Skip to main content
sharethis

ในตอนที่แล้วเราได้สำรวจมายาคติ ชีวิตและความหลากหลายของพนักงานบริการแต่ละประเภทไปแล้ว ในตอนที่ 2 นี้จะกล่าวถึงวิธีที่พวกเธอใช้ป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการล่อซื้อของเจ้าหน้าที่รัฐ

เป็นผู้หญิง (บริการ) แท้จริงแสนลำบาก (1): สำรวจชีวิต ‘กะหรี่’ ในวันที่ศีลธรรมยังค้ำคอรัฐไทย

เป็นผู้หญิง (บริการ) แท้จริงแสนลำบาก (3): ส่วย ผลงาน และรัฐประหาร

‘แหล่งแพร่เชื้อ’ เมื่อรัฐไม่แคร์ จึงต้องดูแลตัวเอง

หนึ่งในมายาคติที่คนในสังคมมีต่อพนักงานบริการคือพวกเธอเป็นพาหะของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ต้องมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้ามากหน้าหลายตาทำให้พวกเธอเสี่ยงต่อการติดกามโรค แต่ก็ใช่ว่าพวกเธอจะไม่มีการป้องกันตัว มาตรการป้องกันโดยทั่วไปที่พนักงานบริการพึงปฏิบัติกันคือการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่ให้บริการและหลีกเลี่ยงการจูบกับลูกค้า ในกรณีของอาบอบนวด เจ้าของร้านจะจ้างหมอมาตรวจสุขภาพทั่วไปให้กับพนักงานทุกๆ เดือนและทุกๆ 3 หรือ 6 เดือนจะมีการตรวจเลือด เพราะหากมีข่าวว่ามีลูกค้าติดโรคจากสถานบริการของตนแพร่ออกไป กิจการของพวกเขาอาจต้องพบกับจุดจบ

แต่สำหรับพนักงานบ้านสาวในจังหวัดสมุทรสาคร พวกเธอต้อง ‘ดูแลตัวเอง’ เพราะทางร้านจะไม่จัดหาแพทย์มาให้ แต่โชคดีที่ในจังหวัดสมุทรสาครมีอาสาสมัครและภาคประชาสังคมที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ ที่คอยให้ความรู้ด้านสุขภาวะทางเพศและสิทธิตามกฎหมายให้กับพวกเธอ รวมถึงกระตุ้นให้พวกเธอเห็นความสำคัญของการไปตรวจโรค

ปลา (นามสมมติ) อดีตพนักงานบริการวัย 43 ปี ที่ปัจจุบันเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิ Empower หรือมูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง กล่าวว่าเธอทำงานเป็นอาสาสมัครมานานกว่าสิบปีแล้ว ทำให้เธอรู้จักกับพนักงานบริการในพื้นที่เป็นอย่างดี ปลาระบุว่าในจังหวัดสมุทรสาครมีพนักงานบริการอยู่ประมาณ 400 คน มีเพียง 9 คนเท่านั้นที่มีเชื้อ HIV และส่วนใหญ่ได้รับเชื้อก่อนเข้าสู่วงการ งานของปลาคือช่วยให้พนักงานตระหนักในสิทธิตามกฎหมายของตน พนักงานหลายคนไม่รู้ว่ารัฐไทยมีบริการตรวจโรคเอดส์ฟรี 2 ครั้งต่อปี แค่เพียงแสดงบัตรประชาชน พนักงานที่ติดเชื้อบางคนไม่รู้ว่าพวกเธอสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสได้โดยใช้สวัสดิการบัตรทอง บางคนเลือกที่จะเก็บตัวจนอาการทรุดหนักถึงตัดสินใจมาขอความช่วยเหลือจากปลา

ปลากล่าวว่าการทำงานอาสาสมัครในระยะแรกมีความยากลำบากมากในการกระตุ้นให้พนักงานไปตรวจสุขภาพและร่วมกิจกรรมกับทางมูลนิธิ เพราะพนักงานมองว่าเป็นกิจกรรมที่ทำให้เสียเวลาทำมาหากิน ทั้งนี้เพราะโรงพยาบาลจะรับตรวจโรคแค่ช่วงกลางวัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาพักผ่อนของพวกเธอ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมักมีทัศนคติไม่ดีต่อพนักงานบริการจึงปฏิบัติและใช้คำพูดกับพวกเธออย่างไม่ให้เกียรติ พวกเธอจึงไม่ค่อยอยากจะไปตรวจ ปลาต้องเริ่มจากการสร้างความสัมพันธ์กับพนักงานผ่านการแจกถุงยาง ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทำหากินพื้นฐานของพนักงานบริการและจัดหารถเช่าเพื่อพาพนักงานไปตรวจที่โรงพยาบาล

แต่ก็มิใช่ว่ารัฐไทยจะไม่ให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงานบริการเลย ตรงกันข้าม บางครั้งรัฐไทยก็ดูจะให้ความสำคัญ ‘มากเกินไป’ เสียด้วยซ้ำ ปลากล่าวว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำจังหวัดเคยมาขอให้พนักงานไปตรวจภายในทุกเดือนที่คลินิกกามโรคประจำจังหวัด โดยมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสมุทรสาครคอยให้บริการ โดยบางครั้ง ขู่ว่าหากไม่ทำตามจะส่งตำรวจไปสั่งปิดร้าน ปลาไม่ทราบว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจึงมีอำนาจสั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ แต่เธอมีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวมีสามีเป็นตำรวจ

การตรวจภายในไม่ใช่กิจกรรมที่น่าภิรมย์นักสำหรับพนักงานบริการ เพราะพวกเธอจะต้องขึ้นขาหยั่งให้แพทย์เอาคีมปากเป็ดสอดเข้าไปในช่องคลอด ซึ่งทำให้พวกเธอเจ็บมากและอาจทำงานไม่ได้ไปทั้งวัน แต่พวกเธอก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมทำตาม เพราะการมีปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ต่างจากการยื่นใบลาออกจากอาชีพที่พวกเธอทำอยู่ ซ้ำอาจจะนำปัญหามาสู่เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ อีกด้วย สิ่งที่ปลาพอทำได้เพื่อช่วยเหลือเพื่อนพนักงานคือรวบรวมความคิดเห็นของพนักงานส่งไปให้กับทางต้นสังกัดและหวังว่าพวกเขาจะรับฟังเท่านั้น

แต่สำหรับพนักงานบริการในจังหวัดกระบี่ พวกเธอต้องแบกรับต้นทุนในการไปตรวจโรคด้วยตัวเอง นายจ้างของพวกเธอไม่จัดหาแพทย์มาให้ และไม่มีภาคประชาสังคมทำงานอยู่ในพื้นที่ ในอดีต จังหวัดกระบี่เคยมีอาสาสมัครของมูลนิธิ Empower คอยช่วยให้การสนับสนุนด้านสุขภาพกับเหล่าพนักงานเช่นเดียวกับในจังหวัดสมุทรสาคร แต่หลังจากปี 2555 เป็นต้นมา ทางมูลนิธิได้รับเงินทุนสนับสนุนน้อยลง สำนักงานที่กระบี่จึงต้องปิดตัวลง เมื่อไม่มีภาคประชาสังคมคอยสนับสนุน พนักงานบริการในจังหวัดกระบี่จึงไปตรวจโรคน้อยลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะโรงพยาบาลที่มีบริการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ฟรีตั้งอยู่ในตัวเมืองกระบี่ซึ่งไกลจากอำเภออ่าวนาง 16 กิโลเมตร

จูนจำไม่ได้แล้วว่าเธอไปตรวจโรคครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ นั่นอาจจะเมื่อ 5 หรือ 6 เดือนที่แล้ว พร้อมกล่าวต่อว่า “เออ เดี๋ยวไปตรวจหน่อยดีกว่า” ด้านลิลลี่สาวบาร์ที่ทำงานที่อ่าวนาง จังหวัดกระบี่ มาร่วมสิบปี กล่าวว่าเธอไปตรวจโรคพร้อมกับฝังยาคุมกำเนิดทุกๆ 3 เดือนที่โรงพยาบาลกระบี่ หรือไม่ก็คลินิกในอำเภออ่าวนาง แต่เธอก็ยอมรับว่าไม่ใช่พนักงานทุกคนที่จะใส่ใจดูแลตัวเอง ในอดีตจะมีอาสาสมัครมูลนิธิมาเดินแจกถุงยางอนามัย ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทำมาหากินของพนักงานบริการ คอยมาถามไถ่สารทุกข์สุขดิบและเตือนให้พวกเธอไปตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง แต่หลังมูลนิธิปิดตัวลง พวกเธอก็ไม่มีใครมาช่วยแบ่งเบาภาระด้านการดูแลสุขภาพของพวกเธออีกเลย

 

‘อาชีพผิดกฎหมาย?’ การล่อซื้อและความดัดจริตของกฎหมายไทย

“เขาก็มาตามตื้อ ตามจีบ มาเอาอกเอาใจอยู่เป็นเดือนๆ จนสุดท้ายเด็กเขาก็เริ่มไว้ใจ เริ่มรู้สึกว่า เออ พี่เขาก็เป็นคนดีนะ เขาคงไม่ทำร้ายเราหรอก พูดง่ายๆ คือเริ่มชอบเขานั่นแหละ สุดท้ายก็ตัดสินใจไปกับเขา แล้วก็โดนจับ แต่ที่น่าเศร้าที่สุดคืออะไรรู้ไหม? คือผู้ชายที่เธอไว้ใจคนนั้นนั่นแหละเป็นคนสอบสวนเธอด้วยตัวเอง จดบันทึกการสอบสวนเองต่อหน้าเธอเลย”

แจ๊ส (นามสมมติ) สาวบาร์และอาสาสมัครมูลนิธิ Empower

 

“ศาลฎีกาให้เหตุผลว่า การร่วมหลับนอนกับหญิงขายบริการถือเป็นการกระทำเท่าที่จำเป็นและสมควรในการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของผู้ต้องหาในคดีอาญา และชี้ว่าเหตุที่เจ้าหน้าที่ต้องทำอย่างนั้นเพราะไม่มีทางเลือก”

เดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความ

 

“เราต้องเข้าใจก่อนว่าพนักงานเขาก็เป็นมนุษย์ ไม่ใช่ยาเสพติด หรือสิ่งของผิดกฎหมายที่จะมาล่อซื้อกันได้ เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติกับเขาอย่างให้เกียรติ และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคน และสังคมก็ควรจะเข้าใจว่าการมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้าถือเป็นความพึงพอใจส่วนบุคคล”

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงต้องดัดจริตเรียก ‘บ้านสาว’ ว่าร้านคาราโอเกะ แถมยังต้องมีตู้คาราโอเกะปลอมวางหลอกอยู่หน้าร้านอีก คำตอบก็คือเพราะกฎหมายประเทศไทยบังคับให้ต้อง ‘ดัดจริต’

การค้าประเวณีในประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมายเช่นเดียวกับหลายประเทศในทวีปเอเชีย แต่การเปิดสถานบริการอาบอบนวดและร้านคาราโอเกะกลับถูกจัดให้อยู่ในส่วนของสถานบริการทั่วไป ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย บ้านสาวจึงต้องมีตู้คาราโอเกะหลอกตาเพื่อให้สามารถจดทะเบียนเป็นสถานประกอบการที่ถูกต้องตามกฎหมายได้

ส่วนการขายบริการทางเพศของผู้ให้บริการถือเป็นการตกลงกันเองระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อโดยไม่เกี่ยวข้องกับเจ้าของสถานบริการ แต่หากเจ้าของสถานบริการละเมิดกฎหมายอื่นๆ เช่น ใช้พนักงานอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือมีแรงงานผิดกฎหมาย ก็อาจจะถูกตั้งข้อหาค้ามนุษย์ได้ แต่คนที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยแตะต้องเลยก็คือลูกค้า กล่าวอย่างง่ายคือ ‘นายจ้างถูกกฎหมาย พนักงานผิดกฎหมาย ผู้ใช้บริการลอยตัว’ ภาวะอีหลักอีเหลื่อดังกล่าวทำให้พนักงานไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการที่ผู้ใช้แรงงานทั่วไปพึงได้รับ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำหรือสิทธิในการลาหยุด ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเกิดการบุกจับโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่ก็คือเหล่าพนักงานในขณะที่เจ้าของสถานบริการมีกฎหมายคุ้มครอง แต่เจ้าหน้าที่รัฐจะเข้าไปจับผู้กระทำผิดกฎหมายในสถานที่ที่ถูกกฎหมายได้อย่างไร?

... คำตอบก็คือการ ‘ล่อซื้อ’

หากยังจำกันได้ ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ได้เกิดการล่อซื้อที่เป็นข่าวดังไปทั่วประเทศที่อาบอบนวด “นาตารี” ย่านห้วยขวาง (อ่านข่าว) พนักงาน 119 คน ถูกจับกุม โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 7 คน โดย 1 คนเป็นเยาวชนไทย และอีก 6 คนเป็นชาวพม่า เจ้าของสถานบริการถูกตั้งข้อหาค้ามนุษย์ ส่วนพนักงานถูกตั้งข้อหาร่วมกันค้าประเวณี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกกับสื่อว่าพวกเขาใช้เวลากว่า 3 เดือน ในการเฝ้าติดตามสถานบริการแห่งนี้ ก่อนจะเข้าล่อซื้อพนักงาน 3 คน และแสดงตัวเข้าจับกุม

เหตุการณ์ดังกล่าวมีประเด็นให้ตั้งคำถามมากมาย เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นอย่างไรในการเข้าล่อซื้อพนักงาน ถึง 3 คน ทั้งๆ ที่ใช้เวลาสืบก่อนหน้านั้นถึง 3 เดือน? เหตุใดจึงไม่มีการดำเนินคดีกับลูกค้าและเจ้าหน้าที่ที่ใช้บริการเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี? เหตุใดการขายบริการและการมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้าจึงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย?

เดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความและวิทยากรเครือข่ายทนายคลายทุกข์กล่าวว่ากล่าวว่า หากดูตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 4 ระบุว่า การค้าประเวณีหมายถึงการยอมรับการกระทำชำเรา หรือการยอมรับการกระทำอื่นใด เพื่อสำเร็จความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้อื่น อันเป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้างหรือประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้ไม่ว่าผู้ยอมรับการกระทำและผู้กระทำจะเป็นบุคคลเพศเดียวกันหรือคนละเพศ ดังนั้น บุคคลที่ทำอาชีพค้าประเวณีย่อมกระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว นั่นจึงทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าจับกุมได้ทันที อาจโดยการใช้ธนบัตรที่ซื้อขายเป็นหลักฐาน หรือแม้กระทั่งต้องใช้วิธีการปลอมเป็นลูกค้าและรับบริการจากพนักงานก่อนจึงเปิดเผยตัวเพื่อจับกุมตามกฎหมาย

“ในประเทศไทยวิธีการล่อซื้อจะใช้กับคดียาเสพติดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีสิ่งเสพติด พ.ศ.2550 ระบุในหมวดที่ 1 การสืบสวน มาตรา 7 ว่า ตำรวจสามารถใช้วิธีการอำพรางได้ อำพรางหมายถึงการดำเนินการทั้งหลายที่เป็นการปิดบังสถานะ หรือวัตถุประสงค์ของการดำเนินการโดยลวงผู้อื่นหรือให้เข้าใจไปทางอื่น หรือเพื่อไม่ให้รู้ความจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเจ้าพนักงาน นั่นหมายความว่า (ตำรวจ) ปลอมตัวได้ ทำตัวเป็นสายลับได้ ไปโกหกผู้ต้องหาได้ ไปหลอกล่อได้ ทำอย่างไรก็แล้วแต่เพื่อให้ได้ยาเสพติดมา แต่ไม่ให้ใครรู้ว่าเป็นตำรวจ เรื่องเหล่านี้คือการอำพรางที่มีอยู่ในกฎหมายยาเสพติด ทั้งในกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญาก็ยอมรับเรื่องการล่อซื้อ ถ้าเป็นการล่อซื้อในคดีที่เป็นอาญาแผ่นดิน เช่น ยาเสพติด การค้ากาม การค้าประเวณี ก็สามารถกระทำได้”

หากดูคดีความทางกฎหมาย เดชาตั้งข้อสังเกตย้อนไปในปี พ.ศ.2518 ฎีกาที่ 1163/2518 และปี พ.ศ. 2554 ฎีกาที่ 10632/54 ยืนยันว่า มีการล่อซื้อในลักษณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมหลับนอนหรือร่วมประเวณีกับผู้หญิงขายบริการและใช้บริการจนเสร็จ จนมีของกลางที่ครบองค์ประกอบความผิดคือมีอสุจิและถุงยางอนามัย ก็สามารถเอามาเป็นพยานวัตถุเพื่อพิสูจน์การกระทำความผิดของพนักงานบริการได้

“ศาลฎีกาให้เหตุผลว่า การร่วมหลับนอนกับหญิงขายบริการถือเป็นการกระทำเท่าที่จำเป็นและสมควรในการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของผู้ต้องหาในคดีอาญา และชี้ว่า เหตุที่เจ้าหน้าที่ต้องทำอย่างนั้นเพราะไม่มีทางเลือก จึงจำเป็นต้องจับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลางหรือพยานหลักฐานหรือที่เรียกว่าแบบคาหนังคาเขา คือมีอสุจิและถุงยางอยู่ด้วย”

“สรุปคือศาลฎีกายอมรับได้ และนับว่าไม่ใช่การล่อเพื่อให้ผู้ขายบริการกระทำความผิด หมายถึงผู้ค้าบริการเหล่านี้มีเจตนาค้ากามอยู่แล้ว ฉะนั้น หากบุคคลนั้นไม่ได้มีเจตนาที่จะให้บริการร่วมประเวณีหรือค้าประเวณีตั้งแต่ต้น แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปล่อซื้ออย่างไรก็จะไม่ยอมหลับนอนร่วมกับตำรวจ นี่คือแนวคิดของศาลฎีกาไทย” เดชากล่าว

อย่างไรก็ตาม อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า พนักงานบริการไม่ได้จำเป็นจะต้องมีเพศสัมพันธ์เสมอไป มีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐแฝงตัวมาเป็นลูกค้า เข้ามาตีสนิท และเป็นฝ่ายโน้มน้าวให้พนักงานมีเพศสัมพันธ์กับตน ก่อนจะแสดงตัวเข้าจับกุม และพาสื่อมวลชนเข้ามารุมถ่ายรูปพวกเธอ ซึ่งทาง กสม. เองก็มีการเชิญหน่วยงานต่างๆ เข้ามาพูดคุย เช่น กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งทุกหน่วยงานต่างยืนยันว่าไม่เคยสนับสนุนการล่อซื้อในระดับนโยบาย แต่ก็ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับปฏิบัติ

“มันต้องมีการคิดใหม่กันในเรื่องนี้ เราต้องเข้าใจก่อนว่าพนักงานเขาก็เป็นมนุษย์ ไม่ใช่ยาเสพติด หรือสิ่งของผิดกฎหมายที่จะมาล่อซื้อกันได้ เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติกับเขาอย่างให้เกียรติ และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคน และสังคมก็ควรจะเข้าใจว่าการมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้าถือเป็นความพึงพอใจส่วนบุคคล”

อังคณากล่าวอีกด้วยว่าพนักงานที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐล่อซื้อหรือละเมิดสิทธิ สามารถเข้ามายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กสม. ได้ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีกลุ่มทำงานเพื่อพนักงานบริการเข้ายื่นเรื่องต่อ กสม. 2 กรณี โดยเป็นการยื่นเรื่องในนามองค์กร เพราะการเรียกร้องประเด็นดังกล่าวในนามบุคคลอาจทำให้เธอถูกเพ่งเล็งได้

อย่างไรก็ตาม การล่อซื้อไม่ใช่สิ่งที่เกิดเป็นประจำทุกวันจนพนักงานบริการไม่สามารถทำงานได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มันเกิดขึ้น นั่นแสดงว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีจุดประสงค์บางประการ แจ๊ส (นามสมมติ) สาวบาร์และอาสาสมัครมูลนิธิ Empower วัย 47 ปี จากจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าหลังจากประเทศไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ใน Tier 3 ซึ่งถือเป็นระดับที่แย่ที่สุดของรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ปี 2016 (TIP Report 2016) การล่อซื้อก็เกิดบ่อยขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และยิ่งเพิ่มมากขึ้นหลังมีการออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเหยื่อของการล่อซื้อส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่พนักงานบริการที่เป็นแรงงานข้ามชาติ หรือเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี พนักงานที่โดนล่อซื้อส่วนใหญ่มักจะเลือกที่จะเดินออกจากวงการ เพราะมันได้สร้างประสบการณ์ที่เลวร้ายให้กับพวกเธอ แต่ต่อให้พวกเธออยากจะกลับมาทำงานต่อ สถานบริการก็ไม่ค่อยอยากจะจ้างเพราะกลัวเธอจะเป็นสายให้กับตำรวจ พวกเธอจึงมีทางเลือกสองทางคือไปหางานทำที่อื่น หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนอาชีพ

“เวลาตำรวจจะล่อซื้อ เขาไม่ได้เลือกจับใครก็ได้นะ แต่เขาเลือกเลยว่าฉันจะเอาคนนี้ เคยมีครั้งหนึ่ง ตำรวจแฝงตัวมาเป็นลูกค้ามาถามเจ้าของร้านว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ไหม พอเจ้าของร้านบอกไม่มี เขาก็บอกให้ช่วยหาให้หน่อย เจ้าของร้านก็หามาให้ ตอนแรกเด็กก็ไม่กล้าไป (ให้บริการทางเพศ) ด้วย ไม่ใช่เพราะกลัวว่าเป็นตำรวจนะ กลัวเจอลููกค้านิสัยไม่ดี แต่เขาก็มาตามตื้อ ตามจีบ มาเอาอกเอาใจอยู่เป็นเดือนๆ จนสุดท้ายเด็กเขาก็เริ่มไว้ใจ เริ่มรู้สึกว่า เออ พี่เขาก็เป็นคนดีนะ เขาคงไม่ทำร้ายเราหรอก พูดง่ายๆ คือเริ่มชอบเขานั่นแหละ สุดท้ายก็ตัดสินใจไปกับเขา แล้วก็โดนจับ แต่ที่น่าเศร้าที่สุดคืออะไรรู้ไหม? คือผู้ชายที่เธอไว้ใจคนนั้นนั่นแหละเป็นคนสอบสวนเธอด้วยตัวเอง จดบันทึกการสอบสวนเองต่อหน้าเธอเลย” แจ๊สกล่าว

แจ๊สกล่าวต่อว่า รัฐไทยไม่ควรเอาปัญหาการค้ามนุษย์มาสร้างความชอบธรรมให้กับล่อซื้อ เพราะไม่ใช่พนักงานทุกคนที่เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ จริงอยู่ที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากเข้ามาทำงานเป็นพนักงานบริการในประเทศไทยโดยไม่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่พวกเธอไม่ได้ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวหรือโดนยึดหนังสือเดินทาง ตรงกันข้ามพวกเธอเลือกเข้าสู่วงการด้วยความสมัครใจ เพราะมองว่าเป็นงานที่รายได้ดี พวกเธอหลายคนอยากจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่อาจติดปัญหาเรื่องเอกสาร หรือบางคนก็เลือกที่จะไม่จดเพื่อความคล่องตัวในการทำงาน เพราะแรงงานข้ามชาติจะต้องจดทะเบียนกับนายจ้างเพียงคนเดียว ซึ่งตรงกันข้ามกับธรรมชาติของงานบริการที่จำเป็นต้องโยกย้ายที่ทำงานอยู่เสมอ

ด้านจันทวิภา อภิสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิ Empower กล่าวว่า ปัญหาการล่อซื้อระหว่างผู้ค้าบริการทางเพศกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นมีมานานกว่า 32 ปี หรือยาวนานกว่า 14 รัฐบาล แต่กลับยังไม่สามารถแก้ไขได้ แถมยังพบเห็นกรณีการล่อซื้อพนักงานบริการทางเพศโดยเจ้าพนักงานที่ใช้อำนาจหน้าที่อย่างไม่สุจริต โดยอ้างว่าเพื่อหาหลักฐานพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา เธอเสริมว่าหากรัฐไทยต้องการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ก็ควรทุ่มงบประมาณไปกับการเปิดโปงเครือข่ายผู้มีอิทธิพล และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่แสวงหาผลประโยชน์จากขบวนการดังกล่าว แทนการไล่จับคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งอาจจะไม่ใช่เหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์จริงๆ เสียด้วยซ้ำ

"หลายที่ซึ่งเป็นร้านอาหารหรือคาราโอเกะ แต่ละเดือน มีการจดทะเบียนแม่บ้านถึงกว่า 50 คน รายได้ของสถานประกอบการมีมากถึง 15-19 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าคนที่ได้ผลประโยชน์ตามกฎหมายและแสวงหาประโยชน์จากการค้ามนุษย์ทั้งแรงงานทาสและค้าประเวณี กลับจับไม่ได้สักคน นอกจากนั้น หลักฐานที่เป็นโพย รายชื่อหน่วยงาน หรือเอกสารการรับเงินต่างๆ ก็ไม่สามารถเป็นหลักฐานได้ แต่ถุงยางอนามัยใช้แล้วที่ตำรวจไปล่อซื้อกลับใช้ได้”

"ส่วนตัวแล้ว การล่อซื้อนั้นไม่ควรจะมี เพราะกลายเป็นว่าของที่ได้จากหน่วยงานหนึ่งในการป้องกันโรค กลับกลายเป็นของที่ทำให้ถูกจับ มีความผิด เมื่อมองไปถึงการล่อซื้อ มันคือการร่วมกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ โดยวิธีการสร้างหลักฐานที่ไม่สุจริต แต่เจ้าหน้าที่ก็อ้างว่า ถ้าไม่ทำอย่างนั้นจะจับอย่างไร เราก็เกิดคำถามต่อว่า แล้วทำไมต้องจับ ทุกคนก็ร่วมเพศ เราก็ร่วมเพศ ใครๆ ก็ร่วมเพศ การร่วมเพศในบ้านไม่ผิด แต่ทำไมการร่วมเพศในที่ทำงานถึงผิด ที่โรงแรมถึงผิด มันต้องคิดใหม่ มีมุมมองใหม่และทบทวนใหม่ว่า เจ้าหน้าที่มีสิทธิพิเศษอะไรที่ทำแล้วไม่มีความผิด แถมยังใช้เป็นเครดิตในการเพิ่มความสำเร็จในการทำงาน โดยที่อีกฝ่ายต้องถูกปรับ จับ จำขัง และเอาไปป่าวประจานต่อหน้าหนังสือพิมพ์ เรื่องนี้เราคงต้องคิดใหม่"

จะเห็นได้ว่าการล่อซื้อได้ทำให้ชีวิตของพนักงานบริการไม่ต่างจากการ ‘เล่นหวย’ ซึ่งเป็นหวยที่พวกเธอไม่อยากถูกแม้แต่งวดเดียว ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิ Empower ที่ทำงานด้านการส่งเสริมสิทธิพนักงานบริการในประเทศไทยมานานกว่า 30 ปี จึงพยายามผลักดันให้มีการยกเลิกการล่อซื้อ รวมถึง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาอย่างต่อเนื่อง โดยในการการพิจารณารายงานอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women-CEDAW) ณ กรุงเจนีวา ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทางมูลนิธิได้มีโอกาสเขียนรายงานสะท้อนปัญหาของพนักงานบริการในประเทศไทยส่งไปยังคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ คณะกรรมการ CEDAW ซึ่งทางคณะกรรมการมีข้อเสนอเร่งด่วนต่อรัฐไทยในประเด็นการค้าบริการอยู่ 3 ข้อด้วยกันคือ

1.ให้พิจารณายกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539

2.ยกเลิกการบุกจับ ล่อซื้อ และข่มขู่คุกคามพนักงานบริการทุกรูปแบบ และ

3.คือให้นำเอากฎหมายแรงงานและสวัสดิการสังคมมาบังคับใช้กับสถานบริการ

และนี่คือคำแก้ต่างของรัฐไทย

วิวัฒน์ แท่งหงษ์ ผู้แทนจากกระทรวงแรงงานกล่าวว่าในที่ประชุม CEDAW ทุกวันนี้พนักงานบริการก็ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงานและสวัสดิการประกันสังคมเฉกเช่นแรงงานในธุรกิจอื่นๆ พร้อมเน้นย้ำว่าแรงงานข้ามชาติก็สามารถทำงานในสถานประกอบการได้อย่างถูกกฎหมายและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานเช่นเดียวกัน

ด้านจุรี วิจิตรวาทการ คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าการแก้กฎหมายการค้าประเวณีเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยังคงเป็นที่ถกเถียงอยู่ในสังคมวงกว้างซึ่งทางรัฐไทยยังไม่มีข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว โดยเธอเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำหนดให้ต้องมีการจัดประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในขั้นตอนการร่างกฎหมายจะช่วยทำให้มีการถกเถียงในเรื่องดังกล่าวกันมากขึ้น

และสุดท้าย พล.ต.ท. ไกรบูลย์ ทรวดทรง จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กล่าวต่อคณะกรรมการ CEDAW ว่า

“ในกรณีการล่อซื้อ เราขอยืนยันว่าคณะกรรรมการสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่เคยมีนโยบาย และไม่สนับสนุนการให้เจ้าหน้าที่ใช้มาตรการดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติยินดีรับฟังข้อมูลและข้อร้องเรียกจากทุกภาคส่วนหากเกิดการประพฤติไม่ชอบของเจ้าหน้าที่ และพร้อมที่จะดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเหล่านั้น”

คำตอบของรัฐไทยในเวทีโลกดูเหมือนจะเป็นการปฏิเสธกลายๆ ว่าปัญหาต่างๆ ที่พนักงานบริการสะท้อนออกมาในรายงานข่าวชิ้นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย นั่นแปลว่าพวกเธอก็คงจะต้องอยู่กับความเสี่ยงที่จะโดนล่อซื้อต่อไปอีกพักใหญ่ แต่ต่อให้การล่อซื้อหมดไปจากประเทศไทย ก็ไม่ได้หมายความพวกเธอจะปลอดจากการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะอันที่จริงแล้ว การล่อซื้อและการบุกจับสถานบริการที่ปรากฏผ่านสื่อนั้นเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net