Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยศาลจังหวัดปราจีนบุรีนัดฟังคำพิพากษา 27 ส.ค.นี้คดีฤทธิรงค์ ชื่นจิตร เหยื่อคดีถูกซ้อมทรมาน ถูกเจ้าหน้าที่ฟ้องกลับ ชี้คดีสำคัญและถือเป็นคดีฟ้องเพื่อปิดปากเหยื่อซ้อมทรมาน  

11 ก.ค.2562 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดปราจีนบุรีได้สืบพยานคดีหมายเลขดำที่ อ.1285/2561 ซึ่ง ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ถูกดาบตำรวจนายหนึ่งฟ้องกลับในข้อหาฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ โดยคดีนี้สืบเนื่องจากคดีที่ฤทธิรงค์ฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2552 ที่ ฤทธิรงค์ ถูกตำรวจซ้อมทรมานบังคับให้สารภาพในข้อหาวิ่งราวทรัพย์ ที่ฤทธิรงค์ไม่ได้กระทำความผิด และเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2561 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจยศพันโทที่ซ้อมทรมานฤทธิรงค์ไปแล้ว โดยคดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์ มีกำหนดนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 12 พ.ย. 2562 เวลา 09.00 น.  

แต่ระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าวของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2561 หนึ่งในเจ้าหน้าที่ตำรวจยศดาบตำรวจ ที่ถูกฤทธิรงค์ฟ้องว่าทำร้ายร่างกายตนด้วยการตบศีรษะอย่างแรง และในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลพิพากษายกฟ้องดาบตำรวจนายนี้ เพราะขาดอายุความ เนื่องจากการทำร้ายร่างกายฤทธิรงค์เพียงเล็กน้อยโดยดาบตำรวจนายนี้มีอายุความฟ้องคดีเพียง 1 ปี เป็นเหตุให้ดาบตำรวจคนดังกล่าวฟ้องกลับฤทธิรงค์ ในข้อหาฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ ต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรี เป็นคดีคดีหมายเลขดำที่ อ.1285/2561 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานเพิ่มเติมว่า ฝ่ายโจทก์ (ดาบตำรวจ) นำสืบพยาน 3 ปาก ได้แก่  ตัวโจทก์และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 2 นาย ซึ่งโจทก์อ้างว่าอยู่ภายในรถร่วมกับโจทก์และจำเลย (ฤทธิรงค์) ระหว่างนำตัวจำเลยไปค้นของกลางในวันเกิดเหตุ  โดยพยานทั้งสามปากเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ในวันเกิดเหตุโจทก์ไม่ได้ตบศีรษะหรือทำร้ายร่างกาย 

ฝ่ายจำเลยนำสืบพยาน 2 ปาก ได้แก่ ตัวจำเลย (ฤทธิรงค์) และสมศักดิ์ บิดาจำเลย โดยจำเลยได้เล่าเหตุการณ์ที่ตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมทรมานและเหตุการณ์ภายในรถระหว่างที่ตนถูกควบคุมตัวเพื่อไปค้นของกลาง ยืนยันว่าตนได้ถูกโจทก์ตบบริเวณศีรษะอย่างรุนแรงจนทำให้รู้สึกมึน ส่วนการซ้อมทรมานตนในห้องสืบสวนนั้นโจทก์ไม่ได้มีส่วนร่วม  สมศักดิ์ ชื่นจิตร บิดาฤทธิรงค์ ได้เบิกความยืนยันว่าจากเหตุการณ์ที่ฤทธิรงค์ถูกซ้อมทรมานรวมทั้งเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นทั้งหมดในวันเกิดเหตุนั้น เป็นเรื่องร้ายแรงจนเป็นเหตุให้ฤทธิรงค์ป่วยเป็นโรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ซึ่งเป็นอาการเครียดอย่างมากหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ โดยได้รับการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาโดยแพทย์ของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต และบิดาฤทธิรงค์ได้เบิกความถึงความยากลำบากในการร้องเรียนต่อหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ลูกชายมานานเกือบสิบปีแต่ก็ไม่เป็นผล จนกระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงได้มีการฟ้องคดีและการตรวจรักษาลูกชาย อีกทั้งยังได้เบิกความถึงอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานเพื่อให้รัฐไทยได้ปกป้องเหยื่อจากการถูกซ้อมทรมานและดำเนินคดีเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด

ศาลปราจีนบุรีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 ส.ค.นี้  เวลา  9.00 น.  

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ชี้ด้วยว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีสำคัญและถือเป็นคดีฟ้องเพื่อปิดปากเหยื่อซ้อมทรมาน ถูกตำรวจฟ้องกลับ มีหน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และเข้าร่วมสังเกตการณ์คดี เช่น เจ้าหน้าที่จาก UNOHCHR (สำนักงานข้าหลวงใหญ่ว่าด้านสิทธิมนุษยชน) และ ICJ (คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล) รวมทั้งมีนักข่าวติดตามทำข่าว ในวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลได้ทำการสืบพยานคดีนี้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net