Skip to main content
sharethis
  • นับตั้งแต่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ซึ่งมีหัวหน้าพรรคคนสำคัญคือ อองซานซูจี สามารถเอาชนะการเลือกตั้ง และเป็นรัฐบาลเมื่อปี 2558-2563 ชาวพม่าหลายคนมองว่า นี่เป็นช่วงเวลาแห่งความหวัง และความฝันของพวกเขา เพราะประเทศเขากำลังเดินเข้าสู่เส้นทางการเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ 
  • อย่างไรก็ตาม ความฝันของชาวพม่าต้องสะดุดลง เพราะเมื่อหลังจากพรรค NLD ชนะการเลือกตั้งปลายปี 2563 กลับถูกกองทัพพม่านำโดย พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ และขึ้นมาเป็นผู้บริหารประเทศพม่าในนามสภาบริหารแห่งรัฐ หรือ SAC ประชาชนออกมาต่อต้านทั่วประเทศ ประเทศพม่าเข้าสู่วิกฤตทางการเมือง และสงครามกลางเมือง

หลังการทำรัฐประหารเมื่อปี 2021 (พ.ศ. 2564) เป็นต้นมา การประท้วงจากชาวพม่าต่อกองทัพ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับประชาชนทั่วไป แต่ข้าราชการได้ออกมาร่วมขบวนการหยุดงานประท้วง ภายใต้ชื่อขบวนการ 'Civil Disobedience Movement - CDM' รวมถึงศิลปินเพลงและนักดนตรีชาวพม่า ก็ได้ออกมาประท้วงร่วมกับประชาชนด้วยเช่นกัน

'อ่องเพียะโซน' นักดนตรีพื้นเมือง มือบรรเลงพิณพม่า หรือ 'ซองเกาะ' จากนครย่างกุ้ง อายุ 40 ปี เป็นหนึ่งในศิลปินที่ได้ออกมาประท้วงต่อต้านกองทัพพม่าร่วมกับประชาชนอื่นๆ เขายังตัดสินใจทำลายรางวัลทุกอย่างที่เขาเคยได้รับมาจากช่วงรัฐบาลทหาร เพื่อประกาศเจตนารมณ์ว่าจะไม่ขออยู่ใต้ระบอบกองทัพ

จนกระทั่งวันที่ อ่องเพียะโซน เริ่มมองแล้วว่าประเทศพม่าของเขาเป็นประเทศที่สิ้นหวัง หากอยู่ในการปกครองของระบอบเผด็จการ เขาจึงลี้ภัยออกจากบ้านเกิด เป็นผู้ลี้ภัยไปประเทศที่สาม เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าเพื่อครอบครัว

รายงานสัมภาษณ์อ่องเพียะโซน นักดนตรีชาวพม่าต่อชีวิต และความฝัน เหตุผลที่ชาวพม่าออกมาต่อต้านกองทัพ ปัญหาด้านเสรีภาพศิลปะ การเลือกตัดสินใจเป็นผู้ลี้ภัย ปณิธานที่ตั้งใจจะช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิวัติ

อ่องเพียะโซน ขณะออกมาต่อต้านการทำรัฐประหาร

ผมไม่ต้องการรางวัลที่ได้มาช่วงรัฐบาลทหารอีกต่อไป

'อ่องเพียะโซน' เขาเริ่มเล่นพิณพม่าตั้งแต่อายุเพียง 7 ปี เนื่องจากรักและสนใจเครื่องดนตรีชิ้นนี้ ประกอบกับพ่อของเขาเป็นครูสอนพิณพม่า และเป็น 'ศิลปินแห่งชาติ' ของประเทศเมียนมา พ่อของอ่องเพียะโซน เคยได้เข้าฉากภาพยนตร์เรื่อง "ถึงคน… ไม่คิดถึง" หรือ "From Bangkok to Mandalay" กำกับโดย ชาติชาย เกษนัส ฉายเมื่อปี 2559 อีกด้วย

ขณะที่อ่องเพียะโซน ก็คงเรียกว่าไม่ได้เป็นคนอื่นคนไกลจากประเทศไทยมากนัก เขาเป็นนักดนตรีดาวรุ่งของพม่า และในปี 2559 อ่องเพียะโซนเคยเดินทางมาที่ประเทศไทย เพื่อแสดงดนตรี และแลกเปลี่ยนเรื่องศิลปวัฒนธรรมกับศิลปินในอาเซียนคนอื่นๆ ในโครงการ "ASEAN Music and Dance Connectivity 2016" และครูพิณพม่าผู้นี้ได้บรรเลงเพลง "เวชยันต์วิมาน" ในรายการ "ศิลป์สโมสร" ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส เมื่อ 8 มิ.ย. 2559 

อ่องเพียะโซน กล่าวว่า หลังกองทัพพม่าทำรัฐประหาร เขาตัดสินใจเผารางวัลทั้งหมดที่ได้รับมาช่วงรัฐบาลทหารทั้งในสมัยของนายพลตันฉ่วย (ประธานาธิบดีของพม่าปี 2535-2546) และนายพลขิ่นยุ้น (ประธานาธิบดีของพม่า เมื่อปี 2547)

อัญชลี อิสมันยี นักดนตรีชาวไทยจากวงคีตาญชลี และเป็นเพื่อนของอ่องเพียะโซน เล่าให้ฟังว่า นักดนตรีพื้นเมืองหรือในวงมโหรีพม่านั้น บ่อยครั้งจะถูกจ้างวานจากรัฐบาลให้เล่นในพิธีการสำคัญต่างๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรม และอีกด้านหนึ่งเพื่อส่งเสริมแนวคิดชาตินิยมของพม่า ดังนั้น การที่อ่องเพียะโซนเลือกเผารางวัลที่ได้มาจากรัฐบาลทหาร จึงเปรียบเสมือนการตั้งใจอันแน่วแน่ถึงการปฏิเสธระบอบเผด็จการ

วิดีโอ ขณะที่อ่องเพียะโซน กำลังทำลายรางวัล

เสรีภาพทางศิลปะอันหดแคบ

ในมุมมองของอ่องเพียะโซน ทำไมถึงต้องปฏิเสธระบอบการปกครองของกองทัพพม่า นักดนตรีวัย 40 ปี กล่าวว่า เขาเติบโตมาในสมัยรัฐบาลทหาร และได้อ่านหนังสือจำนวนมาก ทำให้เขาเข้าใจว่ารัฐบาลทหารแย่ขนาดไหน ซึ่งเขาตระหนักถึงเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยอายุ 17-20 ปี และตั้งใจว่าไม่ว่ายังไงก็จะไม่เอาการปกครองโดย 'ทหารพม่า'  

"ตอนเราเติบโตช่วงยุครัฐบาลทหาร เรารู้ดีว่าการเรียนหรืออะไรหลายๆ อย่างมันล้าหลัง และชีวิตมันไม่มีอะไรดี การรัฐประหารในครั้งนี้ทำให้เรารู้ล่วงหน้าว่า ชีวิตมันจะกลับมาแย่อีกครั้งแล้ว พอเรามีลูกก็ไม่อยากให้เขาต้องมาเจอในสิ่งที่ตัวเองเคยเจอมาก่อน นี่แหละเป็นจุดสำคัญที่เราต้องออกมาต่อต้านทหาร" ครูพิณพม่า กล่าว

อ่องเพียะโซน เล่าให้ฟังว่า เขาอยากยกตัวอย่างเรื่องเสรีภาพด้านศิลปะและดนตรีสมัยรัฐบาลทหาร เขามีความฝันอยากลองประยุกต์ดนตรีและเพลงพื้นเมืองให้ทันสมัยมากขึ้น แต่เจ้าหน้าที่หรือคนในยุคสมัยนั้นไม่อนุญาตให้ใครก็ตามใช้เพลงหรือดนตรีพื้นเมืองประยุกต์เข้าเพลงตะวันตก หรือเพลงสมัยใหม่โดยเด็ดขาด ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือแตะต้องได้ 

แม้ว่าทางกฎหมายอาจไม่ได้มีการเอาผิดคนที่ประยุกต์เพลงพื้นเมือง แต่อ่องเพียะโซน และเพื่อน เคยถูกสถาบันสอนดนตรีพม่าชื่อว่า 'มหาคีตา' เรียกตัวไปคุย เนื่องจากพวกเขาจากการพยายามประยุกต์เพลงพื้นเมือง พวกเขาถูกต่อว่าราวกับว่ากำลังทำลายวัฒนธรรมดนตรีพม่า และให้เซ็นสัญญาด้วยว่าจะไม่ทำแบบนี้อีก

ทั้งนี้ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเรื่องว่า รัฐบาลทหารพม่าเข้มงวดกับการประยุกต์ดนตรีพื้นเมืองของพม่า บทความ "ปลุกชีวิตศิลปะพม่าร่วมสมัย จากยุคฟิล์มขาว-ดำ ถึงร็อกแอนด์โรลที่รัฐไม่ปลื้ม" เผยแพร่บนเว็บไซต์ The Momentum เมื่อปี 2561 ระบุว่า ประเทศพม่าช่วงทศวรรษที่ ค.ศ. 1970-1980 ซึ่งเป็นห้วงเวลาของรัฐบาลทหารพม่าปกครอง ขณะนั้นรัฐบาลมีนโยบายที่เข้มงวดเรื่องการประยุกต์และดัดแปลงเพลงพื้นเมืองเมียนมา โดยไม่อนุญาตให้มีการประยุกต์เพลงพื้นเมืองของพม่าเข้ากับดนตรีตะวันตกเลย

ชาวพม่าหลายคนได้นำเอาเพลงพื้นเมืองมาผสมผสานกับดนตรีร็อกแอนด์โรลของตะวันตก ทั้งการแต่งเนื้อร้อง และภาษาที่ใช้ จะโดนรัฐบาลทหารต่อต้านอย่างหนัก และต้องไปทำเป็นเพลงใต้ดินแทน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าที่ว่าถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นคนไว้ผมยาวแบบร็อคเกอร์จะถูกจับตัดผม หรือถ้าเล่นกีตาร์อยู่ข้างถนน และตำรวจมาเจอ ก็จะถูกยึดกีตาร์ด้วย

ถึงวันที่ตัดสินใจเดินทางออกจากพม่า

อ่องเพียะโซน เล่าให้ฟังว่า เขายังคงเข้าร่วมการประท้วงอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา จนกระทั่งกองทัพพม่าเริ่มใช้ความรุนแรงในการกดปราบผู้ชุมนุมในช่วงมีนาคมจนถึงเมษายน 2564 ซึ่งช่วงเวลานั้นเริ่มมีข่าวผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากการใช้อาวุธสงคราม 

อ่องเพียะโซน เล่าต่อว่า ตอนนั้นลูกสาวเขาเพิ่งเกิดอีกด้วย ทำให้ตัวเขาไม่สามารถออกหน้าประท้วงได้เหมือนเมื่อก่อน เพื่อความปลอดภัยของครอบครัว แต่เลือกวิธีช่วยเหลืออย่างหลบๆ ซ่อนๆ ด้านเงินทุนแก่เพื่อนๆ ที่ต้องการต่อต้านกองทัพพม่า 

ตัวของอ่องเพียะโซนและลูกสาว

จนกระทั่ง ครูพิณพม่า เริ่มรู้สึกกับประเทศตัวเองว่าไร้ความหวัง และมองไม่เห็นอนาคต หากยังปล่อยให้รัฐบาลทหารพม่าบริหารประเทศต่อไป เขารู้สึกว่ามันอาจจะดีกว่าถ้าเราเดินทางไปต่างประเทศ เผื่อว่าวันหนึ่งเขาจะได้พาครอบครัวออกมา ลูกจะได้รับการศึกษาและอนาคตที่มีความหวังมากกว่าในประเทศพม่า

"ถ้าถามถึงครอบครัว พ่อ-แม่แน่นอนไม่เห็นด้วย เขารู้สึกไม่สบายใจที่เห็นเราจะออกไป ด้วยความเป็นห่วง …แต่ภรรยาสน้บสนุนเต็มที่ในการที่เขาจะออกมาลี้ภัยนอกประเทศ ก็ลูกๆ ก็เพิ่งจะคุยได้นิดๆ หน่อยๆ วิดีโอคอลทุกวัน" อ่องเพียะโซน กล่าว

ปัจจุบัน อ่องเพียะโซน ได้ลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศส โดยอาศัยแถบนอกเมืองหลวงปารีส ทำงานรับจ้างด้านการเกษตร และรับจ้างอื่นๆ ทั่วไป เพื่อเลี้ยงชีพตัวเอง แต่ตัวเขาก็ยังติดเครื่องดนตรีที่เขาเล่นมาค่อนชีวิตมาด้วยคือ 'ซองเกาะ' 

ในระยะสั้นอ่องเพียะโซนตั้งใจจะอยู่ในฝรั่งเศส ครบ 2 ปี เพื่อที่เขาจะได้พาครอบครัวและลูกมาอยู่อาศัยที่ฝรั่งเศสตามกฎหมาย และเขาหวังว่าลูกของเขาจะได้รับการศึกษาที่ดีต่อไป

ครูพิณชาวพม่า เล่าให้ฟังว่า ตอนมาอยู่ที่ฝรั่งเศสใหม่ๆ ตอนแรกเขาเครียดและคิดถึงลูกมากๆ เพราะลูกเขายังเล็กอยู่ อายุ 2 ขวบเท่านั้นเองตอนจากมา และเรื่องอาหารการกินมันไม่ได้เป็นรสชาติที่เราเคยทาน ขณะที่ไลฟ์สไตล์ของอ่องเพียะโซน ก็ไม่เหมือนเดิมนัก เพราะเขาต้องรับจ้างทำงานเกษตร แทนการเล่นดนตรี

"ไลฟ์สไตล์จากเดิมที่เล่นดนตรี 'พิณพม่า' ตอนนี้ต้องมาทำงานจับจอบ ทำงานเท่าที่ทำได้ มีความเครียด และกดดัน แต่ต้องมาปลอบใจตัวเองว่า สิ่งที่ฉันทำและเหนื่อยตอนนี้ เพื่ออนาคตของลูก และครอบครัวของฉัน" อ่องเพียะโซน กล่าว 

เมื่อสอบถามว่าคิดถึงการเล่นดนตรีหรือไม่ พอมาอยู่ในต่างแดน อ่องเพียะโซน กล่าวว่า เขาได้เล่นบ้าง แต่ไม่ได้ฝึกซ้อมเป็นประจำเหมือนเมื่อก่อน ถ้ามีงานที่เชิญเขาไปเล่นเช่นงานของผู้ลี้ภัยพม่าในฝรั่งเศส เขาก็ยินดีไปร่วม นอกจากนี้ เขาวางแผนว่า ถ้าเก็บเงินได้ และมีห้องส่วนตัว คงได้กลับมาซ้อมบ่อยขึ้น 

อ่องเพียะโซน ขณะเล่นพิณพม่าที่ฝรั่งเศส

ยังคงสนับสนุนการต่อสู้ของชาวพม่าจากต่างประเทศ

อ่องเพียะโซน กล่าวต่อว่า อนาคตจะทำเรื่องการต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าเรื่อยๆ ในตอนที่อยู่ที่ฝรั่งเศส ถ้าทางรัฐบาล NUG (รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ - National Unity Government) หรือขบวนการ CDM ที่เคลื่อนไหวในฝรั่งเศสชวนเขาไปเล่นดนตรี เขาก็ยังไปอยู่ อนาคตถ้าสถานะการเงินดีขึ้นแล้ว เขาจะช่วยระดมทุนช่วยเหลือสนับสนุนการต่อสู้กับกองทัพพม่าต่อไป

ครูพิณพม่าวัย 40 ปี ระบุด้วยว่า เขารู้สึกว่า ตัดสินใจไม่ผิดเลย และไม่รู้สึกผิดอะไรที่ลี้ภัยออกมานอกประเทศ เพราะเขาไม่รู้ว่า 10-15 ปีต่อไปพม่าจะเป็นอย่างไร หรือแนวโน้มจะเป็นอย่างไร แต่แน่นอนว่าการออกมาข้างนอก เราก็ยังสู้อยู่ ดูว่าเราพอจะสู้อะไรได้ แน่นอนว่าคนในประเทศพม่าเขาก็สู้กันในแบบของเขา มันต้องทำควบคู่กันทั้งในประเทศ และนอกประเทศ ทั้งสองแบบนี้ว่าเราจะช่วยกันสนับสนุนยังไง

"สำหรับตัวเองก็ไม่ได้สิ้นหวัง และไม่รู้สึกท้อแท้ ยังมีความหวังอยู่เต็มที่ และไม่มีเหตุผลอะไรที่จะลดกำลังใจ หรือว่าที่จะหมดหวังหรือว่าท้อ ตอนนี้ที่ออกมา ก็ใช่ว่าเราจะห่างจากตรงนั้น แต่ว่ามันมีเหตุผลส่วนตัวกัน ออกมาข้างนอก ใช่ว่าเราจะไม่ได้ทำอะไรเลย เราก็ยังจะทำจากสิ่งที่เราทำได้ สนับสนุนได้ เพื่ออนาคตอีกหลายๆ คน ไม่ใช่แค่ลูกเรา แต่อนาคตหลายคนของคนในประเทศพม่า ที่ต้องทำเพื่อให้ไปถึงเส้นชัยให้ได้ แน่นอนว่าไม่ท้อ และยังมีความหวัง" อ่องเพียะโซน กล่าว

อ่องเพียะโซน เล่าให้ฟังด้วยว่า นอกจากตัวเขาแล้ว มีเพื่อนนักดนตรีจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบเผด็จการ และเลือกลี้ภัยออกไปประเทศที่ 3 ขณะที่บางคนยังอยู่ในป่าเช่นในฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ทางตะวันออกของเมียนมา รวมถึงมีนักดนตรีที่เล่นเก่งๆ ที่ยังต้องหนีอยู่

ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเมียนมา เมื่อปี 2564 และการทำสงครามกลางเมืองทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดผู้พลัดถิ่นภายใน และผู้ลี้ภัยจำนวนมาก ตัวเลขจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เปิดเผยว่า ช่วงระหว่าง 1 ก.พ. 2564 จนถึง พ.ย. 2566 มีจำนวนผู้พลัดถิ่นภายใน (IDP) เพิ่มขึ้น 1,858,600 ราย ขณะที่ผู้ที่ลี้ภัยไปประเทศเพื่อนบ้าน นับตั้งแต่ 1 ก.พ. 2564 จนถึง มิ.ย. 2566 เพิ่มขึ้น 104,100 ราย

การเมืองในฝัน อยากให้กลับคืนสู่ประชาธิปไตย

สำหรับการเมืองในฝันของอ่องเพียะโซน เขาระบุว่า "มากกว่าความฝัน คาดหวังอย่างน้อย อยากให้มันกลับไปอยู่เหมือนช่วงปี 2015-2020 แม้ว่าจะไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ แต่ว่าพม่าเริ่มเป็นหนทางที่ประชาธิปไตยในพม่าเริ่มเบิกบาน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าถ้าเรามองในสภาผู้แทนราษฎร แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้มีที่นั่งของทหาร อยู่ 25 เปอร์เซ็นต์ แต่มันยังดีกว่ายุคก่อนหน้านั้น ที่ผ่านมาว่าเราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง และก็เห็นว่ากลิ่นไอของคำว่า 'ประชาธิปไตย' มันเป็นอย่างไร อย่างน้อยเราคาดหวังว่าให้มันกลับมาเป็นแบบนั้น ช่วงเริ่มต้นการเป็นประชาธิปไตย คาดหวังแบบนี้

"ช่วงสมัยนายพลเต่งเส่ง เศรษฐกิจมันแย่ การศึกษามันไม่ได้ดี แต่พอในปี 2015 จากคนที่ไม่มีงานเล่นดนตรีแน่นอน เริ่มมีงาน เริ่มมีหนทาง เรื่องดนตรีที่เขากลับมาเล่น การอยู่การกินดีขึ้นในแง่ของเศรษฐกิจ เพราะว่าเขาเปิดโอกาส เพราะถ้ามองตัวอย่างง่ายๆ ในเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ต เรื่องของการใช้การสื่อสารกับข้างนอก ในปี 2015 หลัง 2015-2020 มันเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากเลยนะพม่า ในการติดต่อสื่อสาร และอื่นๆ" อ่องเพียะโซน กล่าว

ดนตรีเพื่อประชาชน

ท้ายสุด เราชวนอ่องเพียะโซน คุยเรื่องเสรีภาพดนตรี และการเมือง ซึ่งมือพิณวัย 40 ปี ชี้ให้เห็นว่าศิลปะ ดนตรี และการเมือง เป็นเรื่องใกล้กันเสมอ 

"ศิลปะกับการเมือง มันเชื่อมต่อกันอยู่แล้ว

"คำว่าเพลงชาติ ดนตรีชาติ ที่เอามาใช้ในการเมืองอะไรต่างๆ เลยมองว่าศิลปะแขนงต่างๆ มันต้องมีความเชื่อมโยงเกี่ยวกับการเมืองอยู่แล้ว ซึ่งมันเป็นเสรีภาพที่จะแสดงออกได้ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง หรือแม้กระทั่งทำดนตรีจารีตประเพณี และอยากจะมามิกซ์สมัยใหม่ มันมีเสรีภาพในการแสดงออกได้" อ่องเพียะโซน ระบุ

อ่องเพียะโซน มองว่า ดนตรีเป็นของทุกคน และทุกคนควรมีสิทธิที่จะได้ฟัง แต่เป็นสิทธิของคนฟังที่จะนำไปฟังตีความว่าเป็นสายทหาร หรือประชาธิปไตยมากกว่า แต่ถ้าถามว่าเขาอยากทำดนตรีเพื่อใคร เขาอยากทำดนตรีในสิ่งที่เขาเชื่อคือ เขาอยากจะทำดนตรีให้กับฝ่ายประชาธิปไตย และไม่ทำดนตรีให้กับฝั่งทหารแน่นอน 

เมื่อถามว่าอ่องเพียะโซนอยากฝากอะไรทิ้งท้ายถึงคนที่ยังต่อต้านกองทัพหรือไม่ อ่องเพียะโซน กล่าวว่า เขาฝากความหวังและกำลังใจถึงชาวพม่าทุกคนที่ต่อต้านระบอบเผด็จการ และเขาจะขอสู้ไปด้วยกันจนสามารถขับไล่เผด็จการพม่าออกจากการเมืองให้ได้ 

"อย่างแรกสุด อยากฝากว่าไม่ว่าจะยังไงต่อไปใน อนาคตอยากจะให้สู้ต่อไปโดยไม่ท้อ ไม่มีการวางมือ เราจะสู้กันอย่างเต็มที่ เพราะว่าเผด็จการและทหารไม่ว่าจะที่ไหน มันไม่มีเผด็จการที่ดีหรอก เพราะฉะนั้น เราจะต้องต่อต้านจนกว่าเผด็จการจะออกไป และสู้ต่อไปโดยไม่วางมือ ไม่ท้อใจ สู้ด้วยกันต่อไปจนจบ" มือพิณพม่า ทิ้งท้ายบทสนทนา

หมายเหตุ : การสัมภาษณ์ครั้งนี้ได้รับการช่วยเหลือด้านการแปลภาษาจากคุณ 'เชอร์รี' สมาชิกมูลนิธิเสมสิกขาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net