Skip to main content
sharethis

นับตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมาจนถึงวันที่ 3 มี.ค. 2564 ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุใช้อาวุธสลายการชุมนุมทั่วประเทศเมียนมา พุ่งขึ้นเป็น 39 ราย โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ และแทบทั้งหมดเสียชีวิตจากการใช้กระสุนจริง ด้านรายงานตัวเลขผู้ต้านรัฐประหารถูกจับกุม ดำเนินคดี และตัดสินโทษ ล่าสุดเพิ่มเป็น 1,498 ราย  

การชุมนุมที่นครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2564 ภาพโดย Tachikek News Agency

สรุปสถานการณ์ 1 เดือนของพม่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมด้วยอาวุธยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กองทัพและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคร่าชีวิตผู้ประท้วงต้านรัฐประหารด้วยการลั่นไกปืนไปแล้วทั้งสิ้น 21 ราย และในวันที่ 3 มี.ค. 2564 อีก 18 ราย โดยแทบทั้งหมดเสียชีวิตจากการถูกยิงที่ศีรษะ และบริเวณหน้าอก ขณะที่ตัวเลขของผู้ถูกจับกุมจากคดีที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านกองทัพพม่า พุ่งขึ้นมากกว่า 1,498 ราย

แม้จะเผชิญการใช้อาวุธสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารอย่างต่อเนื่อง แต่ชาวเมียนมายังคงยืนหยัดประท้วงต้านรัฐประหารต่อไป โดยเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ผ่านมา มีการประท้วงนัดหยุดงานทั่วประเทศในนาม ‘พันธมิตรชานม’ (Milk Tea Alliance) ในวันดังกล่าว ตำรวจและทหารระดมใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนอย่างแก๊สน้ำตา กระสุนยาง และร้ายแรงที่สุดคือกระสุนจริงยิงใส่ผู้ประท้วงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างต่ำ 15 รายจากทั่วประเทศ มีผู้ถูกกระสุนจริงยิงเข้าที่ศีรษะ 6 ราย เข้าที่บริเวณหน้าอก 6 ราย และที่ลำคอ 1 ราย  

หนึ่งในผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 ก.พ. เป็นชายหนุ่มอายุ 21 ปี ชื่อว่า ‘โกซินเท็ด’ โดยเขามาร่วมประท้วงในเขตเลดาน นครย่างกุ้ง แต่ขณะที่กำลังประท้วงโดยปราศจากอาวุธ ตำรวจและทหารกลับใช้กระสุนจริงยิงเข้าใส่ประชาชน จนทำให้เขาต้องหลบอยู่หลังพาเลตไม้ (Wood Pallet หรือรางไม้) แต่แน่นอนว่าวัสดุไม้คงไม่สามารถป้องกันเขาจากกระสุนปืนได้ และสุดท้าย ชายหนุ่มก็เสียชีวิตจากกระสุนปืน 

ในเวลาเดียวดัน โกญีญีอ่องเท็ดเนียง เด็กหนุ่มอายุ 23 ปี ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นวิศวกรเครือข่าย ก็ไปเข้าร่วมประท้วงพร้อมกับน้องชายฝาแฝดของเขาในวันที่ 28 ก.พ.เช่นกัน ซึ่งเขากับน้องชายต้องแยกออกจากกัน หลังตำรวจและทหารเปิดฉากยิงกระสุนปืนใส่ประชาชน สุดท้าย แม้ว่าน้องชายเขาสามารถเอาชีวิตรอดได้ แต่โกญีญีอ่องเท็ดเนียงถูกยิงเข้าที่หน้าอกและเสียชีวิตในเวลาต่อมา มีภาพจากวิดีโอเผยให้เห็นว่าไม่มีใครสามารถเข้าไปช่วยเขาได้ แม้จะพยายามอย่างดีที่สุดแล้วก็ตาม เนื่องจากทหารคอยระดมยิงกระสุนบริเวณรอบ ๆ ท้ายที่สุด เขาใช้แรงเฮือกสุดท้ายโทรศัพท์ไปบอกแม่ของเขาว่า ‘เขาถูกยิง’ ก่อนที่จะสิ้นใจบนถนน  

ทั้งนี้ ในคืนก่อนที่โกญีญีอ่องเท็ดเนียงจะเสียชีวิต เขาโพสต์เฟซบุ๊กติดแฮชแท็ก ‘#How_Many_Dead_Bodies_UN_Need_to_Take_Action’ พร้อมเชิญชวนผู้ประท้วงต้านรัฐประหารโพสต์แฮชแท็กแบบเดียวกับเขา เพื่อเรียกร้องให้นานาชาติ โดยเฉพาะองค์กรสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เข้าแทรกแซงกิจการในประเทศเมียนมา เพื่อเป้าหมายในการหยุดยั้งกองทัพพม่าที่ทำรัฐประหารไปเมื่อต้นเดือน ก.พ. 

วันเดียวกัน ในเขตติ่นกานจูน นครย่างกุ้ง ห่างจากเขตเลดานไม่กี่ไมล์ เฮงทุดอ่อง (Hein Htut Aung) ผู้ประท้วงต้านรัฐประหารถูกกระสุนยิงเข้าที่ลำคอ ขณะที่เขาและภรรยากำลังเดินข้ามถนนมาร่วมประท้วงกับผู้ชุมนุม

นอกจากผู้เสียชีวิตจะเป็นกลุ่มคนเจนเนอเรชัน Z ซึ่งเป็นหัวหอกในการนำและสร้างสรรค์การประท้วงครั้งนี้แล้ว ผู้ที่อยู่ในเจนฯ เบบีบูมเองก็เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564 เช่นกัน ตินน่วยญี อาจารย์ วัย 59 ปี เธอเข้าร่วมนัดหยุดงานประท้วงร่วมกับเพื่อนร่วมอาชีพที่เขตจีมยินไตน์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากแยกเลดาน วันนั้นกลุ่มครูนัดสวมเครื่องแบบทำงานเป็นเสื้อเชิ้ตสีขาว และโลงจีสีเขียว ซึ่งภายหลัง ถูกตำรวจปราบจลาจลสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา กระสุนยาง และกระสุนจริง ซึ่งเธอเองก็ถูกยิงที่บริเวณหัวไหล่ และเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย

นอกจากที่นครย่างกุ้ง มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 10 คน เป็นวัยรุ่น 2 คนที่เมืองพะโค, ผู้ประท้วง 4 คนจากเมืองทวาย, 1 คนจากปะโขคูในภูมิภาคมะเกว่, 1 คนจากมะละแหม่งในรัฐมอญ และมีผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมก็ถูกยิงเสียชีวิต 2 คนที่เมืองมัณฑะเลย์ โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดถูกยิงเข้าที่หัว และบริเวณหน้าอก 

ผู้เสียชีวิตที่มะละแหม่ง เป็นชาวมุสลิม อายุ 21 ปี นามว่า ซินเมียะทู หรือรู้จักกันในชื่อ ราซิด ถูกกระสุนจริงยิงเข้าที่ศีรษะ ขณะที่ในทวายมีหลักฐานเป็นวิดีโอแสดงให้เห็นว่า ตำรวจกำลังดีใจหลังจากใช้อาวุธปืนยิงถูกเป้าหมาย โดยด้านหลังของตำรวจ เป็นทหารที่กำลังแนะนำวิธีการยิงปืน และเป้าหมายให้ตำรวจอยู่

นอกจากผู้ประท้วง เจ้าหน้าที่ยังยิงคนที่อยู่บริเวณรอบ ๆ การชุมนุมด้วยเช่นกัน โดยที่มัณฑะเลย์ มีผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยทั้งคู่ถูกยิงเข้าที่ศีรษะ หนึ่งในนั้นเป็นคุณแม่ชาวมุสลิมที่วันนั้นออกมาซื้อขนมและยารักษาโรคเท่านั้น   

ตัวเลขผู้เสียชีวิตก่อนวันที่ 28 ก.พ. 2564 มีด้วยกันทั้งสิ้น 6 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายแรกหลังการรัฐประหาร คือ เมียะต้วยต้วยข่าย หญิงสาวอายุ 20 ปี ที่ถูกกระสุนยิงทะลุหมวกกันน็อกเข้าที่ศีรษะเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 ส่งผลให้เธอหมดสติ และถูกนำตัวไปที่โรงพยาบาลในกรุงเนปยิดอ ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตในอีกสิบวันต่อมา

ถัดจากวันนั้นเพียงวันเดียว เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารใช้อาวุธปราบประชาชนที่มาชุมนุม เพื่อป้องกันไม่ให้ทางการจับกุมคนงานอู่ต่อเรือ “ยะตะหน่าโบง” ที่เมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเหตุการณ์จบลงด้วยตัวเลขผู้เสียชีวิต 2 ราย และผู้บาดเจ็บอีกนับสิบคน 

การสลายการชุมนุมที่ตองจี รัฐฉาน เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2564 ภาพโดย Tachilek News Agency

การสลายการชุมนุมที่ตองจี รัฐฉาน เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2564 ภาพโดย Tachilek News Agency

จ่อซวาโม บรรณาธิการ สำนักข่าวอิระวดี เขียนบทความชื่อว่า “กฎข้อที่หนึ่งสำหรับควบคุมจลาจลของกองทัพพม่า คือยิงเพื่อฆ่า” (For military regime, rule no.1 in riot control is shoot to kill) โดยมองว่ายุทธิวิธีที่พม่ากำลังใช้ควบคุมผู้ประท้วงครั้งนี้ ไม่ต่างจากสมัยนายพลเนวิน เผด็จการทหาร และหัวหน้าพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า หรือ บีเอสพีพี สั่งปราบประชาชนที่มาประท้วงขับไล่เขาในเหตุการณ์ 8888 หรือวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1988 โดยเน้นไปที่การให้ตำรวจและทหารสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง เพื่อข่มขู่ประชาชนให้หวาดกลัว จนไม่กล้าออกจากบ้านมาประท้วง และสกัดไม่ให้การประท้วงลุกลามเป็นวงกว้าง แต่อย่างไรก็ตาม ผ่านมา 1 เดือนแล้ว ราษฎรพม่ายังคงออกมาประท้วงด้วยแนวทางอารยขัดขืน หรือ Civil Disobedience Movement ต่อไป 

จนเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา สื่อท้องถิ่น 'Myanmar Now' รายงานผู้เสียชีวิตจากกรณีสลายการชุมนุมด้วยอาวุธเพิ่มอีก 18 รายตามเมืองต่าง ๆ เช่น มัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง ม่อนยัวะ เมเมียว มยินซาน และอื่น ๆ ส่งผลให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น 39 ราย 

ทั้งนี้ อรรวี แตงมีแสง แอดมินเพจ 'Natty in Myanmar' และอดีตนักข่าวอาเซียน รายงานเพิ่มเติมจากกรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมที่เมืองมัณฑะเลย์ 2 ราย เป็นหญิงสาว อายุ 19 ปี และอีกคนเป็นเยาวชน อายุ 14 ปีเท่านั้น 

ทั้งนี้ รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือเอเอพีพี ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่คอยรวบรวมข้อมูลการจับกุมผู้ประท้วงต้านรัฐประหารพม่า ระบุว่า ตัวเลขเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา มียอดผู้ต้านกองทัพถูกควบคุมตัว ดำเนินคดี และตัดสินลงโทษ แล้วทั้งสิ้น 1,498 ราย 

 

แปลและเรียบเรียงจาก 

For Myanmar Military, Rule No. 1 in Riot Control Is Shoot to Kill 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net