Skip to main content
sharethis

กลุ่มเต็นท์ร้านขายหนังสือริมแม่น้ำแซนในกรุงปารีส ต่อต้านแผนการรื้อ-ย้ายแผงขายหนังสือ เพื่อเตรียมรับ มหกรรมโอลิมปิกปี 2567 ที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ ทั้งที่ร้านหนังสือเหล่านี้นับเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยวปารีสที่มีมาอย่างยาวนานเป็น 450 ปีแล้ว มีบูกีนีสบางส่วนพยายามเรียกร้องขึ้นทะเบียนวัฒนธรรมเต็นท์ขายหนังสือนี้เป็นมรดกโลกด้วย

 

1 ก.ย. 2566 ในช่วงเดือนสิงหาคมมีผู้คนจำนวนมากสนใจร้านหนังสือที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำในฝรั่งเศส ทั้งนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ต่างก็เดินทางผ่านเส้นทางนี้ที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำแซนและศาลากลางออแตลเดอวิลล์ พวกเขาพากันเลือกซื้อหนังสือที่ร้านข้างถนนเหล่านี้ นอกจากหนังสือมือสองแล้วในร้านยังมีการวางขาย ของเก่าวินเทจ, แผนที่เก่า, โปสเตอร์ต่างๆ และของฝาก  

แผงขายหนังสือเต็นท์สีเขียวเหล่านี้มีอยู่นับร้อยเรียงรายอยู่ริมแม่น้ำแซนในระยะทางยาว 3 กม. ตัดผ่านใจกลางเมืองหลวงปารีสของฝรั่งเศส ร้านหนังสือริมทางเหล่านี้เป็นสิ่งที่โดดเด่นและคุ้นเคยสำหรับชาวปารีสมากพอๆ กับมหาวิหารนอเทรอดาม ที่ปรากฏอยู่เบื้องหลังลอยเด่นเหนือหลังคาร้านของพวกเขา  

ผู้คนเรียกกลุ่มผู้ค้าขายหนังสือเก่าในย่านนี้ว่า "เล บูกีนีส" มีบูกีนีสท่านหนึ่งที่เป็นตัวแทนคนขายหนังสือมานาน 30 ปี เปิดเผยต่อสื่อว่า "พวกเราอยู่ที่ริมแม่น้ำแซนนี้มานานเป็นเวลากว่า 450 ปีแล้ว และตั้งอยู่ที่กำแพงริมน้ำแห่งนี้นับตั้งแต่ที่มีการสร้างขึ้นสมัยนโปเลียนที่ 3"

แต่ในตอนนี้แผงหนังสือเก่าแก่เหล่านี้ก็มีโอกาสจะถูกรื้อ หลังจากที่เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลากลางปารีสประกาศว่าจะมีการรื้อถอนร้านหนังสือเต็นท์เขียวเหล่านี้ออกไปในช่วงที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนที่จะมีขึ้นในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2567  

เนื่องจากโอลิมปิกในครั้งนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสได้วางแผนไว้ว่าจะจัดพิธีเปิดในแบบที่แปลกใหม่กว่าเดิม ด้วยการจัดนอกสนามกีฬาคือที่ริมแม่น้ำแซน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้ชมจำนวนมหาศาลยืนชมอยู่ที่ริมน้ำ ด้วยเหตุนี้เองทางการฝรั่งเศสจึงต้องการรื้อย้ายกลุ่มเต็นท์ขายหนังสือริมแม่น้ำ เพื่อจัดมาตรการความปลอดภัยเอาไว้รองรับมวลชนมหาศาล   

จูเลียตหนึ่งในบูกีนีสผู้ขายหนังสือกล่าวว่า ทางการบอกกับพวกเขาอ้างว่ากลัวผู้คนจะแห่ปีนเต็นท์ขายหนังสือของพวกเขา แต่ถ้าหากว่าพวกเขาเปิดร้านขายหนังสือกันในวันนั้นจริงๆ ผู้คนก็ไม่สามารถปีนเต็นท์ได้ แล้วก็เห็นว่าจะมีการเอารั้วลูกกรงมาติดตั้งซึ่งมันจะเป็นอันตรายด้วย บูกีนีสทุกคนที่นี่จะบอกว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับแผนการของรัฐบาลฝรั่งเศส

บูกีนีสอีกคนหนึ่งที่ชื่อลิมเพิ่งขายหนังสือมือสองสำหรับเด็กให้กับลูกค้าชาวฝรั่งเศสท่านหนึ่งไป เขาพูดเช่นเดียวกับจูเลียตที่ไม่เห็นด้วยกับแผนการของรัฐบาล ลิมบอกว่า "ผมไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงจะรื้อร้านเหล่านี้ เต็นท์ขายหนังสือเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของปารีส"  

คามิลคนที่ขายหนังสือที่แม่น้ำแซนมา 10 ปี และเป็นเจ้าของร้านของตัวเองมาได้ 5 ปี บอกว่า "ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับฉันคือเรื่องเชิงสัญลักษณ์" เธอบอกว่าพวกรัฐบาลต้องการให้พวกเขารื้อย้ายออกไปเป็นเวลาหลายเดือนเพียงเพื่อพิธีกรรม 4 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ปารีส การรื้อย้ายพวกเขาออกไปก็เหมือนกับการทุบทำลายสิ่งก่อสร้าง

เหล่าบูกีนีสยังมีความกังวลด้วยว่าในช่วงฤดูร้อนของฝรั่งเศส (ช่วงเดือนมิถุนายน - สิงหาคม) มักจะเป็นช่วงที่ร้านค้าเปิดโล่งมีคนมาเยือนมากที่สุดในรอบปี เพราะสภาพอากาศที่ดีทำให้มีคนเดินถนนและมีนักท่องเที่ยวมา คามิลบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาทำเงินได้มากที่สุดจนทำให้พวกเขาอยู่รอดได้ ถ้าหากพวกเขาไม่สามารถเปิดร้านในช่วงฤดูร้อนได้ก็จะเป็นเรื่องยากที่จะกลับมาฟื้นตัว

มีการคาดการณ์ว่าจะจำนวนนักท่องเที่ยวในกรุงปารีสเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 ล้านคนในช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2567 เนื่องจากกีฬาโอลิมปิก

ทางศาลากลางกรุงปารีสพยายามจะทำให้แผงขายหนังสือไม่สูญเสียรายได้ด้วยการเสนอให้พวกเขาย้ายไปยังตลาดหนังสือที่อยู่ใกล้กับปลาซ เดอ ลา บาสตีย์ เพื่อขายหนังสือที่นั่นแทนในช่วงฤดูร้อน

แต่เหล่าบูกีนีสไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะในพื้นที่เดิมที่พวกเขาขายอยู่เป็นทำเลที่เหมาะเจาะในการดึงดูดคนเดินถนนที่มาจากสะพานอาร์โกลซึ่งเชื่อมกระหว่างแหล่งท่องเที่ยวอีลเดอลาซิติกับย่านเลอมาเรส์ จูเลียตบอกว่าในทางตรงกันข้าม "ที่บาสตีย์จะไม่มีคน"

อีกส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาคือเรื่องความไม่แน่นอนของรัฐบาลว่า ถ้าหากพวกเขาย้ายไปจริงแล้วจะมีที่ให้ขายจริงหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลก็ไม่มีอะไรรับประกัน อีกทั้งบูกีนีสบางคนก็มีปัญหาเรื่องการต้องขนย้ายหนังสือเก่าด้วย กลัวว่าการค้นย้ายจะสร้างความเสียหายให้กับหนังสือเหล่านี้ และบางคนก็มีหนังสืออยู่เยอะมาก จนไม่รู้ว่าจะไปเก็บไว้ที่ไหนดีในช่วงที่รอการขนย้าย

นอกจากนี้ยังมีเหตุผลเรื่องความภาคภูมิใจในวิชาชีพบูกีนีสของตัวเองที่ทำให้คนขายหนังสือเหล่านี้ไม่ยอมเปลี่ยนรูปแบบไปตามที่รัฐบาลเสนอ พวกเขามองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลางเมืองที่มีส่วนร่วมในมรดกทางวัฒนธรรมของกรุงปารีสในแบบของพวกเขาเอง

จูเลียตบอกว่า "ผู้คนมาหาพวกเรา มาที่เต็นท์หนังสือของพวกเราเพราะความมีเอกลักษณ์ของเต็นท์หนังสือเหล่านี้ พวกมันคือสิ่งที่สะท้อนความเป็นปารีส"

 

การขอเป็นมรดกโลกและความอยู่รอด

บูกีนีสเหล่านี้ยังพยายามจะรักษาเต็นท์หนังสือที่มีความเป็นมาเก่าแก่ 450 ปี นี้ไว้ ด้วยการขอขึ้นทะเบียนเป็น "มรดกโลกแบบที่จับต้องไม่ได้" หรือที่เรียกว่า "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม" (Intangible Cultural Heritage) ด้วย

เดวิด โนเซค หนึ่งในบูกีนีสบอกว่าเขาชอบอ่านหนังสือ เขาชอบอะไรเก่าแก่ และชอบความเป็นอิสระของธุรกิจขายหนังสือริมแม่น้ำแห่งนี้ เขามองว่าชาวบูกีนีสทั้งหลายไม่ต้องการที่จะร่ำรวยอย่างแน่นอน แต่ทว่าร้านขายหนังสือของพวกเขาก็กำลังเผชิญกับอุปสรรคของยุคสมัยปัจจุบันอย่าง อีบุ๊ค และการขายหนังสือผ่านทางออนไลน์ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเหล่าบูกีนีสถึงกำลังพยายามเรียกร้องขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกจากยูเนสโก

หนึ่งในผู้ที่ร่วมเรียกร้องในเรื่องนี้คือ บูกีนีส ที่ชื่อ โซฟี เลอลู เธอบอกว่า เมื่อก่อนเคยคิดกันว่ามันน่าจะดีถ้าหากพวกเขามีป้ายกำกับเพื่อให้มีการรักษาคุณภาพของสินค้าตัวเองเอาไว้โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับอดีต 400 กว่าปีที่แล้ว แต่ถ้าหากร้านหนังสือของพวกเขาอยู่ได้รับการขึ้นทะเบียนในรายชื่อของยูเนสโก พวกเขาก็จะกลายเป็นแบบปิรามิดของอิยีปต์ หรือ คนพายเรือกอนโดลาของเวนิส ไม่มีใครจะมารื้อถอนพวกเขาทิ้งได้

ขณะเดียวกันการขอขึ้นทะเบียนก็สร้างข้อถกเถียงแม้แต่ในหมู่บูกีนิสด้วยกันเอง เพราะมีบางคนกลัวว่าพวกเขาอาจจะไม่สามารถขายของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่ทำให้พวกเขาอยู่รอด เช่น มีบางร้านที่ขายตัวจำลองหอไอเฟลเคียงคู่ไปกับวรรณกรรมของ ออนอเร บัลซัค และ วิกเตอร์ ฮูโก

กระนั้นถึงแม้ว่าธุรกิจขายหนังสือขนาดเล็กจะมีการฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง แต่เมื่อปีที่แล้วอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในฝรั่งเศสก็น่าเป็นห่วง ทำให้ฟลอเรนซ์ แบร์ทุต นายกเทศมนตรีประจำเขตปกครองส่วนท้องถิ่นที่ 5 ของปารีส ผู้เป็นแกนนำในการเรียกร้องขึ้นทะเบียนมรดกโลกบูกีนีสจึงมองว่า "มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องคุ้มครองวิชาชีพบูกีนีส"

"ไม่มีอะไรที่เป็นประชาธิปไตยไปมากกว่าหนังสือ ... พวกมันราคาถูก พวกมันพกพาสะดวก แล้วก็ไม่เหมือนคอมพิวเตอร์ พวกมันไม่พัง" แบร์ทุตกล่าว เธอเป็นลูกสาวชาวนาที่ได้มีโอกาสอ่านเชกสเปียร์และ เอมีล โซลา (ผู้ประพันธ์เรื่อง "เมรัยพิฆาต") เพราะหนังสือปกอ่อนราคาถูกที่พ่อแม่เธอซื้อมา

ทั้งนี้ แบร์ทุตยังหวังว่า การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจะทำให้โลกรับรู้ถึงการมีอยู่ของบูกีนีสเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้บูกีนีสมีรายได้มากขึ้น

เมแกน แพตตัน ชาวฟิลาเดเฟีย ประเทศสหรัฐฯ ผู้มาซื้อภาพพิมพ์ที่เต็มไปด้วยสีสันที่เต็นท์บูกีนีสบอกว่า บูกีนีสทำให้เธอรู้สึกถึงความเป็นปารีส และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปารีสมีความพิเศษเฉพาะตัว

แต่ก็มีนักท่องเที่ยวบางคนมองต่างออกไป ไมค์ แมคฟี นักเขียนจากโคโลราโด มองว่าเขาไม่เชื่อว่าของเก่าที่ขายอยู่ที่เต็นท์บูกีนีสจะเป็นของแท้และเขาจะซื้อจากผู้ค้าของเก่าที่เชื่อถือได้เท่านั้น

ทั้งนี้ ยังมีเรื่องข้อพิพาทในหมู่บูกีนีสด้วยกันเองในเรื่องการขายสินค้าของฝากด้วย หนึ่งในผู้ที่ต่อต้านเรื่องนี้คือ โนเซก ผู้ที่ล่ารายชื่อต่อต้านการขายของฝากในเต็นท์บูกีนีสโดยกล่าวหาว่ามันเป็นการไม่เคารพต่อวิชาชีพและไม่เคารพต่อลูกค้า เขาบอกว่า "มีหนังสือวางขายน้อยลงขึ้นเรื่อยๆ มีแต่ของจุกจิกที่ทำจากจีน"

แต่บูกีนีสส่วนหนึ่งก็ไม่เห็นด้วย หนึ่งในผู้ค้าของฝากอย่าง ฟรานซิส โรแบร์ เป็นคนที่ขายของประดับรูปหอไอเฟลจำลอง สร้อย จานชาม และกระเป๋าเป้ที่มีตราปารีส ไปพร้อมๆ กับหนังสือการ์ตูนเก่า เขาขายแบบนี้มาเป็นเวลา 40 ปีแล้ว

โรแบร์เล่าว่า ทุกวันนี้เขาขายหนังสือการ์ตูนไม่ได้เลยแม้แต่กับลูกค้าเก่าขาประจำ พวกเขาต้องพึ่งการขายของฝากเพื่อให้อยู่รอดได้และทำให้สามารถขายหนังสือต่อไปได้ เขามองว่าการต้องเลิกขายของฝากเพื่อแลกกับการได้เป็นมรดกโลกมันอาจจะฟังดูดีในเชิงทฤษฎี แต่ถ้าไม่ระวังให้ดี บูกีนีสทั้งหลายก็อาจจะ "จับต้องไม่ได้" ในแบบที่หมายถึง "หายไปเลย" ก็ได้

 

 

 

เรียบเรียงจาก

Paris ‘bouquinistes’ resist plans to remove riverside book kiosks for Olympics, France 24, 16-08-2023

https://www.france24.com/en/france/20230816-paris-bouquinistes-resist-plans-to-remove-riverside-book-kiosks-for-2024-olympics

Bouquinistes of Paris Turn to UNESCO to Save Ancient Trade, Voice Of America, 22-08-2023

https://www.voanews.com/a/bouquinistes-paris-unesco-save-ancient-trade/4539955.html

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net