Skip to main content
sharethis

Prachatai Eyes View: มองเพื่อนบ้านมาเลเซีย


เยือนกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซียที่มีจุดเริ่มต้นในทศวรรษที่ 1850s บริเวณสบของแม่น้ำ 2 สายที่ไหลผ่านนิคมของชาวเหมืองดีบุก ซึ่งเป็นแรงงานอพยพมาจากมณฑลติดทะเลของจีน การลงหลักปักฐานของแรงงานรถไฟจากอินเดียใต้ รวมทั้งชาวมลายู ชาวจีนเปอรานากันเดิมในรัฐสลังงอร์ ก่อนเกิดการขยายตัวด้านการค้า ศูนย์กลางราชการสมัยอาณานิคมอังกฤษ กระทั่งกลายเมืองหลวงสำหรับสหพันธรัฐมาเลเซีย หลังได้รับเอกราชใน ค.ศ. 1957 และเป็นบ้านของผู้คนหลากเชื้อชาติ ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมชองมาเลเซียในปัจจุบัน

000

จตุรัสเมอร์เดก้า หรือจตุรัสเอกราช เป็นสถานที่เชิญธงชาติของสหพันธรัฐมาลายาขึ้นสู่ยอดเสาแทนที่ธงยูเนียนแจ็คของสหราชอาณาจักร ในเวลาเที่ยงคืน เข้าสู่วันใหม่ของวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1957 โดยนับจากนี้ถือว่าสหพันธรัฐมาลายาอันประกอบด้วยรัฐบนคาบสมุทรมลายู 9 รัฐ กับปีนังและมะละกา ได้รับเอกราชจากอังกฤษ และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น สหพันธรัฐมาเลเซีย ในวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1963 เมื่อได้รวมเอาสิงคโปร์ บอร์เนียวเหนือหรือซาบาห์ และซาราวัก  เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ถูกขับออกจากสหพันธรัฐมาเลเซียไปในวันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 1965

จตุรัสเมอร์เดก้า แต่เดิมในสมัยอาณานิคม เป็นสนามคริกเกตของสโมสรชาวอังกฤษที่ชื่อ "รอยัลสลังงอร์คลับ" เดิมคนท้องถิ่นเรียกว่า "ปาดัง" หรือ "สนาม" สำหรับชื่ออย่างเป็นทางการของเมอร์เดก้า หรือ "Dataran Merdeka" เริ่มเรียกในปี ค.ศ. 1990 ในปีแห่งการท่องเที่ยวมาเลเซีย

ตรงฐานเสาธงของเมอร์เดก้า จะประดับภาพโมเสก เป็นภาพตนกู อับดุล ราห์มาน นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย ผู้เป็นบุตรของสุลต่านรัฐเคดาห์หรือไทรบุรี อ่านคำประกาศเอกราช และนำฝูงชนที่สนามกีฬาเมอร์เดก้า ตะโกนคำขวัญ "เมอร์เดก้า" หรือ "เอกราช" เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1957

บริเวณใกล้กับเสาธงของจัตุรัสเมอร์เดก้า ยังมีรูปนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย จากซ้ายไปขวา ตนกู อับดุล ราห์มาน (ค.ศ. 1957 - 1970) อับดุล ราซัก ฮุซเซน (ค.ศ. 1970 - 1976) ฮุซเซน อน (ค.ศ. 1976 - 1981) มหาเธร์ โมฮัมหมัด (ค.ศ. 1981 - 2003) อับดุลละห์ อะห์มัด บาดาวี (ค.ศ. 2003 - 2009) และนาจิบ ราซะก์ (ค.ศ. 2009 - ปัจจุบัน) ทั้งหมดมาจากพรรคองค์การสหมาเลย์แห่งชาติ (UNMO) เป็นหนึ่งในพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (Barisan Nasional) เป็นพรรครัฐบาลที่ปกครองมาเลเซียมาตั้งแต่ ค.ศ. 1957 จนถึงปัจจุบัน

ด้านหน้าจตุรัสเมอร์เดก้า คืออาคารสุลต่านอับดุลซาหมัด สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1897 โดย เอ.ซี. นอร์มัน ในช่วงที่มาเลเซียอยู่ภายใต้การยึดครองของอังกฤษ ผู้ออกแบบเลือกใช้สถาปัตยกรรมแบบมัวร์ ส่วนชื่อของอาคารเป็นชื่อสุลต่านของรัฐสลังงอร์ในยุคที่มีการสร้างอาคาร อาคารแห่งนี้เคยใช้เป็นสำนักงานของราชการสมัยอาณานิคม จุดนี้เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปที่นี่

ด้านหลังอาคารสุลต่านอับดุลซาหมัด เป็นย่านศูนย์กลางการเงินการธนาคารของกัวลาลัมเปอร์บนนถนนตุนเปรัก จะเห็นหมู่อาคารสำนักงานของธนาคาร HSBC จากฮ่องกง ธนาคาร Maybank จากมาเลเซีย ธนาคาร CIMB จากมาเลเซีย และ OCBC จากสิงคโปร์ ฯลฯ

หอคอยในภาพคือกัวลาลัมเปอร์ ทาวเวอร์ (Kuala Lumpur Tower) สร้างเสร็จใน ค.ศ. 1995 ใช้เป็นสถานที่กระจายสัญญาณโทรทัศน์และวิทยุ นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารและจุดชมทัศนียภาพของกัวลาลัมเปอร์ด้านบนอีกด้วย


ใกล้กับจตุรัสเมอร์เดกา จะมีอาคารเก่าแก่หลายแห่ง หนึ่งในนั้นคืออาคารสำนักงานของการรถไฟสหพันธรัฐมลายา (FMSR) (ขวามือในภาพ) สร้างเมื่อ ค.ศ. 1905 ปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ผ้าทอแห่งชาติ


ไม่ไกลจากจตุรัสเมอร์เดกา จะเห็นบริเวณที่แม่น้ำกมบัก (ซ้าย) และแม่น้ำกลัง (ขวา) มาบรรจบกัน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "กัวลาลัมเปอร์" หรือ “ปากแม่น้ำที่เต็มไปด้วยโคลน” ทั้งนี้กัวลาลัมเปอร์เริ่มต้นจากการเป็นนิคมของแรงงานอพยพเหมืองดีบุกชาวจีน ราวทศวรรษ 1850 บ้านเรือนในเวลานั้นสร้างขึ้นง่ายๆ ด้วยไม้และหลังคามุงจาก

ต่อมาเมื่อ ค.ศ. 1881 เกิดอุทกภัย ผู้ปกครองอังกฤษประจำสลังงอร์ แฟรงก์ สเว็ตเทนแฮม (Frank Swettenham) ได้มอบหมายให้ผู้ปกครองท้องถิ่นชาวจีน กาปิตัน “ยับ อาลอย” (Yap Ah Loy) พื้นเพมาจากเมืองหุ้ยโจว มณฑลกวางตุ้ง เป็นผู้ดำเนินการฟื้นฟูเมืองด้วยการเปลี่ยนสิ่งก่อสร้างเป็นอิฐและหลังคากระเบื้อง โดยมีการเตรียมอิฐขนานใหญ่ จนปัจจุบันยังมีชื่อเรียกย่านดังกล่าวอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ KL Sentral

"ยับ อาลอย" ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สร้างกัวลาลัมเปอร์สมัยใหม่ด้วย โดยเขายังเป็นผู้วางระบบศาล และตำรวจท้องถิ่นเพื่อปกครองกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งเริ่มขยายตัวจากการเป็นนิคมเหมืองดีบุกในสมัยนั้น โดยกัวลาลัมเปอร์ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางบริหารของอาณานิคม สหพันธรัฐมลายา ตั้งแต่ ค.ศ. 1896 และถูกเลือกเป็นเมืองหลวงเมื่อมาเลเซียได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1957

สำหรับมัสยิดที่เห็นบริเวณสบแม่น้ำในภาพคือมัสยิดจาเม็ก (Masjid jamek) สร้างใน ค.ศ. 1909 สมัยสุลต่านอะลาอุดดิน สุไลมาน ชาห์ ปกครองรัฐสลังงอร์ โดยรูปแบบสถาปัตยกรรมยังได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบมัวร์ อินโด-สะระกาฉวน และมุกัล

เปโตรนาสทาวเวอร์ (Petronas Towers) อาคาร 88 ชั้น สูง 451.9 เมตร มีพื้นที่ใช้สอย 395,000 ตารางเมตร เคยเป็นอาคารที่สูงที่สุดในโลกระหว่าง ค.ศ. 1998 - 2004 ปัจจุบันยังถือเป็นอาคารที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาคารดังกล่าวนักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายภาพ โดยถือเป็นแลนมาร์คของกัวลาลัมเปอร์สมัยใหม่

ในอาคารมีสำนักงานของบริษัทพลังงานและน้ำมันที่มีรัฐบาลมาเลเซียเป็นหุ้นหลักคือ บริษัทเปโตรนาส นอกจากนี้ยังเป็นสำนักงานของบริษัททางการเงินและธนาคาร ฯลฯ ทั้งนี้มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1999 บริเวณเดียวกับเปโตรนาสทาวเวอร์ยังมีห้างซูเรีย KLCC ขนาด 140,000 ตารางเมตร

ทั้งนี้ พรรครัฐบาลมาเลเซียนิยมใช้ "การเมืองตึกสูง" โดยอ้างเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนภาครัฐ อย่างไรก็ตามมีเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า และนอกจากมหาเธร์ โมฮัมหมัดกับตึกเปโตรนาสทาวเวอร์แล้ว ในปี ค.ศ. 2010 นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิบ ราซะห์ ได้ประกาศว่าจะใช้เงินลงทุน 5,000 ล้านริงกิตเพื่อสร้างตึกสูง "Warisan Merdeka" หรือ "มรดกของเอกราช" โดยปัจจุบันอาคารดังกล่าวถูกก่อสร้างในชื่อ "KL118" เป็นอาคาร 118 ชั้น ความสูง 610 เมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2020 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะกลายเป็นอาคารที่สูงที่สุดในมาเลเซีย

การเดินทางในกัวลาลัมเปอร์ ค่อนข้างสะดวกหากสถานที่ปลายทางอยู่ใกล้สถานีรถไฟ ทั้งนี้เมื่อมาถึงกัวลาลัมเปอร์ อาจเริ่มต้นกันที่สถานีรถไฟ “เคแอลเซ็นทรัล” (KL Sentral) ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางคมนาคมทางรางของกัวลาลัมเปอร์ เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟแห่งชาติ (KTM) ที่สามารถนั่งรถไฟมาถึงหาดใหญ่ หรือหัวลำโพง! รถไฟเชื่อมต่อชานเมือง (KTM Komuter) รถไฟฟ้ารางเบา (Rapid Rail) และรถไฟเชื่อมสนามบิน (KLIA Ekspres/KLIA Transit) นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (KL Monorail) เพื่อเดินทางเข้าไปในย่านธุรกิจของกัวลาลัมเปอร์ด้วย

เฉพาะผู้โดยสารของสถานีรถไฟฟ้ารางเบา (Rapid Rail) ซึ่งเป็นขนส่งทางรางระบบหลักในกัวลาลัมเปอร์ ปัจจุบันมีผู้โดยสาร 450,268 เที่ยวคน/วัน (เปรียบเทียบกับขนส่งทางรางในกรุงเทพฯ ผู้โดยสารของรถไฟฟ้า BTS อยู่ที่ 600,000 เที่ยวคน/วัน และรถไฟฟ้า MRT 240,000 เที่ยวคน/วัน) สำหรับค่าโดยสารสถานีแรกของ Rapid Rail เริ่มต้นที่ 1 ริงกิต และสูงสุด 3 ริงกิต (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ริงกิต เท่ากับ 9.31 บาท) ทั้งนี้คาดการณ์ว่าภายในปี 2016 กัวลาลัมเปอร์จะมีรถไฟฟ้ารางเบาเพิ่มอีก 15 สถานี รวมระยะทาง 35.5 กม.

ระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สถานีแรกอยู่ห่างจากสถานีรถไฟเคแอ็ลเซ็นทรัล (KL Sental) คนละฟากถนน อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการทำทางเดินเชื่อมอาคารสถานีรถไฟเคแอลเซ็นทรัล กับสถานีรถไฟฟ้ารางเดียว โดยผ่านเข้าไปในห้าง  NU Sentral ทั้งนี้ผู้ถือบัตรโดยสาร "MyRapid Card" สามารถใช้เป็นบัตรดังกล่าวเป็นบัตรโดยสารร่วมของทั้งรถประจำทาง รถไฟฟ้ารางเบา (Rapid Rail) และรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (KL Monorail)

ไม่ไกลจากสถานีรถไฟเคแอลเซ็นทรัล คือย่านชุมชนของประชากรที่มาจากเอเชียใต้ “บริคฟิลด์” (Brickfield) โดยที่มาของชื่อย่าน “บริคฟิลด์” หรือทุ่งอิฐ เกิดจากยุคที่กาปิตัน “ยับ อาลอย” หัวหน้าชุมชนจีน ใช้ที่ดินแถบนี้ตั้งโรงงานผลิตอิฐและกระเบื้อง เพื่อใช้ฟื้นฟูกัวลาลัมเปอร์หลังน้ำท่วมใหญ่ ค.ศ. 1881

บริคฟิลด์กลายเป็นชุมชนของประชากรจากเอเชียใต้ เมื่อเจ้าอาณานิคมอังกฤษเกณฑ์แรงงานจากเอเชียใต้ โดยเฉพาะจากศรีลังกามาสร้างทางรถไฟและคลังสินค้า และต่อมาแรงงานเหล่านั้นก็ตั้งรกรากบริเวณใกล้เคียงสถานีรถไฟ จนย่านบริคฟิลด์กลายเป็นย่านเอเชียใต้หรือ “ลิตเติ้ลอินเดีย” ดังกล่าว

"มามักสตอล" หรือ "Mamak Stall" ถือเป็นที่ฝากท้องสำหรับคนทำงานในกัวลาลัมเปอร์ ขายอาหารประเภทข้าวราดแกงหลากชนิด โรตี และเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ น้ำหวาน เทียบได้กับร้านอาหารตามสั่งในไทย ผิดกันตรงที่ "Mamak Stall" ขายตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงค่อนคืน

สำหรับคำว่า "Mamak" แปลว่า "ลุง" ในภาษาทมิฬ ทั้งนี้เนื่องจากเจ้าของร้านอาหารยุคแรกๆ เป็นมุสลิมมาจากอินเดียตอนใต้ และต่อมากลายเป็นคำติดปากในมาเลเซียและสิงคโปร์สำหรับเรียกชื่อร้าน และนอกจากร้านอาหารตามสั่งสไตล์มามักแล้ว ในกัวลาลัมเปอร์ และทั่วไปในมาเลเซีย ยังมีร้านโกปีเตี้ยมแบบจีน ร้านอาหารแบบชาวฮินดูที่เน้นมังสาวิรัติ และปัญจาป รวมไปถึงแผงลอยขายต้มยำที่เจ้าของมักเป็นคนจากรัฐกลันตัน รวมทั้งชาวมลายูจากชายแดนใต้อีกด้วย

อาหารแผงลอยหลังละหมาดวันศุกร์ ที่สถานีมัสยิดจาเม็ก (Masjid jamek) พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่เป็นคนมลายู

ย่านเปอตาลิงสตรีท ใกล้สถานีรถไฟฟ้าปะซาเซนี ถือกันว่าเป็น "ไชน่าทาวน์" ของกัวลาลัมเปอร์ เต็มไปด้วยอาคารเก่าตั้งแต่ยุคบุกเบิกกัวลาลัมเปอร์ รวมทั้งตลาดปะซาเซนีซึ่งขายของฝากและเป็นที่ตั้งของย่านแกลอรี่ศิลปะ นอกจากร้านค้าชาวจีนในย่านนี้แล้ว จะพบว่าแผงลอยเล็กๆ จำนวนมากในย่านนี้ ที่เน้นขายเครื่องดื่ม หรือของกินเล่นดับร้อนเจ้าของจะเป็นชาวมลายู

"Medan Pasar" หรือ "ลานตลาด" อยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าปะซาเซนี อดีตในช่วงทศวรรษ 1920 เคยเป็นย่านช็อปปิ้งอันรุ่งเรือง กลางลานมีหอนาฬิกาสร้างในปี ค.ศ. 1937 ฉลองการครองราชย์ของพระเจ้าจอร์จที่ 6 ปัจจุบันเป็นทำเลการค้าของชาวต่างชาติจากเอเชียใต้ รวมทั้งเป็นจุดรอรถประจำทาง

ร้านทำผมแห่งหนึ่งใกล้สถานีรถไฟฟ้าปะซาเซนี ติดป้ายว่าไม่เพิ่มภาษี GST เข้าไปในค่าบริการ ทั้งนี้ตั้งแต่ 1 เมษายนเป็นต้นมา รัฐบาลมาเลเซียบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีสินค้าและบริการ หรือ GST ร้อยละ 6 ในราคาสินค้าและการบริการเกือบทุกประเภท ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาขาดดุลการคลังติดต่อกันหลายปี ทั้งนี้ร้านค้าจำนวนมากใช้วิธีผลักภาระทางภาษีด้วยการบวกเพิ่มเข้าไปในราคาอาหาร สินค้าและบริการ ขณะที่ร้านค้าจำนวนมากพยายามจูงใจให้มีผู้ซื้อสินค้าด้วยการติดป้ายยืนยันว่าจะไม่มีการเพิ่มภาษี GST เข้าไปในราคาสินค้า

สำหรับมาตรการเก็บภาษี GST ดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงอย่างมากในสังคมมาเลเซีย และเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา แกนนำฝ่ายค้านได้จัดการเดินขบวนใหญ่เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกเก็บภาษี GST (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

สตรีมุสลิมในมาเลเซียสามารถเป็นคนขับรถประจำทางได้เช่นกัน

"Bas Sekolah" หรือ รถนักเรียนว่ากันว่า "Sekolah" ในภาษามลายูเป็นคำยืมมาจากโปรตุเกส ซึ่งเป็นชาวยุโรปชาติแรกๆ ที่แล่นเรือมาถึงคาบสมุทรมลายู

นักเรียนเลิกเรียนและรอรถกลับบ้าน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net