Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ฯ จัดดูหนังฟังเสวนาโครงการ ‘Movies that Matter’ แต่ต้องเปลี่ยนสถานที่ เหตุ จนท.แทรกแซง ขณะที่วงคุยเรื่องคดี ‘บิลลี่’ 4 ปีผ่านไปดีเอสไอเพิ่งรับเป็นคดีพิเศษ ‘มึนอ’ เล่าดีเอสไอเพิ่งสอบถามเรื่องคดี เอกสารถูกเก็บเป็นความลับ ดูได้แต่ห้ามเผยแพร่ ผู้กำกับหนังชี้การถูกบังคับให้สูญหายสำหรับคนไทยเป็นแค่ข่าว ไม่รู้สึกว่าสิทธิเราควรเท่ากัน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดฉายหนังพร้อมเสวนาในโครงการ ‘Movies that Matter’ ซึ่งจัดขึ้นทุกวันเสาร์ที่สามของเดือน ชวนดูหนังที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่เรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ความหลากหลายทางเพศ สิทธิมนุษยชนศึกษา นักปกป้องสิทธิ และผู้ลี้ภัย โดยเมื่อ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ G village ได้จัดฉายสองหนังสั้น คือ The Purple Kingdom กำกับโดย พิมพกา โตวิระ The Big Tree กำกับโดย Th'blay Paw  ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการโดนไล่ที่จากแผ่นดินเกิดของชาวปกาเกอะญอ และคดีสูญหายของ ‘บิลลี่’ นักกิจกรรมชาวปกาเกอะญอ ผู้ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมพูดคุยกับ ‘มึนอ’ พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของ ‘บิลลี่’ และนักแสดงจากเรื่อง The Purple Kingdom ร่วมด้วย พิมพกา โตวิระ ผู้กำกับเรื่อง The Purple Kingdom ชวนคุยโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ iLaw

4 ปีผ่านไป ดีเอสไอเพิ่งรับคดี ‘บิลลี่’ เป็นคดีพิเศษ

ยิ่งชีพ เล่าถึงคดีของบิลลี่ว่า หลังจากบิลลี่หายไปเมื่อปี 2557 มีการดำเนินคดี ทีมทนายไปฟ้องศาลเพชรบุรี ว่ามีการควบคุมตัวบิลลี่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ศาลเรียกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่จับกุมบิลลี่มาไต่สวนหลายครั้ง มูลเหตุคือศาลจะสั่งให้ปล่อยตัวบิลลี่เท่านั้น แต่เมื่อเจ้าหน้าที่บอกปล่อยตัวไปแล้ว และศาลเห็นว่าคำร้องมีน้ำหนักไม่เพียงพอ จึงให้ยกคำร้อง หลังจากนั้นคดีจึงอยู่ในอำนาจดีเอสไอ ซึ่งขึ้นกับว่าว่าจะรับเรื่องพิจารณาหรือไม่ ต้นปีนี้ดีเอสไอบอกว่าไม่รับคดีเพราะกล่าวว่า มึนอซึ่งเป็นผู้ร้องเป็นภรรยาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิ แต่ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาดีเอสไอได้รับให้เป็นคดีพิเศษอยู่ในอำนาจของดีเอสไอ และผู้ต้องสงสัยก็คือ ชัยวัตน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลมากพอสมควร

มึนอกับการต่อสู้คดีมา 4 ปี “ถ้าเราไม่นึกถึงเรื่องที่ผ่านมามันก็จะไม่เหนื่อย”

มึนอ เล่าว่า เมื่อก่อนบิลลี่เองก็เคยสนใจถ่ายหนัง เพราะหนังเป็นเครื่องมือสื่อสารที่บางครั้งสามารถสื่อสารได้ดีกว่าการพูดปัญหาตรงๆ

“พี่บิลลี่ทำหนังเพื่อสื่อเรื่องราวในหมู่บ้าน เรื่องที่เราถูกกระทำ” มึนอ กล่าวเช่นนั้น

มึนอ กล่าวถึงหนัง The Purple Kingdom ว่าเป็นเรื่องจริงที่มาจากชีวิตเธอ แต่ถูกทำการแสดงขึ้นใหม่โดยใช้ตัวละครจริงทั้งหมดและชื่อสมมติ เช่น ฉากที่เธอไปแจ้งความกับตำรวจแล้วโดนถามให้พูดซ้ำๆ แบบเดิม หรืออีกฉากหนึ่งซึ่งจำลองมาจากฝันของเธอก่อนที่บิลลี่จะหายตัวไป เธอฝันว่ามีชายใส่สุดดำคนหนึ่งกำลังจะตัดต้นไม้ที่หน้าบ้าน ลูกๆ เธอไปเล่นที่ต้นไม้ เธอกลัวต้นไม้จะล้มใส่ลูกๆ จึงไปตามตัวให้กลับมา เธอคิดว่าเป็นลางสังหรณ์ไม่ดีบางอย่างที่จะเกิดขึ้นกับบิลลี่

เมื่อพูดถึงเรื่องคดี มึนอเล่าว่าเมื่อเร็วๆ นี้หลังจากที่ดีเอสไอรับคดีสูญหายของบิลลี่ ก็มีเจ้าหน้าที่มาพูดคุยกับเธอ แต่เป็นสิ่งเดิมที่เธอเคยพูดไปแล้วมาหลายครั้ง และเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ชี้แจงกับเธอว่าขั้นตอนต่อไปจะทำอย่างไรบ้าง รวมถึงเอกสารทั้งหมดจะถูกเก็บเป็นความลับ เธอดูได้แต่ไม่สามารถนำมาเผยแพร่ เธอกล่าวว่าคดียังไม่คืบหน้า มีความรู้สึกน้อยใจ ท้อแท้ ตอนแรกไม่เหนื่อยและอยากเดินเรื่องให้ถึงที่สุด แต่หลังๆ ผ่านไปหลายปีรู้สึกความยุติธรรมมันไม่จริง

“บางครั้งรู้สึกว่าเราเป็นคนจนรึเปล่า เราไม่มีค่าตอบแทนให้ใคร คดีถึงไม่คืบหน้า แต่ถ้าเราคิดว่าเราเดินมาไกลแล้วไม่มีอะไรคืบหน้าก็จะรู้สึกเหนื่อยบางครั้ง แต่ถ้าเราไม่นึกถึงเรื่องที่ผ่านมามันก็จะไม่เหนื่อย” มึนอ กล่าว

มึนอ ยังกล่าวว่า มีคนบางกลุ่มเห็นว่าคนที่อยู่กับป่าเป็นพวกตัดไม้ทำลายป่า ทำให้คนที่อยู่พื้นราบได้ผลกระทบ น้ำท่วม รถวิ่งไม่ได้ แต่เขาคิดแบบนั้นไปฝ่ายเดียว ไม่ถูกต้อง ที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมไม่ใช่คนอยู่กับป่าอย่างเดียว คนที่อยู่ในเมือง โรงงานก็ให้ผลกระทบเหมือนกัน

มึนอ เล่าอีกว่า ปู่คออี้กับอีกห้าสิบเจ็ดครอบครัวซึ่งเคยอาศัยอยู่ที่ ‘ใจแผ่นดิน’ ได้ถูกสั่งให้ย้ายไปแล้ว แต่ตอนนี้ปู่ก็ยังอยากกลับไปอยู่ที่เดิม ปู่จะบอกประจำว่าที่ตรงนี้ไม่ดีเพราะปู่บอกว่าอากาศไม่เหมือนกัน ข้างบนอากาศดีกว่า ในกลุ่มคน ชุมชนมีโรคเยอะ ปู่ไม่แข็งแรง จะเป็นไข้หวัดบ่อยๆ และอยู่ข้างบนแบบไม่มีเงินนสักบาทก็อยู่ได้ แต่ถ้าอยู่พื้นราบไม่มีเงินอยู่ไม่ได้ ทุกอย่างต้องใช้เงินซื้อ

เมื่อถาม มึนอ ว่าใครอยู่เบื้องหลังอุตสาหกรรมตัดต้นไม้  มึนอ บอกว่า รู้แต่ไม่อยากตอบ เธอบอกแค่ว่าคนกลุ่มนั้นไม่ได้มาคุกคามเธอ

ปัจจุบันมึนอทำไร่ ทอผ้า ทอย่าม เพื่อเลี้ยงดูลูกทั้ง 5 คนของเธอ

มึนอและลูกๆ ภาพโดย Realframe

การถูกบังคับให้สูญหาย คนไทยเห็นเป็นแค่ข่าว ไม่รู้สึกว่าสิทธิเราควรเท่ากัน

พิมพกา ผู้กำกับหนัง กล่าวว่า ตนเชื่อว่าหนังเป็นสื่อที่ทำให้คนเล่าเรื่องของเขาออกมาได้ ก่อนหน้านี้เคยทำเวิร์คชอปให้กลุ่มชาติพันธุ์ แต่ไม่ได้เจอบิลลี่ หลังจากนั้นได้รู้จักบิลลี่จากหนังที่เขาทำเรื่อง ‘วิถีชีวิต’ ซึ่งเขาทั้งกำกับแล้วก็เป็นโปรดิวเซอร์เองด้วย เธอชอบหนังเรื่องนี้ และมีภาพประทับใจเกี่ยวกับเขาในแง่นักกิจกรรมที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อบ้านเกิด ในหนังทำให้เธอเห็นภาพและผลกระทบที่เกิดจากการถูกไล่ที่ของรัฐ และทำให้เข้าใจวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอมากขึ้น หลังจากนั้นพอเกิดคดีสูญหายของบิลลี่ก็ตกใจและติดตามข่าวมาตลอด

“ตอนดูหนังมันเปิดโลกเรา เราไม่เคยเห็นคนกลุ่มนี้ ไม่เข้าใจว่ามุมมองที่เขามีต่อประเทศไทยแบบไหน  และมันทำให้เราเข้าใจว่าเขารู้สึกว่าตรงนั้นเป็นพื้นที่ของเขา”

พิมพกา เล่าว่า ต่อมาสนใจที่จะทำเรื่องนี้เป็นหนัง และคิดว่าคนที่มาเล่นควรจะมึนอเอง เมื่อได้คุยกับมึนอก็รู้สึกว่าน่าสนใจ หลังจากนั้นจึงปรึกษาทนายเพื่อไม่ให้กระทบกับคดีที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และตนจึงตัดสินใจว่าจะไม่ทำเป็นสารคดีที่เป็นเรื่องจริงและอาจนำมาใช้เป็นหลักฐานใดๆ ได้ แต่จะทำเป็นหนังแทน 

“เราเอาเรื่องที่เขาเล่าจิปาถะมาทำเป็นบทด้วย แต่คนที่มีอำนาจเราแตะไม่ได้เลย เพราะแตะแล้วจะถูกใช้ดำเนินคดี เราไม่อยากให้มีผลกระทบต่อมึนอ เราเลยใช้อีกเส้นเรื่องเล่ามาเปรียบเทียบ” พิมพกา กล่าว

พิมพกา เล่าว่า ตอนถ่ายก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนภายนอกจะไปที่บางกลอยซึ่งเป็นหมู่บ้านของมึนอและเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และหากเธอต้องถ่ายโดยขออนุญาตถ่ายทำก็อาจจะมีเรื่องไม่ได้ถ่าย (เพราะเจ้าหน้าที่อุทยานถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของบิลลี่) และการทำหนังเรื่องนี้ก็จำเป็นต้องไปเห็นพื้นที่จริง เช่น ‘โป่งลึก’ ‘บางกลอยบน’ ‘บางกลอยล่าง’ ซึ่งแค่บางกลอยล่างก็ห่างจากหน้าอุทยาน 4 ชม. ถ้าโดยสารรถกระบะ และ ‘ใจแผ่นดิน’ ซึ่งเคยเป็นบ้านของปู่คออี้ ต้องเดินเท้าต่อไปอีกสองวัน และขึ้นไม่ได้เพราะถูกเจ้าหน้าที่ห้าม

“ปู่คออี้ถามเราหลังถ่ายเสร็จว่าสิ่งที่เราทำจะทำให้เขากลับไปที่บ้านได้รึเปล่า เราก็ตอบไม่ได้ เรามีความหวัง แต่เราไม่รู้สึกว่าหนังเราจะช่วยเรื่องคดี แต่อาจจะทำให้คนอยากรู้เรื่องคดีนี้มากขึ้น เรารู้สึกว่าคนไทยอ่านข่าวเป็นแค่ข่าว แต่ไม่รู้สึกผูกพัน ทำยังไงให้หนังเห็นว่าเขาเป็นมนุษย์ มีสิทธิเท่ากับคนอื่นๆ ทำไมสิ่งนี้ไม่ถูกรู้สึกให้มากกว่านี้ในสังคม อย่างน้อยที่สุดหนังทำให้เขากลับไปอ่านข่าวบิลลี่หรือปู้คออี้ เราอยากให้หนังแค่จุดประกายให้คนเข้าใจ และรู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้น” พิมพกา กล่าว

พิมพกา เล่าว่า การทำหนังแบบนี้ไม่มีรายได้ ทุกวันนี้ก็ต้องทำงานอื่นด้วย เธอตั้งข้อสังเกตว่าหนังบันเทิงแทบไม่เห็นประเด็นเหล่านี้ปรากฎ เพราะมองว่าอะไรแบบนี้ต้องเป็นสารคดี และคนก็จะมองว่าสารคดีนน่าเบื่อ ดังนั้นไม่ง่ายที่จะทำ ต้องรีเสิร์ชเยอะ ต้องเข้าใจเรื่อง ระมัดระวังแง่มุมที่จะถูกนำเสนอ และหนังเองก็เป็นดาบสองคม คือเป็นเสียงให้กับเขา หรืออาจถูกนำไปใช้เพื่อการอื่น อย่างเรื่อง The Big Tree มีฟุตเทจที่แอบถ่าย ซึ่งก็อาจจะถูกฟ้องได้

“ใจเราอยากให้ทุกคนใช้สื่อของตัวเองในการเล่าเรื่อง ทำยังไงให้วิธีการทำสื่อเผยแพร่ไปสู่คนที่เจอปัญหา เพราะเราทำก็ทำในมุมมองเรา ไม่เท่ากับคนที่เจอปัญหาเล่าปัญหาของตัวเอง ต้องหาวิธีทำยังไงให้เกิดแนวร่วม ให้เขาสร้างหนังจากเรื่องราวของเขาได้เอง” พิมพกา กล่าว

ขณะที่สุดท้ายแล้วหนังเรื่อง The Purple Kingdom ก็เดินทางไปตามเทศกาลหนังต่างๆ ทั่วโลก หลังฉายครั้งแรกในโครงการของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จากนั้นก็ไปฉายตามเทศกาลหนังต่างๆ หลายประเทศ เช่น  สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน สิงคโปร์ และกำลังจะไปฉายที่มาเลเซีย

“ตอนฉายที่สวิตเซอร์แลนด์ก็มีคนโคลัมเบียมาดู และเขาก็บอกว่าในโคลัมเบียก็มีเคสแบบนี้เหมือนกัน ดังนั้นเรื่องคนถูกบังคับให้สูญหายมันเกิดขึ้นทั่วโลก และการไปฉายต่างประเทศ ทำให้คนอยากรู้ว่าทำไมเรื่องแบบนี้ถึงเกิดขึ้น สิทธิมมนุษยชนประเทศไทยเป็นยังไง เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน” พิมพกา กล่าวทิ้งท้าย

เจ้าหน้าที่แทรกแซงจนต้องเปลี่ยนสถานที่จัดงาน

เดิมกิจกรรมนี้วางแผนจะจัดขึ้นที่โรงภาพยนตร์เอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งได้ติดต่อทำสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์ไว้แล้ว แต่เมื่อวันที่ 19 ก.ค. สองวันก่อนหน้าการจัดกิจกรรม เจ้าหน้าที่ที่อ้างว่า มาจาก "สันติบาล" ได้เข้าไปที่โรงภาพยนตร์ โดยแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของโรงภาพยนตร์ทราบว่า ไม่สบายใจกับกิจกรรมนี้ และขอทราบรายละเอียดกิจกรรม ภาพยนตร์ที่จะฉาย รวมทั้งชื่อผู้ที่จะมาพูด แต่ไม่ได้สั่งห้ามจัดกิจกรรม อย่างไรก็ดี การติดตามของเจ้าหน้าที่ก็ทำให้เจ้าของโรงภาพยนตร์ตัดสินใจยกเลิกการให้เช่าสถานที่ ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย จึงต้องหาสถานที่จัดงานใหม่ และย้ายมาจัดยัง G village ซอยลาดพร้าว 18 ซึ่งในวันจัดกิจกรรมก็ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดเข้ามาแทรกแซงอีก และทางแอมเนสตี้ยังตั้งเป้าจะจัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์ที่สะท้อนปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน และจัดวงพูดคุยกันเช่นนี้ต่อไปทุกวันเสาร์ที่สามของทุกเดือน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net