Skip to main content
sharethis

หลังจากที่สื่อรัฐบาลจีน CGTN โพสต์ทวิตเตอร์รูปภาพยอดเขาเอเวอร์เรสต์พร้อมกับระบุข้อความว่า "ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน" ก็ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาวเน็ตอินเดียและเนปาลที่พากันวิจารณ์จีนว่าปล่อยข่าวปลอม แฮชแท็ก #BackOffChina ที่แปลว่า "จีนถอยไป" ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ เพราะในความเป็นจริงแล้วยอดเขาเอเวอร์เรสต์เป็นจุดแบ่งพรมแดนระหว่างเนปาลกับทิเบต

ภาพภูเขาเอเวอเรสต์ (ที่มา:วิกิพีเดีย)

14 พ.ค. 2563 ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ เป็นหนึ่งในยอดเขาของเทือกเขาหิมาลัยที่เป็นจุดแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศเนปาลกับทิเบต อย่างไรก็ตามในช่วงต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา สื่อไชนาโกลบอลเทเลวิชั่นเน็ตเวิร์กหรือ CGTN ของรัฐบาลจีนก็โพสต์ทวิตเตอร์ในเชิงชื่นชมความงามของยอดเขาเอเวอร์เรสต์ แต่กลับอ้างว่ายอดเขานี้ตั้งอยู่ใน "เขตปกครองตนเองทิเบตของจีน" ทำให้ชาวเนปาลไม่พอใจ และมีบางส่วนเรียกร้องให้รัฐบาลเนปาลมีมาตรการบางอย่างกับโพสต์โซเชียลมีเดียนี้

มีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งระบุว่า "นี่คือยอดเขาเอเวอร์เรสต์ของพวกเรา (ความสูง 8,848 เมตร) พวกเราไม่ต้องการให้มันถูกนำไปใช้หรือถูกแปะป้ายว่าเป็นของพวกคุณ รัฐบาลเนปาลควรดำเนินการบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ นี่เป็นการใช้คำในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นี่มันยอมรับไม่ได้ #BackOffChina (จีนถอยไป)"

ผู้ใช้ทวิตเตอร์พากันใช้แฮชแท็ก #BackOffChina เพื่อประท้วงว่ายอดเขาเอเวอร์เรสต์เป็นของเนปาล มีผู้ใช้งานบางรายกล่าวหาว่า CGTN รายงานข่าวปลอม เพราะเขาเชื่อว่ายอดเขาเอเวอร์เรสต์อยู่ในอาณาเขตประเทศของเนปาลไม่ใช่ในพื้นที่ "ทิเบตของจีน" อย่างที่สื่อจีนกล่าวอ้าง นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้งานทวิตเตอร์บางรายใช้แฮชแท็ก #FreeTibet (ปลดปล่อยทิเบต) ในข้อความที่เรียกร้องให้ผู้นำจีน สีจิ้นผิง เลิกอ้างผิดๆ ด้วย

ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ระบุว่า เนปาลและจีนได้ลงนามข้อตกลงเรื่องเกี่ยวกับข้อพิพาทเขตแดนไว้ในปี 2503 แล้วว่ายอดเขาเอเวอร์เรสต์จะถูกแบ่งเป็นสองส่วน ในทางตอนใต้จะเป็นพื้นที่ของเนปาล ขณะที่ในทางตอนเหนือจะเป็นของเขตปกครองตนเองทิเบตซึ่งจีนอ้างว่าเป็นพื้นที่ของตน

ศรีกานต์ กอนดาปาลี ศาสตราจารย์ด้านจีนศึกษาจากมหาวิทยาลัยชวาหระลาล เนห์รู กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การกระทำกล่าวอ้างอำนาจเหนืออาณาเขตของจีนไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะจีนเคยพยายามอ้างความเป็นเจ้าของทิเบตและยอดเขาเอเวอร์เรสต์มาแล้ว ทั้งๆ ที่พื้นที่ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ในฝั่งของทิเบตนั้นมีการใช้งานน้อยมากและแทบจะไม่มีการท่องเที่ยวในฝั่งนั้นเลย รวมถึงเป็นฝั่งที่มีความลาดชันมากและมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับวีซ่าด้วย

ในทางตรงกันข้าม ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ในฝั่งเนปาลมีการท่องเที่ยวและการทำสำรวจมากกว่าด้วยความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี ทั้งนี้ ในเว็บไซต์ทางการของจีนก็แสดงให้เห็นว่าจีนมีความทะเยอทะยานในแผนการที่จะพัฒนาพื้นที่นี้ ซึ่งกลายมาเป็นข้อขัดแย้งกันระหว่างเนปาลกับจีน

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญอย่างกอนดาปาลียังมีความกังวลในเรื่องที่จีนพยายามติดตั้งโครงข่าย 5G ในพื้นที่ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ฝั่งตัวเอง เพราะโครงข่ายสัญญาณนี้จะส่งผลปกคลุมพื้นที่เทือกเขาหิมาลัยซึ่งในโครงข่ายสัญญาณนี้มีส่วนประกอบของกองทัพจีนอยู่ด้วย ทำให้เป็นน่ากังวลเกี่ยวกับการสอดแนมเพราะการที่สัญญาณนี้ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 8,000 เมตร อาจจะทำให้จีนใช้ปฏิบัติการสอดแนมครอบคลุมพื้นที่อินเดีย บังกลาเทศ พม่า ทำให้จีนมีอำนาจต่อรองมากขึ้น

ทิเบตกลายเป็นเขตปกครองพิเศษของจีนในปี 2493 หลังจีนส่งทหารเข้ายึดครอง โดยจีนอ้างว่ามีอธิปไตยเหนือดินแดนทิเบตมาหลายศตวรรษแล้ว องค์ดาไล ลามะ ผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณของทิเบตอ้างว่าทิเบตเคยเป็นประเทศ มีอำนาจอธิปไตย และในช่วงที่จีนเข้ามายึดครอง มีชาวทิเบตเสียชีวิตจากการถูกกดปราบใต้กฎอัยการศึกถึง 1.2 ล้านคน

เรียบเรียงจาก

Netizens in India, Nepal troll Beijing after 'fake' claims on Mt Everest, The Times of India, Mar. 10, 2020

Tibet profile, BBC, Apr. 26, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net