Skip to main content
sharethis

ศาลยกฟ้องคดีบริษัทฟาร์มไก่ ธรรมเกษตรฟ้องนาน วิน อดีตลูกจ้างในฟาร์ม และสุธารี วรรณศิริ อดีตเจ้าหน้าที่องค์กรฟอร์ตี้ฟายไรท์ ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทฯ เพราะจำเลยทั้งสองแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ทั้งนี้ยังมีคดีที่ธรรมเกษตรฟ้องลูกจ้าง นักสิทธิ นักข่าว อีกหลายคดีรวมแล้วกว่า 22 คน เพียงเพราะเข้าให้การต่อศาล หรือโพสต์ให้กำลังใจคนที่ถูกดำเนินคดี รวมถึงฟ้องสถานีโทรทัศน์เพราะรายงานข่าวถึงคดีที่บริษัทตัวเองไปฟ้องเอาไว้

8 มิ.ย.2563 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก มีนัดฟังคำพิพากษาคดีที่ ชาญชัย เพิ่มพล รับมอบอำนาจจากบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งเป็นโจทก์ในคดี ฟ้องนาน วิน อดีตลูกจ้างในฟาร์มเลี้ยงไก่ของโจทก์ ในจังหวัดลพบุรี เป็นจำเลยที่ 1 และนางสาวสุธารี วรรณศิริ อดีตเจ้าหน้าที่องค์กรฟอร์ตี้ฟายไรท์ เป็นจำเลยที่2

สรุปคำพิพากษาของศาลได้ว่า ชาญชัย เพิ่มพล ให้การว่าตนถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากการที่นานวิน จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์ในวิดีโอที่ทำขึ้นโดยฟอร์ตี้ฟายไรท์ และโพสต์ลงในเว็บไซต์ยูทูป จากนั้นสุธารีได้โพสต์ข้อความและลิงก์ของวิดีโอที่นานวินให้สัมภาษณ์ลงในทวิตเตอร์ของตน ซึ่งเป็นการใส่ความตนทำให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ซึ่งข้อความในวิดีโอไม่เป็นความจริง เพราะนานวินกล่าวว่าทำงานโดยไม่มีวันหยุดและต้องทำงานตลอดเวลา ซึ่งด้วยระบบการทำงานแล้วจะมีชั่วโมงมืดเพื่อให้ไก่ได้พักผ่อนเป็นช่วงพักเล้าทำให้นาน วินไม่ต้องทำงานตลอดเวลา นอกจากนั้นยังมีคำพิพากษาของศาลแรงงานยังระบุว่าการเข้าทำงานของนานวินและพวกในเวลา 19.00 น. ถึง 5.00 น. ของอีกวัน นั้นเป็นการทำงานตามที่มีข้อตกลงกับนายจ้างแล้ว

นอกจากนั้นชาญชัยยังให้การอีกว่า คำกล่าวของนาน วินที่ว่าหนังสือเดินทางถูกยึดเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของนาน วินและลูกจ้างอื่นๆ นั้น  กรมคุ้มครองแรงงานแถลงข่าวไว้ว่าไม่มีการยึดไว้และตามพ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าวก็ได้กำหนดให้ลูกจ้างที่ลงทะเบียนทำงานไว้กับสถานที่ใดก็ต้องทำงานในสถานที่นั้นหากไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนก็ไม่สามารถย้ายที่ทำงานหรือเปลี่ยนนายจ้างได้ โจทก์จึงไม่จำเป็นต้องยึดหนังสือเดินทางไว้ นอกจากนั้นนาน วิน ก็เดินทางออกนอกประเทศหลายครั้ง คำกล่าวอ้างของนาน วินจึงไม่เป็นความจริง

ฝ่ายจำเลยทั้งสองคนปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยนาน วินต่อสู้ว่าคำแถลงและที่ตนให้ัสมภาษณ์ไปนั้นเป็นความจริง โดยในการแถลงข่าวตนไม่ได้กล่าวถึงโจทก์ และ “เขา” ที่อยู่ในประโยค “เขาบังคับให้ลงชื่อ” นั้น หมายถึงตำรวจ ไม่ได้หมายถึงโจทก์ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ได้ตรวจสอบเรื่องนี้แล้วพบว่าตำรวจได้บังคับให้ลงชื่อจริง จึงหักล้างประเด็นฝ่ายโจทก์ได้ นาน วินจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

ส่วนที่นาน วินกล่าวถึงการทำงานในเวลากลางคืน เขาพูดหลังจากที่ศาลแรงงานมีคำพิพากษาที่รับรองว่าจำเลยต้องทำงานในเวลากลางคืนจริง โดยมีบัตรตอกเวลาเป็นหลักฐาน และการต้องระวังสัตว์อื่นไม่ให้เข้ามาในเล้าไก่ก็ทำให้ตนไม่สามารถนอนหลับได้สนิท จึงเข้าใจได้ว่าต้องทำงานตลอดเวลา และช่วงเวลาพักเล้าลูกจ้างก็ต้องตัดหญ้าและทำความสะอาดเล้าไก่ ศาลจึงรับฟังได้ว่านาน วินยังทำงานโดยไม่ได้หยุดพัก

ศาลระบุถึงประเด็นการยึดหนังสือเดินทางของลูกจ้างว่า กสม.พบว่ามีการยึดเอกสารไว้จริง แต่ไม่มีเจตนากักขังหน่วงเหนี่ยว และมีการหักเงินค่าจ้างเกิดขึ้นจริง คำกล่าวในวิดีโอสัมภาษณ์ของนาน วินจึงมีมูลความจริง

ดังนั้น ข้อเท็จจริงข้างต้นจึงเป็นเหตุให้นาน วิน เข้าใจได้ว่ามีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องกับตน การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ส่วนของสุธารี ศาลเห็นว่าข้อความที่เธอทวีตไม่ได้ระบุถึงโจทก์ และทวีตลิงก์ของวิดีโอที่กล่าวถึงเหตุกรณ์ทที่เกิดขึ้น ที่สุธารีสัมภาษณ์นาน วินด้วยตนเอง และเป็นข้อมูลที่รวบรวมมาจากคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน คำสั่ง กสม. และคำพิพากษาศาลแรงงาน จำเลยที่สองไม่ได้สร้างข้อมูลขึ้นเอง และสื่อมวลชนก็รายงานข้อเท็จจริงเหล่านี้เช่นกัน จึงถือเป็นการติชมที่เป็นธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

บริษัทเดียวฟ้องแรงงาน นักข่าวและนักสิทธิรวม 22 คน

นอกจากคดีที่ศาลพิพากษาในครั้งนี้แล้ว จากข้อมูลของสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) รายงานว่าตั้งแต่ปี 2559 บริษัท ธรรมเกษตร จำกัดได้ฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญากับแรงงาน นักสิทธิมนุษยชน นักข่าว รวมทั้งหมด 22 คน 38 คดี ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทบริษัทเป็นหลัก ทั้งนี้ไม่อาจทราบได้ว่าบริษัทธรรมเกษตรได้แจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ทั้งหมดกี่คดี แต่ในรายคดีเหล่านี้เป็นคดีที่มีการนำขึ้นพิจารณาต่อศาลแล้ว

คดีแรก เป็นคดีของอดีตลูกจ้างจำนวน 14 คน (นาน วินเป็น 1 ใน 14 คนนี้) ถูกบริษัทฟ้องต่อศาลแขวงดอนเมืองให้ดำเนินคดีด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และมาตรา 328 เพราะพวกเขาได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่าถูกละเมิดสิทธิโดยต้องทำงานร่วม 20 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่ได้หยุดประจำสัปดาห์และได้รับค่าจ้างเพียงวันละ 230 บาท นอกจากนั้นยังถูกยึดหนังสือเดินทางด้วย ทั้งนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่คดียังอยู่ระหว่างรออุทธรณ์

โทน โทน วิน(Tun Tun Win) เป็นอดีตลูก 1 ใน 14 คน ที่ธรรมเกษตรฟ้องเพิ่มอีกคดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 และ 328 ทั้งนี้หลังจากศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี เมื่อถึงวันนัดพิจารณาอีกครั้งเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2562 เขากลับไม่มาปรากฏตัวที่ศาลตามนัด ในเดือนต่อมาศาลจึงมีคำสั่งยึดเงินประกันและออกหมายจับ แต่ระหว่างนั้นในวันที่ 1 พ.ค.2562 บริษัทฟ้องเขาอีกคดีที่ศาลจังหวัดสระบุรีด้วยข้อหาให้การเท็จต่อศาลแรงงานแต่ศาลก็ต้องจำหน่ายคดีออกจากระบบศาลเนื่องจากไม่สามารถติดตามตัวมาดำเนินคดีได้

อีกทั้ง นาน วินก็ถูกธรรมเกษตรฟ้องเพิ่มอีกคดีที่ศาลจังหวัดสระบุรี ด้วยข้อหาให้การเท็จต่อศาล ตามมาตรา 177 ของประมวลกฎหมายอาญา แต่เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องเนื่องจากหลักฐานของทางบริษัทไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่านาน วิน ได้กระทำความผิดจริง

นาน วิน

นอกจากนั้นลูกจ้าง 2 ใน 14 คน คือ เย เย และซู หยัง ถูกบริษัทดำเนินคดีอีกเป็นคดีที่สอง ด้วยข้อหาร่วมกันลักบัตรตอกเข้างาน เบื้องต้นอัยการศาลลพบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้อง จากนั้นบริษัทได้เป็นผู้ฟ้องคดีเองกับทั้งสองคน ครั้งนี้บริษัทฟ้องสุธาสินี แก้วเหล็กไหล เจ้าหน้าที่ MRWN เพิ่มเข้ามาด้วยข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน แต่ภายหลังศาลลพบุรีไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งไม่รับฟ้องเนื่องจากเอกสารดังกล่าวถูกนำไปใช้เพื่อร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิและบริษัทมีหน้าที่ต้องส่งเอกสารให้แก่พนักงานตรวจแรงงานจังหวัดลพบุรีอยู่แล้วจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

ธรรมเกษตรยังมีการฟ้องดำเนินคดีกับสุธาสินีอีกครั้ง โดยครั้งนี้เธอถูกฟ้องร่วมกับนาน วิน ด้วยข้อหาให้ข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 จากการที่พวกเขาร้องเรียนที่ถูกละเมิดสิทธิต่อกรมคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการ ทั้งนี้ศาลแขวงลพบุรีพิพากษายกฟ้องเพราะเป็นเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับคดีที่ศาลแขวงดอนเมืองมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว

อานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยและนักปกป้องสิทธิแรงงาน ซึ่งเคยทำงานที่ MRWN เช่นเดียวกับสุธาสินี ก็ถูกธรรมเกษตรฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 และ 328 และยังมีมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 อีกด้วย ทั้งนี้คดียังคงค้างอยู่ในศาลโดยไม่มีความคืบหน้าเพราะศาลไม่สามารถติดตามตัวอานดี้มาขึ้นศาลได้

สำหรับสุธารีแล้ว นอกจากคดีอาญาที่ศาลพิพากษาในครั้งนี้ ธรรมเกษตรยังฟ้องร้องเธอต่อศาลแพ่งด้วยความผิดฐานละเมิดตามมาตรา 423 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 5,000,000 บาท จากเหตุเดียวกับคดีอาญา ในคดีนี้ทางบริษัทได้ถอนฟ้องไปเมื่อ 28 ส.ค.2562 โดยสุธารีจำต้องแถลงต่อศาลว่า “หากมีข้อเท็จจริงบางประการในคลิปวิดีโอของฟอตี้ฟายไรท์ที่คลาดเคลื่อนจนอาจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยขอแสดงความเสียใจด้วย” บริษัทจึงถอนฟ้องและศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องพร้อมคืนเงินค่าธรรมเนียมให้แก่บริษัท

งามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ถูกธรรมเกษตรฟ้องต่อศาลอาญา รัชดาฯ ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 และ 328 อีกเช่นกัน เพียงเพราะเธอแชร์ข่าวจากฟอร์ตี้ฟายไรท์ที่เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีกับนาน วินและสุธารี คดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง แต่ทางบริษัทอุทธรณ์คดี และศาลอุทธรณ์ได้นัดฟังคำพิพากษา 16 ก.ค.2563

อังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้โพสต์ให้กำลังใจแก่สุธารี งามศุกร์ และนักผู้หญิงที่เป็นนักปกป้องสิทธิคนอื่นๆ จากการที่ต้องต่อสู้คดีในคดีที่ธรรมเกษตรฟ้องพวกเธอ ภายหลังธรรมเกษตรก็ฟ้องร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ให้ดำเนินคดีเธอถึง 2 คดีด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 ด้วย ทั้งสองคดีอยู่ระหว่างพิจารณา

นอกจากอังคณาแล้วคนที่ออกมาให้กำลังใจกับผู้ที่ถูกดำเนินคดีจนถูกธรรมเกษตรฟ้องร้องไปด้วยอีกคนคือ พุทธณี กางกั้น ผู้ชำนาญการอาวุโสด้านสิทธิมนุษยชนของฟอร์ตี้ฟายไรท์ บริษัทฟ้องเธอด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 เช่นเดียวกัน

ธนภรณ์ สาลีผล อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารของฟอร์ตี้ฟายไรท์ เธอก็ถูกธรรมเกษตรฟ้องเป็นคดีด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 อีกเช่นกันเพราะเธอทวีตข้อความแถลงการณ์แสดงการสนับสนุนอังคณาและพุทธณีซึ่งเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนวน 5 ข้อความ ลงในทวิตเตอร์ส่วนตัว

นอกจากอดีตลูกจ้างและนักสิทธิแล้ว บริษัทธรรมเกษตรก็ดำเนินคดีกับอดีตนักข่าวอีกด้วย สุชาณี รุ่งเหมือนพร หรือ คลัวเทรอ อดีตนักข่าววอยซ์ทีวี ถูกบริษัทฟ้องด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 และ 328 เพียงแค่เธอทวีตข้อความเกี่ยวกับคดีที่บริษัทละเมิดสิทธิแรงงานบนทวิตเตอร์ส่วนตัวของเธอโดยบริษัทกล่าวหาว่าเธอทวีตข้อความไม่ตรงกับในคำพิพากษาและใส่ความบริษัท แม้ว่าเบื้องต้นอัยการที่รับผิดชอบคดีนี้จะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง จนทำให้ทางบริษัทดำเนินการฟ้องต่อศาลเอง และเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2563 ศาลลพบุรีซึ่งเป็นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา แต่เมื่อเธอยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงิน 75,000 บาท  ศาลได้อนุญาตปล่อยตัวระหว่างอุทธรณ์คดี

แต่นอกจากอดีตนักข่าวของช่องจะถูกธรรมเกษตรฟ้องเป็นคดีแล้ว ธรรมเกษตรก็ฟ้องคดีแพ่งกับสถานีวอยซ์ทีวีด้วย โดยเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2562 บริษัทยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ด้วยความผิดฐานละเมิด แม้ว่าจะไม่ได้ระบุเรียกค่าเสียหาย แต่ทางบริษัทก็ตั้งเงื่อนไขโดยขอให้ศาลสั่งวอยซ์ทีวีต้องลบทำลายข่าวที่รายงานถึงกรณีอานดี้ ฮอลล์ช่วยเหลือคดีแรงงานทั้ง 14 คน แล้วลงประกาศขอโทษในหนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น บางกอกโพสต์ ไทยรัฐ เดลินิวส์ และในเว็ปไซต์ และทวิตเตอร์ของวอยซ์ ทีวี โดยให้วอยซ์ ทีวี เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง และให้วอยซ์ทีวีจ่ายค่าธรรมเนียมและค่าทนายความในส่วนของบริษัทแทน คดีนี้อยู่ระหว่างรอนัดสืบพยานในวันที่ 16-18 มิ.ย.2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net