Skip to main content
sharethis

เผยปี 2563 รัฐบาลจะช่วยพัฒนาทักษะและหางานให้กลุ่มผู้ถูกเลิกจ้าง

31 ธ.ค. 2562 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าในปี พ.ศ. 2563 ที่กำลังจะมาถึงนี้ รัฐบาลมุ่งมั่นเดินหน้าดูแลยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเน้นมาตรการแก้ปัญหาปากท้องที่จะออกแบบให้เหมาะกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

1. กลุ่มเกษตรกร มุ่งสร้างเกษตรครบวงจร และเกษตร BCG นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ทำการประเมินผลของมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำมาในปี 2562 เพื่อพิจารณาทบทวนออกมาตรการที่จะนำไปสู่การสร้างเกษตรครบวงจรและเกษตร BCG โดยจะต้องใช้ตลาดนำการผลิต กล่าวคือ การใช้ข้อมูลความต้องการของตลาดในประเทศ ตลาดส่งออก และตลาดสินค้าเกษตร BCG และเกษตรแปรรูป ที่ชัดเจนมาช่วยกำหนดแผนการผลิตพืชแต่ละชนิดให้กับเกษตรกร ควบคู่ไปกับแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรตามบริบทของพื้นที่ แผนการทำเกษตรแปลงใหญ่และการใช้นวัตกรรมเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต อย่างไรก็ตาม ในระยะเปลี่ยนผ่าน อาจจะยังต้องมีการสนับสนุนต้นทุนการผลิตสำหรับพืชบางชนิด

ทั้งนี้ การทำประกันภัยพืชผลจากความเสี่ยงของภัยธรรมชาติยังเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ สุดท้าย นโยบายที่รัฐบาลจะมุ่งไปสู่ คือ นโยบายรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตรผ่านมาตรการที่เหมาะสมสำหรับพืชแต่ละชนิด เช่น มาตรการสินเชื่อชะลอการขาย สินเชื่อรวบรวมข้าวเพือดูดซับปริมาณผลผลิตจากท้องตลาดในช่วงที่ผลผลิตออกพร้อมกัน หรือมาตรการส่งเสริมให้นำพืชผลทางการเกษตรไปใช้มากขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการแทรกแซงกลไกราคาตลาด อย่างเช่น นโยบายส่งเสริมน้ำมันไบโอดีเซล บี10 เป็นต้น

2. กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ปรับและกำหนดเกณฑ์เพื่อขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อย และพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างครอบคลุม นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ทำการศึกษาทบทวนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้นำเอาข้อมูลผู้มีบัตรสวัสดิการ 14.6 ล้านคน มาวิเคราะห์และพิจารณาทบทวนการกำหนดเกณฑ์คุณสมบัติของผู้มีรายได้น้อย เพื่อนำไปสู่การขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อยประจำปี 2563 เพื่อคัดกรองให้ได้ผู้มีรายได้น้อยจริงมาเข้าสู่มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิต 4 ด้านหลัก คือ 2.1 สวัสดิการขั้นพื้นฐาน ที่ควรจะจัดสรรตามความจำเป็นที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เกษตรกร 2.2 การพัฒนาทักษะทางอาชีพ ที่สอดคล้องกับบริบทของการทำงานและการจ้างงานในพื้นที่ 2.3 การหางานให้ทำ ทั้งงานที่มีนายจ้าง การรับงานไปทำที่บ้าน และอาชีพอิสระ 2.4 การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งหมดนี้เพื่อนำไปสู่การให้โอกาสกับผู้มีรายได้น้อย เพื่อช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างยั่งยืน

3. กลุ่มผู้สูงอายุ จัดสวัสดิการที่เหมาะสมและส่งต่อการจ้างงาน ประชากรไทยที่มีอายุเกิน 60 ปี มีจำนวนประมาณ 11.35 ล้านคน ในจำนวนนี้ 8.4 ล้านคนได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่เหลือได้รับบำนาญของหน่วยงานที่เคยสังกัด มีผู้สูงอายุที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรวม 5 ล้านคน ทั้งนี้ ผู้สูงอายุ 4.06 ล้านคน ยังคงทำงานอยู่ โดยเป็นแรงงานนอกระบบรวม 3.59 ล้านคน ซึ่งส่วนมากคืออาชีพเกษตรกร นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ โดยได้มอบหมายกระทรวงที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ การจัดสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุที่มีความแตกต่างกัน เช่น ผู้สูงอายุติดเตียง ติดบ้าน ติดสังคม รวมตลอดถึงมาตรการส่งเสริมให้บุตรหลานดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว เพื่อสร้างสังคมกตัญญู

4. กลุ่มลูกจ้าง ยกระดับคุณภาพชีวิต นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยพี่น้องที่เป็นลูกจ้าง 14.6 ล้านคน ที่ถึงแม้จะมีรายได้เกิน 100,000 บาทต่อปี จึงไม่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่อาจมีค่าครองชีพที่สูง โดยเฉพาะลูกจ้างที่ทำงานในเมือง จึงได้มอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมกับภาคเอกชน ในการกำหนดมาตรการดูแลลดภาระค่าครองชีพให้กับลูกจ้าง นายกรัฐมนตรียังได้กำชับให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระหนี้นอกระบบให้กับกลุ่มลูกจ้างต่อไปด้วย นอกจากนี้ ในรายที่ถูกเลิกจ้างงาน รัฐบาลจะได้เข้าช่วยพัฒนาทักษะและหางานให้ทำต่อไป

5. กลุ่ม ผู้ประกอบการ SMEs และ startups กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดจิ๋ว เล็ก ถึงกลาง รวมถึงสตาร์ทอัพ นับเป็นฟันเฟืองหลักในระบบเศรษฐกิจของไทยที่รัฐบาลไม่เคยละเลยมาโดยตลอด และจะยกระดับการดูแลพัฒนาผู้ประกอบการในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นด้านนวัตกรรม ความรู้ แหล่งเงินทุน และการปลดล็อคเงื่อนไขที่ทำให้เกิดข้อจำกัดต่อผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 31/12/2562

กพร.เผยฝึกทักษะแรงงาน ต.ค.-ธ.ค. 2562 เกือบ 1 ล้านคน

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่าการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563 เริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค. 2562 ครบ 3 เดือน เป็นไตรมาสแรกของงบประมาณนี้ ซึ่งมีเป้าหมายในครึ่งปีแรกจำนวน 2,071,342 คน ดำเนินการแล้วจำนวน 987,247 คน ประกอบด้วยดำเนินการเอง 17,546 คน และส่งเสริมสถานประกอบกิจการดำเนินการจำนวน 969,701 คน ในส่วนดำเนินการเองนั้น มีหลายโครงการ อาทิ โครงการยกระดับเพื่อเพิ่มศักยภาพฝีมือและสมรรถนะแรงงาน

โดยได้มอบหมายหน่วยงานของกพร.ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเร่งดำเนินการในทุกโครงการแล้ว เน้นฝึกทักษะเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ในปีที่ผ่านมาสามารถดำเนินการพัฒนาทักษะให้กับกำลังแรงงานของประเทศได้กว่า 5.3 ล้านคน ประกอบด้วย ดำเนินการฝึกเอง 1.6 แสนคน และส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการพัฒนาทักษะพนักงานของตนเองอีกกว่า 5.2 ล้านคน ซึ่งจากผลสำรวจและติดตามการมีงานทำในกลุ่มผู้ผ่านการฝึกอบรมที่กพร.ดำเนินการเอง เช่น ผู้ผ่านการฝึกเตรียมเข้าทำงาน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ว่างงาน เมื่อจบฝึกอบรมแล้วมีงานทำและมีรายได้

อธิบดี กพร. กล่าวอีกว่าส่วนกลุ่มผ่านการฝึกยกระดับฝีมือแรงงานที่เป็นพนักงานในสถานประกอบกิจการ พบว่ามีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น 40.73% รวมทั้งสามารถทำให้แรงงานอยู่ในระบบการจ้างงาน และรักษารายได้ของแรงงานคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 16,667 ล้านบาทต่อปี

“นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบอีกด้วยว่าการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานนั้น ช่วยให้ผลิตภาพแรงงานในปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 5.77% ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากำลังแรงงานที่ผ่านการฝึกอบรมนั้นมีศักยภาพสูงขึ้น ส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศในทิศทางที่ดีขึ้น โดยจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ในที่สุด ส่วนด้านสังคมนั้นคือส่งผลให้กำลังแรงงาน มีงานทำ มีรายได้และสุดท้ายคือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเอง” อธิบดีกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: คมชัดลึก, 30/12/2562

ราชกิจจาฯ ประกาศ ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2563

ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) ด้วยคณะกรรมการค่าจ้างได้มีการประชุมศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2562 และมีมติเห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างทุกคน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗๙ (๓) และมาตรา ๘๘ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑

คณะกรรมการค่าจ้างจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 9)

ลงวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2561

ข้อ 2 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสามสิบหกบาท ในท้องที่จังหวัดชลบุรีและภูเก็ต

ข้อ 3 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสามสิบห้าบาท ในท้องที่จังหวัดระยอง

ข้อ 4 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสามสิบเอ็ดบาท ในท้องที่

กรุงเทพมหานคร จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

ข้อ 5 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสามสิบบาท ในท้องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา

ข้อ 6 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยยี่สิบห้าบาท ในท้องที่จังหวัดกระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี

ข้อ 7 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยยี่สิบสี่บาท ในท้องที่จังหวัดปราจีนบุรี

ข้อ 8 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยยี่สิบสามบาท ในท้องที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม

ข้อ 9 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยยี่สิบบาท ในท้องที่จังหวัด

กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ พะเยา ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี และอุตรดิตถ์

ข้อ 10 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสิบห้าบาท ในท้องที่จังหวัด

กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ล่าพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อุทัยธานี และอำนาจเจริญ

ข้อ 11 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสิบสามบาท ในท้องที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา

ข้อ 12 เพื่อประโยชน์ตามข้อ 2 ถึงข้อ 11 ค่าว่า

“วัน” หมายถึง เวลาท่างานปกติ ของลูกจ้างซึ่งไม่เกินชั่วโมงทำงานดังต่อไปนี้ แม้นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานน้อยกว่าเวลาทำงานปกติ เพียงใดก็ตาม

(๑) เจ็ดชั่วโมง สำหรับงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง

ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541(2) แปดชั่วโมง สำหรับงานอื่นซึ่งไม่ใช่งานตาม (1)

ข้อ 13 ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นเงินแก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

ข้อ 14 ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่

1 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

สุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานกรรมการค่าจ้าง

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 28/12/2562

'กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน' ออกแถลงการณ์เรียกร้องขึ้นค่าตอบแทนเต็มเพดาน ระบุทวงถามกว่า 4 เดือน ยังเงียบ

วันที่ 28 ธันวาคม นายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้แกนนำสมาคมฯทุกภาคได้แจ้งให้ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านทุกอำเภอและทุกจังหวัดออกแถลงการณ์เพื่อยื่นผ่านนายอำเภอ ส่งถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และปลัดกระทรวงมหาดไทย ในการประชุมประจำเดือนมกราคม 2563 เพื่อติดตามผลการดำเนินการพิจารณาสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หลังจากได้ยื่นข้อเสนอนานหลายเดือน แต่ปัจจุบันไม่มีคำตอบและไม่มีความคืบหน้า

“ขอให้ทุกอำเภอร่วมกันเรียกร้องโดยใช้วิธีการและช่องทางการเรียกร้องที่ถูกต้อง โดยขอให้ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านระดับอำเภอ สำเนาเอกสาร แถลงการณ์ของสมาคมฯนำไปอ่านให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฟังในวันประชุมประจำเดือนมกราคมนี้ ให้ทำแผ่นป้ายไวนิลเพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์ อำเภอละ 1 แผ่น เป็นอย่างน้อย พร้อมป้ายกระดาษ A4 ตามข้อความตัวอย่างหรือข้อความที่เห็นสมควร โดยไม่ผิดกฎหมาย จัดให้มีการถ่ายภาพ อัดคลิปแชร์ลงไลน์หรือเฟซบุ๊ก ให้เห็นว่าแต่ละอำเภอมีส่วนร่วมในการเรียกร้องแล้ว” นายยงยศกล่าว

สำหรับข้อความที่ขอให้ทุกอำเภอเขียน อาทิ “สิ่งที่พวกเรากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เรียกร้องไปนั้น ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการไปถึงขั้นตอนใดแล้วบ้าง โปรดแจ้งให้พวกเรากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทั่วประเทศ ทราบด้วย”, “รัฐบาลโปรดช่วยดำเนินการเพิ่มอัตราเงินค่าตอบแทนเต็มเพดานโดยไม่ต้องมีเงื่อนไขการเลื่อนขั้นเงินตอบแทน กำนันมีฐานเงินค่าตอบแทน 10,000 บาท จะขยับเป็น 15,000 บาท ผู้ใหญ่บ้านมีฐานเงินค่าตอบแทน 8,000 บาท ขยับเป็น 13,000 บาท แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน มีฐานเงินค่าตอบแทน 5,000 บาท ขยับเป็น 8,000 บาท”, “คนองค์กรอื่นเขาเรียกร้องแล้วมีคนของรัฐบาลให้ความสนใจช่วยเหลือ จนสำเร็จการเรียกร้องของพวกเรากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ ไม่มีความหมายเลยหรือ”, “เตรียมตัวเถอะพวกเรากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ในเมื่อเขาตีค่าเราต่ำก็ต้องแสดงเจตนาให้เห็นว่าพวกเรากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จะตีราคาพวกเขาให้ต่ำเช่นกัน” และ “เรียกร้องไปตั้งนาน รำคาญจัง ทำไมไม่ทำให้พวกเราเสียที”

นายกสมาคมฯกล่าวว่า ที่ผ่านมากำนันผู้ใหญ่บ้านฯทั่วประเทศได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผ่านนายอำเภอ ในวันประชุมประจำเดือนนานกว่า 4 เดือน แต่ไม่มีความคืบหน้า โดยเรียกร้องให้พิจารณายกเลิกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เทศบาล 2496 มาตรา 4 มาตรา 12 วรรคสอง และมาตรา 48 เตวีสติ ทั้ง 3 มาตรา เนื่องจากเกิดผลกระทบต่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯในท้องถิ่นที่ได้รับการยกฐานะท้องถิ่นให้เป็นเทศบาลเมือง หรือเทศบาลนครแล้ว ห้ามไม่ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ในส่วนที่บัญญัติถึงการแต่งตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯในท้องถิ่นนั้น และให้บรรดาบุคคลที่เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯพ้นจากตำแหน่งและหน้าที่เฉพาะในเขตท้องถิ่นนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ และเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

“มีข้อเรียกร้องสวัสดิการช่วยเหลือรักษาพยาบาล รวมค่าห้องพิเศษ และค่าอาหารพิเศษ เช่นเดียวกับสวัสดิการของ อสม. โดยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือลดหย่อนค่าห้องพิเศษและค่าอาหารพิเศษจากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่เกษียณแล้วมีสิทธิแต่งเครื่องแบบสีกากีคอพับ และชุดเครื่องแบบปกติขาวได้ เช่นเดียวกับข้าราชการประจำในโอกาสอันควรตามที่กำหนดไว้ตามระเบียบข้อบังคับ การปรับเปลี่ยนบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้มีความเป็นสากลโดยการเพิ่มเติมข้อความเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งชื่อ และตำแหน่งของผู้ถือบัตร เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อแสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ประชาชนคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ทราบ” นายยงยศกล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 28/12/2562 

กสร. เปิดเสนอชื่อ 'สตรีทำงานดีเด่น 2563' เพื่อเชิดชูเกียรติและรับโล่รางวัลในงานวันสตรีสากล หมดเขต 29 ม.ค. 2563

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2562 นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่ากรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้จัดงานวันสตรีสากลขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานสตรีว่าเป็นกำลังสำคัญในการช่วยพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

โดยมีกิจกรรมหลักคือ การคัดเลือกสตรีทำงานดีเด่น เพื่อเชิดชูเกียรติและยกย่องให้เป็นตัวอย่างที่ดีของสตรีทำงาน สำหรับในปี 2563 นี้ กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 6 มีนาคม 2563 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ มีแนวคิดหลักในการจัดงานว่า “แรงงานสตรี ร่วมแรงร่วมใจ สร้างความเสมอภาคสู่สังคมไทย” และได้กำหนดประเภทสตรีทำงานดีเด่น จำนวน 8 ประเภท ได้แก่ สตรีนักบริหารดีเด่น สตรีผู้ปฏิบัติการดีเด่น สตรีเครือข่ายด้านแรงงานดีเด่น สตรีผู้ประกอบอาชีพอิสระดีเด่น ศิลปินสตรีดีเด่น สื่อมวลชนสตรีดีเด่น สตรีองค์กรพัฒนาเอกชนดีเด่น และสตรีนักวิชาการด้านแรงงานดีเด่น

ธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า กสร. ขอเชิญชวนร่วมเสนอชื่อสตรีทำงานดีเด่น ประจำปี 2563 โดยสามารถดาวน์โหลดแบบเสนอประวัติ พร้อมคุณสมบัติ หลักเกณฑ์การคัดเลือกสตรีทำงานดีเด่น และรายละเอียดต่าง ๆ ได้ที่ www.labour.go.thสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองคุ้มครองแรงงาน โทร 0 2246 8024, 0 2246 8006 ในวันเวลาราชการ หรืออีเมล lpnd@labour.mail.go.th ตั้งแต่บัดนี้ถึง 29 ม.ค. 2563

ที่มา: คมชัดลึก, 27/12/2562 

'กมธ.แรงงาน' เผยรับสารพัดเรื่องร้อน เล็งศึกษาตั้ง 'สภาแรงงานแห่งชาติ' แก้ปัญหา

วันที่ 26 ธ.ค. 2562 ที่รัฐสภา (เกียกกาย) นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธานกรรมาธิการการแรงงาน พร้อมด้วย ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ใน กมธ. การแรงงาน อาทิ นายทวีศักดิ์ ทักษิณ โฆษกคณะกรรมาธิการ นายจรัส คุ้มไข่น้ำ เลขานุการคณะกรรมาธิการ ร่วมรับหนังสือร้องเรียนจากลูกจ้าง บริษัท พงศ์พารา โคดัน รับเบอร์ จำกัด จ.สมุทรสาคม กรณีปิดกิจกรรมเลิกจ้างพนักงานกว่า 1 พันคน และบริษัทมิซูโนพลาสติก จำกัด จ.พระนครศรีอยุธยา กรณีเลิกจ้างประธานสหภาพและสมาชิกอีกกว่า 30 คน

นายสุเทพ กล่าวว่าตอนนี้สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ตามที่เป็นข่าวตามหน้าสื่อ คือ หลายบริษัทเลิกจ้าง ปล่อยคนงานลอยแพ อย่างเมื่อวันก่อนตนเดินทางไปดูที่ จ.ชลบุรี ก็พบสภาพนายจ้างปิดโรงงาน หนีคนงาน มีคนงานมาเฝ้ารอที่หน้าประตูโรงงาน เพื่อทวงถามเงินเดือนที่ไม่ได้รับรวมถึงเงินชดเชยการเลิกจ้าง หรืออย่างวันนี้ พี่น้องคนทำงานจาก จ.สมุทรสาคร ก็เดินทางมายื่นหนังสือกรณีเดียวกัน ซึ่งเมื่อวานตนได้เดินทางเข้าไปสอบถามข้อมูลในพื้นที่เบื้องต้นแล้ว และก็เห็นควรว่าจะเดินทางมายื่นหนังสือ เข้าสู่ กมธ. ให้ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ตนเห็นว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่กระทรวงแรงงาน และรัฐบาลต้องทำงานอย่างตั้งรับให้มากขึ้น เพราะไม่อย่างนั้น ผู้ใช้แรงงานจะได้รับความเดือดร้อนมากยิ่งขึ้นอีก

ด้าน นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ 1-2 เดือน เราเคยแถลงข่าวออกมาว่าในช่วงปีใหม่และหลังปีใหม่ ปัญหาเกี่ยวกับพี่น้องแรงงาน อย่างการปิดกิจการ การเลิกจ้างจะมีความรุนแรงมากขึ้น และตอนนี้ก็เริ่มเป็นจริงแล้ว ซึ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ยังถือว่าพอติดตามเรื่องและเยียวยากันได้ แต่สำหรับพี่น้องที่กำลังเดินทางกลับไปพักผ่อนช่วงวันหยุด สิ่งที่เราเป็นห่วงและไม่อยากจะให้เกิดขึ้นคือ หลังจากกลับมาทำงานต่อ แล้วสถานประกอบการที่พวกเขาทำงานอยู่นั้นปิดตัวลง ในส่วนของ กมธ.การแรงงาน นั้น เรามองแล้วว่าปัญหานี้จะยืดเยื้อยาวนาน โดยเราจะไม่ทำงานแบบตั้งรับปัญหาเพียงอย่างเดียว แต่จะหาแนวทางป้องกันโดยได้ทำการตั้งอนุกรรมาธิการ 2 คือ อนุกรรมาธิการศึกษาเชิงนโยบายและกฎหมายแรงงาน และ อนุกรรมาธิการศึกษาสถานการณ์ด้านแรงงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และแรงงานสัมพันธ์

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่าหนึ่งในเรื่องสำคัญที่เราทำการศึกษา และอยากผลักดันให้เกิดขึ้น คือเรื่องที่ปีกแรงงานพรรคอนาคตใหม่พูดคุยกันมานาน นั่นคือ การมีสภาแรงงานแห่งชาติ ซึ่งจะถือเป็นร่มใหญ่ให้กับพี่น้องแรงงานทุกคน เพราะวันนี้เรามีสภาหอการค้า เรามีสภาอุตสาหกรรมที่เป็นการรวมกันของนายจ้าง ดังนั้น การมีสภาแรงงานแห่งชาติ ต่อไป แรงงานที่ไม่มีสหภาพดูแล เราจะใช้สภาแห่งนี้ดูแลได้ เพราะตอนนี้ แรงงานทั้งในและนอกระบบ มีอยู่กว่า 30 ล้านคน” นายทวีศักดิ์ กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 26/12/2562 

ยกฐานะ อสม.เป็นหมอประจำบ้าน-รับเงิน 2,500 บาทต่อเดือน เริ่มลงมือปฏิบัติการแล้ว

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2562 นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสารณสุข และนพ.วิฑิต สฤษฎีชัยกุล สสจ.บุรีรัมย์ตรวจเยี่ยม การอบรม อสม.ยกฐานะเป็นหมอประจำบ้านที่ห้องประชุมอำเภอสตึก จ.บุรีรัมย์ ซึ่งจัดอบรม 3 วัน 24-26 ธ.ค. 2562 เลือกมาจากประธาน อสม.หมู่บ้าน 179 หมู่บ้าน 179 คน โดยทั้งประเทศ 80,000 คน จะอมรมพร้อมกันทั้งปรเทศในเดือน ธ.ค. 2562-ม.ค. 2563 มีวิทยากรครู ข.ซึ่งคัดเลือกจากระดับจังหวัด/อำเภอ/ตำบลเป็นนวิทยากรช่วยกันสอน ได้ซักถาม อสม.มีความภูมิใจดีใจที่จะได้เป็น 'อสม.-หมอประจำบ้าน' ซึ่ง อสม.มีความรู้ความเข้าใจตามเป้าหมายการอบรมดีมาก

เมื่อเสร็จสิ้นการอบรมประธาน อสม.หมู่บ้าน แล้วในช่วง มค.-กพ. 2563 จะมีการอบรมประธานอสม.ระดับตำบลๆ ละ 1 คน (ทั้งประเทศมี 10,000 คน) โดยจัดอบรมที่ รพสต.ของตนเองเป็นการอบรมภาคปฏิบัติเพิ่มเติม 3 วันเพื่อปฏิบัติหน้าที่ 'อสม.-หมอประจำบ้าน' อย่างมีคุณภาพ หวังลดความแออัดที่โรงพยาบาลได้ และเริ่มรับเงินเพิ่มจาก 1,000 บาท เป็น 2,500 บาทตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ย. 2563 (6 เดือนเป็นเงิน 9,000 บาท ต่อคน) ซึ่งในขณะนี้คณะทำงานวิจัยจาก มหาวิทยาลัยมหิดลและ สวรส.และทีมงานของ กรม สบส.จะเริ่มเก็บผลงานวิจัยเพื่อเตรียมการดำเนินการตามนโยบายนี้ต่อไปในปี 2564

ที่มา: เว็บไซต์พรรคภูมิใจไทย, 26/12/2562 

ก.แรงงาน แจงปีงบฯ 2562 มีสถานประกอบการเลิกกิจการ 1,017 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 7,703 คน

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงประเด็นที่มีหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์การปิดกิจการและการเลิกจ้างและอาจเกี่ยวโยงกับสหภาพแรงงานว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มิได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใดได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างลูกจ้าง และการปิดกิจการ รวมทั้งสถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงานอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบตัวเลขลูกจ้างมายื่นคำร้องให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมาย ในปีงบประมาณ 2562 พบว่า มีสถานประกอบการเลิกกิจการ 1,017 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 7,703 คน ขณะที่ในปีงบประมาณ 2561 มีสถานประกอบการเลิกจ้าง 607 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบและมายื่นหนังสือร้องเรียน 5,619 คน เมื่อเทียบแล้วพบว่าปี 2562 มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 67.55 ลูกจ้างได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.09

และหากเทียบตั้งแต่ ต.ค. – ธ.ค. 2561 พบว่า มีสถานประกอบการปิดกิจการ 296 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1,101 คน ส่วน ต.ค.-ธ.ค. 2562 มีสถานประกอบการเลิกกิจการไปแล้ว 365 แห่ง มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2,870 คน ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่นับรวม 2 กรณีที่เพิ่งมีการเลิกจ้างล่าสุด คือ จังหวัดชลบุรี ที่มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 63 ราย และจังหวัดสมุทรสาครที่มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 997 ราย

จากข้อมูลผู้ประกันตนที่เข้าสู่ระบบตามมาตรา 33 ของสำนักงานประกันสังคม และผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างในเดือนพฤศจิกายน 2562 พบว่า มีผู้ประกันตนเข้าสู่ระบบประกันสังคม จำนวน 71,917 คน และมีผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง จำนวน 27,859 คน เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ประกันตนใหม่ที่เข้าสู่ระบบจะสูงกว่าจำนวนแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง 44,058 คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการเลิกจ้าง มีการปิดกิจการ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีการเปิดกิจการและมีการจ้างงานเพิ่มเช่นเดียวกัน

นายอภิญญากล่าวอีกว่า สำหรับกรณีการเลิกจ้างล่าสุด บริษัทเซอิชิน จังหวัดชลบุรี พนักงานตรวจแรงงานได้รับคำร้องของลูกจ้างที่ยังไม่ได้รับค่าชดเชย จำนวน 50 คน ไว้เรียบร้อย บริษัทมิซูโน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลูกจ้างได้ยื่นคำร้อง ต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กรณีการกระทำไม่เป็นธรรม

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการฯ และบริษัท พงศ์พาราโคดันรับเบอร์ จังหวัดสมุทรสาคร พนักงานตรวจแรงงานได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบพบว่าบริษัทได้จ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้างตามกฎหมาย มีลูกจ้าง 299 คน ได้รับเงินเรียบร้อยแล้ว ส่วนลูกจ้างที่เหลือบริษัทจะโอนเข้าบัญชีภายในวันที่ 26 ธันวาคม 2562 ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานจะติดตามการจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างของบริษัทดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินอย่างครบถ้วน

ส่วนข้อกังวลกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าการปิดกิจการของสถานประกอบกิจการเป็นการใช้โอกาสในการทำลายสหภาพแรงงานนั้น พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ได้ให้สิทธิในการรวมตัวของลูกจ้างในรูปแบบของการจัดตั้งสหภาพแรงงาน กสร. ได้ส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ในรูปแบบทวิภาคีในสถานประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวได้มีคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งเป็นคณะบุคคลที่จะพิจารณากรณีที่มีการกระทำอันไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง

อย่างไรก็ตาม การเลิกจ้างของสถานประกอบกิจการทั้งสองแห่ง คือ บริษัทมิซูโน พลาสติก จำกัด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และบริษัทพงศ์พาราโคดันรับเบอร์ จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร ยังไม่สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นการทำลายสหภาพแรงงาน เนื่องจากยังคงต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย ทั้งในเรื่องปัจจัยภายในของสถานประกอบกิจการและสภาพเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ หากลูกจ้างเห็นว่าการกระทำของนายจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมก็สามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้คณะกรรมการฯ วินิจฉัยชี้ขาดภายใน 90 วัน นับแต่วันยื่นคำร้อง

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 26/12/2562 

กสร.เร่งตรวจสอบปมปิดกิจการล้ม 'สหภาพแรงงาน' ชี้ไม่ผิดหากเปิดใหม่แต่ไม่ควรทำ

จากกรณีกระแสข่าวสถานประกอบการปิดกิจการ เลิกจ้างแรงงานหลายแห่งพร้อมกันช่วงท้ายปี จากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ บางแห่งไม่จ่ายเงินค่าชดเชย และผู้ประกอบการบางรายใช้โอกาสนี้ยุบสหภาพแรงงานออกไป จึงสอบถามถึงมาตรการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2562 นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน แถลงข่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า กสร.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปดูแล เช่น ชี้แจงสิทธิของลูกจ้างที่ควรได้รับ รับคำร้องจากลูกจ้าง อย่างบริษัทแห่งหนึ่งที่ชลบุรี เลิกจ้าง 63 คน มี 13 คน ได้รับเงินชดเชยไปแล้ว อีก 50 คนยังไม่ได้ เพราะมีอายุงานเยอะ ยอดเงินชดเชยสูง นายจ้างจึงยังมีปัญหาในการจ่ายเงิน พนักงานตรวจแรงงานก็อยู่ระหว่างพิจารณาคำร้องของแรงงานให้เสร็จภายใน 45 วัน แต่ตนได้สั่งการให้ดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อลดความเดือดร้อนของลูกจ้าง ส่วนบริษัท มิซูโนพลาสติก ที่จ.พระนครศรีอยุธยา ลูกจ้างยื่นคำร้องว่านายจ้างปฏิบัติไม่เป็นธรรม ทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ในขั้นตอนการวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ส่วนบริษัท พงศ์พาราโคดันรับเบอร์ จำกัด ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เลิกจ้างพนักงาน 997 คน จากการตรวจสอบพบว่าลูกจ้างได้รับเงินชดเชยแล้ว 229 คน ส่วนที่เหลือบริษัทจะโอนเงินเข้าบัญชีภายในวันที่ 26 ธ.ค.นี้

นายอภิญญา กล่าวว่า ส่วนกรณีที่พนักงานส่วนใหญ่สงสัยการปิดกิจการว่า มีปัญหาจนต้องปิดกิจการจริงๆ หรือเพียงแค่จะเลิกจ้างหรือไม่ เจ้าหน้าที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบ รวมทั้งตรวจสอบในส่วนงานที่ยังมีการดำเนินการอยู่ว่า เป็นของบริษัทนี้ หรือของบริษัทอื่นมาเช่าพื้นที่ผลิต รวมถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีคนมองว่าเป็นการใช้โอกาสนี้ในการทำลายสหภาพแรงงานจริงหรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลา หากลูกจ้างยังสงสัยสามารถยื่นต่อกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ โดยทางเราจะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่อยู่แล้ว ไม่ต้องเดินทางมาที่ส่วนกลางก็ได้ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นบริษัทดังกล่าวไม่มีการผลิตสินค้าในรายการที่สหรัฐฯ จะตัดจีเอสพีไทยแต่อย่างใด

“เรื่องแรงงานสัมพันธ์ ปัจจุบันนี้นายจ้างมีความรู้และเข้าใจมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างไรก็ตาม คนที่ประกอบกิจการค้ามานาน มาประกาศเลิกแล้วไปตั้งกิจการใหม่ในประเภทเดียวกันนั้นค่อนข้างจะทำให้ภาพลักษณ์ของผู้บริหาร ชื่อเสียงที่ทำมาไม่ได้รับความเชื่อถือ เรียกว่าได้ไม่คุ้มเสีย แต่ในข้อกฎหมายไม่มีกำหนดว่าปิดแล้วไปเปิดใหม่จะผิดอย่างไร นี่เป็นเรื่องจรรยาบรรณ จริยธรรมของผู้บริหารมากกว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำของผู้ประกอบการ เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี” อธิบดีกสร.กล่าว

นายอภิญญา กล่าวว่าสำหรับสถานการณ์การเลิกจ้าง และด้านแรงงานสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงาน ปีงบประมาณ 2561 มีสถานประกอบการเลิกจ้าง 607 แห่ง ลูกจ้างรับผลกระทบและมายื่นหนังสือร้องเรียนกับ กสร. 5,619 คน ปีงบฯ 2562 สถานประกอบกิจการเลิกกิจการ 1,017 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 7,703 คน อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) พบว่าในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมามีผู้เข้าสู่ระบบประกันสังคม 71,917 ส่วนผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง 27,859 คน จะเห็นว่าตัวเลขเข้าสู่ระบบใหม่สูงกว่านั่นแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการเลิกจ้าง ก็มีการจ้างงานเพิ่ม เมื่อมีการปิดกิจการ ก็มีการเปิดกิจการเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ประมาณต้น ก.พ.2563 พ.ร.บ.งบประมาณจะมีการประกาศใช้ ทำให้งบที่จะออกมาสู่ระบบและกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะมีผล ดังนั้นเรายังมองในแง่ที่ว่าเศรษฐกิจปีหน้า อาจจะไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด เวลาร้ายสุดก็คงเท่าปี 2562 ฉะนั้นปี 2563 จะชะลอตัว แต่อัตราการเพิ่มไม่มากแต่อยู่ในระดับที่ดีกว่าปีนี้

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 25/12/2562 

'กมธ.แรงงาน' เคลียร์ 334 ลูกจ้าง 'บ.บอดี้แฟชั่น' ได้รับชดเชยเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

25 ธ.ค. 2562 ที่รัฐสภา (เกียกกาย) นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธานกรรมาธิการการแรงงาน กล่าวว่า ที่ประชุม กมธ. มีวาระพิจารณาเรื่อง การติดตามผลการดำเนินงานตามเรื่องร้องเรียน กรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (ฉบับแก้ไขปรับปรุง 2562) ของนางปีใหม่ รัฐวงษา และคณะ ซึ่งกรณีนี้พนักงาน บริษัท บอดีแฟชั่น 334 คน ร้องเรียน คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) เพื่อขอให้ได้รับสิทธิตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด จากการที่นายจ้างบริษัทดังกล่าวปิดกิจการ โดยที่ลูกจ้างไม่ได้รับชดเชย ซึ่งที่ผ่านมา นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยใช้ข้ออ้างว่าลูกจ้างกระทำผิด ไม่ยอมเข้าทำงาน เลยไม่จ่ายค่าชดเชย

แต่ล่าสุด ผู้ตรวจแรงงานได้ตรวจสอบและออกคำสั่งแล้วว่า การกระทำของลูกจ้างไม่ผิด เพราะลูกจ้างไม่ไปทำงานนั้น เนื่องจากเป็นบริษัทใหม่ โดยที่ประชุม กมธ.ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาชี้แจง และล่าสุดได้ข้อสรุปว่ากรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน จะมีคำสั่งเตรียมประสานเรื่องนี้ เพื่อให้ลูกจ้าง 1.ได้รับค่าชดเชย 2.ประกันสังคมชดเชยในช่วงว่างงาน

ที่มา: สยามรัฐ, 25/12/2562 

พนักงานโรงงานอะไหล่รถยนต์ นิคมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี ขอความเป็นธรรม หลังโรงงานปิดกิจการโดยไม่จ่ายเงินชดเชย อ้างขาดทุนสะสม

24 ธ.ค.2562 จากกรณีปรากฎภาพพนักงาน บริษัท เซอิชิน จำกัด ซึ่งประกอบกิจการด้านอะไหล่รถยนต์ ในนิคมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี ชุมนุมเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชย หลังบริษัทประกาศปิดกิจการโดยไม่จ่ายเงินชดเชย ล่าสุดทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถามไปยังพนักงานบริษัทที่ได้รับผลกระทบโดยระบุว่า บริษัทแจ้งว่าขาดทุนสะสมมาหลายเดือนจึงต้องปิดสาขาที่ จ.ชลบุรี

วันเพ็ญ แซ่ตั๊น ตัวแทนพนักงานฝ่ายผลิตโรงงานระบุว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือน ก.ย. - พ.ย. ที่ผ่านมา บริษัทให้ทำงานวันจันทร์ - ศุกร์ หยุดวันเสาร์ - อาทิตย์ โดยจ่ายเงินเดือน 75 % และในช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาฝ่ายกฎหมายได้เข้ามาพูดคุยกับพนักงาน โดยระบุว่าจะจ่ายเงินชดเชย 3 เดือนแต่ให้เขียนใบลาออกซึ่งพนักงานไม่ยินยอม โดยได้นัดหารือกันอีกครั้งในวันที่ 29 พ.ย.2562 ที่ผ่านมาจนกระทั่งวันที่ 20 ธ.ค.2562 ที่ผ่านมา พนักงานทั้งหมดได้รับเงินเดือนครั้งสุดท้ายและได้รับแจ้งว่าไม่ต้องมาทำงานแล้ว ซึ่งจนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อจากผู้บริหาร

บริษัทแจ้งว่าขาดทุนสะสมมาตั้งแต่เดือน มี.ค.และจ่ายเงินเดือน 75 % ซึ่งพนักงานก็มีทั้งที่ยอมรับและไม่ยอมรับ แต่บริษัทก็จ่ายเพียง 75 % เพราะที่ผ่านมาในปี 2552 เคยผ่านวิกฤตเช่นนี้มาแล้ว โดยให้ทำงานสัปดาห์เว้นสัปดาห์ และจ่ายเงินเดือน 75 % ซึ่งครั้งนี้เราก็ช่วยกันเพราะอยู่กันอย่างพี่น้อง เพราะมีเงินเดือน มีงานทำก็โอเค

วันเพ็ญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้พนักงานทั้งหมด 50 คน ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1.ให้บริษัทจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย 2.จ่ายเงินเดือนที่หักไปในช่วงก่อนหน้านี้เดือนละ 25 % และ 3.จ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานที่ไม่ได้ลาพักร้อนตามจำนวนวันที่ไม่ได้ใช้สิทธิลาพักร้อน ซึ่งพนักงานขณะนี้เป็นชาย 11 คน ผู้หญิง 39 คน อายุงานตั้งแต่ 2 - 18 ปี โดยมีพนักงานที่ตั้งครรภ์ 2 คน เป็นผู้พิการ 2 คน และพนักงานที่รอเกษียณ 3 คน ซึ่งเงินเดือนงวดสุดท้ายที่ได้รับคือวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมาซึ่งได้ใช้จ่ายไปกับค่าที่พัก ค่าเล่าเรียนบุตรไปแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอคำตอบจากผู้บริหารบริษัทในการจ่ายเงินชดเชย

นอกจากนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรงแรงงาน ได้เข้าพูดคุยกับพนักงานโรงงานดังกล่าวที่ได้รับผลกระทบแล้ว โดยให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย รวมถึงประสานไปยังนายจ้างครั้งแรกแล้ว ซึ่งหากยังไม่สามารถติดต่อได้อาจจะต้องส่งฟ้องศาลแรงงานต่อไป

ตอนนี้พนักงานยังคงปักหลักชุมนุมบริเวณหน้าโรงงานเพื่อรอฟังคำตอบจากผู้บริหาร โดยช่วยกันทำอาหารและดูแลกัน แต่ในโรงงานก็มีเพียง ผู้จัดการโรงงานที่ไม่สามารถให้คำตอบได้ ซึ่งครั้งล่าสุดผู้บริหารชาวญี่ปุ่นมาจ่ายเงินเดือนจากนั้นก็ไม่ได้พบปะหรือพูดคุยกันอีก

ด้านนายมานพ พันธุ์วร สภาเทศบาลดอนหัวฬ่อ จ.ชลบุรี ได้รับแจ้งจากลูกบ้านซึ่งทำงานที่บริษัทดังกล่าว เบื้องต้นได้เข้ามาดูและรักษาาความปลอดภัย ให้กับพนักงานที่ชุมนุมเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย ซึ่งลูกจ้างเหล่านี้ต้องการเพียงเงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายเท่านั้น ได้ข้อมูลเบื้องต้นว่ามีลูกจ้างประมาณ 50 คน แต่ล่าสุดก็ยังไม่สามารถติดต่อนายจ้างได้

ที่มา: ThaiPBS, 24/12/2562 

สธ.กำชับ รพ.จัดเวร เพิ่มหมอ พยาบาล รับมือปีใหม่ สบส.เตือน รพ.เอกชนประเมินป่วยวิกฤตโปร่งใส

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังปล่อยขบวนผู้บริหาร สธ.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความพร้อมโรงพยาบาลดูแลประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 ตามเส้นทางถนนสายหลักและสถานที่ท่องเที่ยว อาทิ สระบุรี ลพบุรี เชียงใหม่ เชียงราย ระยอง ชลบุรี สงขลา สุราษฏร์ธานี และนครศรีธรรมราช ว่า ช่วง 7 วันเทศกาลปีใหม่ ได้ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่อยู่บนถนนสายหลัก และสถานที่ท่องเที่ยว จัดเวร เพิ่มกำลังแพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุข ดูแลประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวตลอด 24 ชั่วโมง โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน บูรณาการการทำงานกับศูนย์ความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ร่วมให้บริการที่จุดบริการประชาชนกับหน่วยงานที่ สำหรับโรงพยาบาลได้จัดระบบห้องฉุกเฉินคุณภาพ ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการหมายเลข 1669 รับเร็ว ส่งต่อถึงมือแพทย์อย่างรวดเร็ว รถพยาบาลต้องได้มาตรฐาน เตรียมทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ไอ.ซี.ยู. สำรองเตียง เลือด ออกซิเจน อุปกรณ์การแพทย์ ศูนย์ส่งต่อ พร้อมให้บริการผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง มีจำนวนพนักงานขับรถยนต์ที่ผ่านการอบรมตามจำนวนระยะที่กำหนด และตรวจวัดแอลกอฮอล์ก่อนปฏิบัติหน้าที่ส่งต่อผู้ป่วยกรณีผู้ขับขี่ได้รับบาดเจ็บให้ดำเนินการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดทุกราย

นอกจากนี้ ยังต้องเพิ่มมาตรการป้องกันเหตุความรุนแรงในสถานพยาบาล โดยให้ทุกจังหวัดประสานตำรวจท้องที่ออกตรวจตรา และให้รีบแจ้งเหตุกรณีมีผู้เข้ารับการรักษาจากเหตุทะเลาะวิวาท ส่งเจ้าหน้าที่และกำลังพลให้เพียงพอต่อการระงับเหตุ เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยและญาติที่มารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน โดยจะดำเนินคดีผู้ก่อเหตุขั้นเด็ดขาดเพื่อเป็นตัวอย่างแก่สังคม สำหรับการมาเยี่ยมโรงพยาบาลสระบุรีและลพบุรี ซึ่งอยู่ในเส้นทางหลักสู่ภาคอีสาน โดยโรงพยาบาลสระบุรีได้เตรียมความพร้อมดูแลผู้บาดเจ็บ เพิ่มจำนวนบุคลากร แพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน พยาบาล เจ้าหน้าที่อย่างเพียงพอ สำรองเลือด ยาและเวชภัณฑ์ เตียงผู้ป่วยเพิ่ม เตรียมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด รวมทั้งมีระบบเครือข่ายส่งต่อผู้ป่วยอุบัติเหตุระหว่างโรงพยาบาลสระบุรี และโรงพยาบาลใกล้เคียง อาทิ โรงพยาบาลพระพุทธบาท โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช โรงพยาบาลนครนายก

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ช่วงปีใหม่หากเจ็บป่วยฉุกเฉิน การส่งต่อผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากล่าช้าไปแม้เพียงนาทีเดียวก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ร่างกาย โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน ที่ผ่านมา สธ.ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2545) เรื่องมาตรฐานการส่งต่อผู้ป่วย ให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งถือปฏิบัติให้เกิดเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยกำหนดให้ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลต้องส่งต่อผู้ป่วยด้วยยานพาหนะและวิธีการที่เหมาะสมปลอดภัย ยานพาหนะในการส่งต่อผู้ป่วยจะต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีพที่จำเป็น อาทิ ชุดใส่ท่อหายใจ ชุดให้ออกซิเจน เครื่องวัดความดันโลหิตและหูฟัง เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ มีความมั่นคงแข็งแรงและมีความสะดวกสบายต่อผู้ป่วยในการเดินทาง และหากเป็นกรณีการรับผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินจะต้องจัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพมาดูแลผู้ป่วยด้วยทุกครั้ง หากสถานพยาบาลปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมให้ยานพาหนะในการขนส่งผู้ป่วยมีอุปกรณ์ที่จำเป็นหรือจัดแพทย์ออกไปให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินในระหว่างการนำส่งจากที่พักมายังสถานพยาบาลหรือนำส่งระหว่างสถานพยาบาลด้วยกัน ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการก็จะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

นพ.ธเรศ กล่าวว่า เมื่อนำส่งผู้ป่วยถึงสถานพยาบาลแล้ว ขอให้ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยให้พ้นอันตรายและปฏิบัติตามกฎหมายสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด มีการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยว่าอยู่ในเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หรือไม่ โดยใช้ระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย (UCEP) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เป็นหลักในการประเมิน เพื่อให้การประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) เป็นไปด้วยความโปร่งใส ถูกต้องแม่นยำ ซึ่งหากผลการประเมินพบว่าผู้ป่วยเข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) สถานพยาบาลจะต้องให้การรักษาพยาบาลอย่างเต็มความสามารถ ทั้งนี้ หากพบสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดปฏิเสธการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่าย หากอยู่ในเขต กทม.สามารถร้องเรียนที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรม สบส. ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7057 และในส่วนภูมิภาคร้องเรียนได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 24/12/2562 

สื่อตั้งข้อสงสัยเบื้องหลังปิดกิจการ 'พงศ์พารา' ตั้งบริษัทใหม่ ดึงเฉพาะคีย์แมน-ปรับลดค่าจ้าง

24 ธ.ค. 2562 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าจากกรณีที่บริษัท พงศ์พาราโคดันรับเบอร์ จำกัด เลขที่ 402 ซอยเจริญรัชดา ถนนเศรษฐกิจ 1 ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ออกประกาศปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานโดยจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายกำหนด อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจตกต่ำ มีความจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางธุรกิจ โดยจะจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า วันพักร้อนที่เหลือเท่ากับค่าจ้าง 1 วัน และค่าชดเชยจ่ายตามอายุงานที่กฎหมายกำหนด ลงนามโดย น.ส.ศลินลา สุทธิจิตรานนท์ กรรมการบริหาร และนายนพคุณ สุทธิจิตรานนท์ กรรมการผู้จัดการ ท่ามกลางพนักงานที่มารวมตัวกันต่างโศกเศร้าเสียใจจำนวนมาก โดยพบว่าบริษัทแห่งนี้มีลูกจ้างทั้งหมด 997 คน แบ่งเป็นคนไทย 897 คน พม่า 100 คน รวมเงินชดเชยที่ต้องจ่ายให้กับลูกจ้างทุกกรณีรวมเป็นเงิน 114 ล้านบาท เหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ก่อนหน้านี้มีการตั้งบริษัทใหม่ที่ชื่อว่า บริษัท พี อาร์ โปรดักชั่น จำกัด โดยมีการคัดเลือกพนักงานให้สมัครเข้าทำงานกับ บริษัท พี อาร์ โปรดักชั่น จำกัด

1. สำหรับผู้ที่มีอายุไม่ถึง 50 ปี และได้รับการคัดเลือกให้สมัครเข้าทำงานใหม่ มีเงื่อนไขดังนี้ 1.1 ผู้ที่มีค่าจ้างไม่ถึงค่าจ้างขั้นต่ำปรับให้ได้เท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ 1.2 ผู้ที่ได้ค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำหรือมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้วให้เท่าค่าจ้างเดิม 1.3 สำหรับบางตำแหน่งอาจพิจารณาปรับค่าจ้างใหม่ตามความเหมาะสม 1.4 พนักงานที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน ให้จ้างเป็นรายวันตามเดิมไปจนกว่าจะมีเปลี่ยนแปลง 1.5 พนักงานที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนให้จ้างเป็นรายเดือนตามเดิมไปจนกว่าจะมีเปลี่ยนแปลง

2. สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50-60 ปี จ้างแบบสัญญาจ้างตามโครงการคราวละ 11 เดือน ยังคงได้สวัสดิการทั่วไปเหมือนเดิม หรือขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทฯ และเมื่อครบอายุสัญญาแล้ว ให้ถือว่าสิ้นสุดการจ้างโดยบริษัทฯ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใดๆ (ให้ต่อสัญญาคราวละ 11 เดือน) 3. พนักงานที่ผ่านการทดลองงาน ทางบริษัทฯ จะพิจารณาตามความเหมาะสมและความสามารถในการทำงาน ทั้งนี้ขึ้ยอยู่กับดุลพินิจของบริษัทฯ 4. สำหรับพนักงานบางคนที่มีฐานค่าจ้างสูงเกินตำแหน่งหรือเกินอัตราขั้นเงินเดือนของบริษัทใหม่ อาจมีการปรับลดจากฐานค่าจ้างเดิมเป็นกรณีไป และ 5. สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจ้างตามโครงการพิเศษเดิมอยู่แล้วยังคงให้ถือตามสัญญาเดิม

“หมายเหตุ พนักงานทุกคนที่ถูกเลิกจ้างและบริษัท พงศ์พาราโคดันรับเบอร์ จำกัด ได้จ่ายค่าชดเชยไปแล้ว จึงถือว่าสภาพการจ้างเดิมได้สิ้นสุดไปแล้ว เมื่อมาเริ่มงานกับบริษัทฯ ใหม่จึงให้นับอายุงานใหม่, รับสวัสดิการใหม่ตามเกณฑ์ของบริษัทใหม่ และต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของบริษัทใหม่” ประกาศเกณฑ์ค่าจ้างใหม่ ระบุ

สำหรับบริษัท พงศ์พาราโคดันรับเบอร์ จำกัด เป็นผู้ผลิตยางขอบกระจก ยางขอบประตู ยางฝาท้าย ยางร่องกระจก คิ้วข้าง ยางท่อน้ำ-ท่อน้ำมัน สายแอร์ สายแก๊ส สายไฮโดรลิค ยางกันกระแทก ยางอัดขึ้นรูปต่างๆ ท่อซิลิโคน และสายเชื่อมแก๊ส ข้อมูลจากเว็บไซต์ pcr.co.th ระบุโดยสรุปว่า ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2511 ภายใต้ชื่อ โรงงานพงศ์พารา ก่อนที่จะก่อตั้งบริษัท พงศ์พาราโคดันรับเบอร์ จำกัด ในปี 2522 โดยร่วมทุนระหว่าง โคดัน กัมมี่ ประเทศเดนมาร์ค กับ บริษัท พงศ์พาราโพลิเมอร์ โดยมีโรงงานอยู่ 2 แห่ง ส่งออกผลิตภัณฑ์ไป 40 ประเทศทั่วโลก

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท พงศ์พาราโคดันรับเบอร์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2522 ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท มีนายเกษม สุทธิจิตรานนท์ นายนพคุณ สุทธิจิตรานนท์ นายอดิศักดิ์ สุทธิจิตรานนท์ น.ส.ศลินลา สุทธิจิตรานนท์ น.ส.ธันยพร สุทธิจิตรานนท์ น.ส.สิริกร สุทธิจิตรานนท์ และเอกพล ดำรงทรัพย์วณิช เป็นกรรมการบริษัท วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน ประกอบกิจการผลิต รับจ้างผลิต จำหน่ายผลิตภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ทำด้วยยาง พลาสติกซิลิโคนฯ วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ทำด้วยยาง ในปี 2561 มีสินทรัพย์รวม 1,334.64 ล้านบาท หนี้สินรวม 367.83 ล้านบาท มีรายได้รวม 1,941.19 ล้านบาท กำไรสุทธิ 70.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 กำไรสุทธิ 35.79 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 96.55%

ส่วนชื่อบริษัท พี อาร์ โปรดักชั่น จำกัด ยังไม่พบชื่อดังกล่าวในคลังข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าแต่อย่างใด

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 24/12/2562 

ประกันสังคมรุดดูแลลูกจ้างตกงานย่านกระทุ่มแบน แจงคงสิทธิผู้ประกันตนต่อเนื่อง 6 เดือน พร้อมแนะขั้นตอนขอรับเงินว่างงาน

24 ธ.ค. 2562 นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า มรว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน มีความห่วงใยกรณีบริษัท พงศ์พาราโคดันรับเบอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานชิ้นส่วนรถยนต์ย่านกระทุ่มแบน ประกาศปิดกิจการไม่แจ้งล่วงหน้าให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้องจ่ายเงินชดเชยลูกจ้างกว่า 114 ล้านบาท จึงสั่งการให้ตนเข้าไปตรวจสอบดูแลข้อเท็จจริง ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสุจิต กิ่งเกล้า หัวหน้าสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร สาขากระทุ่มแบน ว่าบริษัท ดังกล่าวกำลังจัดคิวจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้างซึ่งมีจำนวนลูกจ้างทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงสิทธิประโยชน์ตามพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้ลูกจ้างผู้ประกันตนทราบว่าสำนักงานประกันสังคมยังคุ้มครองต่ออีก 6 เดือน ผู้ประกันตนสามารถเข้าใช้บริการโรงพยาบาลตามสิทธิ์ในกรณีเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ และใช้สิทธิกรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต ทั้งยังได้แนะนำการขอรับเงินว่างงาน ดังนี้ 1. ผู้ที่จะขอรับเงินว่างงานจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน 2. การขึ้นทะเบียนว่างงาน ให้ไปดำเนินการที่สำนักงานจัดหางานในเขตพื้นที่ที่สะดวก หรือขึ้นทะเบียนด้วยตนเองที่ https://empui.doe.go.th 3. ต้องขึ้นทะเบียนว่างงาน ตามข้อ 2 ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ออกจากงาน 4. ให้นำส่งแบบขอรับสิทธิประโยชน์ บัตรประจำตัวประชาชนพร้อมสำเนาหน้าบัญชีธนาคารออมทรัพย์ ให้แก่สำนักงานประกันสังคม 5. กรณีถูกเลิกจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้างไม่เกิน 180 วัน 6. ผู้ขอรับเงินว่างงานต้องรายงานตัวเดือนละหนึ่งครั้งตามใบนัดรายงานตัวที่ได้จากการขึ้นทะเบียนว่างงาน และ 7. สำนักงานประกันสังคมจะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารภายใน 5 วันทำการ หลังจากวันที่รายงานตัว

นายทศพล กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เดิมบริษัทมีลูกจ้างพันกว่าคนแต่เนื่องจากบริษัทมีโครงการร่วมใจจาก โดยมีการจ่ายค่าชดเชยทำให้บริษัทเหลือพนักงานเพียง 999 คน และประวัติการนำส่งเงินสมทบต่อสำนักงานประกันสังคมนั้นถูกต้องไม่มีหนี้สมทบค้างชำระแต่อย่างใด จากนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ยังเดินทางต่อไปยังสหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไทย ซึ่งตั้งอยู่ย่านอ้อมน้อยอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อชี้แจงสิทธิ์ให้แก่ลูกจ้างผู้ประกันตน ปรากฏว่าลูกจ้างส่วนใหญ่ติดใจในเรื่องการเลิกจ้างโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า ในการนี้มีหัวหน้าส่วนราชการกระทรวงแรงงานได้ชี้แจงสร้างความเข้าใจแก่ลูกจ้างและสหภาพแรงงานทำให้เหตุการณ์เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยดีเนื่องจากนายจ้างปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ตนได้กำชับว่าเจ้าหน้าที่ฯ ดูแลให้ความสะดวกแก่ลูกจ้างผู้ประกันตนที่กำลังเดือดร้อนอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรมว.แรงงานและรัฐบาลในการที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ที่มา: เดลินิวส์, 24/12/2562 

ภูเก็ตเปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ อำนวยความสะดวกแรงงาน 3 สัญชาติ 'กัมพูชา-ลาว-เมียนมา' เกือบ 6 หมื่นคน

นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ทางจังหวัดได้เปิดศูนย์ one stop service ที่ตำบลวิชิต อำเภอเมือง หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2562 เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ดังนั้น ในปี 2562-2563 สำหรับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้จดทะเบียนและผ่านการพิสูจน์สัญชาติมีหนังสือเดินทาง (passport : PP) เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง (travel document : TD) หนังสือเดินทางชั่วคราว (temporary : TP) เอกสารรับรองบุคคล (certificate of identity : CI) มี VISA และใบอนุญาตทำงานยังไม่หมดอายุ ซึ่งจะดำเนินการตามที่รัฐบาลทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MOU) โดยไม่ต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง

จังหวัดภูเก็ตมีแรงงานต่างด้าวที่ต้องดำเนินการตามคณะรัฐมนตรีมีมติจำนวน 62,278 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 แรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุก่อนวันที่ 31 มี.ค. 2563 จำนวน 3,203 คน (กัมพูชา 8 คน ลาว 50 คน เมียนมา 3,145 คน) ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย. 2562 ณ ที่ตั้งของแต่ละหน่วยงาน มีผลการดำเนินการถึงวันที่ 15 ธ.ค. จำนวน 1,967 ราย และกลุ่มที่ 2 แรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุ ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2563 ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 จำนวน 59,075 คน (กัมพูชา 330 คน ลาว 565 คน เมียนมา 58,180 คน) ซึ่งการดำเนินการในกลุ่มที่ 2 ได้กำหนดให้ดำเนินการแบบครบวงจรโดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดภูเก็ต และที่ทำการปกครองจังหวัดภูเก็ตสำหรับโรงพยาบาลจะดำเนินการ ณ ที่ตั้งของหน่วยงาน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 23/12/2562 

บริษัท พงศ์พาราโคดันรับเบอร์ จำกัด ประกาศเลิกจ้างพนักงานเกือบ 997 คนไม่บอกล่วงหน้า ยินยอมจ่ายค่าชดเชยเงินกว่า 114 ล้านบาท

23 ธ.ค. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีบริษัทพงศ์พาราโคดันรับเบอร์ จำกัด ปิดประกาศหยุดกิจการกระทันหันในเช้าวันนี้ โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ซึ่งทำให้พนักงานเกือบ 1,000 คน ต้องกลายเป็นผู้ถูกเลิกจ้างทันที

โดยวันนี้ (23 ธ.ค.) เจ้าหน้าที่จากสำนักงานกระทรวงแรงงานของจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานสังกัดกระทรวงแรงงาน เข้ารับฟังปัญหา และชี้แจงข้อกฎหมาย โดยมีพนักงานประมาณ 700 มารอรับฟังอยู่ที่สำนักงานสหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไทยของ จ.สมุทรสาคร

ทั้งนี้ทางบริษัทได้แจ้งว่าจะมีการชดเชยให้กับพนักงานตามที่กฎหมายระบุเป็นเงิน 114 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าการไม่บอกล่วงหน้ากับเงินชดเชย โดยจะให้พนักงานมารับได้ในวันที่ 23-25 ธ.ค.นี้ และหลังจากนั้นจะโอนเข้าบัญชี ส่วนพนักงานท่านใดที่รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม สามารถเข้าร้องเรียนได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร หรือศาลแรงงาน

เบื้องต้นตมีพนักงานส่วนหนึ่งที่ยอมรับการเลิกจ้างครั้งนี้ แต่อีกส่วนหนึ่งยังไม่ยอมรับ และยังได้ปักหลักชุมนัมกันอยู่ที่สภาพแรงงานผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไทย

สำหรับบริษัทดังกล่าวนี้เป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่เกี่ยวกับยางและเพิ่งครบรอบ 50 ปีไปเมื่อปีที่ผ่านมา โดยที่ผ่านมาพนักงานบอกว่าไม่มีสัญญาณของการเลิกจ้างจ่ายเงินครบทุกงวด แต่มีการตกลงกันไม่ได้หนึ่งเรื่องก็คือการเรียกร้องเรื่องสวัสดิการเงินเดือนโอทีเพิ่มขึ้น ซึ่งทางตัวแทนพนักงานบอกว่าสาเหตุการเลิกจ้างน่าจะมาจากเรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องการขาดสภาพคล่อง

ที่มา: ThaiPBS, 23/12/2562 

กสร.ชี้บริษัทไม่แจ้งปิดกิจการต้องจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย

23 ธ.ค. 2562 นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีบริษัท พงศ์พาราโคดันรับเบอร์ จำกัด เลขที่ 402 หมู่ 2 ซอยเจริญรัชดา ถนนเศรษฐกิจ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ประกาศปิดกิจการเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค.2562 เป็นต้นไปว่าจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าบริษัทดังกล่าวไม่ได้มีการแจ้งปิดกิจการล่วงหน้า จู่ๆ ก็ประกาศปิดกิจการทันที ดังนั้นจึงต้องจ่ายเงินชดเชย ดังนี้ 1.เงินชดเชยค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้าง 2.ชดเชยการเลิกจ้าง 3. เงินชดเชยกรณีวัดหยุดพักผ่อนประจำปีให้กับลูกจ้างที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิ โดยต้องนำส่วนนี้มาเปรียบเทียบเป็นจำนวนเงิน และ 4.สิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ลูกจ้างจะต้องได้รับตามข้อตกลงในการจ้างงานของทางบริษัท

“บริษัทแห่งนี้มีลูกจ้างทั้งหมด 997 คน แบ่งเป็นคนไทย 897 คน เป็นคนเมียนมา 100 คน รวมเงินชดเชยที่ต้องจ่ายให้กับลูกจ้างทุกกรณีรวมเป็นเงิน 114 ล้านบาท โดยทางนายจ้างได้แจ้งให้ลูกจ้างทยอยมารับเงินชดเชยเหล่านี้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 25 ธ.ค. 2562 หากใครไม่สามารถเดินทางมารับได้ ทางนายจ้างก็จะดำเนินการโอนเข้าบัญชีธนาคารให้” นายอภิญญา กล่าว

นายอภิญญา กล่าวต่อว่าส่วนกรณีบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรีมีการปิดกิจการ ทำให้มีผู้ตกงาน 63 คน ซึ่งทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรีได้หารือร่วมกับนายจ้าง และลูกจ้าง เมื่อช่วงเช้าวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่า มีลูกจ้าง 13 คน รับเงินชดเชยการเลิกจ้างจำนวน 90 วัน เรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เหลือยังไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าว เนื่องจากมีอายุงานมากกว่า 13 คนนั้น เงินชดเชยที่ได้รับจะต้องมีจำนวนมากกว่า แล้วแต่ว่าใครมีอายุงานมากน้อยแตกต่างกัน โดยสูงสุดอยู่ที่ 400 วัน ดังนั้นเจ้าพนักงานสำนักงานสวัสดิการฯ ชลบุรี จึงให้ลูกจ้างเขียนคำร้องขอรับเงินชดเชย เพื่อให้เจ้าพนักงานฯ สามารถออกหนังสือคำสั่งให้นายจ้างเร่งดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด

ที่มา: เดลินิวส์, 23/12/2562 

แรงงานในสวนกล้วยหอมจีน จ.เชียงราย โวยถูกเบี้ยวค่าแรง-เผยธุรกิจทรุดหนัก

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2562 ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดเชียงราย กลุ่มผู้ใช้แรงงานชาวเมียนมาจำนวน 45 คน ซึ่งทำงานอยู่ในสวนกล้อยหอมของห้างหุ้นส่วนจำกัด พญาเม็งรายการเกษตร จำกัด ตำบลพญาเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย ได้เดินทางมาร้องเรียนให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือกรณีนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง

คนงานรายหนึ่งเปิดเผยว่า ขณะนี้มีแรงงานชาวเมียนมาอย่างน้อย 80 คนซึ่งเป็นลูกจ้างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้รับค่าจ้างมานานนับเดือน ทั้งนี้ตนและคนงานบางส่วนได้เข้าทำงานที่นี่หลายรุ่น โดยรายที่ทำงานนานที่สุดคือ 3 ปี แต่บางรายก็เพิ่งได้รับการว่าจ้างให้เข้าทำงานใหม่ แต่ปรากฏว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายนในปีนี้เป็นต้นมา นายจ้างเริ่มมีปัญหาค้างจ่ายค่าจ้างต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้คนงานบางส่วนยังถูกพักงานโดยไม่ทราบสาเหตุตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม เป็นต้นมา

“ผมกับภรรยาทำงานที่สวนกล้วยแห่งนี้มาเป็นเวลานานสองปีกว่า นายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างของผมจำนวน 27,533 บาท ค่าจ้างของภรรยาอีก 12,050 บาท พวกเราต้องประสบปัญหาต่างๆ เพราะไม่ได้รับค่าจ้าง พวกเราต้องการเงินไปซื้อหาอาหารและข้าวของเครื่องใช้ ตอนนี้หลายคนต้องติดค้างหนี้สินร้านค้า เพราะไม่มีเงินจ่าย บางคนยังต้องเจอปัญหาสัญญาจ้างงานที่จะหมดลงในวันที่ 31 มี.ค. 2563 นี้อีกด้วย”ลูกกจ้างรายนี้กล่าว

แรงงานพม่ารายนี้กล่าวด้วยว่า กลุ่มคนงานพยายามเรียกร้องให้นายจ้างรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้ครบตามจำนวนที่คงค้างแต่ได้รับการบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด ซึ่งตัวแทนสวนกล้วยแจ้งคนงานว่าจะจ่ายค่าจ้างให้ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. ที่ผ่านมา แต่ก็เลื่อนจ่ายเป็นวันที่ 20 ธ.ค. และเมื่อถึงวันที่กำหนดก็เลื่อนออกไปอีกเป็นวันที่ 30 ธ.ค. นี้

ด้านนางสาวกรวรรณ จงสถาพรพันธ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงราย กล่าวว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังสอบข้อเท็จจริงจากลูกจ้างและนายจ้างอยู่ ซึ่งหากได้ข้อเท็จจริงกระจ่ายก็จะต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

ข่าวแจ้งว่าจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่พบว่า สวนกล้วยหอมแห่งนี้มีหุ้นส่วน 3 คนแต่หุ้นส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ซึ่งขณะนี้ธุรกิจกำลังมีปัญหาเนื่องจากหุ้นส่วนรายหนึ่งติดคุก หุ้นส่วนอีกคนหนึ่งกำลังป่วยหนัก ทำให้เงินหมุนเวียนขาดสภาพคล่อง อย่างไรก็ตามล่าสุดทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ออกคำสั่งบังคับให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามกฎหมายภายใน 15 วัน โดยนายจ้างรับปากว่าจะจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ม.ค. 2563

อนึ่งสวนกล้อยหอมแห่งนี้ เดิมทีเป็นของนักธุรกิจจีนในนามบริษัทหงต๋า อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัดในเนื้อที่กว่า 2 พันไร่ แต่เมื่อ 3 ปีก่อนได้เกิดข้อพิพาทกับชุมชนเนื่องจากสูบน้ำในแม่น้ำอิงไปใช้ในยามหน้าแล้ง ทำให้ชาวบ้านโวยวายเพราะต้องการใช้น้ำไปทำน้ำประปา นอกจากนี้ชาวบ้านยังเชื่อว่าสวนกล้อยหอมแห่งนี้ยังใช้สารเคมีอย่างเข้มข้นเช่นเดียวกับสวนกล้วยหอมในฝั่งลาวซึ่งนักธุรกิจจีนแห่มาลงทุน จึงออกมาต่อต้าน อย่างไรก็ตามต่อมาหน่วยงานราชการบางแห่งและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง จนพบว่ามีการทำผิดเพราะเจ้าของเป็นคนต่างชาติ แต่มาลงทุนในอาชีพหวงห้าม แต่สุดท้ายได้มีการเปลี่ยนชื่อและหุ้นส่วนในนามคนไทยเพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย ทั้งนี้เมื่อเดือน มิ.ย. 2562 สวนกล้อยแห่งนี้ได้ตกเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่

ที่มา: Transborder News, 23/12/2562 

สื่อเผยโซเชียลแชร์ภาพปิดกิจการอีกราย โรงงานชิ้นส่วนรถยนต์ย่านอ้อมน้อย แรงงานร่วมพันตกงานทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีการแชร์ภาพและเหตุการณ์ที่แรงงานร่วมพันคนได้รับผลกระทบตกงาน จากที่บริษัท บริษัท พงศ์พาราโคดันรับเบอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ย่านอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร โดยติดประกาศบริเวณหน้าโรงงานลงวันที่ 23 ธ.ค.2562 ว่า ประกาศปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน โดยจะจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมายกำหนด

ทั้งนี้จากการติดต่อสอบถามข้อมูลเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯยืนยันว่ามีการประกาศปิดโรงงานจริง เนื่องจากมีปัญหายอดขายที่ลดลงต่อเนื่อง จนทำให้บริษัทประสบภาวะขาดทุนจึงตัดสินใจยุติกิจการ โดยโรงงานดังกล่าวมีพนักงานเกือบ 1,000 คน

สำหรับข้อความในประกาศหน้าโรงงานระบุว่า บริษัท พงศ์พาราโคดันรับเบอร์ จำกัด มีความเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแจ้งให้พนักงานทุกท่านทราบว่า บริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องปิดกิจการ อันสืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ มีความจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางธรุกิจ โดยการปิดกิจการนี้ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. เป็นต้นไป

ทั้งนี้บริษัทฯจะจ่ายเงินให้กับพนักงานทุกคนตามสิทธิดังนี้ 1.ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1.1 กลุ่มที่ได้รับค้าจ้างเดือนละ 2 ครั้ง จะได้รับค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค้าจ้าง 24 วัน (วันที่ 23 ธ.ค.62-15 ม.ค.63) 1.2 กลุ่มที่รับค่าจ้างเดือนละ 1 ครั้ง จะได้รับคำบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง 39 วัน (วันที่ 23 ธ.ค.+งวด ม.ค. 2563)

2.วันพักร้อนที่เหลือเท่ากับค่าจ้าง 1 วัน 3.ค่าชดเชยตามอายุงานที่กฎหมายกำหนด 4.บริษัทจะจ่ายเงินให้พนักงานทุกคน โดยให้พนักงานเข้ามาติดต่อรับเงินด้วยตนเอง ณ อาคารสำนักงานบริษัทฯ ภายในวันที่ 23-25 ธันวาคม 2562 เวลา 08.30 น.-16.00 น. ถ้าผู้ใดไม่มารับเงินตามกำหนดบริษัทจะโอนเข้าบัญชีพนักงานในวันที่ 26 ธ.ค.2562 ลงชื่อกรรมการผู้จัดการ บริษัท พงศ์พาราโคดันรับเบอร์ จำกัด

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 23/12/2562 

เผยล็อกซ์เล่ย์เตรียมปรับองค์กรลดพนักงานจากราว 750 คน เหลือ 600 คน

สื่อผู้จัดการออนไลน์ สัมภาษณ์สุรช ล่ำซํา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) โดยสุรช ระบุว่าสิ่งที่ ล็อกซเล่ย์ ต้องการเปลี่ยนองค์กรคือ การปรับภาพให้บริษัทกลายเป็น โฮลดิ้งคอมพานี หรือบริษัทที่เข้าไปลงทุนถือหุ้นในบริษัทลูก เพื่อสร้างรายได้ พร้อมไปกับการทำธุรกิจของตัวเอง

ทำให้ล็อกซเล่ย์ในช่วงหลังจากนี้ จะหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจที่มีควมเชี่ยวชาญ ที่สามารถสร้างรายได้ และทำกำไร พร้อมกับลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจไปในตัว ทำให้มีการปรับโครงสร้างการบริหาร พร้อมกับปรับลดพนักงาน เพื่อให้บริษัทคล่องตัว

โดยเริ่มจากการปรับลดตำแหน่งที่ปรึกษาของบริษัท พร้อมไปกับการผสมผสานคณะกรรมการบริหารที่จากเดิมมีทั้งคณะกรรมการจัดการ คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการบริษัท ด้วยการควบรวมคณะกรรมการจัดการ และคณะกรรมการบริหารเข้าด้วยกัน รวมถึงการปรับลดเงินเดือนผู้บริหารระดับสูงลงถึง 35%

ประกอบกับการปรับลดพนักงานจากราว 750 คน เหลือ 600 คน จะทำให้ล็อกซเล่ย์ สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ทันที 200 ล้านบาทต่อปี ทำให้ในปี 2563 ล็อกซเล่ย์มีโอกาสที่จะกลับมาทำกำไรได้เหมือนเดิม

เบื้องต้น ล็อกซเล่ย์ ประเมินว่าในปี 2563 จะสามารถสร้างรายได้ราว 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเติบโตจากในปีนี้ที่อยู่ราว 1.3 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า โดยจะพลิกจากการขาดทุนมาเป็นกำไรได้แน่นอน เพราะสามารถปรับลดต้นทุนในการบริหารจัดการบุคลากร และยังมีแบคล็อก และโครงการที่มีโอกาสเข้าร่วมรับรู้รายได้อีกกว่า 1.9 หมื่นล้านบาทรออยู่

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 23/12/2562

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net