Skip to main content
sharethis

สปสช.จับมือมูลนิธิมิตรภาพบำบัดจัดประชุมย่อยเวทีวิชาการเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2561 การเสริมพลังของผู้ป่วยและการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยั่งยืน ที่ประชุมชี้ การมีส่วนร่วมต้องเป็นรูปธรรมเพื่อให้ประชาชนร่วมจัดการระบบให้เกิดความยั่งยืนได้

31 ม.ค. 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ ในงานประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2561 (Price Mahidol Award Conference 2018) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับมูลนิธิมิตรภาพบำบัด จัดประชุมย่อยคู่ขนานเพื่อการรำลึกถึง นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เรื่อง การสร้างความเข้มแข็งของผู้ป่วยและการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ In Memory of Dr. Sanguan Nittayaramphong: Patient Empowerment & People Engagement for Sustainable UHC”

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หัวข้อการจัดประชุมย่อยคู่ขนานครั้งนี้เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นั่นคือการเสริมพลังให้กับผู้ป่วยและการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างความยั่งยืนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพ โดยเฉพาะในโรคค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โรคเอดส์ ส่วนสำคัญคือการรณรงค์จากภาคประชาชนผลักดันให้อยู่ในสิทธิประโยชน์ของระบบเพื่อเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่แท้จริง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยมีการเติบโตมาตามลำดับ ดังนั้นการมีส่วนร่วมจึงเป็นสิ่งสำคัญของระบบนี้และสอดคล้องกับเจตนาอันแรงกล้าของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ที่ผลักดันระบบนี้ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างแท้จริง

อารีย์ คุ้มพิทักษ์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงผลความสำเร็จของการมีส่วนร่วมของเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาว่า ประสบการณ์ของเครือข่ายผู้ติดเชื้อนั้น รวมตัวกันเนื่องจากผู้ติดเชื้อไม่มีข้อมูลที่จะรักษาตัวเอง เข้าไม่ถึงยาต้านไวรัส และความไม่เข้าใจของสังคม ณ เวลานั้น เป็นการรวมตัวในลักษณะการช่วยเหลือกัน เพื่อนช่วยเพื่อน เริ่มจากในชุมชน ระดับภาค และส่งตัวแทนแต่ละภาคเจ้าร่วมเป็นคณะกรรมการระดับชาติ มีตัวแทนของผู้ติดเชื้อเพื่อเป็นปากเสียงแทนผู้ป่วย

อารีย์ กล่าวต่อว่า การรวมตัวของผู้ติดเชื้อมีเป้าหมาย 2 ข้อ คือ การเข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐาน ซึ่งการรักษาเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับเท่ากันอย่างถ้วนหน้า และต้องเข้าถึงยาจำเป็น พร้อมทั้งระบบการดูแลรักษาที่ผู้ป่วยเข้าไปมีส่วนร่วมได้โดยไม่มีการรังเกียจหรือการเลือกปฏิบัติ

“การมีส่วนร่วมจัดระบบบริการมีความสำคัญมาก เครือข่ายผู้ติดเชื้อรณรงค์เรื่องเอดส์รักษาได้ จากที่คนเชื่อว่าเป็นแล้วตาย ทำให้ไม่คิดถึงการรักษา เราเปลี่ยนความคิดใหม่ เพิ่มศักยภาพเครือข่ายผู้ติดเชื้อในการมีส่วนร่วมดูแลรักษา เพราะการดูแลรักษาไม่ใช่แค่แพทย์ พยาบาลเท่านั้น ปรับใหม่เป็นสุขภาพเป็นเรื่องของเราทุกคน ผู้ป่วยมีส่วนร่วมด้วย ตรงนี้คือการพลิกบทบาทจากผู้รับบริการมาเป็นผู้ร่วมจัดบริการกับบุคลากรสาธารณสุข ร่วมออกแบบระบบบริการที่เหมาะกับผู้ติดเชื้อควรเป็นอย่างไร เราเรียกว่าตรงนี้ว่า ศูนย์บริการแบบองค์รวม เริ่มต้นใช้งบสนับสนุนจากกองทุนโลก เมื่อระยะเวลาการสนับสนุนจากกองทุนโลกสิ้นสุด สปสช.ก็รับความคิดนี้แล้วสนับสนุนต่อ จนปัจจุบันไทยมีศูนย์บริการแบบองค์รวมนี้ 367 ศูนย์ทั่วประเทศ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายผู้ติดเชื้อและ รพ. ซึ่งรูปแบบนี้ได้รับรางวัลระดับโลกที่ยกย่องเป็นต้นแบบการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขที่จัดระบบการรักษาพยาบาลร่วมกัน” อารีย์ กล่าว  

ด้าน แสงศิริ ตรีมรรคา กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า สำหรับประชาชนแล้ว ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือสมบัติของประชาชน คำว่าการมีส่วนร่วมไม่ใช่แค่พูด แต่ต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดความผูกพันกับระบบ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นได้เพราะประชาชนส่วนหนึ่งมีความทุกข์จากการเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล มีหลายคนต้องยากจนเพราะความเจ็บป่วย สถานการณ์นี้ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องว่าเราต้องอะไร ดังนั้นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงเป็นนโยบายที่ประชาชนสร้างและผลักดันจนทำให้ระบบนี้เกิดขึ้นได้จนสำเร็จ ความผูกพันตรงนี้ทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของ

“การมีส่วนร่วมต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมจริงๆ ไม่ใช่แค่พูดลอยๆ จับต้องไม่ได้ การเกิดขึ้นของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเป็นรูปธรรมหนึ่ง การมีตัวแทนผู้ป่วย ตัวแทนประชาชนในคณะกรรมการระดับต่างๆ จนถึงคณะกรรมการระดับชาติอย่าง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็เป็นส่วนหนึ่งของรูปธรรมนั้น เพราะคนเหล่านี้เป็นตัวแทนของประชาชนที่เข้าไปเป็นปากเสียงแทนพวกเรา เป็นคณะกรรมการที่ไม่ใช่มีเพียงตัวแทนหน่วยงานรัฐเท่านั้น” แสงศิริ กล่าว

ลี ซังนิม สถาบันวิจัยนโยบายสุขภาพระดับโลก ประเทศญี่ปุ่น (Miss Lee Sangnim Lee, Japan The Institute for Global Health Policy Research (iGHP) กล่าวในเวทีเสวนา “การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ป่วยในการดูแลตัวเองและช่วยเหลือเพื่อนผู้ป่วยด้วยกัน รามถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ว่า หลักการมีส่วนร่วมเป็นส่วนสำคัญของการก่อร่างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศญี่ปุ่นที่เดินหน้ามากว่า 50 ปีแล้ว รูปธรรมของการมีส่วนร่วมที่ชัดเจน คือ ที่ญี่ปุ่นมีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับระบบหลักประกันสุขภาพในแต่ละระดับ ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการประกอบด้วยภาคี 3 ส่วนเพื่อความสมดุล คือ ประชาชน ผู้ให้บริการ และหน่วยงานรัฐ เช่น อปท.ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งผู้แทนแต่ละภาคีต้องเท่ากัน เพื่อการเป็นปากเสียงของแต่ละภาคีในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของประชาชนร่วมกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net