Skip to main content
sharethis

เปิดตัวละครที่วนเวียนกันเข้าบริจาคเงินให้มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดและบริษัทที่เกี่ยวข้อง ตามที่ ส.ส. อนาคตใหม่อภิปราย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นอกสภา เริ่มตอนแรกด้วยเครือข่ายกลุ่มพลังงานไฟฟ้าอย่างบริษัทต้าถัง-กัลฟ์ และ กฟผ. พวกเขาทำอะไรที่น่าข้องใจกันบ้างในธุรกิจเมกะโปรเจกต์ที่บ่อยครั้งกระทบกับคนธรรมดาอย่างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้านของไทย

การอภิปรายนอกสภาถึง “มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด” ของรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เปิดให้เห็นสายสัมพันธ์ของตัวละครทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐวิสาหกิจ และนายทุนจำนวนมากที่เดินเข้าออกในมูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานกรรมการ และมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานกิตติมศักดิ์ เจ้าของเครือไทยเบฟเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์และนายทหารอีกหลายนายร่วมเป็นกรรมการ

RECAP: อะไรคือ ‘มูลนิธิป่ารอยต่อฯ’

มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เป็นมูลนิธิที่ดูแลผืนป่าขนาด 1.2 ล้านไร่ใน จ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ระยอง และสระแก้ว ก่อตั้งเมื่อปี 2549 เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ เรื่องการให้หน่วยงานราชการทหารและพลเรือนช่วยดูแลป่าไม้และน้ำในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดและป่าเขาใหญ่

ปัจจุบัน มูลนิธิฯ มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และอดีตหัวหน้า คสช. เป็นประธานกิตติมศักดิ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณเป็นประธานมูลนิธิ และมีเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานคณะกรรมการบริหารของเครือไทยเบฟเวอเรจเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ และมีนายทหาร 19 นายเป็นกรรมการจากทั้งคณะกรรมการจำนวน 24 คน ในที่นี้มีชื่อที่คุ้นหูได้แก่ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย พล.อ.ธีรชัย นาควานิช อดีตองคมนตรี

มูลนิธิฯ เป็นที่ต้องสงสัยว่าเป็นพื้นที่ที่ระบบอุปถัมภ์กันระหว่างทหารและกลุ่มทุน ยกตัวอย่างเช่น พล.อ.พัฑฒะนะ พุธานานนท์ อดีตรอง ผบ.ทบ. ที่ปัจจุบันเป็นผู้บริหารบริษัทไทยเบฟฯ และเป็นรองประธานมูลนิธิป่ารอยต่อฯ ได้เป็นตัวแทนไทยเบฟฯ บริจาคเงินให้กับมูลนิธิฯ จำนวน 2 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่งที่บริจาคเงินให้กับมูลนิธิฯ

รู้จัก ‘ต้าถัง’ และเครือข่ายทุนพลังงานที่หมุนเวียนมาบริจาคให้ป่ารอยต่อฯ

ส.ส.รังสิมันต์ อภิปรายถึงความสัมพันธ์ของบริษัทเอกชนจำนวนมากกับมูลนิธิป่ารอยต่อฯ ผ่านการบริจาคเงิน ทั้งที่แนวทางธุรกิจดูไม่มีความเกี่ยวข้องกับผืนป่าตะวันออก หนึ่งในนั้นคือธุรกิจพลังงานไฟฟ้า บริษัทต้าถัง โอเวอร์ซีส์ อินเวสต์เมนต์ จำกัด ที่บริจาคเงินให้มูลนิธิป่ารอยต่อฯ จำนวน 1,000,000 บาท เมื่อ 22 ม.ค. 61 ร่วมกับบริษัทอัลติมา เพาเวอร์ คอนซัลทิง (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อสนับสนุนโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด (ภาคตะวันออก) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ต้าถัง โอเวอร์ซีส์ฯ เป็นรัฐวิสาหกิจด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าของสาธารณรัฐประชาชนจีน ดำเนินธุรกิจด้านกิจการพลังงานในฐานะบริษัทย่อยของไชน่า ต้าถัง คอร์ปอเรชั่น  บริษัทผลิตไฟฟ้าใหญ่ที่สุดอันดับสองของจีน โดยต้าถัง โอเวอร์ซีส์ฯ ถือหุ้นในโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบงในประเทศลาวที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง ส่วนบริษัทในเครือต้าถัง ลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าในหลายประเทศ ส่วนมากเป็นประเทศในเอเชีย

ข้อมูลจากหนังสือ "รายงานการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ: ผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน" ระบุว่าเขื่อนปากแบงจะก่อสร้างบนแม่น้ำโขงสายหลักที่เมืองปากแบง ภาคเหนือของ สปป.ลาว ก่อสร้างลงไปทางใต้ของแก่งผาได อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ระยะห่างจาก จ.เชียงรายราว 97 กม. โรงไฟฟ้ามีกำลังผลิต 912 เมกะวัตต์ มีอัตราการไหลของน้ำ 5,771.20 ลบ.ม./วินาที คาดว่าภายในปี 2565 จะทดลองเดินเครื่องปั่นไฟ 2 หน่วยแรกได้ และปี 2566 จะสามารถเดินเครื่องครบ 16 หน่วย และส่งไฟฟ้าที่ผลิตได้ร้อยละ 90 มาขายที่ไทย จำนวนที่เหลือใช้ใน สปป.ลาว เขื่อนนี้ถ้าถูกสร้าง จะเป็นเขื่อนตอนบนสุดบนแม่น้ำโขงตอนล่าง (พื้นที่ที่ไม่อยู่ในประเทศจีน)

ในโครงการปากแบง นอกจากต้าถัง โอเวอร์ซีส์ฯ ยังมีกลุ่มทุนของไทยเข้าไปร่วมลงทุนด้วย คือบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป (EGCO) ซึ่งมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ร้อยละ 25.41 ไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนปากแบง จะถูกขายให้กับ กฟผ. ดังเช่นเขื่อนอื่นในลาว เป็นประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่รังสิมันต์กล่าวถึงขณะอภิปรายนอกสภา เพราะผู้ซื้อและผู้มีถือหุ้นเป็นกรรมการใน EGCO เอง เขื่อนปากแบงถูกสร้างจากการร่วมทุนของบริษัทต้าถังฯ ถือหุ้นร้อยละ 51 EGCO ร้อยละ 30 และการไฟฟ้าประเทศลาว ร้อยละ 19

โครงการเขื่อนปากแบงถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีปัญหาเรื่องกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่เรียกว่าการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) ของประชาชนในพื้นที่ ที่จะได้รับผลกระทบต่อการสร้างเขื่อนที่ประชาชนและภาคประชาสังคมเชื่อว่าได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนและไม่เข้มงวดในทางกระบวนการ ดังที่กรณีกลุ่มรักษ์เชียงของ กลุ่มประชาสังคมที่ทำงานด้านอนุรักษ์แม่น้ำโขง ยื่นฟ้องศาลเพื่อขอให้อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยเปิดเผยข้อมูลโครงการอย่างเพียงพอ ให้กระบวนการรับฟังความเห็นที่ผ่านมาเป็นโมฆะ จัดรับฟังความเห็นใหม่ แก้ไขกฎหมายเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนและระงับสัญญาซื้อขายพลังงานไปก่อน ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้รับพิจารณาคดีไปเมื่อ พ.ย. 2560 (ที่มา:กรีนนิวส์, International River)

เฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความในคดีนี้ให้ข้อมูลว่า จากการสอบถามล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ. 2563 ศาลยังคงอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะรับฟ้องหรือไม่รับฟ้อง หากรับฟ้อง ก็จะส่งให้ศาลชั้นต้นพิจารณา ศาลชั้นต้นจะส่งคำฟ้องให้คู่กรณียื่นคำให้การ เมื่อคู่กรณีทำคำให้การ ฝ่ายผู้ฟ้องร้องก็จะทำคำคัดค้านคำให้การต่อไป ทั้งนี้ กระบวนการของศาลปกครองจะมีความช้ากว่ากระบวนการศาลยุติธรรมเช่นนี้เป็นปกติ

นอกจากแม่น้ำโขง เครือบริษัทต้าถังยังน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการฝันน้ำแม่น้ำยวมและแม่น้ำเมย แม่น้ำบริเวณรอยต่อ จ.เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนเข้าสู่อ่างเก็บน้ำภูมิพล จ.ตาก ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎรกำลังผลักดัน เป็นโครงการผันน้ำที่สามารถจ่ายน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกการเกษตรได้ถึง 1.6 ล้านไร่ ตามเอกสารกรมชลประทาน แต่จะต้องมีโครงสร้างภายในอย่างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม สูง 69 เมตร ที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน อ่างเก็บน้ำขนาด 2,075 ไร่ สถานีสูบน้ำบ้านสบเงาและอาคารประกอบ อุโมงค์คอนกรีตยาว 61 กม. เจ้าผ่านผืนป่าต้นน้ำรอยต่อ 3 จังหวัด

บีบีซีไทยรายงานว่า วีระกร คำประกอบ ส.ส. นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ รองประธาน กมธ. ชุดดังกล่าวระบุว่า น่าจะเป็นบริษัทต้าถังที่สนใจเข้ามาลงทุน และกำลังจัดทำร่างทีโออาร์ส่งให้รัฐบาลไทย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เห็นชอบโครงการแล้ว บีบีซีเดินทางไปสัมภาษณ์ประชาชนในพื้นที่ พบว่าต่างมีความกังวลว่าผลกระทบที่ได้รับจะกินวงกว้างมากกว่าที่กรมชลประทานระบุไว้ว่ามีเพียง 30 ราย

สำนักข่าวชายขอบ รายงานการพูดคุยในห้องประชุมของ กมธ. ที่วีระกรพูดถึงโครงการผันน้ำยวม น้ำเมยว่า รัฐบาลจีนจะเป็นผู้มาลงทุนทำให้ โดยมูลค่าของทั้ง 2 โครงการมีมูลค่า 110,000 ล้านบาท โดยทางจีนจะขอให้รัฐบาลไทยทำเขื่อนผลิตไฟฟ้าในลักษณะปล่อยน้ำผ่านตลอดเวลา (Run-off river) เครื่องปั่นไฟ 3 ตัว บนบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน แม่น้ำสาละวิน 3 จุด เพื่อผลิตไฟฟ้าขายรัฐบาลไทยและพม่า โดยนายกฯ บอกว่าชอบที่สุดเลยคือของฟรี ซึ่งทางจีนนั้นจะรับหน้าที่ไปเจรจากับรัฐบาลพม่าให้

ปัจจุบันยังไม่มีเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน แต่ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาก็มีแผนก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำเส้นนี้อย่างน้อย 7 เขื่อน สำนักข่าวไทยพับลิก้ารายงานข้อมูลจากเครือข่ายสาละวิน วอตช์ เมื่อปี 2559 ว่าบริษัทไชน่า ต้าถัง คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้ลงทุนในเขื่อนยวาติ๊ดในรัฐคะยา หรือรัฐคะเรนนี ห่างจาก จ.แม่ฮ่องสอนไป 45 กม. โดยกระบวนการการมีส่วนร่วมและความโปร่งใสต่อการถูกตรวจสอบยังคงเป็นที่น่าสงสัย สืบเนื่องจากการที่ทางการพม่าจับกุมกลุ่มทำงานสิ่งแวดล้อมที่จะเข้าไปในพื้นที่สร้างเขื่อน

อีกหนึ่งบริษัทที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับต้าถัง โอเวอร์ซีส์ คือบริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้บริจาคเงินให้กับมูลนิธิป่ารอยต่อฯ ผ่านทางมูลนิธิพลังงานไทย เมื่อปี 2559 จำนวน 5,000,000 บาท กัลฟ์และต้าถังความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน หนึ่งในตัวสะท้อนคือ เมื่อ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา ในช่วงที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ระบาดหนักในจีน กัลฟ์ก็ส่งหน้ากากอนามัย หมวก และเจลล้างมือให้กับชาวจีน ผ่านบริษัทต้าถัง โอเวอร์ซีส์ฯ

กัลฟ์ฯ เป็นบริษัทพลังงานที่ถูกจับตามองในฐานะผู้ชนะประมูลโครงการของรัฐหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และโครงการงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81)

กัลฟ์ฯ ยังเตรียมเข้าลงทุนในธุรกิจพลังงานก๊าซ LNG ที่ประเทศเวียดนามในปี 2563 และเจรจากับพันธมิตรจีนเพื่อร่วมกันสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่ลาว 2,500 MW ที่จะส่งไฟฟ้ามาให้กับ กฟผ. ขายในไทย โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปของการเตรียมแผนลงทุนในปี 2563 โดยคาดว่ากัลฟ์จะมีสัดส่วนถือหุ้นถึงร้อยละ 30-35 (ที่มา: Thailand Construction, Energy News Center, Wealthythai)

ส.ส.รังสิมันต์ยังระบุว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้อยู่ในรายชื่อผู้บริจาคให้มูลนิธิป่ารอยต่อฯ เมื่อปี 2557 บริจาคเงินไป 2 ล้านบาท และบริจาคไปอีก 1 ล้านบาทเมื่อ 20 ก.ค. 2561 รังสิมันต์ตั้งข้อสงสัยว่า การบริจาครอบหลังเกิดขึ้นหลังมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแต่งตั้งปฏิคม วงษ์สุวรรณ ลูกพี่ลูกน้องของ พล.อ.ประวิตรเป็นกรรมการ กฟภ. เมื่อ 27 มิ.ย. 2561 และยังตั้งข้อสงสัยว่าพฤติการณ์นี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กันหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net