Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ การเคลื่อนย้ายทุนและแรงงานข้ามพรมแดนของประเทศเป็นไปอย่างกว้างขวาง ทำให้เห็นจุดอ่อนของกฎหมายแรงงานในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน อาจเรียกได้ว่า เป็น “วิกฤติของกฎหมายแรงงาน” โดยเฉพาะกรอบคิดพื้นฐานของกฎหมายแรงงานที่มีการตั้งคำถามกันมาก ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้เห็นความไม่สอดคล้องระหว่างกฎหมายแรงงานที่ถูกสร้างขึ้นมาในบริบททางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในยุคสมัยหนึ่ง (การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ) กับความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันในยุคโลกาภิวัตน์ ดังนั้น การนำกฎหมายแรงงานมาใช้โดยขาดการปรับปรุงหรือปฏิรูปแทนที่จะเป็นการคุ้มครองแรงงานอย่างถ้วนหน้าและเท่าเทียมกัน กลับจะสร้างความเหลื่อมล้ำและการละเมิดสิทธิแรงงานเสียเอง

ในประเทศยุโรป มาร์แชล์ (Marshall) นักวิชาการด้านแรงงานได้วิเคราะห์พัฒนาการของสิทธิต่าง ๆตามลำดับ  นับตั้งแต่สิทธิความเป็นพลเมือง ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในศตวรรษที่ 18 ตามมาด้วยสิทธิทางการเมืองในศตวรรษที่ 19 อันเป็นสิทธิส่วนบุคคล (ปัจเจก) และถูกเขียนบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่การแทรกเข้ามาของวิถีการผลิตทุนนิยมในสังคมตะวันตก ก็ได้สร้างความขัดแย้งระหว่างทุนกับแรงงาน ทำให้คนงานลุกขึ้นต่อสู้จัดตั้งสหภาพแรงงานและพรรคการเมืองเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และผลักดันให้เกิดกฎหมายแรงงาน จนกลายมาเป็นสิทธิทางสังคมในศตวรรษที่ 20 อันเป็นสิทธิของส่วนรวม (collective rights) กล่าวได้ว่า กฎหมายแรงงานถูกสร้างขึ้นมาจากประสบการณ์และบริบทของประเทศยุโรป เช่น อังกฤษในยุคเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยมี “แรงงานรับจ้าง”[1] เป็นต้นแบบ (wage worker model) คือ แรงงานรับจ้างในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีความหมายในมิติทางเพศแฝงอยู่ (Tekle, 2010 : 3) ตามกระบวนทัศน์นี้คือ ผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นผู้ที่หารายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัวโดยการทำงานในโรงงาน (bread winner)  ส่วนผู้หญิงและเด็ก ถูกมองว่าเป็นผู้พึ่งพิง (dependent)

แต่ในสังคมชายเป็นใหญ่ มีการแยกบทบาทระหว่างหญิง-ชายคือ “งานการผลิต” (production) หรือ การทำงานโรงงาน (งานนอกบ้าน) ที่มีผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน (ค่าจ้าง) เป็นงานที่ผู้ชายทำ แต่ “งานการผลิตซ้ำแรงงานรุ่นใหม่”  (reproduction) เช่น การทำงานบ้าน การคลอดลูก เลี้ยงลูกและดูแลครอบครัว หรือ “งานในบ้าน”  ซึ่งบทบาทอันหลังนี้ ผู้หญิงมักจะถูกสังคมคาดหมายให้ทำหน้าที่นี้ แต่กลับเป็นงานที่ไม่ได้ถูกให้คุณค่า หรือ ค่าตอบแทนในการทำงาน เพราะถูกมองว่า เป็นงานที่ไม่ได้สร้างผลผลิตที่เป็นตัวเงินหรือผ่านการซื้อขายในตลาด และงานในบ้านซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัว

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเยอรมันแก้ปัญหาคนว่างงานที่ตกค้างมาจากยุคเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกปีค.ศ 1930 โดยใช้การจัดสวัสดิการของรัฐที่ส่งผ่านแรงงานชาย เช่น การให้แรงงานชายมีค่าจ้างที่สูงเพียงพอที่จะเลี้ยงสมาชิกในครอบครัว 3 คน (ภรรยาและลูก) และมีการจัดสวัสดิการเงินช่วยเหลือครอบครัว เพื่อให้ผู้หญิงอยู่กับบ้านไม่ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานและเป็นคู่แข่งแรงงานชาย  ในยุคของรัฐสวัสดิการช่วงหลังสงครามโลก (ปีค.ศ. 1945-1973)  wage worker model คือ แรงงานชายที่ทำงานบนสายพานการผลิตในโรงงานผลิตรถยนต์ของฟอร์ด เป็นคนงานประจำของบริษัทที่มีการจ้างงานที่มีความมั่นคงและความก้าวหน้าในการทำงาน เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่เข็มแข็งที่มีอำนาจในการเจรจาต่อรองในระบบทวิภาคี สามารถเรียกร้องการเพิ่มค่าจ้างและสวัสดิการตามการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและเงินเฟ้อ (fordism) ในปัจจุบัน เรามักเรียกว่า “แรงงานในระบบ” ที่มีการคุ้มครองโดยกฎหมายแรงงานเพราะมีนิติสัมพันธ์กันโดยตรงผ่านการทำสัญญาจ้างงาน เป็นความสัมพันธ์แบบนายจ้างกับลูกจ้าง กฎหมายแรงงานจึงวางอยู่บนกรอบคิดของการจ้างงานในโรงงานเป็นพื้นฐาน (employment)  จึงมักนำมาสู่คำถามเรื่องประสิทธิผลของกฎหมายแรงงานและการบังคับใช้ในภาวะปัจจุบันในโลกของการทำงานที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และสมควรตั้งคำถามว่า กฎหมายแรงงานในปัจจุบันเป็นอย่างไร และอนาคตควรจะเป็นเช่นใดที่จะทำให้เกิดการคุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ

แนวคิดเรื่องกฎหมายแรงงานซึ่งถูกพัฒนาในบริบทการเข้าสู่การเป็นอุตสาหกรรมของประเทศตะวันตก ถูกส่งทอดมายังประเทศกำลังพัฒนาที่เริ่มต้นนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมผ่านองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เช่น การยอมรับอนุสัญญาฉบับต่าง ๆซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานแรงงานสากล กล่าวได้ว่า กรอบคิดเรื่องกฎหมายแรงงานที่ว่าอยู่บนความสัมพันธ์ของการจ้างงาน (ในโรงงาน) เป็นแนวคิดที่กระทรวงแรงงาน ฯ ใช้ในการคุ้มครองและจัดสวัสดิการแรงงานมาโดยตลอด  แต่การนำกฎหมายแรงงานเข้ามาโดยขาดการคำนึงถึงบริบทเฉพาะของแต่ละประเทศ หรือการปรับให้ความเหมาะสม แม้จะมีข้อดีคือ ทำให้ผู้ใช้แรงงานบางส่วนได้รับการคุ้มครองเรื่องสิทธิแรงงาน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็อาจจะสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำของการใช้กฎหมายเพราะไม่สามารถครอบคลุมแรงงานได้ทุกกลุ่ม ในประเทศกำลังพัฒนา จะเห็นได้ว่า กำลังแรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือ เกษตรกรในชนบทซึ่งหลุดจากกรอบของกฎหมายแรงงาน

สำหรับประเทศไทย นับตั้งแต่รัฐบาลใช้กลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เพื่อเร่งรัดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ มีการหลั่งไหลของแรงงานหญิงจากชนบทเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมส่งออก เช่น อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า อุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนแผงวงจรไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งเป็นการลงทุนต่างชาติที่ใช้เทคโนโลยีต่ำและแรงงานแบบเข็มข้น ในยุคนี้ การออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน สะท้อนความต้องของรัฐในการส่งเสริมการลงทุนต่างชาติและการใช้แรงงานราคาถูก เช่น การไม่ส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ถ้ามีสหภาพแรงงาน ก็ใช้ระบบไตรภาคีเป็นกลไกในการควบคุมแรงงานเพื่อแบ่งแยกแล้วปกครอง ทำให้ขบวนการแรงงานขาดความเป็นเอกภาพ แตกแยกและต่อสู้กันเอง (fragmentation) หรือ ความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมายโดยจะมีข้ออ้างเรื่องการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ตรวจโรงงานและงบประมาณ รวมถึงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุน ที่มีกฎหมายเฉพาะที่ไม่ส่งเสริมการจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือ การรวมกลุ่มใดๆเพราะถูกมองว่าเป็น “ต้นทุน” ของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อแรงงานหญิงเข้ามามีส่วนร่วมในกำลังแรงงานและมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การรวมกลุ่มแรงงานหญิง เช่น กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กลุ่มแรงงานสมานฉันท์ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ จึงมีการนำประเด็นเรื่องสิทธิสตรีเข้าสู่สหภาพแรงงานและเคลื่อนไหวเรียกร้องการคุ้มครองแรงงานหญิงในกฎหมายแรงงาน เช่น การห้ามไม่ให้ผู้หญิงทำงานกะดึก การลาคลอด 90 วันโดยมีการจ่ายค่าจ้าง การเพิ่มเงินอุดหนุนเด็ก การจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในทุกย่านอุตสาหกรรม และการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยในการทำงาน ฯลฯ

แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การเข้ามาของกระแสโลกาภิวัตน์ผ่านนโยบายการเปิดเสรีและการพัฒนาสู่สังคมข้อมูลข่าวสาร (information society) การแข่งขันที่ไร้พรมแดนและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ทุนและแรงงานสามารถเคลื่อนย้ายสูง ในยุคนี้ แรงงานได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่มีการถกเถียงและวิจัยกันมากโดยเฉพาะระบบ “การจ้างงานยืดหยุ่น” ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนงานและสหภาพแรงงาน “ระบบการจ้างงานยืดหยุ่น” เป็นกลยุทธ์ของบริษัทนำมาใช้เพื่อลดต้นทุนแรงงาน (cut-cost) ส่งผลให้ตลาดแรงงานถูกแบ่งออกเป็น 2 ตลาดคือ ตลาดที่มีการจ้างงานแบบมั่นคง ประกอบด้วยคนงานมีสถานภาพเป็นพนักงานประจำ มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานและการจัดสวัสดิการสังคมให้ผ่านระบบประกันสังคม (ร่วมกันออกเงินสมทบ ได้รับสิทธิประโยชน์) แต่ในปัจจุบัน คนงานประจำเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานชายกลับถูกลดจำนวนลงตามนโยบายของบริษัทเพื่อเข้าสู่ระบบการผลิตแบบลีน (lean production) [2] และมีผลกระทบต่อสหภาพแรงงานในเรื่องของจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานและอำนาจต่อรอง ขณะที่ในอีกตลาดหนึ่งที่เฟื่องฟูขึ้นมาอย่างรวดเร็วคือ การจ้างแบบชั่วคราว จ้างทำงานเป็นช่วง ๆ (part-time) และการทำงานตามบ้านในระบบรับช่วง หรือ เหมาช่วงการผลิต แรงงานเหล่านี้ ถูกจ้างแบบหลุดมาตรฐานแรงงาน (atypical) เรียกรวมๆกันแบบกว้างๆว่า “แรงงานนอกระบบ” ซึ่งแรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ที่ประสบกับปัญหาทำงานที่มีชั่วโมงการทำงานยาว ค่าจ้างต่ำ หรือ จ่ายเป็นรายชิ้น ขาดสวัสดิการในการทำงาน ขาดการรวมกลุ่มและความมั่นคงในงาน ดังนั้น การที่กระทรวงอ้างว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างหญิงชายในการทำงาน (โรงงาน) แต่แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิงที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง หรือ หลุดออกจากกฎหมายแรงงาน และเป็นแรงงานที่ขาดการรวมกลุ่มและอำนาจต่อรอง 

ในปัจจุบัน ระบบรับช่วงหรือเหมาช่วงการผลิต ทำให้การจำแนกหรือเส้นแบ่งระหว่างแรงงานในระบบกับผู้ประกอบอาชีพอิสระขาดความชัดเจนลง มีความคลุมเครือ (grey area) ยกตัวอย่างกรณีผู้รับงานมาทำที่บ้านจากโรงงานหรือคนกลางโดยรับค่าตอบแทนเป็นรายชิ้น งานการผลิตที่ทำในบ้านก็เป็นงานการผลิตแบบเดียวกันกับงานที่ทำในโรงงานแต่กลับถูกนิยามว่า เป็น “แรงงานนอกระบบ” จึงไม่ถูกคุ้มครองโดยกฎหมายแรงงาน หรือ กรณีแรงงานในภาคเกษตร เช่น เกษตรพันธะสัญญา ก็ถูกนิยามว่าเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ไม่มีนายจ้าง ไม่เข้ากรอบของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทั้งๆที่ ผู้ประกอบอาชีพอิสระเหล่านี้ ไม่ใช่เกษตรกรแบบดั่งเดิมแต่เป็นแรงงานพึ่งพิงและอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของทุน กล่าวคือ ทำการผลิตภายใต้การทำสัญญาจ้างทำของกับบริษัท เมื่อส่งมอบผลผลิตตามกำหนดเวลาและตรงตามสเป็คก็จะได้รับค่าตอบแทนที่คิดเป็นรายชิ้นซึ่งรวมๆกันแล้วต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ในกิจการของรัฐ เช่น โรงพยาบาลของรัฐที่บางส่วนถูกแปรรูปโดยให้เอกชนเข้ามาเหมางานที่ต้องการความชำนาญเฉพาะอย่างไปทำ เป็นการทำสัญญาจ้างทำของกันแต่กลับเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถทำการลดต้นทุน

โดยใช้วิธีการจ้างลูกจ้าง (พยาบาล) แบบชั่วคราว ไม่ประจำ ไม่เข้าประกันสังคมหรือกองทุนเงินทดแทนทั้ง ๆ ที่ทำงานในสถานที่มีความเสี่ยงอันตรายสูง ในความเป็นจริงแล้ว การประกอบธุรกิจแบบนี้ เป็นวิธีการจ้างงานที่นายทุนนำมาใช้เพื่อหลบเลี่ยงกฎหมายแรงงาน  เราสามารถเรียกว่าเป็น “การจ้างงานแบบแอบแฝง” (disguised employment)

ทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ ที่ทุนและแรงงานสามารถเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของรัฐ-ชาติ บรรษัทข้ามชาติสามารถเคลื่อนย้ายการผลิตไปได้ทั่วโลกเพื่อแสวงหาความได้เปรียบจากการแข่งขันและกำไรสูงสุดจากระบบการ ”จ้างงานยืดหยุ่น” นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในโลกการทำงานอย่างมาก ขณะเดียวกัน สังคมไทยก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและขาดแคลนแรงงานอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบัน งานด้าน “การผลิตซ้ำแรงงานรุ่นใหม่” มีบทบาทที่สำคัญในการสร้างงาน ในอนาคตอันใกล้นี้ ภาคการผลิตจะไม่ได้เป็นแหล่งการจ้างงานเพราะการเข้ามาระบบหุ่นยนต์แต่จะเป็นภาคบริการที่เกี่ยวกับ “การผลิตซ้ำ” ที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างสำคัญซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เป็นผู้หญิงที่ทำงานเหล่านี้ เช่น งานดูแลสุขภาพ การพยาบาล การโภชนาการ เป็นต้น แต่ในสังคมชายเป็นใหญ่ การทำงานของแรงงานหญิงเหล่านี้ ก็ยังไม่มีการให้คุณค่าเท่าที่ควร ผู้หญิงจึงยังต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่เลวร้าย ทั้งชั่วโมงการทำงานสูง ค่าจ้างต่ำ ขาดสวัสดิการและความมั่นคงในงาน และอำนาจต่อรอง

ส่วนแรงงานที่เริ่มปรากฎตัวในยุคโลกาภิวัตน์อีกกลุ่มหนึ่งคือ “แรงงานข้ามชาติ” ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้มีการเคลื่อนย้ายสูง เป็นผู้ที่เคลื่อนย้ายจากประเทศต้นทางเพื่อแสวงหารายได้และโอกาสในชีวิตที่ดีกว่าเดิม (economic migrants) ในประเทศไทย มีประมาณ 1.3 ล้านคนที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงานแต่เมื่อแรงงานข้ามชาติเคลื่อนตัวข้ามพรมแดนของประเทศใด ก็มักจะถูกมองว่าเป็น “คนนอก” (outsider) ที่เข้ามาแย่งงานและสวัสดิการจาก “คนใน” (insider) ที่ไม่ได้เคลื่อนย้าย “คนใน” ก็จะพยายามกีดกัน “คนนอก” เพื่อรักษาสิทธิ์ประโยชน์ที่ตนเองได้รับไม่ให้ถูกลดทอนลง (Jordan, 1998 : 65)  แต่ “คนนอก” ก็จะพยายามเข้ามาเป็น “คนใน” โดยรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องสิทธิแรงงาน การคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน การเข้าถึงประกันสังคม กองทุนเงินทดแทนและการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ขณะเดียวกัน รัฐก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนคือ ต้องการแรงงานข้ามชาติราคาถูกมาทดแทนแรงงานไทยที่ขาดแคลนและส่งเสริมการลงทุนแต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องให้การคุ้มครองสิทธิแรงงานกับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันแก่แรงงานข้ามชาติตามกฎหมายและตามธรรมเนียมการปฏิบัติที่เป็นสากล จึงเป็นบ่อเกิดความตึงเครียดในสังคมในยุคโลกาภิวัตน์

จากภาพรวม จะเห็นได้ว่า แรงงานชั่วคราว แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคบริการส่วนใหญ่ แรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะแรงงานรับใช้ในบ้าน แรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิง ที่ประสบกับปัญหาการจ้างที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน (standard employment) หลุดออกจากกฎหมายแรงงานและเข้าไม่ได้สิทธิแรงงานและสวัสดิการสังคม กล่าวได้ว่า “เป็นแรงงานชนชั้นล่าง” (underclass) สะท้อนช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคม การแก้ปัญหาที่มีการนำเสนอกันมาเพื่อเป็นข้อคิดในการก้าวเดินไปข้างหน้า แนวคิดหนึ่ง เห็นว่าควรใช้ “งาน” (work) เป็นกรอบของกฎหมายแรงงานแทน “การจ้างงาน” (employment) ซึ่งจะให้ความสำคัญกับงานซึ่งมีหลายรูปแบบ ทำในหลายสถานที่ที่ไม่ใช่โรงงานอย่างเดียว ขณะที่อีกแนวคิดหนึ่ง เห็นว่า ควรขยายมิติทางสังคมของกฎหมายแรงงาน เช่น การจัดสวัสดิการให้ครอบคลุมแรงงานกลุ่มอื่น ๆ มากกว่าที่จะมาสร้างกฎหมายใหม่ขึ้นมาสำหรับเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะทำให้เกิดกฎหมายหลายชุด มีปัญหาเหลื่อมล้ำกันของกฎหมายและบังคับใช้ไม่ได้ แต่สิ่งที่เราควรตระหนักไว้คือ กฎหมายแรงงานที่เป็นอยู่ถูกสร้างบนความแตกต่างในมิติทางเพศ (gender) เช่น สาธารณะกับส่วนตัว งานกับครอบครัว และการผลิตกับการผลิตซ้ำ ซึ่งเป็นข้ออ้างเพื่อกีดกันผู้หญิงออกจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานและการแบ่งปันในสังคม 


เชิงอรรถ

[1] แรงงานรับจ้าง หรือ กรรมาชีพ (wage labour) คือ แรงงานอิสระเสรี ไม่ผูกติดกับที่ดินแต่ก็เป็นแรงงานพึ่งพิงและตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของทุน (dependent and subordinated labour) ในบริบทของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ แรงงานรับจ้างส่วนใหญ่คือ ชาวนาหรือไพร่ที่สูญเสียที่ดินทำกินจากการล้อมรั้วที่ดินเพื่อเลี้ยงแกะ เป็นสาเหตุที่ผลักดันให้เกิดการอพยพออกครั้งใหญ่ของแรงงานสู่เมืองและโรงงาน  “แรงงานเสรี” สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างอิสระเสรีแต่ก็ถูกบังคับเชิงเศรษฐกิจให้ต้องขายความสามารถในการทำงาน (พลังแรงงาน) เพื่อแลกกับค่าจ้างในการยังชีพ 

[2] ระบบการผลิตยืดหยุ่น (Flexible Production) :  ระบบนี้เริ่มเข้ามาเมื่อโลกเข้าสู่โลกาภิวัตน์ (1990) ทุนและแรงงานเคลื่อนย้ายอย่างไร้พรมแดน การปฏิวัติอุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีของการสื่อสาร การใช้อินเตอร์เนท นโยบายการค้าเสรี ฯลฯ ทำให้ประเทศที่อาศัยการสร้างอัตราการเติบโตผ่านกลยุทธ์การส่งออก (export-led growth) ต่างต้องหันมารื้อโรงงานขนาดใหญ่ เลิกจ้างคนงานและทำการลดขนาดเข้า “ระบบการผลิตแบบลีน” การผลิตสินค้าจะมีลักษณะเป็น “ห่วงโซ่สินค้า” โดยการผลิตหลัก (core activities)จะทำโดยคนงานประจำของบริษัทควบคู่ไปกับการจ้างคนงานเหมาค่าแรง งานในส่วนอื่นจะถูกกระจายให้คนงานรอบนอกทำ (periphery workers) เช่น ผู้รับเหมาช่วง (subcontractors) การผลิตทุกส่วนจะประสานผ่านการใช้ระบบคอมพิวเตอร์และการขนส่งสินค้าด้วย “ระบบมาทันเวลา” (just in time) “แรงงานรอบข้าง” เหล่านี้ ขาดความมั่นคงในงานเพราะถูกจ้างโดยสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา ค่าแรงต่ำและไม่มีสวัสดิการ แรงงานเหล่านี้มีสถานภาพเปราะบางในสังคม(precarious workers) เพราะเข้าไม่ถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

 


เอกสารอ้างอิง

Jordan, Bill .1998. The New Politics of Welfare, Social Justice in a Global Context, London : SAGE Publication.

Marshall A. 2007. Explaining Non-compliance with Labour Legislation in Latin America : A Cross-countries Analysis. Geneva : International Labour Office (ILO).

Supiot, A. 2006. The position of security in the system of international labour standard, in Comparative Labor Law and Policy Journal, Vol.27, pp. 113-121.

Tekle, Tzehainesh ed. 2010. Labour Law and Worker Protection in Developing Countries, Geneva : International Labour Office (ILO).

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net