Skip to main content
sharethis
  • "การอธิบายว่าการหมิ่นประมาทกษัตริย์เป็นฐานความผิดความมั่นคงของรัฐ ก็คือการใช้วิธีคิดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือ รัฐหรือราชอาณาจักรเท่ากับกษัตริย์ แต่เมื่อเป็นประชาธิปไตยแล้ว รัฐทั้งรัฐไม่ใช่ของกษัตริย์" - ปิยบุตร แสงกนกกุล
  • ทนายความสะท้อนปัญหาการเป็นคดีนโยบายที่เขาอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา สะท้อนว่าการใช้กฎหมายมาตรานี้ไม่มีความแน่นอนเลย ตามหลักแล้วกฎหมายต้องมีความแน่นอนเพราะไม่อย่างนั้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราทำอะไรแล้วถึงผิด คนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไม่เห็นความแน่นอนมั่นคงของกฎหมายก็จะเกิดปัญหา
  • พริษฐ์กล่าวว่าการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในนานาประเทศ ประชาชนก็เป็นคนตั้งโจทย์โดยออกมาเรียกร้อง แต่คนที่ทำให้การปฏิรูปได้สำเร็จไม่เคยเป็นประชาชนแต่เป็นสถาบันกษัตริย์ที่ยอมปฏิรูปตัวเอง

10 ธ.ค.2563 เวลา 14.00 น. ในกิจกรรม Mob Fest ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ มีเสวนาประเด็นการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 หรือข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์" ที่กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งจากการถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับนักกิจกรรมถึง 24 คนแล้ว(ข้อมูล ณ 10 ธ.ค.63) จากการพูดวิจารณ์สถาบันกษัตริย์และพฤติกรรมส่วนตัวของในหลวง รัชกาลที่ 10 ในที่ชุมนุมรวมไปถึงการมีข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่เริ่มมาตั้งแต่สิงหาคม 2563

ในการเสวนาครั้งนี้มี ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่เป็นทั้งอดีตอาจารย์กฎหมายและนักการเมือง, ศศินันท์ ธรรมนิธินันท์ ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และผู้ที่ถูกดำเนินคดีในอดีตและปัจจุบันตั้งแต่สมยศ พฤกษาเกษมสุข, พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และเกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ

ในการเสวนามีการนำเสนอที่มาของกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ รูปแบบการใช้กฎหมายในการดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่างในวิกฤติการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาและรูปแบบการใช้ที่เปลี่ยนไปมาไม่มีความแน่นอนในช่วง 6 ปี ของรัฐบาลยุค คสช.จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้นการเป็นคดีนโยบายที่เปลี่ยนไปมาตามผู้มีอำนาจในการเลือกว่าจะใช้ในการดำเนินคดีกับใครก็สร้างสภาวะความเอาแน่เอานอนของการใช้กฎหมายไม่ได้ ซึ่งสร้างปัญหาให้กับผู้ที่ถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างมาก แต่การใช้มาตรา 112 ในครั้งนี้ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ทำให้การเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หยุดลง

กษัตริย์ ≠ รัฐ

ปิยบุตร เริ่มต้นโดยเล่าว่าการเสวนาเรื่องสถาบันกษัตริย์ครั้งนี้เป็นการครบรอบ 10 ปีของการจัดเสวนาทางวิชาการเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ที่นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อ 10 ธ.ค.2553 ซึ่งเป็นครั้งแรกๆ ที่นำปัญหาสถาบันกษัตริย์มาคุยกันอย่างตรงไปตรงมา และไม่ได้เป็นการพูดอย่างยอพระเกียรติงาน งานครั้งนั้นแม้จะจัดโดยนิติราษฎร์แต่คนที่ผลักดันให้เกิดขึ้นก็คือ สมยศ พฤกษาเกษมสุขที่มาร่วมงานในวันนี้ด้วย ซึ่งเป็นความต้องการของเขาที่ต้องการให้นำเรื่องสถาบันกษัตริย์มาพูดกันเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และแม้เวลาจะผ่านมาแล้วสถาบันกษัตริย์ก็ยังคงมีประเด็นปัญหาอยู่

ปิยบุตรเริ่มอธิบายถึงข้อหาตามประมวลกฎหมาย ม.112 ว่า เป็นบทบัญญัติที่กำหนดฐานความผิดทางอาญาในข้อหาเรื่องหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การพิจารณาถึงความเหมาะสมของกฎหมายลักษณะนี้ต้องเริ่มต้นจากคำถามว่า เราต้องการการปกครองในระบอบแบบใด ถ้าเราต้องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐเสรีอื่นๆ ก็ต้องยืนยันก่อนว่าประชาชนเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก การเขียน การคิด การพิมพ์ นั้นเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ดังนั้นรัฐอยู่ในระบอบประชาธิปไตยเหล่านี้ก็จะให้การรับรองเรื่องพวกนี้ไว้

แต่รัฐเหล่านี้ก็ยินยอมให้จำกัดเสรีภาพได้เช่นเดียวกันโดยจะถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขที่ต้องเขียนเป็นกฎหมายออกมาโดยผ่านสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ดังนั้นกฎหมายที่จะจำกัดเสรีภาพของประชาชนก็เลยต้องออกมาจากตัวแทนของประชาชน และเมื่อจำกัดแล้วก็ต้องบรรลุวัตถุประสงค์ในการจำกัดเสรีภาพ ทำเท่าที่จำเป็นและสมควรแก่เหตุ เพราะเป็นเพียงการจำกัดเสรีภาพเท่านั้นไม่ใช่การกำจัดออกไป

ปิยบุตรกล่าวว่าการจำกัดเสรีภาพนี้มักจะอ้างเรื่องการคุ้มครองเกียรติยศของบุคคลอื่น และฐานในการออกกฎหมายฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นขึ้นมา แต่ความผิดเหล่านี้ก็จะมีคู่ที่ต้องหาจุดสมดุลกันคือ เสรีภาพในการแสดงออกและการคุ้มครองเกียรติยศชื่อเสียงของบุคคลอื่น ถ้าเรามาดูไทยก็จะมีการกำหนดในประมวลกฎหมายอาญาเป็นฐานความผิดดูหมิ่นบุคคลทั่วไป

แต่สำหรับบุคคลสาธารณะ ที่มีตำแหน่งของรัฐที่ใช้อำนาจสาธารณะที่จะต้องตกเป็นเป้าวิจารณ์มากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว คนที่เข้าไปใช้ภาษีประชาชนก็ต้องถูกวิจารณ์ ต้องโดนด่าตรวจสอบมากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว คนที่เข้าไปใช้อำนาจรัฐ ใช้อำนาจด้วยเรื่องส่วนรวม ก็ต้องถูกวิจารณ์มากกว่าคนอื่นอยู่แล้ว ถ้าไม่อยากโดนก็ต้องไม่ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับคนในตำแหน่งพวกนี้นอกจากจะอ้างในเรื่องคุ้มครองเกียรติยศชื่อเสียงแล้วยังตามมาด้วยข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของรัฐหรือกระบวนการยุติธรรม หรืออ้างว่าเป็นเรื่องปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ดังนั้นต้องเพิ่มการคุ้มครองเข้าไปอีก จึงเป็นที่มาของการกำหนดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ประมุขของรัฐ ศาล ทูต เจ้าพนักงาน ประมุขของรัฐต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่มาของการออกกฎหมายหมิ่นประมาทในไทยและในหลายประเทศก็มีกฎหมายลักษณะคล้ายกัน

ปิยุบตรกล่าวต่อในประเด็นที่มานี้ว่า เมื่อเป็นสังคมประชาธิปไตยก็มีการเรียกร้องมากขึ้นว่า ข้ออ้างเช่นเพื่อรักษาเกียรติยศ เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐก็ดี ข้ออ้างเรื่องกระบวนการยุติธรรมก็ดี การคุ้มครองเรื่องเหล่านี้จะต้องไม่มากจนเกินไป จนใช้เสรีภาพในการแสดงออกไม่ได้เพราะต้องกลับไปที่หลักคือเรื่องเสรีภาพการแสดงออก ส่วนการจำกัดนั้นเป็นข้อยกเว้น

ปิยบุตรชี้ว่าปัญหาของมาตรา 112 มีทั้งหมด 6 ประเด็น

ข้อแรกคือตำแหน่งแห่งที่ของ มาตรา 112 ที่ไปอยู่ในหมวดของความมั่นคงของราชอาณาจักร ขณะที่การหมิ่นประมาทต่อตำแหน่งอื่นอยู่ในกฎหมายหมวดอื่น

“วิธีคิดแบบนี้มีปัญหาในตัวของมันเองว่าการอธิบายว่าการหมิ่นประมาทกษัตริย์เป็นฐานความผิดความมั่นคงของรัฐ ก็คือการใช้วิธีคิดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือรัฐหรือราชอาณาจักรเท่ากับกษัตริย์ แต่เมื่อเป็นประชาธิปไตยแล้วรัฐทั้งรัฐ ไม่ใช่ของกษัตริย์”

ปิยบุตรกล่าวต่อว่า จากปัญหานี้ทำให้ตำแหน่งแห่งที่ของกฎหมายมาตรานี้อยู่ผิดที่ผิดทางตั้งแต่แรก ผลในทางกฎหมายคือที่ผ่านมาคือมักจะไม่ค่อยให้ประกันตัวเพราะอ้างว่าเป็นความผิดร้ายแรงโทษสูง ซึ่งเขายกตัวอย่างคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขว่ามีสถิติขอประกันเยอะที่สุด แต่ไม่เคยได้ประกันเลยสักครั้ง ศาลก็อ้างว่าเป็นความผิดในหมวดความมั่นคงของราชอาณาจักรและมีอัตราโทษสูง

“ถ้าพูดกันตรงไปตรงมาประมุขของรัฐโดนหมิ่นประมาทรัฐราชอาณาจักรไทยก็ไม่ได้ล่มสลายไปถูกไหม ราชอาณาจักรไทยก็ยังดำรงอยู่ได้ โดยธรรมชาติของกฎหมาย ความผิดฐานนี้จึงไม่ได้อยู่ในความผิดฐานความมั่นคงของราชอาณาจักรอยู่แล้ว”

ปัญหาที่สองคือ อัตราโทษจำคุกที่เพิ่มขึ้นจาก 7 ปีเป็น 15 ปีหลังการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 โดยรัฐบาลของธานินทร์ กรัยวิเชียรที่ตอนนี้ก็ยังเป็นองคมนตรีอยู่ เพื่อที่จะปิดปากเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษาในสมัยนั้น หากเปรียบเทียบกับบทลงโทษในฐานความผิดลักษณะเดียวกันในสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์ยังมีโทษต่ำกว่ายุคที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอกย้อนมาก

ปิยบุตรชี้ว่านอกจากโทษที่สูงขึ้นยังมีการกำหนดโทษจำคุกขั้นต่ำเอาไว้ที่ 3 ปีด้วย ซึ่งความผิดอาญาในหลายเรื่องไม่มีการกำหนดโทษขั้นต่ำไว้ให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการตัดสินโทษจำคุกได้ตั้งแต่ 1 วัน 2 วัน 5 วัน 1 เดือนก็ได้ เป็นความผิดเพี้ยน เกินสมควรกว่าเหตุของโทษอาญาในกฎหมายนี้ ซึ่งไม่ได้สัดส่วนกับการที่คนๆ หนึ่งไปพูดให้กษัตริย์รู้สึกถูกหมิ่นประมาท ถูกดูหมิ่น

ปัญหาข้อที่สามคือ ไม่มีเหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษ กฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลจะมีเหตุยกเว้นความผิดว่า ถ้าพูดไปเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อวิชาการ ให้ถือว่าไม่เป็นความผิด แต่กับมาตรา 112 แม้จะวิจารณ์โดยสุจริตและเพื่อประโยชน์ก็จะไม่มีการพิสูจน์ ถ้าเข้าองค์ประกอบหมิ่นประมาทเมื่อไหร่ก็ถูกลงโทษได้ทันที ซึ่งต่างกับกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไปเพราะถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง ศาลก็จะยกเว้นโทษได้

ปัญหาข้อที่ 4 คือใครๆ ก็ไปฟ้องได้ สำหรับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา เวลาเขาถูกหมิ่นประมาทเขารู้สึกว่าเสียหายเขาต้องไปเริ่มร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกันเอง แต่กรณีของกษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้แทนในพระองค์ ใครๆ ก็ไปแจ้งความได้ทั้งหมดแล้วที่ผ่านมาพอไปแจ้งทีไรก็มีการเดินเรื่องต่อทุกครั้งไม่มีใครกล้าที่จะหยุด ก็ทำให้เกิดการกลั่นแกล้งกัน ที่ผ่านมาใครไม่ชอบหน้าใครก็เอาเรื่องนี้ไปยัดใส่ แล้วชีวิตก็เป็นภาระในการดำเนินคดีแล้ว

ปัญหาข้อที่ห้า คือแนวทางในการใช้และการตีความของเจ้าหน้าที่ อัยการ และศาลที่ผ่านมานั้นเกินไปกว่าที่ตัวบทกฎหมายกำหนด โดยเขายกตัวอย่างว่าศาลฎีกาเคยตีความไปถึงว่าการวิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ 4 เข้าความผิดฐานนี้ด้วย ซึ่งกษัตริย์ในมาตรา 112 หมายถึงกษัตริย์ปัจจุบัน ไม่รวมถึงกษัตริย์ในอดีต แต่ศาลฎีกาก็ไปตัดสินว่ารวมถึงกษัตริย์ในอดีต เขาอ้างว่ารัชกาลที่ 4 เป็นพ่อของรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 5 เป็นปู่ของรัชกาลที่ 9

นอกจากนั้นรัชทายาทจะต้องหมายถึงตำแหน่งมกุฎราชกุมารและมกุฎราชกุมารีเท่านั้น แต่การตีความก็ไปรวมถึงสมเด็จพระเทพฯ ด้วยในสมัยหนึ่ง หรือกรณีสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่เป็นเรื่องพระนเรศวรก็ถูกนับรวมไปด้วยแต่เรื่องนี้ไปไม่ถึงศาล และยังตีความไปไกลถึงเรื่องสุนัขทรงเลี้ยง นอกจากนั้นแล้วหลายเรื่องไม่ใช่การหมิ่นประมาทดูหมิ่น แต่เป็นการพูดถึงสัญลักษณ์ เปรียบเทียบ แต่ศาลก็ไปตีความถึงว่าเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ ซึ่งเกินกว่าตัวบทไปไกลมาก

ปิยบุตรระบุว่าข้อสุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญก็เคยวินิจฉัยว่ามาตรา 112 นี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญด้วย แม้ว่าจะมีการใช้ในลักษณะที่เกินกว่าตัวบทตามที่กล่าวไปทั้ง 5 ข้อ

ปิยบุตรกล่าวถึงข้อโต้แย้งของฝ่ายที่ไม่ต้องการให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ว่ามีข้ออ้างหลักๆ อย่างเช่น

บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ในสมัยรัฐธรรมนูญ 2550 หรือมาตรา 6 ในฉบับ 2560 คือกษัตริย์ที่เป็นที่เคารพสักการะ บุคคลใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายแบบ 112 จะได้ทำให้กษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะและละเมิดไม่ได้ เหตุผลนี้ไม่ใช่ประชาชนคนทั่วไปอ้างด้วย แต่เป็นเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการวินิจฉัยเกี่ยวกับมาตรา 112

ปิยบุตรอธิบายว่าเป็นการอ้างที่ผิดฝาผิดตัวเพราะรัฐธรรมนูญเขียนเรื่องนี้ไว้เพื่อเป็นการให้เกียรติในฐานะประมุขของรัฐ แต่ไม่ใช่ให้ทุกคนต้องบูชาดุจเทพเจ้า และยังไม่ใช่บทบังคับด้วย เพราะรัฐธรรมนูญไม่ใช่บทบังคับสั่งการและมีบทกำหนดโทษ ส่วนการล่วงละเมิดไม่ได้คือ Untouchable คือจะฟ้องร้องดำเนินคดีกษัตริย์ไม่ได้ เพราะคนที่ต้องรับผิดชอบคือคนที่สนองพระบรมราชโองการ ดังนั้นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแบบนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรมาตรา 112 เลย

ปิยบุตรกล่าวถึงอีกข้ออ้างหนึ่งของฝ่ายอนุรักษนิยมหรือกษัตริย์นิยมคือ อ้างว่าประเทศไหนก็มีกฎหมายแบบนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีหลายแบบ

“เวลาเขาอ้างกันเนี่ยบอกว่าประเทศอื่นๆ ก็มีเราจะไม่มีได้อย่างไรก็ต้องชี้แจงเขากลับว่า อย่างนี้ประเทศอื่นๆ เขามีประชาธิปไตยเราก็ต้องมีประชาธิปไตยบ้างสิ ที่อื่นเขาไม่เอาทหารมายึดอำนาจเราก็ต้องมีบ้างสิ คือคนเหล่านี้เวลาอ้างฝรั่ง อ้างตะวันตก อ้างแต่ส่วนที่ตัวเองได้ แต่ส่วนที่ตัวเองไม่ได้ก็จะด่าว่าบ้าฝรั่งชังชาติ แม้เขาอ้างฝรั่งเขาก็อ้างไม่ครบเพราะจริงๆ มีแต่ไม่ใช้ มีแต่โทษเขาต่ำกว่าเรามาก เอามาใช้ก็เป็นโทษปรับ บางประเทศไม่มีเลย บางประเทศยกเลิกไปแล้ว”

ปิยบุตรยกตัวอย่างว่า ในญี่ปุ่นไม่มีเลย อังกฤษมีแต่ไม่ใช้มา 200 กว่าปีแล้วโดยไปใช้กฎหมายหมิ่นประมาทคนธรรมดาแล้วมีเพียงโทษปรับไม่มีการเอาเข้าคุก หรือกรณีสเปนที่เคยมีกฎหมายลักษณะนี้และศาลในประเทศเคยพิพากษาให้ผู้วิจารณ์ต้องติดคุก แต่คดีนี้ก็สู้กันไปถึงศาลสิทธิมนุษยชนและชนะคดีทำให้สเปนต้องไปยกเลิกกฎหมายลักษณะนี้ไป

ปิยบุตรกล่าวต่อว่า นอกจากข้ออ้างที่พูดถึงไปแล้ว ก็ยังมีการอ้างอีกว่าขนาดมีมาตรา 112 แล้วก็ยังมีวิจารณ์กันขนาดนี้ และมีกฎหมายแล้วก็ต้องลงโทษให้หนัก ปิยบุตรอธิบายประเด็นนี้ว่า คนที่เขาจะวิจารณ์หรือไม่ รักหรือไม่ หรือจะเกลียด กฎหมายก็ไม่ได้ช่วยอะไร

“การจะเปลี่ยนให้คนรัก การเปลี่ยนให้คนงดการแสดงออกยิ่งเอากฎหมายไปจับก็จะยิ่งตรงกันข้าม เขาจะยิ่งไม่รักแล้วเขาจะตั้งคำถามมากขึ้นๆ การจะใช้กฎหมายเข้าไปหยุดการวิจารณ์มันเป็นไปไม่ได้โดยแน่แท้อยู่แล้ว ตรงกันข้ามการหยุดการวิจารณ์คือการไปปฏิรูปตัวเอง การหยุดการวิจารณ์ที่ดีที่สุดคือการปฏิรูปตัวเองให้สอดคล้องกับยุคสมัยให้มันสอดคล้องกับประชาธิปไตย”

ปิยบุตรตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า การจะแก้มาตรา 112 มันมีมากกว่าตัวบทเนื่องจากมีทั้งตัวอุดมการณ์ กลไกรัฐ ที่ครอบเอาไว้ไม่เหมือนกฎหมายมาตราธรรมดา เมื่อมีการใช้ก็มีกันทุกวัน ใช้จนเกินตัวบท ขัดมาตรฐานสิทธิมนุษยชน แล้วเวลาจะไม่ใช้ก็หยุดไปเฉยๆ แล้วจะใช้ก็เอากลับมาอีก แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แค่กฎหมายที่เป็นตัวอักษรที่เป็นประมวลกฎหมายอาญาธรรมดาๆ แต่ยังมีเรื่องอื่นกำกับอยู่ หรือตอนไม่อยากใช้ก็เอาข้อหาอื่นอย่างมาตรา 116 หรือ พ.ร.บ.คอมฯ มาใช้แทน ตอนนี้พอเอาไม่อยู่ก็เอา มาตรา 112 กลับมาใช้ใหม่ แต่คนก็ยังพูดวิจารณ์เหมือนเดิม

ปิยบุตรอธิบายว่าการใช้กฎหมายลักษณะนี้ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือรอยัลลิสต์คล้ายๆ กับกฎหมายยุคโบราณคือ Blaspheme(บลาสเฟมี) คือการลบหลู่ดูหมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นใครที่มาพูดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้เขาจะต้องสะเทือนใจแล้วเอากฎหมายมาใช้ทันที กฎหมายลักษณะนี้ในรัฐสมัยใหม่ไม่มีการใช้แล้ว เพราะบังคับให้คนทั้งประเทศเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เดียวกันไม่ได้ ดังนั้นเมื่อพล.อ.ประยุทธ์บอกว่าจะใช้กฎหมายทุกมาตรา ก็มีคนไปแจ้งความด้วยมาตรานี้ทันที ดังนั้นวิธีคิดของเขาคือเมื่อมีคนมาลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเขาและเขาต้องทำสิ่งนี้

112 มันทำงานได้ หนึ่งคือกลไกรัฐต้องเอาไปใช้ ถ้าวันไหนผู้คุมกลไกรัฐบอกไม่ต้องใช้มันก็หยุด ผู้คุมกลไกรัฐเปิดสวิตช์ให้เดินมันก็เดิน ขณะเดียวกันกฎหมายเหล่านี้จะทำงานได้พวกเราที่อยู่ใต้กฎหมายถ้าเราเชื่อฟังมันก็ทำงานได้ ถ้าเราไม่เชื่อฟังมันก็ทำงานไม่ได้ ดังนั้นกฎหมายธรรมดามันอาศัย 2 ฟังก์ชั่นพร้อมกัน คือ กลไกรัฐเดินกับผู้อยู่ใต้อำนาจเชื่อฟังยอมทำตาม ถ้ามันขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือมันขาดทั้งคู่กฎหมายมาตรานี้มันก็จะทำงานต่อไปไม่ได้

ปิยบุตรกล่าวว่าสุดท้ายแล้วถ้าการรณรงค์ทำให้ยกเลิกกฎหมายนี้ได้ก็จะทำให้คดีทั้งหมดยุติลงไปทันทีด้วยหลักการที่ว่า ไม่มีกฎหมายก็ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ และเมื่อยกเลิกมาตรานี้เราควรมองต่อไปถึงระบบกฎหมายหมิ่นประมาททั้งระบบที่ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเอาความผิดฐานหมิ่นประมาทดูหมิ่นออกจากประมวลกฎหมายอาญาให้หมดเพื่อให้ไม่ต้องมีโทษทางอาญา ให้เป็นเรื่องของบุคคลไปประเมินความเสียหายแล้วก็ไปฟ้องเรียกค่าเสียหาย หลักคิดง่ายๆ คือ ในศตวรรษที่ 21 การด่ากันการพูดให้เสียหาย มันไม่เท่ากับเอาคนไปเข้าคุก กฎหมายที่จำกัดเสรีภาพการแสดงออกต้องเอาโทษจำคุกออกให้หมด แล้วเหลือแต่โทษปรับ หรือเรียกค่าเสียหายกันเองในทางแพ่ง เพื่อให้กฎหมายที่คุ้มครองผู้ที่มีตำแหน่งต่างๆ รวมถึงบุคคลทั่วไปอยู่ในระนาบเดียวกัน

การใช้กฎหมายที่หาความแน่นอนไม่ได้

ศศินันท์ ธรรมนิธินันท์ เล่าว่าสำหรับมาตรา 112 ตั้งแต่หลังการรัฐประหารมาก็ถือว่าเป็นคดีที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับคดีอื่นๆ แล้วเจ้าหน้าที่รัฐก็อ้างว่าเป็นคดีนโยบาย ซึ่งก็อาจจะเป็นข้ออ้างของเขาด้วยในการทำรัฐประหารที่ว่ามีการละเมิดสถาบันกษัตริย์มากขึ้น

ศศินันท์อธิบายแนวโน้มการใช้มาตรา 112 ในช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 แบ่งออกเป็น 3 ยุค คือช่วงตั้งแต่ปี 57-61 ก่อนที่จะมีการหยุดใช้ไปคือ 54 คดี โดยช่วงมีการจับกุมด้วยมาตรา 112 ตอนหลังรัฐประหารใหม่ๆ ยุคที่สองคือช่วงหลังรัชกาลที่ 9 สวรรคตก็มีการจับกุมอีกระลอกหนึ่งก่อนเงียบหายไป ในยุคที่ 2 นี้แม้จะไม่มีการบังคับใช้มาตรา 112 ก็มีการเอามาตราอื่นๆ มาใช้แทน แล้วก็กลับมาอีกครั้งคือรอบล่าสุดในเดือนที่ผ่านมาตอนนี้มีแล้ว 11 คดี ผู้ต้องหา 24 คน

ศศินันท์เล่าถึงปัญหาที่พบจากการให้ความช่วยเหลือทางคดีว่า 54 คดีที่เกิดขี้นในช่วงแรก มีผู้ป่วยทางจิตเกือบๆ 10 คดี และ 1 ในนั้นก็เสียชีวิตแล้ว 1 รายก่อนที่จะมีคำพิพากษา และยังมีคดีที่ผู้ต้องหาถูกกักขังโดยไม่มีความผิดเนื่องจากยุคแรกผู้ต้องหามักไม่ได้รับอนุญาตประกันตัว แล้วพอตำรวจฝากขังซึ่งฝากได้ถึง 84 วัน แต่ภายหลังอัยการก็สั่งไม่ฟ้องก็ถูกขังฟรี ซึ่งในการประกันตัวนั้นเป็นสิทธิที่ทุกคนต้องได้รับตามหลักสากลที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยคดีนี้ยังเป็นคดีที่เกิดจากการกลั่นแกล้งกันคือเพื่อนไม่ชอบหน้ากันแล้วสร้างเฟซบุ๊กปลอมของผู้ต้องหามาด่าสถาบันฯ ทำให้มีการแจ้งความดำเนินคดีภายหลังเมื่อหาพยานหลักฐานก็ไม่สามารถโยงถึงตัวผู้ต้องหาได้ว่ามีการทำความผิดจริง

ศศินันท์บอกว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดคดีก็มีหลายสาเหตุทั้งวาดภาพ แต่งกลอน หรือแค่กดไลค์เพจก็ยังโดน และในการพิจารณาคดีก็มีปัญหาที่ปกติหมิ่นทั่วไปสู้กันในศาลไม่มี คือผู้พิพากษาไม่ให้พูดถึงข้อความที่เป็นเนื้อหาในคดีว่ามันหมิ่นหรือไม่หมิ่นอย่างไรซึ่งรวมไปถึงทนายความด้วยซึ่งก็เป็นอุปสรรคในการสู้คดีเหมือนกัน ซึ่งต้องพิสูจน์กันก่อนว่าเนื้อหานั้นเป็นความผิดอย่างไร เพราะการจะลงโทษในคดีอาญาจะต้องมีการตีความการกระทำความผิดอย่างเคร่งครัด เนื่องจากโทษทางอาญาเป็นการจำกัดเสรีภาพบุคคล แต่ก็พบว่าข้อความในคดีก็ไม่ได้มีความชัดเจนขนาดนั้น

แล้วคดีในระลอกสอง คือกลุ่มหลังสวรรคต เป็นคดีแบบโพสต์ขายเหรียญหรือพูดถึงแค่นิดเดียวช่วงนั้นใครพูดอะไร

ศศินันท์เล่าถึงช่วงก่อนหน้าเกิดคดีระลอกล่าสุดเล็กน้อยว่ายังมีกรณีพ่นสีที่พระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งมีการใช้เจ้าหน้าที่จับกุมอย่างรุนแรงแต่สุดท้ายเมื่อมีการดำเนินคดีก็ยังเป็นข้อหาทำให้เสียทรัพย์ซึ่งยังคล้ายกับระลอกที่สองอยู่ แต่ระลอกที่สามที่มีคนโดนคดี 24 คน 11 คดี นี้จากคดีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมันนี้พบว่าในการแจ้งข้อกล่าวหาไม่ได้มีการระบุว่าข้อความใดเป็นความผิดอย่างชัดเจนและเป็นความผิดอย่างไร แต่ว่าในการแจ้งข้อหาก็ยกเรื่องรัฐธรรมนูญมาตรา 6 แล้วก็โยงมาเป็นความผิดตามมาตรา 112 แต่เมื่อเธอซักถามกับเจ้าหน้าที่ว่าข้อความใดที่เป็นความผิด ตำรวจก็ไม่ได้ตอบว่าเป็นข้อความใด

ศศินันท์พูดถึงประเด็นการประกันตัว ในระลอกที่ 1 และ 2 นั้นมีลักษณะคล้ายกันคือมักไม่ให้ประกันตัว แต่ระลอกที่สามที่ไม่มีการนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขังและปล่อยกลับนี้ เธอบอกว่าอาจจะเพราะยังไม่มีการนำนโยบายนี้มาใช้ แต่มันก็ยังไม่มีความแน่นอนของการบังคับใช้เป็นอย่างไรเพราะเป็นคดีนโยบายที่เขาอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา สะท้อนว่าการใช้กฎหมายมาตรานี้ไม่มีความแน่นอนเลย ตามหลักแล้วกฎหมายต้องมีความแน่นอนเพราะไม่อย่างนั้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราทำอะไรแล้วถึงผิด คนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไม่เห็นความแน่นอนมั่นคงของกฎหมายได้ก็จะเกิดปัญหา

ศศินันท์พูดถึงปัญหาการพิจารณาในชั้นศาลด้วยว่า มีการพิจารณาเป็นคดีลับ คือคนทั่วไปเข้าฟังไม่ได้ และบางครั้งศาลก็มีการยึดมือของทนายความและจำเลยไปไว้ที่บัลลังก์ด้วย

ศศินันท์เล่าเสริมประเด็นที่ปิยบุตรบอกว่าการใช้กฎหมายไม่ทำให้คนมารักได้ว่า สำหรับลูกความหลายคนที่โดนดำเนินคดีและเข้าคุกไปแล้ว เมื่ออกมาก็ยังมีความคิดเหมือนเดิม บางคนก็ยังกลับมาในม็อบรอบนี้ กฎหมายไม่ได้ทำให้คนคิดเหมือนกันได้

ราคาที่ต้องจ่ายเมื่อเจอกับ ม.112

สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตนักโทษคดี 112 กล่าวว่า การใช้ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ก็มีการใช้มาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 กำหนดโทษไว้เพียง 3 ปี แล้วพอรัชกาลที่ 7 หลัง 2475 ถึงเปลี่ยนมาเป็น 7 ปี แล้วก็ในยุครัชกาลที่ 9 ก็เปลี่ยนมาเป็น 15 ปี แล้วที่แก้นี้เกิดขึ้นหลังการสังหารนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ คือการไม่อยากให้มีการวิจารณ์เหตุการณ์นี้ใช่หรือไม่ มันชวนให้เราสงสัยว่าทำไมแก้ไขให้การวิจารณ์กษัตริย์ในเวลานั้นต้องมีโทษจำคุกถึง 15 ปี

สมยศเล่าถึงคดีล่าสุดของตัวเองว่า ได้ไปรายงานตัวพร้อมกับไผ่ ดาวดิน (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) เขาพบว่าทางเจ้าหน้าที่เร่งรัดคดีมาก ทางตำรวจก็บอกว่ากับเขาว่ามันเป็นคดีนโยบายถ้าไม่ทำหรือไม่เร่งทำก็จะถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน เขาเล่าเหตุการณ์ในห้องสอบสวนต่อว่า ในกรณีของไผ่ที่มาด้วยกันว่า ตอนที่ไผ่อ่านสำนวนสอบสวนเสร็จซึ่งท้ายสำนวนจะลงท้ายว่า ไม่ได้มีสาเหตุโกรธเคืองกับตำรวจใช่หรือไม่ ไผ่ก็บอกว่าไม่ได้ ตำรวจนี้รับใช้อำนาจรัฐและอำนาจรัฐนี้ถูกนิยามว่าเป็นกษัตริย์ แล้วไผ่ก็บอกว่า “ผมมีเรื่องกับตำรวจ” และบอกให้ตำรวจบันทึกไว้ และในตอนที่เซ็นชื่อรับทราบข้อกล่าวหา ไผ่ก็ไม่เซ็นแล้วก็เขียนกำกับลงไปว่ากฎหมายมาตรา 112 เป็นกฎหมายล้าหลัง ป่าเถื่อน ไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้อง ไผ่ก็ยังเขียนอีกว่าไม่รับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งสำหรับเขาเองที่เข้าไปรายงานตัวก่อนก็เพียงแต่ยอมรับไปตามกระบวนการและรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ทำแบบเดียวกับไผ่

สมยศกล่าวต่อว่าเมื่อเป็นคดีนโยบายหรือมีคำสั่งลงมา ก็เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่จะรีบฟ้องแน่หลังจากมีการเปลี่ยนนโยบาย ซึ่งเรื่องนี้เขาก็ตั้งข้อสังเกตว่าในยุครัฐบาลทักษิณมีกรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐไปฟ้องสนธิ ลิ้มทองกุล ด้วยข้อหาหมิ่นฯ แล้วรัชกาลที่ 9 ก็ออกมาพูดถึงเรื่องนี้เป็นครั้งแรกเมื่อ 2548 ว่าการใช้ข้อหานี้จะทำให้ท่านเดือดร้อนและกษัตริย์จะต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่คดีมาตรา 112 ก็ไม่ได้น้อยลงแล้วคดีก็เพิ่มขึ้นทุกปี สรุปแล้วกษัตริย์หรือรัฐบาลในการกระทำหนึ่งเดียวกันนี้อันไหนเป็นตัวหลักแล้วใครพูดโกหกซึ่งเป็นเรื่องที่เขาสงสัยและตั้งคำถาม

สมยศอ้างอิงคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ที่อ้างคำพูดของรัชกาลที่ 10 ว่าพระองค์ทรงมีเมตตาไม่อยากใช้ 112 แต่พอมาอีกครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ว่าจะใช้ทุกมาตรารวมถึงมาตรา 112 ด้วยถ้าแบบนี้ถือว่าพล.อ.ประยุทธ์กำลังขัดพระราชประสงค์หรือไม่ แล้วพอนักข่าวไปถามพล.อ.ประยุทธ์ก็บอกว่าผมไม่ได้ใช้ แต่เป็นตำรวจไปใช้

จากนั้นสมยศก็ได้เล่าชีวิตช่วงที่ตนโดนคดีมาตรา 112 ครั้งแรกว่า แม้รัฐธรรมนูญจะระบุว่าถ้าคดียังไม่ถึงที่สุดก็ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ตัวเขาก็ไม่ได้รับการประกันตัวเลย และเมื่อเข้าไปเจอสภาพในเรือนจำทั้งการตรวจร่างกายก่อนเข้าที่ตรวจจนถึงรูทวารแล้วอาบน้ำก็ตัวเปล่าเปลือยต่อนักโทษคนอื่นๆ แต่สุดท้ายเขาก็ชินกับสภาพแวดล้อมเหล่านี้ ซึ่งเป็นปัญหาต่อการปฏิบัติกับผู้ที่ยังบริสุทธิ์ แล้วเขาก็ยังถูกตัดสินล่วงหน้าว่าผิดไปแล้วโดยการไม่ให้ประกันตัว ซึ่งเขายกตัวเทียบกับคดีฆาตกรรมที่แม้ศาลชั้นต้นจะตัดสินแล้วว่าผิดแต่ก็ยังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์โดยศาลบอกว่าเป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่ยังบริสุทธิ์อยู่

สมยศรู้สึกว่าเมื่อเทียบกันแล้วทำไมศาลถึงทำป่าเถื่อนกับเขาและนี่คือตัวอย่างปัญหาของการใช้มาตรา 112

สมยศบอกว่าการถูกขังฟรีจากการฝากขังในขณะที่คดียังไม่สิ้นสุดเป็นปัญหาอย่างมากเพราะแม้ภายหลังศาลจะยกฟ้องแต่ก็ไม่ได้รับเงินชดเชย และยังมี 2-3 คดีที่ตำรวจพยายามหาหลักฐานแล้วก็หาไม่ได้ ศาลก็ขังไปแล้ว 2-3 ปี เช่น คดีพี่น้องทะเลาะกันแล้วแจ้งความมาตรา 112 ที่ภายหลังก็ยกฟ้อง และยังมีคดีของสุรภักดิ์ ภูไชยแสงที่ภายหลังสามารถพิสูจน์ได้ว่าในคอมพิวเตอร์ของสุรภักดิ์ไม่มีข้อมูลที่เป็นความผิด ศาลก็ยกฟ้องแต่บอกว่าเป็นกรณีไม่มีพยานหลักฐานยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ทำให้ขอเงินชดเชยที่ต้องถูกขังในเรือนจำไม่ได้

สมยศบอกว่าถ้าเลือกสู้คดีเพื่อพิสูจน์ว่าบริสุทธิ์เป็นอะไรที่ยาวนานมากและยากลำบาก ทนายความมาเยี่ยมในเรือนจำก็ถูกดักฟังแนวทางสู้คดี คนจำนวนมากก็บอกว่ายอมรับสารภาพดีกว่าอย่างน้อยก็ติดคุกเพียงครึ่งหนึ่งของอัตราโทษที่ศาลมักจะลงโทษจำคุกคนละ 5 ปีลดแล้วก็เหลือ 2 ปีครึ่ง ซึ่งทำให้ไม่มีการพิสูจน์ความจริงว่าตกลงแล้วได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ หมิ่นหรือไม่หมิ่น ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวทำให้คนต้องยอมรับสารภาพ แต่เขาก็ไม่ยอมสารภาพเพราะยอมรับไม่ได้ว่าตัวเองทำผิด เพราะตอนนั้นเขาถูกดำเนินคดีในฐานะบรรณาธิการซึ่งมีกฎหมายการพิมพ์อยู่ โดยคนที่ต้องรับโทษคนแรกคือคนเขียนแต่ในเมื่อคนเขียนไม่ถูกดำเนินคดี บรรณาธิการก็ไม่ต้องรับผิด แต่คดีของสมยศศาลก็บอกว่าแม้พ้นผิดจากพ.ร.บ.การพิมพ์ฯ แต่ก็ไม่พ้นจากความผิดตามมาตรา112 อยู่ดี

สมยศบอกว่าการเลือกจะสู้คดีจะต้องสูญเสียรายได้และเงินเก็บที่มีทั้งหมดเพราะต้องเอามาสู้คดีทั้งที่รู้ว่าข้างหน้าศาลจะตัดสินว่าผิดแน่เพราะเขาก็ไม่ให้คุณประกันตัว ชีวิตพังหมด ครอบครัวเรียนมัธยมจนเรียนจบปริญญาตรีก็ไม่ได้ออกมาฉลอง  7 ปีออกมาครอบครัวก็หายไป อยู่บ้านเปล่าๆ  ยิ่งกว่าตัวเขาเอง ครอบครัวก็โดนผลกระทบด้วย คือที่ทำงานของคนในครอบครัวก็บอกว่าเป็นพวกล้มเจ้าจนต้องออกจากงาน

สมยศบอกอีกว่าในปี 2557 ทหารก็บุกไปที่บ้าน เอาคนในครอบครัวของเขาเข้าค่ายทหารแล้วให้ครอบครัวเซ็นยินยอมว่าจะไม่มาเยี่ยมเขาอีก

สมยศยังเล่าถึงการต้องปรับตัวหลังออกจากคุกว่าต้องใช้เวลาเป็นปี ไม่มีรายได้ไม่มีครอบครัวอยู่แล้ว ไม่ง่ายที่ต้องกลับมาใช้ชีวิตตั้งต้นที่ศูนย์ แค่ขับรถในกรุงเทพฯ ก็ยังหลงทางอยู่ เพราะเข้าไปออกมาแล้วทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปมาก เขายังไปสมัครงาน ก็ได้งานทำงาน 3 วันก็ได้เงินวันละเกือบ 2,000 บาท แต่พอเช็คประวัติก็ถูกยกเลิกงาน แล้วก็ยังโดนตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปอีก 10 ปี

สมยศกล่าวต่อว่า เขาได้ทราบจากไผ่ว่าในการต่อสู้คดีผู้พิพากษาได้ตัดสินในปรมาภิไธยเป็นตัวแทนของกษัตริย์ แล้วเมื่อไผ่และพริษฐ์เป็นจำเลยในคดีนี้มีข้อพิพาทกับกษัตริย์แล้วอย่างนี้ศาลจะตัดสินอย่างไร แล้วถ้าสู้คดีกันแล้วต้องการเบิกกษัตริย์มาเป็นพยานในคดีว่าสิ่งที่ทำเป็นการดูหมิ่นอย่างไรศาลจะออกหมายเรียกกษัตริย์มาได้หรือไม่ ซึ่งเขาเห็นว่าจะผู้ที่ถูกดำเนินคดีจะได้รับความเป็นธรรมอย่างไรในเมื่อผู้เสียหายจากการถูกพาดพิงไม่มาชี้แจงเอง

สมยศเล่าสิ่งที่เกิดกับตนระหว่างถูกดำเนินคดีอีกว่าก็ยังไม่ได้แย่มากเพราะมีคนคอยติดตามทำข่าว แต่เมื่อเขาได้ไปเห็นอากง (อำพล ตั้งนพกุล) นักโทษคดีมาตรา 112 และคนอื่นๆ ที่อยู่มาก่อนเขาแล้วมีทั้งการถูกผู้คุมสั่งให้ทำงานในเรือนจำ ซึ่งกรณีอย่างอากงก็ต้องทำทั้งที่อายุมากแล้วหรือบางคนก็ถูกเร่งเอาชิ้นงานทุกวัน สำหรับเขาแม้ว่าจะไม่ถูกสั่งให้ทำงานแต่ต้องไปขึ้นศาลในต่างจังหวัดด้วยแล้วทำให้ต้องย้ายเรือนจำ ซึ่งทุกครั้งที่ย้ายก็ต้องถูกตรวจร่างกายใหม่ถูกสั่งให้แก้ผ้ายืนเรียงแถวตรวจพร้อมกันและสภาพในเรือนจำก็แออัดมาก อีกทั้งเขายังติดวัณโรคในเรือนจำแต่หมอก็ไม่เชื่อ เป็นโชคดีระหว่างที่ติดคุกอยู่ก็เปลี่ยนรัฐบาลพอดีก็ได้ย้ายกลับมากรุงเทพฯ ทำให้ได้รับการรักษาจนหายได้รับการดูแลดีขึ้นก็ทำให้รอดชีวิตมาได้ แม้จะไม่ได้ช่วยคดีแต่ก็ไม่ทำให้ชีวิตมันลำเค็ญเกินไป

สมยศกล่าวว่าถ้าจะมีบทเรียนฝากถึงคนที่กำลังสู้อยู่ก็คือต้องสู้มากๆ

“วันนี้ผมชอบใจแนวร่วมธรรมศาสตร์มาก โดนคดีหมิ่นก็จะหมิ่นต่อไป ก็ทำไงได้ จริงๆ ไม่ควรใช้คำว่าหมิ่น แต่มันคือความคิดเห็นที่มีต่อองค์พระประมุข มันคือความคิดเห็นที่มีต่อองค์กรของรัฐ เขาเป็นบุคคลสาธารณะ เขากินเงินภาษีพวกเรา เขาก็ต้องถูกวิจารณ์ได้ พระพุทธเจ้าเขาอยู่มา 2500 ปี เขาไม่มีมาตรา 112 เลย เขาอยู่ได้ยังไง ใครดูหมิ่นพระพุทธองค์ยิ้มตลอดไปดูพระพุทธรูปทุกองค์ เขาไม่ได้โกรธเคืองไม่ได้อะไรเลย แล้วถ้าคุณจะไม่นับถือศาสนาพุทธ พระองค์ท่านก็ไม่เคยว่ามาชังชาติหรืออะไร” สมยศกล่าวทิ้งท้าย

ทางแพร่งของสถาบันกษัตริย์

พริษฐ์ ชีวารักษ์ บอกว่าตอนนี้ตนเองมีคดีข้อหาตามมาตรา 112 ทั้งหมด 8 คดี ก็เริ่มจากเล่าถึงการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ล่าสุดว่า ปกติแล้วคนที่โดนคดีด้วยกันบ่อยๆ ก็มีรุ้ง ไมค์ และทนายอานนท์ แนวของพวกเขาก็คือไม่เซ็นชื่อยอมรับเพราะว่าไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการศักดินา จนล่าสุดที่ไปสภ.เมืองนนทบุรีแล้วเมื่อวานก็ไป ปอท.ตำรวจเขาก็ถามว่าวันนี้จะไม่เซ็นอีกใช่ไหม พวกเขาก็คิดว่าถ้าไม่เซ็นอีกก็ดูจะเข้าทางเขาอีก ก็เลยเซ็นว่า “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ”

พริษฐ์กล่าวว่ามาตรา 112 ไม่ใช่กฎหมายทั่วไปแบบคดีลักวิ่งชิงปล้น แต่ 112 เป็นคดีนโยบายคือว่านายสั่งมาเขาก็ทำตามนายสั่ง และที่ทำให้เขามั่นใจว่าคดีนี้เป็นคดีนโยบายเพราะมีคดีจากการชุมนุมเมื่อ 19 ก.ย.2563 ที่เขาถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นไปก่อนตามมาตรา 116 แล้ว จนอีก 4 เดือนต่อมาถึงมีการออกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเป็นมาตรา 112 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากพล.อ.ประยุทธ์บอกว่าให้ใช้กฎหมายทุกมาตรา

พริษฐ์บอกว่าคดีลักษณะนี้เป็นการดำเนินการไปตามคำสั่งนายที่เดี๋ยวก็ตั้งเพิ่มหรือจะถอนออกก็ได้เป็นการทำตามใบสั่งไม่ได้เป็นตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรูปแบบการใช้ 112 ก็เหมือนกับที่ศศินันท์ว่าไว้ คือในช่วงก่อนการสวรรคต ช่วง ร.9 เป็นช่วงที่สถาบันฯ มีความนิยมสูงมากไม่มีใครวิจารณ์จึงมีการฉวยโอกาสในการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เป็นจำนวนมาก ซึ่งตอนนั้นเขาเองยังอยู่เรียนอยู่มัธยม 5 หลังจากไปชูป้ายให้พล.อ.ประยุทธ์ กลับบ้านมาก็ต้องมาดูหน้าเฟซบุ๊กตัวเองว่ามีอะไรที่จะทำให้เกิดปัญหาบ้างจนต้องปิดเฟซบุ๊กหนีก่อนเปิดกลับขึ้นมาใหม่ ซึ่งตอนนั้นยังมีบรรยากาศของความกลัวอยู่ แต่พอเปลี่ยนรัชกาลทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

พริษฐ์กล่าวต่อว่า ต้องยอมรับว่าเมื่อมีการเปลี่ยนเป็นรัชกาลปัจจุบันไม่ได้รับความนิยมเหมือนก่อนและเหมือนรู้ตัวเองดีก็เลี่ยงไม่ใช้ 112 แต่ปัญหาของการใช้มาตรา 112 ก็รู้กันทั่วโลกจากกรณีสมยศทำให้เขาก็ไม่กล้าใช้ จนรอบนี้ก็เอากลับมาใช้อีกแต่ก็ยังไม่เต็มที่ มีการเลี่ยงไปใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ บ้างหรือมาตรา 116 บ้าง เพราะการใช้มาตรา 112 บ่อยๆ ทำให้คนรู้แนวโน้มการใช้ จึงมีการใช้กฎหมายอื่นแทนและทำให้ประเทศไทยถูกประณามจากหลายประเทศ

พริษฐ์สรุปความน่ากลัวของมาตรา 112 ว่า ในอดีตเป็นกฎหมายที่น่ากลัวมาก เขาเล่าว่าเคยคุยกับเพื่อนรุ่นพี่ที่เขาก็บอกว่าตอนนั้นโดนคดีอะไรก็ได้ แต่ 112 ขอไม่สู้ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นปี 58-59 หรือก็คือยังไม่ผลัดแผ่นดิน แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่าใครโดนข้อหานี้ก็แข่งกันว่าใครโดนเยอะกว่า ซึ่งสะท้อนถึงบรรยากาศที่เปลี่ยนไป ทั้งที่เป็นกฎหมายตัวเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยน แต่ความน่ากลัวไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมายของมันเอง แต่อยู่ที่บารมีและความนิยมและอำนาจของสถาบันกษัตริย์โดยตรงเพราะเป็นการลงโทษในนามของกษัตรยิ์ ซึ่งเป็นคดีอื่นคงอ้างว่าเป็นไปเพื่อความยุติธรรม ความสงบความปลอดภัย

“ถ้าเอาหมายทั้งหมดโดยเฉพาะ 112 ถ้าแจกเหรียญคนได้หมายคนละอัน ตัวผมเองคงได้มากกว่าพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” พริษฐ์กล่าวเปรียบเปรยสถานการณ์ที่เกิดกับพวกเขา แต่เขาก็บอกว่าถ้าเป็น 2558 คงไม่เป็นแบบนี้เมื่อใครสักคนโดนข้อหานี้ก็คงต้องหาทางป้องกันตัวเองกัน แต่ตอนนี้เขาไม่สนแล้ว เพราะตัวอำนาจความยำเกรงที่ทำให้คนเขากลัวต่อสถาบันกษัตริย์น้อยลงมากไม่เหมือนรัชกาลก่อน และมาถึงจุดที่สถาบันกษัตริย์ไม่ถูกวิจารณ์ไม่ถูกตรวจสอบใครพูดก็ติดคุก ทำให้นานเข้าก็อยู่ในห้องเสียงสะท้อนของตัวเองด้วยเสียงชื่นชมจากคนส่วนน้อย แล้วถึงจุดที่เสื่อมจนไม่มีใครทนได้แม้แต่รอยัลลิสต์เองที่ก็รับไม่ได้กับพฤติกรรมส่วนตัวของกษัตริย์

พริษฐ์ย้อนเหตุการณ์ให้ฟังถึงประเด็นการพูดประเด็นสถาบันกษัตริย์ในม็อบหลายครั้งที่ผ่านมาว่า นับตั้งแต่ 3 สิงหาคมที่อานนท์ นำภาไปพูดที่ม็อบแฮรี่ พอตเตอร์แล้วก็ยังถูกพูดถึงอีกในม็อบต่อๆ มา ทำให้เกิดการยกระดับการพูดจากตอนสมัยที่เขาอยู่มัธยมที่แค่วิจารณ์รัฐบาลยังต้องคิดแล้วคิดอีก แต่ตอนนี้ก็ข้ามจุดนั้นไปแล้วซึ่งคนก็กล้ามากขึ้น ตอนนี้ไม่มีใครต้องซุบซิบนินทาแล้ว ซึ่งก็จะเห็นว่าสถาบันกษัตริย์เสื่อมลงแล้วเพดานการพูดก็สูงขึ้นทำให้มาตรา 112 จากเดิมที่เคยเป็นดาบใช้ฟาดฟันคนเห็นต่างก็กลายเป็นเหมือนตัวที่ตั้งไว้คนมาหัวเราะทั้งในและนอกประเทศ และเมื่อมาตรา 112 ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในช่วงที่ประชาชนเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์โดยตรงทำให้สังคมโลกได้เห็นว่าท่าทีของกษัตริย์ต่อประชาชนเป็นอย่างไร

พริษฐ์กล่าวเปรียบเปรยว่าสถานการณ์ตอนนี้เหมือนกับการขับรถมาเจอสามแยก ถ้าเลี้ยวซ้ายไปคือการปฏิรูป เลี้ยวขวาไปคือการปฏิวัติ ตอนนี้ขบวนการราษฎรได้สร้างแยกนั้นมาคือตั้งโจทย์ว่าคุณต้องการปฏิรูปที่ๆ เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อจะยังดำรงอยู่หรือจะปฏิวัติซึ่งก็คือล้มล้าง ประเทศไทยกำลังต้องตัดสินใจว่าจะเลี้ยวไปซ้ายหรือขวา ราษฎรเป็นเหมือนเครื่องยนต์ที่วิ่งไป แต่คนที่ต้องตัดสินใจว่าจะหักพวงมาลัยเลี้ยวไปทางไหนคือตัวสถาบันกษัตริย์ ที่ผ่านมาการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในนานาประเทศ ประชาชนก็เป็นคนตั้งโจทย์โดยออกมาเรียกร้อง แต่คนที่ทำให้การปฏิรูปได้สำเร็จไม่เคยเป็นประชาชนแต่เป็นสถาบันกษัตริย์ที่ยอมปฏิรูปตัวเอง แล้วประเทศไหนที่ไม่ปฏิรูปตัวเองก็โดนโค่นล้มแบบฝรั่งเศส แต่อย่างประเทศอังกฤษที่สถาบันกษัตริย์รู้ตัวว่าต้องปรับตัวตอนนี้ก็ยังคงอยู่

พริษฐ์บอกว่าการต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยในอดีตเท่าที่เขาทันเห็นคือ คนตั้งโจทย์ในการต่อสู้เป็นฝ่ายรัฐมาตลอด เช่น ตอนรัฐประหาร 2557 ก็ให้เราเป็นฝ่ายเลือกว่าจะออกมาต้านรัฐประหารหรือไม่ 2559 เขาก็ตั้งโจทย์เรื่องการทำประชามติขึ้นมาว่าเราจะสู้หรือไม่สู้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องหาคำตอบ แต่วันนี้เกมเปลี่ยนเพราะเราเป็นคนตั้งโจทย์ว่าสถาบันกษัตริย์และเผด็จการศักดินาจะต้องเลือกว่าจะปฏิรูปหรือไม่ แต่พริษฐ์เองก็ไม่แน่ใจว่าการแจกคดีมาตรา 112 นี้จะเป็นคำตอบของเผด็จการศักดินาหรือไม่ จะยอมปฏิรูปตัวเองหรือไม่

พริษฐ์ยังบอกอีกว่าการกลับมาของมาตรา 112 นี้ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราษฎร เพราะทำให้ทุกคนได้รู้จักกับมันและเป็นเหมือนการสาธิตให้กับคนสังเกตการณ์จากข้างนอกว่ากฎหมายมาตรานี้เลวร้ายอย่างไร เพราะหลายคนก็ไม่ทันเห็นการใช้ในยุคก่อนหน้านี้ที่ใช้กันอย่างมากในตอนที่พวกเขายังเด็ก แต่การกลับมาครั้งนี้เป็นเหมือนการชักดาบที่ด้านแล้วออกมาทำให้เห็นหน้าตาของดาบชัดเจนมากขึ้นแล้วก็ได้เห็นด้วยว่ามันด้านแล้ว ถ้าจะหักก็หักง่ายขึ้น และสำหรับคนที่เคยบอกว่ากษัตริย์มีความเมตตาเขาไม่ใช้แล้วจะพูดถึงกฎหมายนี้อีกทำไม พวกเขาก็จะได้เห็นว่ามันถูกเอากลับมาใช้อีกแล้ว ทำให้การเคลื่อนไหวของราษฎรเดินไปต่อได้ไม่สิ้นสุด

พริษฐ์บอกว่า ขบวนการของราษฎรเป็นการพูดอย่างถึงรากถึงแก่น ที่เผด็จการศักดินาเอามาตรา 112 มาใช้ตอนนี้เหมือนเป็นการประจานแก้ผ้าให้คนทั้งโลกดูโดยที่เราไม่ต้องพูดเองเลย เขารู้สึกขอบคุณที่เอามาตรา 112 มาแสดงให้ดู เพราะที่ผ่านมาต้องอธิบายว่ามันแย่อย่างไร มีปัญหาอย่างไร การอธิบายด้วยคำพูดอย่างเดียวก็ไม่เข้าใจ แต่เมื่อมีการใช้จริงๆ ก็ทำให้สังคมมีฉันทามติว่ามันมีปัญหาจริงๆ และการนำกลับมาใช้ครั้งนี้ก็ไม่สามารถสร้างความหวาดกลัวได้อีกแล้วและยังกลายเป็นเรื่องน่าขบขัน และเขาเชื่อว่าสถานการณ์การเมืองตอนนี้ประชาชนก็ไม่เหมือนเมื่อก่อน การเคลื่อนไหวจะไม่สิ้นสุดเพราะการเคลื่อนไหวไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนใดคนหนึ่ง แล้วการจับด้วยความไม่ยุติธรรมจะทำให้คนออกมามากขึ้น ประชาชนไม่ยอมถอยแน่นอน

พริษฐ์กล่าวถึงการดันเพดานครั้งนี้ว่า การต่อสู้ทุกวันนี้มีที่มาจากประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็มีกฎหมายเพื่อปิดกั้นเสรีภาพ หลัง 2475 ก็มีการออกกฎหมายที่คล้ายมาตรา 112 แต่ตอนนั้นเรียกว่าพ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ที่ไม่ชอบหน้าใครก็จับไปขัง แล้วต่อมาก็มีมาตรา 112 ใครถูกกล่าวหาว่าล้มเจ้าก็เอาไปขัง ตราบใดที่ยังมีเผด็จการศักดินาก็จะมีปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นตลอด และทุกการปิดกั้นก็มีการต่อสู้แล้วการต่อสู้ก็ถูกส่งไม้ต่อมาเรื่อย หากไปอ่านคำปราศรัยทางการเมืองในสมัย 2475 เป็นต้นมา คำอภิปรายในสภาก็มีการพูดถึงคำว่าศักดินากันมาตลอด เราจึงถือว่าภารกิจในการต่อสู้ก็ถูกโยนต่อมาจาก 2475 ผ่านคนเดือนตุลาฯ ผ่านเหตุการณ์ปี 53 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้สังคมไทยตกตะกอนทางความคิด

พริษฐ์บอกว่า ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทั้ง 10 ข้อ ก็เป็นการตกผลึกมาจากข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเคยกล่าวไว้ ถ้าวันนั้นสมศักดิ์ไม่พูดไว้ก็อาจจะไม่มีข้อเสนอ 10 ข้อ หรือการเสนอยกเลิกมาตรา 112 ก็ต้องยกความดีให้กับนิติราษฎร์ด้วยที่ตอนนั้นเสนอให้แก้ไข ตอนนี้พอสถานการณ์งวดขึ้นทำให้จากข้อเสนอ 7 ข้อของสมศักดิ์กลายเป็น 10 ข้อ จากการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ก็กลายเป็นยกเลิก เขาเชื่อว่าความคิดสามารถทำงานด้วยตัวเองได้ ดังนั้นการพังเพดานครั้งนี้พวกตนก็ไม่ใช่กลุ่มคนแรกที่ผลักเพดาน แต่ก่อนหน้านี้ก็มีทั้งดา ตอร์ปิโด แล้วก็มีคนอีกมากมาย การที่เราเลือกพังเพดานก็เพราะคำนวณอย่างดีแล้ว ก็ได้เห็นกระแสสังคมก็เปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้การยกเลิก 112 จะติดเป็นเทรนด์แฮชแท็กอันดับหนึ่ง และยังมีอีกมากมายหลายอย่างที่พูดไม่จบ

พริษฐ์ยังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของผู้ลี้ภัยที่ออกมาเคลื่อนไหวเปิดหน้า ยกระดับในการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้จุดไฟให้กับคนในประเทศด้วย คนในทวิตเตอร์ คนที่สู้มาก่อนหน้าก็ส่งไม้ต่อมาทำให้เขานิ่งดูดายไม่ได้ แล้วในการประท้วงป้ายที่ออกมาก็เป็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ทั้งสิ้น มันเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าประเทศนี้เป็นอย่างไร ดังนั้นจึงมาจากการปูทางที่ผ่านมาจากอดีตและคนหลายคนทำให้พวกเขาพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ได้อย่างเปิดเผยถึงขนาดเอ่ยชื่อของรัชกาลที่ 10 บนเวทีชุมนุมได้ปกติธรรมดา และพริษฐ์กล่าวทิ้งท้ายว่า

“ไอแซค นิวตันเคยกล่าวว่าความสำเร็จของเขายืนอยู่บนบ่าของยักษ์ ยักษ์คือคนที่ปูทางเอาไว้ให้ก่อน ผมเองก็เหมือนกัน พวกเราที่พูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ตอนนี้เรายืนอยู่บนบ่าของยักษ์ ยักษ์ที่ว่าก็คือคนอย่างพี่สมยศ คนอย่างพี่ดา ตอร์ปิโด คนเดือนตุลาฯ อาจารย์ปรีดี หรือเทียนวรรณในยุครัชกาลที่ 5 ทุกคนเป็นคนที่ปูทางนำมาสู่การดันเพดานในปัจจุบัน ต้องขอขอบคุณผู้กล้าในยุคนั้นทุกคน”


ไม่มีประเทศที่เจริญแล้วยังใช้กฎหมายปิดปากคน

เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นักศึกษารัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เล่าถึงเหตุที่ทำให้ตนเองโดนคดีว่าจากเรื่องที่ไปพูดที่หน้ารัฐสภา แล้วเหตุที่ไปพูดก็เพราะเห็นสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ทำตัวให้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยจริงก็เลยไปพูดเรื่องรัฐธรรมนูญกับสถาบันกษัตริย์ เขาจำได้ว่าข้อกล่าวคือ สถาบันกษัตริย์โดยหลักประชาธิปไตยแล้วทรงปกเกล้าแต่ไม่ได้ปกครอง แต่ปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนั้น แล้วในใบที่เขาแจ้งข้อหาก็บอกว่าเขาจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ทั้งที่แค่พูดเรื่องหลักสากลทั่วไป

เกียรติชัยบอกว่า ตอนแรกเขาโดนมาตรา 116 ก่อน แล้วก็มีมาตรา 112 ตามมา แต่นอกจากเรื่องคดีแล้ว ตอนนี้เขายังถูกพ่อกับแม่ขู่ตัดออกจากครอบครัวแล้วก็โดนไล่ออกจากบ้าน ซึ่งพ่อแม่ของเขาบอกกับเขาว่าถ้าอยากรอดไม่โดนอะไร ต้องหยุดเคลื่อนไหวแต่เขาบอกว่าหยุดไม่ได้เพราะมาขนาดนี้แล้วก็ต้องสู้เพื่อพี่น้องประชาชนต่อ ครอบครัวเขายังบอกว่าถ้าหยุดเราอาจกลับมาคุยกันเหมือนเดิม แต่ไม่เป็นไร คือผมก็ยังรักเขาเหมือนเดิม

เกีรยติชัยยืนยันจะต่อสู้จนกว่าชนะและทำให้เขาเห็นว่าสิ่งที่ผมสู้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด พ่อแม่พยายามบอกว่าสิ่งที่เขาทำไม่ถูกต้องและจะหมดอนาคต แต่ถ้าผมไม่สู้ตอนนี้เขาคิดว่าก็คงหมดอนาคตตั้งแต่ตอนนี้ แต่กียรติชัยก็ยอมรับว่ากลัวบ้างเพราะยังเป็นนักศึกษาและยังต้องเรียน ถูกพ่อแม่ตัดขาดแบบนี้ก็ไม่รู้จะใช้ชีวิตอย่างไร แต่เขาคิดว่าชีวิตมันก็คงมีทางออกเสมอ และให้หยุดคงไม่ได้จริงๆ

เกียรติชัยบอกว่ามีความฝันอยากเป็น ส.ส.อยากพัฒนาประเทศ แต่ถ้าการโดนมาตรา 112 แล้วเป็นอาชีพที่อยากเป็นไม่ได้แล้วก็ไม่เป็นไร เขาก็จะยังไม่หยุดและไม่ได้กลัวมาตรา 112 เลยเพราะเปรียบได้กับปริญญาประชาธิปไตย และไม่กลัวกฎหมายล้าหลัง ป่าเถื่อนนี้

เกียรติชัยบอกว่าเป็นเรื่องเข้าใจง่ายๆ ว่าสถาบันกษัตริย์ก็ใช้ภาษีเหมือนกัน และไม่ใช่เจ้าของประเทศ ที่สำคัญคือประเทศเป็นของประชาชน สถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะมาจากการเลือกตั้ง แต่สถาบันกษัตริย์กลับมาจากการสืบสายเลือด

เกียรติชัยกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ของไทยที่ผ่านมาว่ามีข้อครหามากมาย ทั้งการเลือกที่จะอยู่ใกล้ชิดกับรัฐบาลที่ทำร้ายนักศึกษาใน 6 ตุลาฯ และยังสนิทกับสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่โกงกินบ้านเมือง ทำให้ต้องตั้งคำถามได้ว่าสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองจริงหรือไม่ และยังมีกรณี 53 ที่มีการพูดถึงกระสุนพระราชทานอีก โดยที่สถาบันกษัตริย์ไม่ได้ออกมาชี้แจงอะไรเลยแต่กลับมีการใช้กฎหมายมาตรา 112 ในการดำเนินคดีกับคนวิจารณ์แทน แล้วสรุปว่าสถาบันกษัตริย์ที่ถูกเชิดชูอยู่ทุกวันนี้ผิดจริงๆ หรือไม่ แล้วถ้าวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ไม่ได้เราก็จะไม่รู้เลยว่างบประมาณ 37,000 ล้านบาทมีไปทำไม แล้วการมีซุ้มเฉลิมพระเกียรติราคาเป็นล้านมีไปทำไม ทำไมสถาบันกษัตริย์จึงมีสถานะพิเศษ และไม่สามารถพูดกันได้อย่างเปิดเผย

เกียรติชัย บอกว่าเราไม่ได้อยู่ในสังคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ทำไมการผ่านงบประมาณถ้าทำในนามของสถาบันกษัตริย์จะทำให้ผ่านงบง่ายขึ้น แต่การทำงบอะไรที่เกี่ยวกับประชาชนถึงมีปัญหามากมาย แล้วถ้ามีมาตรา 112 เราพูดไม่ได้เลยว่าทำไมกษัตริย์ถึงไปประทับในเยอรมัน ทำไมการใช้มาตรา 112 ต้องขึ้นอยู่กับสถาบันฯ อย่างที่พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าพระองค์ทรงมีเมตตา แสดงว่าประชาชนไม่มีความหมายเลยใช่หรือไม่ กษัตริย์บอกไม่ให้ใช้ก็ไม่ใช้ แล้วตอนนี้ที่ใช้ก็เพราะกษัตริย์สั่งใช่หรือไม่

เกียรติชัยกล่าวเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่เจริญแล้วว่าจะไม่มีกฎหมายปิดกั้นประชาชนแบบนี้ เช่น ในประเทศอังกฤษไม่มีกฎหมายหมิ่นมาแล้ว 137 ปี ญี่ปุ่นก็ไม่มีกฎหมายนี้ตั้งแต่ค.ศ. 1947 เดนมาร์คมีมาตรา 115 มีโทษปรับจำคุกไม่เกิน 8 แต่เขาก็ไม่ใช้อีกเลย เนเธอร์แลนด์มีมาตรา 11 มีโทษไม่เกิน 5 ปี จน 2007 มีคนไปด่าราชินีว่ากะหรี่ก็โดนแค่ปรับเงิน 400 ยูโร ประเทศที่เจริญแล้วจะไม่เอากฎหมายมาปิดปากคน เขาให้ประชาชนมีเสรีภาพ ประเทศที่ไม่เจริญก็จะปิดกั้นำไม่ให้คนแสดงความเห็น หรือหากเทียบกับเพื่อนบ้านแล้วของไทยมีโทษสูงสุดในอาเซียน บรูไนยังมีแค่ 3 ปี

“ถ้าอยากให้ประเทศเจริญขึ้น เราต้องยกเลิก 112 เราต้องมีเสรีภาพในการพูดว่าเราต้องการอยู่ในสังคมแบบไหน เราสามารถพูดได้ว่าเราอยากอยู่ในราชอาณาจักร หรืออยู่ในสาธารณรัฐ ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย สุดท้ายแล้วคุณไม่ต้องการอยู่ในราชอาณาจักร คุณก็โหวต ก็สู้กันตามระบบเลย แต่อันนี้คุณไม่เปิดหนทางให้เราพูดเลย คุณมีแต่ยัดคดี ถ้าเราอยู่ในสังคมที่มีเสรีภาพทางความคิดทางการพูด เราไม่อาจอยู่ได้โดยมีมาตรา 112” เกียรติชัยสรุป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net