Skip to main content
sharethis

19 ก.ค.2561 จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. และคณะรัฐมนตรีได้มีกำหนดการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.อุบลฯ และ จ.อำนาจเจริญ ในระหว่างวันที่ 23-24 ก.ค.นี้  ในช่วงก่อนหน้าการประชุมนี้ ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบได้ทำการติดตามตัวโดยเข้าใจว่าต้องการสกัดกั้นการเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.ในพื้นที่ โดยมีรูปแบบเช่นการโทรศัพท์สอบถาม การไปตามหาตัวที่ที่ทำงาน และล่าสุดมีการขอนัดพบพูดคุยกับ เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ นักวิชาการในเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ปัจจุบันเป็นอาจารย์ผู้สอนอยู่ที่ ม.อุบลฯ


ที่มาภาพ: Facebook Titipol Phakdeewanich

เวลา 10.00 น. ได้มีนายทหารในเครื่องแบบจำนวน 2 นาย เดินทางมาพบกับ นางเสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ นักวิชาการผู้สอนประจำคณะศิลปศาสตร์ ม.อุบล โดยได้นัดพบกันที่ร้านกาแฟในบริเวณมหาวิทยาลัย การนัดหมายครั้งนี้ได้รับการติดต่อผ่านมาทางผู้บริหารเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2561 (เมื่อวานนี้)

เสาวนีย์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า นายทหารที่มาพบแจ้งชื่อว่า พ.อ.มงกุฎ แก้วพรหม ตำแหน่งรอง เสธ. จากมณฑลทหารบกที่ 22 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ (มทบ.22) โดยในการพูดคุยได้มีเพื่อนนักวิชาการและนักเขียนเข้าร่วมพูดคุยด้วย การพูดคุยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ส่วนใหญ่จะเป็นการถามเรื่องส่วนตัว ความเชี่ยวชาญทางวิชาการ เรียนจบอะไร ที่ไหน พ.อ.มงกุฎ ให้เหตุผลว่าต้องการทำความรู้จัก และยังบอกอีกว่ามีคนอยากเจอตัวหลายคน (ซึ่งไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร) แต่ช่วงท้ายก็วกเข้าประเด็นถามว่าจะทำกิจกรรมอะไรหรือไม่ ในช่วงที่มีการประชุม ครม.สัญจร ก็ตอบไปว่าไม่ เพราะงานยุ่งมาก พ.อ.มงกุฎ ถามอีกว่าอยากพบท่านหรือไม่ ก็ตอบไปว่า ไม่ เพราะรู้สึกไม่โอเค

"จากนั้นประเด็นการแลกเปลี่ยนที่สำคัญคือการแลกเปลี่ยนว่าจุดยืนของเราคืออะไร อยากเห็นสังคมแบบไหน เราก็ตอบไปว่าอยากเห็นสังคมที่ให้เกียรติคนทุกคนอย่างเท่าเทียม ทุกสิ่งอย่างที่ทำเป็นเรื่องหลักการทั้งสิ้น ไม่ใช่การยึดมั่นในตัวบุคคล  ซึ่งเขาก็พยักหน้ารับฟัง เรากล่าวเสริมด้วยว่า เราเข้าใจว่าเขาต้องทำตามหน้าที่ เราก็ต้องทำตามหน้าที่ตัวเองเช่นกัน"

มีช่วงหนึ่ง ดูเหมือนเขาจะเข้าใจว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีเจ้าหน้าที่มาพบที่มหาวิทยาลัย ก็เลยถามประมาณว่า รู้สึกวิตกมั้ย ตอบไปว่า ไม่วิตก เพราะคิดว่าเจ้าหน้าที่มาตามหน้าที่

  ผู้สื่อข่าวถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ถือว่าเป็นการคุกคามหรือไม่  เสาวนีย์ตอบว่า โดยหลักการคือการคุกคามแน่นอน เราไม่มีข้ออะไรที่จะข้องเกี่ยวกัน เราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ เขาใช้วิธีการที่สุภาพ ดูเป็นมิตร และพูดคุยในเรื่องทั่วไป ส่วนตัวไม่ได้โกรธเคืองอะไร ที่เค้ามาทำตามหน้าที่ แต่นั่นก็คือสิ่งที่ทำให้กระบวนการนี้เกิดต่อไปไม่จบสิ้น มันเป็นความลำบากใจกับทุกฝ่ายที่ต้องมาปฏิสัมพันธ์กัน  โดยคนที่นั่งสั่งการไม่ต้องมาแบกรับแรงเสียดทานในระดับซึ่งหน้าแบบนี้

ไม่ใช่มาแค่หน่วยงานเดียว เมื่อวานนี้ก็มีคนแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ ไปตามหาตัวเธอที่อีกส่วนงานหนึ่งในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ที่คณะฯ นอกจากนี้ มีผู้เห็นเหตุการณ์เตือนเพื่อนนักวิชาการของเธออีกคนหนึ่งว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาสอบถามถึง

"มันเป็นสิ่งที่ไม่ปกติแน่นอน ในสภาพสังคมปกติที่มีรัฐบาลพลเรือน เราไม่เคยต้องเข้าไปในค่ายทหาร ไม่เคยมีทหารมาขอ "ทำความรู้จัก" "

"สุดท้ายอยากฝากไปถึงคณะรัฐประหารคือ ถึงจุดนี้แล้ว เราต่างเปลี่ยนความคิดกันไม่ได้ คน 70 ล้านคน ย่อมแตกต่างกัน แต่สิ่งที่จะทำเราอยู่ด้วยกันได้ คือระบบที่ดี ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีสิทธิแสดงออก  เราเพียงแค่ต้องปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพในสิทธิ ให้เกียรติกัน  ไม่ใช่แค่ให้เกียรติแต่คนที่รวยกว่า มีอำนาจมากกว่า มียศ ตำแหน่ง  และใช้อำนาจกับคนตัวเล็กๆ"

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net