Skip to main content
sharethis

22 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (22 ก.ย.60) การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานในการประชุม มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเห็นด้วย 177 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าประชุม 181 คน พร้อมตั้งกมธ.วิสามัญพิจารณา 21 คน มาจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) 4 คน สนช. 17 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 60 วัน

สุวพันธุ์ ตันยุวรรณนะ รัฐมนตรี (รมต.) ว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องตรา พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า ด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามหมวด 3/1 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 มีบทบัญญัติบางประการที่ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถขอฟื้นฟูกิจการได้ทันต่อสถานะทางด้านการเงินของลูกหนี้ เนื่องจากลูกหนี้ต้องเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเท่านั้น จึงจะขอฟื้นฟูกิจการได้ รวมทั้งการติดตาม การจัดการและการรวบรวมทรัพย์สินของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสฟื้นฟูกิจการได้เร็วขึ้นและจัดให้มีกลไกในการติดตาม จัดการ และรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการคุ้มครองเจ้าหนี้มีประกันอย่างเพียงพอ ซึ่งจะเป็นมาตรการหนึ่งที่เป็นการส่งเสริมและรองรับความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ขณะความเห็นของ สมาชิก สนช. เห็นด้วยกับหลักการของร่าง พ.ร.บ. แต่มีข้อสังเกตในหลายประเด็น อาทิ การกำหนดให้บุคคลผู้เป็นหนี้ ลูกหนี้ หรือมีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลหนี้ หรือทรัพย์สินให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทราบ และกำหนดโทษหากไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งในประเด็นนี้มีปัญหามาในเชิงปฏิบัติ และจากการรับฟังความเห็นประชาชนได้ท้วงติงในเรื่องนี้อย่างมาก จึงควรนำความเห็นที่รับฟังจากประชาชนมาประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาในกฎหมายฉบับนี้ด้วย รวมถึงควรเพิ่มเรื่องของการปฏิรูปการล้มละลาย เช่น ลูกหนี้ที่ล้มละลายโดยไม่เจตนา จะได้รับการฟื้นฟูได้อย่างไร พิจารณาเรื่องค่าตอบแทนของหน่วยงานผู้พิทักษ์ทรัพย์ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่มีผู้ชำนาญการให้เกิดความเหมาะสม ศึกษาประเด็นสิทธิในทรัพย์สินและการสืบมรดกอย่างรอบครอบและปรับปรุง และควรเร่งรัดประเด็นการล้มละลายข้ามชาติ ที่อยู่ในความสนใจของภาครัฐและเอกชนให้เป็นจริง แต่ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพันธสัญญา การค้าขาย และการร่วมมือทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ

ที่มา : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net