Skip to main content
sharethis

หลังเยาวชน 'จะนะรักษ์ถิ่น' ปักหลักรอฟังคำตอบหน้าศาลากลางว่าจะเดินหน้าเวทีรับฟังความคิดเห็นตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ อ.จะนะ หรือไม่ ล่าสุดเลขา ศอ.บต. แจ้งเลื่อนเวทีรับฟังไปก่อนเนื่องจากโควิด-19 และเดือนรอมฏอน โดยจะแจ้งวัน เวลา และสถานที่ใหม่อีกครั้ง แต่ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์และเอกสาร

ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนจากชุมชนประมง อ.จะนะ จ.สงขลา ปักหลักที่ศาลากลางจังหวัดสงขลาเมื่อ 13 พ.ค. 63 เพื่อรอฟังคำตอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดว่าจะเดินหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะหรือไม่ ล่าสุดเลขาธิการ ศอ.บต. แจ้งเลื่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นไปก่อน (ที่มา: แฟ้มภาพ/Protection International)

ตามที่มีการนำเสนอข่าวเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ยื่นหนังสือต่อจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผวจ.สงขลา เพื่อส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาสั่งการให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ยกเลิกการจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ต.สะกอม ต.ตลิ่งชัน และ ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา เกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา ในวันที่ 14 ถึง 20 พ.ค. 63 และให้ทบทวนโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ซึ่งจะใช้เงินลงทุนจำนวน 18,680 ล้านบาท โดยโครงการนี้มี ศอ.บต. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการโครงการ

ทั้งนี้หลังยื่นหนังสือ ไครียะห์ ระหมันยะ ลูกสาวชาวประมงใน อ.จะนะ จ.สงขลา ยืนยันจะปักหลักหน้าศาลากลางจังหวัด เพื่อรอคำตอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา โดยตลอดทั้งคืนมีไครียะ มารดา และเพื่อนของไครียะรวม 3 คนปักหลักที่หน้าศาลากลางในช่วงเวลากลางคืน และถือศีลอดเดือนรอมฏอนช่วงกลางวัน มาจนถึงวันที่ 13 พ.ค. นั้น

ปักหลักฟังคำตอบผู้ว่าฯ สงขลา ค้านเขตเศรษฐกิจพิเศษจะนะ, 13 พ.ค. 63

ล่าสุด พล.ร.ต. สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้ออกประกาศ ศอ.บต. ลงวันที่ 13 พ.ค. 63 เรื่อง แจ้งเลื่อนการแสดงความคิดเห็นด้วยวาจา ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในการขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยให้เหตุผลว่าเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 แม้จะมีมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด รวมทั้งความไม่สะดวกของประชาชนในช่วงถือศีลอดในเดือนรอมฎอน จึงเลื่อนการประชุมรับฟังความคิดเห็นออกไป และจะแจ้งวัน เวลา และสถานที่ที่เหมาะสมนโอกาสต่อไป ส่วนช่องทางรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและรูปแบบหนังสือยังเปิดให้แสดงความคิดเห็นไว้

อนึ่งตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ 7 พ.ค. ภาคประชาสังคมชายแดนใต้และทั่วประเทศ ได้ใช้แฮชแท็ก #SAVECHANA ในวาระครบรอบ 1 ปี มติคณะรัฐมนตรีในสมัย คสช. ที่ประกาศให้ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต โดยในโซเชียลมีเดียมีการแชร์ภาพทะเลและวิถีชีวิตชาวประมงจะนะ พร้อมติดแฮชแท็ก #SAVECHANA เพื่อคัดค้านโครงการพัฒนาพื้นที่เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตามมติคณะรัฐมนตรี 21 ม.ค. 2563 

สำหรับมติคณะรัฐมนตรี 21 ม.ค. 2563 เป็นการอนุมัติหลักการของแผนเร่งด่วน "การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา" โดยโครงการดังกล่าวตามแผนจะมีเนื้อที่ 16,753 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 18,680 ล้านบาท คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 1 แสนอัตรา มีกิจกรรม 6 ประเภท 1.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา จำนวน 4,253 ไร่ 2.พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก จำนวน 4,000 ไร่ 3.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า จำนวน 4,000 ไร่ จำนวน4 โรง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์ 4.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ จำนวน 2,000 ไร่ 5.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า จำนวน 2,000 ไร่ และ 6.พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย จำนวน 500 ไร่

สำหรับแถลงการณ์ของเครือข่าย 'จะนะรักษ์ถิ่น' ที่ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเมื่อ 12 พ.ค. ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและนิคมอุตสาหกรรมจะนะดังกล่าว โดยระบุว่า เวทีนำเสนอโครงการและรับฟังความคิดเห็นทั้งเวทีเล็กและใหญ่  "ไม่มีการให้ข้อมูลอย่างรอบด้านทั้งก่อนและในเวทีรับฟังความคิดเห็น" เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นอ้างว่า เวทีดังกล่าวยังมีลักษณะการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น ห้ามคนต่างหมู่บ้านที่อยู่ในตำบลเดียวกันแสดงความคิดเห็น หรือสอบถามข้อมูล โดยอ้างว่าไม่ใช่คนในพื้นที่ทั้งๆ ที่โครงการดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้าง

"ทางเครือข่ายเห็นว่าการดำเนินการที่ผ่านมานั้นเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามหลักการของกระบวนการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทั้งที่โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง ศอ.บต.จึงควรให้ความสำคัญกับการดำเนินการดังกล่าวอย่างมีมาตรฐานและมีธรรมาภิบาล" แถลงการณ์ตอนหนึ่งของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net