Skip to main content
sharethis

จาก ‘แฟตเฟส’ ถึงคอนเสิร์ต ‘เดินหน้าประเทศไทย’ อ่านภารกิจวัฒนธรรมของ กอ.รมน. ในกระบวนการหล่อหลอมอุดมการณ์หลักของฝ่ายความมั่นคง

ชวนดูจุดกำเนิดและพัฒนาการกระบวนการหล่อหลอมอุดมการณ์ ‘ชาติ ศาสน์ กษัตริย์’ โดยหน่วยงานความมั่นคงของรัฐไทย ยิ่งภายหลังการบังคับใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรปี 2551 หน่วยงานด้านความมั่นคงอย่าง กอ.รมน. ที่มีอำนาจเหนือหน่วยงานพลเรือน ก็รุกคืบงานหล่อหลอมอุดมการณ์ฯ ด้วยเครื่องมือด้านวัฒนธรรม

 

กำเนิดอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่มาพร้อม กอ.รมน.

 

กระบวนการหล่อหลอมอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เกี่ยวเนื่องกับบริบททางการเมือง หลังการปฏิวัติ 2475 อันเป็นยุคตกต่ำของสถาบันกษัตริย์ ไล่มาถึงยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม และยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่สถานปนาอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ได้อย่างมั่นคงในที่สุด

เบนเนดิก แอนเดอร์สัน เคยอธิบายไว้ในหนังสือ ‘บ้านเมืองของเราลงแดง’ โดยสรุปได้ว่า

ช่วงทศวรรษ 2470-2480 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อจะสร้างความชอบธรรมให้อำนาจของตัวเองด้วยการโฆษณาปลุกระดมลัทธิชาตินิยม ในยุคของผู้นำกองทัพจากคณะราษฎร ชาติกับพระมหากษัตริย์ยังเป็นสองความคิดที่แยกออกจากกันได้ โดยรัฐ (ที่สำคัญคือกองทัพ) เป็นตัวแทนของชาติ และในเวลาเดียวกันก็เป็นผู้พิทักษ์พระมหากษัตริย์กลายๆ แต่เนื่องจากการมีส่วนร่วมในการยึดอำนาจปี 2475 ทำให้ฝ่ายพระราชวงศ์มีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ ดังนั้นในสมัยของจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง (2491-2500) เขาก็ยังไม่สามารถใช้สถาบันกษัตริย์เป็นสัญญะสร้างความชอบธรรมเพื่อประโยชน์อย่างที่หวัง อาจด้วยเหตุนี้ ทำให้ในช่วงปลายสมัย จอมพล ป. จึงหันไปหาสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยเพื่อกู้สถานการณ์ความชอบธรรมที่ลดลงในปี 2499

แต่ในการปฏิวัติ 2475 จอมพลสฤษดิ์ยังมียศน้อยเกินกว่าจะมีบทบาทสำคัญ ขณะเดียวกันเขาไม่เคยเสแสร้งว่าสนใจในระบอบรัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยดังเช่นที่ผู้นำกองทัพจากคณะราษฎรสนใจ เขาจึงสามารถรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันดีกับพระราชวงศ์ได้อย่างรวดเร็ว ไม่นานหลังยึดอำนาจจากจอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์เริ่มรณรงค์อย่างเป็นระบบที่จะ “บูรณะ” สถาบันกษัตริย์ขึ้นใหม่โดยการให้เกียรติภูมิใหม่แก่สถาบัน และแน่นอนก็เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับฐานะความชอบธรรมของสฤษดิ์ไปด้วย

ในสมัยจอมพล ป. พระมหากษัตริย์และพระราชินีไม่ค่อยเสด็จไปนอกเมืองหลวง แต่ในยุคของสฤษดิ์ พระมหากษัตริย์และพระราชินีได้เสด็จพระราชดำเนินไปประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเยี่ยมเยียนปฏิสันถารกับประมุขแห่งรัฐต่างๆ โดยเฉพาะบรรดากษัตริย์ในยุโรป พระราชพิธีต่างๆ ที่ไม่ได้ปฏิบัติหลังจากการสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ ก็ถูกรื้อฟื้นนำมาปฏิบัติใหม่ ทั้งยังทรงมีความสัมพันธ์ติดต่อใกล้ชิดกับราษฎรไทยบ่อยครั้งมากขึ้น สถาบันกษัตริย์กลายเป็นสิ่ง “ศักดิ์สิทธิ์” มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน ระบบเผด็จการก็เข้มแข็งมั่นคงมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ สฤษดิ์ยังใช้ประโยชน์จากพุทธศาสนา ยกเลิกองค์กรคณะสงฆ์ซึ่งเป็นระบบกระจายอำนาจและเป็นประชาธิปไตย แทนด้วยระบบรวมศูนย์อำนาจและอำนาจนิยมภายใต้การควบคุมของสมเด็จพระสังฆราช

ทั้งหมดนี้คือจุดเริ่มต้นและการก่อรูปของอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่เกื้อหนุนสร้างความมั่นคงให้กับระบอบเผด็จการของสฤษดิ์และระบอบเผด็จการอื่นๆ ในเวลาต่อมา

ที่สำคัญ ยังเป็นอุดมการณ์ที่ใช้อธิบาย “ภัยความมั่นคง” ซึ่งหมายถึงสิ่งใดก็ตามที่มีแนวโน้มจะเป็นปฏิปักษ์ต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ไม่ว่าจะยุคสมัยใดก็ตามต่อจากนั้น

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ก็กำเนิดมาเพื่อเป็นกลไกอุดมการณ์นี้ โดย กอ.รมน. ก่อตั้งในปี 2508 สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ชื่อเดิมคือ กองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (บก.ปค.) มีวัตถุประสงค์เริ่มต้น คือการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ มีความรับผิดชอบในป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ ซึ่งแน่นอน ถูกจัดว่าเป็น “ภัยความมั่นคง” ต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์

 

งานวัฒนธรรมหล่อหลอมอุดมการณ์ฯ ปราบภัยคอมมิวนิสต์

 

การฟื้นฟูประชาธิปไตย หลังการชุมนุมครั้งใหญ่ของประชาชนเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เกิดขึ้นในท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจและปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลเลือกตั้งไม่อาจแก้ไขได้ พร้อมไปกับการเฟื่องฟูของอุดมการณ์สังคมนิยม โดยมีขบวนการต่างๆ เคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างคึกคัก นั่นหมายความว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกำลังถูกท้าทายอย่างหนัก ในที่สุดก็เกิดเหตุล้อมปราบนักศึกษา ประชาชนและรัฐประหารในวันที่  6 ตุลาคม 2519

ในช่วงปี 2517-2519 นี้เอง อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ได้ผนวกรวมกับการสื่อสารทางวัฒนธรรมของหน่วยความมั่นคง ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อการปลุกระดมให้เกลียดชังคอมมิวนิสต์ว่า เป็นพวกบ่อนทำลายสถาบันหลักของชาติ มีการใส่ร้ายป้ายสี ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ใบปลิวโฆษณา ทางบัตรสนเท่ห์หรือจดหมายขู่เข็ญต่างๆ หรือแม้แต่การอาศัยลมปากด้วยการปล่อยข่าวลือต่างๆ นอกเหนือจากนี้ ยังมีการแต่ง ‘เพลงปลุกใจ’ เพื่อต่อสู้กับ ‘เพลงเพื่อชีวิต’ และหลายเพลงก็ได้รับความนิยมอย่างสูง อาทิ “ทหารพระนเรศวร” เพลง “หนักแผ่นดิน” และเพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” ซึ่งเริ่มถูกนำออกเผยแพร่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2519

 

กอ.รมน. ปี 2517-2519 เน้นปราบปรามคอมมิวนิสต์

 

อย่างไรก็ตาม ช่วงปี 2517-2519 กอ.รมน. ยังไม่มีบทบาทในงานเชิงวัฒนธรรม หากแต่เด่นชัดในหน้าที่การปราบคอมมิวนิสต์โดยตรง มีการจัดตั้งกลุ่มมวลชนต่างๆ รวมไปถึงเป็นผู้ฝึกอาวุธ นำอาวุธมาให้ใช้ และจ่ายเงินเลี้ยงดูด้วยเงินราชการลับ ไม่ว่าจะกลุ่มนักเรียนอาชีวะเพื่อหักล้างพลังของกลุ่มนักศึกษา เช่น กลุ่มกระทิงแดง หรือกลุ่มประชาชนและข้าราชการ เช่น กลุ่มนวพล เป็นต้น

การปราบคอมมิวนิสต์ของ กอ.รมน. เป็นวิธีลับ ที่ปราบคอมมิวนิสต์จริงก็คงมี แต่ที่ปราบคนที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ก็มีมาก ตั้งแต่ก่อน 2516 มาแล้ว เรื่องถังแดงที่พัทลุง เรื่องการรังแกชาวบ้านทุกหนทุกแห่งมีอยู่ตลอด แล้วใส่ความว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จึงทำให้ราษฎรเดือดร้อนทั่วไป และที่ทนความทารุณโหดร้ายต่อไปไม่ได้ก็เข้าป่ากลายเป็นพวกคอมมิวนิสต์ไปก็มากมาย” นี่เป็นสิ่งที่ป๋วย อึ้งภากรณ์ บันทึกไว้ใน ‘ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519’

 

หลัง พ.ร.บ. ปี 51 เดินหน้างานวัฒนธรรม

 

หลังพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสลายบทบาท และสงครามเย็นสิ้นสุด กอ.รมน. ซึ่งมีภารกิจหลักที่การปราบคอมมิวนิสต์กลับไม่ได้ถูกยุบ หากแต่ปรับเปลี่ยนแนวคิดการรับมือกับภัยความมั่นคงไปตามยุคตามสมัย จนกระทั่งปี 2551 พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น พ.ร.บ. กอ.รมน. ก็ได้ เพราะมีเนื้อหาที่ว่าด้วย กอ.รมน. ล้วนๆ ก็ได้รับการตราขึ้น มีผลให้ กอ.รมน. กลายเป็นหน่วยงานความมั่นคงถาวรที่มีอำนาจเหนือหน่วยงานพลเรือนทั้งหมดโดยเฉพาะในภาวะฉุกเฉินของประเทศ

แนวคิดเรื่องการปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยังคงดำรงอยู่อย่างแข็งแรงจนถึงปัจจุบัน นิยาม ‘ภัยความมั่นคง’ ไม่ได้มุ่งเป้าหลักที่คอมมิวนิสต์อีกต่อไป หากแต่ระบุไว้อย่างกว้างขวางว่า คือ “บุคคลที่มีบทบาทในสังคมที่มุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง โดยอาศัยการบิดเบือนซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

เมื่อดูในเอกสารยุทธศาสตร์ กอ.รมน. พ.ศ. 2560-2564 ในส่วนของสถานการณ์ความมั่นคง ได้ระบุหัวข้อ “ภัยความมั่นคง” หลักที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือถึง 10 หัวข้อ ได้แก่ 1. การล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ 2. ความเห็นต่างและความขัดแย้งทางความคิดของคนภายในชาติ 3. สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4. ภัยคุกคามไซเบอร์ 5. ภัยพิบัติทางธรรมชาติ 6. แรงงานต่างด้าวและผู้หลบหนีเข้าเมือง 7. การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ 8. ปัญหายาเสพติด 9. ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 10. ผลกระทบที่เกิดจากข้อตกลงและพันธกรณีระหว่างประเทศต่อความมั่นคงภายใน

และเพื่อให้เป็นไปตามยุทธสาสตร์ จึงได้กำหนดกลยุทธ์ส่วนหนึ่งไว้ว่า...คือการเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ เช่น ส่งเสริมให้ประชาชนมีความตระหนักรู้ มีความภูมิใจ เข้าใจบทบาท ความสำคัญ และคุณค่าของสถาบัน ชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์, ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์กับประวัติศาสตร์ชาติไทย, ส่งเสริมกิจกรรมสร้างจิตสำนึกและความเข้าใจในความสำคัญของเอกราชของชาติโดยพลังประชารัฐ, ส่งเสริมการเรียนรู้ความสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทยให้เกิดความรักและหวงแหนในเอกราชของชาติ

กอ.รมน.ใน พศ.นี้ จึงได้เปลี่ยนจากการใช้อำนาจแข็งปราบปรามในยุคคอมมิวนิสต์ มาสู่การใช้อำนาจเชิงวัฒนธรรมมากขึ้นแล้ว

แน่นอนย่อมไม่ได้ทิ้งงานเดิมอย่างงานมวลชน กอ.รมน. ที่มีในทุกจังหวัดยังคงรวบรวม ‘มวลชล กอ.รมน.’ เช่น ไทยอาสาป้องกันชาติ, สมาคมนักธุรกิจรักษาความมั่นคงแห่งชาติ, ชมรมผู้นำชุมชนมุสลิม, ชมรมไทย-ซิกข์, ชมรมไทย-อินเดีย, ชมรมคาทอลิก, เพชรในตม ฯลฯ เพื่อเข้าถึงประชาชนในทุกภาคส่วน

กอ.รมน.ยังมีบทบาทในแง่การศึกษา โดย กอ.รมน. เข้าไปฝึกอบรมครูตามโรงเรียน จัดรณรงค์ หรือกรณีของนักพูดสร้างแรงบันดาลใจอย่าง เบสต์-อรพิมพ์ รักษาผล ที่ทำให้คนอีสานไม่พอใจก่อนหน้านี้ ก็เป็นการจัดขึ้นเพื่อให้พูดกับนักเรียนกว่า 3,000 คนที่เกณฑ์มาจาก 5 จังหวัด นอกจากนี้ ยังมีโครงการ ‘เยาวชนคนดี คนเก่ง’ โครงการ ‘ทำดีเพื่อพ่อ’ มอบทุนการศึกษาแก่เด็กสามจังหวัดชายแดนใต้, โครงการ ‘เพชรในตม’ รับสมัครนิสิตโครงการเพชรในตม คณะศึกษาศาสตร์ มศว. โดยคัดเลือกจากทายาทเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. 32 จังหวัด, โครงการ ‘ติวข้น...ค้นฝัน’ ติวเพื่อทักษะการทำข้อสอบ ฯลฯ

ส่วนงานในเชิงศิลปวัฒนธรรมพบว่า ในปี 2552 กอ.รมน. ได้เริ่มโครงการโมโซ (MOSO) ซึ่งย่อมาจาก Moderation Society ภายใต้แนวคิด “คิดอย่างยั่งยืนเพื่อปลุกจิตสำนึกให้คนไทยใช้ชีวิตแบบมีเหตุผล เข้าใจคำว่า พอประมาณ และรู้จักสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

มีมีพรีเซ็นเตอร์อยู่หลายคน อาทิ คำรณ หว่างหวังศรี พิธีกร, พ.ต.วันชนะ สวัสดี ข้าราชการทหาร, แอ๊ด คาราบาว ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต, ธนชัย อุชชิน หรือป๊อด โมเดิร์นด็อก, นุ่น ศิริพันธ์ วัฒนจินดา นักแสดง โดยนิตยสารสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 638 กันยายน 52 ได้นำ MOSO มาเป็นเรื่องหลัก ภายใต้ชื่อ ‘สู้เศรษฐกิจด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง Living in Moderation Society’ มีทั้งภาพและบทสัมภาษณ์เหล่าพรีเซ็นเตอร์ของโครงการ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คืออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วย

กันยายน 2552 โครงการโมโซโดย กอ.รมน. จัดประกวดภาพยนตร์สั้น “ตามรอยสมเด็จย่า” เพื่อส่งเสริมเยาวชนศึกษาพระราชกรณียกิจและพระราชประวัติที่สำคัญของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รวมถึงกระตุ้นให้สังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

พฤศจิกายน 2552 โครงการโมโซไซตี้ โดย กอ.รมน. เป็นผู้สนับสนุนหลัก จัดคอนเสิร์ตแฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 9 ตอน “อีนี่ fat fest นะจ๊ะ 9 จ๋า” ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ที่เกิดขึ้นทุกปี โดยปีนั้นได้รวบรวมวงดนตรีวัยรุ่นไทยจากหลายค่าย จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2552 ที่ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2 และ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

มกราคม 2553 กอ.รมน. เป็นผู้สนับสนุนหลักคอนเสิร์ตแฟต เฟสติวัล โชว์เหนือ “ตอน...โชว์เหนือสุดดดดด” วันที่ 30 มกราคม 2553 ที่ลานม่วนใจ๋ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่ แอร์พอร์ต

เมษายน 2554 กอ.รมน. ร่วมกับกองทัพบก รณรงค์สร้างกระแสความรักชาติและความจงรักภักดีโดยใช้ดนตรีเป็นสื่อ สนับสนุน จัดแสดงดนตรีในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน 2554 และใช้เครือข่ายวิทยุชุมชนเพื่อความมั่นคง กอ.รมน. กว่า 700 สถานี ออกอากาศผ่านระบบอินเตอร์เน็ตวันละสามเวลา โดยเน้นเรื่องพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรและสอดแทรกเรื่องการรักชาติและความจงรักภักดี

ปี 2557 กอ.รมน. เดินหน้าจัดคอนเสิร์ต “เดินหน้าประเทศไทย ร่วมใจปฏิรูป” ตามจังหวัดต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์การทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในระยะที่ 2 ของ Road Map เพื่อเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปประเทศและสร้างความปรองดองสมานฉันท์ คืนความสุขให้ประชาชนตามนโยบายของหัวหน้า คสช. นำโดยศิลปินนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง ดาว มยุรี, ไชโย ธนาวัฒน์, ศักดา คำพิมูล, เอ็ม กันตวัจจ์, อาร์ม ชิงช้าสวรรค์, เบียร์ คิมหันต์, โย โสรยา, วงกลม และ เอฟ วรัญญู เป็นต้น ถ่ายทอดสดผ่านช่องเวทีไท และบันทึกเทปโทรทัศน์เพื่อนำออกอากาศผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ NBT

กรกฎาคม 2558 กอ.รมน. จัดฉายภาพยนตร์ "ละติจูด ที่ 6" ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ กอ.รมน. สร้างด้วยความร่วมมือของภาคเอกชน โดยระบุว่า เพื่อให้เป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างการเรียนรู้และเข้าใจในวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ ตลอดจนสังคมพหุวัฒนธรรมในดินแดนปลายสุดด้ามขวาน เพื่อสร้างสันติสุขสืบไป

เมษายน 2559 กอ.รมน. ร่วมกับ ค่ายซีเนริโอ จัดการแสดงละครเวที ผ้าห่มผืนสุดท้าย’ วันที่ 17 มีนาคม - 3 เมษายน 59 ณ โรงละคร เมืองไทยรัชดาลัย โดยมีคำอธิบายว่า “ถ่ายทอดเรื่องราวความรัก ความเสียสละ และความจงรักภักดีต่อแผ่นดินของเหล่านายทหาร โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของทหาร 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำแสดงโดย โอ-อนุชิต, อ้น-สราวุธ, ชาช่า รามณรงค์, ฟรอยด์-ณัฎฐพงษ์, อ้น-กรกฎ, ปวันรัตน์ นาคสุริยะ, เอ๋ สมาร์ท, ดิว-อริสรา และจูเนียร์-กรวิชญ์ อำนวยการสร้างโดย บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ กำกับการแสดงโดย สันติ ต่อวิวรรธน์ เขียนบทโดย เกลือ-กิตติ เชี่ยววงศ์กุล

สิงหาคม 2560 กอ.รมน. เปิดตัวการจัดทำบทเพลงเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ มีทั้งหมด 5 เพลง ได้แก่ เพลงงานของป้อ, เพลงอีสานยิ้ม, เพลงที่เห็นและเป็นอยู่, เพลงสี่น้ำสามรส และจดหมายถึงลูก มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ 4 ภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางและภาคใต้ มุ่งหมายให้ประชาชนคนไทยเดินตามคำสอนของพ่อ และทำดีถวายพ่อของแผ่นดิน

กุมภาพันธ์ 2561 กอ.รมน. เปิดโครงการเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ ประจำปี 2561 ในหัวข้อ “สร้างคนดีด้วยประวัติศาสตร์ สร้างชาติด้วยอุดมการณ์” เป็นการบรรยายประกอบ แสง, สี, เสียง, ระบบมัลติมีเดีย โดยชุดวิทยากรรณรงค์ปลุกจิตสำนึกรู้คุณ โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังการบรรยาย เป็นคณะอาจารย์และนักเรียน จำนวนรวมทั้งสิ้น 500 คน ณ หอประชุม โรงเรียนมัธยมฐานบินกำแพงแสน อ.กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

กล่าวโดยสรุป งานเชิงศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่มี พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 จนถึงปัจจุบัน กลุ่มเป้าหมายของ กอ.รมน. จะพุ่งเป้าไปที่คนรุ่นใหม่ โดยระยะแรกก่อนการรัฐประหารในปี 2557 แนวคิดของ กอ.รมน. เน้นการเผยแพร่และปลูกฝังอุดมการณ์รักชาติ ความจงรักภักดีพระมหากษัตริย์แก่เด็กและเยาวชน ผ่านแนวคิดเรื่องความพอเพียงในโครงการโมโซ ที่แทรกซึมไปในโครงการประกวดภาพยนตร์สั้น จนกระทั่งถึงคอนเสิร์ตแฟตเฟสติวัล ควบคู่ไปกับการนำศิลปิน ดารา นักร้อง นักแสดงที่เป็นที่รู้จักมาช่วยส่งเสริมให้งานเป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมทั้งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสถานีวิทยุและโทรทัศน์ในเผยแพร่อุดมการณ์เหล่านี้ เช่น คลื่นวิทยุชุมชนของ กอ.รมน. 700 สถานี

หลังการรัฐประหารปี 2557 ร่วมกับ คสช. ในการประชาสัมพันธ์นโยบายสมานฉันท์ คืนความสุข ร่วมกับเหล่านักร้องชื่อดัง และนำเสนอสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนใต้ทั้งในรูปแบบภาพยนตร์และละครเวทีที่เกี่ยวข้องกับความเสียสละ ความกล้าหาญ ความรักชาติของทหารไทย รวมทั้งเดินหน้ารณรงค์อุดมการณ์แก่เด็กและเยาวชนต่อไป

จึงเห็นได้ว่า ตั้งแต่ยุคสฤษดิ์เป็นต้นมา อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ได้ทำงานอย่างแข็งขันมาตลอด และเป็นค่านิยมกระแสหลักที่ดำรงอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกที่ ตั้งแต่แบบเรียนจนถึงป้ายประชาสัมพันธ์ จากบทเพลงจนถึงภาพยนตร์ จากโรงภาพยนตร์จนถึงเวทีคอนเสิร์ต รวมทั้งโครงการประกวดต่างๆ ฯลฯ และส่วนหนึ่งนั้นมี กอ.รมน. เป็นกลไกการสื่อสารอุดมการณ์เหล่านั้น

 

อ้างอิง

บ้านเมืองของเราลงแดง’, เบนเนดิก แอนเดอร์สัน

ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519’, ป๋วย อึ้งภากรณ์

เราสู้: เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองปี 2518-2519’, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net