Skip to main content
sharethis

แรงงานพม่าในไทยเตรียมชุมนุมหน้า UN ไม่พอใจ รัฐบาลทหาร SAC ออกมาตรการบังคับคนทำงานในต่างประเทศต้องส่งรายได้ 25% เข้าระบบธนาคารพม่า หากฝ่าฝืนจะถูกห้ามทำงานต่างประเทศ 3 ปี ด้านรัฐบาลพลัดถิ่น NUG รณรงค์อย่าทำตาม ชี้เป็นการเอาเงินไปให้กองทัพใช้ปราบประชาชน

 

22 ก.ย. 2566 เพจเฟซบุ๊ก "กลุ่มไบร์ทฟิวเจอร์" (Bright Future) ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานพม่าในประเทศไทย ประกาศว่าในวันอาทิตย์นี้ (24 ก.ย.) ช่วง 09.00-12.00 น. จะจัดชุมนุมหน้าสำนักงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ถ.ราชดำเนินนอก เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจ หลังมีข่าวว่ารัฐบาลทหารพม่า SAC ที่ปัจจุบันยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนและปกครองสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาหรือพม่า จะออกกฎเกณฑ์บังคับให้แรงงานข้ามชาติต้องส่งรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศ เป็นจำนวน 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมดที่หามาได้กลับประเทศผ่านระบบธนาคารเอกชนที่ทางการพม่ารับรอง หากฝ่าฝืนอาจถูกสั่งห้ามทำงานต่างประเทศ เป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ใบอนุญาตทำงานปัจจุบันสิ้นสุดลง

สืบเนื่องจากเว็บไซต์อิระวดี รายงานเมื่อ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่า เตรียมออกมาตรการให้แรงงานที่ทำงานในต่างประเทศ ต้องส่งเงินรายได้สกุลเงินต่างชาติกลับประเทศบ้านเกิด เป็นสัดส่วน 25% ของรายได้ทั้งหมดผ่านระบบธนาคารที่ทางการรับรอง

หลังจากไม่นานมานี้ ธนาคาร CB หนึ่งในธนาคารพาณิชย์ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในพม่า ได้ประกาศแจ้งเตือนแก่แรงงานในต่างประเทศว่า พวกเขาต้องส่งเงินเป็นอัตรา 1 ใน 4 ของรายได้เข้าบัญชีธนาคาร ทุกเดือน หรือทุก 3 เดือน ในประกาศยังเตือนด้วยว่าแรงงานที่ไม่ยอมปฏิบัติตามข้อบังคับ จะถูกห้ามทำงานต่างประเทศ เป็นระยะเวลา 3 ปี หลังจากที่ใบอนุญาตทำงานปัจจุบันสิ้นสุดลง

ประกาศนี้ถูกวิจารณ์จากนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานพม่าจำนวนมากว่าเป็นการเอาเปรียบแรงงาน

แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยจัดหาแหล่งสกุลเงินที่มีความแข็งค่าให้กับทางการพม่า แต่บรรดาแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศและครอบครัวของพวกเขา จะเสียเปรียบจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลจ๊าตเรทของรัฐบาลที่ต่ำกว่าราคาตลาด อย่างเช่น อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินจ๊าต และดอลลาร์สหรัฐ ของทางการอยู่ที่ 2,100 จ๊าตต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดนั้นราคาดีกว่า โดยคิดเป็น 3,400 จ๊าตต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ระเบียบส่งเงินใหม่นี้เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยแรงงานพม่าที่มีกำหนดการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ จะต้องเปิดบัญชีธนาคารร่วมในธนาคารที่ดูแลควบคุมโดยธนาคารกลางพม่า (Central Bank of Myanmar) และต้องโอนเงินรายได้คิดเป็นจำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ เข้าบัญชีดังกล่าว

อิระวดี อ้างแหล่งข้อมูลจากกระทรวงแรงงานพม่า เปิดเผยว่า มีจำนวนแรงงานพม่าที่เดินทางไปทำงานในประเทศไทยสูงเกือบ 2 ล้านคน นั่นหมายความว่า เงินจำนวนหลายล้านบาทจะไหลเข้าสู่คลังของรัฐบาลทหารพม่า หากมีการบังคับใช้มาตรการนี้อย่างจริงจัง

ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยน เงินสกุลจ๊าต ต่อบาทไทยของทางการปัจจุบันจะอยู่ที่ 56 จ๊าตต่อ 1 บาท ซึ่งให้ต่ำกว่าราคาตลาด ซึ่งอยู่ที่ 100 จ๊าต ต่อ 1 บาท

จากระบบโอนเงินกลับบ้านแบบใหม่นี้ หากมีแรงงานพม่าได้เงินเดือน 2 หมื่นบาท จะต้องโอนเงินจำนวน 5,000 บาท เข้าระบบธนาคารที่ทางการพม่ารับรอง เมื่อเงินเข้ามาในระบบธนาคาร 5,000 บาท แลกเป็นเงินจ๊าตในอัตราแลกเปลี่ยนทางการอยู่ที่ 300,000 จ๊าต ในขณะที่ถ้าแรงงานโอนเงินกลับบ้าน 5,000 บาท ผ่านธุรกิจแลกเงินแบบไม่เป็นทางการ หรือ "โพยก๊วน" คนที่บ้านจะได้รับเงินโอนอยู่ที่ 500,000 จ๊าต ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าตของตลาดที่ให้มากกว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าตของทางการ

แรงงานข้ามชาติพม่า (ถ่ายโดย ปฏิภัทร จันทร์ทอง)

อิระวดี ระบุด้วยว่า ล่าสุดรัฐบาลทหารพม่ากำหนดให้บริษัทนายหน้าจัดหางานแก้ไขสัญญาของแรงงานพม่าในต่างแดน โดยมีการบังคับให้มีการโอนรายได้จากการทำงาน 25 เปอร์เซ็นต์ ผ่านระบบธนาคารที่ทางการพม่ารับรอง

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานของรัฐบาลทหาร SAC ยังเสนอมาตรการจูงใจทางภาษี โดยผู้ที่โอนเงินผ่านระบบบัญชีธนาคารที่ทางการรับรอง หรือใช้บริการทางการเงินกับบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตจากธนาคารกลางพม่า จะสามารถลงทุนและซื้ออสังหาริมทรัพย์ในพม่าแบบปลอดภาษีได้
อ่องจ่อ โฆษกของมูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน (มสร.) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เว้นแต่ว่าแรงงานจะเต็มใจทำเช่นนั้น เรากังวลว่าเผด็จการทหารพม่าอาจจะปรับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงิน หรือขโมยเงินดังกล่าว เรื่องนี้ถูกวิจารณ์จากแรงงานพม่าอย่างกว้างขวาง

ในอดีตเนื่องด้วยระบบธนาคารของพม่าไม่มีบริการทางการเงินระหว่างประเทศ ชาวพม่าโพ้นทะเลที่มาทำงานต่างประเทศ หรือในประเทศไทย มักใช้วิธีการแลกตั๋วเงิน หรือโพยก๊วน เพื่อส่งเงินกลับบ้าน 

เนลินธู จากองค์กร Aid Alliance Committee (AAC) ระบุว่า เราไม่ต้องการส่งเงินที่หามาได้อย่างลำบากให้กับเผด็จการทหารพม่า เราต้องจ่ายภาษีจากรายได้ของพวกเขาในประเทศไทย และการส่งเงินของพวกเขาจะถูกตัดตอนตรงนี้ ซึ่งยอมรับไม่ได้ นี่เป็นการแสวงหาผลประโยชน์เอาเปรียบแรงงาน

อิระวดี ระบุต่อว่าข้อกำหนดดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับแรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยตามข้อตกลง MOU และตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการบังคับใช้ข้อกำหนดใหม่นี้กับแรงงานพม่าที่ถือบัตรอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวหรือบัตรสีชมพูอย่างไร 

"เผด็จการทหารไม่เคยสนใจพวกเรา ตอนที่เราเข้าไม่ถึงสิทธิด้านแรงงาน หรือถูกเอาเปรียบในต่างประเทศ แต่เขาต้องการแสวงหาประโยชน์จากรายได้ของแรงงาน"

"ไม่โอเคเลยสำหรับพวกเรา ที่จะถูกริบเงินที่หามาได้จากการทำงาน และรัฐบาลก็มากำหนดแลกเปลี่ยนสกุลเงินตามที่เขาต้องการ" แรงงานพม่าในประเทศไทยรายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับ ‘อิระวดี’  

เว็บไซต์อิระวดี ประเมินว่ามีแรงงานชาวพม่าราว 5 ล้านคน ทำงานอยู่ในประเทศไทยทั้งถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย ซึ่งตัวเลขนี้กล่าวอ้างสูงกว่าตัวเลขในระบบของทางการไทย อิระวดี ระบุด้วยว่า มีแรงงานพม่าที่มีบัตรอนุญาตทำงานจำนวน 4 แสนคน ที่เดินทางมาทำงานในประเทศไทย ภายหลังจากมีการทำรัฐประหารพม่าเมื่อต้นปี 2564

ด้านรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ซึ่งเป็นรัฐบาลเงา ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนพม่าโพ้นทะเล ไม่ส่งเงินเดือน ผ่านระบบธนาคารที่ทางการรับรอง โดยให้เหตุผลว่าเงินดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ก่อการร้ายต่อพลเรือนของประเทศตัวเองเท่านั้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net