ยกเลิกจัดงานรายงานซ้อมทรมานในไทย เจ้าหน้าที่อ้างผู้บรรยายไม่มีใบอนุญาตทำงาน

เจ้าหน้าที่รัฐกีดกันการจัดกิจกรรมเปิดเผยรายงานการซ้อมทรมานในไทย ระหว่าง ปี 2557-2558 โดยให้เหตุผลว่าผู้บรรยายของแอมเนสตี้ อินเตอเนชั่นนอล จากสหราชอาณาจักร ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ชี้จัดได้แต่ผู้บรรยายอาจถูกดำเนินคดี กฎหมายแรงงาน - แอมเนสตี้ชี้ รัฐไทยควรดำเนินคดีกับผู้ซ้อมทรมาน มิใช่ผู้รายงาน

28 ก.ย. 2559 โรงแรมโฟร์วิงส์กรุงเทพ สถานที่จัดงานเผยแพร่รายงานจากสำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เรื่อง "บังคับให้มันพูดให้ได้ภายในพรุ่งนี้ : การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายภายในประเทศไทย" (“Make Him Speak by Tomorrow”: Torture and Other Ill-Treatment in Thailand) โดยผู้บรรยาย 3 คนประกอบด้วย เลอรอง เมลลอง รักษาการผู้แทนข้าหลวงใหญ่ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษชน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ราเฟนดี จามิน ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยูวาล จินบาร์ นักวิจัยจากแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล  ซึ่งเจ้าหน้าที่สันติบาลและเจ้าหน้าที่จากกรมแรงงานได้เข้ามาพูดคุยกับผู้จัดงานว่า ผู้บรรยายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของแอมเนสตี้จากสหราชอาณาจักร 2 คน ไม่มีใบอนุญาตทำงาน

โดยเจ้าหน้าที่กล่าวว่า ไม่ได้สั่งห้ามให้ไม่มีการจัดงาน เพียงแต่หากกิจกรรมยังดำเนินต่อไป ผู้บรรยายอาจถูกดำเนินคดีในกฎหมายแรงงานของไทยได้

ยูวาล จินบาร์ นักวิจัยจากแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวหลังประกาศยกเลิกการจัดงานว่า ตนไม่ขอพูดถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้มากนัก แต่ก็เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่ยินดีนักที่จะให้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น แม้รายงานดังกล่าวไม่ได้ทำขึ้นเพื่อต่อต้านหรือโจมตีประเทศไทย เป็นเพียงการศึกษาเก็บข้อมูล และเผยแพร่เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยมีความเข้าใจสถานการณ์การซ้อมทรมานที่เกิดขึ้น โดยท้ายที่สุดแล้วรายงานฉบับนี้ก็จะมีการเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ททั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

เลอรอง เมลลอง รักษาการผู้แทนข้าหลวงใหญ่ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษชน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวผ่านทางทวิตเตอร์ว่า เขาเสียใจที่ไม่สามารถพูดในงานดังกล่าวได้ พร้อมระบุว่าเหตุการณ์วันนี้ยืนยันถึงรูปแบบของการคุกคามต่อการรวบรวมข้อมูลเรื่องของทรมานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทย และว่าการตัดสินใจเช่นนี้ยังทำให้เกิดคำถามสำคัญถึงความสามารถขององค์กรระหว่างประเทศในการจัดงานสาธารณะเช่นนี้ในไทยด้วย 

ทั้งนี้รายงานที่จะเปิดเผยในกิจกรรมดังกล่าวเป็นการเก็บข้อมูลการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย 74 กรณี ระหว่างปี 2557-2558 มีทั้งการทุบตี การใช้ถุงพลาสติกรัดให้ขาดอากาศหายใจ การใช้มือหรือใช้เชือกบีบคอหรือผูกคอ การกรอกน้ำอย่างต่อเนื่อง การช็อตอวัยวะเพศด้วยไฟฟ้า และการทำให้อับอายในรูปแบบต่าง ๆ 

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์หลังทางการไทยกีดกันไม่ให้จัดงาน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงความเห็นกรณีถูกทางการไทยกีดกันไม่ให้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวรายงาน เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยระบุว่า การทำให้นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนที่เน้นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเงียบเสียงลง ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย  

"ทางการไทยควรต้องแก้ปัญหาเรื่องการทรมาน ไม่ใช่ให้นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนมาทำงานแทน แทนที่จะข่มขู่เราด้วยการจับกุมและการดำเนินคดี พวกเขาควรนำตัวผู้ที่ทำการทรมานมารับผิด มันเป็นเรื่องน่าตกใจที่การออกมาพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนถูกทำให้เป็นอาชญากรรม ขณะที่การทรมานกลับลอยนวลพ้นผิด" มินาร์ พิมเพิล ผู้อำนวยการอาวุโสงานปฏิบัติการระดับโลกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุ

"เราถูกบอกว่างานไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ทางการอ้างว่าพวกเขาไม่ได้สั่งให้ยกเลิกงาน แต่ขณะเดียวกันก็เตือนว่า หากตัวแทนของแอมเนสตี้พูดในงาน พวกเขาก็อาจจะถูกจับกุมและดำเนินคดีภายใต้กฎหมายแรงงานของไทย" มินาร์ พิมเพิล ระบุ

เขากล่าวด้วยว่า ไม่เคยมีการเตือนเรื่องนี้ล่วงหน้า โดยก่อนหน้านี้ แอมเนสตี้ฯ ได้ทำงานร่วมกับทางการไทยอย่างสร้างสรรค์ตั้งแต่ช่วงแรกของงานเรื่องการทรมานและการปฏิบัติที่แย่นี้ ก่อนจะมาเปิดตัวรายงานที่เมืองไทย พวกเขายังได้แบ่งปันข้อค้นพบกับเจ้าหน้าที่ และเขียนถึงนายกฯ และรัฐมนตรีสำคัญๆ ของไทยด้วย

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ฯ ยืนยันว่า จะยังสืบสวน รวบรวมข้อมูลและรณรงค์ต่อต้านการทรมานทั่วโลก รวมถึงในไทยต่อไป

 

เนื้อหาบางส่วนจากรายงาน "บังคับให้มันพูดให้ได้ภายในพรุ่งนี้ : การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายภายในประเทศไทย" (“Make Him Speak by Tomorrow”: Torture and Other Ill-Treatment in Thailand)

ประเทศไทยวัฒนธรรมการทรมานภายใต้ระบอบทหาร

            ตามข้อมูลในรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่เผยแพร่ในวันนี้ระบุว่า หลังจากใช้กำลังยึดอำนาจทำการรัฐประหารเมื่อปี 2557 หน่วยงานของกองทัพไทยปล่อยให้วัฒนธรรมการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างอื่นแผ่ขยายไปทั่วประเทศ โดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจใช้การทรมานกับผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบ ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และบุคคลที่มีความเปราะบางอย่างมากกลุ่มต่าง ของสังคม 

            รายงานเรื่อง บังคับให้มันพูดให้ได้ภายในพรุ่งนี้การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในประเทศไทย” (“Make Him Speak by Tomorrow”: Torture and Other Ill-Treatment in Thailand) ที่เก็บข้อมูลการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย 74 กรณีซึ่งเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ มีทั้งการทุบตี การใช้ถุงพลาสติกรัดให้ขาดอากาศหายใจ การใช้มือหรือใช้เชือกบีบคอหรือผูกคอ การกรอกน้ำอย่างต่อเนื่อง (waterboarding) การช็อตอวัยวะเพศด้วยไฟฟ้า และการทำให้อับอายในรูปแบบต่าง  

            รัฐบาลไทยอาจอ้างว่าเอาจริงกับการแก้ปัญหาการทรมาน แต่การปฏิบัติเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดกว่าคำพูด รัฐบาลทหารของไทยได้ปล่อยให้วัฒนธรรมการทรมานเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยผู้กระทำผิดไม่ต้องรับผิด และผู้เสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรม” ราเฟนดี จามิน ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว 

            กฎอัยการศึกและประกาศคำสั่งต่างๆ ที่ถูกบังคับใช้ในช่วงหลังการทำรัฐประหารได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก โดยพวกเขาถูกควบคุมตัวในสถานที่อย่างไม่เป็นทางการร่วมหนึ่งสัปดาห์ ผู้เสียหายจำนวนมากซึ่งได้ให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่าในช่วงเวลาการถูกควบคุมตัวดังกล่าวพวกเขาตกเป็นเหยื่อการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย

            เจ้าหน้าที่ตำรวจของไทยเองก็มีการใช้การทรมานและปฏิบัติที่โหดร้ายต่อประชาชนหลากหลายกลุ่มเช่นกัน ทั้งคนเข้าเมือง ผู้ต้องสงสัยว่าเสพยาเสพติด กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มบุคคลอื่นๆ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับข้อมูลว่าการปฏิบัติมิชอบเหล่านี้เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างมากภายหลังรัฐประหาร

            ในบรรยากาศที่คนไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ทางการอย่างเปิดเผย และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญา เนื่องจากการเปิดโปงข้อมูลการทรมาน เป็นเหตุให้ประชาชนไม่ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายจำนวนมาก รายงานฉบับนี้เผยให้เห็นหลักฐานที่บ่งบอกเรื่องราวอันโหดร้ายของผู้เสียหายและครอบครัว ซึ่งในรายงานฉบับนี้ได้มีการปกปิดข้อมูลบางส่วนของพวกเขาด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

ยิงผมเถอะและส่งศพไปให้กับครอบครัวผมด้วย

            ไม่นานหลังรัฐประหาร ตุล (นามสมมุติ) ถูกทหารจับกุมและควบคุมตัวในสถานที่ลับเป็นเวลาเจ็ดวัน ในช่วงเวลาดังกล่าว เขาถูกซ้อมด้วยการทุบตีและวิธีอื่นๆ อย่างรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำอีก

            พวกเขาเอาถุงพลาสติกมาคลุมหัวจนผมเป็นลมสลบไป จากนั้นก็เอาถังน้ำเย็นมาราดใส่ เขาบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เขาช็อตไฟฟ้าที่อวัยวะเพศและที่หน้าอกของผม ขาของผมถูกผูกไว้ ส่วนที่หน้าผมมีการเอาเทปกาวมาติดและเอาถุงพลาสติกคลุมหัวไว้

            หลังจากวันที่เลวร้ายที่สุดตามที่ตุล” บอก     เขาบอกให้ทหารช่วยจบชีวิตของเขา “ยิงผมเถอะ และส่งศพไปให้กับครอบครัวผมด้วย เขาร้องขอต่อผู้กระทำการทรมานเขา 

            ผู้เสียหายจากการทรมานจำนวนมากซึ่งให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบอกว่า พวกเขาถูกทรมานในช่วงเจ็ดวันแรกของการควบคุมตัว ซึ่งเป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจควบคุมตัวพวกเขาในสถานที่อย่างไม่เป็นทางการ และไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกหรือมาตรการป้องกันการปฏิบัติที่โหดร้ายใดๆ

            รุสกี ผู้เสียหายจากการทรมานอีกคนหนึ่งต้องเผชิญกับชะตากรรมที่โหดร้ายซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางกายและใจ เขาถูกซ้อมซ้ำแล้วซ้ำอีก ถูกกรอกน้ำอย่างต่อเนื่อง ถูกคลุมศีรษะด้วยถุงขยะ ถูกรัดคอด้วยสายไฟ และถูกขู่ด้วยปืนและระเบิด ทหารยังใช้มือดึงอวัยวะเพศและไม่ปล่อยให้เขาได้นอนหลับ

บังคับให้มันพูดให้ได้ภายในพรุ่งนี้

            รายงานนี้เผยให้เห็นถึงวัฒนธรรมซึ่งเปิดโอกาสและส่งเสริมให้เกิดการทรมานทั่วโครงสร้างของกองทัพไทย ผู้ให้สัมภาษณ์ในรายงานคนหนึ่งซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าหน่วยระดับล่างของกองทัพบกบอกว่า ทหารที่ได้รับมอบหมายให้สอบปากคำผู้ถูกควบคุมตัวมักจะได้รับแจ้งว่า บังคับให้มันพูดให้ได้ภายในพรุ่งนี้

            เจ้าหน้าที่จะถูกลงโทษถ้าทำงานแล้วไม่ได้ผล” อดีตหัวหน้าหน่วยในระดับล่างของกองทัพบกให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ภายในกองทัพ พวกเขาใช้อำนาจในการควบคุมสั่งการ ไม่ได้ใช้ความคิด คำสั่งของผู้บังคับบัญชาถือเป็นที่สุด...ถ้าคุณทำงานไม่ได้ผล คุณจะถูกลงโทษ”  

แรงจูงใจทางกฎหมายที่ก่อให้เกิดการทรมาน 

            แม้ว่าไทยจะเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ (UN Convention against Torture) และจำเป็นต้องเคารพข้อบทนี้ แต่ยังไม่มีกฎหมายในประเทศไทยซึ่งกำหนดโทษอาญาเป็นการเฉพาะให้กับการทรมาน กฎหมายไทยยังอนุญาตให้ผู้พิพากษาใช้ดุลพินิจในการรับพิจารณาหลักฐานซึ่งได้มาจากการทรมานด้วย และศาลมักไม่สั่งให้มีการสอบสวนแม้จะมีการร้องเรียนว่ามีการทรมาน เช่นเดียวกับพนักงานอัยการซึ่งแทบไม่เคยสอบสวนเรื่องนี้เลย

            สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก เนื่องจากกรอบกฎหมายที่ประกาศใช้ภายหลังรัฐประหารได้ ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ บังคับให้อยู่ในสถานที่ลับได้ถึงเจ็ดวัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีใครสามารถเห็นการทรมานที่เกิดขึ้น และไม่มีใครได้ยินเสียงร้องของผู้เสียหายจากการทรมานเล็ดลอดออกมา

            พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกซึ่งมีการประกาศใช้ในพื้นที่ที่มีความรุนแรงทางภาคใต้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 และประกาศคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) (ซึ่งเป็นชื่อของรัฐบาลทหาร) มีอำนาจเหนือข้อบทที่ช่วยคุ้มครองป้องกันการทรมานตามกฎหมายไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่ามีการใช้การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างรุนแรงในกรณีที่ผู้ซักถามเป็นทหารในช่วงเวลาที่มีการควบคุมตัวที่ไม่มีการตรวจสอบซึ่งกระทำได้ตามอำนาจของกฎหมายพิเศษเหล่านี้

            เหยื่อส่วนใหญ่ไม่กล้าพูด แม้พวกเขาจะร้องเรียน แต่ศาลก็มักจะเพิกเฉย ในขณะเดียวกันศาลดังกล่าวกลับยอมรับคำสารภาพที่ได้มาจากการบังคับ แม้ว่าในเวลาต่อมาจำเลยจะถอนคำให้การดังกล่าวก็ตาม ผู้กระทำการทรมานไม่ต้องถูกลงโทษเนื่องจากความผิดของพวกเขา ในขณะที่เหยื่อต้องเผชิญกับความอยุติธรรมครั้งแล้วครั้งเล่า” ราเฟนดี จามินกล่าว

            ไม่นานหลังรัฐประหาร เลิศ (นามสมมติ) ถูกสอบปากคำเป็นเวลากว่าสิบชั่วโมงในแต่ละวัน ในช่วงสี่วันที่เขาไม่ได้รับน้ำดื่มเลย ในระหว่างการสอบปากคำจะมีผู้ชายสองหรือสามคนทุบตีเขา มีทั้งที่ใช้กำปั้น ใช้เท้า และใช้ปืนตีเขา  

            เลิศบอกว่า เจ้าหน้าที่ซ้อมเขาเพื่อบังคับให้เขาสารภาพ ในวันที่สองของการสอบปากคำ ทหารคนหนึ่งบอกว่า วันนี้ถ้าแกไม่พูด ครอบครัวแกเดือดร้อนแน่ ฉันรู้นะว่าครอบครัวแกอยู่ที่ไหน

สู่แนวทางที่จะทำให้ไทยไปสู่การที่ปลอดจากการทรมาน

            รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อเสนอแนะซึ่งเป็นขั้นตอนง่าย ที่ทางการไทยสามารถปฏิบัติตาม เพื่อแก้ปัญหาข้อบกพร่องทางกฎหมายและในเชิงโครงสร้างซึ่งมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการทรมานได้

            ทั้งนี้รวมถึงการยุติการควบคุมตัวโดยปราศจากการตรวจสอบ การเอาผิดทางอาญากับการทรมาน การห้ามไม่ให้ศาลรับฟัง “หลักฐาน” ที่ได้มาจากการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น  การสอบสวนตามข้อมูลในรายงานที่เปิดโปงว่ามีการทรมาน และการนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลที่เป็นอิสระเพื่อควบคุมดูแลสถานที่ควบคุมตัวต่าง และการเยียวยาให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ

            การทรมานไม่เพียงทำให้เหยื่อรู้สึกอับอาย หากยังทำลายศักดิ์ศรีของผู้กระทำการทรมาน โดยทำลายความเป็นมนุษย์ของพวกเขาอีกด้วย มาตรการป้องกันการทรมานไม่เพียงช่วยคุ้มครองผู้ที่ถูกควบคุมตัว หากยังเป็นการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบซึ่งเป็นผู้ควบคุมตัวผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ และยังเป็นการคุ้มครองรัฐที่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนอีกด้วย ราเฟนดี จามินกล่าว

            ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งอาจเอาผิดทางอาญากับการทรมานและกำหนดมาตรการคุ้มครองป้องกันการทรมานได้

            หากมีการแก้ไขเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ แห่งสหประชาชาติ และโดยเฉพาะหากมีการประกันให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานอย่างเป็นอิสระ ย่อมเป็นก้าวย่างสำคัญที่นำไปสู่การขจัดการปฏิบัติมิชอบที่โหดร้ายเหล่านี้ให้หมดไปจากประเทศไทย ราเฟนดี จามินกล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท