Skip to main content
sharethis

สธ. แนะนำเลี่ยงเดินทางไป 'ฝรั่งเศส-เยอรมนี' ก่อนที่เปลี่ยนใจแจ้งประกาศไม่มีผลใดๆ ขณะที่เผยพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มอีก 1 ราย ติดจากเพื่อนร่วมงานที่เป็นพนักงานขับรถ

 

สถานการณ์ในประเทศไทย โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (2 มี.ค. 2563) สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/index.php

2 มี.ค.2563 ความคืบหน้าสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ล่าสุดวันนี้ สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยืนยันโควิด-19 เพิ่ม 1 ราย เป็นหญิงไทยอายุ 22 ปี ทำงานร่วมกับผู้ป่วยรายที่ 37 ที่เป็นพนักงานขับรถ จึงถือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจึงอยู่ในผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคอยู่แล้ว และมีผู้ป่วยหายดี กลับบ้านได้อีก 1 ราย เป็นคนไทยติดจากประทศญี่ปุ่น ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิด-19 รวม 43 ราย หายดีออกจากรพ.แล้ว 31 ราย และยังรักษาตัวในรพ.อีก 11 ราย เสียชีวิต 1 ราย 

นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรคมีการเพิ่มประเทศที่แนะนำให้คนไทยหลีกเลี่ยงการเดินทางไปเพิ่มอีก 2 ประเทศ คือ ฝรั่งเศสและเยอรมนี รวมเป็น 8 ประเทศ คือ จีน (รวมมาเก๊า ฮ่องกง ไต้หวัน) ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อิหร่าน อิตาลี ฝรั่งเศสและเยอรมนี นอกจากนี้ คณะกรรมการวิชาการด้านโรคติดต่อได้มีการปรับเกณฑ์เฝ้าระวังผู้ป่วยโควิด-19เพิ่มเติม คือการป่วยที่เป็นกลุ่มก้อนของผู้ที่มีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจ 5 คนขึ้นไป ในสถานที่เดียวกันและสัปดาห์เดียวกัน 

ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประชาชนที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยง 8 ประเทศ 3 เขตปกครองนั้น จะได้รับการคัดกรองที่สนามบินทุกราย หากมีไข้ จะต้องนำเข้าสู่การตรวจวินิจฉัยและรักษา หากไม่มีไข้ก้กลับบ้าน แต่จะต้องเฝ้าระวังตัวเองเป็นเวลา 14 วัน หลังเดินทางกลับ ถ้ามีอาการไข้ เจ็บคอ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูกไอ เสมหะ หายใจเร็ว หอบให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวม และมีอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้

(ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ เนชั่นทีวี และไทยรัฐออนไลน์)

 

กองทัพบกประกาศไม่อนุญาตให้ กำลังพลเดินทางหรือแวะผ่าน 11 ประเทศเสี่ยง COVID-19 ด้วย

สรุปสถานการณ์ จากประชาชาติธุรกิจออนไลน์

  • ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 11 ราย กลับบ้านแล้ว 31 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 43 ราย
  • ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 1 มีนาคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 3,252 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 95 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 3,157 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 1,872 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,380 ราย
  • สถานการณ์ทั่วโลกใน 66 ประเทศ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม – 2 มีนาคม 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 88,282 ราย เสียชีวิต 3,000 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 79,828 ราย เสียชีวิต 2,870 ราย

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 และจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษาต่อไป

สรุปใจความสำคัญจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

  • การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) เริ่มจากเมืองอู่ฮั่น ในประเทศจีน และต่อมาระบาดไปอีกหลายเมือง ปัจจุบันพบผู้ป่วยติดเชื้อในหลายประเทศ
  • ขณะนี้แนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ตามประกาศของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ระงับเที่ยวบินเข้าออกจากเมืองอู่ฮั่นตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2563 และขยายเวลาถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 และเลื่อนการเดินทางที่ไม่จำเป็นไปพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง
  • ภายใน 14 วัน หลังเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีการระบาด หากมีไข้ ร่วมกับอาการ ทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ควรรีบพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทางให้เจ้าหน้าที่ทราบ

 

ราชกิจจาฯประกาศโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตราย

เมื่อวันที่ 29 ก.พ.2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อ และอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 ลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 29 ก.พ.2563 โดยระบุให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID -19)) เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย โดยประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

นอกจากนี้ ในประกาศยังเพิ่มความใน (14) ระบุอาการโรคโควิด-19 มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรง จะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิต

รายการเชื้อโรคที่ประสงค์ควบคุมตามมาตรา  18 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 ดู ที่นี่

แจ้งประกาศไม่มีผลใดๆ 

รายงานข่าวเพิ่มเติม สำหรับประกาศรายชื่อประเทศที่ ทุกคนที่เดินทางมาต้องถูกกักตัว 14 วัน สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า วันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)โพสต์ข้อความลงนามประกาศ 9 ประเทศเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย แต่ต่อมา อนุทิน ได้มีการลบโพสต์และปิดเฟซบุ๊กเพจออกไปนั้น สร้างความงุนงงสงสัยต่อสาธารณชนเป็นอย่างยิ่ง

จากนั้น เวลา 18.30 น. สำนักสารนิเทศ ซึ่งดูแลงานด้านประชาสัมพันธ์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แจ้งข้อมูลต่อสื่อมวลชน ว่า เกี่ยวกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) พ.ศ. 2563 เนื่องจากมีการแก้ไขข้อมูลใหม่ จึงต้องรอประกาศใหม่ โดยประกาศก่อนหน้านี้ยังไม่มีผลใดๆ

ที่มา : เนชั่น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ผู้จัดการออนไลน์ 

 

หมายเหตุ : ประชาไทมีการอัดเดทข้อมูล พาดหัวและโปรยข่าววันที่ 5 มี.ค.2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net