Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากพุทธกาลเป็นต้นมา พุทธศาสนาก็ได้แผ่ขยายอิทธิพลความเชื่อและความศรัทธาเข้าสู่ดินแดนอุษาคเนย์จนสามารถปักหลักมั่นคงอย่างถาวรมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนศาสนาพราหมณ์เองก็ยังคงมีบทบาทเด่นและแฝงตัวอยู่ในสังคมไทยเรื่อยมาเช่นกัน ผู้คนในแถบนี้มักถือตนเป็นพุทธแท้ที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ยึดถือพระธรรมสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด แต่ในขณะเดียวกันก็หลงลืมรากเหง้าทางจิตวิญญาณที่แท้จริงและเก่าแก่กว่า นั่นคือ การนับถือผีบรรพชน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตและความเชื่อที่มีมาก่อนที่ศาสนาอื่นจะเข้ามา อย่างไรก็ตาม ความหลากหลายทางประเพณี วัฒนธรรม และลัทธิความเชื่อทางศาสนานี้ได้ถูกผสมผสานปนเปมานานนับพันปี ท้ายที่สุดแล้วก็ยังไม่มีข้อสรุปว่า จริงๆ แล้ว คนไทยนับถือศาสนาอะไรกันแน่ จึงเป็นคำถามที่ไม่ค่อยมีใครอยากใคร่รู้มากนัก

คนไทยจะมองศาสนาฮินดูผ่านแว่นตาและกรอบแนวคิดเชิงพุทธศาสนาเสมอ ด้วยคติความเชื่อและค่านิยมแบบไทย ทำให้บางครั้งเกิดการตีความที่คลาดเคลื่อนและเบี่ยงเบนออกไปจากที่ควรจะเป็น อ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหนึ่งในผู้รอบรู้และแตกฉานในหลักปรัชญาอินเดียและศาสนาฮินดู ได้ให้มุมมองที่รอบด้าน แตกต่าง และหลากหลายมิติมากขึ้น โดยเน้นย้ำให้เปิดใจและเปิดกว้างทางความคิด พร้อมทั้งปรับทัศนคติให้มองฮินดูในแบบที่อินเดียเป็น แล้วคนไทยจะรับรู้และเข้าใจถึงแก่นแท้ที่ไม่ใช่ศาสนาลูกผสมเหมือนเช่นทุกวันนี้

1. คนไทยรู้จักศาสนาฮินดูมานานแค่ไหน และรู้จักในแบบใดบ้าง
เมื่อพูดถึงศาสนาฮินดู คนไทยรู้จักมาตั้งแต่โบราณแล้ว แต่เรารู้จักเป็น 3 ศาสนาด้วยกัน คือ 1) ศาสนาพุทธ 2) ศาสนาผี ซึ่งเป็นศาสนาพื้นเมือง และ 3) พราหมณ์ฮินดู ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าศาสนาพราหมณ์ แต่ที่จริงในสมัยโบราณเรียกว่า ศาสนาไสยะ คำว่าไสยะ แปลว่า ศาสนาพราหมณ์ ไม่ได้แปลว่าไสยศาสตร์แต่อย่างใด เดิมทีเวลาเรียกศาสนาไสยะ ก็หมายถึง ศาสนาพราหมณ์ นั่นเอง เริ่มมาเรียกศาสนาพราหมณ์ สันนิษฐานว่าประมาณสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ก่อนหน้านั้นไม่มีศาสนาพราหมณ์ มีแต่ศาสนาพุทธ ศาสนาผี และศาสนาไสยะ คนไทยรู้จักมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 1000 แล้ว แสดงว่าศาสนาเหล่านี้อยู่ในสังคมมาตั้ง 1,000 กว่าปี แต่ทำไมเรายังรู้จักศาสนาหล่านี้น้อย ก็เพราะว่า ศาสนาที่มาจากอินเดียทั้งพุทธและพราหมณ์ เมื่อเข้ามาในอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะถูกความเป็นพื้นเมืองเข้ามาเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง หรืออาจเรียกว่า ถูกศาสนาผีครอบงำก็ได้ เมื่อก่อนเคยเชื่อว่า ศาสนาพุทธหรือพราหมณ์มีความสำคัญมากกว่าศาสนาผี แต่แนวคิดของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกว่า ศาสนาผีต่างหากที่สามารถครอบงำพุทธและพราหมณ์ที่มาจากอินเดียได้ คนไทยปฏิบัติต่อพระพุทธรูปที่สำคัญเช่นเดียวกับการปฏิบัติต่อผี เช่น การบนบานศาลกล่าว หรือการถวายของชอบให้พระพุทธรูป หรือเทพเจ้าฮินดูก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่เกี่ยวกับผีพื้นเมือง

แต่ถ้าจะถามว่า คนไทยรู้จักศาสนาฮินดูจริงๆ หรือไม่ ผมไม่แน่ใจ จนกระทั่งหลังสมัยรัชกาลที่ 6 เราถึงจะเริ่มรู้จักฮินดูในแบบที่อินเดียเป็น รัชกาลที่ 6 เป็นเจ้าฟ้ารุ่นแรกที่ไปเรียนในโลกตะวันตก ประจวบกับสมัยนั้นโลกตะวันตกกำลังสนใจภารตวิทยา เกิดสถาบันบูรพาทิศคดีศึกษา เกิดความสนใจในวรรณกรรมและนิพนธ์ของฮินดู ผมเข้าใจว่า รัชกาลที่ 6 ศึกษาเรื่องเหล่านี้มาจากโลกตะวันตก เมื่อกลับมาก็มีพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับอินเดียจำนวนมาก ซึ่งแตกต่างจากตำนานที่เรารู้จัก พระราชนิพนธ์เรื่องบ่อเกิดรามเกียรติ์ เห็นได้ชัดเลยว่า ท่านศึกษาตำราจากฝ่ายตะวันตก เพราะฉะนั้นฮินดูในแบบที่อินเดียเป็น จึงเริ่มปรากฏในวรรณพิภพหรือหนังสือในสมัยรัชกาลที่ 6 นั่นแสดงว่า ก่อนหน้านั้นเรามีขนบที่สืบทอดกันมาในรูปแบบของเราเอง

2. รูปเคารพของพระคเณศ คนไทยนำแบบมาจากที่ไหน
รูปเคารพที่นิยมในปัจจุบันนั้น เรานำแบบมาจากเทวรูปของชวาในสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 6 เรื่อยมา ก่อนหน้านั้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง พระคเณศในสังคมไทยจะมีบทบาทในฐานะเทพเจ้าคชกรรม และไม่เคยมีบทบาทอย่างอื่นเลย นั่นคือ ไม่มีบทบาทเหมือนอย่างในสังคมอินเดีย คนไทยนับถือในฐานะครูหมอช้างเท่านั้น เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์พูดถึงบทบาทพระคเณศในแบบที่อินเดียเป็น คือ เป็นเทพแห่งอุปสรรค และรัชกาลที่ 6 ก็ทำให้พระคเณศมีบทบาทในเชิงศิลปะเพิ่มเติมด้วย และบทบาทนี้ถูกตอกย้ำมากขึ้นเมื่อพระคเณศกลายไปเป็นตราของวรรณคดีสโมสร กลายมาเป็นตราของกรมศิลปากร และกลายมาเป็นตราของวิทยาลัยนาฏศิลป์และมหาวิทยาลัยศิลปากร ยิ่งไปตอกย้ำบทบาทเทพเจ้าทางศิลปะ ซึ่งบทบาทนี้ไม่มีในอินเดีย และทำให้คนไทยมีขนบเกี่ยวกับพระคเณศที่ไม่เหมือนในอินเดีย มันจึงกลายเป็นขนบแบบไทยเอง

พราหมณ์ที่มาจากอินเดียก็มีบันทึกในสมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 จากจารึกวัดโพธิ์จะพูดถึงพราหมณ์ฮินดูว่า นุ่งขาวห่มขาว ฉาบไล้โคมัยไป่เสพมังสะ แต่พราหมณ์ราชสำนักเป็นพราหมณ์แบบรามราช มี 2 สาย คือ สายที่ 1 จะมาจากอินเดียตอนใต้ ส่วนหนึ่งจะมาเป็นพราหมณ์ในราชสำนัก ส่วนสายที่ 2 จะเป็นพราหมณ์ที่มาจากอินเดียภาคเหนือ พวกนี้อาจเรียกว่าฮินดู มีลักษณะแตกต่างกันบ้าง พราหมณ์จากอินเดียใต้สืบเชื้อสายมาเป็นพราหมณ์หลวง ซึ่งเป็นพราหมณ์ที่อยู่ในกรอบวัฒนธรรมไทยมาโดยตลอด

เทวสถานของชาวอินเดียอย่างโบสถ์พราหมณ์มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ส่วนวัดแขกสีลมซึ่งแต่เดิมอยู่ที่หัวลำโพงเริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะคนอินเดียอพยพมาเป็นผู้ใช้แรงงาน และก็มีวัดวิษณุ วัดเทพมณเฑียร ซึ่งเกิดใกล้เคียงกันในสมัยรัชกาลที่ 5 เดิมทีให้บริการเฉพาะคนอินเดีย คนไทยไม่ได้รับรู้อะไรมากมายนัก เมื่อไม่กี่สิบปีนี้ต่างหากที่เริ่มเปิดให้คนไทยเรียนรู้ ดังนั้นจึงเป็นศาสนาที่เรามีข้อมูลใหม่มาก นอกเหนือจากปัจจัยด้านวัฒนธรรมแล้ว คนไทยยังไม่รู้จักพราหมณ์ฮินดูจริงๆ ด้วยอีกเหตุผลนึง ก็คือ เรารู้จักพราหมณ์ฮินดูผ่านวรรณกรรมและกรอบแบบพุทธศาสนา หมายถึง อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับพราหมณ์ฮินดู เดิมความรู้นั้นจะผ่านมาทางคัมภีร์ของพุทธศาสนา เช่น ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงพราหมณ์ ระบบวรรณะ วัฒนธรรมอินเดีย เป็นต้น เราจึงไม่ได้ศึกษาโดยตรง ดังนั้นความเป็นวัฒนธรรมไทยและศาสนาพื้นเมืองทำให้เกิดมุมมองที่มีต่อพราหมณ์ฮินดูในแบบที่เรามอง จึงทำให้รู้จักพราหมณ์ฮินดูแบบจริงๆ น้อย

3. เทพเจ้าฮินดูเริ่มแพร่หลายในสังคมไทยมาตั้งแต่เมื่อไหร่
เดิมเทวสถานของคนอินเดียก็จำกัดวงแต่เฉพาะคนอินเดีย ชาวบ้านที่นับถือเทพเจ้าฮินดูก็มีบ้างแต่น้อย ยังไม่ได้นิยมแพร่หลายมากนัก พราหมณ์ราชสำนักสยามรับใช้อยู่แต่ในราชสำนัก แต่เพิ่งได้รับอนุญาตทำพิธีให้กับคนธรรมดาในสมัยรัชกาลที่ 9 ก่อนหน้านั้นพราหมณ์หลวงไม่เคยทำพิธีให้คนทั่วไปเลย เพราะฉะนั้นชาวบ้านจึงรู้จักแต่หมอพราหมณ์ ก็คือ ชาวบ้านที่พอมีความรู้เกี่ยวกับพระภูมิเจ้าที่และทำพิธีบวงสรวงได้ แต่ไม่ได้รู้จักพิธีกรรมแบบพราหมณ์จริงๆ เลย ซึ่งการนำเทพเจ้าฮินดูมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเทวพาณิชย์ ระบบเครื่องรางของขลัง เพิ่งมีได้ไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะว่ากลไกของวงการพระเครื่องมีการเปลี่ยนแปลง คือ ต้องเลือกวัตถุมงคลใหม่ๆ เข้ามาสู่ตลาดเสมอ เมื่อก่อนวงการพระเครื่องจะจำกัดอยู่ในวงพระเกจิอาจารย์ พระพุทธรูป เครื่องรางของขลัง ต่อมาตลาดแบบฮินดูเริ่มเปิดกว้างขึ้น เทพเจ้าจึงถูกเลือกมาใช้ ซึ่งพระคเณศได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ในหมู่เทพเจ้าทั้งหลาย

4. ทำไมพระคเณศจึงได้รับความนิยมบูชาจากคนไทยจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเทพเจ้าองค์อื่น
1) ในแง่รูปลักษณ์ พระคเณศมีความน่าสนใจ มีความสะดุดตากว่าเทพเจ้าองค์อื่น 2) พระคเณศถูกนำมาเกี่ยวพันกับสถาบันการศึกษา ช่วยให้คนรับรู้เกี่ยวกับเทพเจ้าองค์นี้มากขึ้น 3) พระคเณศเป็นที่นิยมในวงการบันเทิง สิ่งที่น่าแปลกคือ วงการนาฏศิลป์แต่โบราณไม่ได้พูดถึงพระคเณศ ก่อนสมัยรัชกาลที่ 6 ไม่มีหัวโขนพระคเณศตั้งอยู่ในพิธี แต่เพิ่งมีในสมัยรัชกาลที่ 6 แสดงว่า ก่อนหน้านั้นพระคเณศไม่ได้ถูกนับเป็นเทพเจ้าในทางศิลปะเลย แต่หลังสมัยรัชกาลที่ 6 คนที่อยู่ในวงการบันเทิง นาฏศิลป์ ดนตรี ก็รู้สึกว่าตนเองเกี่ยวพันกับพระคเณศด้วย กลายเป็นว่า พระคเณศอยู่ในหลากหลายพื้นที่มากกว่าเทพเจ้าฮินดูองค์อื่น เป็นเทพเจ้าที่คนไทยรู้จักและรับรู้มากที่สุดเพราะอยู่ในวัฒนธรรมไทยมาโดยตลอด

การบูชาเทพเจ้าทั้งหลายนั้น พระคเณศได้รับพรว่า จะต้องบูชาพระคเณศก่อนเสมอ จึงทำให้มีความสำคัญลำดับแรก สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องมาทีหลังเมื่อคนไทยเริ่มรับรู้ฮินดูในแบบที่อินเดียเป็นแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นมีบันทึกของพระยาอนุมานราชธนว่า คนไทยรู้จักพระคเณศแค่ว่า ไหว้แล้วเป็นสิริมงคล แต่ไม่รู้อะไรมากกว่านั้น ท่านเขียนเรื่องนี้ในปลายสมัยรัชกาลที่ 6 ตอนนั้นคนไทยยังไม่รู้จักพระคเณศเลย รู้แค่ว่าโบสถ์พราหมณ์มีฉลองตอนตรียัมปวาย รู้ว่าไหว้องค์นี้แล้วเป็นสวัสดิมงคล ดังนั้นการแพร่หลายของการนับถือเทพเจ้าฮินดูถือเป็นปรากฏการณ์ที่ใหม่

5. ทำไมวัดบางแห่งจึงมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือรูปเคารพในแบบบุฟเฟ่ต์ทั้งแบบพุทธ จีน ฮินดู อยู่ภายในวัดเดียวกัน ตอบสนองความต้องการของคนไทยแบบ One Stop Service อาจารย์มองปรากฏการณ์นี้อย่างไรบ้าง
อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยบอกว่า เวลาบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะมีอยู่ 2 หน้าที่ คือ 1) เป็นเรื่องทางโลกุตระ เช่น ขอให้จิตใจสงบ และ 2) เป็นเรื่องทางโลก เช่น ขอให้ถูกหวยหรือให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น แต่เดิม 2 หน้าที่แบ่งกันโดยพุทธกับศาสนาผี ซึ่งพุทธจะมาทำหน้าที่ทางโลกุตระ ส่วนศาสนาผีก็ยังทำหน้าที่ทางโลกอยู่ แต่ศาสนาผีต้องไปอยู่หลังพุทธ ทำให้มีอิทธิพลน้อยลง ดังนั้นพื้นที่ของพราหมณ์จึงมีมากขึ้น พราหมณ์จึงมาอยู่ในหน้าที่เดียวกันกับศาสนาผี พุทธพยายามตัดหน้าที่ทางโลกออกหลังจากการปฏิรูปพุทธศาสนาในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 ดังนั้นเมื่อพูดถึงพุทธ ต้องพูดในทางโลกุตระเท่านั้น ส่วนหน้าที่ทางโลกจึงถูกผลักดันให้มาเป็นหน้าที่ของพราหมณ์แทน

นอกจากเป็นพื้นที่ทางโลกแล้ว ก็ยังเป็นเรื่องของการตลาดด้วย หน้าที่ของวัดในสังคมไทยทำอะไรได้น้อยลงโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ขณะที่ในชนบทวัดยังเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันของชุมชน แต่วัดในเมืองใหญ่ไม่ได้มีกิจกรรมชุมชนมากนัก และบางวัดไม่ได้ถูกอบรมมาให้ทำกิจกรรมธรรมะสักเท่าไหร่ จึงทำให้คนเข้าวัดน้อยลงด้วย ดังนั้นวัดจึงต้องหาสิ่งมาดึงดูดคนให้เข้าวัดมากขึ้น กิจกรรมที่จะไปดึงดูดคนได้ก็ต้องเป็นเรื่องทางโลก ถ้าใช้พระพุทธรูปอาจจะธรรมดาเกินไปและไม่กว้างพอ แต่เทพเจ้าฮินดูจะดูเร้าใจและน่าสนใจมากกว่า อีกนัยหนึ่ง วัดถูกทำให้เป็นกึ่งสวนสนุก ได้เห็นสิ่งแปลกๆ มีจุดให้ทำบุญที่สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละด้านของคนไทย เช่น มีจุดทำบุญโลงศพ จุดไหว้พระคเณศ จุดไหว้ไท้ส่วยเอี๊ย เป็นต้น

6. ทำอย่างไรจึงจะให้คนไทยเข้าใจและเรียนรู้ศาสนาฮินดูในแบบที่อินเดียเป็น ไม่ใช่ลูกผสมแบบไทยๆ
หลักการง่ายที่สุด คือ ต้องเรียนรู้จากอินเดียโดยตรงโดยไม่ผ่านคนกลาง แต่ทุกวันนี้คนไทยเรียนรู้ฮินดูในแบบมือสอง เช่น 1) เรียนรู้จากกรอบพุทธศาสนา ทุกครั้งที่พูดถึงพราหมณ์ก็ยังอ้างอิงมาจากคัมภีร์พุทธศาสนา 2) เวลาคนไทยมองศาสนาอื่น ก็ยังมองแบบมีลำดับชั้น โดยมองว่า พุทธศาสนาต้องอยู่สูงสุด แต่ถ้าเปิดใจให้กว้างและเรียนรู้ศาสนาอื่นในแบบที่เป็น ก็ต้องมองและศึกษาอย่างที่เขาเป็นเช่นกัน และให้ความเคารพอย่างเท่าเทียมกัน แต่ถ้าการเรียนรู้แบบมีอคติจะมองว่า ศาสนาอื่นอยู่ต่ำกว่าพุทธโดยมองผ่านกรอบที่ตั้งเอาไว้ สุดท้ายแล้วจะไม่ได้อะไรเลย ทำให้มองไม่เห็นความเป็นฮินดูอย่างที่อินเดียเป็น

7. เทพเจ้าฮินดูในมุมมองของคนไทยกับคนอินเดีย มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
หากมองเทพเจ้าฮินดูผ่านพุทธศาสนาจากกรอบจักรวาลวิทยาแล้ว จะพบว่า 1) พระพุทธเจ้าจะต้องอยู่สูงสุดและไล่ลำดับลงมาเป็นเทพ แต่ฮินดูจะมองว่า เทพก็คือพระเจ้า พระเจ้าก็คือเทพ ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าพระเจ้าอีกแล้ว นี่จึงเป็นจักรวาลวิทยาที่แตกต่างกัน 2) มองแบบแนวคิดพุทธศาสนา ทุกอย่างจะถูกมองเป็นเรื่องผลกรรม เช่น พระศิวะ คือ คนที่ทำดีแล้วไปเกิดเป็นพระศิวะ เทพเจ้าทุกองค์ต้องผ่านระบบนี้มาหมด แต่ฮินดูจะมองอีกแบบหนึ่ง คือ เทพเจ้าเกิดขึ้นเอง เรียกว่า สวยัมภู ไม่มีใครสร้างพระองค์ และพระองค์ก็ไม่เคยเกิดเป็นมนุษย์ นี่เป็นระบบคิดเกี่ยวกับเทพเจ้าที่ต่างกัน ในอีกแง่หนึ่ง พุทธศาสนาทำให้เทพเจ้ามีหน้าที่บางอย่างในการสนับสนุนส่งเสริมพุทธศาสนาอีกด้วย เช่น ถ้าไปอ่านในไตรภูมิโลกยวินิจฉัยในสมัยรัชกาลที่ 1 จะพบว่า พระศิวะเป็นพวกมิจฉาทิฐิ แต่สุดท้ายถูกพระพุทธเจ้ากำราบ แล้วจึงยอมเปลี่ยนมานับถือพุทธเพื่อจะได้บังเกิดเป็นพระพุทธเจ้าอีกองค์ในอนาคต นี่เป็นวิธีจับเอาคติความเชื่ออื่นๆ มารวมอยู่ในพุทธ สิ่งเหล่านี้พุทธศาสนาเป็นเหมือนกันเกือบหมดทุกประเทศ แต่เป็นในระดับที่มากน้อยต่างกัน เช่น ถ้าไปศรีลังกา เทพเจ้าฮินดูจะเป็นผู้ดูแลพุทธสถานอยู่ในวัด ถ้าไปฝ่ายมหายาน เทพเจ้าฮินดูจะเป็นพระธรรมบาล เป็นผู้ปกป้องพระธรรม นั่นหมายความว่า เทพเจ้าทั้งหลายต้องยอมรับพุทธศาสนาก่อน นี่เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อจะนำศาสนาอื่นเข้ามาก็ต้องเกิดการกดข่มกัน มีการจัดลำดับชั้นกันใหม่

8. ทุกวันนี้มีตำหนักทรงเจ้าเกิดขึ้นมากมาย ส่วนใหญ่มีการนำเทพเจ้าฮินดูมาเข้าทรงด้วย ในอินเดียมีการเข้าทรงในลักษณะนี้หรือไม่
   ในอินเดียก็มีการเข้าทรงเทพเจ้าเหมือนกัน แต่เป็นประเพณีของท้องถิ่น นั่นแปลว่า เทพเจ้าที่เข้าทรงจะเป็นเทพในท้องถิ่นหรือเหมือนกันกับ ผี ในอุษาคเนย์ ซึ่งอินเดียก็นับถือผีมาก่อนที่ศาสนาแบบอารยันจะเข้ามาครอบงำไปทั่วทั้งอินเดีย อย่างเช่น การนับถือเจ้าพ่อเจ้าแม่ในท้องที่ต่างๆ ในรัฐเกราละก็นับถือนาค ในแคว้นมหาราษฎร์จะมีการนับถือไภรวะอยู่องค์หนึ่ง ชื่อ คันโทพา เดิมเป็นวีรกษัตริย์ สุดท้ายก็กลายมาเป็นบรรพบุรุษ เป็นเทพผู้ชายที่เป็นผีบรรพชน ซึ่งคนในท้องถิ่นจะนับถือมาก ต่อมาก็ถูกผนวกเป็นฮินดูและกลายเป็นส่วนหนึ่งของพระไภรวะหรือไภรพ ในอินเดียบางที่ผีก็เป็นผู้ชาย บางที่ผีก็เป็นผู้หญิง แต่ผู้หญิงมีเยอะกว่าผู้ชาย อย่างในภาคใต้ของไทย ก็มีทั้งผีพ่อตาและผีแม่ยาย

เทพเจ้าที่อยู่ในระบบอารยัน เช่น พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ พระคเณศ จะไม่เข้าทรง แต่วัดแขกสีลมสามารถเข้าทรงเจ้าแม่ได้เพราะเป็นผีพื้นเมือง เนื่องจากองค์ประธานเป็นเจ้าแม่พื้นเมือง คือ พระแม่มาริอัมมัน แต่ถ้าพูดถึงเทพเจ้าฮินดูที่อยู่ในสารบบพระเวทแล้วจะไม่มีการเข้าทรง ซึ่งเป็นคนละแบบความเชื่อกับคนไทย คนไทยนับถือผีเหมือนกับอินเดีย แต่เดิมก็เข้าทรงผีอยู่แล้ว เช่น เจ้าพ่อเจ้าแม่ต่างๆ ต่อมาการเข้าทรงมีการเปลี่ยนพื้นที่ เดิมทีเป็นเรื่องของชุมชน ต่อมาเป็นเรื่องของปัจเจกที่แต่ละคนจะมีตำหนักของตัวเองที่ไม่เกี่ยวข้องกับชุมชน องค์ความรู้ในการเข้าทรงแบบเดิมจะถูกตัดขาดไป แต่ก็ยังมีการเข้าทรงอยู่ จึงเปลี่ยนมาเป็นเข้าทรงเทพเจ้าฮินดูแทน หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ การเปลี่ยนรูปลักษณ์ ตำนาน พิธีกรรมเท่าที่รับรู้มาจากอินเดียให้มาอยู่ในระบบเข้าทรงของผี กลายเป็นว่าเทพเจ้าฮินดูไม่ว่าจะองค์ใหญ่หรือองค์เล็กแค่ไหน ก็เข้าทรงได้ในเมืองไทย เคยมีคนทำวิจัยว่า เทพเจ้าฮินดูอยู่ในลำดับต้นๆ ของการเข้าทรงเทพเจ้า เพราะมีความยิ่งใหญ่อลังการมากกว่าผีไทยและดูอินเตอร์กว่าด้วย

9. การบูชาเทพเจ้าฮินดูจะนิยมบูชาด้วยผลไม้ ของหวาน และไม่มีเนื้อสัตว์ แต่คนไทยนนิยมบูชาทั้งของคาวและของหวาน
อินเดียก็มีเทพเจ้าอยู่ 2 ประเภท คือ เทพเจ้าที่กินเนื้อสัตว์ และเทพเจ้าที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ในสมัยพระเวท เทพเจ้าองค์หลักก็กินเนื้อวัวด้วย ในคัมภีร์คฤหยสูตรพูดถึงเรื่องการปรุงอาหารเนื้อถวาย ต่อมาเมื่อเกิดพุทธศาสนาขึ้นมา พราหมณ์ก็พยายามปรับตัวเป็นมังสวิรัติ เทพเจ้าจึงถูกเกณฑ์ให้เป็นมังสวิรัติด้วย เทพเจ้าระดับใหญ่จึงกลายมาเป็นมังสวิรัติ ส่วนเทพระดับชาวบ้าน ซึ่งอิทธิพลของพราหมณ์ระดับทางการยังไปไม่ถึง ก็ยังมีการไหว้ด้วยเนื้อสัตว์หรือเหล้าอยู่

ไทยนับถือผี คนไทยคิดว่า เนื้อสัตว์ทั้งหลายที่ผีโปรดจะเป็นของดี ของวิเศษ แต่เมื่อเทพเจ้าจากอินเดียเข้ามา ในระบบการบวงสรวงของไทยจะใช้วิธีเรียกรวม ถ้าเป็นเทพเจ้าที่ไม่กินเนื้อก็มีกระยาบวชให้กิน เช่น กล้วย อ้อย ถ้าเป็นเทพเจ้าที่กินเนื้อก็มีให้กินด้วย นั่นคือ ใช้ระบบผีผสมพราหมณ์ในการบวงสรวง แต่แกนหลักจะเป็นผีเพราะมีเนื้อสัตว์

แต่ต่อมาก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเริ่มรู้ว่าฮินดูจริงๆ เป็นอย่างไร มีการจัดโต๊ะสังเวยที่ไม่มีเนื้อสัตว์เกิดขึ้นซึ่งนำโดยโบสถ์พราหมณ์ พระมหาราชครูท่านก็พยายามสร้างระบบที่เป็นฮินดูมากขึ้น ดังนั้นเวลาไปบวงสรวงที่ไหน อาหารที่ถวายในพิธีจะไม่มีเนื้อสัตว์

10. พระคเณศในคัมภีร์พระเวทยุคแรกนั้นไม่มีการระบุว่ามีรูปลักษณ์เป็นอย่างไร เคยมีคนเสนอว่า พระคเณศที่มีรูปลักษณ์เช่นในปัจจุบันน่าจะได้รับอิทธิพลจากการส่งช้างจากอุษาคเนย์ไปค้าขายในอินเดีย
คนที่นำเสนอแนวคิดนี้เป็นคนแรก ก็คือ ไมเคิล ไรท์ ผมมีความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ เนื่องจากพระคเณศเป็นเทพเจ้านอกพระเวท เพราะมีบทสวดบทหนึ่งชื่อ คณปติ และพูดถึงเทพเจ้าชื่อ คณปติ แต่พูดแค่นั้น และไม่ได้บอกว่ามีรูปลักษณ์อย่างไร เพราะฉะนั้นในวรรณกรรมพระเวท ไม่มีการพูดถึงเทพเจ้าที่มีหัวเป็นช้างเลย จนกระทั่งวรรณกรรมยุคหลัง เช่น ยัชญาวัลกยสมฤติ ก็พูดถึงเทพเจ้าองค์หนึ่งชื่อ ทันติน ที่มีหัวเป็นช้าง แต่นักวิชาการแย้งว่า น่าจะเป็นการเพิ่มเติมเข้าไปภายหลัง ดังนั้นสรุปได้ว่า ไม่มีการพูดถึงเทพเจ้าที่มีหัวเป็นช้างในคัมภีร์พระเวท แสดงว่า อารยันไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เลย นั่นแสดงว่าพระคเณศที่มีหัวเป็นช้างเพิ่งมีมาภายหลัง

มีหลักฐานที่น่าสนใจว่า 1) คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความรู้เรื่องช้างมานานแล้ว ในอินเดียก่อนที่อารยันจะเข้ามา จะมีชนเผ่าพื้นเมืองที่เรียกว่า มุนฑะ เป็นคนพูดภาษาตระกูลมอญเขมร และมีหลักฐานเพิ่มเติมในทางมานุษยวิทยาว่า จุดกำเนิดของเผ่ามุนฑะอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากนั้นจึงอพยพไปอยู่อินเดีย และเผ่ามุนฑะเป็นตระกูลที่มีความรู้ในการเลี้ยงช้าง จึงอาจเป็นไปได้ว่า เป็นกลุ่มคนที่ถูกส่งไปอินเดียพร้อมกับการค้าช้างในสมัยก่อน หรืออาจจะอพยพไปก่อนหน้านั้นก็เป็นได้ 2) หลักฐานการค้าช้างมีลายลักษณ์อักษรในสมัยอยุธยาตอนกลาง แต่ อ.ศิริพจน์ มานะเจริญ บอกว่า มีหลักฐานที่เก่าแก่กว่านั้น เช่น มีจารึกในมอญเรื่องการส่งช้างก่อนสมัยอยุธยา 3) ช้างในอินเดียเป็นช้างที่ฝึกไม่ได้ ช้างในโลกนี้มี 2 สายพันธุ์ คือ ช้างเอเชียและช้างอัฟริกา แต่ช้างอัฟริกานั้นฝึกไม่ได้ ช้างในตระกูลเอเชียมี 2 สายพันธุ์ คือ ช้างอินเดียกับช้างไทย ไมเคิล ไรท์ บอกว่า ช้างอินเดียฝึกไม่ได้ ส่วนช้างอินเดียปัจจุบันที่ฝึกได้เพราะมีการผสมพันธุ์กับช้างไทยมาแล้วตั้งแต่สมัยก่อน 4) คัมภีร์คชศาสตร์อินเดีย ไม่ค่อยเก่า เราคิดว่ารับคชศาสตร์มาจากอินเดีย แต่เมื่อไปอ่านเนื้อหาแล้วมีรายละเอียดไม่เหมือนกันและไม่ได้เก่ามาก คัมภีร์เหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในอินเดียภาคใต้ 5) พระเทวกรรมของไทย เป็นผีพื้นเมือง มีรูปลักษณ์เป็นพระคเณศ ประเทศไทยมีพระคเณศที่อินเดียไม่มี เช่น พระเทวกรรม ที่มีหน้าตาเหมือนพระคเณศทุกอย่าง มีหัวเป็นช้าง แต่ไม่ใช่พระคเณศ และในพิธีสำคัญก็ต้องเชิญพระเทวกรรมด้วย ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ไม่ทราบมาก่อนเพราะเป็นเรื่องของราชสำนัก

พระเทวกรรมเป็นเทพที่เกี่ยวพันกับคชศาสตร์ มีหลายลักษณะ เช่น มีรูปลักษณ์เป็นคน หรือเป็นรูปพระคเณศที่ถือบ่วงบาศก์ ถือคฑา เหตุผลหนึ่งที่ไม่มีการเผยแพร่จากราชสำนัก เนื่องจากวิชาเลี้ยงช้างเป็นวิชาของราชสำนัก จึงไม่จำเป็นสำหรับคนทั่วไป และอีกเหตุหนึ่งที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักพระเทวกรรม เนื่องจากปัจจุบันไม่มีการจับช้างเกิดขึ้นแล้ว จึงไม่มีโอกาสเผยแพร่เรื่องเหล่านี้ออกไป คชกรรมครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9

11. ศาสนาฮินดูในภาคเหนือและภาคใต้ของอินเดีย มีความแตกต่างกันอย่างไร
ไทยรับศาสนาพราหมณ์ฮินดูมาจากอินเดียใต้เป็นหลัก ภาคใต้มีประเพณีหลายอย่างที่ไม่เหมือนภาคเหนือ ระบบพราหมณ์และพิธีกรรมสำคัญจะใช้คัมภีร์พระเวทเหมือนกัน แต่อาจแตกต่างกันในรายละเอียด สิ่งที่ห่อหุ้มไม่เหมือนกัน นั่นคือ วัฒนธรรม ซึ่งวัฒนธรรมพื้นเมืองภาคเหนือมีอิทธิพลน้อยกว่าภาคใต้ วัฒนธรรมประเพณีภาคใต้จะมีมากกว่า เช่น เวลาที่พราหมณ์ทำพิธี จะทำพิธีในแบบพื้นเมืองและพิธีในแบบพระเวท ส่วนภาคเหนือก็มีอิทธิพลบางอย่างกับไทยเหมือนกัน เพียงแต่ภาคใต้จะใกล้ชิดกับอุษาคเนย์มาเก่ากว่า จากเหตุผล 1) คนภาคใต้เป็นพวกแรกที่เดินทางมาอุษาคเนย์ เพราะอยู่ติดทะเล เดินทางสะดวก และมีการติดต่อค้าขายกันตลอด 2) พราหมณ์ในสยามส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากภาคใต้ ดังนั้นประเพณีภาคใต้จึงกลายเป็นประเพณีของราชสำนัก เช่น พิธีตรียัมปวาย เป็นพิธีพื้นบ้านที่กลายมาเป็นพิธีหลวง ซึ่งพิธีนี้ไม่มีในอินเดียภาคเหนือ

12. ทำไมพระพรหมในบ้านเราจึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและสถิตอยู่ทุกแห่ง มีการตั้งศาลพระพรหมกันอย่างแพร่หลายทั้งสถานที่ราชการและบริษัทห้างร้านเอกชน
เทพเจ้าฮินดูมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บางองค์อาจจะถูกลืม บางองค์แปลงไปเป็นอีกองค์หนึ่ง เช่น พระวิษณุ แต่เดิมนั้นในคัมภีร์พระเวทเป็นเทพในกลุ่มพระอาทิตย์กลุ่มหนึ่ง ต่อมากลายเป็นพระวิษณุอย่างที่รู้จัก ส่วนพระพรหมก็เคยมีบทบาทสำคัญมาก่อน ภายหลังถูกแทนที่ด้วยบทบาทของมหาเทพอีก 2 องค์ ก็คือ พระวิษณุกับพระศิวะ ที่เกิดขึ้นในยุคหลังพุทธกาลเล็กน้อย เรียกว่า ยุคมหาเทพ ที่มีคัมภีร์ปุราณะเกิดขึ้นและก็ได้สร้างบทบาทเด่นของมหาเทพบางองค์ขึ้นมา เช่น พระวิษณุกับพระศิวะ พระพรหมถูกลดบทบาทลง อาจเป็นเพราะว่าเก่าแล้ว และไปเกี่ยวพันกับพุทธศาสนาเยอะ ชาวอินเดียจึงมีเทวตำนานที่ทำให้พระพรหมหายไป แต่บ้านเราเมื่อได้รับพุทธศาสนาในยุคต้นที่เป็นเถรวาท พระพรหมก็ยังมีบทบาทอยู่ในวรรณกรรมพุทธศาสนาคู่กับพระอินทร์ ส่วนพระอินทร์ก็ถูกลดบทบาทจากการแต่งเทวตำนานเหมือนกัน แต่ 2 องค์นี้ยังมีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นการที่มีศาลพระพรหมเป็นจำนวนมากก็เป็นอิทธิพลของวรรณกรรมพุทธศาสนา

ศาลพระพรหมในยุคแรกน่าจะมาจากโบสถ์พราหมณ์ ซึ่งโบสถ์พราหมณ์สร้างศาลพระพรหมที่ยังมีรูปลักษณ์กึ่งอินเดียอยู่ เช่น พระพรหมถือช้อน หลังจากนั้นก็เผยแพร่ไปสู่ภายนอก เช่น พระพรหมเอราวัณที่มีรูปลักษณ์เป็นไทยประยุกต์และมีคติแบบพุทธด้วย ผู้สร้างพระพรหมที่เอราวัณนั้นไม่ได้สร้างพระพรหมที่สร้างโลก แต่สร้างพระพรหมในคติแบบพรหมโลก แบบเทวโลก คนละความหมายกับพระพรหมในอินเดียแต่ใช้รูปลักษณ์เดียวกัน ต่อมาเมื่อภาคเอกชนมีการสร้างเทวาลัยพระพรหม จึงมีการเลียนแบบโดยการสร้างศาลพระพรหมมากขึ้น บริษัทห้างร้านคิดว่า การมีศาลพระภูมิเจ้าที่ยังไม่เพียงพอกับกิจการขนาดใหญ่ จึงได้ตั้งศาลพระพรหมขึ้นมาด้วย

เทพเจ้าฮินดูในสังคมร่วมสมัยได้ถูกนำมาใช้แทนหน้าที่ของผีหรือพระภูมิเจ้าที่ เอามาอยู่ในหน้าที่เดียวกันกับพระภูมิเจ้าที่ ซึ่งไม่ใช่พระภูมิเจ้าที่ แต่เป็นพระพรหม เมื่อไปห้างเซ็นทรัลเวิร์ล จะมีพระคเณศซึ่งตั้งอยู่ในตำแหน่งพระภูมิเจ้าที่ ถัดไปก็จะมีพระศิวะปัญจมุกขีซึ่งมาทำหน้าที่แทนพระพรหม ดังนั้นจะสังเกตว่า เทพเจ้าองค์ใหญ่ในฮินดูจะเฝ้าแต่ห้าง โรงแรม หรือพื้นที่ของตัวเอง นี่คือการทำหน้าที่แทนพระภูมิเจ้าที่ เพราะ 1) พระภูมิเจ้าที่จะดูเป็นเทพพื้นเมืองมากไป 2) พระภูมิเจ้าที่ไม่ใหญ่พอที่จะดูแลกิจการได้ ดังนั้นคนไทยคิดว่า เทพเจ้าฮินดูควรจะมาทำหน้าที่เป็นเทพารักษ์แทนพระภูมิเจ้าที่

ความเชื่อเรื่องผียังมีอำนาจมาก อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้ความเห็นว่า ผีครอบทั้งพราหมณ์และพุทธยังไม่พอ แต่อาจมีอิทธิพลมากกว่าสมัยโบราณด้วยซ้ำไป สังคมไทยเป็นพุทธจริงหรือไม่ ก็ยังไม่แน่ใจ เป็นพราหมณ์หรือไม่ ก็ยังไม่แน่ใจ และความรู้เรื่องพราหมณ์ฮินดูที่มาจากอินเดียก็ยังใหม่มากในสังคมไทยอีกด้วย ผีซึ่งอยู่มานานในสังคมไทย จึงยังอยู่ในมโนสำนึกของคนไทย หากคนไทยไม่สามารถออกไปจากอคติที่เกี่ยวข้องกับการจัดลำดับชั้นความสำคัญของพุทธศาสนาแล้ว ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพราหมณ์ฮินดูและศาสนาอื่นๆ ก็จะยังคงมีต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นการทำความเข้าใจก็ต้องเข้าใจในแบบที่อินเดียเป็น

13. คนไทยที่นับถือพุทธ ถ้านับถือหรือบูชาเทพเจ้าฮินดูด้วย จะผิดหลักทางศาสนาหรือไม่
ต้องถามตัวเองก่อนว่า 1) คนไทยอยากเป็นพุทธแท้ พุทธบริสุทธิ์หรือไม่ ถ้าอยากเป็นพุทธแท้ก็ไม่ต้องบูชาเทพเจ้าฮินดู 2) ถ้าคนไทยรู้สึกดีกับการเป็นศาสนาผสมทั้ง ผี พราหมณ์ พุทธ ก็สามารถบูชาเทพเจ้าในแบบที่คนไทยคุ้นเคยได้ ไม่ได้ผิดอะไร 3) ถ้าคนไทยอยากจะนับถือพราหมณ์ฮินดูในแบบที่ถูกต้อง เรื่องนี้ต้องศึกษาหาความรู้และต้องบูชาในแบบที่อินเดียเป็น สุดท้ายแล้วถ้าแต่ละคนตอบคำถามตัวเองได้ ก็ทำแบบนั้น ถ้าอยากรู้จักพราหมณ์ฮินดูมากขึ้นก็ต้องศึกษาคัมภีร์สำคัญ เช่น อุปนิษัท แต่ปัญหาอย่างหนึ่งของคัมภีร์ คือ ถูกแปลเป็นภาษาไทยจำนวนน้อย รวมทั้งผู้รู้จริงยังมีน้อย ทำให้เกิดการสร้างความรู้บางอย่างที่ผิดแผกบิดเบี้ยวขึ้นมา ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์และการตลาด ดังนั้นคนที่สนใจจริงก็ต้องกลั่นกรองข้อมูล แต่ปัจจุบันมีความรู้มากมายในโลกออนไลน์ แต่ก็ต้องกรองและเลือกข้อมูลที่ถูกต้องและมีประโยชน์ด้วย

14. ศาสนาฮินดูควรจะมีองค์กรกลางมากำกับดูแลเหมือนมหาเถรสมาคมหรือไม่ เพื่อให้เป็นแบบอย่างและมีมาตรฐานเดียวกัน
ในอินเดียไม่มีองค์กรส่วนกลางของศาสนาฮินดูเหมือนมหาเถรสมาคม นั่นแปลว่า ทุกกิจกรรมของศาสนาเป็นเรื่องของเอกชน ไม่มีแบบแผนเป็นมาตรฐาน แต่ก็มีการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ เช่น มีอาจารยสภา บรรดานักบวชสำคัญในนิกายต่างๆ จะมาประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน แต่ไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมาย เช่น ไม่สามารถไปจับกุมนักบวชปลอมได้ เป็นต้น และเกิดคำถามตามมาว่า จะไม่มีความวุ่นวายจริงหรือ แต่อินเดียก็มีกฎหมายอื่นที่จะมาดูแลจัดการ เช่น ถ้ามีการหลอกลวงประชาชนหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพก็จะมีกฎหมายอื่นมาจัดการแทน นั่นเป็นแนวทางแบบอินเดียที่ไม่มีองค์กรส่วนกลางมาปกครอง แต่ละนิกายจะไม่ยุ่งเกี่ยวกันแต่ต้องทำตามกฎหมาย ปัญหาก็คือ 1) เมื่อมีองค์กรกลางที่มีอำนาจตามกฎหมายในการบังคับบัญชาแล้ว ก็จะมีโอกาสในการฉ้อฉลอำนาจเหล่านี้ได้ 2) ถ้าจะยึดถือหลักปฏิบัติของศาสนาฮินดูที่ถูกต้อง ก็ต้องถามว่า ถูกต้องของใคร เพราะมีหลากหลายนิกายมากกว่าพุทธศาสนาเสียอีก

ในกรณีการเข้าทรง ผมคิดว่า ไม่ควรมีองค์กรส่วนกลาง เพียงแต่ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น ถ้ามีการหลอกลวง ฉ้อโกง เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือร่างกาย หรือละเมิดสิทธิในแง่ใดแง่หนึ่ง ก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมายนั้นๆ แต่ไม่ควรมีกฎหมายศาสนา เพราะสุดท้ายแล้วใครจะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายนั้น

องค์กรศาสนาฮินดูในบ้านเรามี 3 องค์กร คือ 1) โบสถ์พราหมณ์ 2) ฮินดูสมาช 3) ฮินดูธรรมสภา รวมกันเรียกว่า องค์กรศาสนาพราหมณ์ฮินดูแห่งประเทศไทย องค์กรเหล่านี้มีการรวมกันอย่างหลวมๆ และต่างก็ดูแลศาสนิกของตัวเอง สั่งสอนในแนวทางของตัวเอง แต่ถ้ามีสิ่งที่ผิดหลักทางศาสนาก็จะมีผู้รู้ออกมาพูดบอกกล่าว เช่น พระมหาราชครูแห่งโบสถ์พราหมณ์ก็จะออกมาพูดเรื่องการเข้าทรงว่าผิดหลักศาสนา แต่ละวัดก็จะห้ามการเข้าทรงในวัด แต่ก็ไม่มีหลักที่จะไปบังคับทางกฎหมาย 

หน้าที่สำคัญขององค์กรศาสนา ก็คือ ให้ความรู้ ส่วนศาสนิกจะเลือกเชื่ออะไร และถ้าไม่ได้ไปละเมิดผู้อื่น ก็ให้เป็นวิจารญาณของศาสนิกแต่ละคน

                    

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net