชีวิต หรือการส่งตัวไปยังค่ายกักกัน (ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะลงท้ายด้วยการเสียชีวิต)

การละเมิดสิทธิฯ ที่กระทำโดยรัฐนาซี เลวร้ายมากยิ่งขึ้น เมื่อฮิตเลอร์สามารถกระชับอำนาจทุกส่วนได้อย่างแข็งแกร่ง ในปี 1938 รัฐสภาเยอรมันได้ออกกฎหมายที่มีบทลงโทษในอาชญกรรมเดียวกันแต่ลงโทษคนยิวในอัตราที่รุนแรงกว่าคนเยอรมัน  กฎหมายการบังคับให้เป็นหมัน (sterilization) บังคับใช้ ในปี 1940 (เมื่อแพทย์ลงความเห็นว่าเป็นผู้พิการ หรือมีปัญหาด้านสุขภาพ จะถูกนำไปทำหมันเพื่อไม่ให้แพร่พันธ์ที่อ่อนแอในหมู่ประชากรเยอรมัน) และปี 1942 แผนการกวาดล้างยิวใน ข้อสรุปสุดท้าย (final solution คือการสังหารคนยิวให้หมดจากทวีปยุโรป) กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น

ฮิตเลอร์ภายใต้การรับรองของรัฐสภา ประกาศว่า เขามีอำนาจที่จะแทรกแซงในทุกเรื่องที่จำเป็น และสามารถสั่งให้คำพิพากษาใดๆเป็นโมฆะได้ หากไม่เป็นไปตามนโยบายของรัฐ การกลับคำพิพากษาของฮิตเลอร์ส่งผลให้คดีจำนวนมากถูกเพิ่มโทษรุนแรงยิ่งขึ้น และจำนวนมากจะลงท้ายด้วยการประหารชีวิต

ชเลเกลเบอเกอร (Schlegelberger) หนึ่งในจำเลยคดีอาชญกรสงคราม อดีต รมต.กระทรวงยุติธรรมเยอรมัน ระหว่าง ปี 1931-1942 และผู้เขียนตำรากฎหมายหลายเล่ม ให้การว่า เขาต้องทำตามคำสั่งของฮิตเลอร์ ซึ่งเป็นผู้พิพากษาสูงสุด ด้วยความไม่เต็มใจอย่างยิ่ง เขาได้แสดงให้เห็นว่า ในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ เขาคัดค้านข้อเสนอให้ส่งคนที่มีสายเลือดยิวครึ่งเยอรมันครึ่งไปยังค่ายกักกัน (ซึ่งทุกคนรู้ดีว่าจะลงท้ายอย่างไร) แต่ให้ส่งไปทำหมันหรือการเนรเทศแทน ซึ่งได้ช่วยชีวิตคนยิวไว้ไม่น้อย เขาอ้างว่าที่ต้องทนอยู่ในหน้าที่ที่เขารังเกียจ เพราะรู้ว่า คนที่จะมาแทนที่ จะทำให้ความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น แม้ข้อต่อสู้ของชเลเกลเบอรเกอรจะรับฟังได้ แต่องค์คณะผู้พิพากษาก็ได้สรุปไว้ในคำตัดสินว่า “แม้จะเข้าใจดีว่าจำเลยรังเกียจความเลวร้ายที่ตัวเองเป็นผู้กระทำ และโดยส่วนตัวต้องการใช้ชีวิตแบบปัญญาชนนักวิชาการที่มีเหตุมีผล แต่เมื่อคำนึงถึงสิ่งที่จำเลยกระทำในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งช่วยส่งเสริมความมั่นคงของระบอบนาซี เช่นใน กรณีการตัดสินชาวยิวที่ถูกกล่าวหาว่ากักตุนไข่ในปี 1941 ด้วยการจำคุกสองปีครึ่ง แต่ฮิตเลอร์ต้องการให้ประหารชีวิต และแม้จะไม่เห็นด้วยแต่ ชเลเกลเบอร์เกอร์ก็ยินยอมเซ็นคำสั่งประหาร”

ตรงกันข้ามกับความรู้สึกเห็นใจในชะตากรรมของ ชเลเกลเบอร์เกอ คณะผู้พิพากษา ตัดสินว่า ออสวอล โรทัวร์ (Oswald Rothaug) อดีตหัวหน้าคณะผู้พิพากษาศาลพิเศษ เป็นคนชั่วร้ายที่ชอบความรุนแรง ศาลยกตัวอย่างการตัดสินของจำเลยในคดีของ ลีโอ คัทเซนเบอเกอร์ หัวหน้าชุมชนชาวยิวในเมืองนูเรมเบิรก์ ในข้อหามีเพศสัมพันธ์กับหญิงสาวชาวเยอรมัน ซึ่งตามกฎหมายเยอรมันในเวลานั้น ห้ามการร่วมเพศระหว่างสองเชื้อชาติโดยเด็ดขาด แม้ทั้งสองคนจะปฏิเสธและไม่มีหลักฐานใดๆ นอกจากพยานที่เห็นฝ่ายหญิงนั่งตักจำเลย แต่ศาลก็เชื่อว่าเป็นหลักฐานที่เพียงพอในการพิสูจน์ความผิด ออสวอล ได้โอนคดีให้ศาลพิเศษเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งหากเป็นกฎหมายปกติ การร่วมเพศที่ผิดกฎหมายจะมีโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ด้วยกฎหมายของศาลพิเศษ จำเลยกระทำความผิดในยามสงคราม (ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำสงครามของประเทศ) จึงเพิ่มโทษเป็นประหารชีวิต

การไต่สวนของศาลอาชญากรสงครามในกรณีผู้พิพากษาและกระบวนการยุติธรรมของเยอรมัน ศาลฯ พบว่า ผู้พิพากษาจำนวนมากเป็นผู้ที่อยู่ในแวดวงของชนชั้นนำที่ใกล้ชิดกับพรรคนาซีและมีทัศนคติไปในทิศทางเดียวกับพรรคนาซี จำนวนมากให้การว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของนักรบที่กำลังต่อสู้กับสงคราม และมีความรับผิดชอบที่จะต้องจัดการกับศัตรูที่อยู่ภายในประเทศ

“โดยพฤติกรรมและวิธีการของเขา จำเลยได้ใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการสร้างความหวาดกลัวต่อประชาชน จากหลักฐานการกระทำต่อเหยื่อ จำเลยคือตัวอย่างและตัวแทนของความโหดเหี้ยมของปฏิบัติการลับของเหล่านาซี  หากจำเลยอยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่อยู่ในสังคมอารยะ จำเลยจะถูกปลดและถูกลงโทษในการกระทำที่ก่อให้เกิดความอยุติธรรมขึ้นในสังคมนั้นๆ”

วันที่ 4 ธันวาคม 1947 อดีตผู้พิพากษา อัยการและข้าราชการระดับสูงของกระทรวงยุติธรรมทั้งสิบหกคน สิบคน ถูกตัดสินว่ามีความผิด สี่คนรับโทษจำคุกตลอดชีวิต อีกหกคนถูกจำคุกระหว่าง 5-10 ปี สี่คนพ้นข้อหา หนึ่งคนเสียชีวิตก่อนการตัดสินและอีกหนึ่งคนป่วยหนักจนศาลยกเว้นการไต่สวน

ออสวอลและชเลเกลเบอร์เกอร์ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต

 

เรียบเรียงจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Judges%27_Trial

https://encyclopedia.ushmm.org/content/en/article/subsequent-nuremberg-proceedings-case-3-the-justice-case?parent=en%2F11501

 

https://web.archive.org/web/20060207171413/http://www.law.umkc.edu/faculty/projects/ftrials/nuremberg/Alstoetter.htm

 

https://encyclopedia.ushmm.org/content/en/article/law-and-justice-in-the-third-reich?series=40

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net