Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศเดินทางไปยังสถานทูตบรูไนในไทย คัดค้านการใช้กฎหมายชารีอะห์ที่มีการประหารชีวิตคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นประเด็นในเรื่องการปาหินจนตาย ระบุ ขัดข้อตกลงระหว่างประเทศหลายฉบับ กลัวทำลายอุดมคติอาเซียน ผู้เข้าร่วมเล่าความลำบากของ LGBT ในอาเซียนที่อยู่ยากตั้งแต่ในบ้านยันสถานะทางกฎหมาย เรียกร้องไทยมีท่าทีให้รัฐประกันความปลอดภัยของประชาชน

ตัวแทนภาคประชาสังคมอ่านแถลงการณ์ให้กับเจ้าหน้าที่สถานเอกอัคราชทูตบรูไนฟังก่อนจะส่งมอบ

9 เม.ย. 2562 ที่หน้าสถานเอกอัคราชทูตบรูไนประจำประเทศไทย มีกลุ่มนักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศทั้งชาวไทยและต่างชาติราว 20 คน เดินทางไปยื่นจดหมายและแถลงการณ์ขององค์กรภาคประชาสังคมอาเซียนว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์อย่างสมบูรณ์ในประเทศบรูไนดารุสซาลาม ที่เป็นกระแสในเรื่องโทษประหารผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยการปาหินในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีองค์กรภาคประชาสังคมอาเซียนร่วมลงนามถึง 132 องค์กร การยื่นแถลงการณ์ครั้งนี้ มีประเสริฐ แวดือราแม เจ้าหน้าที่กองรับรองออกมารับจดหมายและแถลงการณ์

สุไลพร ชลวิไล นักวิจัยอิสระ นักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศที่วันนี้มาร่วมเคลื่อนไหวระบุว่า ประเด็นบรูไนกลายเป็นเรื่องใหญ่ในวงเครือข่ายนักกิจกรรม LGBT ในอาเซียน มีการคิดว่าต้องส่งข้อความว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายดังกล่าว จึงมีการร่วมลงชื่อ ออกแถลงการณ์ แรกเริ่มนั้นนัดกันส่งแถลงการณ์และจดหมายให้ตัวแทนรัฐบาลบรูไนในประเทศต่างๆ พร้อมกัน แต่ท้ายที่สุดก็มีประเทศไทยที่เดียวที่สามารถทำได้ เพราะบรรยากาศในประเทศต่างๆ ไม่เอื้อ

“ประเด็นสิทธิ LGBT ในอาเซียนผลักดันยากมาก เพราะ หนึ่ง ประเทศสมาชิกอาเซียนมีหลายประเทศที่แสดงออกชัดเจนว่าไม่ยอมรับสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ สอง กลไกของอาเซียนที่เกิดขึ้นตามประชาคมไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนต่างๆ ก็ไม่กล้าที่จะพูดตรงๆ เกี่ยวกับเรื่องที่ว่าสิทธิ LGBT เป็นสิทธิมนุษยชน สาม หลักการประชาคมอาเซียนก็แสดงออกชัดเจนว่าจะไม่ก้าวก่ายกับกิจการในประเทศสมาชิกอื่น โดยสรุปก็คือว่า ที่ผ่านมาการผลักดันเรื่องนี้ไม่เกิดอะไรขึ้นมา และมันก็จะไม่เกิดอะไร เพราะเราเห็นระบบมันเป็นแบบนี้” สุไลพรกล่าว

ด้านมัจฉา พรอินทร์ จากโครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนที่วันนี้มาร่วมเคลื่อนไหวและเป็นหนึ่งในผู้ประสานงานกับสถานทูตในการรับหนังสือ ระบุว่าการลงโทษถึงขั้นรุนแรงถึงชีวิตเป็นปัญหาเพราะ LGBT ไม่ถูกมองเห็นจากสังคมในเรื่องรสนิยมทางเพศ ทันทีที่อัตลักษณ์นำไปสู่การประหารชีวิตหรือเอาผิดได้ ก็ถือว่าทำลายสิทธิมนุษยชนซึ่งจริงๆ ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกันและต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ

มัจฉาเล่าถึงสภาพความยากลำบากที่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในอาเซียนต้องเผชิญว่ามีต้งแต่ความเชื่อมาในระดับครอบครัว พ่อแม่อาจทำร้ายลูกที่เป็น LGBT ในไทยมีรายงานว่ามีการรังแกมากเป็นอันดับสองในโลก งานวิจัย UNESCO เรื่องการรังแกกันในโรงเรียนเมื่อสองปีที่แล้วก็มีผลสะท้อนว่ามากกว่าร้อยละ 40 ของเด็ก LGBT ที่ถูกรังแกในโรงเรียนมีความคิด เคย หรือพยายามฆ่าตัวตาย กฎหมายเองก็ยังมีการเอาผิด LGBT อย่างในพม่าและมาเลเซีย มีข่าวการฆ่าพี่น้องข้ามเพศ หรือสองปีที่แล้วก็มีข่าวเลสเบี้ยนสองคนถูกตัดสินโบย ทั้งนี้ ในภูมิภาคอาเซียนยังคงมีความพยายามผลักดันประเด็นสิทธิคนหลากหลายทางเพศจากกลุ่มประชาสังคมอยู่ทั่วภูมิภาคในหลายระดับตั้งแต่กฎหมายไปจนถึงการได้รับการยอมรับในชีวิตประจำวัน

ศิริศักดิ์ ไชยเทศ

ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศที่วันนี้เดินทางมาจาก จ.เชียงใหม่ และแต่งตัวมาในชุดจำลองการถูกปาหิน ระบุว่า สิทธิไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติโดยประเทศ สถาบันหรือศาสนาใดๆ ในฐานะที่เขาป็นคนที่เป็น LGBT ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะกฎหมายดังกล่าวรุนแรงเหลือเกิน ทั้งๆที่ทุกวันนี้คนต่างพูดถึงสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น แต่บรูไนกลับใช้กฎหมายที่รุนแรงและไร้มนุษยธรรม

“เราอยากให้เห็นว่า ปาหินบนหัวนี่ทรมานนะกว่าจะตาย แล้วอีกอย่างคือเขาให้ฝังดินครึ่งตัวแล้วให้คนช่วยกันปาทีละก้อน ซึ่งมันไม่ตายรวดเร็ว บางทีหินก้อนเล็กก้อนใหญ่ไม่เท่ากัน เอาง่ายๆ แค่เรา (โดน) ตบหน้า ปากกาหล่นใส่หน้าเราก็เจ็บแล้ว แต่นี่คือปาหินทีละก้อนกว่าจะสิ้นใจ มันทรมาน โหดเหี้ยมและไร้มนุษยธรรม” ศิริศักดิ์กล่าวถึงที่มาของธีมการแต่งกายวันนี้

เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์

เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์ อีกหนึ่งนักกิจกรรมจากกลุ่มโรงน้ำชา ผู้มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ กล่าวว่า รัฐไทยต้องออกมาคัดค้าน แสดงความชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการบังคับใบ้กฎหมายชารีอะห์ที่ละเมิดข้อสัญญาระหว่างประเทศที่บรูไนให้ไว้ เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะให้ความรู้สึกปลอดภัย ให้ความมั่นคงกับประชาชน ถ้ารัฐทำไม่ได้ ประชาชนจะใช้อะไรเป็นหลักประกันของชีวิต เขาจะรู้สึกปลอดภัยได้อย่างไรถ้าในสังคมมีกรอบให้เขาใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก

คำแถลงการณ์ขององค์กรภาคประชาสังคมอาเซียน ว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์อย่างสมบูรณ์ในประเทศบรูไนดารุสซาลาม

ในคำแถลงการณ์ฉบับนี้องค์กรภาคประชาสังคมในภูฒิภาคอาเซียนตามรายชื่อด้านล่าง ได้ลงนามเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศบรูไนยุติการดำเนินการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญาตามหลักกฎหมายศาสนาอิสลาม ที่เรียกว่ากฎหมายชารีอะห์ ด้วยเหตุผลว่ากฎหมายดังกล่าวมีข้อกำหนดที่ขัดแย้งกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากลที่ประเทศบรูไนได้มีการลงนามในสนธิสัญญา และให้สัตยาบันระหว่างประเทศดังต่อไปนี้

  1. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR)
  2. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC)
  3. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)
  4. กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ซึ่งเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของกลุ่มประเทศในอาเซียน
  5. อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT)
  6. ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนของภูมิภาคอาเซียน (AHRD)

ดังนั้นรัฐบาลประเทศบรูไนจึงจำเป็นต้องแสดงความมุ่งมั่นที่จะเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนตามสนธิสัญญาสากลและสัตยาบันตามที่ประเทศได้ลงนามตกลงไว้ โดยการหลีกเลี่ยงการลงโทษทางร่างกายและโทษประหารชีวิต เพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้งรัฐบาลประเทศบรูไนควรตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาและปกป้องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศด้วย การบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์ในประเทศบรูไน อาจจุดชนวนให้เกิดการปลุกกระแสความรุนแรง ซึ่งอาจเป็นอันตรายทั้งในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วทั้งภูมิภาคทวีปเอเชีย เนื่องจากมีการละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงออก

องค์กรภาคประชาสังคมในภูมิภาคอาเซียนตระหนักถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลบรูไนที่จะ “รักษาความสงบเรียบร้อย ศาสนา ชีวิต ครอบครัว และบุคคลโดยไม่คำนึงถึงเพศ สัญชาติ เชื้อชาติและความศรัทธา” ซึ่งเป็นเหตุผลเบื้องหลังในการบังคับใช้ประมวลกฎหมายชารีอะห์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้ว องค์กรภาคประชาสังคมในภูมิภาคอาเซียนได้แสดงความคิดเห็นร่วมกันว่า บทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมีบทลงโทษที่รุนแรงและโหดร้ายมากเกินสมควร เช่น การลงโทษบุคคลที่มีส่วนร่วมในการซื้อขายบริการทางเพศ บุคคลที่รักเพศเดียวกัน บุคคลที่ตั้งครรภ์นอกสมรส บุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย ผู้ที่เข้าถึงการทำแท้งหรือผู้ที่กระทำสิ่งที่ขัดต่อการตีความของรัฐศาสนาอิสลามด้วยการเฆี่ยนตี จำคุก และประหารชีวิต

การบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์มีแนวโน้มที่จะใช้กับกลุ่มคนชายขอบของประเทศบรูไนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงผู้หญิง เด็กและเยาวชน กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBTQI) ผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ ชนกลุ่มน้อยทางศาสนา และกลุ่มผู้คัดค้านบทลงโทษที่กำหนดด้วย โดยกฎหมายนี้ซึ่งมีการเฆี่ยนตีและการประหารชีวิต ถือเป็นการทรมาน การปฏิบัติที่ไม่สมควรและเป็นการลงโทษที่ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ประเทศที่ใส่ใจต่อพลเมืองของตนนั้น จำเป็นต้องตระหนักถึงผู้ที่อ่อนแอกว่าต่อการเลือกปฏิบัติความรุนแรงและความอยุติธรรม และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ควรแสดงถึงความพยายามที่จะปกป้องกลุ่มบุคคลเหล่านี้ อีกทั้งการลงโทษโดยการตีความศีลธรรมด้วยทัศนะแบบอนุรักษ์นิยม รวมถึงการใช้ความรุนแรงที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรมเยี่ยงนี้ อาจก่อให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความกลัวและความบาดหมางในหมู่ประชาชนชาวบรูไน และนำมาซึ่งความถดถอยของพื้นที่ประชาสังคม

องค์กรภาคประชาสังคมในภูมิภาคอาเซียน ขอเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศบรูไนในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียนที่กำลังจะได้ตำแหน่งผู้นำประชาคมอาเซียนในปี 2568 เพื่อตระหนักถึงอุดมคติของประชาคมอาเซียน ซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่มุ่งเน้นที่ผู้คนเป็นศูนย์กลางชุมชน ที่ยึดตามบรรทัดฐานที่ประชาชนของเราได้รับสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และความยุติธรรมทางสังคม สถานการณ์ปัจจุบันในประเทศบรูไนสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่ตรงกันข้าม และอาจมีผลกระทบในทางลบต่อการทำลายวิสัยทัศน์ของประชาคม อัตลักษณ์ และภาพลักษณ์ของประชาคมอาเซียน นอกจากนี้แล้วองค์กรภาคประชาสังคมในภูมิภาคอาเซียนยังตั้งตารอที่จะเห็นประเทศบรูไนเป็นแบบอย่างที่ดีในภูมิภาคอาเซียน จากความมุ่งมั่นของประเทศที่พยายามจะปฏิบัติตามแนวทางที่ดีกว่า ภายใต้แนวคิดประชาธิปไตยในการร่วมือกับภาคประชาสังคม พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศบรูไนจะพยายามบรรลุเป้าหมายนี้ผ่านการแบ่งปันความมั่งคั่ง และเคารพสิทธิที่เท่าเทียมกันของทุกคน พวกเราขอเรียกร้องให้ประเทศบรูไนรักษาชื่อเสียงของตนว่าเป็น “ที่พำนักแห่งสันติสุข” ซึ่งเป็นสังคมที่ส่งเสริมและเคารพความหลากหลาย

ร่วมลงนามโดย 132 องค์กรภาคประชาสังคมในภูมิภาคอาเซียนตามรายชื่อแนบท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net