Skip to main content
sharethis

คาฟลาโอเวด (Kavlaoved Agriculture) องค์กรช่วยเหลือแรงงานต่างชาติในอิสราเอล เผยผลสำรวจพบที่พักของแรงงานไทยในภาคการเกษตร มีลักษณะไม่ตรงตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด


ที่มาภาพ: Kavlaoved Agriculture

17 พ.ย. 2563 คาฟลาโอเวด (Kavlaoved Agriculture) องค์กรช่วยเหลือแรงงานต่างชาติในอิสราเอล เปิดเผยว่าภายหลังที่คาฟลาโอเวดได้จัดทำ แบบสำรวจเรื่องที่พักของแรงงานไทยในอิสราเอล คาฟลาโอเวดได้เผยแพร่รายงานฉบับนี้ต่อสาธารณะ ดังนี้

แบบสำรวจขององค์กรคาฟลาโอเวด: ที่พักของแรงงานไทยในภาคการเกษตรมีลักษณะไม่ตรงตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด

ก่อนอื่นต้องขออธิบายว่า นายจ้างในภาคการเกษตรที่ว่าจ้างแรงงานต่างชาติจากประเทศไทยต้องจัดหาที่พักที่มีสภาพตามที่กฎหมายกำหนด โดยเงื่อนไขทั้งหมดนี้มีระบุไว้ใน 'กฎระเบียบว่าด้วยแรงงานต่างชาติ' ในกฎระเบียบดังกล่าวยังได้อธิบายข้อกำหนดขั้นต่ำสำหรับที่พักอาศัยของแรงงานต่างชาติ รวมถึงระบุด้วยว่าแรงงานจะถูกหัก 10 เปอร์เซ็นต์จากเงินเดือนไปดเป็นค่าที่พักและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง

แม้ว่าแรงงานจะต้องจ่ายค่าที่พักอาศัย คนงานส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าลักษณะที่พักอาศัยที่ตนเองมีสิทธิ์ได้รับ คาฟลาโอเวดจึงได้จัดทำแบบสำรวจสองเชิงเปรียบเทียบขึ้นมา

ในแบบสำรวจเราเขียนอธิบายว่าที่พักที่แรงงานมีสิทธิ์ได้รับตามกฎหมายเป็นอย่างไร และถามแรงงานว่าในความเป็นจริงแล้วแรงงานได้รับที่พักในลักษณะนี้หรือไม่

มีแรงงานเข้าร่วมตอบแบบสอบถามโดยละเอียดทั้งหมด 178 คน ผลการสำรวจมีดังนี้

ข้อกำหนด: ที่พักจะต้องมีอากาศถ่ายเท มีการติดตั้งระบบทำความร้อนและต้องใช้งานได้ในสภาพอากาศและในฤดูกาลที่จำเป็น

ในความเป็นจริง: 56.2% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าที่พักของพวกเขาไม่ได้ติดตั้งระบบทำความร้อน 52.8% ตอบว่าพวกเขาไม่มีเครื่องปรับอากาศ

ข้อกำหนด: แรงงานทุกคนจะต้องได้นอนหลับพักผ่อนในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 4 ตร.ม.

ในความเป็นจริง: แรงงาน 52.8% ตอบว่าพวกเขาได้รับการจัดสรรให้นอนในพื้นที่ที่แคบกว่านั้น

ข้อกำหนด: ภายในอาคารจะตัองมีน้ำดื่มให้ในปริมาณที่เพียงพอ

ในความเป็นจริง: 43% ของแรงงานบอกว่าพวกเขามีน้ำดื่มไม่เพียงพอ

ข้อกำหนด: ต้องมีการจัดหาที่นอน หมอน ผ้าห่มให้แก่แรงงาน

ในความเป็นจริง: แรงงาน 52.1% ไม่ได้รับอุปกรณ์เครื่องนอนเลยแม้แต่อย่างเดียว หรือได้รับไม่ครบ

ข้อกำหนด: แรงงานแต่ละคนจะต้องมีตู้เสื้อผ้าเป็นของตนเอง หรือพื้นที่บางส่วนในตู้สำหรับจัดเก็บเสื้าผ้าของตนเอง

ในความเป็นจริง: 68.5% ไม่มีตู้เสื้อผ้า 87.5% มีที่จัดเก็บเสื้อผ้าแต่ไม่สามารถล็อกได้

นอกจากนี้ แรงงานครึ่งหนึ่งที่ตอบแบบสอบถามนี้ยังระบุอีกว่าพวกเขาไม่มีตู้เก็บของในห้องครัว ไม่มีอุปกรณ์ช้อนส้อมที่เพียงพอ หรือไม่มีพื้นที่สำหรับนั่งรับประทานอาหาร 42.9% ไม่มีน้ำร้อนให้ใช้ตลอดเวลา 52% ระบุว่าห้องสุขาและห้องอาบน้ำใช้การไม่ได้ตามปกติ 36.2% บอกว่าที่พักไม่เชื่อมต่อกับท่อระบายน้ำ 33.1% บอกว่าระบบประปาไม่สามารถใช้การได้ตามปกติ

สำหรับข้อร้องเรียนอื่น ๆ ที่แรงงานยกขึ้นมา ได้แก่ ต้องพักอาศัยในตู้คอนเทนเนอร์ ไม่มีระบบระบายอากาศ หรือหน้าต่าง ไม่สามารถล็อกห้องพักได้ สภาพแวดล้อมบริเวณที่พักไม่ปลอดภัย และอื่นๆ อีกมากมาย

คาฟลาโอเวด ระบุว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราเลย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันและทุกเวลา รัฐบาลอิสราเอลแทบไม่ได้บังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิ์ของแรงงานเหล่านี้เลย แรงงานเหล่านี้ถูกมองข้ามไปโดยสิ้นเชิง บ่อยครั้งที่พวกเขาทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมงอาบเหงื่อต่างน้ำเพื่อผลิตอาหารให้พวกเรา แต่กลับไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมถึงที่พักที่เหมาะ

206 แรงงานไทย เดินทางไปทำงานภาคเกษตรที่อิสราเอล

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา Thai PBS รายงานว่านายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานดำเนินการตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการส่งเสริมให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยมุ่งประโยชน์และคำนึงถึงความปลอดภัยของแรงงานไทยเป็นสำคัญ มีกระบวนการคัดเลือกที่โปร่งใสตั้งแต่การรับสมัคร การสัมภาษณ์ การทำสัญญาจ้าง และการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในอิสราเอล ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือน มิ.ย.2555 ซึ่งในแต่ละปี ประเทศไทยได้รับโควตาจัดส่งปีละ 5,000 คน และข้อมูลการจัดส่งจนถึงเดือน ก.ย.2563 มีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอลแล้ว 40,082 คน สร้างรายได้ให้ประเทศทั้งสิ้น 54,580 ล้านบาท

สำหรับการเดินทางไปทำงานภาคเกษตรในอิสราเอลภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน เป็นการดำเนินการหลังจากที่ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้เป็นอย่างดี ทำให้รัฐบาลอิสราเอลแจ้งความต้องการให้แรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตร 2,000 คน โดยกรมการจัดหางานได้เริ่มจัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2563 มีแรงงานเดินทางไปแล้ว 386 คน

ส่วนในวันนี้จะมีแรงงานเดินทางไปอิสราเอลอีก 206 คน ซึ่งตามแผนการจัดส่งที่วางไว้ คาดว่าจะสามารถจัดส่งแรงงานไทยได้ครบ 2,000 คน ภายในเดือน ม.ค.2564 โดยคนหางานจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำก่อนหักภาษี เดือนละ 5,300 เชคเกลอิสราเอล หรือประมาณ 48,073 บาทต่อเดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net