Skip to main content
sharethis

หากไม่นับกรณี "ราฮาฟ" และ "ฮาคีม" ที่รอดจากการถูกส่งกลับต้นทาง ก่อนหน้านี้นับตั้งแต่ยุค คสช. ประเทศที่ได้ชื่อว่า “สยามเมืองยิ้ม” ได้กลับส่งผู้ลี้ภัยไปแล้วหลายราย ทั้งที่รู้ว่าหากส่งกลับไปแล้ว พวกเขาจะต้องเผชิญการประหัตประหารและการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรง นับเป็นการไม่ให้ความเคารพหลักสิทธิมนุษยชนและจารีตประเพณีระหว่างประเทศ จนทำให้ประเทศไทยตกเป็นเป้าการโจมตีของนานาชาติในหลายโอกาส

วันที่ 7 มกราคม 2562 หลังจากทางการไทยเปลี่ยนใจไม่ส่งตัว ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัล คูนุน ผู้แสวงหาสถานะลี้ภัยวัยสิบแปดปีกลับประเทศซาอุดิอาระเบีย พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า “ประเทศไทยเป็นเมืองยิ้ม เราจะไม่ส่งใครไปตาย”

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่รัฐบาล คสช.เข้าสู่อำนาจหลังการรัฐประหาร ปี 2557 ประเทศที่เรียกตนเองว่า “สยามเมืองยิ้ม” นี้ได้ทำการส่งผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยกลับประเทศต้นทางมาแล้วหลายราย ทั้งที่มีข้อมูลว่า หากส่งกลับไปแล้ว พวกเขาจะต้องเผชิญกับการประหัตประหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง การกระทำของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นการไม่ให้ความเคารพหลักสิทธิมนุษยชนและจารีตประเพณีระหว่างประเทศนี้ ทำให้ประเทศไทยตกเป็นเป้าการโจมตีของนานาชาติมาแล้วในหลายโอกาส

ประเทศไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ปี 2494 แต่เป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UNCAT) ซึ่งในข้อที่ 3 ได้ระบุไว้ว่า “รัฐภาคีจะต้องไม่ขับไล่ ส่งกลับ (ผลักดันกลับออกไป) หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมาน” ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยล้มเหลวที่จะเคารพต่อหลักการไม่ส่งกลับนี้ ซึ่งมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย 

ถึงแม้รัฐบาลไทยจะได้แสดงพันธกิจอย่างต่อเนื่องที่จะคุ้มครองผู้ลี้ภัยในประเทศ องค์กร Human Rights Watch ได้รายงานว่า ในไม่กี่ปีมานี้ ทางการไทยได้บังคับส่งกลับผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาสถานะลี้ภัย และบุคคลอื่นๆ ตามการร้องขอของรัฐบาลต่างชาติ ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงที่เชื่อถือได้ว่าบุคคลเหล่านี้อาจต้องประสบการทรมานหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง และนอกจากนี้ ทางการไทยยังคงควบคุมตัวผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาสถานะลี้ภัย และผู้เข้าเมืองอื่นๆ ซึ่งในบางกรณีเป็นการควบคุมตัวอย่างไม่มีกำหนด นอกจากนี้ ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกรอบกฎหมายเพื่อประเมินคำร้องขอลี้ภัย และล้มเหลวที่จะให้สถานะทางกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัยในประเทศ เป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ รวมทั้งการควบคุมตัวโดยพลการและไม่มีเวลากำหนด การส่งกลับ และการค้ามนุษย์

ประเทศไทยตกเป็นที่สนใจของนานาชาติมาแล้วถึงสองครั้งตั้งแต่เริ่มต้นปี 2562 ด้วยเรื่องของการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาสถานะลี้ภัย ครั้งแรกเมื่อมีการกักตัวราฮาฟ และอีกครั้งหนึ่งเมื่อทางการไทยจับกุมตัวฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรนซึ่งได้สถานะผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย และทางการบาห์เรนได้มีคำขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ฮาคีมเป็นอดีตสมาชิกทีมชาติบาห์เรนและได้วิพากษ์วิจารณ์ทางการบาห์เรนไว้มากจนต้องหลบหนีออกจากประเทศเมื่อปี 2557 โดยทางการไทยอ้างว่าเจ้าหน้าที่จับกุมตัวฮาคีมเนื่องจากมีหมายแดงจากองค์กรตำรวจสากล หรืออินเตอร์โพล ซึ่งหมายแดงนั้นออกมาถึงแม้ว่าฮาคีมจะมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยที่องค์กรสหประชาชาติให้การรับรอง และต่อมาได้มีคำขออย่างเป็นทางการจากทางการบาห์เรนให้มีการจับกุมตัว ทั้งสองกรณีถือว่าได้สร้างความเสื่อมเสียให้ประเทศไทยอย่างมากในสายตานานาชาติ เนื่องจากหากทางการไทยส่งตัวราฮาฟและฮาคีมกลับประเทศต้นทางจะถือเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการไม่ผลักดันกลับ (non-refoulement) อย่างเห็นได้ชัด และนอกจากนี้ ในกรณีของฮาคีมนั้นยังมีหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่าทางการบาห์เรนมีแรงจูงใจทางการเมืองในการขอให้ส่งตัวเขา 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ราฮาฟได้รับอนุญาตให้พบกับเจ้าหน้าที่จาก UNHCR และต่อมาได้ลี้ภัยไปยังประเทศแคนาดา ส่วนฮาคีมถูกปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาและได้เดินทางกลับประเทศออสเตรเลียในที่สุด โดยทั้งสองกรณีนี้ถือเป็นชัยชนะเล็กๆสำหรับผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม มีผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาสถานะลี้ภัยจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้โชคดีเช่นนี้

ต่อไปนี้คือรายนามผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาสถานะลี้ภัยที่ประเทศไทยส่งกลับประเทศต้นทางหลังจากการรัฐประหารปี 2557 ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม

รัฐ ร็อท โมนี

รัฐ ร็อท โมนี เป็นประธานสหพันธ์สหภาพแรงงานก่อสร้างกัมพูชา ทางการกัมพูชาต้องการตัวเขาในข้อหา “ยุยงให้เกิดการเลือกปฎิบัติ” เนื่องจากเขามีส่วนในการถ่ายทำภาพยนสารคดีเรื่อง “My Mother Sold Me: Cambodia, Where Virginity Is a Commodity” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กหญิงชาวกัมพูชาที่ถูกครอบครัวขายไปเป็นหญิงขายบริการทางเพศ ซึ่งทางการกัมพูชาอ้างว่าสารคดีเรื่องนี้เป็นการทำลายชื่อเสียงของประเทศ และกล่าวหาผู้สร้างสารคดีว่าจ่ายเงินให้เด็กหญิงในภาพยนตร์และแม่ของพวกเธอโกหกต่อหน้ากล้อง 

ทางการไทยจับกุมตัวโมนีในวันที่ 7 ธันวาคม 2561 หลังจากได้รับคำขอจากรัฐบาลกัมพูชา และได้ส่งตัวเขาให้กัมพูชา ซึ่งสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย กล่าวว่าการส่งตัวกลับครั้งนี้เกิดขึ้นโดยไม่ได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของศาล เป็นการส่งตัวโดยตรง ขณะที่โมนีถูกคุมขังในไทยนั้น ทางองค์กรสิทธิมนุษยชนพยายามจัดหาทนายความเพื่อให้คำปรึกษาแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบ 

มีความเป็นไปได้สูงที่โมนีจะไม่ได้รับการพิจารณคดีอย่างเป็นธรรมและจะประสบการละเมิดสิทธิมนุษยชนเมื่ออยู่ในการควบคุมของทางการกัมพูชา โดยขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม

 

แซม โสกา

แซม โสกาเป็นนักกิจกรรมแรงงาน ซึ่งเป็นที่ต้องการตัวจากทางการกัมพูชา หลังมีคลิปวีดิโอที่เธอขว้างรองเท้าใส่ป้ายที่มีภาพของฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และเฮง สัมริน ประธานสภา เธอหลบหนีมายังประเทศไทยและถูกจับกุมตัวในวันที่ 5 มกราคม 2561 เธอถูกส่งตัวกลับในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ถึงแม้ว่าเธอจะมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยที่ได้รับการรับรองจาก UNHCR และมีหลักฐานว่าเธออาจได้รับอันตรายเมื่อถูกส่งตัวกลับ นอกจากนี้ ทนายความของแซม โสกายังได้ยื่นคำร้องขออุทธรณ์ข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และพยายามให้มีบันทึกว่าเธอปฏิเสธที่จะเดินทางกลับกัมพูชา แต่สุดท้ายเธอก็ถูกส่งตัวกลับ

แซม โสกา ถูกศาลกัมพูชาพิพากษาลับหลังว่าเธอมีความผิดข้อหาดูหมื่นเจ้าพนักงาน และปลุกปั่นยุยงเพื่อสร้างความแตกแยก มีโทษจำคุกสองปี เธอถูกคุมขังทันทีที่เดินทางถึงกัมพูชา

ที่ผ่านมาทางการไทยได้ร่วมมือกับกัมพูชาเพื่อคุกคาม จับกุม และบังคับส่งตัวผู้เห็นต่างทางการเมืองซึ่งหลบหนีออกนอกประเทศกลับกัมพูชา ซึ่งบุคคลเหล่านี้รวมถึงนักการเมืองฝ่ายค้าน นักสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชน ซึ่งส่วนหนึ่งได้หนีเข้าประเทศไทยเพื่อหลบหนีจากการควบคุมตัวโดยรัฐบาลกัมพูชาภายใต้นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ทั้งกรณีของแซม โสกา และรัฐ ร็อท โมนี สร้างความกังวลให้กับองค์กรสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับวิธีที่ประเทศไทยปฎิบัติต่อผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาสถานะลี้ภัย เนื่องจากมีความเสี่ยงที่บุคคลเหล่านี้จะต้องประสบกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเมื่อถูกส่งตัวกลับประเทศต้นทาง นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปไดเว่ารัฐบาลทหารไทยและรัฐบาลกัมพูชาได้มีการตกลงแลกตัวผู้ลี้ภัยทางการเมือง

 

เจียง เยเฟย และตง กวงปิง 

เจียง เยเฟย เป็นนักวาดการ์ตูนล้อการเมือง ส่วนตง กวงปิงเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ผันตัวมาเป็นนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยองค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลได้รายงานว่า เจียง เยเฟยเคยถูกทางการจีนจับกุมตัวและทรมาน ส่วนตง กวงปิงเคยถูกจับในปี 2543 และถูกจำคุกสามปีเนื่องจากทำกิจกรรมทางการเมือง ทั้งคู่ได้หลบหนีจากจีนมายังประเทศไทยเพื่อแสวงหาที่ลี้ภัย 

ในปี 2558 ทางการไทยจับกุมตัวทั้งสองด้วยข้อหาเกี่ยวกับการตรวจคนเข้าเมือง โดยองค์กรแอมเนสตี้ระบุว่าพวกเขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยระหว่างอยู่ในที่คุมขังและกำลังรอเดินทางไปแคนาดาพร้อมกับครอบครัว แต่ทางการไทยกลับส่งตัวทั้งสองกลับประเทศจีน ทั้งที่มีความเสี่ยงว่าทั้งสองจะไม่ได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมและจะต้องพบกับการทรมาน โดยครอบครัวของทั้งสองได้เดินทางไปยังประเทศแคนาดา แต่ทั้งเจียง เยเฟย และตง กวงปิง ได้ขาดการติดต่อไปนับตั้งแต่ถูกควบคุมตัวโดยทางการจีน

ในปี 2561 เจียง เยเฟย และตง กวงปิง ถูกศาลจีนตั้งข้อหา “ยุยงปลุกปั่นให้เกิดการโค่นล้มอำนาจรัฐ” และ “ข้ามแดนผิดกฎหมาย” โดยตง กวงปิงต้องโทษจำคุกสามปีครึ่ง ส่วนเจียง เยเฟย ต้องโทษจำคุกหกปีครึ่ง

ผู้ลี้ภัยชาวเขามองตานญาด

ชาวมองตานญาดเป็นชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาคริสต์ในเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งส่วนมากหลบหนีการประหัตประหารทางศาสนาและการเมืองมายังประเทสไทย โดยองค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลรายงานว่า ชาวมองตานญาดเป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยที่ถูกคุกคามมากที่สุดในเวียดนาม และต้องเผชิญกับการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความเชื่อทางทางศานาและการเมือง 

ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 ทางการไทยจับกุมตัวผู้ลี้ภัยชาวมองตานญาดจำนวนกว่าร้อยคนที่อาศัยอยู่ในเขตรอบนอกของกรุงเทพฯ โดยองค์กรฮิวแมนไรท์วอชท์รายงายว่าในจำนวนนี้มี 50 คนเป็นเด็ก และส่วนมากมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยที่ UN ให้การรับรอง ผู้ลี้ภัยจำนวน 34 คนถูกส่งตัวไปสถานกักกันที่สวนพลู และมีความเสี่ยงว่าจะถูกส่งตัวกลับหรือถูกควบคุมตัวโดยไม่มีกำหนด ผู้ลี้ภัยอีก 38 คนถูกส่งตัวไปที่ศาลแขวงนนทบุรีและถูกตั้งข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยทั้งสองกลุ่มอยู่ในระหว่างต้องโทษจำคุก และมีรายงานว่าผู้ลี้ภัยที่เป็นเด็กต้องถูกแยกจากพ่อแม่ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงว่าพวกเขาจะพบเจอกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงถ้าหากถูกส่งตัวกลับกัมพูชาหรือเวียดนาม

 

ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์มุสลิม

ชาวอุยกูร์เป็นชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลามในประเทศจีน โดยชาวอุยกูร์จำนวนมากหลบหนีความไม่สงบออกจากเขตปกครองตนเองซินเจียง ที่ซึ่งองค์กรฮิวแมนไรท์วอชท์รายงานว่ามีการเลือกปฎิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติและการปราบปรามทางศาสนาและวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง ซึ่งรัฐบาลจีนอ้างว่าทำไปเพื่อต่อสู้กับลัทธิแยกดินแดน ความเชื่อสุดโต่งทางศาสนา และการก่อการร้าย โดยฮิวแมนไรท์วอชท์ยังกล่าวอีกว่าการกระทำนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ

ในเดือนกรกฎาคม ปี 2558 ทางการไทยส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์จำนวนกว่าร้อยคนกลับประเทศจีน ซึ่งการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับในครั้งนี้ทำให้เกิดการประท้วงในประเทศตุรกี ซึ่งได้เสนอตัวรับผู้ลี้ภัย โดยโซฟี ริชาร์ดสัน ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอชท์ในประเทศจีนได้กล่าวว่า ประเทศไทยได้ยอมแพ้ให้กับแรงกดดันจากทางการจีน และได้ขโมยโอกาสที่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะได้รับการปกป้อง นอกจากนี้โซฟียังได้กล่าวอีกว่าความเสี่ยงที่ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์จะได้รับหากถูกส่งตัวกลับประเทศจีนนั้นมีมากและเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้ว โดยมีรายงานว่าชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งตัวกลับก่อนหน้านี้ถูกจับกุมโดยไม่มีเหตุผลและถูกลงโทษทางอาญา 

นอกจากนี้ ยังมีชาวอุยกูร์อีกจำนวนหนึ่งที่ยังอยู่คุมขังอยู่ในประเทศไทย และยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตุว่าเหตุระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณในเดือนสิงหาคมปี 2558 ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บ 125 คน และเสียชีวิต 20 คนนั้นอาจเป็นการตอบสนองต่อการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับในครั้งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net