Skip to main content
sharethis

บก.ลายจุด ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง กกต. หลังปฏิเสธจดแจ้งจัดตั้งพรรคชื่อเกรียน ยัน 'เกรียน' เป็นชื่อพรรคถูกต้องตามกฏหมาย ชี้ทั่วโลกตั้งชื่อพรรคแปลกๆ จำนวนมาก ถือว่าเป็นวิวัฒนาการทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตย 

8 พ.ค.2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า วันนี้ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ผู้ก่อตั้งพรรคเกรียน ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ตีความชื่อพรรคใหม่ หลัง กกต.ไม่อนุญาตให้จดแจ้งจัดตั้งพรรคชื่อเกรียน โดยยืนยันว่า คำว่าเกรียน ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้มีความหมายขัดต่อความสงบเรียบร้อย ไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญ อย่างที่เป็นเหตุผลที่ กกต.ไม่อนุญาต นอกจากนี้ ในสังคมก็มีการใช้คำว่าเกรียนไปในเชิงสร้างสรร มีการนำไปเป็นชื่อรายการทีวี ซึ่ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ไม่ได้สั่งระงับ หรือห้ามใช้ชื่อรายการ และ คำว่าเกรียนของชื่อพรรค ไม่ได้หมายถึงคำว่าเกรียนที่เป็นคำแสลงที่ใช้ในปัจจุบัน 

สมบัติ กล่าวด้วยว่า ทั่วโลกก็มีการตั้งชื่อพรรคแปลกๆ จำนวนมาก ถือว่าเป็นวิวัฒนาการทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตย และก่อนหน้านี้ นายทะเบียนพรรคการเมืองของเราก็เคยรับรองชื่อพรรคถิ่นกาขาวมาแล้ว ดังนั้น จึงเห็นว่าคำวินิจฉัยของนายทะเบียนที่ไม่รับจดแจ้งจัดตั้งพรรคเกรียน จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และว่า เจ้าหน้าที่ กกต.ที่มารับหนังสือชี้แจงว่า กกต.จะใช้เวลาในการพิจารณาคำอุทธรณ์ประมาณ 30 วัน หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ก็จะไปยื่นฟ้องศาลปกครอง หากศาลยืนตาม กกต. ก็ได้เตรียมชื่อสำรองไว้แล้ว 

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า นอกจากพรรคเกรียนจะถูกนายทะเบียนห้ามแล้ว ยังมีพรรคเห็นแก่ตัวที่นายทะเบียนได้แจ้งว่า ไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อดังกล่าว และให้ไปดำเนินการแก้ไข 

ขณะที่ สมบัติ ได้โพสต์หนังสือขออุทธรณ์หนังสือการแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองต่อ กกต. ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวในลักษณะสาธารณะ โดยมีรายละเอียดดังนี้

เขียนที่ Google Docs

๗  พฤษภาคม  ๒๕๖๑

เรื่อง     ขออุทธรณ์หนังสือการแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง
เรียน     นายทะเบียนพรรคการเมือง

อ้างถึง   หนังสือที่ ลต (ทนพ) ๐๐๓๕/๒๕๗๗ ลงวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑

สิ่งที่ส่งมาด้วย

๑.รายชื่อพรรคการเมืองแปลกๆทั่วโลก
๒.ความหมายคำว่า “สแลง” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

นายทะเบียนพรรคการเมือง ได้ทำหนังสือตามที่อ้าง ถึงข้าพเจ้าและคณะผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคเกรียน ซึ่งเป็นคณะจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองในนามพรรคเกรียน   ข้าพเจ้าและคณะฯ ขออุทธรณ์ต่อข้อวินิจฉัยในหนังสือดังกล่าว ขอชี้แจงยืนยันและโต้แย้ง ตามคำอธิบายดังต่อไปนี้

๑. ตามความหมายของคำว่า “เกรียน” ที่ท่านนำมาใช้อ้างถึงความไม่เหมาะสมในการใช้ชื่อพรรค โดยระบุว่า คำว่า เกรียน หมายถึง คนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ก่อกวน ไร้เหตุผล ไม่พบปรากฏเป็นความหมายที่มีการใช้ในภาษาราชการแต่ประการใด ท่านได้ใช้ความหมายของความหมายสแลงจากพจนานุกรมคำใหม่ซึ่งยังไม่มีการยอมรับให้ใช้ความหมายที่ท่านกล่าวอ้างในภาษาราชการ ในขณะเดียวกันพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ได้ให้ความหมายที่เป็นทางการไว้ว่า สั้นเกือบติดหนังหัว ผิวหนัง หรือพื้นที่ เช่น ผมเกรียน หมาขนเกรียน หญ้าเกรียน ซึ่งข้าพเจ้าและคณะผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคเกรียนได้ชี้แจงความหมายต่อเจ้าหน้าที่ในการรับจดแจ้งชื่อ โดยมีสื่อมวลชนที่มาทำข่าวเป็นพยาน (Link อ้างอิง https://www.facebook.com/100009079713697/videos/pcb.430733634030293/1918644791781493/?type=3&theater&ifg=1 ) การวินิจฉัยของท่านในความหมายของคำว่า “เกรียน” จึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ข้าพเจ้าได้แจ้งไว้แต่ต้น และมิอาจยอมรับได้

๒. สแลงหรือคำสแลง ตามพจนานุกรมไทยฉบับราชบัญฑิตยสถาน หมายถึง ถ้อยคำหรือสำนวนที่เข้าใจกันเฉพาะในคนบางกลุ่มหรือในชั่วระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ใช้ในภาษาพูดที่ไม่เป็นทางการ และไม่ใช้ในภาษาเขียน  ดังนั้น ความหมายของคำว่าเกรียน ที่มาจากคำสแลง จึงไม่ถือว่าเป็นความหมายที่เป็นทางการ ใช้เพียงเฉพาะกลุ่ม และนับเป็นความหมายที่ใช้ในชั่วระยะเวลาใด เวลาหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นสถานะของคำสแลงหากเทียบไม่ได้กับความหมายที่แท้จริงที่ระบุอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ

๓. การที่ท่านคาดคะเนว่า “อาจก่อให้สังคมเกิดความสับสนในความหมายอันอาจไม่มีความเหมาะสมและเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” เห็นได้ชัดว่าเป็นการคาดเดา/คาดคะเน ที่คลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ดังปรากฏเป็นความจริงแล้วว่า สังคม ได้เข้าใจความหมายเชิงสร้างสรรค์ ทางบวก ของคำว่าเกรียน เป็นที่ตรงกัน ดังเห็นได้จากรายการทีวี เกรียนอัฉริยะ ซึ่งออกอากาศในช่อง GMM25 โดยเป็นรายการที่ให้เยาวชนออกมาแสดงความสามารถพิเศษของตนเอง หรือแม้แต่รายการ เกรียนทีวี ในเพจ Facebook ก็เป็นรายการที่เสนอสถานที่ท่องเที่ยวและเมนูอาหารที่น่าสนใจ ทั้งนี้จะมีกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมายที่มีการใช้คำว่าเกรียนที่เป็นคำสแลงในเชิงสร้างสรรค์จำนวนมาก และไม่เคยปรากฏชื่อองค์กร รายการทีวี สินค้าใด ที่ใช้คำว่าเกรียนและกระทำการอันก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีงามตามที่ท่านได้กังวล

๔. ในหนังสือของ กกต ได้แจ้งขอให้ทางข้าพเจ้าและคณะฯ ทำการเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคเป็นชื่ออื่น ซึ่งหากข้าพเจ้าได้เปลี่ยนเป็นพรรค “ขวดน้ำ” ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีสแลงใด และ กกต อนุมัติให้จัดตั้งพรรคขวดน้ำได้ แต่ต่อมาวันหนึ่งคำว่าขวดน้ำเกิดมีความหมายทางสแลงและถูกตีความว่าอาจก่อให้เกิดความไม่สงบหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม พรรคขวดน้ำจะต้องถูกยุบหรือมีคำสั่งให้เปลี่ยนชื่ออีกหรือไม่ ซึ่งแม้นว่านี่เป็นเพียงการยกตัวอย่าง แต่ก็ทำให้เห็นถึงกระบวนการอันผิดปกติของแนวคิดเรื่องการใช้คำสแลงมาเป็นปัจจัยในการอนุญาตการใช้ชื่อพรรค

๕. พรรคการเมืองทั่วโลกล้วนมีพัฒนาการในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการตั้งชื่อพรรคซึ่งอาจฟังดูแปลกๆ เช่น พรรคโจรสลัด พรรคหมาสองหาง พรรคเจได ฯลฯ ดังนั้นการตั้งชื่อพรรคเกรียนจึงมิได้มีความแปลกแตกต่างไปจากพรรคการเมืองในโลกใบนี้ ล้วนแล้วเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และหากกล่าวอ้างถึงพรรคการเมืองในไทย พรรคถิ่นกาขาวก็เคยได้รับอนุญาตจดแจ้งชื่อและลงสมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเช่นกัน  ( Link รายชื่อพรรคแปลกทั่วโลก https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_frivolous_political_parties )

๖. จากเหตุผลที่ได้กล่าวมาข้างต้น การตั้งชื่อพรรคโดยใช้คำว่า เกรียน จึงไม่ปรากฏว่าความหมายของคำว่า “เกรียน” อย่างเป็นทางการ ว่าจะเข้าข่ายเป็นไปตามมาตรา ๑๘ ประกอบมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ แต่อย่างใด ดังนั้นเราจึงขอแสดงสิทธิ เสรีภาพในการใช้ คำว่า “เกรียน” เป็นชื่อพรรคอย่างถูกต้องตามกฏหมาย

ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการจัดตั้งพรรคเกรียน ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองของประชาชนสามารถเกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย เพื่อสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยและนำพาความบันเทิงสู่การเมืองไทย จึงขอให้ท่านทบทวนคำวินิจฉัยการอนุญาตการจดแจ้งชื่อพรรคเกรียนตามเหตุผลที่อธิบายมา ณ หนังสือฉบับนี้

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา


ขอแสดงความนับถือ

( สมบัติ บุญงามอนงค์ )
ตัวแทนคณะผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคเกรียน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net