Skip to main content
sharethis

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ตัดสินลงโทษ 'โดมินิค อองเวน' ผู้บัญชาการสูงสุดของกองกำลังลอร์ดรีซิสแทนซ์อาร์มี (LRA) ในข้อหาอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนแสดงความยินดีที่หนึ่งในผู้ก่อเหตุสังหารผู้คนนับแสนและลักพาตัวเด็กหลายหมื่นคนรับโทษตามกฎหมายนานาชาติ ขณะเดียวกันก็มีข้อชวนให้คิดต่อในเชิงศีลธรรมจากการที่อองเวนเคยถูกลักพาตัวเข้ากองกำลังตั้งแต่เด็กและถูกล้างสมองให้กลายเป็นหนึ่งในกองกำลังโหด

ศาลอาญาระหว่างประเทศตัดสินลงโทษอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ผบ.LRA
โดมินิค อองเวน ผู้บัญชาการกองกำลังลอร์ดรีซิสแทนซ์อาร์มี (LRA) | แฟ้มภาพ: ICC-CPI

โดมินิค อองเวน อดีตทหารเด็กที่ต่อมากลายเป็นผู้บัญชาการกองกำลังลอร์ดรีซิสแทนซ์อาร์มี (LRA) ศาลอาญาระหว่างประเทศหรือ ICC ตัดสินเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมาให้เขามีความผิด 65 ข้อกล่าวหาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสังหาร การข่มขืนในระดับวงกว้าง การบังคับใช้ทาสบำเรอกาม การลักพาตัวเด็ก การทารุณกรรม และการปล้นสะดม โดยที่อองเวนก่อเหตุเหล่านี้มาตั้งแต่ช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 2000s

อองเวนเป็นคนที่ถูกลักพาตัวโดยกลุ่มติดอาวุธ LRA มาตั้งแต่เด็กแล้ว และต่อมาก็ได้เป็นผู้บัญชาการของกองกำลังนี้ เขาถูกตัดสินจากศาลอาญาระหว่างประเทศในเรื่องที่เขาบังคับให้ผู้หญิง 7 คนตั้งครรภ์ ผู้พิพากษาศาลระบุว่าอองเวนกระทำการไปโดยเจตจำนงของตัวเอง เขาก่อเหตุเช่นนี้ในช่วงระหว่างปี 2545-2548

จากข้อหาเหล่านี้ทำให้อองเวนถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต โดยที่ผู้พิพากษา เบอร์แทรม ชมิตต์ อ่านคำพิพากษาระบุว่าอองเวนต้องรับผิดทางอาญาในเรื่องนี้โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ เป็นเรื่องที่ไม่มีข้อกังขาอีกต่อไปว่าเขามีความผิดจริง

ทนายความฝ่านอองเวนเรียกร้องให้มีการยกฟ้องเขาโดยอ้างว่าอองเวนกระทำไปเพราะความเจ็บปวดทางใจที่มาจากการถูกลักพาตัวเข้าสู่กองกำลังติดอาวุธตั้งแต่เด็ก โดยบอกว่าอองเวน "เป็นเหยื่อ" ไม่ใช่ "คนที่เป็นทั้งเหยื่อและผู้ก่อเหตุ" อย่างไรก็ตามชมิตต์กล่าวว่ามีการนำประวัติของอองเวนมาพิจารณาแล้วพบว่าอาชญากรรมที่เขาก่อนั้นเขาก่อขึ้นในฐานะ "ผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบตัวเองอย่างเต็มที่ได้แล้ว" ในฐานะผู้บัญชาการของ LRA ซึ่งในตอนนั้นเขาอายุได้ 20-30 ปี

ผู้สื่อข่าวอัลจาซีรา สเต็ป แวสเซน รายงานจากกรุงเฮกที่ตัดสินคดีกล่าวว่าคดีนี้ถือเป็นคดีที่มี "ความซับซ้อนทางศรีลธรรมมากที่สุด" ที่ ICC เคยพิจารณามา คำถามเชิงศีลธรรมในเรื่องนี้คือ อดีตคนที่เคยเป็นทหารเด็กมาก่อนควรจะถูกนำมารับผิดชอบต่ออาชญากรรมของตัวเองที่เคยก่อไว้หรือไม่ โดยที่อาชญากรรมที่อองเวนก่อก็มีจำนวนมากในระดับที่ ICC ไม่เคยพบเคยเห็นการกระทำผิดจำนวนมากขนาดนี้มาก่อน ในอีกทางหนึ่งทนายฝ่ายจำเลยก็พยายามปกป้องว่าเขา "มีสภาพจิตใจไม่มั่นคงและถูกล้างสมอง เขาไม่เคยสร้างสำนึกของตัวเองขึ้นมาได้เลย"

กองกำลัง LRA ในอูกันดานำโดย โจเซฟ โคนี สู้รบกับรัฐบาลอูกันดามาเป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่พวกเขาใช้วิธีการแบบก่อการร้ายสร้างความหวาดกลัวให้กับชาวอูกันดา มีการสังหารผู้คนมากกว่า 100,000 คนและลักพาตัวเด็ก 60,000 คน โดยที่ในปัจจุบันมีการประเมินว่าโคนีน่าจะหลบซ่อนตัวอยู่ที่ซูดานใต้

ในปี 2547 รัฐบาลซูดานได้ฟ้องร้องต่อ ICC กรณีกลุ่ม LRA ในปี 2548 การกดดันทางทหารทำให้กลุ่ม LRA ออกจากอูกันดาและสมาชิกของกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ก็กระจายตัวออกไปตามประเทศต่างๆ ในแอฟริกากลาง

จนถึงเมื่อปี 2558 อองเวนได้ยอมแพ้ต่อหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ ที่กำลังตามล่าตัวโคนี จากนั้นเขาก็ถูกส่งตัวไปยัง ICC เพื่อรับการพิจารณาคดี

องค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์แถลงว่าการตัดสินลงโทษอองเวนถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะสามารถให้ความเป็นธรรมกับเหยื่อของ LRA ได้


เรียบเรียงจาก
ICC finds Ugandan LRA commander guilty of war crimes, Aljazeera, 04-02-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net