Skip to main content
sharethis

ม.นานาชาติเอเชีย-แปซิฟิค และมูลนิธิแอ๊ดดร้าจับมือมอบทุนการศึกษาแก่เด็ก-เยาวชนไร้สัญชาติ 15 ทุน ตัวแทนเด็กไร้สัญชาติระบุ การไม่มีสัญชาติทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษา-อาชีพในอนาคต และไม่สามารถเดินทางออกนอกตัวจังหวัดได้ ตัวแทนแอ๊ดดร้าระบุกฎหมายเรื่องการขอสัญชาติมีความซับซ้อน บางอันตั้งเกณฑ์สูงไป


จากซ้ายไปขวา อาก่า ไพรำพึงสกุล และ ธิดา อาหยิ ตัวแทนเยาวชนไร้สัญชาติจังหวัดเชียงราย

 

9 ธ.ค. 2562 วันนี้ มหาวิทยาลัยนานาชาติเอเชีย-แปซิฟิค และมูลนิธิแอ๊ดเวนตีสเพื่อการพัฒนาและบรรเทาทุกข์ หรือแอ๊ดดร้า (ADRA) ประเทศไทย ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือ โครงการทุนการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชนไร้สัญชาติ จำนวน 15 ทุน ณ ห้องประชุมชั้น 4 คณะพยาบาลศาสตร์ โรงพยาบาลมิชชั่น โดยเด็กและเยาวชนไร้สัญชาติจะสามารถเรียนจบปริญญาตรีและสามารถนำวุฒิการศึกษาที่ได้ไปประกอบเป็นหลักฐานการขอมีสัญชาติไทย

 

ไม่มีสัญชาติ ปิดกั้นโอกาส

ธิดา อาหยิ ตัวแทนเยาวชนไร้สัญชาติจังหวัดเชียงราย เผยว่าขณะนี้เธอกำลังเรียนคณะพาณิชยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงราย เธอเพิ่งได้รับสัญชาติไทยเมื่อปี 2561 หลังจากที่ทำเรื่องนานหลายปี โดยการช่วยเหลือของแอ๊ดดร้า เธอได้เข้าไปอยู่ในบ้านพักพิงของโครงการเด็กและเยาวชนไร้สัญชาติ ซึ่งมีที่พัก อาหาร รวมถึงได้รับการศึกษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

“รู้สึกขอบคุณทุกๆคนในบ้าน บ้านพักหลังนี้ ความรู้สึกหนูคือบ้านหลังแรกที่สอนทักษะการใช้ชีวิต สอนหลายๆอย่าง”ธิดากล่าว

ธิดาเล่าว่าตอนไม่มีสัญชาติไทยนั้นได้รับความลำบากหลายประการ คือไม่สามารถออกนอกพื้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ได้ หากต้องออกต่างจังหวัดต้องไปขอหนังสือเดินทางที่อำเภอซึ่งใช้เวลานาน และนอกจากนี้ยังทำให้เสียสิทธิในการขอทุนการศึกษาบางที่

“ถ้าหนูจบปริญญาตรี ก็อยากทำงานด้านบัญชี อยากเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี” ธิดาเล่าความฝันของเธอให้ฟัง

อาก่า ไพรำพึงสกุล เป็นอีกหนึ่งตัวแทนเยาวชนไร้สัญชาติจังหวัดเชียงราย ซึ่งจนถึงขณะนี้อาก่าก็ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย เนื่องจากพ่อแม่ของอาก่าเสียชีวิตทั้งคู่ เขาจึงไม่มีใบเกิดและไม่มีเลขบัตรประจำตัว

ทางเลือกอีกทางของอาก่าคือการเรียนให้จบปริญญาตรี ซึ่งจะเป็นไปตาม พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ที่จะสามารถยื่นขอมีสัญชาติได้เมื่อเรียนจบปริญญาตรี ขณะนี้อาก่าจึงอยู่ระหว่างการหาทุนการศึกษาเพื่อเรียนต่อในระดับปริญญาตรี และระหว่างนี้เขาจึงทำงานในร้านซ่อมโทรศัพท์มือถือ

“ผมอยากทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย แต่งานเข้าเก้าโมงออกสองทุ่ม ไม่สามารถทำได้เป็นคนไม่มีสัญชาติ มันปิดกั้นโอกาส แต่ก็ฝันอยากมีโอกาสเรียน พอมีโครงการนี้ก็ลองสมัคร การรู้จักโครงการนี้ทำให้ผมมีความหวัง ก่อนหน้านี้มืดแปดด้านไม่รู้จะไปทางไหน” อาก่าเล่าความรู้สึกให้ฟัง

อาก่ายังเล่าว่าฝันอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง คือการเปิดร้านซ่อมมือถือ และเปิดรับคนไม่มีสัญชาติให้เข้าทำงานเพราะอยากให้โอกาสคนเหล่านี้ แต่ตอนนี้เปิดร้านไม่ได้เพราะไม่มีสัญชาติ

 

เกือบ 5 แสนคนในไทยไร้สัญชาติ เมื่อการขอสัญชาติมีความซับซ้อน

จากข้อมูลของสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติระบุว่า มีคนขึ้นทะเบียนเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติประมาณ 475,847 คนทั้งนี้สถิติยังไม่นับรวมคนที่ไม่มีเอกสาร คนเหล่านี้ส่วนมากอยู่ตามบริเวณชายแดน รัฐบาลไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติในหลายมิติ ทั้งมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบให้ง่ายต่อการยื่นขอสัญชาติ นโยบายการศึกษาถ้วนหน้า เป็นหนึ่งในตัวอย่างของรัฐบาลไทย ที่เปิดโอกาสให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเสรี

อย่างไรก็ตาม งานศึกษาและประสบการณ์ภาคสนามค้นพบว่า เด็กไร้สัญชาติจำนวนมากไม่สามารถเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้นไป โดยเริ่มประสบปัญหาตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นไปเนื่องจากข้อจำกัดทางการเดินทางและค่าใช้จ่ายทางการศึกษา นอกจากนี้ปัจจุบันการศึกษาเป็นหนึ่งในเกณฑ์การขอสัญชาติสำหรับเด็กบางกลุ่ม

ตัวแทนจากแอ๊ดดร้าเปิดเผยว่า ข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติและการขอสัญชาตินั้นติดเงื่อนไขและเกณฑ์ที่มีความซับซ้อนมาก แบ่งย่อยเป็นอีกหลายประเภท และปัญหาหนึ่งคือเมื่อยื่นขอสัญชาติแล้วต้องรอนานหลายปีกว่าจะถึงคิวที่จะได้พิจารณา

ข้อเสนอที่จะทำให้การขอใบถิ่นที่อยู่ถาวรและการยื่นขอแปลงสัญชาตินั้นมีความสะดวกมากขึ้นคือ หากเป็นสถานะต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย อาจกำหนดระยะเวลาในการอยู่ในประเทศไทย 15 ปี แล้วจึงได้ใบถิ่นที่อยู่ถาวร หลังจากนั้นจึงสามารถยื่นเรื่องขอแปลงสัญชาติ

แต่ความยากในการขอแปลงสัญชาติเป็นไทยนั้นก็มีอยู่ ตัวอย่างเช่น สำหรับคนที่ไร้รัฐไร้สัญชาตินั้นมีเงื่อนไขว่าจะต้องได้มีรายได้ 40,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ซึ่งเป็นระดับเงินที่สูงมากเป็นไปได้น้อยมากที่คนไร้รัฐไร้สัญชาติจะทำได้ จึงควรที่จะลดเกณฑ์รายได้ตรงนี้ลงมา

หรือกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่เกิดนอกประเทศ ในอนาคตมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาในการยื่นขอสัญชาติมากที่สุด ซึ่งคนกลุ่มนี้ปัจจุบันก็เริ่มเรียนจบปริญญาตรีแล้วแต่ยังไม่สามารถยื่นขอสัญชาติได้ เนื่องจากเกิดนอกประเทศไทยนั่นเอง

นอกจากนี้เรื่องการได้สิทธิในหลักประกันสุขภาพก็ยังเป็นปัญหา

“มีหลายกลุ่มที่จะไม่ได้สิทธิในหลักประกันสุขภาพ ต้องดูเลขบัตรด้วยว่าคุณอยู่ในหลักเกณฑ์หรือไม่ ถ้าไม่อยู่ในหลักเกณฑ์แล้วคุณอยากได้ต้องซื้อหลักประกันสุขภาพเอา โดยรัฐเป็นคนขาย แต่บางโรงพยาบาลก็ไม่ขาย มันมีความซับซ้อนมากๆในเรื่องนี้” ตัวแทนจากแอ๊ดดร้ากล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net