Skip to main content
sharethis
 
นับถอยหลังวันเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 ที่งวดเข้ามาทุกที ขณะนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยู่ระหว่างยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจในการเลื่อนวันเลือกตั้งใหม่ ระหว่างรัฐบาล กับ กกต. โดยก่อนหน้านี้ กกต.มีแถลงการณ์ถึงรัฐบาลให้เลื่อนการเลือกตั้ง เนื่องจากหวั่นวิตกว่าอาจเกิดความวุ่นวายขึ้นระหว่างกระบวนการจัดการเลือกตั้ง
 
เมื่อมามองสภาพสังคมโดยทั่วไป สื่อรณรงค์ชวนไปเลือกตั้งแทบไม่มี แม้กระทั่งป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองเองก็แทบไม่เห็น แต่ความเคลื่อนไหวในสื่อออนไลน์ที่ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเฟซบุ๊กกลับมีการรณรงค์ที่คึกคักกว่า โดยเฉพาะเพจที่เป็นหัวหอกในการสื่อสารเรื่องการเลือกตั้งอย่าง WE VOTE ที่มีการพูดถึงกันมากในช่วงที่ผ่านมา
 
ประชาไทขอใช้เวลานี้ในการเผยแพร่บางส่วนบางถ้อยคำจากการพูดกับ ‘คนทำงาน WE VOTE’ ซึ่งเขาขอเรียกตัวเองว่าผู้ประสานงาน ถึงแนวความคิดและการทำงานของพวกเขา รวมทั้งเสนอบางบทสัมภาษณ์ของคนที่ถ่ายทอดความคิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งในคลิปของ WE VOTE
 
 
000
 
ท่ามกลางกระแสความคิดที่แตกต่างแบบ 2 ขั้วหลัก คือ ‘เอาการเลือกตั้ง’ และ ‘เอาการปฏิรูป’ WE VOTE ก่อตั้งโดย คนในแวดวงสื่อ สารคดี คนทำหนัง เอเจนซีโฆษณา ครีเอทีฟ และโปรดักชันเฮาส์ กลุ่มหนึ่ง โดยมุ่ง ‘เว้นที่ไว้ให้สังคมหายใจ’  สร้างพื้นที่ ให้คนที่อึดอัดคับข้องไม่ว่าฝ่ายไหนได้พักหายใจ ได้สูดโอโซน แลกเปลี่ยนเนื้อหากัน โดยมีประชาธิปไตยเป็นหลักการสำคัญ 
 
“ต้องมองว่า เลือกตั้งเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องเลือกข้าง” ผู้ประสานงานกลุ่ม WE VOTE กล่าว
 
WE VOTE เริ่มเปิดเพจเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2556 หลังจากที่รัฐบาลประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2556 คืนอำนาจให้กับประชาชนจากแรงกดดันของ ‘มวลมหาประชาชน’ ผู้ชุมนุม กปปส. ทำให้กระแสสังคมหันมาพูดถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งยังคงเดินหน้าเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลทำหน้าที่รักษาการและให้มีรัฐบาลชั่วคราวมาจัดตั้งสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ
 
ถึงวันนี้ (22 ม.ค.2557) WE VOTE มีคนคลิกไลค์ 32,309 มีการเข้ามามีส่วนร่วม (talking about this) 41,144 ถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่ไปได้สวยสำหรับเพจรณรงค์ในช่วงเวลานี้
 
 
WE VOTE สร้างคาแรกเตอร์และวางโพสิชันของตัวเองให้เป็นพื้นที่กลางที่สร้างสรรค์ มีการผลิต original source ด้วยโปรดังชั้นขั้นเทพ ให้นำไปใช้ต่อได้ ทั้งกราฟิก โคว้ทคำพูด รูปภาพ และคลิปวิดีโอ เพื่อสื่อสารคอนเทนต์ที่ต้องการ เปรียบได้กับร้านกาแฟชั้นดีที่แข่งขันกับร้านกาแฟมากมายในท้องตลาด
 
การพูดคุยถกเถียงในเพจนี้เปิดรับคนจากคนละฟากฝั่งความคิด ซึ่งสังเกตได้ว่าผู้ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนในเพจจะมีท่าทีที่สุภาพ ไม่มีใครใช้ถ้อยคำหยาบคาย และกิจกรรมในช่วงที่ผ่านมาทางเพจได้เชิญชวนให้ร่วมส่งสื่อทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวสนับสนุนการเลือกตั้ง
 
ผู้ประสานงานกลุ่ม WE VOTE กล่าวถึงแนวคิดของการเปิดพื้นที่ของพวกเขาว่า ต้องการนำเอาพื้นที่กลางที่เคยมีในสังคมไทยแล้วหายไปโดยการเบียดขับความเห็นต่าง กลายเป็นว่าคนเอาเลือกตั้งเป็นเสื้อแดง จะต้องล้างวาทกรรมนี้ออก แล้วสร้างพื้นที่กลางให้กลับมา
 
“สิ่งที่เราเรียกร้อง เราต้องการให้ทุกอย่าง ทุกความขัดแย้ง ถูกพูดบนกรอบของประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นจึงเรียกร้องให้มีการโหวตหรือการเลือกตั้ง เพราะนั่นเป็นกลไกสำคัญในการปกครองแบบประชาธิปไตยเบื้องต้น” เขาระบุ
 
ผู้ประสานงานกลุ่ม WE VOTE เล่าด้วยว่า อเจนด้าของกลุ่มตอนแรกเริ่มนั้นไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่เป็นความพยายามในการรวมตัวกันเพื่อผลิตสื่อสนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตย ผลิตงานที่มีคุณภาพ จากที่มีการคุยกันและตั้งคำถามว่า ทำไมไม่มีสื่อกลางๆ ที่ไม่ได้สนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง รวมทั้งต้องการผลิตสื่อเพื่อต่อสู้กับวาทกรรม และข้อมูลผิดๆ ที่ถูกผลิตซ้ำไม่จบไม่สิ้นอยู่ในสังคม โดยมุ่งสื่อสารกับคนกลางๆ
 
กลุ่ม WE VOTE ทำงานรณรงค์โดยไม่เปิดตัวคนทำ ด้วยมองว่า พวกเขาอยู่ในฐานะปัจเจกชน รวมตัวกันโดยเชื่อมั่นในระบอบแต่ไม่ชอบวัฒนธรรมเซเล็บ เพราะมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือมีคนฟัง ส่วนข้อเสียคือมันกดให้คนไม่กล้ายืนขึ้นมา ต้องฟัง ต้องตาม ซึ่งพวกเขารู้สึกเบื่อการสร้างฐานมวลชนที่ไม่สร้างสรรค์ ขณะที่ถ้าเป็นปัจเจกชนจะลุกขึ้นมาทำเอง 
 
“เราอยากสนับสนุนแนวคิดแบบเสรีชนที่ลุกขึ้นมาทำเองโดยจิตวิญญาณของตัวเอง มันไม่ต้องมาจ้าง ไม่ได้ต่างอะไรกับป้ายไม่ต้องจ้างกูมาเอง แต่เราไม่ได้ไปม็อบก็สื่อสารได้เพราะเราทำสื่อ”  ผู้ประสานงานกลุ่ม WE VOTE กล่าว
 
000
 
การสื่อสารที่โดดเด่นที่ปรากฏอยู่ในเพจ WE VOTE คือคลิปวิดีโอสั้นๆ เข้าใจง่าย เข้ากับพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้คนในยุคนี้ โดยถ่ายทอดแนวความคิดเรื่องการไปเลือกตั้งของคนในแวดวงต่างๆ ทั้งนักออกแบบ ศิลปิน นักดนตรี นักวิชาการ ฯลฯ อาทิ ....
 
วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ กราฟิกดีไซเนอร์ชื่อดัง หรือ เสนาวิชญ์ แห่งยุทธนาการขยับเหงือก ซึ่งระบุว่าตัวเองเป็นกองเชียร์พรรคประชาธิปัตย์มานาน และเขาเองก็เป็นหนึ่งในผู้ต้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่เมื่อยุบสภา ก็พอใจและถอยมารอเลือกตั้ง
 
 
 
ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบที่ผลงานเป็นที่ยอมรับ แสดงความเสียใจต่อแนวคิดที่ว่าคนไม่เท่ากัน หรือเสียงของคนชนบทนั้นไร้ค่า
 
 
 
พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินร่วมสมัยที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ที่สื่อสารผ่านภาษากายให้หยุดความรุนแรง แล้วใช้การเลือกตั้งตัดสินความขัดแย้ง
 
 
 
วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล คนรุ่นใหม่ที่มีหลายบทบาทไม่ว่า ศิลปิน พิธีกร นักเขียน ส่งคลิปมาร่วมแสดงความเห็นด้วยตัวเอง โดยบอกว่าเขาไม่ได้ปฏิเสธการปฏิรูป แต่เพื่อสันติภาพในสังคม จะต้องมีการเลือกตั้ง เพื่อเปิดพื้นที่ให้เสียงที่หลากหลายได้ถูกรับฟังเสียก่อน
 

 

นิ้วกลม หรือ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียนชื่อดัง ที่ส่งโคว้ทจากงานเขียน ชื่อ "เราพอจะมีอะไรที่เห็นตรงกันบ้างไหม" มาร่วม โดยแสดงจุดยืนว่า เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง พร้อมชวนให้เปิดพื้นที่ให้กับผู้ที่มีความเห็นต่างได้แสดงออก เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงขึ้น

 

000
 
 
คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรนักวิชาการ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘เชฟหมี แห่งครัวกากๆ’ ในฐานะทัพหน้าที่ให้สัมภาษณ์และมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอในเพจ WE VOTE กล่าวถึง การสร้างพื้นที่กลางๆ อย่างที่ WE VOTE ทำอยู่ว่า ถือเป็นเจตนารมณ์ที่สำคัญ เพราะเราจะเห็นว่าในแต่ละฝ่ายมีพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ มีทั้งคนดังเข้าช่วงชิงพื้นที่นั้นอยู่ แต่สังคมไทยในตอนนี้มีคนกลุ่มหนึ่งที่รีรออยู่ว่าจะเลือกทางไหน ซึ่ง WE VOTE มองเห็นคนกลุ่มนี้
 
“ทีนี้ สิ่งที่สำคัญคือคนที่รีรออยู่นี้เขาน่าจะได้รับข้อมูล เขาน่าจะได้ฟังความเห็นจากคนที่ไม่สุดโต่งจากข้างใดข้างหนึ่ง และสำหรับ WE VOTE เข้าใจว่าเขาพยายามระมัดระวังอย่างที่สุดในการเลือกคนที่จะเข้ามาพูดในพื้นที่นี้ ให้เป็นคนที่ได้รับการยอมรับจากคนกลางๆ หรือคนที่รีรอจะตัดสินใจอยู่ให้ได้มากที่สุด นี่เป็นความพยายามที่เห็นได้ชัด”
 
คมกฤช กล่าวด้วยว่า พอคลิปสัมภาษณ์ออกไปก็มีคนที่เข้าใจผิดบอกว่า นี่มันเสื้อแดง เอาเลือกตั้งก่อนปฏิรูปเป็นพวกเสื้อแดง มันก็มีคนเข้าใจแบบนั้นจริงๆ แต่ว่าส่วนใหญ่ก็จะมีเสียงในลักษณะที่เห็นด้วยกับการนำเสนอ ถือว่าเอฟเฟคที่รับมาไม่ได้แบบรุนแรงมาก แต่ก็มีเป็นธรรมดา
 
“แดงแล้วไง เราไม่สน เพราะว่าเราก็มีจุดยืนทางการเมืองของเราชัดเจนว่าเราคิดอะไร อย่างไร ไม่ได้กั๊ก แต่เรามีจุดยืนที่ไม่ได้สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง เราคิดว่าเรามีจุดยืนในส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่าเรายืนอยู่ตรงจุดไหน การที่จะเข้าใจไปเป็นอย่างอื่นมันเป็นเรื่องของการเข้าใจผิด ซึ่งเราไปนั่งแก้ทีละคนไมไหว เราคิดว่ามันทำอย่างนั้นไม่ได้ ก็ต้องปล่อยไป”
 
คมกฤช ให้ความเห็นต่อความเป็นกลางว่า ปัจจุบันคงพูดว่ากลางๆ ยาก เพราะเวลาบอกว่ากลาง อย่างเช่นทางเลือกกรณีเลือกตั้ง มันกลางไม่ได้ มีแค่เลือกตั้งหรือไม่เลือก เลือกก่อนปฏิรูปหรือหลังปฏิรูปเท่านั้น แต่บางเรื่องก็ไม่ได้เป็นเรื่องการเลือกข้างแบบสุดโต่ง เห็นดีเห็นงามทุกเรื่อง โดยส่วนตัวเองบางครั้งก็พยายามกันตัวเอง แต่สุดท้ายแล้วมันยากมากที่จะบอกว่าตัวเองเป็นกลางในแบบไหน
 
อย่างไรก็ตาม เขามองว่า ที่คนยังพยายามจัดตัวเองเข้ามาอยู่ในส่วนที่เป็นกลางๆ เพราะมันมีปัญหาคือเวลาถูกผลักไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่งก็จะเกิดศัตรูอีกข้างหนึ่ง เมื่อบอกว่าตัวเองอยู่ข้างนี้ มันก็จะเกิดอีกฝ่ายที่เป็นแรงปฏิกิริยากลับมาจากอีกข้างหนึ่ง และหลายคนก็ยังอยากจะเซฟตัวเอง อยากมีชีวิตที่ปกติ เขาจึงไม่ไปอยู่ข้างไหน คนกลุ่มนี้มีเยอะในสังคม ตรงนี้สะท้อนว่าสังคมนี้มีปัญหาที่ว่าถ้าคุณอยู่อีกข้างหนึ่งฉันก็พร้อมจะห้ำหั่นคุณ มันกลายเป็นแบบนั้น ทำให้คนระวังตัวค่อนข้างมาก
 
คมกฤช กล่าวถึงการทำงานของ WE VOTE ด้วยว่า WE VOTE พยายามไม่ไปสู่ในระดับการปฏิบัติการในทางที่ไปเรียกร้องหรือแสดงพลัง แต่การพยายามใช้สื่อกลางๆ ทำในลักษณะของงานสื่อสารนี้ก็อาจไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ว่า ณ เวลาต่อไปนี้มันอาจต้องก้าวไปสู่ระดับของการปฏิบัติการบางอย่าง เช่น การชุมนุม การนัดคุยกัน เป็นลักษณะของการเคลื่อนไหว ไม่เช่นนั้นอาจมีปัญหาได้ ข้อหนึ่งคือจำกัดวงและมันจะไม่ทันต่อปัญหาที่มันจะเกิดขึ้น
 
000
 
 
“การประท้วงเพื่อเรียกร้องอำนาจคืนมา เพื่อจะไปเลือกตั้ง รู้สึกว่า นั่นเป็นการประท้วงที่ชอบธรรมและเป็นสิ่งที่เราทำได้  นั่นคือความชอบธรรมและเราจะต้องหยุดแค่นั้น” วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ ชายผู้ประกาศตัวในคลิป WE VOTE ว่าเป็นแฟนพรรคประชาธิปัตย์ที่พร้อมที่จะไปเลือกตั้งกล่าว
 
วิชญ์ เล่าว่า เขาคือคนคนหนึ่งที่อยากขับไล่ทักษิณ ตอนที่มีรัฐประหารคราวที่แล้วเขาก็ไม่ต่างจากคนอื่น รู้สึกดีใจที่มีรัฐประหาร ได้ขับไล่อย่างที่คิดแล้ว แต่ก็อย่างที่เห็นกันอยู่ว่าการกระทำที่อยู่นอกระบบไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืนเลย เกือบสิบปีผ่านไป เขาได้เรียนรู้แล้วว่ามันไม่ถูก
 
“ผมคิดว่า ในฐานะประชาชนที่เคยสนับสนุนการรัฐประหาร ตอนนั้นผมเกือบจะออกไปให้ดอกไม้ด้วย ผมควรจะแสดงความรับผิดชอบในใจตัวเองและออกมาแสดงความรับผิดชอบ นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราสามารถแก้ตัวได้ ว่าเส้นมันคือตรงนี้ และผมคิดว่า แนวร่วมของประชาธิปัตย์หรือ กปปส. ก็ต้องมีการให้สติกันด้วยว่าอันนี้มันเกินเส้นไปแล้ว”
 
วิชญ์ ยกตัวอย่างว่า หนูหริ่งหรือ บก.ลายจุด หรือแม้กระทั่งนักวิชาการที่เรียกกันว่านักวิชาการเสื้อแดงอย่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ตอนที่มีการพิจารณาออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ก็ออกมาบอกว่าสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ถูก คนที่เป็นกองเชียร์ก็ต้องให้สติฝ่ายเดียวกันเอง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการเชียร์อย่างสุดโต่ง จนไม่ยอมเบรคกัน แล้วมันก็อยู่กันไม่ได้ 
 
ต่อประเด็นพื้นที่กลาง วิชญ์ ให้ความเห็นว่า ขณะนี้เป็นช่วงจังหวะที่ความคิดสับสนกันอยู่ ยังคงไม่มีพื้นที่อยู่ เพราะต่างคนก็ต่างสาด ว่ากันไปว่ากันมา แต่การเปลี่ยนจากคำด่าหยาบคาย มันพัฒนาเป็นประชด เสียดสี อาจจะเจ็บมากขึ้น แต่เชื่อว่ามันจะพัฒนาไปในทางที่น่าจะดีขึ้น แม้ตอนนี้จะมีคนกลุ่มน้อยอยู่ แต่คนกลุ่มน้อยที่คุยกันอยู่มีสติมากขึ้น และยอมรับกันได้ว่ายังไงก็ต้องอยู่กันให้ได้ เราไม่ต้องคิดเหมือนกัน แต่ต้องทนอยู่กันได้ 
 
“ผมเชื่อว่ามันจะคุยกันได้ขึ้นเรื่อยๆ คือคนที่สุดโต่งก็ปล่อยเขาไป แต่คนที่อยู่กลางๆ ต้องเข้ามาคุยกัน เชื่อว่ายังมีคนแบบผมอีกเยอะ และคิดว่าถ้าจะคุยกัน ผมว่าคนตรงกลางนี่แหละควรจะสร้างพื้นที่นี้ขึ้นมา” 
 
วิชญ์ กล่าวด้วยว่า เขาสรุปว่า ขณะนี้เป็นเรื่องของความขัดแย้งง่ายๆ เลย คือ พวกหนึ่งให้ความสำคัญกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลมากเกินไป แล้วก็มองข้ามหรือปล่อยวางปัญหาความไม่เท่าเทียม แต่อีกขั้วหนึ่งก็เพ่งปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมมากเกินไป แล้วก็ปล่อยวางปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล ทีนี้ถ้ามีท่าทีแสดงการฟังฝั่งอื่นบ้างก็จะปรับลดความขัดแย้งได้
 
ในความเห็นของเขา ฝั่งหนึ่งควรต้องมีท่าทีแสดงออกว่ายอมรับความเท่าเทียม ซึ่งก็เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยอมรับ และคิดว่าคนที่โดนมองว่าเป็นข้างทักษิณก็เห็นว่าทุจริตคอร์รัปชั่นและความฉ้อฉลก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ตรงนี้ควรต้องเห็นอกเห็นใจกันและกัน และพูดปัญหาของฝั่งอื่น ต้องมองอีกมุม แต่ถ้ามองแต่ฝั่งเราแล้วบอกว่าอีกฝั่งเป็น ไอ้สลิ่ม ไอ้ควาย มันไม่จบ และมันไม่มีประโยชน์เลย
 
“ความขัดแย้ง 10 ปีแล้ว เชื่อว่ากว่าจะไม่ขัดแย้งกัน ต้องใช้เวลาอีก 10 ปี ไม่มีทางอะไรที่เกิดขึ้นแล้วจะจบแล้วอยู่ได้อย่างยั่งยืน มันต้องค่อยลงๆ เหมือนขึ้นเขา ต้องค่อยๆ ลง ไม่งั้นก็กระโดดลงเหว” วิชญ์กล่าว
 
000
 
“เราไม่ต้องการให้คนรักกัน แต่คุยกันอย่างไร” ผู้ประสานงานกลุ่ม WE VOTE กล่าวไว้
 
ก่อนที่พื้นที่กลางๆ จะถูกช่วงชิงไป ดังเช่นคำพูดที่ว่า ‘เป็นคนไทย’ ‘รักชาติ’ เราต้องการพื้นที่ที่จะมาคุยกันว่าชาติไม่ได้มีด้านซ้ายขวา เรามีความแตกต่างหลากหลาย และแต่ละคนอาจมองธงชาติไม่เหมือนกัน
 
สำหรับผู้ประสานงานกลุ่ม WE VOTE พื้นที่กลางหายไปตั้งแต่มีเสื้อแดง เสื้อเหลือง มีการใช้สัญลักษณ์ทางการเมือง เขาเองไม่อยากโดนคนป้ายเป็นพันธมิตร หรือพวกทักษิณจึงเลือกใส่เสื้อดำ เสื้อเทา ซึ่งมันเป็นวาทกรรมที่แก้ไม่ได้ ในความคิดเขาถ้าจะให้พื้นที่กลางๆ กลับมามันต้องเบลอ ใส่เสื้ออะไรก็ได้แล้วไปดูกันที่อุดมการณ์มากกว่า เพราะเสื้อเป็นเพียงแค่เปลือก
 
ผู้ประสานงานกลุ่ม WE VOTE เล่าว่า ความยากในการสร้างพื้นที่กลางของพวกเขา คือการหาคนที่จะกล้าออกมาเป็นสปีกเกอร์บอกเล่าความคิดของตัวเองผ่านเพจ เพราะนั่นอาจหมายถึงการต้องยอมถูกเหวี่ยงให้ไปอยู่ในอีกฝั่งความคิดทางการเมืองได้ ไม่ได้ยากในเรื่องการผลิต
 
ส่วนมาตรวัดความสำเร็จ ผู้ประสานงานกลุ่ม WE VOTE กล่าวว่า ส่วนหนึ่งดูได้จากคนหลากหลายที่มาแลกเปลี่ยน มีการคลิกไลค์และแชร์ จะเห็นได้ว่าแม้เป็นคนที่เป็นที่รู้จักเฉพาะในวงการกราฟิกอย่างวิชญ์ แต่ก็มีคนคลิกมากกว่าบางคนที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง นั่นเพราะความคิดเห็นของคนคนนี้สั่นสะเทือนความรับรู้ของเขา การที่คนเหล่านี้มีพื้นที่ อธิบายได้อย่างมีเหตุมีผล สามารถเกลี่ยความเกลียดชังได้ มันทำลายความรับรู้แบบเดิมของคนบางกลุ่มได้ 
 
“เราไม่ได้เน้นแอคติ้งของกิจกรรม แต่ผลิตเนื้อหาเชิงประชาธิปไตย และไม่โต้ตอบคนที่มาด่าเรา ” ผู้ประสานงานกลุ่ม WE VOTE กล่าว
 
แม้ว่า WE VOTE จะไม่ใช่กลุ่มที่ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนนอกโลกออนไลน์ แต่ก็มีเครือข่ายทำงานรณรงค์เพื่อเชิญชวนคนไปเลือกตั้งอย่างกลุ่ม ANTs' POWER และ กลุ่ม พอกันที หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง ที่เคลื่อนไหวทำกิจกรรม โดยที่แฟนเพจแต่ละเพจหมุนเวียนไปร่วมกิจกรรมข้ามข่าย
 
ทิ้งท้ายกับคำถามที่ว่า ถึงยุคนี้แล้วแต่เรายังต้องพูดเรื่องเลือกตั้งกันอยู่รู้สึกอย่างไร ผู้ประสานงานกลุ่ม WE VOTE กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องทำใจ เพราะเสียงที่ดังในสังคมมีชนชั้น ถ้าเสียงคนส่วนใหญ่ดังจริงก็ไม่เป็นแบบนี้ ทั้งนี้มองว่ามีช่องทางที่สามารถทำได้ โดยการสู้ในระบบ คุณสามารถที่จะโนโหวตได้ เพราะเราต้องอยู่ร่วมกัน
 
“ถ้าเราเชื่อมั่นในระบอบ จะมีเหตุผลประกอบ ไม่ได้บ้าหลักการ แต่ดีกว่าอยู่บนความคลุมเครือ ทำลายระเบียบของสังคม” ผู้ประสานงานกลุ่ม WE VOTE ให้ความเห็น
 
 

แถลงการณ์จุดยืนกลุ่ม


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net