เช็คกฎหมายเกี่ยวกับคนงาน 6 ฉบับ ที่กำลังมา กับ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

คุยกับนักวิจัยด้านแรงงาน มอง 6 กฎหมายเกี่ยวกับคนงานที่กำลังจะออกมาบังคับใช้ พร้อมทั้งไฮไลท์ข้อจำกัดของกฎหมายหลายฉบับที่ยังขาดกลไกแก้ไข รวมถึงบทวิจารณ์ปัญหาของขบวนการแรงงาน และข้อเสนอแนะสร้างหน่วยจัดการและสื่อสารความรู้

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิจัยประเด็นสิทธิแรงงานและผู้ติดตามนโยบายเกี่ยวกับแรงงาน

1 เดือนก่อนถึง วันกรรมกรสากล (1 พ.ค.61) ที่คนงานทั่วโลกออกมาเฉลิมฉลอง พร้อมทั้งมีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลประเทศตนเองในเรื่องที่แรงงานยังเข้าไม่ถึงสิทธิพื้นฐานต่างๆ  ประกอบกับช่วงนี้ประเทศไทยก็มีความคึกคักโดยเฉพาะรัฐบาลที่กำลังผลักดันกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ทั้งในระบบ นอกระบบ แรงงานข้ามชาติ แรงงานประมง กระทั่งในกลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัย ที่จะออกมาบังคับใช้ในอนาคต รวม 6 ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่แรงงานจะได้รับ เช่น ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับเดือนมีนาคม 2561 ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.....  ร่าง พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ....  ร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.... และ ร่าง พ.ร.บ. การกลับเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. .... รวมถึงกรณีที่คณะกรรมการประกันสังคมเห็นชอบให้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร  หากใช้ขั้นตอนการพิจารณากฎหมายเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง ก็จะแบ่งได้ 5 ระดับ

ในโอกาสนี้ ประชาไท จึงพูดคุยกับ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิจัยประเด็นสิทธิแรงงานและผู้ติดตามนโยบายเกี่ยวกับแรงงาน เพื่อวิเคราะห์กฎหมายทั้ง 6 ฉบับ รวมทั้งกระบวนการที่แบ่งเป็น 5 ระดับนี้ ตามที่ บุษยรัตน์ ระบุว่า การแบ่งแบบนี้จะช่วยทำให้เห็นว่ากฎหมายอยู่ในขั้นตอนไหน ทำให้ประมาณการณ์ระยะเวลาได้ว่าอีกนานเท่าใดกว่าจะประกาศใช้ หรือหากคนงานจะไปเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะได้รู้ว่าต้องไปตามที่หน่วยงานใด เช่น ที่กระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

“ตามถูกฝาถูกตัวถูกที่” บุษยรัตน์ กล่าวสรุปอย่างง่ายไว้

ที่มาภาพ เว็บไซต์ shiptoshorerights.org

000000

บุษยรัตน์ ได้สรุปสาระสำคัญของกฎหมายทั้ง 6 ฉบับ ใน 5 กระบวนการไว้ดังนี้

ระดับ 1 กระทรวงแรงงานอยู่ในระหว่างเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. 

คือ ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับเดือนมีนาคม 2561 กฎหมายนี้ว่าด้วยนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง , ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง, วิธีระงับข้อพิพาท ,การปิดงานและนัดหยุดงาน, คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) , คณะกรรมการลูกจ้าง, สมาคมนายจ้าง, สหภาพแรงงาน, สหพันธ์นายจ้างและสหพันธ์แรงงาน, การกระทำอันไม่เป็นธรรม, บทกำหนดโทษ ซึ่งใช้บังคับกับแรงงานในระบบมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 หรือ 40 กว่าปีมาแล้ว

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้มีการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. ให้พี่น้องแรงงาน นายจ้าง และผู้เกี่ยวข้องได้เสนอแนะประเด็นต่างๆ ที่สงขลา พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา และกทม. ที่กระทรวงแรงงานโดยตรง แน่นอนมีการแก้ไขในหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง  ในร่างกฎหมายนี้จะขออภิปรายลงรายละเอียดมากกว่ากฎหมายฉบับอื่นๆ เพื่อให้แรงงานได้เข้าใจ เรียนรู้ ติดตามสถานการณ์ทันพร้อมกันไปด้วย ซึ่งสาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ที่แตกต่างจาก พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 อย่างสิ้นเชิง คือ

  • แรงงานเหมาค่าแรงสามารถเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในสถานประกอบการที่ตนเองถูกส่งไปทำงานได้
  • พนักงานในหน่วยงานรัฐสามารถรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองได้ โดยให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และรายละเอียดของการใช้สิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มภายใน 1 ปี นับแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับ
  • แก้ไขความหมายคำว่า "การปิดงาน"  ให้มีความหมายใหม่ว่า คือ “การที่นายจ้างหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว เนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน” ซึ่งกฎหมายเดิมให้ความหมายว่า “การที่นายจ้างปฏิเสธไม่ยอมให้ลูกจ้างทำงานชั่วคราวเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน”
  • ลูกจ้างหรือนายจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องภายใน 60 วัน ก่อนที่วันที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมจะสิ้นสุดลง เว้นแต่ข้อตกลงกำหนดระยะเวลาการแจ้งข้อเรียกร้องไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งกฎหมายเดิมไม่มีการระบุระยะเวลาไว้
  • มีการเพิ่มเติมถ้อยคำว่า “ข้อเรียกร้องที่ลูกจ้างแจ้งไว้แล้วย่อมไม่เสียไป แม้ภายหลังจะมีเหตุทำให้รายชื่อและลายมือชื่อของลูกจ้างมีไม่ถึงร้อยละสิบห้าของลูกจ้างทั้งหมด ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง” โดยกฎหมายเดิมไม่ได้ระบุไว้ มีแต่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ชี้ขาดและวางบรรทัดฐานเรื่องนี้ไว้ให้
  • ทั้งสองฝ่ายต้องเริ่มเจรจากันในเวลา 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับข้อเรียกร้อง กฎหมายเดิมระบุว่าต้องเจรจากันภายใน 3 วัน
  • การนับระยะเวลาให้นับเป็นชั่วโมงตั้งแต่เวลาที่ได้รับข้อเรียกร้องเป็นต้นไปจนครบยี่สิบสี่ชั่วโมง ถือเป็น 1 วัน และถ้ามีวันหยุดให้นับระยะเวลาในวันหยุดด้วย ซึ่งกฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดไว้
  • ตัดเรื่องการกำหนดคุณสมบัติที่ปรึกษาลูกจ้างหรือนายจ้างในการเข้าร่วมเจรจาต่อรอง ต้องมีหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งกฎหมายเดิมมีระบุไว้
  • เมื่อเกิดข้อพิพาทแรงงานให้แจ้งพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบภายใน 48 ชั่วโมง นับแต่พ้นกำหนดเวลา หรือนับแต่เวลาที่ตกลงกันไม่ได้ ซึ่งกฎหมายเดิมกำหนดไว้ที่ 24 ชั่วโมง
  • พนักงานประนอมต้องไกล่เกลี่ยภายใน 15 วัน ซึ่งกฎหมายเดิมระบุว่าไกล่เกลี่ยภายใน 5 วัน
  • เพิ่มกิจการควบคุมการจราจรทางอากาศ เป็นกิจการสาธารณูปโภคที่ห้ามนัดหยุดงาน
  • เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ในกิจการโรงพยาบาล , ไฟฟ้า , ประปา , โทรคมนาคม , ดับเพลิง , ควบคุมการจรจาจรทางอากาศ , กิจการอื่นๆ ให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานส่งข้อพิพาทให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อชี้ขาด หากไม่เห็นด้วยสามารถนำคดีสู่ศาลแรงงานได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รับข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งกฎหมายเดิมไม่มีระบุเรื่องนี้ไว้
  • รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน คำชี้ขาดถือเป็นที่สุด หากรัฐมนตรีเห็นว่าการปิดงานหรือนัดหยุดงานนั้นอาจก่อความเสียหายแก่เศรษฐกิจหรือกระทบความมั่นคง
  • คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) มาจากตัวแทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละ 5 คน ในกฎหมายเดิมฝ่ายละ 3 คน และเพิ่มเติมผู้ทรงวุฒิเข้ามาที่มีประสบการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ไม่น้อยกว่า 5 ปี จำนวน 3 คน ซึ่งกฎหมายเดิมไม่มีกำหนดไว้
  • มีคณะกรรมการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์ เพิ่มขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง มีปลัดกระทวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสภาองค์การนายจ้าง ผู้แทนสภาองค์การลูกจ้างฝ่ายละ 5 คน และผู้ทรงวุฒิ 3 คน ที่รัฐมนตรี (รมต.) แต่งตั้ง มีวาระ 3 ปี อำนาจหน้าที่ คือ  (1) เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม ป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ทั้งระบบต่อรัฐมนตรี รวมทั้งกำหนดมาตรการ และแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างแรงงานสัมพันธ์ระบบทวิภาคีให้มีความเข้มแข็ง (2) ให้ความเห็น คำแนะนำ องค์กรฝ่ายนายจ้าง และองค์กรฝ่ายลูกจ้าง เกี่ยวกับมาตรการหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาแรงงานที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงหลักสุจริตและการส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ของทุกฝ่าย (3) สนับสนุน ส่งเสริม ประสานงาน รวมทั้งดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเสนอรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการให้รัฐมนตรีทราบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง (4) เสนอความเห็นในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งการออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ต่อรัฐมนตรี และ (5) ให้ความเห็นเกี่ยวกับการส่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างเข้าร่วมประชุมขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ รวมทั้งกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ
  • เพิ่มบทบาทหน้าที่คณะกรรมการลูกจ้าง ให้สามารถปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาปรับปรุงสภาพการจ้างได้
  • การจัดตั้งสมาคมนายจ้างและสหภาพแรงงานในกลุ่มที่ไม่มีสัญชาติไทย สามารถดำเนินการได้ โดย (1) มีถิ่นพำนักตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง (2) ทำงานในประเทศไทยติดต่อกันอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป
  • ตัดถ้อยคำเรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ที่ในกฎหมายปี 2518 ระบุว่า “ผู้มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกัน หรือเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันโดยไม่คำนึงว่าจะมีนายจ้างกี่คน ต้องบรรลุนิติภาวะ และมีสัญชาติไทย” ออกไป
  • การลาของสหภาพแรงงาน เพิ่มเติมเรื่องการลาไป (1) ประชุมสหภาพแรงงานหรือสัมมนาใดๆตามที่สหภาพแรงงานและนายจ้างได้ตกลงกันไว้ (2) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาสมทบ กรรมการในคณะกรรมการไตรภาคีตามกฎหมาย หรือกรรมการอื่นในคณะกรรมการอื่นตามที่กฎหมายกำหนด (3) เป็นพยานตามหมายเรียกของศาลในคดีที่เกี่ยวกับแรงงาน
  • ตามกฎหมายปี 2518 ได้ระบุเรื่องการนัดหยุดงานไว้ว่า “การนัดหยุดงานเมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ต้องมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดของสหภาพแรงงาน และต้องลงคะแนนเสียงเป็นการลับ” ในกฎหมายใหม่เหลือแค่เป็นมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น ไม่ได้กำหนดวิธีการที่ชัดเจนแบบกฎหมายเดิม
  • เมื่อมีการแก้ไขข้อบังคับแล้ว ให้แจ้งอธิบดีภายใน 14 วัน เช่นเดียวกับเลือกกรรมการใหม่ ก็ต้องแจ้งอธิบดีภายใน 14 วัน พร้อมนำส่งรายชื่อ ที่อยู่ อาชีพ หรือวิชาชีพกรรมการใหม่ด้วย หากไม่ดำเนินการจะมีโทษปรับ
  • ในเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามกฎหมายใหม่ได้เพิ่มเรื่อง การคุ้มครองกรณีการจัดตั้งสหภาพแรงงานเข้ามา กับคุ้มครองกรณีการฟ้องร้องหรือเป็นพยานในคดีเกี่ยวกับแรงงาน ซึ่งในกฎหมายเดิมไม่มีการระบุเรื่องนี้ไว้
  • การกระทำอันไม่เป็นธรรมมีความหมายเพิ่มขึ้นจากเดิม คือ “นายจ้างโยกย้ายหน้าที่การงาน ลดค่าจ้าง ไม่มอบหมายงาน ขัดขวางการดำเนินงานของสภาองค์การลูกจ้าง”
  • ห้ามนายจ้างใช้สิทธิปิดงานแก่ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเป็นบางส่วน หรือบางคนอันเป็นการเลือกปฏิบัติ
  • เมื่อนายจ้างมีการฝ่าฝืนเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ภายใน 90 วัน ซึ่งกฎหมายเดิมระบุว่า ให้ยื่นภายใน 60 วัน
  • การวินิจฉัยของ ครส. กฎหมายเดิม คือ ภายใน 90 วัน และขยายเวลาตามสมควร แต่กฎหมายใหม่ ระบุชัดว่าภายใน 90 วันเท่านั้น และหากมีการนำคดีสู่ศาลแรงงานให้กระทำการภายใน 30 วันหากไม่เห็นชอบกับคำสั่ง ครส. และต้องวางเงินต่อศาลแรงงานตามคำสั่ง ครส. ด้วย จึงจะสามารถฟ้องคดีได้ เดิมฉบับ 2518 ไม่มีระบุไว้
  • การนำคดีไปสู่ศาลแรงงานไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการปฏิบัติตามคำสั่งของ ครส. เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานโดยมีหลักประกันที่เชื่อถือได้ และเมื่อคดีถึงที่สุดและผู้ถูกกล่าวหามีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนใดให้แก่ลูกจ้าง ให้ศาลมีอำนาจจ่ายเงินที่ผู้ถูกกล่าวหาวางไว้ต่อศาลให่แก่ลูกจ้างผู้กล่าวหา
  • แก้ไขบทกำหนดโทษต่างๆโดยเพิ่มค่าปรับเพิ่มจากเดิม

ระดับ 2 ครม.ได้เห็นชอบแล้วและอยู่ในระหว่างบรรจุวาระพิจารณาใน สนช.

คือ  ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ..... และ ร่าง พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... โดย ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ..... ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อ 15 ส.ค.60 นั้น สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ

  • การเปลี่ยนตัวนายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง และให้นายจ้างใหม่รับไปทั้งสิทธิและหน้าที่
  • กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง
  • ลูกจ้างมีสิทธิลากิจธุระอันจำเป็นปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และได้รับค่าจ้าง
  • ลูกจ้างหญิงมีสิทธิลาเพื่อตรวจครรภ์ในระหว่างตั้งครรภ์ได้ โดยเมื่อรวมกับการลาเพื่อคลอดบุตรแล้วครรภ์หนึ่งไม่เกิน 90 วัน และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาเพื่อตรวจครรภ์และเพื่อคลอดบุตร เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานแต่ไม่เกิน 45วัน
  • กำหนดค่าชดเชยเพิ่มเติมกรณีนายจ้างเลิกจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วันสุดท้าย
  • การย้ายสถานประกอบกิจการให้รวมถึงการย้ายไปที่ซึ่งนายจ้างมีสถานประกอบกิจการอยู่แล้วด้วย
  • กำหนดเวลาการจ่ายค่าชดเชยพิเศษหรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างโดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่สัญญาจ้างสิ้นสุด

แฟ้มภาพ

ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อ 8 พ.ย.59 นั้น สาระสำคัญของร่างกฎหมาย คือ

  • จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ ครอบคลุมลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการพนักงานราชการ เจ้าหน้าที่องค์การมหาชน และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ให้มีการออมเพื่อการเกษียณเพิ่มเติม
  • สำหรับแรงงานที่เข้ากองทุนจะต้องเป็นแรงงานที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ โดยกําหนดให้กิจการขนาดใหญ่ มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปต้องตั้งกองทุนตั้งแต่ปีที่ 1 , กิจการที่ลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเข้าระบบในปีที่ 4 และกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปเข้าระบบในปีที่ 6
  • ขณะที่การส่งเงินเข้ากองทุน ลูกจ้างส่งเงินสะสมและนายจ้างส่งเงินสมทบแต่ละฝ่ายในอัตรา 3 %ของค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 1,800 บาทต่อเดือน  โดยกําหนดเพดานค่าจ้างไม่เกิน 6 หมื่นบาทต่อเดือน และทยอยปรับเพิ่มอัตราเงินสะสมและเงินสมทบเป็น 5 % 7 % และ 10 % ภายใน 10 ปี
  • กรณีลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน ไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน โดยให้นายจ้างส่งเงินในส่วนของนายจ้างฝ่ายเดียว
  • ทั้งนี้ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนสํารองเลี้ยงชีพภาคสมัครใจตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 อยู่แล้ว หากปัจจุบันลูกจ้างและนายจ้างส่งเงินสะสมและเงินสมทบต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำที่กฎหมายนี้กําหนด จะต้องเป็นสมาชิกกฎหมายนี้และส่งเงินเข้ากองทุนไม่น้อยกว่าอัตราขั้นต่ำดังกล่าว

ระดับ 3 อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สนช.

คือ ร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ....ซึ่ง สนช. พิจารณาเห็นชอบรับหลักการวาระที่ 1 แล้วเมื่อ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา  และได้มีการแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้รวม 15 คน สาระสำคัญของร่างกฎหมาย คือ

  • ขยายความคุ้มครองแก่ลูกจ้างของส่วนราชการ ลูกจ้างซึ่งทำงานในองค์กรของนายจ้างที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ 
  • แก้ไขการบังคับใช้เกี่ยวกับขอบเขตการคุ้มครองลูกจ้างซึ่งได้รับการจ้างงานในประเทศ (Local staff) ของสถานเอกอัครราชทูตและองค์การระหว่างประเทศ ให้ได้รับความคุ้มครอง 
  • แก้ไขให้ผู้ประกอบกิจการที่ได้ว่าจ้างด้วยวิธีการเหมาค่าแรงอยู่ในฐานะนายจ้าง
  • แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ภัยพิบัติ” เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับความหมายหรือลักษณะของภัยพิบัติทำให้นายจ้างได้รับการลดการจ่ายเงินเพิ่ม 
  • แก้ไขหลักเกณฑ์เงื่อนไขและอัตราในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน และค่าทำศพกรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย หรือสูญหายให้ดำเนินการออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์ ดังนี้ (1) การเพิ่มอัตราค่าทดแทนกรณีต่างๆ จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน  (2) เพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างทุพพลภาพ เป็นไม่น้อยกว่า 15 ปี ปัจจุบันไม่เกิน 15 ปี  (3) เพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายเป็นไม่เกิน 10 ปี ปัจจุบันไม่เกิน 8 ปี  (4) แก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายค่าทดแทนสำหรับกรณีลูกจ้าง ไม่สามารถทำงานได้ให้ได้รับตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงาน ปัจจุบันจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เกิน 3 วัน  (5) เพิ่มการจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้าง ปัจจุบันจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจำนวน 100 เท่า ของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน  (6) ปรับลดเงินสมทบจากเดิมที่นายจ้างจ่ายสมทบร้อยละ 3 ต่อเดือน ลดลงเหลือร้อยละ 2  และ (7) กำหนดเกณฑ์การคำนวณเงินเพิ่มกรณีนายจ้างค้างชำระเงินสมทบ โดยกำหนดให้จำนวนเงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่าย ซึ่งปัจจุบันไม่ได้กำหนดเพดานเงินเพิ่มไว้

ระดับ 4 สนช. ได้เห็นชอบแล้ว 

คือ ร่าง พ.ร.บ. การกลับเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. .... เมื่อ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา รอประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป สาระสำคัญของร่างกฎหมาย คือ 

  • เป็นการคืนสิทธิให้กับผู้ประกันตนมาตรา 39 แล้ว 
  • กำหนดให้ผู้สิ้นสุดเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 เนื่องจากขาดส่งเงินสมทบเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 เดือน หรือส่งเงินไม่ครบจำนวน 9 เดือน ในระยะเวลา 12 เดือน ซึ่งทำให้ขาดจากการเป็นผู้ประกันตน และไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ หากมีความประสงค์ที่จะกลับมาเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถยื่นเรื่องจะต้องยื่นคำขอต่อสำนักงานประกันสังคมภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ 
  • ผู้ประกันตนสามารถนำบัตรประชาชนเพียงใบเดียว ไปยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดที่สะดวก
  • การกลับเข้ามาสู่ระบบ ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายเงินสมทบย้อนหลังแต่อย่างใด 
  • หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ต้องจ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาทตามเดิม ตั้งแต่เดือนแรกที่มีการยื่นขอ ซึ่งจะได้รับสิทธิคุ้มครอง เช่น เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ
  • ร่างกฎหมายนี้จะมีกลุ่มแรงงานผู้ได้รับสิทธิกว่า 1 ล้านคน กลับเข้ามาสู่ระบบการประกันตนอีกครั้ง

ระดับ 5 อยู่ในระหว่างการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

คือกรณีที่คณะกรรมการประกันสังคมเห็นชอบให้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร โดยสนับสนุนค่าตรวจและรับฝากครรภ์เพิ่มเติมอีก 1,000 บาท บังคับใช้ 1 พ.ค.ที่จะถึงนี้ เป็นต้นไป โดย มีสาระสำคัญ คือ 
  • สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2561 คณะกรรมการประกันสังคมได้มีมติเห็นชอบปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร เพื่อจูงใจให้ผู้ประกันตนหรือคู่สมรสมีการฝากครรภ์ โดยสนับสนุนค่าฝากครรภ์เพิ่มเติม 
  • ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมได้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรให้แก่ผู้ประกันตนในอัตรา 13,000 บาท ต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง
  • ทั้งนี้มีมติเห็นชอบให้สนับสนุนค่าตรวจและรับฝากครรภ์เพิ่มเติมอีก 1,000 บาท ให้แก่ผู้ประกันตนที่มีการเข้ารับบริการฝากครรภ์ คือ ครั้งที่ 1 อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตรา 500 บาท , ครั้งที่ 2 อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์  แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตรา 300 บาท , ครั้งที่ 3 อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตรา 200 บาท
  • สำหรับแนวทางการขอรับประโยชน์ทดแทน จะต้องมีหลักฐานการเข้ารับบริการจากสถานพยาบาลที่ไปใช้บริการฝากครรภ์ในแต่ละครั้ง และสามารถยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในส่วนค่าตรวจและรับฝากครรภ์เพิ่มเติมได้ โดยไม่ต้องรอให้มีการคลอดบุตร 
  • มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.คที่จะถึงนี้ เป็นต้นไป

ข้อจำกัดของกฎหมายหลายฉบับและยังขาดกลไกแก้

บุษยรัตน์ กล่าวว่า หากถามว่ากฎหมายที่จะออกมานั้นเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ ผู้ใช้แรงงานเข้าถึง-ไม่เข้าถึงเพียงใด ก็ต้องกลับไปหลักการที่ว่า “ชนชั้นใดออกกฎหมายก็ต้องเป็นไปตามชนชั้นนั้น”  เช่น ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ในบางมาตราก็ยังขัดกับหลักการอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 หรือในเรื่องความครอบคลุมของกลุ่มเป้าหมายที่กฎหมายใช้บังคับก็ยังมีข้อยกเว้น เป็นต้น ฯลฯ  หรือในกรณีของความพยายามในการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่มีแนวโน้มการปรับเพิ่มเงินสมทบผู้ประกันตน จากเดิม 750 บาทต่อเดือนเป็นสูงสุด 1,000 บาทต่อเดือน หรือการขยายอายุรับเงินบำนาญชราภาพจากเดิมเกษียณอายุ 55 ปี เป็นอายุ 60 ปี ที่ทางสำนักงานประกันสังคมได้จัดเวทีประชาพิจารณ์เมื่อปีที่แล้วที่ผ่านมา แต่ถูกคัดค้านจากผู้ใช้แรงงานหลายๆ กลุ่ม  

สำหรับข้อจำกัดของกฎหมายอีกหลายฉบับที่ยังมีการยกเว้นอยู่ และยังไม่มีกลไกใดๆ แก้ไขปัญหานั้น บุษยรัตน์ ยกตัวอย่างไว้ดังนี้

  • มีการกำหนดสำหรับการจ้างงานบางประเภทที่จะไม่บังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทั้งฉบับ ได้แก่ (1) ลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย (2) ลูกจ้างที่ไม่ได้ทำงานเกษตรกรรมตลอดปี และมิได้ทำงานในลักษณะที่เป็นงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากงานดังกล่าว ได้แก่ การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การป่าไม้ การทำงานเกลือสมุทร และการประมงที่มิใช่การประมงทะเล (3) ลูกจ้างที่ทำงานอันมิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ
  • พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดให้ในสถานประกอบการหนึ่งๆ สามารถมีการจ้างงานในหลายรูปแบบ ทำให้ลูกจ้างมีความเสี่ยงในการจ้างงานมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่ใช่การจ้างงานแบบประจำ โอกาสที่จะมีงานทำที่มั่นคงต่อเนื่องจึงลดลง
  • พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้มีการยกเว้นลูกจ้างบางประเภทที่ไม่ต้องได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 33 แม้มีนายจ้างชัดเจน ได้แก่ ลูกจ้างของกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมิได้ใช้ลูกจ้างตลอดปี และไม่มีงานลักษณะอื่นรวมอยู่ด้วย , ลูกจ้างของนายจ้างที่จ้างไว้เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจรหรือเป็นไปตามฤดูกาล , ลูกจ้างของนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งงานที่ลูกจ้างทำนั้นมิได้เป็นการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย , ลูกจ้างของนายจ้างซึ่งประกอบการค้าเร่หรือการค้าแผงลอย
  • แรงงานนอกระบบไม่มีกฎหมายคุ้มครอง มีเฉพาะ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 คุ้มครองเฉพาะกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านเท่านั้น
  • กลุ่มแรงงานนอกระบบเมื่อบาดเจ็บจากการทำงาน ไม่มีกฎหมายด้านการจ้างงานคุ้มครอง ต้องใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแทน      

บุษยรัตน์ กล่าวว่า เหล่านี้คือสถานการณ์ด้านกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องแรงงานทั้งสิ้น ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด กระทั่งอาจต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมายต่างๆเหล่านั้น มากกว่าให้เป็นเพียงบทบาทของภาคราชการเท่านั้น

“ผู้ใช้แรงงานทำหน้าที่เพียง แสตมป์ความชอบธรรมยามกระทรวงแรงงานเปิดประชาพิจารณ์เท่านั้น” บุษยรัตน์ กล่าว พร้อมระบุว่า  อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้เองก็ต้องยอมรับตรงไปตรงมาว่า ผู้ใช้แรงงานเองจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานในระบบ ที่เชื่อว่าควรเป็น “ทัพหน้าแรงงาน” กลับ “ถูกทำให้หมกมุ่น” อยู่กับการแก้ไขปัญหาในระดับสถานประกอบการตนเอง ระดับกลุ่มตนเองเท่านั้น โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรอง การทำลายสหภาพแรงงาน การขึ้นศาลแรงงานแก้ไขข้อขัดแย้ง-ข้อพิพาทแรงงานต่างๆ หรือไม่อย่างนั้นก็จะเป็นเทศกาลประจำปี วาระแห่งชาติของการเรียกร้องโบนัส สวัสดิการ ก็ต้องเสียเวลาไปกับเรื่องแบบนี้ทุกปี โอกาสที่จะยกระดับการมองสถานการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องเหนือกว่า “บ้านตนเอง” จึงมีไม่มากนัก

วิจารณ์ปัญหาของขบวนการแรงงาน

สำหรับปัญหาภายในองค์กรหรือขบวนการแรงงานนั้น บุษยรัตน์ ชี้ว่า  คนงานที่มีความ “แข็งแรง” ด้านความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญ ซึ่งควรเป็นเรื่องสำคัญสำหรับกรรมการสหภาพแรงงาน กรรมการองค์กรแรงงานต่างๆ ก็ยังไม่เข้มข้นพอ ในการที่จะทำหน้าที่เป็นกลไกในการสื่อสารเรื่องสถานการณ์เหล่านี้ต่อสมาชิกในองค์กรตนเอง องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานโดยตรงที่สนับสนุนงานด้านนี้ คนทำงานก็สูงวัยขึ้น คนรุ่นใหม่ก็แทบไม่มี นักวิชาการก็สนุกกับการเล่นกับแนวคิดทฤษฎี พูดภาษายากๆที่คนงานไม่คุ้นชิน หรือที่ทำงานจริงๆก็มีจำนวนน้อยมากไม่เพียงพอต่อปัญหาที่เร่งรัดและซับซ้อน

“ที่ผ่านมาจึงเป็นเรื่องของคนงานที่ “ใจสู้” มากกว่า “หัวไว” ในการแก้ไขปัญหาเอง ซึ่งปัญหาของ “ใจสู้” อาจเหมาะกับท้องถนน แต่เมื่อถึงช่วงการเจรจากับรัฐบาล การเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไขกฎหมายต่างๆ การนำกฎหมายมาปฏิบัติใช้ในระดับพื้นที่ระดับกลุ่มเป้าหมาย การมีข้อมูล องค์ความรู้ ทักษะที่คมชัด มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ซึ่งประเด็นนี้ยังขาดในแรงงานหลายๆ กลุ่มที่จำเป็นต้องมีกลไกสนับสนุนที่ชัดเจนมากกว่านี้” บุษยรัตน์ กล่าว

บุษยรัตน์ ยกตัวอย่างที่ดีในกลุ่มแรงงานนอกระบบ ด้วยว่า เช่น ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบพื้นที่ต่างๆ ที่มีความพยายามในการทำงานกับกระทรวงแรงงานอย่างใกล้ชิด ทำงานกับแรงงานจังหวัดต่างๆ เพื่อให้การปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ด้านแรงงานนอกระบบมีผลเกิดขึ้นจริง หรือในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ แรงงานภาคประมง กลไกขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ด้านแรงงานข้ามชาติ ถือว่ามีส่วนสำคัญในการทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลข่าวสารความรู้ตรงนี้ กระทั่งการแปลงแนวปฏิบัติตามกฎหมายฉบับต่างๆที่วางไว้ให้แรงงานเข้าถึงได้ง่าย

แนะสร้างหน่วยจัดการและสื่อสารความรู้

“ข้อเสนอสำหรับดิฉันในเรื่องนี้ คือ ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องมีหน่วยจัดการและสื่อสารความรู้ ที่ทำหน้าที่ย่อยความรู้ กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แน่นอนวันนี้มีศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติแล้ว แต่หากเข้าไปดูก็จะเห็นว่า มีความยากในการแปรและประมวลผลข้อมูลหากผู้ใช้ไม่มีความเชี่ยวชาญในความรู้นั้นๆ ไม่ต้องพูดถึงการเข้าถึงข้อมูลแต่ละตัวก็มีความซับซ้อนและยาก เฉกเช่นการทำรายงานวิจัย และเราก็พูดกันว่าเป็นงานวิจัยบนหิ้ง และจนในที่สุด สกว. ต้องจัดตั้งหน่วยสื่อสารความรู้เหล่านี้ออกมาเป็นการเฉพาะ” บุษยรัตน์ กล่าว

ขณะที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานนั้น บุษยรัตน์ เสนอว่า ต้องมีสถาบันหรือหน่วยแบบนี้ที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงแรงงาน เพื่อความเป็นอิสระในการดำเนินการ และทำหน้าที่วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่มาเป็นองค์ความรู้ที่พร้อมต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในระดับต่าง ๆของผู้ใช้แรงงานต่อไป

“วันนี้ฝั่งนายจ้าง สถานประกอบการ กระทั่งภาครัฐเองมีกลไกในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ในหลายหลายรูปแบบ แต่ผู้ใช้แรงงานกลับต้องเป็นฝ่ายเผชิญชะตากรรมหากินเองตามมีตามเกิดตามกำลัง และสุดท้ายก็กลายเป็นแรงงานหัวโตพุงโรก้นปอด ขาดสารอาหารที่มีคุณภาพเข้าสู่ร่างกายจริงๆ ทั้งๆที่มีอาหารจำนวนมาก แต่คนงานกลับเข้าไม่ถึงอาหารเหล่านั้นได้ เพราะข้อจำกัด ช่องว่าง อุปสรรคต่างๆ นานาในการกีดกัน กระทั่งตั้งใจทอดทิ้งคนงานไว้ข้างหลัง และตกขบวนการพัฒนาประเทศไทยในที่สุด” บุษยรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท