Skip to main content
sharethis

อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ ประชาสังคมร่วมพูดคุยเรื่องห่วงโซ่อุตสาหกรรมหลังอียูปลดใบเหลืองประมงไทย โชว์ตัวอย่างรูปแบบคณะกรรมการสวัสดิการครอบคลุม อบรมความปลอดภัยก่อนเข้างาน ให้ข้อมูลการทำงานให้คนงานก่อนสมัครงาน กำกับมาตรฐานนายหน้าข้ามชาติ เวทีไร้เงาแรงงาน สถานการณ์ลูกเรือดีขึ้นแต่นายจ้างยังมีริบเอกสาร-บัตรเอทีเอ็ม ตัวแทนกระทรวงแรงงานเผย ไม่เกิน 2 ปี แก้กฎหมายให้ต่างด้าวร่วมสหภาพแรงงานได้

บรรยากาศวงเสวนา

31 ก.ค. 2562 เมื่อวานนี้ (30 ก.ค.) ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเวทีเสวนา “หลังคลื่น IUU เดินหน้าหรือหยุดนิ่ง? ทิศทางและความท้าทายล่าสุดประมงไทย” มีสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ปราชญ์ เกิดไพโรจน์ บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เบ็ญจพร ชวลิตานนท์ บริษัทซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ พักตร์พริ้ง บุญน้อม บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (ซีพีเอฟ) เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดยจักรชัย โฉมทองดี จากองค์การออกซ์แฟม (OXFAM) งานจัดโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย และ CSO Coalition

ในภาพใหญ่ แม้สหภาพยุโรป (อียู) จะนำไทยออกจากลิสต์ใบเหลืองประเทศที่มีการประมงแบบผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมแล้ว (IUU) เมื่อ 8 ม.ค. 2562 นอกจากนั้นยังได้รับการปรับระดับในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์จากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และมีการปรับปรุงกฎหมายประมงอีกหลายฉบับ แต่ความท้าทายที่ยังเหลืออยู่ในห่วงโซ่อุปทานคือพื้นที่อุตสาหกรรมแปรรูปบนชายฝั่ง ที่ยังมีคำถามเรื่องประเด็นความปลอดภัยในการทำงาน สิทธิและเสียง รวมถึงกระบวนการในการสรรหาพนักงาน

อัพเดทสถานการณ์ลูกเรือประมงหลังใบเหลือง นายจ้างยังริบบัตร กฎหมายยังไม่ให้สิทธิรวมตัว

เวทีเสวนานี้ไม่มีตัวผู้ใช้แรงงานทั้งบนฝั่งและในทะเลมาร่วมเป็นผู้ร่วมเสวนา ในส่วนสถานการณ์แรงงานบนเรือหลังจากถูกปลดใบเหลือง สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานจากองค์กรสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ให้ข้อมูลจากการไปเก็บข้อมูลว่า หลังจากปลดใบเหลืองได้ ทำให้สวัสดิภาพ สวัสดิการบนเรือดีขึ้น ลูกเรือมีอาหาร ค่าจ้างและเวลาพักที่ดีขึ้น แต่ปัญหาที่มีอยู่คือยังมีนายจ้างหรือไต๋เรือที่เก็บเอกสารประจำตัว เอกสารติดตัวไปจนถึงบัตรเอทีเอ็มของลูกเรือเอาไว้อยู่ และปัจจุบัน แรงงานประมงบนเรือยังไม่มีช่องทางการรวมตัวอย่างเป็นทางการตามกฎหมาย ทำให้ไม่มีช่องทางร้องเรียนอย่างมีเสรีภาพ

สมบูรณ์ให้ข้อมูลบนเวทีเสวนาว่า ปัญหาการเก็บบัตรเอทีเอ็มนั้นถือเป็นปัญหาที่แก้ยาก การให้บัตรเอทีเอ็มเป็นมาตรการป้องกันการจ่ายเงินไม่ครบจำนวนของนายจ้าง โดยให้จ่ายเงินเป็นเดือน แต่ก็มีปัญหาตรงที่แรงงานไม่สะดวกใช้งานบัตรเอทีเอ็มและระบบรับเงินเป็นเดือน แรงงานต่างด้าวจากกัมพูชาจะใช้บัตรเอทีเอ็มได้สะดวกกว่าแรงงานที่มาจากพม่า อาจเป็นเพราะพม่านั้นมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ในบางพื้นที่อาจไม่ได้ใช้ตู้เอทีเอ็ม และถ้าพบนายจ้างเก็บบัตรเอทีเอ็มของลูกจ้างก็จะดำเนินคดีตามกฎหมาย

ส่วนเรื่องการให้สัตยาบันกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ข้อ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวและการเรียกร้องนั้น สมบูรณ์ให้ข้อมูลว่าเคยมีการส่งเรื่องแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ ให้ลูกจ้างต่างด้าวมีสิทธิ์เป็นคณะกรรมการได้ในสัดส่วน 1 ใน 5 แต่พบว่าไม่มีใครเห็นด้วยทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างและสหภาพแรงงาน อย่างไรก็ดี ตอนนี้กฎหมายยังอยู่ ในสภาวะปกติเช่นนี้คาดว่ากฎหมายจะออกภายในเวลา 2 ปีหากไม่มีอะไรสะดุด

ทำไมอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 จึงสำคัญต่อแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ

อุตสาหกรรมใหญ่กับวิธีออกแบบ-จัดการคณะกรรมการสวัสดิการ

ในประเด็นกลไกการร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพของลูกจ้าง สุธาสินีเป็นผู้เปิดประเด็นว่า ตอนนี้ยังไม่มีช่องทางให้แรงงานต่างด้าวรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานเพราะไทยไม่ได้ให้สัตยาบันกับอนุสัญญา ILO ข้อ 87 และ 98 ช่องทางที่ทำได้ตอนนี้คือให้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 96 ที่ระบุว่านายจ้างในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป โดยไม่กำหนดว่าเป็นสัญชาติใด ผู้ประกอบการจะต้องจัดการเลือกตั้งให้มีคณะกรรมการสวัสดิการ ที่ผ่านมาก็เสนอว่าคณะกรรมการฯ ต้องมีสัดส่วนตามความสมดุลทางเพศและสัญชาติ ต้องได้รับการอบรมให้ทราบถึงบทบาทของคณะกรรมการฯ และในทุกๆ การประชุมคณะกรรมการฯ ที่กฎหมายกำหนดให้ประชุมสามเดือนต่อหนึ่งครั้งนั้น ต้องมีตัวแทนฝ่ายนายจ้างที่มีอำนาจตัดสินใจเข้าไปนั่งประชุมด้วย คำถามคือ บรรษัทต่างๆ ได้ทำตามข้อเสนอเช่นว่าหรือไม่ ลูกจ้างรับรู้หรือไม่ว่าปัญหาที่เรียกร้องไปนั้นเป็นที่รับรู้และมีการแก้ไข ภาครัฐได้มีการจัดการตรวจสอบหรือไม่ว่าแต่ละบริษัทได้ทำตามกฎหมายที่ตราไว้

เบ็ญจพร กล่าวว่า ซีเฟรชฯ มีพนักงานประมาน 2,600 คน ส่วนใหญ่มาจากพม่า ปัจจุบันมีช่องทางการร้องเรียน 8 ช่องทาง หลักๆ คือคณะกรรมการสวัสดิการ เป็นช่องทางที่เข้าได้ง่ายเพราะเป็นเพื่อนพนักงานกันทั้งนั้น คณะกรรมการมีจำนวน 22 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานพม่า และร้อยละ 80 เป็นผู้หญิง หนึ่งปีที่ผ่านมานั้นจัดประชุมเดือนละครั้งโดยมีตัวแทนนายจ้างมีฝ่ายการผลิต ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีแรงงานจำนวนมากและฝ่ายบุคคล (HR) ร่วมประชุม ทำให้คณะกรรมการฯ สามารถให้คำตอบเพื่อนพนักงานได้เลยหลังจากประชุมเสร็จ เรื่องที่ร้องเรียนส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องรายได้และการศึกษา นอกจากคณะกรรมการฯ แล้วซีเฟรชยังมีทีมดูแลพนักงาน (Employee Caring Team) เป็นทีมสังกัดฝ่าย HR ที่จะลงไปในพื้นที่โรงงานเพื่อพบปะ พูดคุยกับพนักงาน เป็นการทำงานเชิงรุก และมีการส่งหัวหน้าคนไทยไปเรียนภาษาพม่า เพื่อให้สื่อสารกับลูกจ้างได้ในคำที่ง่ายๆ เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานในไลน์การผลิตที่ดีขึ้น

ในเรื่องการจัดการคณะกรรมการฯ เบ็ญจพรกล่าวว่า ข้อสำคัญคือการทำให้คณะกรรมการฯ รู้สึกพึงพอใจและมีตัวตน ปัจจุบันมีการแปะรูปและหมายเลขโทรศํพท์ของคณะกรรมการฯ ไว้ อีกสิ่งที่จะทำคือมีสัญลักษณ์ติดตัว เวลาคณะกรรมการฯ เดินไปในพื้นที่ร้อยไร่ของบริษัทคนก็จะได้รู้ มีการประสานสำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานให้นำวิทยากรมาให้ความรู้กับคณะกรรมการฯ ในเรื่องบทบาทของคณะกรรมการฯ ให้ความรู้เรื่องสิทธิแรงงาน ทำให้พวกเขาภูมิใจกับการทำหน้าที่ของเขา

ปราชญ์กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยนฯ เริ่มต้นการจัดทำคณะกรรมการฯ มาตั้งแต่ปี 2559 ร่วมกับ MWRN โจทย์ตอนนั้นคือพัฒนาคณะกรรมการฯ ให้เป็นตัวแทนแรงงานที่แท้จริง จะสร้างแรงจูงใจให้แรงงานสนใจการเป็นคณะกรรมการฯ การเป็นตัวแทนเพื่อนร่วมงานอย่างไร จะจัดการเลือกตั้งให้เป็นธรรมได้ เมื่อเลือกตั้งแล้วจะมีการจัดอบรมหน้าที่ สิทธิอย่างไร

ที่ไทยยูเนี่ยนฯ มีการเลือกตั้งหลายรอบเพราะมีหลายโรงงาน มีการเผยแพร่นโยบายให้เป็นลายลักษณ์อักษร ตีพิมพ์ลงเว็บไซต์ไทยยูเนี่ยนฯ แล้ว ผลที่ได้รับหลังจากพัฒนาระบบคณะกรรมการฯ คือมีตัวแทนแรงงานต่างชาติเข้ามาสมัครและเป็นตัวแทนแรงงานมากขึ้น และได้รับข้อเรียกร้องใหม่ๆ จากแรงงานที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นมุมที่ต้องเป็นคนงานจึงจะเห็นและมีความเข้าใจ ตอนนี้กำลังศึกษาว่า บริบทที่แตกต่างกันระหว่างโรงงานในเครือจะมีผลกับประสิทธิภาพของแต่ละช่องทางร้องเรียนเป็นอย่างไร

พักตร์พริ้งกล่าวว่า ซีพีเอฟออกแบบระบบคณะกรรมการฯ ให้เริ่มจากสัดส่วนตั้งต้นคือ 5 คนบนขนาดสถานประกอบการ 50 คน และเลือกตั้งเพิ่มอีก 1 คนเมื่อมีแรงงานเพิ่มขึ้น 400 คน นอกจากเลือกตั้งโดยตรงแล้ว ยังให้มีการเลือกตั้งทางอ้อม อิงตามเพศ เชื้อชาติ ศาสนาและความพิการ คือให้กลุ่มดังกล่าวเสนอชื่อขึ้นมา แล้วให้คณะกรรมการฯ เลือกตั้งผู้สมัครตามรายชื่อดังกล่าวเพื่อมาแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการที่จะประชุมร่วมกับคณะกรรมการฯ ก่อนที่คณะกรรมการฯ จะไปประชุมกับตัวแทนนายจ้างที่มีขึ้น 3 เดือนต่อ 1 ครั้ง เป็นการพบกับผู้บริหารโรงงานและ HR กลไกนี้ครอบคลุมการทำงานของซีพีเอฟทั้งหมด ไม่เพียงแต่อาหารทะเล

ซีพีเอฟยังร่วมมือกับภาคประชาสังคมอย่าง LPN เพื่อรับข้อมูลร้องเรียนจากทางนั้นอีกแรงหนึ่งในกรณีที่แรงงานไม่สะดวกจะใช้ช่องทางภายในองค์กร นอกจากนั้น ในปี 2558 ซีพีเอฟมีแผนพัฒนาคู่ค้าเพื่อสนับสนุนให้คู่ค้าออกแบบมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าจ้าง ชีวอนามัย หรือเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เหนือกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องท้าทายที่ยังต้องทำงานต่อไป

สมบูรณ์กล่าวว่า ปัญหาเรื่องช่องทางร้องเรียนในภาพรวมคือ ลูกจ้างกลัวถูกนายจ้างหมายหัวเวลาส่งเสียร้องเรียน ถ้านายจ้างใช้การสนับสนุนเชิงบวก คอยชมเชยเมื่อมีการร้องเรียน เชื่อว่าจะได้รับข้อเสนอมากขึ้น และเสนอว่าอยากให้คณะกรรมการฯ มีส่วนร่วมเมื่อนายจ้างพิจารณาจะลงโทษลูกจ้าง หรือร่วมตัดสินใจด้วยเพื่อพิจารณาในเรื่องความเป็นธรรม ที่ผ่านมา กรมสวัสดิการฯ คอยดำเนินการรับรายงานว่าผู้ประกอบการมีการจัดตั้งคณะกรรมการฯ ถูกต้องหรือไม่ และมีการออกจดหมายดำเนินการตักเตือน การดำเนินการทางคดีต่างๆ ซึ่งเมื่อมีจดหมาย ผู้ประกอบการฯ ก็ต้องตอบกลับทางกรมฯ

ความปลอดภัยแรงงานประมงยังต่ำ เล็งแก้กฎหมายกำกับนายจ้าง จัดเวทีให้ความรู้

นาตยา เพ็ชรัตน์ จากศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา (สเตล่า มาริส) เปิดประเด็นว่า ในครึ่งปีนี้ได้รับเรื่องร้องเรียนอุบัติเหตุบนเรือประมง มีเหตุบาดเจ็บและเสียชีวิต ในทะเลนั้น หากตกน้ำหรือจมทะเลไปแล้ว โอกาสจะพบตัวก็ยากมาก ความปลอดภัยของแรงงานจึงหมายรวมถึงชีวิต เนื้อตัว ร่างกาย แรงงาน ด้านจักรชัย ผู้ดำเนินรายการกล่าวเสริมว่าทาง OXFAM สำรวจพบว่า ลูกเรือส่วนใหญ่ไม่ได้รับข้อมูลเรื่องความปลอดภัยก่อนลงเรือ ไปเรียนรู้หน้างาน ซึ่งเสี่ยงอันตราย คำถามคือ จะจะทำอย่างไรให้เกิดความมั่นใจในเรื่องการมีความรู้ก่อนลงเรือ

สมบูรณ์กล่าวว่า ใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานในงานประมง มีมาตราความปลอดภัยมาตราหนึ่ง (มาตรา 6)ให้นายจ้างต้องมีระบบความปลอดภัยในการทำงาน แต่ในการวัดประเมินว่าทำจริงมากน้อยแค่ไหนนั้น ทางกรมฯ ตอบไม่ได้เพราะไม่มีตัวเลข แรงงานประมงไม่ได้เข้าระบบประกันสังคมจึงไม่มีข้อมูลเหมือนแรงงานบนบก แต่ในอนาคตจะให้เข้า จะต้องออกเป็นกฎกระทรวง บังคับใช้เฉพาะประมงทะเล ปัญหาที่มีคือทางเรือให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยลูกเรือหรือไม่ ตอนออกจากฝั่งใส่เสื้อชูชีพทุกคน แต่พอโดดลงทะเล เหลือกางเกงในตัวเดียว ศูนย์ PIPO ที่ตรวจตราก่อนออกจากฝั่งก็ดูได้แค่เรือขนาด 30 ตันกรอสตามหน้าที่ แล้วเรือขนาดเล็กลงมาจะทำอย่างไร ต้องขอบคุณ IUU ที่มาให้ใบเหลืองทำให้หลายประเด็นถูกยกขึ้นมา

พักตร์พริ้งกล่าวว่า กิจการซีพีเอฟห่างไกลจากเรือเพราะไม่ได้เป็นเจ้าของเรือประมง การกำกับดูแลเรือประมงจะอยู่ในแบบขอความร่วมมือกับคู่ค้า ส่วนเรื่องความปลอดภัยของแรงงานที่จะมาทำงานกับซีพี จะมีการอบรมตั้งแต่ปฐมนิเทศ มีหัวข้อความปลอดภัยในการทำงาน แผนความปลอดภัย คู่ค้าต่างชาติของซีพีก็ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยตรวจสอบมาตรฐานการทำงาน

เบ็ญจพรกล่าวว่า แรงงานซีเฟรชฯ ส่วนมากมีความเข้าใจการป้องกันอุบัติเหตุมาก่อนค่อนข้างน้อย HR และหน่วยงานดูแลพนักงานจึงมีหน้าที่ดูแล ให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยด้วย มีการตรวจไลน์การผลิต ดูเรื่องการได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง เช็คเรื่องเซฟตี้ สอบถามเรื่องความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ความปลอดภัยและการใช้งาน

ปราชญ์กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยนฯ เป็นโรงงานแปรรูป ไม่ได้เป็นเจ้าของเรือ การทำงานเรื่องนี้จึงเป็นการทำงานกับคู่ค้า เรื่องสุขภาพและความปลอดภัยบนเรือ ในปี 2560 ไทยยูเนี่ยนฯ ออกหลักการปฏิบัติด้านแรงงานและธุรกิจดัดแปลงสำหรับเรือประมง ถอดมาจากอนุสัญญา ILO c 188 เริ่มทำงานกับผู้ค้ากับองค์กร ITF ทำอบรมเรื่องสุขภาพความปลอดภัย เช่น สาธิตการทำ cpr ปฐมพยาบาล ทำอย่างไรเมื่อเกิดอุบัติเหตุ จนถึงตอนนี้มีลูกเรือ ไต๋เรือเข้าร่วมแล้วกว่า 300 คน และมีเจ้าของแพเรือขอให้จัดเพิ่ม

จัดหาแรงงานต่างด้าวยังมีข้อจำกัด เหตุนายหน้าอยู่ต่างประเทศ เน้นให้ข้อมูลแรงงานประกอบการตัดสินใจ

ชลธิชา ตั้งวรมงคล จากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนละกรพัฒนา (HRDF) เปิดประเด็นว่า งานที่จ้างแรงงานโดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวนั้นนเป็นงานอันตราย รายได้น้อย คนไทยไม่ค่อยทำ หลายครั้งการคัดสรรแรงงานมาทำงานสุ่มเสี่ยงจะเป็นการค้าแรงงานบังคับไปจนถึงการค้ามนุษย์ ถ้านายจ้าง นายหน้า ลูกจ้างสื่อสารไม่ดีอาจนำมาสู่การจ่ายเงินลูกจ้างน้อยกว่าจำนวนที่ควรเป็น การเดินทางข้ามมาทำงานที่ไทยมีค่าใช้จ่าย และบ่อยครั้งลูกจ้างก็ไม่มีเงินจ่าย นายจ้างต้องแก้ปัญหาให้ออกให้ก่อน แล้วหักจากเงินเดือน ซึ่งก็มีกรณีที่ไม่ชัดเจน และทำให้แรงงานลาออกไม่ได้ ใช้หนี้ไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น

ปราชญ์กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยนฯ มีกระบวนการจัดหาแรงงานโดยร่วมมือกับ MWRN ในพม่าเพื่อพัฒนานายหน้าที่พม่าให้เข้าใจว่านโยบายการสรรหาแรงงานของไทยยูเนี่ยนฯ เป็นอย่างไร อะไรที่แรงงานต้องจ่ายบ้าง เมื่อแรงงานมาถึงก็มีการตรวจสอบว่าถูกเก็บเงินมากเกินกว่ากฎหมายกำหนดหรือไม่ ถ้ามีก็จะมีการสอบสวนนายหน้าและจัดให้มีการจ่ายเงินคืน แรงงานต้องรู้ว่าสภาพการทำงานเป็นอย่างไรตั้งแต่ก่อนจะสมัคร มีการทำวิดีโอไปไว้ที่พม่าเพื่อให้ผู้สมัครดูก่อน

เบ็ญจพรระบุว่า ซีเฟรชฯ มีการทำบันทึกความเข้าใจระหว่างนายหน้าฝั่งไทย พม่า และซีเฟรชฯ ในเรื่องรายละเอียดต่างๆ เช่น การแยกย่อยรายละเอียดค่าธรรมเนียมของนายหน้า มีการส่งข้อมูลลักษณะงานให้ผู้สมัครดูก่อน ว่าทำงานเปียกแฉะเท่านี้ ในความเย็นเท่านี้ ให้ลองเอามือจุ่มน้ำแข็งดูว่าเย็นเท่านี้ ที่พักเป็นอย่างไร ให้ลองใส่ยูนิฟอร์มตั้งแต่อยู่ที่พม่าเพื่อให้ผู้สมัครใช้ประกอบการตัดสินใจ หลังทำเช่นนี้ มีแรงงานที่ผ่านการประมินหลังช่วงทดลองงานมากขึ้นจากร้อยละ 75 เป็นร้อยละ 98

เพ็ญพักตร์กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวในซีพีเอฟมี 12,000 คน เป็นชาวกัมพูชาราว 8 พันคน มาจากพม่าราว 4 พันคน เงื่อนไขการทำงานในไลน์การผลิตก็แตกต่างกันไป ทางซีพีเอฟก็มีการส่งวิดีโอและชุดทำงานไปยังนายหน้าที่ประเทศต้นทางเช่นกัน มีการนำนายหน้ามาเยือนโรงงานเพื่อให้นำไปให้คำตอบกับผู้สมัคร มาดูเงื่อนไขการทำงานว่าถ้ายืนบนไลน์การผลิต 8 ชั่วโมงต่อวัน แบบนี้ไหวไหม เป็นต้น ปัจจุบันร่วมงานกับองค์กรแฟร์ไฮริ่ง และอานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยด้านสิทธิแรงงาน ในเรื่องการกำหนดเงื่อนไขให้กับทางนายหน้า แต่ปัญหาตอนนี้คือยังมีช่องว่างระหว่างการทำงานร่วมกับนายหน้าอยู่ หลายครั้งลูกข่ายของนายหน้า (Sub-agent) เป็นคนคิดเงินเกินอัตรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net