Skip to main content
sharethis

เหตุจลาจลในฝรั่งเศสเมื่อไม่นานมานี้ ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจต่อการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุของตำรวจที่ยิงวัยรุ่นชาวฝรั่งเศสเชื้อสายแอลจีเรียอายุ 17 ปี จนเสียชีวิตคาที่ อีกทั้งตำรวจยังพยายามปกปิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนกระทั่งมีหลักฐานคลิปออกมาโต้แย้ง ทำให้มีผู้ตั้งประเด็นว่าเป็นเรื่องจากการเหยียดเชื้อชาติสีผิวที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่สมัยอาณานิคมและเป็นปัญหาที่ยังไม่มีการสะสาง

 

6 ก.ค. 2566 เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่ตำรวจฝรั่งเศสใช้กำลังสังหารเด็กชายอายุ 17 ปีอย่างเหี้ยมโหดในเวลากลางวันแสกๆ ในช่วงที่ตำรวจสั่งหยุดตรวจรถเขา ซึ่งในทีแรกฝ่ายตำรวจได้โกหกเกี่ยวกับเหตุการณ์และกล่าวหาว่าเยาวชนรายนี้พยายามขับรถชนเจ้าหน้าที่ แล้วสื่อระดับชาติก็รายงานออกไปตามเรื่องเล่าของตำรวจ แต่ต่อมาก็มีหลักฐานวิดีโอจากเหตุการณ์แสดงให้เห็นว่าตำรวจโกหก จนทำให้ผู้คนไม่พอใจออกมาประท้วงเป็นจำนวนมาก

ผู้คนเริ่มประท้วงที่หน้าสำนักงานตำรวจตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. 2566 วันเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์สังหาร ก่อนที่ต่อมาาเหตุการณ์จะกลายเป็นความวุ่นวายและเหตุจลาจล มีการโต้ตอบสถานการณ์จลาจลจากเจ้าหน้าที่ทางการ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 3,300 ราย

เยาวชนอายุ 17 ปีที่ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตชื่อ นาเอล เมอร์ซูก วิดีโอที่บุคคลสามถ่ายทำไว้แสดงให้เห็นภาพตำรวจฝรั่งเศสติดอาวุธปืนยาวคุกคามเมอร์ซูกซึ่งอยู่ในรถสีเหลือง ก่อนที่จะยิงเข้าที่ศีรษะของเมอร์ซูกในขณะที่เมอร์ซูกกำลังจะขับรถออกไป ถึงแม้ว่าตำรวจอ้างว่าเมอร์ซูกพยายามจะขับชนตำรวจ แต่วิดีโอก็แสดงให้เห็นว่าไม่มีตำรวจคนไหนยืนอยู่ที่หน้ารถหรือเสี่ยงที่จะถูกกระทบกระเทือนทางร่างกายในตอนที่เมอร์ซูกขับรถออกไปเลยแม้แต่คนเดียว

การสังหารที่เกิดขึ้นกลายมาเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในฝรั่งเศสเกี่ยวกับความรุนแรงของตำรวจฝรั่งเศส ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง ยังได้กล่าวประณามการสังหารของตำรวจว่าเป็น "เรื่องที่ไม่อาจให้อภัยได้" และ "ไม่มีอะไรให้ความชอบธรรมต่อการปลิดชีพเยาวชนได้" ในขณะเดียวกันก็มีการวิเคราะห์ว่าเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นการเหยียดเชื้อชาติสีผิวเกิดขึ้นมานานแล้วในฝรั่งเศส จากการที่ เมอร์ซูก เป็นชาวฝรั่งเศสเชื้อสายแอลจีเรีย

นาเอล เมอร์ซูก

เยาวชนอายุ 17 ปีที่ถูกตำรวจยิงเสียชีวิต

มรดกตกค้างจากลัทธิอาณานิคม

คริสตัล เอ็ม เฟลมมิง ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาและแอฟริกันศึกษาที่มหาวิทยาลัยสโตนีบรูก ระบุว่า ภาพวิดีโอของตำรวจยิงเด็ก 17 ปี ที่แพร่ออกไปสู่สายตาประชาชนทำให้เกิดสิ่งที่นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส เอมิล เดอไคม์ เรียกว่าเป็นสิ่งที่ "สะเทือนขวัญต่อจิตสำนึกร่วม(ของคนในสังคม)" และ เฟลมมิงก็เชื่อว่าการที่ตำรวจยิงเมอร์ซูกเป็นเพราะเชามีเชื้อสายแอลจีเรีย

เฟลมมิงระบุว่าฝรั่งเศสมี "ประวัติศาสตร์อันโสมม" มายาวนาน ในเรื่องการเหยียดผิวแบบลัทธิอาณานิคมและการใช้ความรุนแรงต่อผู้คนที่ถูกกำหนดว่ามีเชื้อชาติสีผิวที่ "ไม่ใช่คนขาว" เรื่องนี้เกิดขึ้นต่อเฮติ, กวาเดอลูป และ มาร์ตินิก ในภูมิภาคแคริบเบียน มาจนถึงเกาะเรอูนิยงที่มหาสมุทรอินเดีย, แอฟริกาเหนือและตะวันตก, เวียดนาม และที่อื่นๆ แต่กลุ่มที่ถูกกดขี่จากฝรั่งเศสมากเป็นพิเศษคือประชาชนชาวแอลจีเรีย รวมถึงกลุ่มเชื้อสายแอลจีเรียที่เป็นพลเมืองของฝรั่งเศสด้วย

ฝรั่งเศสเคยเป็นเจ้าอาณานิคมของแอลจีเรียตั้งแต่ช่วงต้นยุคคริสตศตวรรษที่ 1800s และมีการใช้ความรุนแรงอย่างโหดเหี้ยมรวมถึงการสังหารหมู่เกิดขึ้นไปทั่วเพื่อให้มีการก่อตั้งสถาปนาการปกครองของฝรั่งเศสเหนือแอลจีเรีย

ในช่วงที่มีสงครามเพื่อกอบกู้เอกราชแอลจีเรีย ระหว่างปี ค.ศ. 1954-1962 (พ.ศ. 2497-2505) รัฐบาลฝรั่งเศสได้ทำการสังหารและทารุณกรรมต่อชาวแอลจีเรียไปหลายแสนและอาจจะมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝรั่งเศสพยายามอย่างเอาเป็นเอาตายในการที่จะดำรงจักรวรรดิอาณานิคมของตัวเองไว้

อีกทั้งในฝรั่งเศสเองก็มีการใช้ความรุนแรงจากตำรวจโดยตั้งเป้าหมายกับชาวอาหรับและคนผิวดำ ในปี พ.ศ. 2504 มีเหตุการณ์ที่ตำรวจฝรั่งเศสสังหารชาวอาหรัที่ทำการประท้วงอย่างสันติในกรุงปารีสไปบมากกว่า 100 ราย

ในเหตุการณ์ดังกล่าวมีประชาชนหลายหมื่นคนที่เดินขบวนเรียกร้องอิสรภาพของแอลจีเรียและประท้วงการตั้งเคอร์ฟิวของรัฐบาลที่จงใจใช้ปราบปรามกลุ่มต่อต้าน ตำรวจฝรั่งเศสได้โต้ตอบด้วยการสังหารผู้ประท้วงกลางถนน และถึงขั้นทำให้ผู้ประท้วงจมอยู่ใต้แม่น้ำแซน ซึ่งผู้ประท้วงเหล่านี้เป็นชาวฝรั่งเศสเชื้อสายแอลจีเรีย ผู้ประท้วงที่อายุน้อยที่สุดที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้นเป็นวัยรุ่นที่ชื่อ ฟาติมา เบดา อายุ 15 ปี

ยุคนั้นเป็นยุคสมัยที่ยังไม่มีเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน ทางการฝรั่งเศสก่อเหตุรุนแรงอย่างไร้ยางอายแล้วก็กลบเกลื่อนเรื่องราวส่วนใหญ่ได้สำเร็จมาเป็นเวลาหลายสิบปี มันต้องใช้เวลาถึงมากกว่า 50 ปี กว่าที่ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสจะยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งตอนนี้ก็ยังไม่มีคำขอโทษอย่างเป็นทางการต่อเหยื่อของเหตุการณ์ในครั้งนั้น

 

กลบเกลื่อนด้วยวาทกรรมลบเลือนตัวตน มองไม่เห็นเชื้อชาติสีผิว

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า นักการเมืองฝรั่งเศสและพวกนักวิจารณ์ตามหน้าสื่อฝรั่งเศสที่เป็นคนขาว มักส่วนใหญ่จะมองในเรื่องการสังหารเมอร์ซูกโดยละเลยบริบทด้านประวัติศาสตร์ลัทธิอาณานิคมเหยียดเชื้อชาติสีผิว ซึ่งเฟลมมิงมองว่าเป็นทัศนคติตกค้างที่ส่งผลให้เกิดการสังหารเมอร์ซูก

มีสถิติการที่ตำรวจสังหารประชาชนในฝรั่งเศสเพิ่มมากขึ้นซึ่งส่วนใหญ่เหยื่อจะเป็นคนผิวดำหรือไม่ก็คนเชื้อสายอาหรับ แต่ทางการฝรั่งเศสก็ยังคงปฏิเสธเสียงแข็งอยู่เสมอว่าไม่มีการเหยียดผิวอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นในฝรั่งเศส โดยอ้างแนวคิดที่ว่าไม่ว่าจะเชื้อชาติสีผิวไหนก็ไม่สำคัญ (colorblindness) ซึ่งเป็นการลบเลือนอัตลักษณ์ตัวตนเพื่อกลบเกลื่อนปัญหา และอีกเรื่องหนึ่งคือความเย่อหยิ่งจองหองในทางวัฒนธรรมของฝรั่งเศสเองด้วย

เฟลมมิงตั้งข้อสังเกตว่า คนขาวชาวฝรั่งเศสมักจะตีความเหตุการณ์ในแบบที่ทำให้ตัวเองสบายใจ ว่าการสังหารเมอร์ซูกเป็นผลมาจากปัญหาเรื่องการอพยพและปัญหาความยากจนในย่านชานเมือง หรือไม่ก็มองว่ามันเป็นผลพวงจากตำรวจคนหนึ่งที่ใช้อาวุธปืนโดยได้รับการฝึกอบรมมาไม่ดีพอ อ้างว่าตำรวจที่ก่อเหตุเป็นแค่ "ปลาเน่าตัวเดียว"

เฟลมมิงบอกว่าแม้กระทั่งมาครงที่แถลงเกี่ยวกับกรณีการสังหารเมอร์ซูก ก็ยังเป็นคำแถลงที่ไม่ยอมพูดถึงปัญหาการเหยียดเชื้อชาติสีผิวอย่างเป็นระบบที่มีอยู่ในประเทศของตัวเอง

เคยมีงานวิจัยที่ระบุถึงเรื่องที่ว่าตำรวจฝรั่งเศสเน้นตั้งเป้าหมายชาวเชื้อสายอาหรับและคนผิวดำโดยเฉพาะ งานวิจัยดังกล่าวนี้ออกมาเมื่อปี 2563 มาจากสมาชิกหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของฝรั่งเศสเอง ระบุว่า เยาวชนชายที่ถูกมองเป็นชาวอาหรับกับคนผิวดำนั้น มีโอกาสเผชิญกับการถูกตรวจสอบในฐานะผู้ต้องสงสัยและถูกตำรวจสั่งให้หยุดตรวจมากกว่าเชื้อชาติสีผิวอื่น 20 เท่า

แม้กระทั่งคณะกรรมการยุโรปด้านการต่อต้านการเหยียดผิวและการไม่ยอมรับความต่าง (European Commission against Racism and Intolerance) ก็เคยเตือนมาตั้งนานแล้วเกี่ยวกับการที่ตำรวจฝรั่งเศสและสังคมฝรั่งเศสทำการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวสี ส่งผลให้คนผิวสีแบกรับกับการถูกป้ายสีให้เป็นผู้ร้ายและถูกคุกคามเนื่องจากลัทธิเหยียดผิว และมีเหยื่อความรุนแรงจากตำรวจหลายคนที่ยังไม่ได้รับความยุติธรรม

ในทางตรงกันข้าม สหรัฐอเมริกาก็มีเรื่องการสังหารด้วยเหตุเรื่องเชื้อชาติสีผิวเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ก็มักจะมีการยอมรับทั้งจากฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายซ้ายว่าปัจจัยหลักๆ มาจากเรื่องการเหยียดเชื้อชาติสีผิว

แต่กับสังคมฝรั่งเศสแล้วเมื่อมีเหตุการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้น ฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายซ้ายกลับไปรวมหัวกับฝ่ายขวาหัวรุนแรง ปฏิเสธว่าฝรั่งเศสไม่มีการเหยียดเชื้อชาติสีผิว ซึ่งเฟลมมิงเคยเขียนไว้ในหนังสือของเธอที่ชื่อ "Resurrecting Slavery: Racial Legacies and White Supremacy in France" (การฟื้นคืนของลัทธิทาส : มรดกทางเชื้อชาติสีผิวและแนวคิดคนขาวเป็นใหญ่ในฝรั่งเศส) ว่า การที่สหรัฐฯ เป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลกว่าเป็นประเทศเหยียดเชื้อชาติสีผิว กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฝรั่งเศสและยุโรปประเทศอื่นๆ แสร้งทำให้ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติสีผิวและการเลือกปฏิบัติในบ้านของตัวเองเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือกระทั่งไม่มีอยู่จริง

มีนักเขียนและนักวิชาการชาวอเมริกันคนผิวดำหลายคน ที่ย้ายถิ่นฐานไปสู่ฝรั่งเศสในช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 20 ก็มีส่วนในการส่งเสริมความเข้าใจผิดๆ ว่าฝรั่งเศสมีความเท่าเทียมไม่ใส่ใจว่าคุณจะมีเชื้อชาติสีผิวอะไร เว้นแต่คนหนึ่งคือ เจมส์ บาลด์วิน เขาเคยเขียนสะท้อนประสบการณ์ในฝรั่งเศสระบุว่า "ผมใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางเหยื่ออธรรมผู้ทุกข์ยาก และในกรุงปารีสนั้น เหยื่ออธรรมที่ว่าก็คือชาวแอลจีเรีย"

เฟลมมิงระบุว่า ในปัจจุบันเหยื่ออธรรมที่ตกเป็นเป้าหมายการเหยียดเชื้อชาติสีผิว ความเกลียดกลัวอิสลาม และปืนยาวของตำรวจ ก็ยังคงเป็นชาวแอลจีเรีย

เฟลมมิงจึงเรียกร้องว่ามันถึงเวลาแล้วที่ฝรั่งเศสจะก้าวข้ามวงจรความรุนแรงจากน้ำมือภาครัฐ และการปฏิเสธว่าประเทศตัวเองไม่มีการเหยียดเชื้อชาติสีผิว รวมถึงให้มีพันธกิจในการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาการกีดกันเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นจำนวนมากและปัญหาอคติในการปฏิบัติงานตำรวจ, การจ้างงาน, การศึกษา และการเมือง

ถึงแม้ว่าผู้ประท้วงที่แสดงความไม่พอใจการสังหารเมอร์ซูกจะใช้ความรุนแรงก่อจลาจลและมีการเผาอาคารหรือทำลายทรัพย์สิน แต่เฟลมมิงก็บอกว่า "ความรุนแรงที่แท้จริงนั้น... เป็นความเสียหายที่เกิดกับชีวิตมนุษย์อย่างเมอร์ซูก ผู้ที่กลายเป็นหนึ่งในเหยื่อจากผลพวงของการกดขี่ของฝรั่งเศสมานานหลายศตวรรษ"

 

 

เรียบเรียงจาก

French police killed Nahel because French racism enabled it, Aljazeera, 30-06-2023

https://www.aljazeera.com/opinions/2023/6/30/french-police-killed-nahel-because-french-racism-enabled-it

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Killing_of_Nahel_Merzouk

https://en.wikipedia.org/wiki/Nahel_Merzouk_protests

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net