Skip to main content
sharethis

สปสช. เยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน จุดตรวจคัดกรอง Covid-19 อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ชื่นชมจัดวางระบบ การ์ดไม่ตก ส่งผล จ.อุดรธานี ปลอดผู้ติดเชื้อต่อเนื่องเป็นวันที่ 82 แล้ว ด้าน สปคม.เผยกลไกการเงินของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไทย เป็นปัจจัยสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี รวมถึงและการใช้เครื่องมือนโยบาย UCEP หรือ "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" ทำให้รองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ

25 มิ.ย. 2563 ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัด อุดรธานี นพ.วุฒิไกร ศักดิ์สุรกานต์ ที่ปรึกษา สปสช.เขต 8 อุดรธานี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงาน พร้อมมอบหน้ากากผ้ามีโลโก้ สปสช. เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน บุคลากรสาธารณสุข ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง องค์กรท้องถิ่น อสม. ณ จุดตรวจคัดกรอง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา  

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า แม้ในขณะนี้ประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มา 28 วันแล้ว แต่ทุกฝ่ายก็ยังร่วมมือร่วมใจกัน ตั้งด่านตรวจเตรียมพร้อมอย่างเข้มแข็ง ไม่ประมาท กรณีที่ด่าน อบต.หนองหาน ถือเป็นจุดเชื่อมต่อต่างประเทศ มีความเสี่ยงมาก แต่ด้วยความเข้มแข็งของผู้บริหารและทีมงาน ทำให้การคัดกรองการเข้าออกมีประสิทธิภาพสูง โดยขอชื่นชมในระบบคัดกรองของ จ.อุดรธานี  มีการประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน ทำให้ในพื้นที่ปลอดภัย ส่งผลให้ทั้งประเทศผ่านวิกฤตมาได้ แต่ขออย่าประมาท เพราะทั่วโลก และในเอเชียยังมีการระบาดระลอกสอง 

ธวัชชัยกล่าวว่า ช่วงการระบาดมากจังหวัดอุดรธานีได้มีคำสั่งจัดตั้งศูนย์บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 เพื่อติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหว แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19  และได้จัดตั้งจุดตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางขาเข้าจังหวัดอุดรธานี จำนวน 4 แห่ง ดังนี้ 1.ถนนอุดรธานี-สกลนคร หน้าบริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลหนองหาน อ.หนองหาน 2.ถนนอุดรธานี-ขอนแก่น หน้าบริเวณโรงพยาบาลโนนสะอาด อ.โนนสะอาด 3. ถนนอุดรธานี-หนองคาย บริเวณสามแยกเข้าอำเภอเพ็ญ ตำบลบ้านธาตุ อ.เพ็ญ และ 4.ถนนอุดรธานี-หนองบัวลำภู บริเวณหน้าโรงพยาบาลหนองวัวซอ อ.หนองวัวซอ เพื่อตรวจเข้มการเดินทางเข้าออกตั้งแต่ 22 มีนาคม  ที่ผ่านมา ผู้โดยสารทุกคนบนรถบัสทุกคันต้องลงจากรถผ่านระบบคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างเจล ทุกคน เพื่อให้คนคนมั่นใจว่าจะไม่มีผู้ป่วยโควิด-19

“การระบาดของโรคโควิด-19 มาถึงทุกวันนี้เราจะทำต่อไปเพื่อการ์ดไม่ตก ที่ผ่านมาไม่พบผู้ติดเชื้อแต่อาจมีไข้เราจะส่งตรวจโรงพยาบาลทันที เพราะไม่ประมาทจากที่ทั่วโลกมี การระบาดระลอก2 แล้วก็ตาม”รองผู้ว่าจังหวัดอุดรธานีกล่าว

ทั้งนี้สถานการณ์โควิด-19 ที่อุดรธานี (ข้อมูล 22 มี.ค. -24 มิ.ย. ) ไม่มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ จากการเฝ้าระวังผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงทั้งหมดจำนวน 45,461 คน ครบระยะกักตัว 14วันแล้ว 44,060 คน  คงเหลือกักอยู่ในState  quarantine จำนวน 401 คน

กลไกการเงินหลักประกันสุขภาพช่วยจัดสรรเตียง-พัฒนาแล็บ ปัจจัยไทยรับมือโควิด-19 ดี

นพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.)  กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กลไกทางการเงินของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทย กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 และการใช้เครื่องมือนโยบาย Universal Coverage for Emergency Patients (UCEP) หรือ "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" ทำให้รองรับกับผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอ

นพ.เอนก อธิบายว่า แม้ในช่วงแรกกลไกของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เดิมจะไม่มีการวางเรื่องของเคสโควิด-19 เอาไว้ เพราะเป็นเคสที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงแรกทางสถาบันบำราศนราดูร รวมถึงกรมการแพทย์ยังสามารถแบกรับภาระได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น จำนวนเตียงของทางภาครัฐที่มีไม่เพียงพอทำให้ผู้ป่วยต้องรอเตียงนาน 4-14 วัน

"เมื่อ สปสช.ผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่กลไก UCEP มีค่าใช้จ่ายเข้ามาสมทบ จากเตียงที่เคยหายากหรือหาไม่ได้ กลายเป็นมีอีกกว่า 1-2 พันเตียงที่เพิ่มเข้ามาจากภาคเอกชน เตียงที่เคยมีจำกัดกลายเป็นมีเหลืออย่างเพียงพอ และยังสามารถรองรับการระบาดระลอกสองที่อาจเกิดขึ้นได้" นพ.เอนก อธิบาย

เช่นเดียวกับในส่วนของการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาเชื้อโรค ซึ่งในช่วงแรกที่จำนวนห้องปฏิบัติการมีปริมาณจำกัด ทำให้คนเข้าถึงการตรวจได้น้อย แต่เมื่อมีการใช้กลไกการเงินเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาแล็บ ได้ช่วยกระตุ้นให้มีห้องปฏิบัติการเกิดขึ้นเพิ่มมากมาย ซึ่งแม้จะดูเหมือนการสูญเสียในช่วงแรก แต่ผลจากการลงทุนนั้นก็ช่วยให้บรรลุเป้าประสงค์ที่เพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก

นพ.เอนก กล่าวว่า ตัวอย่างเหล่านี้คือสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนของนโยบายทางการเงินที่มีอิทธิพลต่อโรคระบาด โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีความแยกส่วนของการจัดการ ทำให้ไม่สามารถสั่งการอะไรได้ แต่ด้วยกลไกทางการเงินที่สามารถจัดสรรได้ตามช่องทางเดิมที่มีอยู่ ทำให้ช่วยจัดการกับภาวะวิกฤตในครั้งนี้ได้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net