Skip to main content
sharethis

อุตตม แถลงแนวทางจัดตั้งรัฐบาล พปชร. ย้ำช่วงนี้เป็นช่วงที่พรรคการเมืองพูดคุยหลักการการทำงานและนโยบาย แต่สุดท้ายนายกรัฐมนตรีคนถัดไปจะเป็นผู้พิจารณาจัดวางตัวบุคลากรลงกระทรวงต่างๆ ขอพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับบ้านเมืองเป็นหลัก ไม่ใช้เน้นต่อรองแบ่งเค้ก

อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แฟ้มภาพ

29 พ.ค. 2562 อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐได้แถลงข่าวกรณีการดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐว่า ทางพรรคได้ติดต่อหารือกับพรรคการเมืองต่างๆ ถึงการจัดตั้งรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตามขั้นตอนต่างๆ ดำเนินการโดยมีหลักการข้อแรกคือ เน้นการหารือร่วมกันให้ความสำคัญกับนโยบาย ซึ่งแต่ละพรรคต่างมีนโยบายของตัวเอง ก็ต้องมีการหารือร่วมกันว่าจะขับเคลื่อนให้ประเทศก้าวหน้าโดยจะมีนโยบายอย่างไรบ้าง และหารือว่าถ้าตกลงนโยบายร่วมกันได้แล้ว จะมีการจัดสรรแบ่งงานกันอย่างไร พรรคต่างๆ มีบุคลากรที่มีความสามารถอยู่หลายคน ก็จะต้องคิดว่าจะวางตัวคนอย่างไร วางกระทรวงหน่วยงานต่างๆ กันอย่างไร

“การหารือบนหลักการนี้ ก็ต้องมีการเจรจากับพรรคการเมืองในกลุ่มของเรา อันนี้เป็นเรื่องปกติ แต่ว่าเราเจรจาบนหลักการ ดังจะเห็นว่าวันก่อนเราไปเชิญพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ก็มีความเห็นร่วมกันในหลักการนี้ เราเริ่มหารือแนวทางทำงานร่วมกันว่าจะทำอย่างไร เริ่มจากนโยบายแล้วค่อยมาจัดสรรคน รายละเอียดในวันนั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องพูดจาหารือกันต่อไป เรื่องการวางโครงสร้างการทำงาน บุคลากรแต่ละกระทรวง และเราก็จะเดินหน้าหารือกับพรรคอื่นที่มีจุดประสงค์ร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล”

อุตตมกล่าวต่อว่า การดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลยังอยู่ในขั้นตอนปกติ มีการรับฟังข้อเสนอเงื่อนไขของพรรคอื่นๆ และจะมีการพิจารณาภายในพรรคเช่นเดียวกัน เพราะพรรคก็มีแนวคิด และจุดยืน ยอมรับว่าวันนี้กระบวนการต่างๆ ยังเดินหน้าต่อไปอยู่ และอาจจะใช้เวลาต่อไปอีกสักระยะ แต่ทุกอย่างยังอยู่ในกรอบเวลา พร้อมขอให้ทุกพรรคการเมืองยึดหลักว่า ต้องให้ความสำคัญกับบ้านเมือง มากกว่าให้ความสำคัญกับเรื่องการเมือง การต่อรองแบ่งเค้ก

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ตอบรับร่วมรัฐบาลเนื่องจากพรรคพลังประชารัฐยังไม่ได้ให้คำตอบเรื่องการดูนโยบายด้านการเกษตร ตรงนี้เท็จจริงอย่างไร อุตตมตอบว่า วันที่ไปคุยกับพรรคประชาธิปัตย์เป็นการคุยกันในแง่หลักการ แต่ก็ต้องมีการคุยกันให้ตกผลึกจึงจะเจรจาว่าหน่วยงานนี้ใครจะดูแล ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการ พร้อมย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ พรรคมีการหารือกันภายใน และมีบุคลากรที่มีความสามารถอยู่พอสมควร ซึ่งพรรคจำเป็นต้องพิจารณา

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐจะเป็นผู้ที่ดำเนินตรวจสอบรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เอง อุตตมยืนยันว่า การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีนั้นเป็นเรื่องที่พรรคเป็นผู้ดำเนินการเองในช่วงของการหารือ แต่ช่วงถัดไปหากใครได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีก็เป็นหน้าที่โดยตรงในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี แต่ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่พรรคดำเนินการ

เมื่อถามว่า ทางพรรคต้องการให้พรรคร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไปก่อนแล้วค่อยจัดสรรโควต้ารัฐมนตรีใช่หรือไม่ อุตตม ตอบว่า เวลานี้มีแต่การพูดคุยเรื่องนโยบาย เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการในเวลานี้ แล้วค่อยนำไปสู่การจัดสรรบุคลากร ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบเวลา ส่วนการจัดสรรรโควต้ารัฐมนตรีจะเกิดก่อนการโหวตเลือกนายกฯ หรือไม่นั้นยังไม่ทราบ แต่เมื่อมีการเลือกนายกฯ แล้วโดยขอบเขตอำนาจทางกฎหมาย นายกฯ จะมีอำนาจในการพิจารณาจัดตั้ง ครม. ส่วนวันนี้ก็เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต้องพูดคุยกันไป

เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทยยืนยันว่า หากไม่สามารถร่วมเสียงได้เกิน 250 เสียง ก็จะตัดสินใจไม่ร่วมรัฐบาล เวลานี้พรรคพลังประชารัฐมีความมั่นใจในการเป็นการนำจัดตั้งรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน อุตตมตอบว่า เชื่อว่าหากสามารถคุยกันเรื่องการเลือกนายกฯ ได้ ก็น่าไม่มีปัญหาอะไร

เมื่อถามว่าเวลานี้พรรคพลังประชารัฐเสียเปรียบทางการเมืองหรือไม่ อุตตมตอบว่า ไม่ได้มองอย่างนั้นเพราะการเจรจาต่อรองจัดตั้งรัฐบาลเป็นเรื่องปกติมีมานานแล้ว ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ถ้ายึดว่าวันนี้บ้านเมืองต้องเดินหน้าให้ได้ เรื่องการเจรจาต่อรองต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องการได้เปรียบเสียเปรียบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net