Skip to main content
sharethis

กรณียุคภาคปรัชญา ศิลปากร พบไม่ใช่ที่เดียว แต่เป็นแนวโน้มทั่วโลก คุยกับนักวิชาการปรัชญาทำไมคนจึงไม่เห็นความสำคัญของปรัชญา เพราะสังคม วงการปรัชญาเอง หรือทั้งสองอย่าง เชื่อว่าการลดความสำคัญของวิชาด้านมนุษยศาสตร์จะสร้างผลกระทบระยะยาว

การยุบภาควิชาปรัชญาของมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นข่าวเล็กๆ ที่ได้รับการพูดถึงชั่วครั้งคราวก่อนถูกกลบหายไปในกระแสะข่าวอื่นๆ อย่างรวดเร็ว ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่หมักหมมด้วยปัญหา ตัดกลับมาสู่ระดับปัจเจกที่ต้องตะเกียกตะกายหาชีวิตที่ดีกว่าในสังคมเหลื่อมล้ำสูง การลดความสำคัญของวิชาวิชาหนึ่งที่จะโดยสาเหตุใดก็ตาม แต่มันวางตัวห่างเหินจากคนจำนวนมากมาเนิ่นนาน ไม่น่าแปลกใจที่ความรู้สึกรู้สาต่อกรณีนี้จะน้อยถึงน้อยมาก

ทว่า ปรัชญาไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงหรือ? ถ้าคำตอบคือไม่เกี่ยวข้อง ก็ถือว่าดูเบาวิชาที่มีความเป็นมานับพันปีนี้มากเกินไป

‘ประชาไท’ นำกรณียุบภาควิชาปรัชญาเป็นสารตั้งต้น แล้วพูดคุยกับนักวิชาการปรัชญาถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยศิลปากร และอะไรที่ทำให้ปรัชญาเหินห่างจากผู้คน เพราะวัฒนธรรม เพราะนักวิชาการปรัชญาเอง หรือเพราะทั้งสองอย่าง

ยุบภาคปรัชญา

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ภาควิชาปรัชญา ซึ่งเสี่ยงถูกยุบเป็นเพียงสาขาปรัชญา สังกัดคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวเบื้องต้นว่า การถูกยุบลงเหลือสถานะเป็นเพียงสาขาส่งผลกระทบต่อความอิสระในการบริหารจัดการและเสรีภาพทางวิชาการ เพราะโดยโครงสร้างลักษณะนี้ ทางคณะสามารถแทรกแซงการทำงานของสาขาวิชาได้ง่ายกว่าภาควิชา

ประการต่อมาคืออำนาจต่อรองที่น้อยลง ซึ่งอาจดำเนินไปสู่การหายไปของวิชาเอกปรัชญาในมหาวิทยาลัย และประการสุดท้าย สถานะของสาขาวิชายุบง่ายดายกว่าภาควิชา เพราะคณะกรรมการวิชาการมหาวิทยาลัยสามารถสั่งยุบได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านสภามหาวิทยาลัย

“ความเข้าใจของผม มันไม่ใช่เกิดจากแค่ผู้บริหาร แต่เป็นนโยบายของรัฐบาลส่วนหนึ่งที่พยายามจะลดจำนวนสาขาพวกนี้ ชัดเจนจากบทสัมภาษณ์นายกฯ มหาวิทยาลัยเองก็พยายามลดจำนวนสาขาพวกนี้ลง นอกจากจะตามนโยบายรัฐบาลแล้ว เราจะเห็นว่าสาขาพวกนี้ไม่ได้มีจำนวนนักศึกษามาก แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มี มันอาจไม่มากเท่าสายวิทยาศาสตร์ ดังนั้น การทำเงินให้กับมหาวิทยาลัยจึงอาจน้อยกว่า แน่นอนเพราะวิชาพวกนี้ไม่ได้ขายกันง่ายๆ”

การยุบภาควิชาปรัชญาไม่ได้เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเพียงแห่งเดียว จากการเปิดเผยของอันธิฌา แสงชัย อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ทางคณะมนุษย์ศาสตร์ฯ ก็มีนโยบายจะยุบภาควิชาเป็นสาขาวิชาคล้ายกับคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเช่นกัน ในอนาคตอาจต้องไปรวมกับสาขาอื่นเกิดเป็นภาควิชาใหม่ แต่รายละเอียดอาจต่างกัน ไม่ใช่แค่เฉพาะภาควิชาปรัชญา แต่ภาควิชาอื่นๆ รวม 11 ภาควิชา โดยลดให้เหลือแค่ 3-4 ภาควิชา ส่วนใหญ่เป็นของคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์

“มีการประชุมกันแล้วหลายครั้ง จึงน่าจะชัดเจนว่าต้องยุบ แต่ช่วงนี้ก็ยังเป็นภาควิชาอยู่ ยังไม่ชัดเจนว่าจะยุบเมื่อไหร่ เหตุผลเป็นเรื่องการบริหารจัดการ ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน อาจารย์ก็ยังทำงานที่ตัวเองรับผิดชอบ แต่การบริหารน่าจะเร็วขึ้น สะดวกขึ้น ออกแบบหลักสูตรข้ามสาขาวิชาง่ายขึ้น มีความยืดหยุ่นที่ให้อาจารย์ที่อยากทำงานร่วมกันออกแบบหลักสูตร ประหยัดงบประมาณขึ้น ไม่มีเงินประจำตำแหน่งให้คนเป็นหัวหน้าภาคเหมือนก่อน ตำแหน่งบริหารลดลง เหลือแค่หัวหน้าหลักสูตรซึ่งไม่ถือเป็นตำแหน่งบริหารโดยตรง”

สังคมที่ไม่ตั้งคำถาม?

มุมมองของนักวิชาการและผู้ที่สนใจปรัชญา ปรัชญาคือวิชาที่ว่าด้วยการตั้งคำถามและกระบวนการคิด วิเคราะห์ ให้เหตุผลเพื่อหาคำตอบ พิจารณาตรงจุดนี้ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ใช่ การรับรู้ทั่วไป ปรัชญาคือสิ่งที่ต้องปีนบันไดขึ้นสู่หอคอย ทำไม

คมกฤชแสดงทัศนะว่าเพราะปรัชญาเป็นวิชาใหม่และในช่วงแรกที่วิชาปรัชญาก่อตั้งมีความใกล้ชิดกับศาสนามาก ภาพลักษณ์จึงดูลึกลับซับซ้อน ทั้งที่จริงๆ แล้วปรัชญาเป็นกระบวนการคิดวิเคราะห์

“พอเป็นแบบนี้ปุ๊บก็กลายประเด็นในเชิงคุณค่าทางเศรษฐกิจ คนจึงไม่เข้าใจว่าจบไปทำอะไร และเรายังทิ้งปรัชญาไว้ในระดับอุดมศึกษาอย่างเดียว ไม่ได้กระจายไปสู่ทักษะในระดับมัธยมหรือประถม ไม่เหมือนวิชาอื่นที่อาจเคยเรียนบ้างในระดับประถม มัธยม สังคมไทยจึงมองไม่เห็นคุณค่าของการเรียนการสอนปรัชญา ซึ่งมีคุณค่าในเชิงที่ให้คนเกิด Critical Mind

“ผมคิดว่าภาวะที่ทำให้วิชาสายมนุษยศาสตร์เล็กลงเรื่อยๆ มีผลกระทบต่อสังคมในระยะยาว ในระยะใกล้อาจไม่เห็นชัด แต่ในระยะยาวจะเห็น เพราะความคิดเชิงวิเคราะห์หรือการตั้งคำถามเป็นทักษะที่ปรัชญาเน้นและเป็นหลักคิดแบบวิทยาศาสตร์ แต่ตอนนี้เราไม่ได้ส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เราส่งเสริมเทคโนโลยี พอเป็นแบบนี้ปุ๊บทักษะเหล่านี้ก็เหมือนถูกทำให้ด้อยค่าลง ผมคิดว่าทั้งมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นสองข้างของการพาสังคมไปข้างหน้า การคิดวิเคราะห์ตั้งคำถามเป็นอย่างหนึ่งที่พาสังคมก้าวไปข้างหน้า แต่คนไทยมองว่าเป็นเรื่องอันตราย เมื่อถูกตั้งคำถาม วิเคราะห์ วิพากษ์ เป็นเรื่องอันตราย แต่การไม่ตั้งคำถาม ไม่มีความคิดเชิงวิพากษ์ผมกลับมองว่าเป็นอันตรายยิ่งกว่า”

ขณะที่อันธิฌามีความเห็นคล้ายคลึงกันว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ระดับอุดมศึกษาซึ่งเป็นปลายเหตุ แต่เป็นวิธีคิดของระบบการศึกษาเมืองไทยที่ไม่เห็นความสำคัญของวิชานี้ตั้งแต่ต้น ปรัชญาเป็นวิชาที่เด็กไม่รู้จัก แต่มารู้จักในระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้ การศึกษาไทยไม่ใช่การศึกษาที่มีการถกเถียงและมีความจริงได้หลากหลายแบบ แต่เป็นการศึกษาที่มักมีความถูกต้องแบบเดียวเท่านั้น

“การศึกษาไทยเป็นระบบอำนาจนิยมมากๆ ควบคุมความคิดมากๆ ยอมให้ชุดความจริงต่างๆ มีแค่ชุดความจริงกระแสหลักที่สนับสนุนอุดมการณ์ของรัฐ ดังนั้น มันไม่มีพื้นที่ให้ปรัชญา สำหรับเราการที่ปรัชญาแทรกอยู่ในระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้ก็ถือว่ามหัศจรรย์แล้ว”

สื่อสารกับสังคม?

แต่ช้าก่อน ทั้งหมดนี้เป็นความผิดของระบบ สังคม วัฒนธรรม เท่านั้นหรือเปล่า ในฐานะนักวิชาการด้านปรัชญา พวกเธอและเขามองตนเองอย่างไร

"ผมคิดว่าทั้งมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นสองข้างของการพาสังคมไปข้างหน้า การคิดวิเคราะห์ตั้งคำถามเป็นอย่างหนึ่งที่พาสังคมก้าวไปข้างหน้า แต่คนไทยมองว่าเป็นเรื่องอันตราย เมื่อถูกตั้งคำถาม วิเคราะห์ วิพากษ์ เป็นเรื่องอันตราย แต่การไม่ตั้งคำถาม ไม่มีความคิดเชิงวิพากษ์ผมกลับมองว่าเป็นอันตรายยิ่งกว่า”

“ในฐานะคนสอนปรัชญาถ้าถามว่าผมทำหน้าที่อาจารย์ได้ครบถ้วนหรือไม่” คมกฤชกล่าว “คงไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผมก็ทำหน้าที่เต็มที่ในการช่วยนักศึกษา ชวนคิด ชวนวิเคราะห์ ชวนวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนงานวิชาการผมอาจจะไม่ได้อยู่ในฟีลด์ที่ก้าวหน้านัก เพราะผมสอนอะไรที่มันโบราณๆ อย่างปรัชญาอินเดีย แต่ถ้าให้ประเมินตัวเองว่าล้มเหลวไหม ก็คงไม่ใช่ ก็คงทำได้ในระดับหนึ่ง มีดอกมีผลบ้าง นักศึกษาที่จบไปก็เป็นคนที่มีความคิดวิเคราะห์วิพากษ์ได้อยู่บ้าง

“ในแง่สื่อสารกับสังคม ผมคิดว่าปรากฎการณ์นี้มีแง่ดีคือทำให้คนสนใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย เมื่อมีโอกาสผมก็จะพยายามพูดเรื่องเกี่ยวกับปรัชญา เพียงแต่เรื่องนี้มันอาจจะต้องทำไปด้วยกัน ทั้งอาจารย์และนักวิชาการด้านปรัชญา”

ด้านอันธิฌา แสดงความเห็นว่า

“เราคิดว่ามีคนที่พยายามทำให้ปรัชญาเติบโต แต่ต้นทุนน้อยมาก บุคลากรน้อย เทียบกับสาขาวิชาอื่น โอกาสที่เราจะได้ทำงานที่ไปผลักดันเชิงนโยบายไม่ใช่ง่าย เข้าไปสู่พื้นที่ของผู้บริหารก็ยิ่งยาก แต่อย่างน้อยก็มีความพยายามรวมกลุ่มกันเป็นสมาคมปรัชญาและศาสนา สมาคมพยายามทำงานให้เกิดความเคลื่อนไหวทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง เช่น มีการประชุมเชิงวิชาการทุกปี จัดอบรมเชิงวิชาการที่เป็นปรัชญาทุกปี อาจารย์บางท่านก็พยายามทำงานวิชาการ จัดกิจกรรมในพื้นที่ของตัวเอง อย่างศิลปากรเรามองว่าเป็นภาควิชาปรัชญาที่เข้มแข็ง มีอาจารย์ที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการ และมีความพยายามเชื่อมโยงกับสังคม ผลิตงานที่เป็นวิชาการเชิงลึก และงานสื่อสารทางสังคม ถือเป็นความพยายามที่เมื่อเทียบกับต้นทุนที่มีอยู่ก็ถือว่าทำได้เยอะมาก

“มองมุมกลับ เรากลับคิดว่าคนคาดหวังกับอุดมศึกษามากเกินไป เราไม่แปลกใจที่ภาควิชาปรัชญาถูกลดความสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่ปัญหาที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย แต่เป็นปัญหาโครงสร้างซึ่งใหญ่กว่านั้นมาก”

สมาคมปรัชญาฯ รอหารือแสดงท่าที

โสรัจน์ หงศ์ลดารมภ์ ในฐานะนายกสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลดความสำคัญของวิชาปรัชญาลงเป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงและไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย ผู้บริหาร รัฐบาล หรือมหาวิทยาลัยในโลกตะวันตกเองก็ให้ความสำคัญกับวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเขามองว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะจริงๆ แล้ววิชาเหล่านี้กับปรัชญาต้องไปด้วยกัน เพราะมนุษย์จะเข้าใจวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ถ้าไม่เข้าใจตัววิทยาศาสตร์เองภายใต้บริบทที่สัมพันธ์กับสังคมรอบนอก

“มันเป็นข้อเสียของการวางหลักสูตร อย่างเช่นวิศวะควรเรียนปรัชญามากๆ เพราะมันเกี่ยวกับเรื่องคุณค่า คุณค่าคือการบอกว่าอะไรดีหรือไม่ดี เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เวลาสอน ไม่ได้สอนสิ่งเหล่านี้หรือไม่ให้ความสำคัญ หลักสูตรไม่เอื้อ นักศึกษาอาจจะอยากเรียนปรัชญา แต่ไม่มีเปิดสอน

“วัตถุประสงค์ของสมาคมฯ ต้องการส่งเสริมวิจัยด้านปรัชญา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันตรงกันข้ามกับการส่งเสริม ก็มีการพูดคุยกันว่าจะทำอะไรดี อาจเป็นการจัดเสวนา ร่างแถลงการณ์ ความจริงทางภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยศิลปากรก็ทำอะไรไว้พอสมควรแล้ว อาจมีการประชุมวิสามัญ ต้องดูว่ากรรมการบริหารจะว่ายังไง”

...........

อันธิฌากล่าวว่า ต้องการเห็นการพูดคุยปรัชญาเป็นเรื่องปกติในสังคม อยู่ในวัฒนธรรม และสื่อสารกับผู้คน ซึ่งจะก่อคุณูปการต่อสังคม

อย่างไรก็ตาม เหล่านี้เป็นความเห็นของนักวิชาการปรัชญา ยังมีพื้นที่อีกมากให้สังคมตั้งคำถามว่า ปรัชญาสำคัญหรือไม่ นักวิชาการปรัชญาสื่อสารกับสังคมมากพอหรือไม่ สื่อสารด้วยภาษาและเนื้อหาแบบไหน แค่คุยเฉพาะกลุ่มนักวิชาการกับผู้ที่มีความสนใจกลุ่มเล็กๆ หรือพยายามคุยกับคนทั่วไป แล้วการลดความสำคัญของวิชาปรัชญาเพื่อตอบสนองด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาเหมาะสมหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net