Skip to main content
sharethis

21 พ.ค.2557 ที่ห้องพิจารณาคดี 710 ศาลอาญา รัชดาฯ ผู้พิพากษานั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนางฐิตินันท์ (สงวนนามสกุล) อายุ 65 ปีเป็นจำเลยในความผิดฐานดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยโจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2555 จำเลยได้เหยียบรูปพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบริเวณศาลรัฐธรรมนูญ ระหว่างรอฟังผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เหตุเกิดท่ามกลางกลุ่มผู้ชุมนุมที่มาให้กำลังใจศาลรัฐธรรมนูญจำนวนมาก 

เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดย ไอลอว์ ระบุว่า ศาลอ่านคำพิพากษาสรุปได้ว่า จำเลยให้การรับสารภาพแต่เป็นการกระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบชั่วดี ไม่สามารถบังคับตัวเองได้  

ศาลพิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้เป็นที่ยุติได้ว่า จำเลยมีอาการป่วยทางจิตเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยบอกให้นายสนิท ปานทอง วางพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่รัชกาลที่เก้าที่นายสนิทถืออยู่ลง พร้อมกับใช้เท้าเตะพระบรมฉายาลักษณ์จนตกพื้นและใช้เท้าเหยียบสองครั้ง จำเลยจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ตามฟ้อง 

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีอยู่ว่า ขณะที่ทำความผิด จำเลยไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือบังคับตัวเองได้เพราะจิตฟั่นเฟือนจริงหรือไม่

โจทก์มีประจักษ์พยานหลายปากเบิกความตรงกันในสาระสำคัญว่า ระหว่างที่กำลังจัดแถวเพื่อถ่ายภาพ จำเลยเดินเข้ามาพร้อมตะโกนเรียกหานายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ก่อนจะหยุดตรงหน้านายสนิทที่นั่งชูพระบรมฉายาลักษณ์อยู่ จำเลยบอกให้นายสนิทวางพระบรมฉายาลักษณ์แต่นายสนิทไม่วาง จำเลยจึงเตะพระบรมฉายาลักษณ์จนตกพื้นและเหยียบพระบรมฉายาลักษณ์ 

การกระทำของจำเลยทำให้ผู้ชุมนุมหลายคนไม่พอใจ เข้ามาต่อว่าจำเลย ผู้ประสานงานผู้ชุมนุมได้กันตัวจำเลยไปสอบถามที่เต็นท์อำนวยการ ซึ่งจากการพูดคุยพบว่าจำเลยพูดคุยรู้เรื่องและรู้ว่าตัวเองเตะพระบรมฉายาลักษณ์

คำเบิกความของพยานโจทก์สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่ปรากฏในแผ่นบันทึกภาพเคลื่อนไหวซึ่งเป็นหลักฐานของโจทก์ แม้ในภาพเคลื่อนไหวจะไม่มีภาพขณะเกิดเหตุ แต่ก็มีภาพตอนจำเลยเดินเข้ามาเรียกหานายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ และภาพขณะที่จำเลยพูดคุยโต้ตอบกับผู้ชุมนุม ตอบตรงคำถามบ้าง ไม่ตรงคำถามบ้าง หัวเราะบ้าง   

ในชั้นสอบสวน จำเลยก็ให้การว่าทราบว่าในประเทศไทยมีกลุ่มคนเสื้อเหลืองและกลุ่มคนเสื้อแดง คนทั้งสองกลุ่มมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ตัวจำเลยชอบกลุ่มคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย

คำให้การของจำเลยสอดคล้องกับคำเบิกความของนายชยานนท์ บุตรชายของจำเลยที่เบิกความว่า บิดาของตนดูช่องเสื้อแดงทั้งวัน จำเลยที่อยู่บริเวณนั้นจึงได้ดูด้วย เป็นที่ทราบกันดีว่าช่องดังกล่าวนำเสนอแต่ข้อมูลด้านลบของศาลรัฐธรรมนูญ อาจทำให้ผู้ชมที่ไม่มีวิจารณญาณเกิดทัศนคติในแง่ลบต่อการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ ดังเช่นจำเลยเป็นต้น

แพทย์ผู้ตรวจรักษาจำเลยเบิกความว่า คิดว่าจำเลยรู้สึกอึดอัดกับการเมือง ช่วงที่เกิดเหตุจำเลยอยู่ในภาวะที่มีอารมณ์คลุ้มคลั่ง แม้จำเลยจะรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่แต่ก็ควบคุมตัวเองไม่ได้ เพระเมื่อคิดจะทำอะไรก็จะทำเลย ในขณะที่ทำความผิดจำเลยจึงอยู่ในภาวะจิตฟั่นเฟือน แต่จากภาพเคลื่อนไหว ปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยว่าสามารถเดินทางไปศาลรัฐธรรมนูญเองได้ และยังตอบคำถามผู้ชุมนุมได้ว่ามาทำอะไร 

พยานหลักฐานทั้งหมดจึงฟังได้ว่า แม้จำเลยจะมีอาการป่วยทางจิต แต่ในขณะที่กระทำความผิด จำเลยมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอยู่บ้าง 

พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ประกอบมาตรา 65 วรรค 2 ลงโทษจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และอาการป่วยทางจิตก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำเลยทำความผิด เพื่อประโยชน์ของจำเลยและสังคมโดยรวม เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวและได้เข้ารับการรักษาอาการป่วย จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 3 ปี และให้รายงานความคืบหน้าของการรักษาจากแพทย์ทุกหกเดือนมีกำหนด 2 ปี     

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 ระบุว่า

"ผู้ใดกระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถ บังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น

แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้"

ลูกชายเผยช่วงถูกจำคุก แม่อาการหนัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ผู้ที่ร้องทุกข์แจ้งความดำเนินคดีรวมถึงเป็นพยานในชั้นพิจารณาคดีคือประชาชนจากกลุ่มเสื้อหลากสี ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งชาติ และเครือข่ายรักสถาบันอื่นๆ ซึ่งไปชุมนุมให้กำลังใจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันเกิดเหตุ โดยในวันพิจารณาคดีกลุ่มดังกล่าวราว 10-15 คนได้มาร่วมฟังการเบิกความด้วย มีการสืบพยานโจทก์จำนวน 10 ปากในจำนวนนี้เป็นแพทย์ผู้รักษาอาการจำเลย 1 คน ส่วนพยานจำเลยนั้นมีเพียงลูกชายจำเลยคนเดียว ทนายไม่นำสืบจำเลยเนื่องจากอาการยังไม่หายดี

หลังถูกจับกุมตำรวจได้ส่งนางฐิตินันท์ไปควบคุมตัวและให้หมอวินิจฉัยอาการที่สถานบันกัลยาณ์ฯ ราว 45 วัน (อ่านข่าว) ก่อนจะถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางอีกราว 1 เดือน ก่อนจะได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 300,000 บาท  อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่จำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถาบันกัลป์ยาณ์ฯ เครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งชาติราว 200 คนได้เดินทางไปประท้วงยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องจากได้ข่าวว่านางฐิตินันท์จะเดินทางออกนอกประเทศ (อ่านข่าว) ก่อนจะพบว่าเป็นเพียงข่าวลือ จากนั้นทางเครือข่ายฯ ยังได้ติดตามการดำเนินคดีอีกหลายครั้ง ผู้สื่อข่ายรายงานว่า ผู้ชุมนุมรายหนึ่งซึ่งเบิกความเป็นพยานโจทก์ระบุว่าพวกเดินทางไปสอบถามความคืบหน้ากับตำรวจและตามไปดูที่สถาบันกัลยาณ์ด้วยเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ปล่อยนางฐิตินันท์ออกนอกประเทศ

ลูกชายจำเลยเคยให้สัมภาษณ์ว่า โดยปกติแม่จะอาศัยอยู่ต่างประเทศกับลูกสาวอีกคนหนึ่งโดยจะเดินทางมาประเทศไทยในบางครั้ง และแม่มีประวัติการรักษาโรคไบโพลาร์หรืออารมณ์สองขั้วมาตั้งแต่ปี 2540 แล้วแต่มักหลีกเลี่ยงการกินยา ช่วงถูกคุมขังในเรือนจำแม่มีอาการทรุดหนักมากจนต้องนั่งรถเข็นออกมาพบญาติ ตอนนั้นมีอาการพูดไม่รู้เรื่อง ลิ้นแข็ง เหม่อลอย ช่วงท้ายๆ ก่อนได้ประกันตัวถึงกับต้องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และเมื่อได้รับการประกันตัวออกมาแล้วเขาต้องนำแม่ส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถีหลายวันโดยแพทย์ระบุว่าน่าจะได้รับยาเกินขนาด คาดว่าแม่คงมีอาการกำเริบอาละวาดระหว่างถูกควบคุมตัวแล้วจึงได้รับการระงับประสาท นอกจากนี้ในช่วงเกิดเหตุช่วงแรกๆ นั้นครอบครัวยังได้รับการข่มขู่จากผู้ไม่หวังดีจากหลายทางด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net