Skip to main content
sharethis

<--break- />

หมายเหตุ: เก็บความจากการบรรยายในวิชา วิชา CRRS 334 New Challenge in Contemporary Buddhist Societies วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยวิจักขณ์ พานิช อาจารย์ประจำวิชาได้เชิญ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง หรือที่รู้จักกันในนาม เชฟหมี อาจารย์จากภาคปรัชญา อักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาบรรยายในประเด็น 'เสรีภาพและความเท่าเทียมทางศาสนาในสังคมอินเดีย และการยืนหยัดในความเป็นรัฐโลกวิสัย (secular state)' เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2558

 

ชีวิตเรา ไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันเพียงไหน ต่างก็(ต้อง)คุ้นเคยกับ ‘พุทธศาสนา’ เป็นอย่างดี พุทธศาสนาแบบที่รัฐสรรสร้างแทรกตัวอยู่ในชีวิตตั้งแต่เล็กจนโต ในแบบเรียน ในวิชาเรียน ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ในวันหยุด ฯลฯ และยังมีความพยายามทำให้มันเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญที่ร่างๆ ล้มๆ กันอยู่นี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางข่าวเหล่านี้

5 องค์กรชาวพุทธฯ จ่อยื่นหนังสือผู้สร้างหนัง"อาบัติ" ส่อหมิ่นศาสนาพุทธ 
เสนอบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ
พศ.สั่งทุกหน่วยรู้ทันกระแสบิดเบือนพุทธ
นอภ.ท่าบ่อ - ปชช.สวดมนต์ถวายในหลวง
รัฐบาลจัดสัปดาห์พุทธศาสนา เทศกาลอาสาฬหบูชา
"พรเพชร"แนะส่งเสริมพุทธศาสนาช่วยชาติ
สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ ยกธรรมวินัย แจงชัด พระกราบไหว้แม่ไม่ได้
สำนักพระพุทธศาสนาภูเก็ตลงนาม MOU หมู่บ้านรักษาศีล 5 สร้างความปรองดองสมานฉันท์

ฯลฯ

ในห้องเรียนศาสนาศึกษาของม.มหิดล กลับมีการพูดคุยเกี่ยวกับศาสนาในอีกทิศทางหนึ่ง เป็นแนวคิดที่เข้าใกล้การแยกรัฐออกจากศาสนา ขับเน้นที่ประเด็น “เสรีภาพ” “ความแตกต่างหลากหลาย” “ความเท่าเทียม” อันเป็นผลพวงจากนโยบายด้านศาสนาของรัฐแบบฆราวาสวิสัย/โลกวิสัย หรือที่เรียกกันว่า secular state

มีการหยิบยกอินเดียมาเป็นต้นแบบ secular state ... ทำไมอินเดียจึงเดินบนเส้นทางสายนั้น รากเหง้าทางความคิดดังกล่าวเป็นมาอย่างไร secular state ของอินเดียเหมือนหรือต่างกับแบบตะวันตกแค่ไหน ‘เซฟหมี’ มาแจกแจงวัตถุดิบและปรุงรสความรู้เรื่องนี้ให้นักศึกษาฟังและบังเอิญว่านักศึกษาบันทึกเทปอัพโหลดขึ้นยูทูบทำให้อาหารจานนี้ออกสู่สาธารณะด้วยเช่นกัน

เป็นอาหารจานค่อนข้างใหญ่ ไล่ตั้งแต่ประวัติศาสตร์อินเดียโบราณ จนกระทั่งหลังได้รับเอกราช และปัญหาของ secular state ในอินเดียปัจจุบัน

“ผมเข้าใจว่า อินเดียสามารถพัฒนาจนมาเป็น secular state และมีเสรีภาพทางศาสนาได้ เนื่องจากอินเดียพัฒนาระบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง อินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยเต็มใบ ไม่เคยมีรัฐประหารเลย ไม่เคยฉีกรัฐธรรมนูญเลย ไม่ว่ามีเงื่อนไขทางการเมืองหนักหนาขนาดไหนอินเดียจะแก้ไขมันในระบบรัฐสภาเสมอ สุดท้ายคองเกรสอยู่มาเป็นสิบปี จะครองอินเดียแล้ว อินเดียก็สามารถเลือกเอาบีเจพีขึ้นมา วันหนึ่งถ้าคนอินเดียรู้สึกว่าบีเจพีไม่ไหวแล้ว วันหนึ่งบีเจพีก็จะไป ในระบบการเลือกตั้ง ถามว่ามันเกี่ยวกันอย่างไร ผมว่ามันเกี่ยว เพราะในรัฐที่มีระบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งมันต้องสร้างความเท่าเทียมของพลเมือง และความแตกต่างทางอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่ต้องเคารพ” คมกฤช กล่าวในตอนหนึ่งของการบรรยาย

00000

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เหตุที่เลือกอินเดียเป็นตัวแบบเพราะอินเดียอยู่ในเอเชียเหมือนกัน และเรารับเอาศาสนาและวัฒนธรรมมาจากอินเดียเยอะ ขณะเดียวกันแม้อินเดียจะคล้ายเราที่เป็นรัฐซึ่งสัมพันธ์กับศาสนาค่อนข้างมาก แต่ก็สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าตัวเองเป็น secular state ปรากฏการณ์นี้มันเกิดจากเงื่อนไขอะไรบ้าง ทำไมอินเดียถึงสามารถเป็นรัฐฆราวาสได้

เวลาพูดถึงรัฐ รัฐอาจสัมพันธ์กับศาสนาในหลายรูปแบบ ไม่ว่า รัฐศาสนา ซึ่งสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ หรือ รัฐที่โปรศาสนา คือมีนโยบายสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ หรือ รัฐที่เป็นกลางทางศาสนา ไม่ได้สนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ วางตัวเป็นกลาง หรือ รัฐที่ไม่สนับสนุนศาสนาใดๆ เลย

กรณีของอินเดีย secular state ของเขาหมายถึงรัฐที่ไม่ได้สนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ

รากฐานทางวัฒนธรรม แบบ ‘รวมเข้า’ ไม่ใช่ ‘กันออก’

ก่อนอื่นต้องพูดถึงพื้นฐานวัฒนธรรมของอินเดียว่าทำไมจึงเกิดขันติธรรมทางศาสนาและมีแนวโน้มที่จะเป็นรัฐฆราวาสได้ สิ่งที่น่าสนใจคือ อินเดียมีวัฒนธรรมขันติธรรมทางศาสนาอยู่แล้วในอินเดียโบราณ เวลาพูดถึงอินเดียเรามีภาพอินเดีย 2 แบบ แบบแรกคืออินเดียโบราณซึ่งถูกตัดขาดไปช่วงหนึ่ง เป็นดินแดนเกิดของพุทธศาสนา ศาสนาฮินดู อีกภาพคือ อินเดียใหม่ ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ได้รับเอกราชจากอังกฤษไม่กี่ปี แม้มีสองภาพซ้อนกันแต่มันมีวัฒนธรรมที่เชื่อมต่อกันที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะอดทนทางศาสนา

อินเดียมีวัฒนธรรมพระเวทของฮินดู ในพระเวทเป็นความพยายามที่จะรวมเอาความเชื่อต่างๆ ในอินเดียไว้ด้วยกัน ศาสนาอินเดียเป็นประเภท ‘รวมเข้า’ ในคัมภีร์พระเวทมีตอนหนึ่งที่บอกว่า “สัจธรรมมีหนึ่งเดียว แต่คนย่อมพูดไปหลายอย่าง” ท่าทีแบบนี้ เป็นท่าทีพื้นฐานของความเชื่อในอินเดีย ความเชื่อแบบนี้เป็นสิ่งเก่าแก่มากที่อยู่ในคัมภีร์ที่อายุประมาณ 4,000 ปี

นอกจากความเชื่อที่มาจากศาสนาแล้ว แม้กระทั่งนโยบายของผู้ปกครองของรัฐโบราณ มีนโยบายต่อศาสนาต่างๆ ในแบบประสานความเชื่อ ตัวอย่าง ถ้ำออโรร่า เป็นที่ท่องเที่ยวที่ดังมาก สร้างในศตวรรษที่ 5-10 ในถ้ำนี้ไม่ได้มีศาสนาเดียว หากได้ไปเที่ยวจะงงมาก มีพุทธอยู่ 12 ถ้ำ มีฮินดูอีก 17 ถ้ำ และมีศาสนาไชนะหรือเชน อีก 5 ถ้ำ ทั้งหมดอยู่ในที่เดียวกัน เป็นตัวอย่างอย่างหนึ่งว่าศาสนาสถานอินเดียโบราณมักปรากฏศาสนาอื่นๆ อยู่ด้วย

ผู้ปกครองโบราณผู้ชาญฉลาดและประนีประนอม

นอกจากนี้ พวกเราชาวพุทธรู้จักพระเจ้าอโศกในฐานะเป็นกษัตริย์ชาวพุทธที่ยิ่งใหญ่ แต่ในจารึกพระเจ้าอโศกซึ่งเป็นหลักศิลาเมื่อประมาณ 2,200 ปีก่อน พระเจ้าอโศกเขียนหลักศิลาหลักหนึ่งว่า “มิควรเชิดชูลัทธิหรือศาสนาแห่งบุคคลใดบุคคลหนึ่งและประณามลัทธิอื่นๆ โดยปราศจากมูลเหตุ”

นี่เป็นหลักฐานโบราณที่แสดงให้เห็นวัฒนธรรมของอินเดียโบราณที่พร้อมจะมีขันติธรรมทางศาสนา เนื่องจากอินเดียมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลและเต็มไปด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรม

หลังอินเดียโบราณผ่านมา กระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือ การเข้ามาของผู้ปกครองชาวมุสลิม ในศตวรรษที่ 12 นั้นเข้ามาจากอัฟกานิสถานก่อน หลังจากนั้นก็มาจากเปอร์เซีย ผู้ปกครองชาวมุสลิมกลายเป็นผู้ปกครองอินเดีย โดยเฉพาะอินเดียภาคเหนือส่วนใหญ่ เกิดราชวงศ์มุสลิม คือ ราชวงศ์โมกุล

โมกุลเข้ามาในช่วงแรกนำศาสนาอิสลามเข้ามาด้วย ก่อนหน้านั้นอินเดียมีศาสนาอิสลามประปราย มีการใช้กฎหมายชารีอะฮ์มาปกครองอินเดียทั้งหมด ให้เก็บภาษีแบบอิสลาม ช่วงแรกๆ มีการทำลายศาสนสถานของฮินดู บังคับขุนนาง ข้าราชการเป็นมุสลิมด้วย ทำให้คนในศาสนาอื่นๆ รู้สึกไม่พอใจมาก เกิดความขัดแย้งในสังคมอย่างมาก

ช่วงเวลานี้ถ้าเราเรียนประวัติศาสตร์พุทธศาสนาก็จะเขียนไว้ว่า พุทธศาสนาก็หายไปในช่วงเวลานี้ อันนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก เพราะพุทธศาสนาในอินเดียอิงกับรัฐมากไป พอรัฐล่มสลาย ศาสนาล่มด้วย ผิดกับศาสนาฮินดู แม้ว่าจะมีการปกครองโดยกษัตริย์มุสลิม แต่ฮินดูอยู่ได้ เพราะฮินดูอยู่กับคน อยู่ในวิถีชีวิตคน ไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงรัฐ

ความขัดแย้งนี้ผ่อนปรนขึ้นในช่วงจักรพรรดิองค์หนึ่งชื่อ อัคบาร์ คนอินเดียเรียก อัคบาร์มหาราช เป็นกษัตริย์มุสลิมก็จริง แต่ยกเลิกชารีอะฮ์ ไม่ประกาศให้กฎหมายมุสลิมเป็นกฎหมายของรัฐ อนุญาตให้เกิดการผ่อนปรนทางศาสนา และยกเลิกการเรียกเก็บภาษีทางศาสนา มีเสรีภาพในการประกอบกิจพิธีต่างๆ ช่วงเวลานั้นอินเดียเต็มไปด้วยวัฒนธรรมผสมผสาน ถึงขนาดที่มีการพูดว่า อัคบาร์ตั้งใจจะตั้งศาสนาของตัวเองที่เป็นลูกผสมระหว่างฮินดูกับมุสลิม มีการเชิญปราชญ์ของทั้งสองศาสนามาคุยในราชสำนัก แต่เนื่องจากผู้สืบต่อไม่เอาด้วย ในสมัยต่อมาจากอัคบาร์ มีการเอากฎหมายมุสลิมและนโยบายเชิดชูอิสลามกลับมาใช้ เกิดความวุ่นวายและมีการรบพุ่งกันในดินแดนต่างๆ อีกครั้ง เกิดตำนานของนักสู้ฝ่ายฮินดู เกิดกระแสของการเป็นชาตินิยมแบบฮินดูขึ้น ซึ่งเริ่มในยุคนี้จนถึงอินเดียยุคใหม่

ขบวนการภักติ ชายขอบขอปฏิรูป

ในสมัยนั้นเกิดศาสนาสำคัญขึ้นมาศาสนาหนึ่งคือ ศาสนาซิกข์ เดิมเป็นความพยายามประสานความแตกแยกระหว่างฮินดูกับมุสลิมเข้าด้วยกัน จึงคล้ายๆ จะเป็นลูกผสม คือ  มีท่าทีทางวัฒนธรรมแบบฮินดู แต่มีพระเจ้าองค์เดียวแบบมุสลิม เวลาต่อมาท่าทีเหล่านี้เปลี่ยนไป สุดท้ายกลายเป็นศาสนาตัวเอง

กระแสของการประสานระหว่างศาสนาเกิดจากเงื่อนไขอีกอย่างของยุคสมัยนั้น คือ ขบวนการภักติ ขบวนการนี้มีตั้งแต่ก่อนโมกุล โดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งโดยมากเป็นคนนอกสังคม ชายขอบ วรรณะต่ำ กลุ่มนี้พยายามตั้งขบวนการปฏิรูปสังคมขึ้นมา เรียกว่า ขบวนการภักติหรือความภักดีต่อพระเจ้า มองว่ามนุษย์เท่าเทียมกันในสายตาของพระเจ้า และความดีความชั่วไม่ได้วัดที่ชาติกำเนิดแต่วัดที่ความรักของพระเจ้า กลุ่มเหล่านี้หันกลับมาหาความรักระหว่างเพื่อนมนุษย์และความรักของพระเจ้า ขบวนการภักติมองว่าวัฒนธรรมคนชั้นสูงขัดแย้งกันเยอะ แต่วัฒนธรรมชาวบ้านไม่ขัดกัน กลุ่มภักติล้วนแต่เป็นชาวบ้านและใช้เสน่ห์ของดนตรีและกวีเข้ามาเผยแพร่แนวคิด ด้วยขนบแห่งมุขปาฐะทำให้กวีและดนตรีเหล่านี้เผยแพร่ในหมู่บ้านอย่างดี โดยไม่เกี่ยวกับผู้ปกครองเลย มีอิทธิพลเรื่อยมาจนปัจจุบัน

ความเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมอาจไม่ถึงพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินในช่วงผู้ปกครองเป็นมุสลิม ตอนนั้นมีแคว้นต่างๆ ในอินเดียที่บางแคว้นก็ประกาศไม่ขึ้นกับจักรพรรดิหรือมหาราชาอินเดีย ภาคใต้จะยอมขึ้นกับฝรั่งมากกว่า เพราะฝรั่งยึดแล้วไม่ทำลายวัด เลยแตกเป็นอินเดียเหนือกับใต้

การเข้ามาของ ‘พ่อค้า’ อังกฤษ และนโยบายเป็นกลาง

ระหว่างนั้นมีพ่อค้าคือ อังกฤษ เข้ามาครั้งแรก ตั้งบริษัทอีสต์อินเดีย แรกๆ ไม่ได้ต้องการยุ่งกับการเมือง มาค้าขาย แต่หลังจากอินเดียเกิดรบพุ่งกันภายใน บริษัทเห็นว่าไม่ปลอดภัย เลยตั้งกองทหารขึ้นมา ตอนแรกใช้ทหารอังกฤษ ตอนหลังใช้ทหารท้องถิ่นเป็นคนอินเดียเอง สุดท้ายอีสต์อินเดียก็เกี่ยวกับการเมืองจนได้โดยไปเข้าข้างบางฝ่าย สุดท้ายบริษัทก็ยึดอินเดีย หลังจากกำจัดจักรพรรดิองค์สุดท้ายได้

แล้วอังกฤษจะจัดการอย่างไรเรื่องความขัดแย้งทางศาสนาที่มีอยู่เดิมในสมัยราชวงศ์โมกุล นี่เป็นจุดที่น่าสนใจ ผู้ปกครองอังกฤษไม่ได้ทำให้อินเดียแยกรัฐกับศาสนา เพราะอังกฤษเองในเวลานั้นก็เป็นรัฐแบบมีศาสนา แต่อังกฤษมีนโยบายหนึ่งคือ ไม่ทรีตศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษเหมือนที่เคยเป็นมา เพราะเห็นแล้วว่าเกิดปัญหา อังกฤษจึงไม่มีนโยบายแทรกแซงศาสนา เขาไปปกครองรัฐแต่ไม่ยุ่งกับศาสนาเลย คนที่สำคัญคือ วิลเลี่ยม เบนทริค ข้าหลวงใหญ่อังกฤษในอินเดีย เขามีอิทธิพลต่อนักปฏิรูปคนสำคัญของอินเดีย คือ ราชาราม โมหัน รอย ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมอินเดียเป็นคนร่วมสมัยกับคานธี และมีอิทธิพลต่อคานธีด้วย

โมหัน รอย พยายามจะรื้อฟื้นความเป็นอินเดียกลับมา พยายามปฏิรูปคำสอนเดิมของฮินดูที่ไม่เวิร์ค เช่น แม่หม้ายต้องบวช แต่งงานใหม่ไม่ได้ รอยได้อิทธิพลเรื่องความเป็นกลางทางศาสนามาจากเบนทริค แม้ว่าเขาเป็นฮินดู แต่พยายามรักษาความเท่าเทียมกันของทุกศสนา ซึ่งส่งอิทธิพลต่อนักคิดอินเดียรุ่นหลังด้วย

อังกฤษยื้ออยู่ในอินเดียนานมาก ระหว่างนั้นชาวอินเดียเริ่มรู้สึกว่าผู้ปกครองอังกฤษทำให้คนอินเดียรู้สึกเป็นพลเมืองชั้นสองในประเทศตัวเอง ออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อคนอินเดีย จนทนไม่ไหวจึงเกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชในอินเดีย “หลายแบบ”

เรามักรู้จักมหาตมะ คานธี ด้วยเหตุผลบางอย่าง แต่จริงๆ มีอีกหลายคน บังเอิญเป็นแนวใช้กองกำลังสู้กับอังกฤษ จริงๆ อินเดียได้รับเอกราชไม่ใช่เพราะคานธีคนเดียว แต่คนอื่นด้วย เพราะอังกฤษเห็นแล้วว่าอินเดียมีราคาแพงเกินไป มันไม่ได้มีแค่ฝ่ายสันติวิธีแบบคานธี มีอีกหลายฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงด้วย แต่คานธีได้รับการยกย่องในโลก เพราะคานธีเป็นผู้นำทางการเมืองที่ใช้หลักการสันติวิธี

คานธี ผู้คุ้นชินกับความหลากหลาย

คานธีพยายามให้ตัวเองกลายเป็นหนึ่งในนักบุญภักติด้วย เขาเกิดในแคว้นคุชราช สมัยเป็นเด็กโบสถ์ฮินดูของเขา ใช้อัลกุรอ่าน ภัควคีตา รามายณะ ด้วยกัน นักบวชอ่านสลับไปสลับมาได้ด้วย ในแคว้นนี้มีวัฒนธรรมขันติธรรมทางศาสนาอยู่แล้ว จนกระทั่งเขากลายมาเป็นผู้นำฝ่ายฮินดู อินเดียในเวลานั้นหลังการปกครองของราชวงศ์โมกุล ประชากรมุสลิมเพิ่มจำนวนขึ้นมาก หลังจากตกลงกันว่าจะได้รับเอกราช ผู้นำฝ่ายมุสลิมกังวลว่าถ้าอินเดียได้รับเอกราช ประชากรมุสลิมจะกลายเป็นพลเมืองชั้นสองอีกรอบไหม แค่เปลี่ยนจากอังกฤษมาเป็นฮินดู จึงได้ยื่นเงื่อนไขให้แบ่งประเทศอินเดียออกเป็นอีกส่วนหนึ่งโดยเฉพาะพื้นที่ประชากรนับถืออิสลามซึ่งก็กลายเป็นประเทศปากีสถาน  ตอนนั้นคานธีไม่เห็นด้วย พยายามจะประนีประนอมและเห็นว่ามุสลิมอยู่กับฮินดูได้

หลังจากเกิดการแยกสองประเทศ อินเดียก็เกิดปัญหาอีกรอบ เพราะจริงๆ แล้วมีทั้งมุสลิมและฮินดูกระจายอยู่ทั้งสองฝั่ง ก็เกิดการอพยพครั้งใหญ่ แล้วก็เกิดการโกรธแค้นกันระหว่างชาวมุสลิมกับฮินดู สุดท้ายคานธีถูกฆ่าตาย ตอนแรกทุกคนพุ่งเป้าไปว่าต้องเป็นมุสลิมที่ฆ่าคานธี แต่ไม่ใช่ ปรากฏว่าเป็นฮินดู เป็นพราหมณ์ที่ถูกจ้างโดยนักบวชฮินดูองค์หนึ่งให้ไปฆ่าเพราะเชื่อว่าคานธียอมมุสลิมมากเกินไป

เนห์รู วางหมากเป็นกลางทางศาสนา และกีดกันทหารออกจากการเมือง

หลังจากนั้น ลูกศิษย์คานธี คือ เนห์รู ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะเคารพคานธีมากแต่ทั้งคู่คิดไม่เหมือนกัน คานธีเชื่อว่าการนำประเทศไปสู่ความเจริญควรเริ่มในระดับหมู่บ้าน จึงพยายามส่งเสริมการทอผ้า การปลูกฝ้าย แต่เนห์รูคิดว่าประเทศจะเจริญต้องมีความเจริญทางวิทยาศาสตร์ เขาเป็นคนฉลาดมาก เขารู้อยู่แล้วว่าถ้าปล่อยให้ทหารมีอำนาจจะเกิดการปฏิวัติรัฐประหาร เนห์รูจึงคิดสร้างรัฐธรรมนูญอินเดียที่ไม่ให้อำนาจกับทหาร นี่เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่อินเดียไม่เคยมีรัฐประหารเลย และฉลาดยิ่งไปกว่านั้นอีก ตอนนั้นเริ่มคิดค้นพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้แล้วในอินเดีย เขาแยกการพัฒนาอาวุธออกจากการควบคุมของทหาร ให้อยู่กับฝ่ายวิทยาศาสตร์ ทหารไม่มีอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น เป็นทหารอาชีพ

เนห์รูเห็นว่าอินเดียควรก้าวไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ แต่ความเป็นสมัยใหม่แบบไหนที่เนรูห์อยากได้ รัฐแบบไหนที่อยากได้ เขาเห็นแล้วว่าคานธีตาย เกิดอะไรมาบ้าง เขาจึงอยากให้ประเทศเป็นแบบตะวันตก คือ เป็น secular state หรือรัฐแบบฆราวาส จึงเกิดการร่างรัฐธรรมนูญอินเดียขึ้นมา

รัฐธรรมนูญฉบับเดียวของอินเดีย เขียนชัด secular state

รัฐธรรมนูญของอินเดียมีฉบับเดียวใช้ถึงทุกวันนี้ เปลี่ยนก็แค่บทเล็กบทน้อย สิ่งที่น่าสนใจมาก คือ บทนำของรัฐธรรมนูญ เขียนโดย ดร.เอมเบ็ดการ์ เป็นนักปราชญ์พุทธ เดิมเป็นฮินดูที่เป็นจัณฑาล แล้วเปลี่ยนมานับถือพุทธ จบเนติบัณฑิตจากอังกฤษ เขาเคยอยู่ในบริบทที่ถูกกดขี่ ดังนั้นตอนที่ได้เขียนรัฐธรรมนูญเขาจึงมีท่าทีให้รัฐเป็นกลางที่สุด

บทนำระบุว่า

“เรา ประชาชนแห่งประเทศอินเดีย มีมติอันทรงเกียรติที่จะประกาศให้ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยฆราวาสวิสัย เป็นระบอบสูงสุด และให้ความคุ้มครองแก่พลเมืองทั้งปวงโดยความยุติธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ให้เสรีภาพในการคิด แสดงออก ความเชื่อ ความศรัทธา และการแสดงความเคารพ ความเท่าเทียมกันแห่งสถานภาพและโอกาส ส่งเสริมภราดรภาพระหว่างประชาชนทั้งหลายนั้น รับรองศักดิ์ศรีแห่งปัจเจกบุคคลและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความมั่นคงแห่งประชาชาติ”

บทนำรัฐธรรมนูญนี้ก้าวหน้ามาก คือ อินเดียต้องเขียนว่าสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตย เพราะบางรัฐของอินเดียมีแนวโน้มจะเป็นสังคมนิยม แต่ละรัฐมีแนวโน้มทางการเมืองไม่เหมือนกัน และมีรัฐบาลท้องถิ่นที่ปกครองตัวเอง รัฐธรรมนูญจึงต้องเขียนกว้างไว้ และมีคำหนึ่งคือ secular เคยมีความพยายามของนักการเมืองบางคนที่จะให้ตัดคำว่า secular ออกจากรัฐธรรมนูญอินเดีย ผลปรากฏคือการประท้วงใหญ่ทั่วทั้งประเทศอินเดียเลยไม่สามารถตัดคำนี้ออกได้

Secular ของอินเดีย ไม่เหมือนตะวันตก

ทำไมคำนี้ถึงมีปัญหา และมีนัยยะในอินเดีย

คำว่าฆราวาสวิสัย หรือ secularism แบบอินเดียไม่เหมือนกับตะวันตก ตะวันตกจะใช้คำว่า secularism ในความหมายของการแยกศาสนาออกจากรัฐ แต่ในอินเดียเป็นแนวคิดที่ไม่พยายามแยกรัฐกับศาสนาออกจากกัน เนื่องจากผู้ปกครองอินเดียตั้งแต่อดีตเห็นแล้วว่าศาสนาเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญทางสังคม ประชากรอินเดียมีน้อยมากที่ไม่นับถือศาสนา แล้วประชากรอินเดียมีตั้งพันล้านคน ดังนั้นการที่รัฐจะแยกออกจากศาสนานั้นทำยากมาก หรือพูดง่ายๆ ว่าศาสนาสำคัญมากในอินเดีย ท่าทีของ secularism ในอินเดียคือพยายามให้รัฐปฏิบัติตาอทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน คือ ไม่ให้เงินค่าบำรุงกับศาสนาหนึ่งมากกว่าอีกศาสนาหนึ่ง ไม่ได้ให้อภิสิทธิ์กับนักบวชของศาสนาหนึ่งมากกว่าอีกศาสนาหนึ่ง คุณไม่มีข้อกีดกันศาสนาอื่น

ทีนี้จะเริ่มเล่าปัญหาหรือภาพของ secular state แบบอินเดีย อินเดียมีพรรคการเมืองสองแบบ พรรคการเมืองตั้งแต่สมัยคานธีคือ คองเกรส มีท่าทีแบบตะวันตกโดยอิทธิพลของห์เนรู กับพรรคแบบชาตินิยม เช่น บีเจพี เป็นต้น คองเกรสครองที่นั่งหลายสิบปี เพิ่งมาเปลี่ยนรัฐบาลของพรรคบีเจพีในปัจจุบันนี้เองซึ่งก็น่าสนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

กฎหมายไหน ใหญ่กว่ากัน

ปัญหาของรัฐฆราวาสในแบบอินเดียมีเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก คือ ปัญหาการใช้กฎหาย ในเมื่อรัฐมีท่าทีที่บอกแล้วว่าจะไม่สนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่ง และเคารพความแตกต่างหลากหลายของความเชื่อตามที่ประกาศในรัฐธรรมนูญ ประชากรส่วนหนึ่งที่เป็นชาวมุสลิมบอกว่าเขามีระบบวัฒนธรรมของเขาเองที่ไม่เหมือนกับชาวอินเดียอื่น เพราะฉะนั้นกฎหมายของรัฐควรต้องเอื้อต่อเขา เช่น ของเขาสามารถมีภรรยาได้มากกว่าหนึ่งคน แต่โดยกฎหมายปกติจดทะเบียนสมรสได้คนเดียว หรือแม้แต่อายุของผู้แต่งงาน กฎหมายอินเดียก็เหมือนประเทศอื่น คนมีสิทธิแต่งงานกันเมื่ออายุ 18 ปีขึ้นไป แต่กลุ่มประชากรมุสลิมบอกว่าวัฒนธรรมเขา 12 ปีแต่งงานได้ เขาเรียกร้องว่าถ้าเคารพอัตลักษณ์และวัฒนธรรมเขา กฎหมายก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาปฏิบัติตามแบบเขาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ฉะนั้นจึงเกิดการยกเว้นกฎหมายขึ้นมา เกิดกฎหมายที่ใช้เฉพาะกลุ่มขึ้นในประชากรที่นับถืออิสลาม กลายเป็นมีการใช้กฎหมายสองแบบกฎหมายรัฐที่ใช้กับทุกคน กับกฎหมายเฉพาะกลุ่มที่บางครั้งขัดกับกฎหมายรัฐ เกิดความลักลั่นแล้วกลายเป็นปัญหาใหญ่มาก สุดท้ายจะใช้อันไหน

ถ้าเราดูประชากรอินเดีย ศาสนาฮินดูประมาณ 80% อิสลาม 13.8% พุทธและอื่นๆ 1.5% ซิกข์ 1.9% คริสต์ 1.3% แล้วประชากรก็มีลักษณะกระจุกตัว ประชากรมุสลิมหรือคนกลุ่มน้อยอื่นๆ ไม่ได้อยู่กระจายมากนัก ฉะนั้นมีผลทางการเมืองมาก ลองนึกดู อินเดียมีฮินดู 800 ล้านคน เยอะมากแต่ก็ไม่เคยประกาศให้ศาสนาฮินดูเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะส่วนอื่นๆ อีก 16 ล้านคนก็ถือว่าไม่น้อย ยิ่งถ้าอยู่รวมๆ กันด้วยการเมืองเปลี่ยนได้เลยนะในรัฐนั้น ดังนั้น นโยบาย secular state จึงสำคัญเพราะทำให้คนส่วนน้อยที่จำนวนไม่น้อยพึงพอใจ

สองพรรคนี้เวลามีเลือกตั้งจะคอยจับผิดว่านโยบายอีกพรรคจะเอื้อต่อคนส่วนใหญ่หรือส่วนน้อยมากกว่ากัน การเลือกตั้งครั้งล่าสุดบีเจพีได้คะแนนท่วมท้นเพราะได้ผู้นำคนใหม่มาและคนเบื่อคองเกรสเต็มทน แต่กลุ่มน้อยในอินเดียกังวลเพราะบีเจพีมีนโยบายส่งเสริมฮินดูมาตลอด แต่โมดี้ให้คำรับรองว่าเรายังเป็น secular เหมือนเดิม

ยกตัวอย่างปัญหาการใช้กหมาย กรณี Shah Bano สั่นสะเทือนวงการกฎหมายและรัฐบาลอินเดียมาก บาโนเป็นมุสลิม หย่ากับสามีแล้วฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดู เผอิญกฎหมายมุสลิมไม่มีเรื่องการเรียกค่าเลี้ยงดูหลังหย่า แต่บาโนบอกว่าฉันทำได้ในเมื่อกฎหมายบ้านเมืองมีอยู่ แกฟ้องร้องปรากฏว่าไปถึงศาลสูงอินเดีย ศาลสูงตัดสินให้ชดใช้ค่าเลี้ยงดู เกิดข้อถกเถียงใหญ่โต ประชากรมุสลิมไม่พอใจเพราะละเมิดกฎหมายที่เขาใช้ โดยใช้กฎหมายใหญ่มาครอบ ไหนว่าจะปล่อยให้แต่ละอัตลักษณ์จัดการกันเอง เคสนี้เป็นปัญหามาก ยังเถียงกันอยู่ว่ากฎหมายไหนมีศักดิ์และสิทธิมากกว่ากันในอินเดีย

ในการเมืองอินเดียยังเกิดคำขึ้น 2 คำ คือ Pseudo-Secularism คือ เป็นรัฐฆราวาสปลอม เป็นเพียงแต่นโยบายที่โปรชนกลุ่มน้อย จริงๆ ไม่ได้คิดอย่างนั้นจริงหรอก ที่ทำเพราะหวังคะแนนเสียงของคนกลุ่มน้อย นี่คือฝ่ายชาตินิยมด่าเสรีนิยม พวกเสรีนิยมก็ด่าพวกชาตินิยมเหมือนกัน ด้วยคำว่า Suffronise ซัฟฟรอนคืพวกหญ้าที่เอาไปย้อมผ้าเป็นสีเหลืองๆ ส้มๆ คือ ทำให้เป็นจีวรพระ เขาด่าว่า ทำเป็นเป็นกลาง แต่จริงๆ แอบทำให้เป็นฮินดู ตัวอย่างเช่น มีการถกเถียงกันมากในหมู่นักศึกษาอินเดีย นายกฯ อินเดียประกาศให้วันคริสมาสต์เป็นวันรักความสะอาด ทำความสะอาดอินเดีย เหมือนจะดี นักศึกษากลุ่มหนึ่งออกมาประท้วงนโยบายนี้ว่าเป็นนโยบาย suffronise เพราะกำลังกลบเกลื่อนความสำคัญของวันคริสต์มาส

ข้อวิจารณ์เรื่อง secularism ในอินเดียยังประการคือ  นักการเมืองชาตินิยมระแวงมากว่าการที่คุณสมาทาน secular มากๆ จะมีผลต่อการก่อการร้ายในอินเดียไหม

ข้อวิจารณ์อีกอันจากนักคิดชื่อ อมาตยา เซน ซึ่งเขียนไว้ว่า secular state นั้นทำได้สองแบบ คือ หนึ่ง เป็นรัฐที่รักษาระยะห่างกับศาสนา ระยะห่างในทีนี้ อาจจะไม่ยุ่งเลย แต่เฝ้าดูอยู่ สอง รัฐไม่เข้าไปมีความสัมพันธ์กับศาสนาใดๆ เลย สุดท้ายรัฐแต่ละรัฐมีบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จึงต้องมานั่งคิดว่า secular ที่เหมาะกับตนเองเป็นแบบไหน จะเป็น secular แบบตะวันตก คือ รัฐไม่ยุ่งกับศาสนาไหนเลย หรือเป็นแบบอินเดียคือ รัฐทรีตทุกศาสนาเท่ากันหมด

อยากจะชวนคิดกัน ในฐานะที่สังคมไทยอาจมีวัฒนธรรมบางอย่างคล้ายๆ อินเดีย สุดท้ายสังคมไทยจะไปสู่ secular แบบไหน ที่จะเหมาะกับบริบทวัฒนธรรมของเรา

เป็น Secular State ได้ต้องมีประชาธิปไตยแข็งแรง

ผมเข้าใจว่า อินเดียสามารถพัฒนาจนมาเป็น secular state และมีเสรีภาพทางศาสนาได้ เนื่องจากอินเดียพัฒนาระบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง อินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยเต็มใบ ไม่เคยมีรัฐประหารเลย ไม่เคยฉีกรัฐธรรมนูญเลย ไม่ว่ามีเงื่อนไขทางการเมืองหนักหนาขนาดไหนอินเดียจะแก้ไขมันในระบบรัฐสภาเสมอ สุดท้ายคองเกรสอยู่มาเป็นสิบปี จะครองอินเดียแล้ว อินเดียก็สามารถเลือกเอาดีเจพีขึ้นมา วันหนึ่งถ้าคนอินเดียรู้สึกว่าดีเจพีไม่ไหวแล้ว วันหนึ่งดีเจพีก็จะไป ในระบบการเลือกตั้ง ถามว่ามันเกี่ยวกันอย่างไร ผมว่ามันเกี่ยว เพราะในรัฐที่มีระบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งมันต้องสร้างความเท่าเทียมของพลเมือง และความแตกต่างทางอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่ต้องเคารพ

ในบริบทของบ้านเรา เรายังคิดว่ามันมี priority บางอย่าง แล้วเราก็ยังวัดด้วยจำนวนด้วย ถ้ามากแปลว่าใช่ จริงๆ แล้วโดยดั้งเดิมเราก็เป็นพหุวัฒนธรรมเช่นกัน ผมพูดเสมอว่าเรานับถือผี แล้วเราก็มีพุทธกับพราหมณ์เข้ามาผสมผสาน แล้วเราก็รับพุทธแบบที่กลมกลืนกับผี ถ้าเราตระหนักข้อนี้ต้องเปลี่ยนรัฐเป็น รัฐผี (หัวเราะ)

อาจมีคำถามว่า อ้าว แล้วเป็นรัฐพุทธมันไม่ดีตรงไหน ทุกคนนับถือศาสนาเดียวกัน มันสอดคล้องกันหมด เกิดรัฐที่มีความเข้มแข็งมีระบบศีลธรรมเดียวกัน แต่ปัญหาคือ โลกมันก้าวไปสู่ความเป็นโลกาภิวัตน์ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แล้วในโลกสมัยใหม่ ถ้ารัฐไทยยังเป็นรัฐแบบโบราณไม่ต้องสนใจใคร อยู่แต่ในนี้ จิ้มก้องแต่เมืองจีน มันก็ทำได้ แต่ในโลกยุคใหม่ ชุมนุมทางศาสนามันแตกไปแล้ว ความจริงนี้เป็นความจริงที่ต้องยอมรับ ไม่มีใครมาคอยสนใจว่าเราจะทำอะไร ไม่ทำอะไร แล้วมันก็มีความหลากหลายขึ้นเรื่อยๆ ความหลากหลายในที่นี้เป็นข้อมูลทางสถิติด้วย เราเห็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่มีความเชื่อต่างจากเรา เราเห็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่ไม่นับถือศาสนาอะไรเลย ถ้าเราตระหนักความจริงข้อนี้ เรายังจะยืนยันให้รัฐเป็นรัฐที่มีศาสนาเดียวอีกหรือเปล่า มันกลายเป็นคำถามที่ตอบได้ชัดในตัวมันเอง

อาจมีคนพูดว่า อ้าว ก็แค่ระบุในรัฐธรรมนูญเอง ไม่เห็นจะเป็นอะไร ก็มันจริงนะเรานับถือพุทธมาตั้งแต่สุโขทัย ไม่เคยมีกษัตรยิ์ที่นับถือศาสนาอื่นเลย

ประเด็นก็คือ การระบุแบบนั้นกับ fact หรือข้อเท็จจริง มันคนละเรื่องกัน ข้อเท็จจริงก็คือ ผู้ปกครองนับถือพุทธจริง ประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธจริง แต่มันคนละเรื่องกับการระบุว่าให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะคำคำเดียวในรัฐธรรมนูญมันจะเปิดโอกาสให้เกิดการปฏิบัติอย่างพิเศษสำหรับพุทธศาสนาได้ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วคือ การห้ามขายเหล้าในวันหยุดทางศาสนาไง

การเป็น secular ของรัฐไทย จึงเป็นความจำเป็น ไม่ใช่แค่ควรเป็น แต่ความจำเป็นนี้สงสัยจะยาก เพราะมันจะเกิดในประเทศที่มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง

ติดตามบันทึกการบรรยายที่ 

1.https://youtu.be/aNPOU5CU5Xg
2.https://youtu.be/8szIqPwXWe8
3.https://youtu.be/DgkB08LaRdE
4.https://youtu.be/olbtA6xJqXQ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net